พฤษภาทมิฬ

ความนำ

          พฤษภาทมิฬระหว่าง 17-20 พฤษภาคม 2535 เป็นโศกนาฏกรรมทางการเมืองและเป็นจุดด่างดำของประวัติศาสตร์การเมืองไทยจุดที่ 3 ต่อจากเหตุการณ์วันมหาวิปโยค เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 และการสังหารโหดเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ทั้งสามเหตุการณ์สะท้อนถึงการเสียดุลของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง บ่งบอกถึงความไม่สามารถปรับตัวของสังคมเข้าสู่ดุลยภาพ

          พฤษภาทมิฬสะท้อนถึงความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มทหารและกลุ่มชนชั้นกลาง ซึ่งไม่สามารถหาข้อยุติได้ในสถาบันการเมือง เนื่องจากการทำงานไม่ได้ผลของกลไก และในความเป็นจริง ความขัดแย้งในอำนาจทางการเมืองของทั้งสองกลุ่มได้ส่อให้เห็นเค้ามาแล้ว ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516

รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534

          สภาวะของธุรกิจการเมืองธนาธิปไตย ได้นำไปสู่ข่าวลือเกี่ยวกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างหนักในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จนทำให้เกิดความหวั่นวิตกกันทั่วไปว่า จะนำประเทศไปสู่ความหายนะเพราะพันธะผูกพันที่ทำกับบรรษัทต่างชาติในโครงการใหญ่ๆ ต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ความอหังการของนักการเมืองโดยเฉพาะรัฐมนตรีบางท่านที่ออกมาปะทะคารมกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง แต่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมดคือ การปรับเปลี่ยนตำแหน่งในกองทัพบก ซึ่งมีผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง โดยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้ลาออกจากราชการและเข้าร่วมกับรัฐบาลพอเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะที่พลเอกสุจินดา คราประยูร ได้เข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งทุกอย่างก็เข้าแนว กล่าวคือ ทางฝ่าย จปร. รุ่น 5 ได้คุมกำลังและดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพบก ขณะเดียวกันก็มีอดีตผู้บังคับบัญชาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม

          แต่เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่พัฒนาต่อมาคือ การที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้ไปปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยเรื่องฉ้อราษฎร์บังหลวง ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ได้ออกมาตอบโต้จนผลสุดท้ายพลเอกชวลิตได้ลาออกจากตำแหน่งทางการเมือง ทำให้เกิดช่องว่างทางอำนาจขึ้น พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ควบตำแหน่งรับมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย และต่อมาได้เชิญหัวหน้าพรรคปวงชนชาวไทย พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก มาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างนายทหารแห่งกองทัพบก จปร. รุ่น 5 และรัฐบาลตึงเครียดขึ้น การพบปะรับประทานอาหารเช้าในวันพุธเป็นประจำระหว่างนายทหารและนายกรัฐมนตรีเริ่มขาดตอน สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดยิ่งขึ้น

          ฟางเส้นสุดท้ายบนหลังอูฐคือ การที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจแต่งตั้งพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงกลาโหม โดยอ้างว่าเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของตน ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 พลเอกชาติชาย และพลเอกอาทิตย์ มีกำหนดการเดินทางด้วยเครื่องบินเพื่อไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เชียงใหม่ แต่ก็กลายเป็นกับดักตกอับที่สนามบินกองทัพอากาศ โดยเป็นการปฏิวัติของคณะปฏิวัติที่เรียกตนเองว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยมี พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะ รสช. พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก เป็นรองหัวหน้าคณะฯ พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ, พลเรือเอกประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นรองหัวหน้าคณะฯ และมี พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นเลขานุการ

เหตุผลของการปฏิวัติมี 5 ข้อ คือ

    1. มีการทุจริตคอรัปชันในบรรดารัฐมนตรีร่วมรัฐบาลอย่างกว้างขวาง
    2. ข้าราชการการเมืองรังแกข้าราชการประจำ
    3. รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา
    4. มีการพยายามทำลายสถาบันทหาร
    5. บิดเบือนคดีวันลอบสังหารซึ่งมีจุดมุ่งหมายล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

          รสช. ได้เลือก นายอานันท์ ปันยาชุน เป็นนายกรัฐมนตรี และได้มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้น รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น 20 คน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ผู้มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ โดยมีอดีตรัฐมนตรีถูกประกาศชื่อเป็นผู้อยู่ในข่ายสงสัย ในขณะเดียวกันก็มีการเคลื่อนไหว ในการตั้งพรรคการเมืองโดยสมาชิกบางคนของ รสช.

          ที่เห็นเด่นชัด คือ พรรคสามัคคีธรรม และยังมีความพยายามที่จะเข้าคุมพรรคการเมืองที่มีอยู่โดยส่งคนสนิทเข้าคุมตำแหน่งบริหารพรรค เช่นกรณีของพรรคชาติไทยและพรรคกิจสังคม เป็นต้น

          แต่ที่เป็นประเด็นสำคัญคือ ความอิสระของรัฐบาลอานันท์ ปันยาชุน ซึ่งไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติทหารและบริหารบ้านเมืองด้วยความสะอาด บริสุทธิ์ ตามหลักวิชาการ จนเกิดความรู้สึกว่ามีความขัดแย้งกันขึ้นระหว่าง รสช. และรัฐบาล นอกจากเหนือจากนั้นประเด็นการแปรญัตติรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยคณะกรรมการ ชุดแรก 20 คน โดยคณะกรรมการสามัญ 25 คน ได้นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างหนัก โดยเฉพาะบทเฉพาะกาลที่เปิดทางให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งข้าราชการเมืองได้ อำนาจของวุฒิสมาชิก การแก้ไขรัฐธรรมนูญและตัวนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ ตำแหน่งประธานรัฐสภา เขตการเลือกตั้ง คณะกรรมการรัฐธรรมนูญ และผู้ตรวจการรัฐสภา

          การประท้วงรัฐธรรมนูญที่ขาดความเป็นประชาธิปไตยได้นำไปสู่ความตึงเครียดทางการเมือง จนต้องมีการห้ามทัพกัน เหตุการณ์สำคัญคือ พลเอกสุจินดา คราประยูร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตนและพลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล จะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ผลสุดท้ายรัฐธรรมนูญก็ผ่านสภาทั้งสามวาระโดยมีข้อขัดแย้งที่จะนำไปสู่ปัญหาในอนาคต คือ

