ผีตาโขน อำเภอด่านซ้าย

 

                การละเล่นผีตาโขน เป็นขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นของอำเภอด่านซ้าย ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
ในปีหนึ่งจะเล่นได้เพียงครั้งเดียว คือเล่นในงานบุญหลวง เท่านั้น จึงเป็นวัฒนธรรมที่สมควรได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ตลอดไป นอกจากนี้ ประเพณีการละเล่น
ผีตาโขน ยังเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างประเทศ

                นอกจากนี้ อำเภอด่านซ้าย ยังมีปูชนียสถานที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ คือ องค์พระธาตุศรีสองรัก ซึ่งบุคคลทั่วไปให้การเคารพนับถือ ในแต่ละปีจะมี
ผู้ที่เดินทางมานมัสการเป็นจำนวนมาก ตามตำนานกล่าวว่า พระธาตุศรีสองรักนั้น สร้างขึ้นโดยกษัตริย์สองพระองค์ คือ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา
และ พระไชยเชษฐาธิราช แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) เพื่อเป็นพระราชไมตรีกัน จึงถือว่าเป็นพระธาตุแห่งความรัก จึงมีผู้ขนานนามอำเภอด่านซ้ายว่า
 “ ดินแดนแห่งสัจจะและไมตรี ”

                แต่เนื่องจากในปัจจุบันอำเภอด่านซ้ายมีประเพณีที่มีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ไม่เหมือนท้องถิ่นอื่น ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ประชาชนทั่วไปรู้จักกัน
อย่างแพร่หลายและให้ความสนใจเป็นพิเศษ แม้แต่ชาวต่างประเทศ คือ
ประเพณีการละเล่นผีตาโขน ฉะนั้น ดินแดนแห่งนี้ จึงน่าจะได้รับสมญานามว่า
ดินแดนแห่งสัจจะและไมตรี ประเพณีผีตาโขน ”

ผีตาโขน

                ผีตาโขน เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งแสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
ของอำเภอด่านซ้าย ไม่เหมือนการละเล่นพื้นบ้านของท้องถิ่นอื่น การละเล่นผีตาโขนมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฎ สันนิษฐานว่าคงเกิดมาพร้อมกับ
ประเพณีบุญหลวง และถือปฏิบัติสืบทอดกันมาโดยตลอดจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

 

สาเหตุที่เรียกผีตาโขน

เนื่องจากไม่อาจค้นคว้าหาหลักฐาน หรือการบันทึกได้ จึงต้องใช้วิธีการสอบถามจากคนเฒ่าคนแก่ผู้มีอาวุโสของอำเภอด่านซ้าย ซึ่งก็มีข้อสันนิษฐาน ดังนี้
๑. ผีตามคน จากการบอกเล่าของเจ้าพ่อกวนในขณะเข้าทรงบอกว่า เป็นผีที่ตามคนมาในงานบุญพระเวส (บุญเผวส หรือบุญมหาชาติ) ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น ผีตาโขน
๒. คนป่า ผีตาโขนเป็นคนป่าเผ่าหนึ่ง (คล้ายผีตองเหลือง) ซึ่งอาศัยอยู่ในเขาวงกต ขณะที่พระเวสสันดรและพระนางมัทรีได้บวชเป็นดาบส พระองค์ได้แผ่บารมี
จนเป็นที่นับถือของคนป่า (ผีตาโขน) เหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง เมื่อเพระเวสสันดรเสด็จกลับเข้าเมือง คนป่าจึงตามมาส่งเสด็จด้วย แต่เนื่องจากคนป่ามีความอาย เมื่อจะ
เข้าเมืองจึงหาสิ่งปกปิดร่างกาย โดยเฉพาะใบหน้า จึงใช้กาบลาง (ส่วนที่ห่อหุ้มตาของต้นไผ่) เจาะรูที่ตาให้มองเห็น ใช้เถาวัลย์ หรือตอกผูกสองข้างรัดศีรษะด้านหลัง
กันหล่น ต่อมาเมื่อมีงานบุญพระเวส จึงมีผู้ทำหน้ากากสวมใส่เข้าขบวนแห่พระเวส แทนคนป่า จึงเรียกว่า ผีตาโขน
๓. ผีตาโขน เป็นผีที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายหัวโขนที่ปั้น หรือที่ทำขึ้นให้น่าเกลียดน่ากลัว เมื่อมีการละเล่นผีตาโขน ผู้เล่นจะทำหน้ากากผีให้น่าเกลียดน่ากลัวสวมใส่
คล้ายการละเล่นโขนละคร เป็นการสวมหัวโขนรูปผีต่าง ๆ จึงเรียกว่า ผีตาโขน
๔. ผีตาขน เดิมเรียกการละเล่นนี้ว่า ผีตาขน ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น ผีตาโขน

