บริการต่าง ๆในอินเตอร์เน็ต

เครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหลายที่อยู่ในอินเตอร์เน็ตถ้าจัดแบ่งตามหน้าที่จะแบ่งสองประเภทดังนี้คือ

  • Server หรือ Host เป็นคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการแก่คอมพิวเตอร์อื่น เช่น คอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่ให้บริการด้าน E-mail ก็เป็น E-mail Server เป็นต้น
  • Client เป็นคอมพิวเตอร์ที่เป็นผู้ใช้บริการ

การที่ท่านเข้าใช้อินเตอร์เน็ตได้นั้นท่านต้องใช้ผ่านคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ที่ท่านใช้นั้นถือว่าเป็น client คือเป็นผู้ใช้บริการ ส่วนจะเป็น client ของเซิร์ฟเวอร์ใดนั้นสุดแท้แต่ว่าจะเลือกเข้าใช้บริการของเซิร์ฟเวอร์ไหน

บริการและเครื่องมือต่าง ๆในอินเตอร์เน็ตที่นิยมใช้กันมีดังนี้

telnet

เมื่อคอมพิวเตอร์ของท่านติดต่อกับอินเตอร์เน็ตได้แล้ว สิ่งถัดไปคือการติดต่อกับคอมพิวเตอร์ที่เป็นเซิร์ฟเวอร์ เหตุที่ต้องติดต่อเพราะว่าต้องการเข้าไปใช้บริการในเซิร์ฟเวอร์นั้น telnet เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้ท่านสามารถติดต่อกับเซิร์ฟเวอร์ได้ รูปแบบคำสั่งที่ใช้ telnet ในการติดต่อกับเซิร์ฟเวอร์เป็นดังนี้

  • telnet ชื่อเซิร์ฟเวอร์

ยกตัวอย่างเช่น ต้องการติดต่อกับเซิร์ฟเวอร์ที่ชื่อ student.netserv.chula.ac.th คำสั่งที่ใช้ก็เป็นดังนี้

  • telnet student.netserv.chula.ac.th

เมื่อติดต่อกับเซิร์ฟเวอร์ได้แล้ว ต่อไปให้ท่านทำการ login เข้าไปเพื่อจะได้ใช้บริการต่าง ๆของเซิร์ฟเวอร์นั้น ถ้าท่าน login ไม่เข้าก็ไม่สามารถใช้บริการต่าง ๆได้ สิ่งที่ท่านต้องใช้ตอน login คือ account และ password ที่เป็นของเซิร์ฟเวอร์นั้น ซึ่ง ISP จะให้ท่านเมื่อท่านสมัครเป็นสมาชิก ในกรณีของนิสิตจุฬา ฯจะได้ account และ password จาก ChulaNet

ท่านสามารถใช้ telnet ติดต่อกับเซิร์ฟเวอร์ใดก็ได้ในอินเตอร์ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล แต่ถ้าท่านต้องการใช้บริการของเซิร์ฟเวอร์นั้นท่านต้องมี account และ password ของเซิร์ฟเวอร์นั้น

ftp

ftp ย่อมาจาก File Transfer Protocol เป็นบริการรับส่งไฟล์ (file) ระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ ftp server เป็นคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการ ftp บริการของ ftp มีอยู่สองอย่างด้วยกันคือ

  • download เป็นบริการรับไฟล์หรือก๊อปปี้ไฟล์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็น ftp server มายังเครื่องคอมพิวเตอร์ของท่าน
  • upload เป็นบริการส่งไฟล์หรือก๊อปปี้ไฟล์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ของท่านไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็น ftp server

บริการ ftp มักนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องของ Freeware และ Shareware

  • Freeware หมายถึงซอฟต์แวร์ที่ผู้ผลิตแจกให้ใช้ฟรี
  • ส่วน Shareware หมายถึง ซอฟต์แวร์ที่ผู้ผลิตแจกให้ลองไปใช้ดูก่อน และเมื่อใช้แล้วพอใจจะนำไปใช้จริงก็ค่อยส่งเงินมาชำระทีหลัง ถ้าไม่นำไปใช้จริงก็ไม่ต้องส่งเงินมาชำระ