1.ตัวนายกรัฐมนตรีจะมาจาก ส.ส. หรือคนนอก ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้
2 อำนาจวุฒิสภาซึ่งมีอำนาจในการร่วมอภิปรายและลงมติในการไม่ไว้วางใจรัฐบาล และพระราชกำหนด
3. ประธานรัฐสภามาจากประธานวุฒิสภาตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ได้มีการแก้ไขให้ประชาชนรัฐสภามาจากประธานสภาผู้แทนราษฎร์
4.เขตการเลือกตั้งได้เปลี่ยนเป็นเขตละ 3 คน เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2521

           แต่ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ คุณสมบัติของตัวนายกรัฐมนตรีและอำนาจวุฒิสมาชิก นอกจากนั้นยังมีประเด็นปัญหาที่หลงลืมคือ ในบทเฉพาะกาลให้ประธาน รสช. เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แทนที่จะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร์ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

          การเลือกตั้งในวันที่ ๒๒ มี.ค. ๒๕๓๕ จึงเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดครั้งหนึ่งในประเทศไทย พรรคการเมืองแต่ละพรรคใช้เงิน “ซื้อเสียง” อย่างเปิดเผยและเป็นจำนวนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะพรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นมา รายงานลับของหน่วยงานผู้ดุแลการเลือกตั้งหน่วยหนึ่งระบุว่า “ทานตะวัน” หมดเงินไปไม่น้อยกว่า ๑,๖๐๐ ล้านบาท ในขณะที่ “ดอกบัว”หมดไปประมาณ ๙๐๐ ล้านบาท  เป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุดว่าโครงการ”สี่ทหารเสือ” ประสบผลสำเร็จเพียงใด

          ผลการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ได้จำนวนผู้แทนมากเป็นอันดับ ๑ คือพรรคสามัคคีธรรม  (๗๙ คน ) ตามด้วยชาติไทย (๗๔) ความหวังใหม่ (๗๒) ประชาธิปัตย์ (๔๔)พลังธรรม (๔๑) กิจสังคม (๓๑) ประชากรไทย (๗) เอกภาพ ( ๖ ) ราษฎร ( ๔ ) ปวงชนชาวไทย ผ ๑ ) และพรรคมวลชน ( ๑ )  การดำเนินการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นไปอย่างรวดเร็ว นายณรงค์ วงศ์วรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคสามัคคีที่ได้เสียงมากที่สุดได้รับการเสนอชื่อพรรคสามมีคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร รวมจำนวนเสียงสนับสนุน ๑๙๕ เสียง ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๙ ของประเทศไทย แต่ยังไม่ทันที่ พล.อ. สุนทรจะได้ทูลเกล้าฯ ชื่อนายรณรงค์ ก็มีการยืนยันจากนางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ โษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาว่า นายณรงค์เป็นผู้หนึ่งที่ “ต้องห้าม” ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯได้ เพราะมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด  ชื่อของ พลงอ. สุจินดาจึงขึ้นมาแทนที่ในเวลาอันรวดเร็ว

          ในวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๓๕ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ซึ้งลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก เป็นนายกรับมนตรีคนที่ ๑๙ ของประเทศไทยนับจากนั้น ความขัดแย้งและความยุ่งยากก็ก่อตัวขึ้น จนนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงในเวลาต่อมา


ลำดับเหตุการณ์

          การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ในรัฐบาลผสมของพรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคราษฎร และ พรรคสามัคคีธรรม ( ปัจจุบันสองพรรคหลังเลิกไปแล้ว ) นับเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่พอใจและการคัดค้านของประชาชน พรรคฝ่ายค้านสี่พรรค ( พรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคเอกภาพ) และ กลุ่มองค์กรต่าง ๆ ทั่วประเทศ การคัดค้านครั้งนี้ยืนอยู่บนหลักการสำคัญสองประการ คือ

๑. คัดค้านการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ รสช.

          เนื่องจาก พล.อ. สุจินดาเป็นผู้หนึ่งในคณะ รสช. ซึ่งทำการรัฐประหารล้มรัฐธรรมนูญ และเป็นที่ทราบกันดีกว่าเหตุผลแท้จริงของการรัฐประหารนั้นเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างทหารกับรัฐบาล มิใช่เรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติหรือประชาธิปไตยแต่อย่างใด การเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ของ พลงอ. สุจินดา จึงเป็นการเข้าสืบทอดอำนาจเผด็จการของคณะ รสช. อย่างเห็นได้ชัด

๒. คัดค้านรับธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

          รัฐธรรมนูญ ซึ่งร่างกายใต้อำนาจของคณะ รสช. เป็นรับธรรมนูญที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยหลายประการ ทั้งนี้เพื่อเปิดช่องทางสำหรับการสืบทอดอำนาจของคณะ รสช. เช่นนายกรับมนตรีคนนอก จำนวนวุฒิสมาชิกและอำนาจของวุฒิสภา ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีเหตุผลคัดค้านเรื่องความชอบธรรมของตัวบุคคลที่ร่วมรัฐบาลเช่น พล.อ. สุจินดา เป็นคนไม่รักษาคำพูดเนื่องจากเคยสัญญาว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรับมนตรี หากยังบริหารประเทศได้อย่างไร รับมนตรีหลายคนในคณะรัฐบาลเคยถูกคณะกรรมการตรวขสอบทรัพย์สินซึ่งาตั้งโดยคณะ รสช. สั่งยึดทรัพย์และประกาศว่าเป็นผู้ร่ำรวยผิดปรกติ ฯลฯ

          ในขณะที่เสียงคัดค้านอันยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตยดังขึ้นทุกขณะ พรรคร่วมรับบาล พล.อ. สุจินดากลับเฉยเมยต่อเสียงประชาชนโดยถือว่าเป็นการเล่นนิกสภาและได้พยายามปิกกั้นบิดเบือนข่าวสารทุกอย่างเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวคัดค้าน ของประชาชน รวมทั้งกล่าวหาผุ้คัดค้านว่าเป็นขัดพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยลืมนึกไปว่าคณะ รสช. นั่นเองเป็นผู้ขัดพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรับมนตรีโดยลืมนึกไปว่าคระ รสช. นั้นเองเป็นผู้ขัดพระบรมราชโองการ และใช้กำลังทหารเล่นการเมืองนอกสภาโดยการล้มรับบาลชาติชายและล้มรัฐธรรมนูญอันถือเป็นหัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