ลักษณะผีตาโขน

                ผีตาโขน ทุกตัวจะสวมหน้ากาก ซึ่งทำด้วยหวดนึ่งข้าวเหนียวที่สานด้วยไม้ไผ่ หักพับขึ้นทำเป็นหมวก นำมาเย็บต่อกับส่วนโคนของก้านมะพร้าว
ซึ่งถากเป็นรูปหน้ากากผีแล้วตกแต่งเขียนด้วยสีน้ำมัน ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีสีน้ำมันก็จะเขียนด้วยปูนขาวกับดินหม้อ และจะเจาะช่องตาให้มองเห็นได้เอาเศษผ้า
ที่ไม่ใช้มาเย็บติดกันเป็นผืนใหญ่ ห่มคลุมร่างผู้เล่นเป็นผีตาโขน ผีทุกตัวจะถืออาวุธเป็นดาบ
  ซึ่งทำด้วยไม้เนื้ออ่อนหรือทางมะพร้าว โดยทำด้ามเป็นลักษณะ
คล้ายอวัยวะเพศชาย มีหมากกะแหล่ง(เครื่องแขวนคอวัว ควาย ทำให้เกิดเสียง) หรือกระป๋องแขวนไว้ที่เอว เวลาเดินจะทำให้เกิดเสียงดัง ลักษณะการเดินของ
ผีตาโขน ต้องขย่มตัว ส่ายสะโพก โยกขา ขยับเอว

 

ประเภทของผีตาโขน

ผีตาโขน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

๑. ผีตาโขนใหญ่ คือหุ่นผีตาโขนขนาดใหญ่ ใช้ไม้ไผ่ทำเป็นโครงร่างมีกระดาษปะปิดไว้ โดยให้มีคนเข้าไปอยู่ข้างในตัวหุ่นผีตาโขน สามารถเคลื่อนไหวไปมาได้
ซึ่งผู้ที่เข้าไปอยู่ข้างในหุ่นจะต้องเป็นผู้ที่มีความแข็งแรง จึงจะสามารถนำหุ่นเคลื่อนที่ไปมาได้ เนื่องจากตัวหุ่นจะมีน้ำหนักมาก ในเทศกาลบุญหลวงแต่ละปี
จะมีการทำหุ่นผีตาโขนใหญ่ ทั้งผีตาโขนชายและผีตาโขนหญิง ซึ่งจะมีองค์ประกอบคือมีอวัยวะเพศเห็นได้ชัดเจน

๒. ผีตาโขนน้อย คือ ผู้เล่นผีตาโขนทั่วไป ที่สวมหน้ากากผีตาโขน และใช้ผ้าคลุมร่างกายให้มิดชิด เนื่องจากการทำหน้ากากผีตาโขนน้อยทำได้ง่าย ไม่มีข้อจำกัดมาก
จึงเป็นที่นิยมเล่นกันทั่วไป ในการเล่นผีตาโขนน้อยไม่จำกัดคุณสมบัติของผู้เล่น ทุกคนมีสิทธิ์เล่นได้เท่าเทียมกันไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ทั้งหญิงและชาย แต่เนื่องจาก
การเล่นผีตาโขนเป็นการเล่นที่ค่อนข้างโลดโผนและซุกซน ต้องไปกระเซ้าเย้าแหย่คนทั่วไป เพื่อให้เกิดความสนุกสนานด้วยเหตุนี้ผู้หญิงและผู้สูงอายุจึงไม่นิยมเล่น
ผู้ที่นิยมเล่นมากที่สุดจึงได้แก่ เด็กชาย วัยรุ่น และคนหนุ่ม ๆ

 

องค์ประกอบที่สำคัญของผีตาโขน

๑. หวดนึ่งข้าวเหนียว หักพับขึ้นทำเป็นหมวก

๒. หน้ากากผีตาโขน ซึ่งจะทำจากส่วนโคนของก้านมะพร้าว เจาะรูตาให้มองเห็นได้ ต่อจมูก เขียนปาก เขียนสีหน้ากากให้น่าเกลียดน่ากลัว

