.

คอมพิวเตอร์พกพาแข่งดุ
ผู้ใช้ต้องตามให้ทัน

ความจริงแล้วอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แบบพกพา หรือ โมบายคอมพิวเตอร์ (Mobile Computer) เริ่มเข้ามาทำความรู้จักผู้บริโภค ในประเทศไทยมาหลายปีแล้ว โดยมีชื่อที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่บริษัทผู้ผลิตและเทคโนโลยีภายในที่ใช้ ได้แก่ พีดีเอ PDA (Personal Digital Assistance) ปาล์ม พีดีเอ (Palm PDA) หรือ พ๊อกเก็ตพีซี (Pocket PC)

แต่ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ผู้บริโภคยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการใช้ ประกอบกับราคาที่สูงจนเกินไป สำหรับการเป็นเจ้าของสินค้าไฮเทคชนิดนี้ ตลอดจนคุณสมบัติในการทำงานที่ยังไม่เข้าตากรรมการ จึงทำให้ตลอดคอมพิวเตอร์แบบพกพาในระยะแรกไม่โตเท่าที่ควร

อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาไม่นานมานี้ วงการพีดีเอบ้านเราก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อหลายบริษัทผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) หลายรายต่างพาเหรดกันออกผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์แบบพกพารุ่นใหม่ๆ พร้อมๆ กัน ซึ่งก่อนหน้านี้วงการต่างๆ ก็เริ่มนำพีดีเอไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว ตัวอย่างเช่น การใช้พีดีเอในโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ หรือพยาบาลใช้บันทึกข้อมูลคนไข้ และสื่อสารแบบไร้สายระหว่างกันได้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น โรงพยาบาลเวชธานี เป็นต้น หรือ การนำไปใช้สำหรับงานขาย เช่น ใช้พีดีเอเพื่อบันทึกคำสั่งซื้อ ตลอดจนตรวจสอบสภาพของสินค้าคงคลัง รายงานยอดขาย และการระบบการทำงานต่างๆ ตัวอย่างการใช้งานประเภทนี้ เช่น ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น

นายพุฒิพันธ์ เตชะราชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้จัดจำหน่ายและนำเข้าอุปกรณ์ ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ กล่าวว่า กระแสตลาดโมบายคอมพิวเตอร์ของโลกมีทิศทางเติบโตที่ดีมาก เพราะความต้องการของกลุ่มผู้ใช้หลัก คือ กลุ่มคนทำงานเริ่มเป็นสำนักงานเคลื่อนที่ (Mobile Office) มากขึ้น ทั้งนี้รวมถึงแนวโน้มในประเทศไทยด้วย

" ตลาดคอมพิวเตอร์พกพาประกอบไปด้วยอุปกรณ์ 2 ประเภท คือ เครื่องคอมพิวเตอร์แบบโน้ตบุ๊ก และเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวแบบพกพา หรือ พีดีเอ โดยข้อมูลทางการตลาดพบว่า ภายในปี 2545 น่าจะมียอดขายถึง 15 ล้านเครื่องทั่วโลก ขณะที่ยอดขายในประเทศไทยเมื่อปี 2544 อยู่ที่ 54,000 เครื่อง และเชื่อว่าภายในสิ้นปีจะเติบโตประมาณ 50 % หรือเพิ่มขึ้นเป็น 85,000 เครื่อง"

ด้าน นายแพทริค โล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ แอนด์ แอล คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวเสริมว่า จากยอดจำหน่ายของเครื่องพีดีเอในประเทศไทยของปีที่ผ่านมานั้น แบ่งเป็นเครื่องที่ใช้ระบบปฏิบัติการปาล์ม (Palm OS) ประมาณ 73 % แต่คาดว่าในปีหน้ายอดขายของเครื่องพีดีเอที่ไม่ใช่ปาล์มจะเพิ่มขึ้นอีก 50% และในปี 2547 เครื่องพีดีเอที่ใช้ระบบปฏิบัติการ วินโดวส์ ซีอี (Windows CE OS) หรือ เครื่องพ๊อกเก็ตพีซี (Pocket PC) จะสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้มากกว่า 50%

สำหรับแนวทางของผู้ผลิต นายพรเทพ วัชรอำนวย ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เอซัสเทค คอมพิวเตอร์ อินคอร์ปอเรชั่น หรือ เอซัสเทค (ASUSTeK) เปิดเผยว่า บริษัทเปิดตัวคอมพิวเตอร์แบบพกพา หรือพีดีเอ ลงตลาดเพื่อตอบสนองการเติบโตในธุรกิจโมบายคอมพิวเตอร์ โดยเสนอจุดเด่น คือ เล็ก เร็ว และเบา ด้วยการทำงานบนระบบปฏิบัติการพ็อกเก็ตพีซี 2002 ภายใต้ชื่อ "มายพอล" (MyPal) รุ่น เอ 600

การเปิดตัวครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการขยายฐานธุรกิจในตลาดโมบายคอมพิวเตอร์ของบริษัท ให้กว้างขวางและครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น โดยเปลี่ยนจากบทบาทเดิม คือ ผู้รับจ้างผลิต (OEM) เป็นผู้ผลิตเอง ซึ่งนับได้ว่าเอซัสไม่ใช่น้องใหม่ในวงการของผู้ผลิตพีดีเอ สำหรับพีดีเอรุ่นใหม่นี้ใช้หน่วยประมวลผลกลางของ อินเทล ความเร็ว 400 เมกกะเฮิร์ตซ์ หน่วยความจำ (แรม) 64 เมกกะไบต์ พร้อมจอแสดงผลแบบ แอลซีดี รีเฟล็กทีฟ ทีเอฟที ขนาด 3.5 นิ้วความละเอียด 240 X 320 พิกเซล และแสดงผลที่ 65,536 สี โดยตั้งราคาจำหน่ายไว้ที่ 22,999 บาท

ทางด้าน บริษัท ปาล์ม คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์พกพารายใหญ่ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ประกาศเปิดตัวอุปกรณ์พกพารุ่นใหม่เสริมทัพพร้อมกัน 3 รุ่นในเดือนตุลาคม 2545 เช่นกัน แต่ยังไม่มีรายงานว่าจะนำเข้ามาจำหน่าย ภายในประเทศไทยช่วงเวลาใด

นายทอดด์ แบรดลีย์ หัวหน้าฝ่ายบริหาร บริษัท ปาล์ม กล่าวว่า บริษัทจะเริ่มต้นขายพีดีเอสำหรับลูกค้าในระดับล่างด้วยราคาประมาณ 100 ดอลลาร์ หวังจะขยายฐานลูกค้า และวางแผนส่งพีดีเอระดับบนอีก 2 รุ่น ซึ่งจะบรรจุเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายอย่างครบครันเข้ามาด้วย อาทิ การสื่อสารไร้สายแบบบลูทูธ (BlueTooth Technology) และระบบเครือข่ายไร้สายความเร็วสูงจีพีอาร์เอส (GPRS) เป็นต้น

นายมาซาฮิโร่ ทามูระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซนี่ ไทย จำกัด กล่าวถึงสภาพของตลาดคอมพิวเตอร์แบบพกพา (พีดีเอ) ว่า ตลาดพีดีเอยังไม่ใช่ตลาดที่ใหญ่มากนัก แต่ลักษณะการเติบโตเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ตามกระแสความต้องการเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป โดยบริษัทคาดการณ์ว่าโลกกำลังจะเข้าสู่ยุคที่คนสามารถใช้คอมพิวเตอร์ ที่มีการเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายอยู่ทุกที่ ทุกเวลา หรือ ยุคยูบิควิตัส (Ubiquitous Society) ในไม่ช้า ซึ่งพีดีเอถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะพาโลกไปสู่สังคมดังกล่าว

กรรมการผู้จัดการ โซนี่ ไทย กล่าวด้วยว่า บริษัทได้เปิดตัวคอมพิวเตอร์แบบพกพารุ่นใหม่ ทำตลาดในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ภายใต้ชื่อ CLIE Handheld (คลีเอ้) โดยเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการ ทั้งทางธุรกิจ และเพื่อความบันเทิงส่วนตัว โดยแนวทางในการพัฒนาสินค้าพีดีเอ ของโซนี่จะเริ่มปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับการใช้งานสำหรับผู้ใช้ตามบ้าน (Home Use) และตอบสนองวัฒนธรรมความบันเทิงส่วนตัว (Entertainment Centric) ให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันพีดีเอไม่ได้เป็น ผลิตภัณฑ์สำหรับนักธุรกิจ (Business User) หรือใช้งานในผู้ใช้ระดับสูง (Advanced User) แต่เพียงอย่างเดียว

นับได้ว่า การเติบโตของเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาเป็นสิ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง ว่าจะไปในทิศทางใด โดยที่ผู้บริโภคก็ควรศึกษาข้อมูลของผู้ผลิตแต่ละรายให้ดี รวมทั้งสำรวจความต้องการของตนเองด้วยเช่นกัน เพื่อให้การเลือกใช้เทคโนโลยีเป็นไปด้วยความชาญฉลาด

ไม่ใช่เลือกเพราะว่าเป็นทาสของเทคโนโลยีเท่านั้น …

ทรงธรรม ธนะศิริวัฒนา
songtime@thairath.co.th

หมายเหตุ : สกู๊ป IT DIGEST ONLINE ปรับปรุงเฉพาะวันจันทร์ พุธ ศุกร์

กลับด้านบน
 
Copy right(c)2000 by Vacharaphol Co.,Ltd.
1 Viphavadirangsit Rd. Bangkok 10900 Thailand Tel.(662) 272-1030 Fax. (662) 272-1324