สภาพทั่วไปของจังหวัดเลย
                                                                                                                        ข้อมูลจาก...นายสัมฤทธิ์  สุภามา

 

             ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นดินแดนที่เก่าแก่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองในอดีตเป็นความเจริญของสังคมที่บ้านเมืองเกิดขึ้น ในที่ราบลุ่มแม่น้ำสายต่าง ๆ ซึ่งมีแม่น้ำที่สำคัญอยู่ ๓ สาย คือ แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล และแม่น้ำชี ประชาชนอีสานได้อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มาตั้งแต่สมัย        ก่อนประวัติศาสตร์มีอายุกว่าหนึ่งหมื่นปี ซึ่งสันนิษฐานได้จากเครื่องมือ เครื่องใช้ประเภทหินที่พบอยู่ ทั่ว ๆ  ไปบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงและแม่น้ำสายสำคัญ ๆ ในดินแดนแถบนี้

            ตามสภาพทางภูมิศาสตร์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นักภูมิศาสตร์ ได้แบ่งพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนที่เป็นบริเวณแอ่งสกลนครอันได้แก่ สกลนคร หนองคาย อุดรธานี นครพนม และเลย กับส่วนที่อยู่บริเวณแอ่งโคราช ซึ่งประกอบด้วย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น  มหาสารคาม ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิและนครราชสีมา สำหรับ จังหวัดเลยในปัจจุบัน ชาวอีสานโดยทั่วไปเรียกจังหวัดนี้ว่า “เมืองเลย”

        สภาพภูมิศาสตร์

        ๑. ที่ตั้ง ขนาด รูปร่าง

        ระบุว่าจังหวัดเลยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ (Absolute Location) ตั้งอยู่ที่เส้นละติจูด ๑๗ องศา ๒๗ ลิปดาเหนือ และลองจิจูดที่ ๑๐๔ องศา ๔๗ ลิปดา
        ตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ ๑,๔๒๔ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๗,๑๔๐,๐๐๐ ไร่ ตั้งอยู่เหนือสุดของ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากกรุงเทพฯ
        ประมาณ ๕๒๐ กิโลเมตร โดยทางรถยนต์ (ตามเส้นทางกรุงเทพฯ – ชัยภูมิ – เลย) ที่ตั้งของจังหวัดเลยอยู่ในแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ (ประเสริฐ :
        ๒๕๓๐)

        จังหวัดเลยติดกับชายแดนต่างประเทศ ๑ ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว และจังหวัดใกล้เคียง ๖ จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก
        เพชรบูรณ์ ขอนแก่น หนองบัวลำภู อุดรธานีและหนองคายในทิศต่าง ๆ ดังนี้

        ทิศเหนือ ติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง เป็นแนวพรมแดน

        ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอภูผาม่าน อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น อำเภอน้ำหนาว  อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์

        ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย อำเภอนายูง อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี อำเภอสุวรรณคูหา อำเภอนาวัง  อำเภอศรีบุญเรือง
        จังหวัดหนองบัวลำภู

        ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอชาติตระการ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก

        ๒ ลักษณะภูมิประเทศ

        ลักษณะพื้นที่ของจังหวัดเลยโดยทั่วไปเป็นภูเขาสูงและล้อมรอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน ลดหลั่นเรียงรายมีลักษณะคล้ายคลื่นทะเล ตัวเมืองมี
        ภูเขาล้อมรอบ คล้ายกระทะใบบัว สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๔๐๐ เมตร สามารถแบ่งภูมิประเทศออกเป็น ๓ เขต ดังนี้

        ๒.๑. เขตภูเขาสูง บริเวณด้านทิศตะวันตกได้แก่บริเวณ อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย อำเภอนาแห้ว และอำเภอท่าลี่ มีพื้นที่การเพาะปลูกน้อย
         มีประชากรอาศัยอยู่น้อย