๓. ผ้าเก่า ๆ ซึ่งจะเย็บต่อจากหน้ากากผีตาโขน มาคลุมร่างของผู้เล่นให้มิดชิด

๔. อาวุธ เป็นดาบที่ทำจากไม้เนื้ออ่อน หรือทางมะพร้าว ส่วนด้ามมักจะทำเป็นรูปอวัยวะเพศชาย

๕. เครื่องดนตรีที่ทำให้เกิดเสียงดัง ผีตาโขนทุกตัวจะมีหมากกะแหล่ง หรือกระป๋องแขวนไว้ที่เอว เวลาเดินจะทำให้เกิดเสียงดัง

 

จุดประสงค์ของการเล่นผีตาโขน

จุดประสงค์ของการเล่นผีตาโขนของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีจุดประสงค์ ดังนี้

๑. เล่นเพราะเป็นประเพณี และเป็นการเล่นเพื่อถวย (ถวาย) เจ้านาย (ผีบรรพบุรุษที่เคยเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในเมืองด่านซ้าย) เนื่องจากชาวบ้านเชื่อว่า
การเล่นผีตาโขนเป็นความประสงค์ของเจ้านาย หากไม่ปฏิบัติตามก็จะถือว่าเป็นการทำผิดประเพณี และจะทำให้เจ้านายไม่พอใจ ซึ่งจะทำให้เกิดความ
เดือดร้อนและเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ แก่สังคมได้

๒. เล่นเพื่อเป็นการแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง

๓. เล่นเพื่อเป็นการแห่บั้งไฟและเพื่อขอฝน

๔. เล่นเพื่อความสนุกเพลิดเพลิน มีการเล่นกระเซ้าเย้าแหย่ประชาชนทั่วไปและเด็ก ๆ ให้เกิดความกลัวเป็นที่สนุกสนาน โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นอาจจะมี
ความอายในการแสดง การละเล่นต่าง ๆ เมื่อสวมหน้ากากแล้วจะไม่มีใครจำได้ จึงกล้าที่จะแสดงออกได้อย่างเต็มที่

๕. เล่นเพื่อขอแผ่ของ (ขอรับบริจาค) โดยที่ในสมัยก่อนการคมนาคมลำบากเมื่อมีการจัดงานประเพณีบุญหลวง จะมีประชาชนจากถิ่นอื่นมาร่วมในงานด้วย
ฉะนั้นเจ้าภาพจะต้องเตรียมหาอาหาร หมากพลู เหล้ายา ไว้คอยต้อนรับแขกที่จะมาในงาน จึงต้องมีการออกไปขอรับบริจาคสิ่งของเหล่านี้ มาไว้ที่วัด หรือ
คุ้มบ้านของเจ้าภาพ แต่เนื่องจากผู้ที่ออกไปขอรับบริจาคอาจจะเกิดความอาย ซึ่งโดยเฉพาะพวกวัยรุ่น จึงได้แต่งตัวสวมหน้ากากผีตาโขนออกไปขอรับบริจาค

 

ขั้นตอนการเล่นผีตาโขน

                การเล่นผีตาโขนจะเริ่มในวันแรกของงานประเพณีบุญหลวง แต่มีข้อห้ามว่าจะออกเล่นก่อนการทำพิธีเบิกพระอุปคุตไม่ได้ เมื่อชาวบ้านได้อัญเชิญ
พระอุปคุตจากลำน้ำหมัน มาประดิษฐานที่หอพระอุปคุตที่วัดโพนชัยแล้ว จะร่วมกันทำบุญตักบาตร แล้วทุกคนก็จะไปร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญเจ้าพ่อกวน จนกระทั่ง
เสร็จพิธี บรรดาผีตาโขนใหญ่ และผีตาโขนน้อย จึงไปรวมกันที่หน้าบ้านเจ้าพ่อกวน และทำการเล่นถวย (ถวาย) เจ้านาย ซึ่งเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมก็จะ
ออกมาต้อนรับและนำเหล้ายามาเลี้ยงดูบรรดาผีตาโขน จากนั้นเจ้าพ่อกวนจะนำขบวนซึ่งประกอบด้วย เจ้าแม่นางเทียม พ่อแสน แม่นางแต่งและประชาชนทั่วไป
รวมทั้งบรรดาผีตาโขนไปยังวัดโพนชัย ขบวนจะเวียนรอบพระอุโบสถ ๓ รอบ เมื่อครบ ๓ รอบแล้ว บรรดาผีตาโขนและการละเล่น อื่น ๆ ในขบวนก็จะจับกลุ่ม
แยกย้ายกันไปเล่นตามอัธยาศัย

