z1zm.gif (6065 bytes)z1zu.gif (6407 bytes)z1zs.gif (6305 bytes)z1ze.gif (6211 bytes)z1zu.gif (6407 bytes)z1zm.gif (6065 bytes)

Handwave.gif (17369 bytes)พิพิธภัณท์Handwave.gif (17369 bytes)

 

พิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง

                       เช้าวันอังคารที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๐ เป็นวันที่กองทัพเรือแห่งราชอาณาจักรไทยจะต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ว่า ณ วันนั้นกองทัพเรือมีพิพิธภัณฑ์เรือหลวงขึ้นเป็นครั้งแรก โดยพลเรือวิจิตร ชำนาญการณ์ ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานในพิธีเปิด ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า กิ่งอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการก่อนหน้านี้ กองทัพเรือมีโครงการอนุรักษ์เรือรบไทยไว้เช่นกัน แต่เป็นการอนุรักษ์ไว้เพียงอุปกรณ์ที่สำคัญ ๆ บางส่วนเท่านั้น   สำหรับเรือหลวงแม่กลองจึงนับเป็นครั้งแรกที่กองทัพเรือจัดเรือรบทั้งลำขึ้นเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อแสดง นิทรรศการเกี่ยวกับประวัติ-ศาสตร์ของเรือ และแสดงกิจกรรมของกองทัพเรือในโอกาสต่างๆ พิพิธภัณฑ์เรือหลวง                        แม่กลองเป็นโครงการหนึ่งที่กองทัพเรือน้อมเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเสด็จฯเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙          เนื่องจากกระทรวงกลาโหมพิจารณาเห็นว่า เรือหลวงแม่กลองมีอายุราชการถึง ๖๐ ปีแล้ว          และเป็นเรือรบที่ประจำการนานที่สุดของกองทัพเรือ มีสภาพทรุดโทรมมาก หากจะทำการซ่อมแซมเพื่อใช้ในราชการต่อไปคงไม่คุ้มค่า จึงมีมติให้ปลดระวางประจำการในวันที่
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๓๙ และอนุรักษ์ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางทหารเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปเรือหลวงแม่กลอง
มีประวัติศาสตร์ยาวนาน โครงการสั่งต่อเรือเป็นผลจากพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือง พ.ศ.๒๔๓๘ ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายพันเอก พระยาพหลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่ากองทัพเรือจะพยายามดำเนินการจัดหาเรือรบไว้ป้องกันประเทศก่อนหน้านี้เป็นระยะเวลานานแล้ว ประมาณ ๓๐ ปี แต่เนื่องจากมีปัญหาทางด้านงบประมาณที่ไม่เพียงพอ จึงไม่ประสบความสำเร็จ
กองทัพเรือสั่งต่อเรือหลวงแม่กลองและเรือหลวงท่าจีน ซึ่งเป็นเรือฝึกหัดนักเรียนหรือเรือสลุป พร้อมกับเรือตอร์ปิโดเล็กอีก ๓ ลำที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้เป็นที่รู้จักในหมู่ทหารเรือว่า เรือหลวงแม่กลองและเรือหลวงท่าจีนเป็นเรือพี่น้องกัน โดยเรือรบทั้งสองลำนี้จะปฏิบัติภารกิจในการป้องกันประเทศทางทะเล ทำการรบอย่างมีประสิทธิภาพยามประเทศชาติมีศึกสงคราม ในยามสงบก็จะแปรสภาพเป็นเรือฝึกนักเรียนทหารและนายทหาร ให้มีความรู้ความชำนาญในการเดินเรือสำหรับการฝึกภาคทะเลเป็นระยะทางไกลไปยังเมืองท่าต่างประเทศ
วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๓๙ ถือเป็นวันกำเนิดเรือหลวงแม่กลอง ณ อู่ต่อเรืออูรางา เมืองโยสึกะ ประเทศญี่ปุ่น โดยมี พระมิตรกรรมรักษา อัครราชฑูตที่โตเกียวเป็นผู้ประกอบพิธี ประมาณ ๘ เดือนต่อมา ตัวเรือภายนอกก็เสร็จเรียบร้อย มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๗๙ จากนั้นจึงสร้างส่วนประกอบตัวเรือภายนอก พร้อมกับวางเครื่องจักรใหญ่ติดตั้งอาวุธประจำเรือ ในชั้นแรกมีทั้งปืนใหญ่ ปืนกล ตอร์ปิโด เครื่องบินทะเล เมื่อต่อเรือหลวงแม่กลองเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ทำการทดลองเครื่องจักรในทะเลตั้งแต่วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๘๐ เป็นต้นมา ซึ่งผลการทดลองก็เป็นที่เรียบร้อยทุกประการ
กระทรวงกลาโหมจัดนายทหาร และทหารไปรับเรือหลวงแม่กลอง เรือหลวงท่าจีน พร้อมด้วยเรือตอร์ปิโดเล็กทั้ง ๓ ลำกลับสู่ประเทศไทย โดยให้นักเรียนนายเรือร่วมเดินทางไปด้วย มี นายนาวาโท หลวงยุทธกิจพิลาส (มี ปัทมะนาวิน) เป็นผู้บังคับคับการเรือหลวงแม่กลองคนแรก โดยตั้งเป็นหมวดเรือชั่วคราวขึ้น มี นายนาวาโท หลวงเนาพลรักษ์ (จุ่น สุวรรณคดี) ซึ่งเป็นผู้บังคับการเรือหลวงท่าจีน เป็นผู้บังคับหมวดเรือทั้งหมดอีกชั้นหนึ่ง ออกเดินทางจากเมืองโกเบในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๘๐ ขณะเดินทางกลับ หมวดเรือประสบกับพายุดีเปรสชั่นและพายุไต้ฝุ่นหลายลูก แต่ด้วยความพยายามและความสามารถของนายทหาร นักเรียนนายเรือ และนายทหารประจำเรือ ทำให้หมวดเรือรอดพ้นอันตรายมาได้ นับว่าเรือหลวงแม่กลองได้ปฏิบัติภารกิจแรก โดยทำหน้าที่เป็นเรือฝึกหัดนักเรียนนายเรือในทันทีที่ต่อเสร็จ ตรงกับวัตถุประสงค์แรกเริ่มของการต่อเรือ หมวดเรือเดินทางถึงสัตหีบในวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๘๐ รวมเป็นเวลาเดินทางจากประเทศญี่ปุ่น ๒ เดือนเศษ