        ๒.๒ เขตที่ราบเชิงเขา บริเวณทางทิศใต้และตะวันออกได้แก่อำเภอภูกระดึง กิ่งอำเภอ เอราวัณ อำเภอนาด้วง อำเภอผาขาว อำเภอภูหลวง
        อำเภอปากชมและกิ่งอำเภอ หนองหินเป็นเขตที่ไม่มีภูเขาสูงมากนัก มีที่ราบเชิงเขาพอที่จะทำการเพาะปลูกได้บ้างมีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า
        เขตภูเขาสูง

        ๒.๓ เขตที่ราบลุ่ม บริเวณลำน้ำเลยและตามลำน้ำโขง ได้แก่บริเวณอำเภอวังสะพุง อำเภอเมืองเลย และอำเภอเชียงคานเป็นเขตที่ราบมีพื้นที่
        สำหรับทำการเกษตรมาก ดินอุดมสมบูรณ์ ทำการเกษตรเพาะปลูกได้ดี มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นมากกว่าเขตอื่น ๆด้วยสภาพพื้นที่เต็มไป
        ด้วยป่าและภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแนวสันปันน้ำเกิดเป็นต้นน้ำลำธารระหว่างหุบเขาแคบ ๆ อุดมสมบูรณ์ เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำสำคัญหลาย
        สาย เช่น
        แม่น้ำพอง เกิดจากภูกระดึง ไหลลงไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรตอนกลาง ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  
     แม่น้ำป่าสัก เกิดจากกลุ่มเทือกเขาภูหลวงทางตะวันตก ในเขตอำเภอด่านซ้ายไหลลงไปเลี้ยงพื้นที่การเกษตรในภาคกลาง
  
     แม่น้ำเลย เกิดจากเทือกเขาภูหลวง ในเขตอำเภอภูเรือเป็นแม่น้ำสายเดียวที่ไหลหล่อเลี้ยง พื้นที่อำเภอภูหลวง อำเภอวังสะพุง อำเภอเมือง
        และลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงคานของจังหวัดเลย

        นอกจากจังหวัดเลยเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำสำคัญถึง ๓ สาย ยังมีห้วยน้ำลำธารซึ่งเกิดขึ้นจากขุนเขาสลับซับซ้อน หล่อเลี้ยงบริเวณพื้นที่
        อำเภอและกิ่งอำเภอของจังหวัดให้เกิด ความอุดมสมบูรณ์ เมื่อในอดีตบริเวณพื้นที่ของจังหวัดเคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ เพราะมีร่องรอย
        ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ได้พบภาพเขียนสีหรือศิลปะถ้ำ อยู่ตามเพิงผาถ้ำ และ เครื่องมือหินกระจายอยู่ตามหมู่หินกรวดในแม่น้ำ
        ลำธาร ในการศึกษาเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ ด้วยการประมวลเรื่องต่าง ๆ มาแยกไว้เพื่อให้มีข้อมูลชัดเจนยิ่งขึ้น เช่นหลักฐานที่ได้มาจากการสำรวจ
        ภาพเขียนสีหรือศิลปะถ้ำ และเครื่องมือสมัยหินดังต่อไปนี่

        ๓. ลักษณะภูมิอากาศ

        ลักษณะภูมิอากาศของจังหวัดเลย สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เป็นภูเขาสูงส่งผลให้อุณหภูมิ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ฤดูร้อนจะร้อนมากจนถึง
        ๔๓.๕ องศาเซลเซียส ฤดูหนาวหนาวจัด บางปีอุณหภูมิลดลงถึง -๑ ถึง -๓; องศาเซลเซียส ส่วนในฤดูฝนจะมีฝนตกชุกพอประมาณ ซึ่งเมื่อจำแนก
        ฤดูกาลของจังหวัดเลย สามารถแบ่งออกได้ ๓ ฤดูกาล ดังนี้

        ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - เดือน&##3648;มษายน

        ฤดูฝน แบ่งออกเป็น ๒ ช่วง ช่วงแรกเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน - เดือนกรกฎาคม มีฝนเนื่องมาจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้   
         ช่วงที่สองเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม - ปลายเดือนตุลาคม เป็นฝนที่เกิดจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นในทะเลจีนใต้