                สมัยก่อนผู้เล่นผีตาโขนจะแยกย้ายกันไปเป็นกลุ่ม ตามท้องถนนหรือละแวกบ้านใกล้เคียง โดยทำการกระเซ้าเย้าแหย่ผู้คนตามถนนหนทางที่ผ่านไป
ทำให้ผู้คนที่พบเห็นตกใจ กลุ่มคนที่ผีตาโขนนิยมหยอกล้อมากที่สุดคือ เด็ก และ สาว ๆ ซึ่งจะตกใจง่าย ทำให้เกิดความสนุกครื้นเครงเป็นพิเศษ เมื่อผีตาโขนผ่านไป
ถึงบ้านของใคร เจ้าของบ้านจะบริจาคเงินหรือเลี้ยงเหล้ายาอาหาร บางครั้งผีตาโขนผ่านเรือกสวน ก็จะถือโอกาสขโมย กล้วย อ้อย หรือผลไม้ต่าง ๆ ไปกิน โดยที่
เจ้าของไม่ถือสาหาความ หรือแม้แต่ผ่านตลาดพบขนม ข้าวต้ม ที่วางขายอยู่ก็จะหยิบฉวยกินได้ โดยที่เจ้าของไม่ว่าอะไร ถือว่าเป็นการทำบุญทำทาน ปีหนึ่งมีครั้งเดียว

                นอกจากการละเล่นผีตาโขนแล้ว จะมีการละเล่นอื่น ๆ เช่น การเซิ้ง การเล่นควายตู้ (ไถนา) การเล่นทอดแหหาปลา การขายตัวหม่อน การเล่นขายยา
การเล่นถั่งบั้ง การเล่นกลองยาว ฯลฯ ซึ่งจะเล่นสนุกสานกันจนกระทั่งดึก หรือบางกลุ่มก็เล่นกันจนสว่าง
ในวันที่สองของงานบุญหลวง ผีตาโขนทั้งหลายก็จะออกเล่น
เช่นเดียวกับวันแรกจนกระทั่งเวลา ๑๕.๐๐ น. ผีตาโขนทุกตัวจะไปร่วมในพิธีอัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมืองซึ่งในขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมืองนี้ จะมีขบวนแห่บั้งไฟ
ด้วย ผีตาโขนจะเข้าร่วมในขบวนแห่บั้งไฟอย่างสนุกสนานเต็มที่ เพราะถือว่าเป็นช่วงสุดท้ายของการเล่นแล้ว เมื่อพิธีอัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมืองเสร็จสิ้นลงก็ถือว่า
การเล่นผีตาโขนเสร็จสิ้นลงเหมือนกัน จากนั้นบรรดาผีตาโขนก็จะนำหน้ากากผีตาโขนและอุปกรณ์การเล่นทุกอย่างไปทิ้งลงน้ำ ต่อจากนั้นก็จะไม่มีใครเล่นผีตาโขนอีกเลย
จนกว่าจะถึงงานประเพณีบุญหลวงในปีต่อไป

งานบุญหลวง

                งานประเพณีบุญหลวง เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ถือเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประเพณีหนึ่ง ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นการ
นำเอาประเพณี ๒ อย่างมารวมกัน คือ งานบุญพระเวส (บุญเผวส หรือบุญมหาชาติ) และบุญบั้งไฟ

                เนื่องจากชาวอำเภอด่านซ้าย มีความเชื่อถือในภูตผี วิญญาณ และยึดมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระธาตุศรีสองรัก จึงทำให้เกิดประเพณีเฉพาะ
ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น

                ประเพณีเซ่นไหว้หรือเลี้ยงบ้านเจ้าเมืองกลาง ปฏิบัติในเดือน ๔
  
             ประเพณีเซ่นไหว้หรือเลี้ยงบ้านเจ้าเมืองวัง ปฏิบัติในเดือน ๕
  
             ประเพณีนมัสการพระธาตุศรีสองรัก ปฏิบัติในเดือน ๖

                เมื่อมีข้อจำกัดด้วยเวลาการจัดงาน ทำให้อำเภอด่านซ้ายไม่อาจจัดงานบุญพระเวส ในเดือน ๔ และจัดงานบุญบั้งไฟในเดือน ๖ ได้ เหมือนชาวอีสาน
โดยทั่วไป จึงได้นำเอางานประเพณี ๒ งาน ดังกล่าวมารวมกันเป็นประเพณีเดียว เรียกว่า “ บุญหลวง ” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างปลายเดือน ๗ หรือต้นเดือน ๘ ทั้งนี้
การกำหนดจัดงานแต่ละปีนั้น จะต้องให้เจ้าพ่อกวนเป็นผู้กำหนด โดยการเข้าทรง (ทรงเจ้า) ชาวบ้านจะกำหนดกันเองไม่ได้

