วัดเจดีย์หลวง
 
 
วัดเจดีย์หลวง

         วัดเจดีย์หลวงตั้งอยู่ในเขตตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง ฯ ตามตำนานกล่าวว่า เดิมชื่อวัดอารามโชติวิหาร ไม่ปรากฏว่าสร้างสมัยใด กล่าวแต่เพียงว่า มีภิกษุชาวพม่าเดินทางมาสักการบูชา แล้วมีจิตศรัทธาได้เอาผ้าสังฆาฏิม้วนเป็นช่อชุบน้ำมันจุดบูชา วัดนี้จึงได้ชื่อว่าโชติการามวิหาร หลังจากนั้นได้มีการสร้างเจดีย์หลวงทับบนเจดีย์เดิม โดยพระเจ้าแสนเมืองมา เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายแด่พญากือนาพระราชบิดา สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๘๑ ต่อมาได้ทำการปฏิสังขรณ์พระเจดีย์หลวงโดยเสริมฐานให้สูงขึ้น และกว้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๒๑ ในสมัยพระเมืองแก้ว ได้หุ้มองค์เจดีย์หลวงด้วยทองคำ เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๕๕ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๐๘๘ เกิดแผ่นดินไหวอย่างหนัก และมีฝนฟ้าคะนองตลอด ๓ วัน ทำให้ยอดเจดีย์หักพังลงมาเหลืออยู่เพียงซีกเดียวดังที่เห็นอยู่ปัจจุบัน
วัดเจดีย์หลวงเป็นวัดใหญ่ และสำคัญของคณะสงฆ์ฝ่ายคามวาสีวัดหนึ่งของเชียงใหม่ เป็นที่ประทับของมหาสวามีหลายองค์ และมีประวัติเกี่ยวเนื่องกับโบราณวัตถุที่อยู่ในวัดอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางของการบริหารคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายของภาคเหนือ
เจดีย์หลวง รูปแบบทางสถาปัตยกรรมประกอบด้วยส่วนฐานเป็นฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจตุรัสรับฐานปัทม์ และแท่นสี่เหลี่ยมสูง มีช้างปูนปั้นประดับจำนวน ๒๘ เชือก ทั้งสี่ด้านมีบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณของเรือนธาตุได้ ส่วนกลางเป็นเรือนธาตุสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม มีจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ โดยเฉพาะจระนำด้านทิศตะวันออกมีประวัติว่าเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตมาก่อน ส่วนยอดถัดจากเรือนธาตุ เป็นชั้นหลังคาลาดซ้อนลดหลั่นกันรับมาลัยเกาแปดเหลี่ยมถัดขึ้นไปเป็นยอดทรงระฆังที่พังทะลายไป เมื่อคราวแผ่นดินไหวในปี พ.ศ. ๒๐๘๘
วิหาร หลังจากสร้างเจดีย์หลวงเสร็จแล้ว พระราชมารดาของพระเจ้าติโลกราชโปรดให้สร้าง พระวิหารพร้อมทั้งหล่อพระประธานคือ พระอัฏฐารสพร้อมกันด้วย ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๒๐๑๗ พระเจ้าติโลกราชโปรดให้รื้อแล้วสร้างใหม่เมื่อ ประมาณปี พ.ศ. ๒๐๔๖ ต่อมาพระเมืองแก้วโปรดให้ขยายพระวิหารให้กว้างขึ้น ในสมัยพระเจ้าเมกุฏิ พระวิหารเกิดเพลิงไหม้จึงให้สร้างขึ้นใหม่ ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๖๙ ได้มีการสร้างพระวิหารอีกครั้งหนึ่ง พระวิหารหลังปัจจุบันสร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ลักษณะเป็นวิหารแบบล้านนาประยุกต์
เจดีย์ราย ๒ องค์ ไม่มีประวัติความเป็นมา จากลักษณะทางศิลปกรรมสันนิษฐานว่า มีอายุประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑
พระอัฏฐารส เป็นพระประธานในพระวิหาร สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลักษณะทางศิลปกรรมมีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยปนอยู่
เสาอินทขีล เป็นเสาที่ย้ายมาจากวัดอินทขีล
กลุ่มพระพุทธรูป ประดิษฐานบนฐานชุกชีในพระวิหาร ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยศิลปล้านนา สกุลช่างเชียงใหม่ มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ บางองค์มีจารึกบอกศักราชที่สร้างด้วย
วัดเจดีย์หลวงขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ และประกาศขอบเขตวัด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓



 
วัดพระธาตุดอยสุเทพ, วัดพระสิงห์, วัดเจ็ดยอด, วัดสวนดอกวัดเจดีย์หลวง, วัดเจดีย์เหลียม, วัดเชียงมั่น, วัดอุโมงค์