ผู้ผลิต Freeware และ ผู้ผลิต Shareware จะทำการส่งซอฟต์แวร์ของตนเองที่ต้องการแจกจ่ายไปไว้ที่คอมพิวเตอร์ที่เป็น ftp server และใครก็ตามที่สนใจจะลองนำไปซอฟต์แวร์ของผู้ผลิตไปใช้ดูก็ให้ไปทำการ download จากคอมพิวเตอร์ที่เป็น ftp server เครื่องนั้นมายังเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนเอง ในบางกรณีถ้าท่านมีข้อมูลที่น่าสนใจและต้องการเผยแพร่ ท่านก็สามารถส่งข้อมูลนั้นไปไว้ที่ ftp server ได้ ตัวอย่าง ftp server เช่น ftp.chula.ac.th

talk

เป็นบริการอย่างหนึ่งของอินเตอร์เน็ต บริการนี้ช่วยให้คนสองคนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยวิธีสนทนา และคนทั้งสองนั้นจะอยู่ใกล้หรือไกลก็ไม่เป็นปัญหา การสนทนาในที่นี้หมายถึงการพิมพ์ข้อความโต้ตอบกันผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่ได้หมายถึงใช้เสียงพูดในการสนทนา

การพิมพ์ข้อความโต้ตอบกันโดยใช้ talk นี้ช่วยให้ท่านสื่อสารกับคนอื่นได้ ไม่ว่าคนนั้นจะอยู่ที่ไหน ประเทศไหน ทวีปไหน ใกล้หรือไกล มีข้อแม้ว่าคอมพิวเตอร์ของท่านและคอมพิวเตอร์ของคนที่ท่านต้องการสื่อสารนั้นต้องต่ออยู่กับอินเตอร์เน็ต

การใช้ talk นั้นสิ่งแรกที่ท่านต้องทราบคือ ต้องทราบแอดเดรส(address) ของผู้ที่ท่านต้องการสนทนาด้วย แอดเดรสที่ว่านี้เป็นแอดเดรสเดียวกับที่ใช้ในอีเมลล์ แอดเดรส์ประกอบด้วยสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นรหัสบัญชี( user account) และส่วนที่เป็นชื่อของเซิร์ฟเวอร์ ทั้งสองส่วนนี้ถูกคั่นด้วยเครื่องหมาย @ ตัวอย่าง address ท vapisit@pioneer.chula.ac.th รหัสบัญชีคือ vapisit และเซิร์ฟเวอร์คือ pioneer.chula.ac.th

เมื่อท่านต้องการสนทนากับผู้ที่เป็นเจ้าของแอดเดรส vapisit@pioneer.chula.ac.th ท่านก็ใช้คำสั่งดังนี้ ท talk vapisit@pioneer.chula.ac.th

มีเงื่อนไขอีกข้อคือว่าเจ้าของแอดเดรสที่ท่านต้องการติดต่อนั้นต้องกำลังใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อ กับอินเตอร์เน็ตและทำการ login ด้วย ท่านถึงจะติดต่อได้ talk ช่วยในการติดต่อได้ทีละสองคน เป็นคู่ไป ถ้าต้องการติดต่อสื่อสารมากกว่าสองคน เช่น สนทนาพร้อมกันสามคน ในกรณีเช่นนี้ talk ทำไม่ได้ ท่านต้องไปใช้บริการอย่างอื่นแทน

IRC (Internet Relay Chat)

IRC เป็นบริการที่เหมือนกับ talk คือช่วยให้คนสามารถติดสื่อสารกันได้โดยการสนทนา แต่ IRC นั้นได้พัฒนาไปไกลกว่า talk คือสามารถสนทนาพร้อมกันได้มากกว่าสองคน เช่น ทีละสามคน ทีละยี่สิบคน เป็นต้น มีลักษณะเป็นกลุ่มสนทนา และการสนทนาในที่นี้หมายถึงการพิมพ์ข้อความโต้ตอบกันผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่ได้หมายถึงใช้เสียงพูดในการสนทนา