ขั้นตอนพิธีการบุญหลวง

งานประเพณีบุญหลวง จะมีกิจกรรมนานถึง ๓ วัน โดยมีขั้นตอนดังนี้

                วันแรกของงาน เรียกว่า “ วันโฮม ” (วันรวม) เป็นวันที่ประชาชนจากหมู่บ้านต่าง ๆ จะเดินทางมาร่วมงาน งานพิธีจะเริ่มแต่เช้ามืด เวลา ๐๔.๐๐ น.
 โดยประชาชนจะไปรวมกันที่วัดโพนชัย เพื่อประกอบพิธีเบิกพระอุปคุต ซึ่งจะมีแสนแก้ว อุ่นเมือง เป็นผู้ทำหน้าที่เป็นผู้เชิญพระอุปคุต โดยคณะพ่อแสนจะนำเอา
อุปกรณ์ที่เตรียมไว้ มีดาบ มีด หอก ฉัตร ซึ่งทำด้วยไม้ ถือเดินนำขบวนประชาชนไปยังริมฝั่งลำน้ำหมัน ซึ่งถือเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เพราะลำน้ำนี้จะไหลไปทางทิศเหนือ
เมื่อถึงริมฝั่งน้ำหมัน ทุกคนจะอยู่ในอาการสงบ แสนแก้ว อุ่นเมือง จะกล่าวคาถาบูชาพระอุปคุต ๓ จบ เมื่อกล่าวจบบทแรก จะตีฆ้องชัย ๑ ครั้ง จบบทที่ ๒ จะตี ๒ ครั้ง
จบบทที่ ๓ จะตี ๓ ครั้ง ต่อจากนั้น พ่อแสนอีกท่านหนึ่ง จะลงไปงมหาพระอุปคุตในลำน้ำหมัน โดยจะใช้หินสีขาวใสเป็นสิ่งสมมุติ เมื่อได้พระอุปคุตแล้ว จะนำขึ้น
มาวางไว้ในพานซึ่งเตรียมมา ทำการจุดประทัดหรือยิงปืน ดนตรีต่าง ๆ ที่เตรียมมา เช่น ฆ้อง กลอง ฉาบ ฉิ่ง พิณ แคน จะเริ่มบรรเลง ประชาชนโห่ร้องชัยโย
แห่พระอุปคุตไปประดิษฐานไว้ที่หอพระอุปคุตที่วัดโพนชัย โดยจะจัดหอใหญ่ไว้ทางทิศตะวันออกของโบสถ์ และมีหอเล็กอีก ๓ หอ โดยรอบโบสถ์ (จัดไว้ ๔ ทิศ)
เมื่อมีการเชิญพระอุปคุตขึ้นหอแต่ละทิศนั้น จะมีการยิงปืนขึ้นทิศละ ๑ นัด

                มูลเหตุที่มีการเชิญพระอุปคุตเชื่อว่า พระอุปคุตนั้น เป็นพระเถระผู้มีฤทธิ์ได้เนรมิตกุฏิอยู่กลางมหาสมุทร สามารถปราบพวกมารได้ราบคาบ เมื่อมี
การจัดงานบุญหลวง จึงได้เชิญพระอุปคุตมาประดิษฐานไว้ในงานด้วย เพื่อให้เกิดความสวัสดีมีชัย การจัดงานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ต่อจากนั้น ก็จะมีพิธีทำบุญ
ตักบาตรที่วัดโพนชัย เสร็จแล้วประชาชนและบรรดาผีตาโขนทั้งหลายก็จะไปร่วมในพิธีบายศรีสู่ขวัญเจ้าพ่อกวน และแห่ขบวนเข้ามายังวัดโพนชัยอีกครั้งหนึ่ง
ก่อนที่ผีตาโขนและประชาชนจะแยกย้ายกันไปเล่นสนุกสนานต่อไป