          การต่อสู้ของประชาชนผู้ยึดมั่นในหลักการและความถูกต้องของการปกครองระบอบประชาธิปไตยกับกลุ่มผู้มีอำนาจทางทหาร ซึ่งยึดมั่นในอำนาจและกติกาที่ตนเองเป็นผู้ร่าง และกลุ่มนักการเมืองผู้ต้องการรักษาผลประโยชน์ของตนเอง จึงเปิดฉากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คำพูดและการกระทำของทุก ๆ คนในเหตุการณ์พฤษภาวิปโยค เป็นภาพสะท้อนอย่างแจ่มชัดถึงจุดยืนทางความคิดของคนคนนั้นว่า เขาเป็นผู้ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย หรืออำนาจเผด็จการ หรือยึดมั่นในผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง…หรือเป็นคนที่ไม่มีหลักการใด ๆ เลย

๗ เมษายน ๒๕๓๕

          สุจินดาเป็นนายกฯ ท่ามกลางกระแสคัดค้าน มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ. สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรับมนตรีคนที่ ๑๙ ตามความคาดหมาย มีข้าราชการทหารและพลเรือนจำนวนหนึ่งไปมอบดอกไม้แสดงความยินดี  พล.อ. สุจินดาให้สัมภาษณ์ถึงการตั้งคณะรับมนตรีว่า ส.ส. ที่ถูกยึดทรัพย์สามารถเป็นรับมนตรีได้ เพราะประชาชนเลือกเข้ามา และศาลยังไม่ได้ตัดสินว่าผิดส่วนพรรคการเมืองสี่พรรค คือ พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม และพรรคเอกภาพ ที่หลายเป็นพรรคฝ่ายค้านได้ออกแถลงการณ์คัดค้านนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

          องค์กรต่าง ๆ เริ่มเคลื่อนไหวคัดค้าน เช่น การประชุมเพื่อคัดค้านนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนและสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ( สนนท.) หลังนั้นมีการวางหรีดอาลัยแก่ตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ. สุจินดา ที่สวนรื่นฤดี รวมทั้งมีการแสดงการคัดค้านของนักวิชาการหลายท่าน

๘ เมษายน ๒๕๓๕

          ฉลาดอาหารประท้วง /ชนวนแรกของการคัดค้าน เวลาตีหนึ่ง ร.ต. ฉลาด วรฉัตร อดีต ส.ส. เริ่มอดอาหารประท้วงให้นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ที่บริเวณหน้ารัฐสภา พร้อมป้ายสีดำข้อความว่า “ข้าขอพลีชีพเพื่อประชาธิปไตยนายกรับมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง”

          สุจินดาหลั่งน้ำตา “เสียสัตย์เพื่อชาติ” /พล.อ. สุจินดาหลั่งน้ำตากล่าวอำลาตำแหน่ง ผบ.สูงสุด และ ผบ.ทบ. ที่หอประชุมกองทัพบกบอกว่ามีความจำเป็นต้องเสียสัตย์เพื่อชาติและขอให้ทหารคดิว่าตนเป็นพลเรือนแล้ว พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี รักษาการ ผบ.ทบ. ได้กล่าวว่า ตนสนับสนุน พล.อ. สุจินดา ๒,๐๐๐ เปอร์เซ็นต์

          ในวันนี้ตั้งแต่เช้าจรดบ่าย มีประชาชนจากที่ต่าง ๆ ไปชุมนุมสนับสนุนนายกฯ คนใหม่ที่จังหวัดจัดรถไปรับและจ่ายเงินให้คนละ ๒๐ บาท

          พล.อ.สนุทร คงสมพงษ์ ประธาน รสช. กล่าวว่า ทางห้าพรรคที่จัดตั้งรัฐบาลขอให้ พล.อ. สุจินดาที่จะทำได้ ส่วนเรื่องนักการเมืองที่ถูกยึดทรัพย์นั้น ตนคิดว่าไม่ควรนำมาเป็นรัฐมนตรีแต่ก็เป็นเรื่องของนายกฯ

          นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร บอกว่า ควรให้รัฐบาลทำงานก่อน ส.ส.ฝ่ายค้านได้ออกมาแสดงการคัดค้าน พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้นายอาทิตย์ชี้แจงบทบาทของตัวเองในการเลือกนายกรับมนตรี และพรรคฝ่ายค้านทั้งสี่พรรคแถลงว่าจะยึดหลักต่อสู้ต่อไปทั้งในและนอกสภา ทางฝ่าย ครป. และ สนนท. ได้มีจดหมายส่งถึง พล.อ. สุจินดา คัดค้านการเข้ารับตำแหน่งนายกฯ และขอร้องให้ลาออก มีการเสวนาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนนักศึกษาไทยในสหรัฐฯประกาศจะวางหรีดดำประท้วง

๙-๑๕ เมษายน ๒๕๓๕

          ใคร ๆ ก็ยกป้ายเชียร์ /พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ. และ ผบ.สูงสุด กล่าวว่ารัฐบาลจะได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย แต่ก็ไม่ยืนนับว่าไม่มีการปฏิวัติขณะที่ พล.อ. อิสระพงศ์กล่าวว่า นายกฯ เป็นผู้ที่มีพรสวรรค์  ตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศมีประชาชนออกมาสนับสนุนนายกฯ ทั่วประเทศมีประชาชนออกมาสนับสนุนนายกฯ คนใหม่มากมาย จน พล.อ. สุจินดาบอกว่า อยากให้ยกป้ายด่ามากกว่าป้ายเชียร์ รวมทั้งโต้การที่ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธหัวหน้าพรรคความหวังใหม่จะมอบตุ๊กตาทองให้ว่า ตนไม่เคยเล่นละคร นายมนตรี พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคกิจสังคม บอกว่า นายกฯ เป็นผู้มีบารมีมาก จะอยู่ครบสี่ปี

ฉลาดอดอาหารต่อ

          ร.ต. ฉลาดยังยืนยันที่จะอดอหารต่อไปและปฎิเสะคำขอของพระภิกษุและประชาชนที่ขอให้เลิกอดอหาร รวมทั้งไม่นำพาต่อการยั่วยุเช่นมีการส่งโลงศพมาหใพร้อมรับเป้นเจ้าภาพสวดศพ ในวันเดียวกันนี้ น.ส. จิตราวดี วรฉัตร ลูกสาวของ ร.ต. ฉลาด ประกาศสานต่อเจตนารมณ์ถ้าพ่อเป็นอะไรไป

          ทางพรรคฝ่ายค้าน พล.ต. จำลอง ศรีเมืองหัวหน้าพรรคพลังธรรม ได้มีจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ. สุจินดา คัดค้านนายกฯ คนนอก และขอให้ พล.อ.สุจินดาถอนตัวจากตำแหน่งนายกฯ  พรรคฝ่ายค้านทั้งสี่พรรคมีมติแต่งชุดดำไว้ทุกข์ และจัดปราศรัยเพื่อคัดค้านนายกฯคน นอก สำหรับการคัดค้านจากฝ่ายอื่น ๆ ยังมีอยู่ทั่วไป จากองค์ต่าง ๆ และนักวิชาการทั้งในและนอกประเทศ