IRC เหมือนกับการประชุมร่วมกัน และแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม กลุ่มละเรื่อง ถ้าท่านสนใจกลุ่มไหนก็สามารถเข้าร่วมสนทนากลุ่มนั้นได้ โดยที่ท่านอาจจะแสดงความคิดเห็น หรือ ฟังเฉย ๆไม่แสดงความคิดเห็นก็ได้ และถ้าท่านเห็นว่าหัวข้อที่กำลังคุยกันในกลุ่มนั้นไม่สนใจ ท่านก็อาจจะออกจากกลุ่ม ไปเข้ากลุ่มใหม่ที่หัวข้อน่าสนใจมากกว่า กลุ่มสนทนาใน IRC จะมีมากมายหลายร้อยกลุ่ม ในหลายๆ เรื่อง และมีคนเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่กลุ่มเล็กขนาด 2-3 คน ไปจนถึงกลุ่มขนาดใหญ่ที่มีขนาดเป็นร้อยคน และมีการสนทนากันตลอด 24 ชั่วโมง

E-mail

E-mail หรือ จดหมายอิเล็กทรอนิคส์เป็นบริการอย่างหนึ่งที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมาก จนทำให้บางคนคิดว่าE-mail คือ อินเตอร์เน็ต และอินเตอร์เน็ตคือ E-mail วิธีใช้งานอีเมลล์ก็ง่ายและมีประโยชน์มาก

การทำงานของ E-mail มีลักษณะคล้ายกับระบบไปรษณีย์ปกติ (หมายถึงระบบที่ใช้กระดาษในการเขียนจดหมาย) กล่าวคือในระบบไปรษณีย์ปกติมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการรับส่งจดหมายคือเป็นบรุษไปรษณีย์ (ในกรณีของประเทศไทยคือ การสื่อสารแห่งประเทศไทย) ถ้าเป็นในอินเตอร์เน็ตสิ่งที่ทำหน้าที่คอยรับส่งจดหมายคือบรรดาคอมพิวเตอร์ทั้งหลายที่ทำหน้าที่เป็น E-mail Server (คอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่ให้บริการด้านจดหมายอิเล็กทรอนิคส์) ดังนั้นถ้าท่านต้องการใช้ E-mail สิ่งแรกที่ท่านต้องทำคือไปสมัครเป็นสมาชิกหรือไปทำการลงทะเบียนกับอีเมลล์เซิร์ฟเวอร์ จะเป็นเซิร์ฟเวอร์ใดก็ได้ บรรดาอีเมลล์เซิร์ฟเวอร์ทั้งหลายนี้สามารถจัดแบ่งออกได้เป็นสามประเภทดังนี้

  • อีเมลล์เซิร์ฟเวอร์ของหน่วยงานที่ท่านทำการศึกษาอยู่หรือทำงานอยู่ เช่น นิสิต อาจารย์ ข้าราชการ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็สามารถลงทะเบียนหรือสมัครเป็นสมาชิกได้กับคอมพิวเตอร์ที่เป็นอีเมลล์เซิร์ฟเวอร์ของจุฬา ฯ ได้
  • อีเมลล์เซิร์ฟเวอร์ของ ISP ( Interner Service Provider - หน่วยงานที่ให้บริการอินเตอร์เน็ต ) เช่น KSC เป็นต้น ท่านสามารถสมัครหรือลงทะเบียนกับหน่วยงานประเภทนี้ได้ แต่ต้องเสียค่าสมาชิกให้แก่หน่วยงานประเภทนี้ด้วย
  • อีเมลล์เซิร์ฟเวอร์ของหน่วยงานที่ให้บริการฟรี เป็นบริการฟรีที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปลงทะเบียนหรือสมัคร เป็นสมาชิกได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น hotmail เป็นต้น

