ประเพณีฟ้อนผีมด-ผีเม็ง
 
 
 
ประเพณีฟ้อนผีมด-ผีเม็ง

                การฟ้อนผีมด - ผีเม็ง คือการฟ้อนรำเพื่อเป็นการสังเวย หรือแก้บนผีของบรรพบุรุษ ซึ่งชาวบ้านทางภาคเหนือนับถือกัน แต่ในปัจจุบันได้เลือนหายไปมากแล้ว ยังมีปฏิบัติกันอยู่บ้างในชนบทของล้านนาไทย ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ สันนิษฐานว่า เป็นประเพณีมาจากมอญ เพราะสังเกตได้จากการแต่งตัวในเวลาเข้าทรงจะเป็นแบบการแต่งตัวของพวกมอญโบราณ และพวกมอญนี้เองที่คนไทยทางภาคเหนือหรือล้านนาเรียกว่า เม็ง และฟ้อนผีมดผีเม็งนี้เป็นการสังเวยบรรพบุรุษ ซึ่งจะจัดอยู่ในวงศาคณาญาติ หรือที่เรียกว่าตระกูลเดียวกัน ในวันครบรอบปี หรือบางครั้งก็รอบ 2 ปี 3 ปี แล้วแต่จะสะดวก แต่บางทีพี่น้องหรือญาติ ๆ กัน เกิดมีการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็จะมีการบนบานสารกล่าว ถ้าหายจากการเจ็บป่วยแล้วก็ทำการแก้บน คือฟ้อนแก้บนนั่นเอง
                การจัดนั้นทางผู้ที่เป็นเจ้าภาพ ก็จะทำหน้าที่เลี้ยงดูหมู่แขกเหรื่อที่มาร่วมงาน ส่วนมากก็เป็นญาติ ๆ และเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงกัน เริ่มต้นด้วยการทำปะรำหรือทางภาษาล้านนาเรียกว่า "ผาม" ขึ้นกลางลานบ้าน เจ้าภาพก็จะจัดเครื่องสังเวยเป็นต้นว่า หมู,ไก่,เหล้า,ข้าวต้ม,ขนมน้ำอ้อย,พานข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียนต่าง ๆ ในปะรำต้องมีราวสำหรับพาด ผ้าโสร่ง ผ้าพันหัว ผ้าพาดบ่า สำหรับใส่ทับในเวลาฟ้อน และการฟ้อนก็จะมีดนตรีประกอบเครื่องดนตรีก็เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองเป็นส่วนมาก เช่น กลอง ระนาด แน ฉิ่ง ฆ้องวง ฯลฯ

 
ประเพณี ยี่เป็ง,ประเพณีเข้าอินทขิล, พิธีกรรมเลี้ยงผี ปู่ ย่า ตา ยายประเพณีฟ้อนผีมด, ประเพณีสงกานต์