                ในงานบุญหลวงนี้ นอกจากการเล่นผีตาโขนแล้ว จะมีการละเล่นที่สนุกสนานอีกหลายอย่าง เช่น การเซิ้ง ส่วนใหญ่จะเป็นขบวนของผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งชาย
และ หญิง รวมกันเป็นกลุ่ม มีหัวหน้ากลุ่มนำเซิ้ง กล่าวนำเซิ้ง แล้วลูกคู่ก็จะร้องรับตาม และจะมีดนตรีประกอบ เช่น ฆ้อง กลอง ฉิ่ง ฉาบ แคน พิณ หรือมีการเคาะไม้
โลหะ ตามด้วย
ทั่งบั้ง หรือคนป่ากระทุ้งพลอง ผู้เล่นจะเป็นชายล้วน แต่งกายคล้ายคนป่า โดยใช้เศษผ้า หรือใบตองมาปกปิดร่างกายเฉพาะอวัยวะที่สำคัญ ใช้ดินหม้อ
โคลน หรือสีดำ ทาตามตัวและใบหน้า ทุกคนจะถือบั้งไม้ไผ่ เพื่อกระทุ้งพื้นให้เกิดเสียงดัง และเป็นจังหวะ
ควายตู้ (เล่นไถนา) มักจะทำจากไม้ไผ่ สานเป็นรูปควาย หุ้ม
ด้วยกระดาษหรือกระสอบ ทาสีดำ เจาะตรงกลาง ให้ผู้เล่นเข้าไปอยู่ได้ จากนั้นผู้ที่เล่นก็จะนำควายดังกล่าวออกวิ่งหยอกล้อผู้คน

                ขายยา ซึ่งภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ ยาซุม ” ผู้เล่นจะนำไม้หลาย ๆ ชนิดมาใส่ในภาชนะ โดยสมมุติเป็นยาสมุนไพร แล้วเที่ยวเจรจาขายยา ทำให้สนุกสนาน
เช่นกัน

                ทอดแห ผู้เล่นจะนำแหเก่า ๆ มาทอดตามท้องถนน และทำเป็นงมหาปลาด้วยกริยาอาการต่าง ๆ ทำให้ตลกขบขัน หรือบางครั้งจะนำสัตว์ หรือท่อนไม้
ที่ทำเป็นอวัยวะเพศมาเล่นประกอบด้วย

                ขบวนรำ หรือขบวนฟ้อนเซิ้ง ส่วนใหญ่จะเป็นหนุ่มสาว ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงศิลปะวัฒนธรรมประจำถิ่นของชาวอีสาน

                ในการเล่นในงานบุญหลวงนี้ มีสัญลักษณ์ที่ต้องมีอีกประการหนึ่ง คือ การเล่นสัญลักษณ์เครื่องเพศ ซึ่งจะมีทั้งสัญลักษณ์ ของหญิงและชาย แต่ที่นิยม
เล่นมากที่สุดคือของเพศชาย โดยจะเห็นจาก ด้ามดาบของผีตาโขนน้อย การเล่นขายยา ทอดแห ตกเบ็ด ก็จะมีสัญลักษณ์เครื่องเพศทั้งสิ้น แม้แต่ผีตาโขนใหญ่ก็จะมี
การแสดงเครื่องเพศอย่างชัดเจน

                การละเล่นสัญลักษณ์เครื่องเพศนี้ ไม่ได้ถือเป็นเรื่องลามกอนาจารแต่อย่างใด ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน เพราะปีหนึ่งจะเล่นได้
เพียงครั้งเดียวเท่านั้น การละเล่นสัญลักษณ์เครื่องเพศนี้ มีจุดประสงค์ คือ

                ๑. เล่นเพื่อขอฝน ชาวบ้านเชื่อว่าการเล่นในลักษณะนี้จะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ยิ่งเล่นมากจะทำให้ปริมาณน้ำฝนมีมากขึ้นด้วย

                ๒. เพื่อเป็นการหลอกล่อพญามาร โดยให้พญามารมาหลงระเริงในการเล่นนี้จนลืมที่จะไปก่อความวุ่นวายในงานบุญหลวง จะทำให้การจัดงาน
เป็นไปด้วยความราบรื่น

                ๓. เล่นเป็นประเพณี ชาวบ้านเชื่อว่าหากไม่เล่นจะทำให้ผิดประเพณี และการทำผิดประเพณีนี้ถือว่าร้ายแรงมาก จะทำให้เจ้านายพิโรธ จะทำให้เกิด
สิ่งเลวร้ายขึ้น เช่น ฝนแล้ง ข้าวปลาอาหารไม่อุดมสมบูรณ์ สัตว์เลี้ยงล้มตาย หรือแม้กระทั่งทำให้คนในสังคมเกิดความวุ่นวาย ล้มตาย ได้