ภายหลังจากที่ท่านลงทะเบียนกับอีเมลล์เซิร์ฟเวอร์แล้ว ท่านก็สามารถใช้อีเมลล์ได้ ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการเขียนจดหมาย ส่งจดหมาย และรับจดหมาย มีอยู่หลายตัวด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น pine, Netscape, Outlook เป็นต้น ท่านจะเลือกใช้ซอฟต์แวร์ตัวไหนก็ได้แล้วแต่ความชอบใจของตัวท่านเอง ท่านไม่จำเป็นต้องรู้วิธีใช้ซอฟต์แวร์ด้านอีเมลล์ทุกตัว ท่านรู้เพียงตัวเดียวก็พอ

ตัวจดหมายอิเลคทรอนิคส์แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่คือ

  • Heading ส่วนนี้ใช้ระบุ E-mail address ของผู้รับจดหมาย และ Attachment (สิ่งที่ส่งมาด้วย)
  • Body ส่วนนี้เป็นส่วนที่เป็นเนื้อความจดหมาย

อีเมลล์แอดเดรส์ของผู้รับจดหมายประกอบด้วยสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นรหัสบัญชี( user account) ของผู้รับจดหมาย และส่วนที่เป็นชื่อของอีเมลล์เซิร์ฟเวอร์ของผู้รับ ทั้งสองส่วนนี้ถูกคั่นด้วยเครื่องหมาย @ ตัวอย่าง E-mail address

  • vapisit@pioneer.chula.ac.th รหัสบัญชีคือ vapisit และอีเมลล์เซิร์ฟเวอร์คือ pioneer.chula.ac.th
  • kpeter@yahoo.com รหัสบัญชีคือ kpeter และอีเมลล์เซิร์ฟเวอร์คือ yahoo.com

attachment (สิ่งที่ส่งมากับอีเมล์)อาจเป็นไฟล์ประเภทไหนก็ได้ เช่น ไฟล์ที่เป็นข้อความล้วน ๆ (text) ไฟล์ที่ข้อมูลรูปภาพ กล่าวคือเป็นสื่ออะไรก็ได้

ประโยชน์ที่ท่านที่เป็นผู้ใช้อีเมลล์จะได้รับมีดังนี้

  • สามารถส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เมื่อไรก็ได้ตามที่ท่านต้องการ จะเป็นกลางคืนหรือกลางวันก็ได้
  • จดหมายจะถึงมือผู้รับภายในเวลาอันรวดเร็ว อาจภายในไม่กี่นาที หรือภายในไม่กี่ชั่วโมง ไม่ว่าผู้รับจดหมายนั้นจะอยู่ใกล้หรือไกล
  • ผู้รับจดหมายก็สามารถรับและเปิดอ่านจดหมายได้เมื่อไรก็ได้ตามที่เขาต้องการ
  • สามารถส่งจดหมายไปยังผู้รับคนเดียว หลายคน หรือจำนวนมากเป็นร้อยคน เป็นพันคนได้ ซอฟต์แวร์ของอีเมล์ส่วนใหญ่จะมีวิธีช่วยให้ท่านเก็บรายชื่อพร้อมทั้งอีเมลล์แอดเดรส ของผู้ที่ท่านต้องการส่งจดหมายไปหา และช่วยจัดเป็นกลุ่มด้วย ถ้าส่งจดหมายไปยังกลุ่มก็หมายความว่าทุกคนในกลุ่มก็ได้รับจดหมายนั้น
  • สามารถเก็บจดหมายที่ได้รับ(จากเพื่อน ผู้ร่วมงาน หรือหัวหน้า)บางฉบับไว้ได้ ถ้าท่านเห็นว่าจดหมายนั้นมีความสำคัญ เช่น ไว้เตือนความจำว่ามีงานอะไรต้องทำ หรือ ได้ตกลงเรื่องอะไรไว้กับใครบ้าง

ปัญหาที่ท่านอาจพบในการใช้อีเมลล์

  • จดหมายหาย ปัญหานี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดพลาดของคน ความผิดพลาดของซอฟต์แวร์ ความล้มเหลวของฮาร์ดแวร์ เป็นต้น
  • จดหมายส่งไปผิด คือไปยังผู้รับผิดคน ปัญหานี้อาจเกิดการที่ระบุอีเมลล์แอดเดรสของผู้รับผิด
  • การปลอมจดหมาย

