ดาหลา

ชื่อสามัญ            Torch ginger
ชื่อวิทยาศาสตร์    Amomum magnifcum
ดาหลาเป็นไม้ดอกที่ปลูกกันมาช้าานานทางภาคใต้ของไทย ซึ่งชาวบ้านมักนำดอกตูมและหน่ออ่อนมารับประทาน เป็นผักจิ้มน้ำพริก แกงเผ็ด และหั่นเป็นชิ้นๆ ผสมในข้าวยำ หรือใช้ยำ แต่ปัจจุบันเกษตรหันมาสนใจปลูกดาหลากันอย่างจริงจัง เนื่องจากดอกดาหลามีความสวยงาม คงทน ไม่บอบช้ำง่าย สะดวกต่อการขนส่ง และประการสำคัญโรคและแมลงที่เข้ามารบกวนก็มีน้อย จึงทำให้ทางราชการเล็งเห็นถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจ และได้บรรจุไว้ในกลุ่มของไม้ตัดดอกเขตร้อน

ลักษณะทั่วไป
ดาหลาจัดอยู่ในพืชตระกูลเดียวกับขิง ข่า ที่มีลำต้นอยู่ใต้ดิน เจริญเป็นกอ ใบสีเขียวเข้ม แบนคล้ายรูปหอก ปลายแหลม กว้าง 5-6 นิ้ว ก้านใบชูอยู่เหนือดินสูงประมาณ 1-2 เมตร ออกดอกเด่นเพียงดอกเดียว มีหลายสี เช่น แดง ขาว และสีชมพู แต่ที่พบเห็นกันมากคือสีชมพูแดง ก้านดอกยาวประมาณ 1.5 ฟุต กลีบดอกเรียงเป็นระเบียบสวยงามดูเหมือนดอกพลาสติก ขนาดดอกกว้าง 10-15 ฟุต

การปลูก
ดาหลาชอบดินร่วนที่มีอินทรีย์วัตถุสูงและมีความชื้น ขึ้นได้ดีในที่ร่มรำไร เช่น ตามร่องสวนไม้ยืนต้น ออกดอกได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงที่ให้ดอกมกาคือ เดือนธันวาคม-มีนาคม ถ้าปลูกในที่โล่งมีแสงแดดจัด สีของดอกจะซีดลงไม่สวย ถ้าปลูกแบบยกร่องคือมีร่องน้ำ ตรงกลางปลูกไม้ยืนต้น ส่วนด้านข้างร่องปลูกดาหลาทั้งสองข้างให้ขนานกันไป ระยะห่างระหว่างกอแต่ละกอประมาณ 1 เมตร ถ้าปลูกแบบไม่ยกร่อง ควรขุดหลุมให้กว้างยาวประมาณ 40-50 ซม. ระยะหว่างต้นประมาณ 2 เมตร กลบดิน รดน้ำไห้ชุ่ม เมื่อดาหลาออกดอก ควรตัดดอกตอนเช้าไม่เกิน 7 โมง หรือไม่ก็ตัดตอนเย็น หลังจากตัดแล้วควรแช่น้ำเย็นทันที เพื่อเป็นการช่วยให้ดอกบานได้ทน เทคนิคการตัดดอกควรตัดก้านดอกเหนือผิวดินประมาณ 10-15 ซม. เพื่อไห้หน่อเดิมแทงช่อดอกออกมาอีก 1-2 ดอก แต่ก้านดอกจะสั้นกว่าเดิมเล็กน้อย การให้น้ำ ถ้าปลูกแบบยกร่องควรรดน้ำ 2 วันต่อ 1 ครั้ง แต่ถ้าปลูกแบบไม่ยกร่องควรดน้ำวันละ 1 ครั้ง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับร่มเงาและอากาศในพื้นที่ปลูกด้วย หากมีลมปละแดดจัดควรรดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น การใส่ปุ๋ยเพื่อป้องกันดินไม่ให้เสื่อมคุณภาพ ควรใส่ปุ๋ยคอก เช่น มูลไก่ มูลวัว-ควาย ไร่ละ 20 กก. ทุกๆ 1 เดือน โดยใช้วิธีโรยรอบโคนต้น แต่ถ้าจะเร่งให้เกิดดอกเร็วควรใส่ 2 ครั้งต่อเดือน หรือไม่ก็ลอกขี้เลนขึ้นมากลบโคนต้น การตัดแต่งใบจะต้องตัดแบบค่อยๆ ตัดทีละนิดเพื่อเป็นการเตือน ถ้าตัดแบบต้นไม้ทั่วไปหรือตัดชิดโคนจะทำให้ต้นดาหลาเหี่ยวเฉาตายได้

การขยายพันธุ์ ส่วนใหญ่นิยมการขยายพันธุ์จากหน่อของต้นเดิม เช่น
  • การแยกหน่อ ควรเป็นหน่อที่สมบูรณ์สูงประมาณ 60-100 ซม. มีใบติดไปด้วยประมาณ 4-5 ใบ และให้มีรากติดอยู่บ้าง เมื่อนำมาปลูกจะใช้เวลาเพียง 6 เดือน ก็ให้ดอก
  • การแยกเหง้า เป็นวิธีการแยกเหง้าที่เกิดใหม่ไปชำ และใช้เวลานานถึง 1 ปีจึงให้ดอก
  • การชำหน่อแก่ เป็นวิธีการชำหน่อแก่เพื่อให้ได้หน่อที่แตกใหม่ไปปลูก ฉะนั้นจึงเสียเวลานานกว่าวิธีอื่นๆ

    โรคและแมลง มักจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ที่พบบ้าง คือ หนอนเจาะลำต้น หรือที่เรียกว่า "หนอนเขียว" จะเข้าทำลายตามซอกใบและลำต้น ทำให้ภายในลำต้นเน่าเป็นสีดำ การป้องกัน ควรตัดต้นที่เป็นโรคทิ้งแล้วเผาไฟทำลายเสียหรือใช้สารเคมีจำพวกสารฆ่าแมลงประเภทดูดซึมฉีดพ่น นอกจากนี้งมีมดแดงชอบทำรังอยู่บนต้นทำให้เกิดเป็นรอยด่าง