        ฤดูหนาว อากาศหนาวจัดเริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม – เดือนกุมภาพันธ์    ฤดูหนาวของจังหวัดเลยเกิดจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออก
        เฉียงเหนือที่พัดพาเอาอากาศหนาวและแห้งแล้งจากประเทศจีน มาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยส่วนใหญ่เดือนธันวาคม
        และเดือนมกราคมเป็นเดือนที่มีอุณหภูมิต่ำสุด ประมาณ –๑ ถึง – ๓ องศาเซลเซียส เดือนเมษายนมีอุณหภูมิสูงสุดประมาณ ๔๐.๒ องศาเซลเซียส

        อุณหภูมิ
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ อุณหภูมิสูงสุดเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน วัดได้ ๔๐.๒ องศาเซลเซียส ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ อุณหภูมิต่ำสุดเมื่อวันที่ ๗ มกราคม
         ๗.๔ องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดที่เคยวัดได้เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๑๗ วัดได้ -๓ องศาเซลเซียส (จนแม่คะนิ้งลง) น้ำค้างกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง
        ปริมาณน้ำฝน ในปี ๒๕๓๗ มีปริมาณฝนตก ๑,๓๑๗.๖ มิลลิเมตร จำนวนวันที่ฝนตก ๑๓๐ วัน ปี ๒๕๓๖ เป็นปีที่ฝนตกน้อยที่สุดวัดได้ ๘๖๒.๓
         มิลลิเมตร และปีที่ฝนตกมากที่สุดคือปี ๒๕๒๑ ปริมาณน้ำฝนวัดได้ ๑,๖๘๗.๒ มิลลิเมตร

        ความชื้นสัมพัทธ์ ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยปี ๒๕๓๗ เท่ากับ ๗๔.๑๖ % สูงสุดใน เดือนกันยายน เท่ากับ ๘๕ % และต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์
        เท่ากับ ๖๑ %

        ทรัพยากรธรรมชาติ
  
   ๑. ทรัพยากรดิน
        ดินในจังหวัดเลยมีศักยภาพสูงสำหรับการผลิตพืชไร่ซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่ลาด เชิงเขาแต่เป็นเขตที่มีอัตราการชะล้างของหน้าดินค่อนข้างสูง       
        ส่วนปัญหาดินเค็มนั้น จังหวัดเลยเป็นจังหวัดเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ไม่มีปัญหาในเรื่องดินเค็ม

        ๒. ทรัพยากรน้ำ

        แหล่งน้ำที่สำคัญในจังหวัดเลยมีทั้งแหล่งน้ำผิวดินซึ่งได้แก่ แม่น้ำ ลำห้วย หนอง กุด (หมายถึง คลองหรือบริเวณที่มีน้ำล้อมรอบ) แหล่งน้ำใต้ดิน       
        และแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น จังหวัดเลยมีแม่น้ำธรรมชาติพอที่จะให้ประชาชนได้ใช้บริโภคและใช้สอยหลายสายด้วยกัน ในส่วนท้องที่อำเภอต่าง ๆ
         ก็มีแม่น้ำและลำธารจำนวนมาก เช่น อำเภอเมืองเลย มีลำน้ำหมาน ลำน้ำฮวย ลำน้ำเลย อำเภอวังสะพุงมีลำน้ำปวน ลำน้ำฮวย ลำน้ำสวย อำเภอ
        ด่านซ้ายมี ลำน้ำหมัน ลำน้ำพุง ลำน้ำป่าสัก อำเภอภูเรือมี ลำน้ำสาน ลำน้ำข้าวมัน อำเภอนาแห้วมี ลำน้ำพึง ลำน้ำแพร่ ลำน้ำหู อำเภอ ท่าลี่มี ลำน้ำคาน
         อำเภอปากชมมี ลำน้ำชม ลำน้ำสงาว ลำน้ำมั่ง อำเภอภูกระดึงมี ลำน้ำพอง ลำน้ำพองโก เป็นต้น แต่แม่น้ำสายหลักที่สำคัญของจังหวัดเลย มี ๕ สาย คือ
         แม่น้ำโขง แม่น้ำเหือง แม่น้ำเลย แม่น้ำพอง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำหมาน

        ๓. ทรัพยากรป่าไม้

        ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นอยู่ของ ประชากร ในจังหวัดเลย

        จังหวัดเลยมีเนื้อที่ป่าไม้ (สำนักงานป่าไม้จังหวัดเลย) ประมาณ ๗,๘๙๓.๕๔ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๔,๙๓๓,๔๖๒.๕ ไร่ สภาพป่าเป็น
        ป่าดงดิบ เทือกเขาสูง คือ มี ความสูงตั้งแต่ ๓๐๐ – ๖๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สภาพป่าค่อนข้างจะสมบูรณ์ เป็นป่าไม้ เบญจพรรณ
        และป่าไม้เต็งรัง ไม้มีความสำคัญทางเศรษฐกิจได้แก่ ไม้ยาง ไม้มะค่าโมง ตะเคียนทอง ประดู่ ไม้แดง ไม้เต็งรัง ไม้ตะแบก และอื่น ๆ

        สภาพปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่เกษตรกรรม จากที่เคยกำหนดไว้ ๗๐.๐๖% ของเนื้อที่จังหวัด เหลือพื้นที่ป่าไม้
        ที่สมบูรณ์เพียง ๒๘.๕๗% ของพื้นที่ของจังหวัด คิดเป็นพื้นที่ประมาณ ๒,๐๓๓,๘๔๕ ไร่

        ๔. ทรัพยากรแร่ธาตุ

        แร่ธาตุในจังหวัดเลยมีอยู่หลายชนิดที่สำคัญได้แก่ แร่แบไรต์ แมงกานีส ทองแดง ตะกั่ว เหล็ก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี ทองคำ ที่อำเภอเมืองเลย
        อำเภอนาด้วง อำเภอปากชม อำเภอ เชียงคาน อำเภอท่าลี่ และอำเภอวังสะพุง การทำเหมืองแร่ในจังหวัดเลยมีไม่มากนักทั้ง ๆ ที่ในจังหวัดเลย
        มีแร่อยู่หลายชนิด สาเหตุมาจากการที่แร่ธาตุบางชนิดมีราคาต่ำและคุณภาพก็ต่ำด้วย บางชนิดก็มีอยู่จำนวนน้อยไม่คุ้มกับการเปิดเหมือง ปัจจุบัน
        แร่ธาตุส่วนใหญ่ที่อยู่ใกล้ผิวดินได้มีการขุดไปใช้ประโยชน์เกือบหมดแล้ว

        การทำเหมืองแร่ในจังหวัดเลยทำกันในรูปของสัมปทานบัตร โดยขออนุญาตจากสำนักงานทรัพยากรธรณีจังหวัดเลย กระทรวงอุตสาหกรรม
        (อุดม กิติปริวัตร : 2520)

        สภาพแวดล้อม

        การคมนาคมขนส่งในจังหวัดเลย

         การคมนาคมขนส่งมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น เป็นสิ่งที่มีผลต่อความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
          และสังคมของท้องถิ่น สำหรับในจังหวัดเลยมีการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ ดังนี้

การคมนาคมขนส่งทางบก เส้นทางการติดต่อระหว่างจังหวัดเลยกับจังหวัด อื่น ๆ ตลอดจนเส้นทางที่ใช้เดินทางภายใน
จังหวัดมีอย่างทั่วถึง และส่วนใหญ่อยู่ใน สภาพดีสามารถใช้ในการเดินทางติดต่อได้ทุกฤดูกาล การคมนาคมขนส่งทางบกในจังหวัดเลยมีประเภทเดียวคือ ทางรถยนต์