๑๖–๑๙ เมษายน ๒๕๓๕

คลอดรัฐบาลเป็ดง่อย

          วันที่ ๑๗ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี รัฐบาลชุดนี้ประกอบด้วยพรรคการเมืองห้าพรรค คือ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และ พรรคราษฎร โดยมีรัฐมนตรีที่ถูกยึดทรัพย์รวมอยู่ด้วยถึงสามคนทั้งที่คณะ รสช.อ้างเหตุผลในการทำรัฐประหารเมื่อปีที่แล้วว่า สาเหตุหนึ่งก็เพื่อกำจัดรัฐมนตรีที่คอรัปชัน

          พล.อ. สุจินดาให้เหตุผลที่มีรัฐมนตรีที่ถูกประกาศยึดทรัพย์ว่า ศาลยังไม่ตัดสินว่ามีความผิดอีกทั้งประชาชนเป็นคนเลือกเข้ามาและบอกว่าทำได้ดีที่สุดแค่นี้ ขณะที่ พล.อ. สนุทร ให้สัมภาษณ์ว่า มองคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้วเศร้าใจ

การคัดค้านนอกสภา

           บริเวณหน้ารัฐสภาที่ร.ต. ฉลาดอดอาหารประท้วงอยู่ มีการอภิปรายต่อต้าน พล.อ. สุจินดาและมีผู้ร่วมอดอาหารเพิ่มขึ้น ทั้งยังมีการแสดงการคัดค้านจากประชาชนและองค์กรต่าง ๆ เช่นนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ

          หลังการประชุมสภา (วันที่ ๑๖) ฝ่ายค้านซึ่งพร้อมใจกันแต่งเข้าสภาได้แถลงว่า จะเปิดการปราศรัยใหญ่ที่ลานพระบรมรูปฯ ในวันที่ ๒๐ เวลา ๑๗.๐๐ น. และจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญสี่ข้อ คือ ให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ให้ประธานรัฐสภามาจากประธานสภาผู้แทนฯ ตัดอำนาจวุฒิสมาชิกเกี่ยวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และแก้ไขสมัยการประชุม

         นายสมัคร สนุทรเวช รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่พรรคฝ่ายค้านออกมาคัดค้านนั้นเพราะฝ่ายค้านอยากเป็นรัฐบาลบ้าง พล.อ.อ. อนันต์ กลินทะ รมว. กระทรวงมหาดไทย พูดว่าเสียงคัดค้านนอกสภาเป็นเสียงส่วนน้อย

๒๐ เมษายน ๒๕๓๕

          นายกฯ บอกหลับสบาย ก่อนหน้าที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายที่ลานพระบรมรูปฯ ในเย็นวันนี้ พล.อ. สุจินดาให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อมีสภาแล้วไม่ควรเล่นนอกสภา และบอกว่าไม่ห่วงเรื่องการปราศรัยเลย ตนพร้อมจะรับคำตำหนิ คิดว่าประชาชนจะมาชุมนุมไม่ถึงแสนคน ไม่หนักใจม็อบต้าน และบอกว่า “ผมไม่เครียดหลับสบายทุกคืน” ส่วน พล.อ.อ. เกษตรบอกว่าการชุมนุมเป็นการเล่นนอกเกม ถ้าเหตุการณ์บานปลายลุกลาม จะใช้มาตรการให้บ้านเมืองสงบ พล.อ. อิสระพงศ์ ก็กล่าว มีแผนจัดการกับผู้ร่วมชุมนุมแล้ว ถ้าเกิดเหตุการณไม่สงบ ประชาชนเรือนแสนร่วมคัดค้านนายกฯคนนอก

          การปราศรัยเริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๗.๐๐ น. เป็นการปราศรัยของตัวแทนฝ่ายต่าง ๆ ประชาชนมาร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้นจนตำรวจต้องปิดการจราจรบริเวณลานพระบรมรูปฯ มีประชาชนเข้าฟังประมาณ ๑ แสนคน โดยแกนนำคือพรรคการเมืองฝ่ายค้านได้ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้าน และชี้ให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมของนายกฯ คนปัจจุบัน หลังการปราศรัยของพรรคต่าง ๆ จบลง มีการจุดเทียนพร้อมกันโดยข่าวนี้ไม่ได้เผยแพร่ทางโทรทัศน์เลย ยกเว้นช่อง ๓ ที่ออกอากาศประมาณนาทีครึ่ง

๒๑ เมษายน - ๓ พฤษภาคม ๒๕๓๕

           ฉลาดเข้าไอซียู / ร.ต. ฉลาดที่อดอาหารมาเกือบ ๒๐ วัน เริ่มมีอาการแย่ลง แต่ก็ยังอดอาหารต่อไปแม้จะได้รับการ้องขอให้เลิกจากสมเด็จพระสังฆราชในตอนสายของวันที่ ๒๙ ร.ต. ฉลาดช็อกหมดสติและถูกนำส่งโรงพยาบาล แพทย์บอกว่าต้องรักษาตัวอย่างน้อยเจ็ดวัน ต่อมา น.ส. จิตราวดีได้ประกาศอดอาหารต่อแทนบิดา

พล.อ.อ. อนันต์ให้สัมภาษณ์ว่า “การอดอาหารเป็นอาชีพของ ร.ต. ฉลาด”

          ฝ่ายค้านเดินหน้า รัฐบาลบอกเล่นนอกเกม /ทางพรรคฝ่ายค้านนอกจากมีการออกไปอภิปรายตามจังหวัดต่าง ๆ แล้ว ยังได้ตกลงกับองค์กรเอกชนเพื่อจัดการชุมนุมใหญ่คัดค้านนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ในวันที่ท๔ พฤษภาคมที่ท้องสนามหลวง นอกจากนี้ตัวแทนพรรคพลังธรรมยังเสนอให้นายกฯ ลงมาเลือกตั้ง โดย ส.ส. พลังธรรมยินดีลาออกเปิดทางให้

           พล.อ. สุจินดาได้พูดว่า เมื่อมีสภาแล้วให้พูดกันในสภา ตนยอมรับการคัดค้านในสภาเท่านั้น พล.อ.อ. อนันต์คาดว่า กระแสคัดค้านนั้นสองสัปดาห์คงหมดไป และบอกว่านายกฯ ส่วนการประท้วงหากรุนแรงอาจจะต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน

๔ พฤษภาคม ๒๕๓๕

          จำลองขออดข้าวตาย

          วันนี้เป็นวันชุมนุมของประชาชนเพื่อคัดค้านนายกฯ คนนอกที่ท้องสนามหลวง

          บรรยากาศเริ่มคึกคักตั้งแต่ช่วงเย็น กลุ่มมวลชนต่าง ๆ ผลัดกันขึ้นเวทีอภิปรายให้หัวข้อ”ร่วมพลังประชาธิปไตย นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง” มีประชาชนเข้าร่วมเกือบแสนคน ในช่วงท้ายเป็นการปราศรัยของนักการเมืองฝ่ายค้านข้อความเน้นความไม่ถูกต้อง ความไม่ชอบธรรมและการสืบทอดอำนาจของ พล.อ. สุจินดา มีการกล่าวถึงคำพูดของนายกฯ เช่น “เสียสัตย์เพื่อชาติ” การอภิปรายมุ่งไปที่ตัวนายกฯ โดยตรงและเรียกร้องให้ พล.อ. สุจินดาลาออก

          พล.ต. จำลองขึ้นเวทีประกาศอดอาหารทุกชนิด บอกว่าจะตายภายในเจ็ดวัน หาก พล.อ. สุจินดาไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และได้ขอให้ประชาชนไปร่วมแสดงพลังคัดค้านนายกฯ และได้ขอประชาชนไปร่วมแสดงพลังคัดค้านนากฯคนนอกที่หน้ารัฐสภา ส่วน ร.ต. ฉลาดที่ออกจากห้องไอซียูแล้ว บอกว่าจะไปอดข้าวกับ พล.ต.จำลอง

         พล.อ. สุจินดาให้สัมภาษณ์ว่าให้ ร.ต. ฉลาดทำไปจนกว่าจะหมดแรงไปเอง คงยุติเข้าสักวัน และยืนยันว่าไม่มีอะไรสร้างแรงกดดันได้ถ้าเรื่องนอกสภา

๕ พฤษภาคม ๒๕๓๕

         อดได้อดไป แต่ให้เล่นในสภา / พล.อ. สุจินดาตอบคำถามนักข่าว กรณี พล.ต. จำลองอดอาหาร โดยย้อนถามนักข่าวว่าควรจะให้ตนลาออกหรือปล่อยให้ พล.ต. จำลองตาย และบอกว่าตนจะไม่ให้ พล.ต. จำลองตาย และบอกว่าตนจะไม่ใช้ความรุนแรง การคัดค้านนอกสภาไม่เป็นผล ส่วนนายปิยะณัฐ วัชราภรณ์ รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีบอกว่า การอดอาหารเป็นการกระทำเกินขอบเขตและไม่ใช่ชาวพุทธที่ต้องเดินสายกลาง

         ทางฝ่าย ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลก็ให้สัมภาษณ์ว่า เรามีสภาแล้วให้เล่นในสภา ด้าน พล.ต. ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ บอกว่าเป็นเรื่องของนักการเมืองที่อยากดัง ตนยังยืนสนับสนุน พล.อ. สุจินดาเป็นนายกฯ ในฝ่ายของทหาร พล.อ. อิสระพงศ์ บอกว่าเรื่องประกาศกฎอัยการศึกต้องดูสถานการณ์และฟังคำสั่งของ ผบ. สูงสุด ซึ่งกองทัพมีคำสั่งให้เตรียมพร้อมในที่ตั้ง

        ฝ่ายค้านมีมติสนับสนุนกากรกระทำของ พล.ต. จำลอง และจะไม่เข้าร่วมฟังการแถลงนโยบายนายกฯ แต่จะเข้าไปทำหน้าที่อภิปรายในสภา

        พระประจักษ์เข้าเยี่ยม / บริเวณหน้ารัฐสภาในตอนเช้า ร.ต. ฉลาดได้กลับมาร่วมอดอาหารกับ พล.ต. จำลองพระประจักษ์ซึ่งเดินทางมาเยี่ยมได้เขียนข้อความให้ พล.ต. จำลองว่า “ไม่มีใครตายได้สองครั้งอาตมามีความรู้สึกเหมือนคุณโยม ไม่ต้องกลัวอะไรฉันยินดีตายด้วย”

         ประชาชนที่มาร่วมชุมนุมได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นหมื่นคน จนต้องตั้งเวทีขึ้นในตอนค่ำและปิดการจราจรในถนนอู่ทองใน กระแสการคัดค้านได้เกิดขึ้นในต่างจังหวัดด้วย เช่น ที่เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา เป็นต้น

๖ พฤษภาคม ๒๕๓๕

          นายกฯ เป็นไปในการอภิปราย / วันนี้เป็นวันแถลงนโยบายของรัฐบาลและมีการซักถามของส.ส. ในช่วงก่อนเปิดสภา พล.อ. สุจินดาให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีเหตุการณ์อะไรและไม่มีอะไรกดดัน พล.อ.อ. อนันต์ แสดงความไม่เห็นด้วยในการอดอาหารประท้วง และว่ารัฐบาลเข้ามาถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ควรใช้เวทีรัฐสภามากกว่า นายมีชัย ฤชุพันธ์ รองนายกฯ กล่าวว่า การที่ พล.อ. สุจินดาเป็นนายกฯ เพราะเรามีรัฐธรรมนูญอย่างนี้ แต่ก็เลิกได้โดยเป็นการเลิกในสภา ช่วงนี้ต้องทำตามกฎเกณฑ์ไปก่อน

         ในช่วงการแถลงนโยบายของนายกฯ ส.ส.ฝ่ายค้านซึ่งมีมติไม่เข้าฟังได้ออกปราศรัยกับประชาชนกว่า ๓ หมื่นคนที่ชุมนุมอยู่หน้ารัฐสภาเสร็จแล้วจึงกลับเข้าอภิปรายโจมตีนดยบายต่าง ๆ เช่น นโยบายที่บอกว่าจะรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย การกระจายอำนาจพูดถึงรัฐมนตรีถูกยึดทรัพย์ และสุดท้ายการรักษาสัจจะ โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯ มีอาการกระสับกระส่ายตลอดเวลา

คัดค้าน – ถวายฎีกา สุจินดาต้องลาออก

         นักวิชาการ ๑๕ สถาบันการศึกษาเตรียมยื่นจดหมายถึง พล.อ. สุจินดา เรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ แต่ถูกขัดขวาง มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทำหนังสือกราบบังคมทูลถวายความเห็นว่าทางออกประการหนึ่งคือ การพระราชทานคำแนะนำให้นายกฯ ยุบสภา

        การชุมนุมที่หน้ารัฐสภายังดำเนินต่อไป มีประกาศจาก พล.ต. จำลองว่ามีความลำบากในการอดอาหารและคงอยู่ไม่ครบเจ็ดวัน