จากนั้นในวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๔๘๐ หมวดเรือเดินทางจากสัตหีบมายังกรุงเทพฯ โดยแล่นขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เข้าเทียบท่าราชวรดิษฐ์ เพื่อเข้าพิธีต้อนรับ เจิมเรือและขึ้นระวางประจำการ โดยมี นาวาเอก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า อาทิตยทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใน พระบาทสมเด็จพระ-เจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธี
เนื่องจากเรือหลวงแม่กลองได้รับพระราชทานชื่อตามชื่อแม่น้ำ “แม่กลอง” ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดสมุทรสงคราม กองทัพเรือจึงส่งเรือหลวงแม่กลองเดินทางไปจังหวัดสมุทรสงคราม จอดทอดสมอในแม่น้ำแม่กลอง เพื่อให้บรรดาชาวสมุทรสงคราม ซึ่งต่างก็มีความภาคภูมิใจ และถือเป็นเกียรติอย่างสูงที่เรือหลวงได้รับพระราชทานนามชื่อแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัด ทำการจัดพิธีฉลองเป็นเวลา ๓ วัน ตั้งแต่วันที่ ๓ - ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑ มีพิธีมอบพระพุทธรูปและโล่แก่เรือหลวงแม่กลอง เพื่อคุ้มครองป้องกันภยันตรายทั้งหลายทั้งปวงแก่เรือและนายทหารประจำเรือ
เรือหลวงแม่กลองนำนักเรียนนายเรือฝึกภาคทะเล “อวดธง” ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๑ (ปีการศึกษา ๒๔๘๐) ผ่านเมืองท่าต่างประเทศ ได้แก่ ไซ่ง่อน มะนิลา คูชิง (ซาราวัด) และเดินทางกลับมาเยี่ยมชายทะเลภาคใต้ของไทย ตั้งแต่ ตากใบ ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ เรื่อยมาจนกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๔๘๑ ส่วนการฝึกภาคทะเลครั้งสุดท้าย เรือหลวงแม่กลองนำนักเรียนนายเรือออกฝึกภาคทะเลเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ (ปีการศึกษา ๒๕๓๗) ระหว่างวันที่ ๓๐ มกราคม ถึงวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๓๘ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่จะให้เรือหลวงแม่กลองเดินทางไปเยี่ยมอำลาประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสงครามที่แม่น้ำแม่กลอง กองทัพเรือจึงร่วมกับจังหวัดสมุทรสงคราม จัดพิธีอำลาเรือหลวงแม่กลองระหว่างวันที่ ๑๗–๑๘ มีนาคม ๒๕๓๘
ตลอดระยะเวลาในการรับใช้ราชการเรือหลวงแม่กลองปฏิบัติภารกิจทั้งในยามสงบและในยามสงครามด้วยดีมาโดยตลอด ครั้งสำคัญคือการออกลาดตระเวนเป็นกองเรือป้องกันอ่าวไทยอย่างเข้มแข็งในกรณีพิพาทกับอินโดจีนของฝรั่งเศส สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ นอกเหนือจากนั้น ยังปฏิบัติภารกิจในหน้าที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ หลายครั้ง เช่น เป็นเรือพระที่นั่งนำเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ จากท่าราชวรดิษฐ์ไปยังเรือซีแลนเดียที่เกาะสีชัง เพื่อเสด็จฯ กลับไปศึกษาต่อ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นเรืออัญเชิญพระบรมอัฐิของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ จากสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยามายังท่าราชวรดิษฐ์ และทำหน้าที่เป็นเรือพระที่นั่งรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ นิวัติพระนครจากสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยามายังท่าราชวรดิษฐ์ เป็นต้น
ถึงวันนี้เป็นเวลา ๖๐ ปีแล้ว ที่เรือหลวงแม่กลองทำงานรับใช้ประเทศชาติอย่างเต็มความสามารถตลอดเวลา เป็นเรือรบที่สามารถได้รับการยกย่องให้เป็น “เรือครู” และถ้านับรวมระยะทางของการเดินทางเป็นระยะทางที่มากที่สุดในกองทัพเรือ ปัจจุบัน เรือหลวงแม่กลองได้รับภารกิจสำคัญชิ้นใหม่ คือการเป็นพิพิธภัณฑ์เรือหลวง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงกาลเวลาระหว่างอดีตและปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นอนุสรณ์ให้ชนรุ่นหลังได้มองย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา ทั้งของตัวเรือเองและกองทัพแห่งราชนาวีไทย