                วันที่สองของงาน บรรดาผีตาโขนทั้งหลายก็จะเที่ยวหลอกหลอนชาวบ้านและมีการละเล่นสนุกสนานต่าง ๆ เช่นเดียวกับวันแรก ส่วนใหญ่จะเข้าไป
เล่นในลานวัด ครั้นเวลา ๑๕.๐๐ น. คณะเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม คณะพ่อแสน และนางแต่ง พร้อมประชาชน จะมาพร้อมกันที่สี่แยกบ้านเดิ่น เพื่อทำการ
บายศรีสู่ขวัญพระเวส เสร็จแล้วจะนำขบวนแห่พระเวสเข้าเมือง โดยมีพระพุทธรูป ๑ องค์ เป็นตัวแทนพระเวส และมีพระสงฆ์อีก ๔ รูป จะนั่งอยู่บนเสลี่ยงมีคน
หาม เจ้าพ่อกวนจะนั่งอยู่บนคานหาม ส่วนคนอื่น ๆ จะเดินตามขบวน ขบวนแห่จะเข้าไปยังวัดโพนชัย แห่รอบโบสถ์ ๓ รอบ แล้วอัญเชิญพระพุทธรูป ซึ่งถือเป็น
องค์แทนพระเวส เข้าโบสถ์ เจ้าพ่อกวนและคณะพร้อมกับประชาชนก็จะเข้าไปในโบสถ์ด้วย
บรรดาผีตาโขนที่ตามขบวนมา ก็จะสิ้นสุดการเล่นผีตาโขน และนำเอา
หน้ากากและอุปกรณ์ในการเล่นไปทิ้งน้ำ ต่อจากนั้นก็จะมีพิธีการจุดบั้งไฟ
เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. ประชาชนทั้งหลายจะไปรวมกันที่วัดโพนชัยอีกครั้งหนึ่ง
เพื่อฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เทศนาพระมาลัยหมื่น พระมาลัยแสน จนกระทั่งจบ จึงแยกย้ายกันกลับ

                วันที่สามของงาน จะเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ ๐๓.๐๐ น. ชาวบ้านจะทำพิธีแห่ข้าวพันก้อนไปบูชาพระอุปคุตที่วัด โดยนำข้าวไปวางไว้ตามภาชนะที่เตรียมไว้
และในวันนี้จะมีการอาราธนาพระสงฆ์เทศน์พระเวสสันดรชาดก (เทศมหาชาติ) เมื่อพระสงฆ์เทศน์จบแต่ละกัณฑ์ ก็จะมีการถวายกัณฑ์เทศ หรือกัณฑ์หลอน ด้วย

 

บุคคลสำคัญในงานประเพณีบุญหลวง

๑. เจ้าพ่อกวน เป็นผู้ชายที่ถูกเลือกโดยวิญญาณพระเสื้อเมือง การเลือกเจ้าพ่อกวนจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อเจ้าพ่อกวนคนก่อนถึงแก่กรรม หรือถูกถอนจากตำแหน่ง
แต่อย่างไรก็ตามเจ้าพ่อกวนที่ตั้งใหม่มักจะเป็นคนในตระกูลเดิม อาจเป็นลูกหรือหลานเจ้าพ่อกวนคนเดิม ประชาชนทั่วไปมีความเชื่อว่าบุคคลในตระกูลนี้ สืบเชื้อสาย
มาจากเจ้าเมืองในสมัยโบราณ
การแต่งกายของเจ้าพ่อกวน จะไม่เหมือนกับบุคคลทั่วไป คือจะไว้ผมยาว มุ่นเกล้าไว้กลางศีรษะ ใช้ผ้าขาวคาดศีรษะอยู่เสมอ
นุ่งผ้าสีโจงกระเบน สวมเสื้อสีขาวและจะมีผ้าขาวพาดบ่าอยู่ประจำ
เจ้าพ่อกวนมีหน้าที่เข้าทรงขณะทำพิธีเซ่นไหว้ประจำปี และเข้าทรงเมื่อมีผู้อัญเชิญให้เข้าทรง
เพื่อสอบถามปัญหาต่าง ๆ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นผู้นำในพิธีกรรมต่าง ๆ ชาวบ้านมักจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ เจ้าพ่อ ”