        ทางด้านพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อลดแรงกดดัน ส.ส. พรรคชาติไทยคิดว่าจะให้ยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญสองประเด็นในวันพรุ่งนี้ คือ นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง และประธานสภาผู้แทนฯ เป็นประธานรัฐสภา โดยให้มีบทเฉพาะกาลหนึ่งปี พรรคกิจสังคม ก็ได้ยอมรับหลักการของฝ่ายค้าน แต่ต้องหากับทางพรรคก่อน

๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕

          นายกฯ กับเหตุผลการรับตำแหน่ง / การแถลงนโยบายในวันที่ ๒ จบลงด้วยความวุ่นวาย เมื่อนายกฯ พูดถึงเหตุผลที่เข้ารับตำแหน่งว่า เพราะ หนึ่ง รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามไว้สอง กล่าวพาดพิงถึง พล.อ. ชวลิต ว่าเลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยแบบสภาเปรซิเดียมและ กลุ่มที่เคลื่อนไหวนอกสภาก็เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การปกครองแบบนี้ สาม ได้รับการขอร้องจากชาวพุทธที่กำลังถูกกลุ่มหนึ่งก่อตั้งศาสนาใหม่ และ สี่ การที่นายกฯ เป็นคนกลางจะทำให้ควบคุมการคอรัปชันได้ดีที่สุด ในขณะที่นายกฯ ชี้แจงอยู่นั้น ได้มีเสียงตะโกนและเสียงโห่แสดงความไม่พอใจของ ส.ส. ฝ่ายค้านตลอดเวลา หลังจากชี้แจงแล้ว ประธานรัฐสภาได้กล่าวปิดการประชุมทันที

         เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาพข่าวทางโทรทัศน์ช่อง ๕ เสียงที่ได้ยินหลังคำแถลงของนายกฯกลายเป็นเสียงปรบมือ

ประกาศเตือนให้ยุติการชุมนุม

          ที่หน้ารัฐสภาภายหลังปิดสภาแล้ว ประชาชนมาร่วมชุมนุมเพิ่มมากขึ้น แต่ถูกฝ่ายตำรวจกั้นไว้ภายนอก จนเมื่อ ส.ส. คนหนึ่งขับรถชนแผงกั้นที่ด้านลานพระบรมรูปฯ ประชาชนจึงสมารถเข้าร่วมชุมนุมที่บริเวณหน้ารัฐสภาได้

         หลังปิดสภาได้มีการประชุมกันของฝ่ายทหาร ประกอบด้วย พล.อ. สุจินดา พล.อ.อ.เกษตร พล.อ. อิสระพงศ์ พล.ท. ชัยณรงค์ พล.อ.อ. อนันต์ สรุปว่าจะใช้มาตรการสามมาตรการ ถ้าผู้ชุมนุมไม่สลายตัว คือ ๑ . ออกประกาศเตือน ๒. ประกาศกฎอัยการศึก ๓. ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด โดยมั่นใจว่าจะสลายม็อบได้สามวัน

        เวลา ๑๕.๐๐ น. มีประกาศของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ฉบับที่ ๑ เรียกร้องให้ยุติการชุมนุมและเวลา ๑๗.๐๐ น. ก็มีประกาศกองกำลังรักษาพระนคร ฉบับที่ ๑ ( ผู้ประกาศคือ นายจักรพันธ์ ยมจินดา ซึ่งหลังจากนั้นได้ลาพักร้อนและลาออกจากหน้าที่ในเวลาต่อมา) ว่าจะจัดการกับผู้ชุมนุม แทนที่จะได้ผล กลับเป็นการท้าทายให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมมาขึ้น ๆ จนล้นออกมาถึงบริเวณลานพระบรมรูปฯ

เคลื่อนม็อบไปสนามหลวง

         ในเย็นวันนั้น พล.อ.อ. เกษตรให้สัมภาษณ์ว่า การสลายม็อบจะทำอย่างนิ่มนวล ถ้าไม่เชื่อฟังก็มีหลายมาตรการจัดการ แต่รับรองจะไม่ใช้วิธีรุนแรง ส่วน พล.อ. อิสระพงศ์ กล่าวว่า จะใช้มาตรการนุ่มนวล และจะทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว

        ในตอนค่ำ ครป. สนนท. และ พล.ต. จำลอง ได้นำผู้ชุมนุมนับแสนคนจากหน้ารัฐสภาไปยังสนามหลวงอย่างเป็นระเบียบ ท่ามกลางเสียงเชียร์จากประชาชนโดยรอบ และเสียงตะโกนว่า

        “สุจินดาออก ๆๆๆ” คาดว่าการที่แกนนำการชุมนุมเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปท้องสนามหลวง เพราะมีข่าวว่าจะมีการสลายม็อบตอนเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น ซึ่งบริเวณหน้ารัฐสภาถูกปิดล้อมได้ง่าย ไม่เหมาะแก่การชุมนุม

๘ พฤษภาคม ๒๕๓๕

สุยังไม่ออก

         พล.อ. สุจินดาให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่าตนสามารถทนการถูกอภิปรายในสภาได้ ที่พูดในสภาเรื่องเหตุผลการเป็นนายกฯ เป็นการชี้แจงส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเก้เป้นเรื่องของสภาซึ่งตนกระทำตามมติ ของสภาเท่านั้น ตนไม่ยึดติดกับอำนาจ และพร้อมที่จะลาออกถ้าเป็นไปตามกระบวนการ และว่าจะไม่ใช้มาตรการรุนแรงอย่างเด็ดขาด

        พล.อ.อ. อนันต์กล่าวว่า มีมาตรการแก้ไขปัญหาการชุมนุมอยู่แล้ว และว่า พล.ตง จำลองเป็น ส.ส. ทำไมไม่ไปทำหน้าที่ในสภา ส่วนเรื่องอดข้าวนั้นตนไม่เห็นตายสักที

รัฐบาลพยายามลดพลังการชุมนุม

       ฝ่ายรัฐบาลใช้สื่อวิทยุ โทรทัศน์ ออกข่าวแก่ประชาชนว่า การเข้าชุมนุมอาจได้รับอันตรายทั้งยังแพร่ภาพตัวแทนชาวพุทธเข้าเยี่ยมและให้กำลังใจ พล.อ. สุจินดา

        พล.อ.อ. อนันต์ได้เชิญตัวแทนหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับเข้าพบ และขอร้องให้เสนอข่าวตามจริงเพื่อประโยชน์ของชาติ กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งห้ามพนักงานรัฐวิสาหกิจไปชุมนุมที่สนามหลวง ผู้ใดไปถือว่ามีความผิดทางวินัย