สำหรับผู้สนใจที่จะเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สามารถเข้าชมได้ในเวลาราชการ ๐๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

 

 

 

 

 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( พ.ศ.๒๓๙๔–๒๔๑๑)

พิพิธภัณฑสถานในเมืองไทยได้เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ในพระบรมมหาราชวัง

เพื่อเก็บรักษาศิลปโบราณวัตถุและเครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ

ลุถึงแผ่นดินต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง มิวเซียม ณ ศาลาสหทัยสมาคมหรือหอคองคอเดีย ในพระบรมมหาราชวัง เป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๑๗ และต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๓๐ จึงได้ย้ายมาอยู่ ณ พระที่นั่ง ๓ องค์หน้า ในพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า คือพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งศิวโมกข์พิมานและพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย จนถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระที่นั่งทั้งหมดและหมู่พระวิมานในพระราชวังบวรสถานมงคลเป็น พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ และประกาศให้เป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร แบ่งลักษณะการจัดแสดงออกเป็นหมวดใหญ่ ๆ คือ

๑. ประวัติศาสตร์ชาติไทย ในพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน

๒. ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในประเทศไทย แบ่งตามยุคสมัยคือ

- สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในอาคารส่วนหลังของพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน

- สมัยประวัติศาสตร์ จัดแสดงในอาคารใหม่สองหลัง ได้แก่สมัย ทราวดี ศรีวิชัย และลพบุรี จัดแสดงในอาคารมหาสุรสิงหนาทและสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นไปจัดแสดงในอาคาประพาสพิพิธภัณฑ์

๓. ประณีตศิลป์และชาติพันธุ์วิทยา ในอาคารหมู่พระวิมาน จัดแสดงเครื่องทอง เครื่องถม เครื่องมุก เครื่องดนตรี เครื่องไม้จำหลัก ผ้าโบราณ เครื่องถ้วย ของสูงราชยานคานหาม อาวุธโบราณ เครื่องใช้ในพระพุทธศาสนาและอัฐบริขารของพระสงฆ์ เครื่องการละเล่นต่าง ๆ เช่น หัวโขน หุ่นกระบอก และหนังใหญ่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีบรรดาราชรถสำหรับใช้การการพระบรมศพ และเครื่องประกอบต่างๆ จัดแสดงในอาคารโรงราชรถ

นอกจากโบราณวัตถุล้ำค่าที่จัดแสดงแล้วอาคารต่าง ๆ ที่มีมาแต่เดิมในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ยังเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์พระพุทธรูปสำคัญของบ้านเมือง อีกทั้งยังมีพระที่นั่งขนาดย่อมและศาลาทรงไทยที่รื้อย้ายมาจากที่ต่าง ๆ อีกหลายองค์ ล้วนแต่เป็นสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณีที่งดงามเก่าแก่ และหาดูได้ยากทั้งสิ้น