World Wide Web

World Wide Web เป็นบริการที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในอินเตอร์เน็ต ไม่มีบริการใดเป็นที่นิยมเทียบเท่า ชื่อเรียกย่อของ World Wide Web มีอยู่หลายชื่อ เช่น WWW, W3, Web เป็นต้น ต่อไปจะขอใช้ชื่อ Web แทน World Wide Web

Web Server และ Web Browser

Web server เป็นคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่ให้บริการด้าน web เซิร์ฟเวอร์ประเภทนี้มีเป็นจำนวนมากมาย ได้มีการพิมพ์รายชื่อของบรรดา web server นี้ออกมาเป็นสมุดซึ่งสมุดนี้มีขนาดพอ ๆกับสมุดรายชื่อโทรศัพท์ บางคนเรียก web server นี้ว่า web site ตัวอย่างของชื่อ web site เช่น www.chula.ac.th, www.ch7.com

การเข้าไปดูหรือเข้าเยี่ยมชมเวบไซต์ต่าง ๆต้องใช้ซอฟต์แวร์ Web Browser ซึ่งบราวเซอร์นี้มีอยู่หลายตัวให้เลือกใช้ ตัวที่นิยมกันมีอยู่สองตัวคือ Netscape และ Internet Explorer บราวเซอร์มีช่องให้พิมพ์ชื่อเว็บไซต์ที่ต้องการดู ในกรณีของ Netscape คือช่อง location ส่วนในกรณีของ Internet Explorer คือ ช่อง address

Hypertext และ Hypermedia

Web เป็นบริการอย่างหนึ่งที่ใช้นำเสนอเอกสารข้อมูล (document) การนำเสนอเอกสารของ Web มีจุดหนึ่งที่แตกต่างจากบริการอื่น และจุดนี้เป็นจุดเด่นเหนือบริการอื่น คือ ความสามารถในการเชื่อมโยง (link) ซึ่งแบ่งออกได้เป็นสองอย่างดังนี้

  • การเชื่อมโยงภายใน บรรดาเอกสารที่นำเสนอนี้สามารถจัดให้มีการเชื่อมโยง (link) ซึ่งกันและกันได้ ยกตัวอย่าง ท่านมีเอกสารที่นำเสนออยู่สิบเอกสาร สามารถจัดให้เอกสารทั้งสิบนี้เชื่อมโยงกันได้ เช่น เอกสารที่หนึ่งมีจุดเชื่อมโยงไปยังเอกสารที่ห้า เอกสารที่ห้ามีจุดเชื่อมโยงไปยังเอกสารที่สาม และเอกสารที่เหลือก็จัดให้เชื่อมโยงกันไปมาตามความเหมาะสม การจัดให้มีการเชื่อมโยงนี้จะให้มีกี่การเชื่อมโยงก็ได้
  • การเชื่อมโยงไปข้างนอก บรรดาเอกสารที่นำเสนอนี้ยังสามารถจัดให้มีจุดเชื่อมโยงไปข้างนอกได้ คือเชื่อมโยงไปยังเอกสารชุดที่อยู่ที่คอมพิวเตอร์เครื่องอื่นได้ จะเป็นคอมพิวเตอร์ที่อยู่ภายในประเทศ หรือ ต่างประเทศ หรือ คนละทวีป ก็ได้ และในทำนองเดียวกันจุดเชื่อมโยงไปภายนอกจะมีกี่จุดก็ได้ จะเชื่อมโยงไปกี่คอมพิวเตอร์ก็ได้ ทั้งนี้สุดแท้แต่ความต้องการ