๒. เจ้าแม่นางเทียม เป็นหญิงที่ถูกเลือกโดยวิญญาณของพระเสื้อเมืองมาเข้าทรงเช่นเดียวกับเจ้าพ่อกวน การแต่งกายของเจ้าแม่นางเทียมจะไว้ผมยาวเกล้ามวยไว้
บนกระหม่อมอยู่เสมอ นุ่งผ้าซิ่น และสวมเสื้อขาว
เจ้าแม่นางเทียมมีหน้าที่เข้าทรงเช่นเดียวกับเจ้าพ่อกวน แต่จะแบ่งบทบาทหน้าที่กัน โดยเจ้าที่เข้าทรงประจำของ
เจ้าแม่นางเทียม คือ เจ้าเมืองกลาง ส่วนวิญญาณที่เข้าทรงเจ้าพ่อกวน คือ เจ้าเมืองวัง ชาวบ้านมักจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
เจ้าแม่ ”

๓. พ่อแสน เป็นตำแหน่งข้าเฝ้า มีทั้งหมด ๑๙ ตำแหน่ง และจะต้องเป็นชายเท่านั้น พ่อแสนจะถูกเลือกโดยพระเสื้อเมืองเข้าทรงเจ้าพ่อกวน พ่อแสน ชาวบ้านเรียก
อีกอย่างหนึ่งว่า “ แสน ” ซึ่งจะมีตำแหน่ง ดังนี้

ฝ่ายเจ้าเมืองวัง (เจ้าพ่อกวน) มี ๑๐ ตำแหน่ง คือ
๑. แสนด่าน (เป็นหัวหน้า)    ๒. แสนหอม            ๓. แสนฮอง                 ๔. แสนหนูรินทร์              ๕. แสนศรีสองฮัก
๖. แสนต่างใจ                ๗. แสนกลาง            ๘. แสนศรีฮักษา            ๙. แสนศรีสมบัติ            ๑๐. แสนกำกับ

ฝ่ายเจ้าเมืองกลาง (เจ้าแม่นางเทียม) มี ๙ ตำแหน่ง คือ
๑. แสนเขื่อน (เป็นหัวหน้า)    ๒. แสนคำบุญยอ      ๓. แสนจันทร์                ๔. แสนแก้วอุ่นเมือง         ๕. แสนบัวโฮม
๖. แสนกลางโฮง               ๗. แสนสุขะ            ๘. เมืองแสน                ๙. แสนเมืองจันทร์

แสนทั้ง ๑๙ ตำแหน่ง มีหน้าที่เข้าเฝ้าพระเสื้อเมือง ในขณะเข้าทรงเจ้าพ่อกวน หรือเจ้าแม่นางเทียม ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการดูแลรักษาพระธาตุศรีสองรักด้วย

๔. นางแต่ง เป็นข้าเฝ้าฝ่ายหญิง มีทั้งหมด ๔ คน วิธีเลือกนางแต่งทำโดยพระเสื้อเมืองเข้าทรงเจ้าแม่นางเทียม นางแต่งจะมีหน้าที่ปรนนิบัติตกแต่งและจัด
เตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะใช้ในพิธีกรรม

 

เอกสารอ้างอิง และผู้ให้ข้อมูล
กาญจนา สวนประดิษฐ์. ผีตาโขน ศึกษาเฉพาะกรณีอำเภอด่านซ้ายจังหวัดเลย. ปริญญานิพนธ์ : มศว.มหาสารคาม , ๒๕๓๓

สำนักงานศึกษาธิการอำเภอด่านซ้าย. ผีตาโขน จุลสารเผยแพร่วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย

นายถาวร เชื้อบุญมี (เจ้าพ่อกวน)

นายสมบูรณ์ ศรีพรหม อาจารย์ใหญ่โรงเรียนชุมชนบ้านด่านซ้าย

ผู้เฒ่าผู้แก่ของอำเภอด่านซ้าย

คณะผู้รวบรวมและจัดทำ

นายวินัย ไชยบุตร            ผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอด่านซ้าย
นายอนันต์ มงคลเดช         นักวิชาการศึกษา ๖ สำนักงานศึกษาธิการอำเภอด่านซ้าย
นายสาโรจน์  จันทร์แจ่ม     นักวิชาการศึกษา ๖ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเลย

แสดงความคิดเห็น ให้ข้อแนะนำ ติชม และสอบถามได้ที่ saroht@chaiyo.com

กลับเมนู