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร จึงเป็นสถานที่ที่รวบรวมเอกลักษณ์ทั้งทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมไทยที่โดดเด่นที่สุดในเกาะรัตนโกสินทร์

 

 

 

 

 

พิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้าน ลพบุรี

 

เพราะการคมนาคมในสมัยก่อน ถนนหนทางยังไม่เจริญ ตัดแยกเข้าตามซอยตามหมู่บ้านต่าง ๆ เหมือนเช่นทุกวันนี้ ชาวบ้านภาคกลางในสมัยนั้น ซึ่งได้แก่ ชาวฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สิงห์บุรี ลพบุรี เป็นต้น จึงต้องพึ่งพาเรือพื้นบ้านเป็นยานพาหนะ

ในช่วงเวลานั้น การสัญจรไปมาทางน้ำเป็นสิ่งจำเป็น เรือ จึงเป็นพาหนะสำคัญในการเดินทางไปตามลำแม่น้ำ ลำคลอง และลำกระโดงเพื่อทำธุรกิจส่วนตัว การค้าขาย ตลอดจนเดินทางไปทำบุญในงานประเพณีตามวันต่าง ๆ เป็นประจำ ซึ่งในสมัยก่อน ชาวสวน ชาวหมู่บ้าน ตามเมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ลำคลอง จะใช้เรือพื้นบ้านพายไปมาอย่างหนาตา

มาถึงปัจจุบัน การเดินทางทางน้ำเพื่อกิจกรรมดังกล่าวลดลงไปมาก เนื่องจากการคมนาคมเจริญเติบโตรุดหน้า คนไทยรุ่นใหม่จึงพบเห็นการใช้เรือเพื่อการเดินทางเพียงในภาพยนตร์สารคดี หรือมาเที่ยวตลาดน้ำที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เรือพื้นบ้านจึงถูกทอดทิ้งเป็นเพียงภูมิปัญญาของชนรุ่นเก่าเท่านั้น

กลุ่มภาคเอกชนในนามชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อม จังหวัดลพบุรี จึงก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านที่วัดยาง ณ รังสี ขึ้นมา เนื่องจากเห็นความสำคัญของเรือพื้นบ้านเหล่านี้ว่า จะเป็นประโยชน์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาชีวิต วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของคนรุ่นก่อนว่าเป็นอย่างไร โดยรวบรวมเรือพื้นบ้านจากชาวบ้านที่อยู่ใกล้ ๆ วัด กับที่ชาวบ้านนำเรือพื้นบ้านชนิดต่าง ๆ ไปบริจาคให้กับทางพิพิธภัณฑ์เป็นประจำ หลายลำอยู่ในสภาพสมบูรณ์ แต่ก็มีอีกหลายลำผุพังต้องซ่อมแซม

เรือส่วนใหญ่ในพิพิธภัณฑ์เป็นเรือพื้นบ้านที่ชาวบ้านใช้งานมาแล้วในอดีต มีรูปร่างและชื่อเรียกแตกต่างกันตามคุณประโยชน์ของการใช้สอย มีตั้งแต่เรือพายม้า เรือเข็ม เรือบด เรือสำปั้น เรือกระแซง เรือมาด เรือแจว และเรือหมู

เรือแต่ละลำที่กล่าวมาแล้วมีทั้งเรือขุดและเรือต่อ เรือขุดคือเรือที่ขุดจากไม้ซุง เช่นไม้ตะเคียน ไม้มะค่า ไม้สัก ได้แก่เรือหมู ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเรือพายม้า หัวและหางเรือเหลาเป็นรูปแท่งเรียวแหลม ใช้พายเรือถ่อเพื่อหาปลา ถ้าเป็นเรือหมูขุดจากไม้ตะเคียน จะเหนียวและทนต่อทุกสภาพมีอายุนับร้อย ๆ ปีล่วงมาแล้ว

ส่วนเรือขุดขนาดใหญ่ได้แก่เรือชะล่า เป็นเรือขุดจากซุงทั้งต้น ทำให้เป็นรูปเรือโดยไม่ต้องเบิกปากเรือให้กว้าง ท้องเรือแบน ความกว้างของลำเรือเท่ากันเกือบตลอดลำ โดยปกตินิยมใช้ถ่อให้เคลื่อนที่

สำหรับเรืออีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่าเรือต่อนั้น มีอาทิ เรือกระแชง ซึ่งส่วนมากทำจากไม้สัก ท้องเรือจะโค้งกลม นิยมผูกเรือกระแชง ต่อกันยาวเป็นขบวนและใช้เรือยนต์ลากจูง ที่เรียกว่าเรือกระแชงก็เพราะแต่เดิมใช้กระแชงซึ่งก็คือใบเตยหรือใบจาก นำมาเย็บเป็นแผงทำเป็นประทุนบังแดดฝน ใช้บรรทุกของที่มีน้ำหนักมาก เช่น ข้าวเปลือก ไม้ฟืน เป็นต้น

พิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้าน ตั้งอยู่ในศาลาการเปรียญหลังเก่าที่วัดยาง ณ รังสี ในตำบลตะลุง อำเภอเมือง จ.ลพบุรี ห่างจากตัวเมือง ๘ กิโลเมตร ในวัดมีต้นยางยักษ์ขนาด ๑๓ คนโอบ อายุมมากกว่า ๔๐๐ ปีเป็นสัญลักษณ์

หากมีโอกาสเดินทางมาจังหวัดลพบุรีแวะเยี่ยมพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้าน ชมมรดกตกทอดของบรรพบุรุษไทย ที่สะท้อนวิถีชีวิตและภูมิปัญญาไทยในอดีตอีกอย่างหนึ่ง

 

 

 

 

 

พิพิธภัณฑ์ไม้สักทอง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมืองกำแพงเพชร เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ทางจังหวัดกำแพงแพชร กรมศิลปากร กรมสามัญศึกษา และมูลนิธิปริยัติศึกษา
ญสส. ในสังคมราชูปถัมภ์จึงร่วมจัดสร้างขึ้นในเขตพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ จังหวัดกำแพงเพชรตัวอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นเรือนไทยหมู่แบบเรือนไทยภาคกลางบนพื้นที่กว้างขวาง ซึ่งจัดผังวางตำแหน่งพิพิธภัณฑ์ตามอย่างเรือนไทยโบราณ ประกอบด้วยใต้ถุนโล่ง สูง ด้านล่างจัดวางโต๊ะแสดงขนบประเพณีวิถีไทย เช่น ขนมไทย ตุ๊กตาไทยซึ่งปั้นตามอิริยาบถต่างๆ ของชาวไทยพื้นบ้านดั้งเดิม ส่วนด้านบนทำเรือนชานกว้าง แต่ละห้องบนพิพิธภัณฑ์เรือทนไทยแห่งนี้เป็นที่รวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และจัดแสดงงานศิลปหัตถกรรมอันแสดงถึงภูมิปัญญาของบรรพชนในท้องถิ่น แหล่งข้อมูลด้านมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของจังหวัด

การจัดแสดงแบ่งเป็น ๕ ส่วนคือ

๑. ประวัติศาสตร์และโบราณคดีทั่วไป เกี่ยวกับความเป็นมาของจังหวัด ซึ่งสันนิษฐานว่ามีมาก่อนกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ประกอบด้วยเมืองโบราณที่บ้านคลองเมือง เมืองนครชุม เมืองเทพนคร เมืองบางพาน และเมืองกำแพงเพชร

๒. ประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชร ทั้งสภาพธรณีวิทยา สภาพดินฟ้าอากาศ สภาพเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

๓. ชาติพันธุ์วิทยา แสดงเรื่องราวสภาพชีวิต เศรษฐกิจ ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี และการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนต่าง ๆ อันได้แก่ พม่า ไต ลาวโซ่ง ชาวล้านนา ฯลฯ

๔. มรดกดีเด่นของกำแพงเพชร ทั้งมรดกธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม เริ่มตั้งแต่พัฒนาการของพระเครื่องเมืองกำแพง พระเครื่องที่สำคัญ ๆ ได้แก่ พระนางพญากำแพงเพชร พระกำแพงซุ้มกอ พระกำแพงกลีบบัว เป็นต้น โดยได้รวมเอากล้วยไข่ ประเพณีกล้วยไข่ ผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพัฒนาการทางอุตสาหกรรมและศิลปหัตถกรรม เมืองกำแพงเพชร

๕. การจัดแสดงความเป็นมาของเมืองในรูปแบบของภาพสี ภาพโปร่งใส แผนผัง แผนที่ หุ่นจำลอง และเทคนิคพิเศษในรูปของมัลติมีเดีย เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและหวงแหนถิ่นฐานบ้านเกิดของตน

สถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ไม้สักทอง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร อยู่ต่อเนื่องกับที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกำแพงเพชร (พิพิธภัณฑ์เดิม) ภายในเขตเมืองเก่า ของกำแพงเพชร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ถ้าใครมีเวลาผ่านไป ขอเชิญแวะชมพิพิธภัณฑ์ล่าสุดของประเทศไทยเพื่อชื่นชมเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นของเมืองมรดกโลกแห่งนี้

 

z4z1.gif (1922 bytes)