       นายมนตรีกล่าวว่าห้าพรรครัฐบาลมีมติที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่ แต่ต้องคุยกับฝ่ายค้านก่อน ส่วนนายอาทิตย์ขบอกว่าจะมีการประชุมร่วมแก้พรรคการเมืองได้ในวันที่ ๑๑ เพื่อหารือเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ยังติดที่เงื่อนไข ของ พล.ต. จำลอง

เคลื่อนม็อบอีกรอบ

        ที่ท้องสนามหลวง บรรยากาศเริ่มคึกคักตั้งแต่ตอนเช้า มีประชาชนทยอยเดินทางมามากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกินแสนคน ในตอนเย็นพล.ต. จำลอง ซึ่งอดอาหารมาเป็นวันที่ ๕ ก็ยอมรับในหลักการของประธานสภาผู้แทนฯ แต่มีเงื่อนไขที่ พล.อ. สุจินดาต้องมาแถลงเองว่าจะแก้ไขในหนึ่งเดือน ไม่มีบทเฉพาะกาล และต้องขอรับโทษถ้าไม่ทำตาม

       ช่วงค่ำ พล.ต. จำลองตัดสินใจนำขบวนผู้ชุมนุมออกจากสนามหลวง เพราะจะมีการใช้ผู้ชุมนุมออกจากสนามหลวงประกอบพิธีสัปดาห์พุทธสาสนาและพระราชพิธีพืชมงคล จึงได้นำขบวนประชาชนกลุ่มหนึ่งเดินมาตามถนนราชดำเนินและมาพบกับแนวรั้วลวดหนามของทางตำรวจที่กั้นไว้ที่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง

       เนื่องจากการชุมนุมครั้งนี้มีแกนนำอยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ กลุ่ม ครป. และ สนนท. ซึ่งเข้ามามีบทบาทนำการชุมนุมในช่วงแรก กลุ่มที่สองคือ กลุ่มของ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเริ่มเข้ามีบทบาทนำการชุมนุมในช่วงหลังวันที่ ๗ พฤษภาคม ต่อมาทั้งสองกลุ่มได้ขัดแย้งกันในเรื่องการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม โดยกลุ่ม พล.ต. จำลอง ต้องการย้ายผู้ชุมนุมจากสนามหลวงไปยังถนนราชดำเนิน แต่ทาง ครป. และ สนนท. เห็นว่าไม่ควรเคลื่อนย้าย จนเป็นเหตุให้ที่ชุมนุมเกิดความสับสน เมื่อประชาชนส่วนหนึ่งเคลื่อนย้ายตาม พล.ต. จำลองไป ขณะที่อีกส่วนหนึ่งยังคงปักหลักอยู่ที่ท้องสนามหลวง

      รัฐบาลได้ฉกฉวยโอกาสนี้ขยายภาพความขัดแย้งดังกล่าว โดยออกแถลงการณ์ฉบับที่ ๑ ว่า ครป. และ สนนท. ได้สลายการชุมนุมแล้วเหลือเพียง พล.ต. จำลอง กับ พล.อ. ชวลิตที่ยังนำการชุมนุมต่อที่สะพานผ่านฟ้า ฯ ต่อมาทาง สนนท. เห็นว่าควรให้การชุมนุมเป็นเอกภาพ จึงตัดสินใจเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมจากสนามหลวงไปรวมกันที่ถนนราชดำเนิน

      รัฐบาลจึงออกแถลงการณ์ฉบับที่ ๒ ว่า นายปริญญาได้ฝ่ายฝืนมติของ สนนท. และ กลับมาร่วมชุมนุมใหม่ หลังจากแถลงการณ์ฉบับนี้นายโคทม อารียา จึงประกาศว่า ครป. และ สนนท. ยังเข้าร่วมการชุมนุมเหมือนเดิม เพื่อให้รัฐบาลยุติการตอนกลิ่มลงบนความขัดแย้ง

๙ พฤษภาคม ๒๕๓๕

จำลองเลิกอดอาหาร

        กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงปักหลักอยู่ที่ถนนราชดำเนินกลาง บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าฯ ถูกกั้นด้วยลวดหนาม จนได้รับการขนานนามว่ากำแพงเบอร์ลิน ในตอนสายของเช้าวันนี้ พล.ต. จำลองได้ขอประชามติจากที่ชุมนุมว่าจะให้อดอาหารต่อหรือให้เลิกเพื่อที่จะสู้ต่อไป ผู้ชุมนุมมีมติเลือกข้อที่สอง

        พล.ต. จำลอง จึงเลิกอดอาหารและประกาศลาออกหัวหน้าพรรคพลังธรรม เพื่อป้องกันข้อครหาว่าต่อสู้เพื่ออำนาจ พร้อมทั้งลดเงื่อนไขการเรียกร้องเหลือเพียงการแก้ไขรับธรรมนูญ และให้บทเฉพาะกาลไม่เกินหนึ่งเดือน

       สถานีโทรทัศน์ช่อง ๕ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยออกข่าวการประท้วงเลย ได้ออกข่าวการประกาศเลิกดอดอาหารของ พล.ต. จำลอง

       เป็นที่น่าสังเกตว่า การชุมนุมประท้วงตลอดเวลาที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชุมนุมจะมีมากเป็นเรือนแสนในตอนเย็น และเริ่มน้อยลงในตอนเช้าของแต่ละวัน กลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากขับรถยนต์มากันเอง และใช้โทรศัพท์มือถือ การชุมนุมครั้งนี้จึงได้รับการเรียนขานว่า “ม็อบรถเก๋ง” และ “ม็อบมือถือ”

แถลงมติเก้าพรรคยินดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ

        พรรคการเมือง นักวิชาการ อาจารย์พยายามหาทางออกด้วยการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญตัวแทนพรรคฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านรวมเก้าพรรคได้ประชุมกัน โดยความพยายามของนายอาทิย์ และมีมติว่าเก้าพรรคเห็นชอบแก้รับธรรมนูญในสี่ประเด็น คือ ประธานสภาผู้เป็นแทนฯเป็นประธานรัฐสภา นายกฯ มาจากการเลือกตั้งลดอำนาจวุฒิสมาชิก และการการแบ่งเขตเลือกตั้งลดอำนาจวุฒิสมาชิก และการแบ่งเขตเลือกตั้งโดยพรรคร่วมรัฐบาลขอเวลาไปขอมติพรรคและจะยื่นวาระให้ประธานรัฐสภาได้ทันในวันที่ ๑๕