ทางรถยนต์ เส้นทางรถยนต์ในจังหวัดเลยมีทั้งเป็นทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงจังหวัด ทาง รพช. และทางโยธาธิการ
 ประชาชนในจังหวัดเลยสามารถติดต่อกับจังหวัด หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม อุดรธานี หนองคาย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก เชียงใหม่ เชียงราย ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยมีทางหลวงแผ่นดินที่สำคัญผ่านจังหวัดเลย

                            การสื่อสารและโทรคมนาคม เป็นการคมนาคมอีกประเภทหนึ่งที่ชาวจังหวัดเลยนิยมใช้บริการ โดยการสื่อสารแห่งประเทศไทย
                            ได้ให้บริการต่าง ๆ ดังนี้
บริการไปรษณีย์โทรเลข ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขให้บริการประชาชนเกี่ยวกับการรับส่งจดหมาย พัสดุ
                            ไปรษณีย์ โทรเลข ธนาณัติ ตั๋วแลกเงิน และอื่น ๆ ปัจจุบันในจังหวัดเลยมีที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขเพื่อให้บริการแก่ประชาชนครบทุกอำเภอ

โทรศัพท์ เป็นวิธีการสื่อสารที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดซึ่งบุคคลสามารถพูดติดต่อกันได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไป
พบกันปัจจุบัน องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ดำเนินการติดตั้งระบบโทรศัพท์อัตโนมัติสามารถติดต่อได้ทั่วประเทศ สำหรับจังหวัดเลยสามารถติดต่อทางโทรศัพท์ได้ครบทุกอำเภอและทุกตำบลโดยมีชุมสายโทรศัพท์อยู่ในทุกอำเภอและทุกตำบล การใช้โทรศัพท์ของชาวจังหวัดเลยในปี พ.ศ.๒๕๔๑ มีผู้เช่าโทรศัพท์จำนวน ๑๔,๗๐๓ หมายเลข

        ประชากร

        สังคมของชาวเลยโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นสังคมชนบท ชาวบ้านในหมู่บ้านแต่ละแห่งมีความรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี     มีการติดต่อไปมาหาสู่
        เพื่อนบ้านใกล้เคียงกัน ช่วยเหลือพึ่งพิงกันเมื่อมีงาน เช่น งานบวช งานศพ งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน เป็นต้น  ในด้านฐานะความเป็นอยู่นั้น
        ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก ในหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลตัวจังหวัด อำเภอ อิทธิพลของสังคม
        ตะวันตกยังมีไม่มาก ชาวบ้านจะมีความสนิทสนมกลมเกลียวกันเป็นอย่างยิ่ง และมีความเคร่งครัดในขนบธรรมเนียมประเพณี นอกจากนี้ชาวเลย
        ยังมีสภาพความเป็นอยู่บางประการที่เป็นลักษณะเด่นของชาวอีสาน เช่น การให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเองแก่ผู้มาเยือน โดยเฉพาะผู้มาจากต่างถิ่น
        จะได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างดี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความโอบอ้อมอารีที่มีต่อกัน

        อาชีพของประชากร

        ประชากรในจังหวัดเลยประกอบอาชีพที่สำคัญ คือ การเกษตรกรรม การอุตสาหกรรม การทำเหมืองแร่ การพาณิชยกรรมและการบริการ  โดยส่วนใหญ่
        ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผลผลิตทางด้านเกษตรกรรม เป็นสินค้าที่ทำรายได้เข้าสู่จังหวัดเลยมากที่สุด

        การปกครอง

       ปัจจุบันจังหวัดเลยแบ่งการปกครองออกเป็น ๑๒ อำเภอ ๒ กิ่งอำเภอ ๘๙ ตำบล ๘๒๒ หมู่บ้าน ๑ องค์การบริหารจังหวัด ๑ เทศบาลเมือง ๑๓   
       เทศบาลตำบล ๗๐ องค์การบริหารส่วนตำบล (ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดเลย : ๒๕๒๕)

       กลับเมนู