การใช้งาน WWW

การเข้าดูเอกสารที่จัดอยู่ในรูป Hypertext และ Hypermedia นี้ต้องใช้บราวเซอร์ (เช่น Netscape หรือ Internet Explorer) ลักษณะเอกสารที่แสดงออกมาผ่านบราวเซอร์ก็จะเหมือนเอกสารทั่วไป สิ่งที่แตกต่างจากเอกสารทั่วไป คือบางจุดบนเอกสาร(ที่ปรากฏบนบราวเซอร์) เมื่อท่านเลื่อนเมาส์ผ่านจะปรากฏเป็นรูปมือ ซึ่งหมายความว่าจุดนั้นเป็นจุดเชื่อมโยงไป ยังเอกสารอื่นซึ่งอาจอยู่ใน web site เดียวกันหรือคนละ web site ก็ได้ และเมื่อคลิกจุดนั้นบราวเซอร์ก็จะนำเอาเอกสารที่จุดนั้นเชื่อมโยงไปมาแสดงออกหน้าจอแทน เช่น เมื่ออ่านเอกสารแล้วไปเจอคำว่า Arts และเมื่อเลื่อนเมาส์ไปที่คำนี้ก็ปรากฏว่าเป็นรูปมือ ก็หมายความว่าเมื่อท่านคลิก รายละเอียดของ Arts ก็จะแสดงให้เห็น

HTML

HTML ย่อมาจาก HyperText Mark-up Language การจัดทำเอกสารข้อมูลให้อยู่ในรูปของ HyperText นั้นเขาใช้ชุดคำสั่งในภาษา HTML มาจัด โดยที่เอกสารจะถูกแบ่งออกเป็นหน้า ๆเหมือนกับเอกสารที่เป็นกระดาษธรรมดา แต่ละหน้าของเอกสารจะเรียกว่า Web page และเมื่อจัดเตรียมเอกสารอยู่ในรูปของ HyperText แล้ว ก็นำเอกสารนั้นไปเก็บไว้ที่คอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่เป็น Web Server หรือที่เขาเรียกกันว่า Web Site

การจัดทำเอกสารเพื่อนำไปลง Web site นั้นจำเป็นต้องรู้ภาษา HTML หรือไม่ คำตอบคือไม่จำเป็น เพราะว่าในปัจจุบันนี้มีเครื่องมือในการเปลี่ยนเอกสารธรรมดาให้เป็นเอกสารที่นำไปลง Web ได้ เช่น ในไมโครซอฟต์เวิร์ดก็มีฟังก์ชันที่สามารถเปลี่ยนเอกสารที่เป็นรูปแบบเวิร์ดให้เอกสาร HTML ที่นำไปลงใน web ได้

URL

URL ย่อมาจาก Uniform Resource Locator บราวเซอร์ใช้ URL ในการระบุว่าจะเข้าเยี่ยมชม web server ใด หรือแหล่งข้อมูลใด ตัวอย่างของ URL

  • http://www.arts.chula.ac.th/welcome.html

จากตัวอย่างนี้ URL แบ่งออกเป็นสามส่วนตามลำดับดังนี้

  • http:// ส่วนแรก ใช้ระบุว่าเป็นเซิร์ฟเวอร์ประเภทใด ซึ่งในที่นี้เขียนว่า http ก็เป็นเซิร์ฟเวอร์ประเภท web server
  • www.arts.chula.ac.th ส่วนที่สองใช้ระบุชื่อเซิร์ฟเวอร์ ในที่นี้เซิร์ฟเวอร์ชื่อ www.arts.chula.ac.th
  • welcome.html ส่วนที่สามใช้ระบุชื่อไฟล์เอกสาร ในที่นี้ไฟล์ชื่อ welcome.html

URL ในตัวอย่างนี้ระบุให้บราวเซอร์เข้าเยี่ยมชมเซิร์ฟเวอร์ประเภท web server ที่มีชื่อว่า www.arts.chula.ac.th โดยให้เปิดดูไฟล์เอกสารที่ชื่อ welcome.html

URL สามารถระบุให้บราวเซอร์สามารถเข้าเยี่ยมชมเซิร์ฟเวอร์ประเภทอื่นได้ด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • ftp://ftp.chul.ac.th ระบุให้บราวเซอร์เข้าเยี่ยมชมเซิร์ฟเวอร์ประเภท ftp server ที่ชื่อ ftp.chula.ac.th
  • gopher://ohiolink.edu ระบุให้บราวเซอร์เข้าเยี่ยมชมเซิร์ฟเวอร์ประเภท gopher ที่ชื่อ ohiolink.ed