๑๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕

เคลียร์ม็อบรับเสด็จ

        สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จะเสด็จพระราชดำเนินผ่านถนนราชดำเนินไปยังท้องสนามหลวงในวันนี้ ตอนสายประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมได้ร่วมกันทำความสะอาดถนนราชดำเนินมีการย้ายเต็นท์ไปข้าทาง และแจกธงชาติให้แก่ผู้ชุมนุมเพื่อเตรียมรับเสด็จแต่ปรากฏว่าได้มีการเปลี่ยนเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน เจ้าหน้าที่ตำรวจให้เหตุผลว่าเพื่อความปลอดภัย ขณะที่สถานีวิทยุ จส. ๑๐๐ ออกข่าวว่าผู้ชุมนุมปิดกั้นเส้นทางเสด็จฯ

เลิกชุมนุมชั่วคราว ดูท่าทีพรรคการเมือง

        แกนนำการชุมนุมได้ประชุมและแถลงแก่ผุ้ร่วมชุมนุมเรือนแสนว่าจะสลายการชุมนุมชั่วคราว เพื่อรอสัญญาของเก้าพรรคที่แก้ไขรับธรรมนูญ และ เพราะได้รับชัยชนะในระดับหนึ่งแล้ว โดยจะนัดชุมนุมกันใหม่ในวันที่ ๑๗ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทางรัฐสภา การชุมนุมได้ยุติลงเวลา ๐๔.๑๕ น. ของวันที่ ๑๑

๑๑ – ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๕

         ห้าพรรค หลอกอีกแล้ว / หลังจากการชุมนุมของประชาชนยุติลงห้าพรรครัฐบาลก็มีท่าทีเปลี่ยนไป นายมนตรีกล่าวว่าการประชุมวันที่ ๙ นั้นไม่ใช่มติพรรคต้องนำเข้าที่ประชุมพรรคก่อน นายบรรหาร ศิลปอาชา เลขาธิการพรรคชาติไทยได้กล่าวหาว่า นายอาทิตย์กระทำการโดยพลการ และบอกว่าที่ทำไปเพื่อลดแรงกดดัน จนนายอาทิตย์ต้องออกมาประกาศว่า ได้ทำหน้าที่อย่างถึงที่สุดแล้ว และจะเกิดอะไรขึ้นเกินกว่าที่ตนจะผลักดันใด ๆ ได้

        นอกจากนี้ทั้งห้าพรรค ยังมีท่าทีที่จะถ่วงเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป โดยอ้างว่าต้องไปปรึกษากับ ส.ส. ในพรรคก่อน ไม่สามารถยื่นหนังสือขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทันวันที่ ๑๕ นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมบอกว่าต้องมีบทเฉพาะกาลสองปี นายมนตรีบอกว่าจะให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในรัฐบาลหน้าส่วนนายสมัครบอกว่า นายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง

       การพลิกลิ้นของพรรคฝ่ายรัฐบาลครั้งนี้คาดว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมที่ท้องสนามหลวงในวันที่ ๑๗ พฤษภาคมเป็นจำนวนมาก

ฉลาดขออดจนตาย ถ้าสุจินดาไม่ลาออก

        แม้ว่าทาง พล.ต. จำลองจะประกาศเลิกอดอาหารแล้ว แต่ ร.ต. ฉลาดยังยืนยันที่จะอดอาหารประท้วงต่อไป เพราะไม่เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จ โดยย้ายมาอยู่ที่หน้ารัฐสภาและประกาศว่า ถ้า พล.อ. สุจินดา ไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ภายในวันที่ ๒๕ จะขออดทั้งอาหารและน้ำจนกว่าจะตาย

จัดคอนเสิร์ตกัดม็อบ

         ได้มีความพยายามจะไม่ให้เกิดการชุมนุมของประชาชนวันที่ ๑๗ กระทรวงมหาดไทยสั่งการให้ผู้ว่า ทุกจังหวัดดูแลไม่ให้เกิดการชุมนุมคัดค้าน โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ มีการสั่งห้ามผู้ว่าฯ กทม. ไม่ให้สนับสนุนการชุมนุม เช่น ห้ามบริการสุขาเคลื่อนที่ ในตอนท้ายแม้ว่านายกฯ จะอนุญาต แต่ปรากฏว่าฝ่ายทหารได้นำรถไปใช้และยังไม่ได้นำส่งคืน กทม. นอกจากนี้ในวันที่ ๑๕ มีปรากฏการณ์หนึ่งเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ คือมีประชาชนไปรวมกันที่หน้าศาลากลางของแต่ละจังหวัด พร้อมชูป้ายสนับสนุน พล.อ. สุจินดาเป็นนายกฯ เช่น “แล้งไม่ว่า ให้สุจินดาเป็นนายกฯ”

         ความพนายามอีกประการหนึ่งก็คือ การจัดคอนเสิร์ต “รวมใจต้านภัยแล้ง” ที่สนามกีฬากองทัพบก ซึ่งถูกจัดขึ้นอย่างฉุกละหุกในวันและเวลาเดียวกันกับการชุมนุมของประชาชนที่ท้องสนามหลวง

ประกาศตั้งสมาพันธ์ประชาธิปไตย

        หลังจากยุติการชุมนุมชั่วคราว บรรดาแกนนำได้นำประชุมร่วมกันเพื่อปรึกษาและสรุปบทเรียนที่ผ่านมาในวันที่ ๑๔ พ.ค. ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ เนื่องจากพบว่าการชุมนุมในช่วงแรก(๔-๑๑ พ.ค.) นั้นแกนนำขาดความเป็นเอกภาพมีความแตกต่างทางแนวคิดและไม่สามารถหาข้อยุติได้ด้วยขาดองค์กรนำ ที่ประชุมจึงลงมติจัดตั้งสมาพันธ์ประชาธิปไตยขึ้น ประกอบด้วยกรรมการเจ็ดคน คือ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง นายปริญญา เทวนฤมิตรกุล น.พ. เหวง โตจิราการ น.พ. สันต์ หัตถีรัตน์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ และร.ต. ฉลาด วรฉัตร (ภายหลังได้ถอนตัว และให้ น.ส. จิตราวดีเป็นแทน) นอกจากนี้ยังได้ออกแถลงการณ์ ใบปลิว ชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมในเย็นวันที่ ๑๗ ด้วย

        กิจกรรมในช่วงนี้ได้แก่ การเผาหุ่นสุจินดาในวันที่ ๑๒ การอภิปรายที่ธรรมศาสตร์วันที่ ๑๓ การแสดงของศิลปินที่สวนจตุจักรในวันที่ ๑๕ รวมทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมวันวิสาขบูชาในวันที่ ๑๖ เป็นที่น่าสังเกตว่าเพลงของนักดนตรีที่เข้าร่วมในงานวันที่ ๑๕ ที่สวนจตุจักร ต่างถูกห้ามเปิดตามสถานีวิทยุของทหาร


หน้าต่อไป