จิตร ภูมิศักดิ์ นอกคอกนักวิชาการ

โดย เกษียร เตชะพีระ

  มติชนรายวัน, ๔ และ ๑๑ ต.ค. ๒๕๔๕, น.๖ (เรียบเรียงจากคำอภิปรายของผู้เขียนในงานสัมมนา ๗๒ ปี จิตร ภูมิศักดิ์ (พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๕๔๕) จัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันวิชาการอื่น ๆ ณ ห้อง ๑๐๕ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ (ตึกอักษรศาสตร์ ๑ เดิม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๗ ก.ย. ๒๕๔๕)

               ผมขอแบ่งการอภิปรายออกเป็น ๕ หัวข้อคือ: -

๑) ความไม่เป็นนักวิชาการของจิตร
๒) คอกนักวิชาการที่จิตรแหก
๓) บริบทของการแหกคอก
๔) คอกปัญญาชนปฏิวัติ
๕) บทสรุปจากในคอก

๑) ความไม่เป็นนักวิชาการของจิตร

          หัวข้อสัมมนาที่ผู้จัดตั้งไว้ว่า “จิตร ภูมิศักดิ์ นักวิชาการ ‘นอกคอก’ ” ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของเพื่อนคนหนึ่ง นานมาแล้ว คือคุณสุพจน์ แจ้งเร็ว อดีตนักกิจกรรมนักศึกษาธรรมศาสตร์รุ่นใกล้เคียงกัน และปัจจุบันเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์มติชน สุพจน์เคยกล่าววิพากษ์วิจารณ์ความพยายามของนักวิชาการเสรีนิยมกลุ่มหนึ่งที่มีอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการรื้อฟื้นและเน้นความสำคัญงานเขียนเชิงวิชาการของจิตรสมัยปี พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๑๙ หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ เช่นเรื่อง ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ (พ.ศ. ๒๕๑๙) ว่าเป็นการ “ทำให้จิตรเป็นแค่นักวิชาการ”

          เอาเข้าจริงฐานะอาชีพ “นักวิชาการ” เป็นสิ่งผิดยุคผิดสมัย (anachronism) สำหรับจะมาพูดถึงจิตร, ในพุทธทศวรรษที่ ๒๔๙๐ เมื่อจิตรเติบโตตื่นตัวทางการเมืองนั้น คำว่า “นักวิชาการ” ยังไม่ทันมีด้วยซ้ำไป, คำนี้เพิ่งจะมีและฐานะอาชีพนี้เพิ่งจะก่อตัวปรากฏชัดเจนเป็นกลุ่มก้อนในสังคมไทยตามแวดวงมหาวิทยาลัย ก็ในพุทธทศวรรษที่ ๒๕๐๐ ซึ่งตอนนั้นจิตรก็ติดคุกแล้ว, คำที่แพร่หลายและนักคิดนักเขียนนักศึกษาหัวก้าวหน้าสมัยพุทธทศวรรษที่ ๒๔๙๐ ใช้เรียกตนเองคือ “ปัญญาชน” (ย้อนหลังไปเคยใช้คำ “ผู้รู้หลักนักปราชญ์” และ “ชนพื้นเมืองผู้มีปัญญา” มาก่อนที่จะลงตัวที่คำว่า “ปัญญาชน”) เช่นนี้แล้ว “นักวิชาการ” จึงไม่น่าจะอยู่ในหัวจิตรและไม่ใช่อะไรที่เขาคิดจะเป็น, เขาไม่ใช่ “นักวิชาการนอกคอก” เท่ากับอยู่ข้างนอก “คอกนักวิชาการ”, อย่างไรก็ตาม ก็น่าสนใจที่เราจะลองใช้จินตนาการทางประวัติศาสตร์ หยิบความเป็น “นักวิชาการ” ส่องกลับไปดูจิตร, พร้อมทั้งหยิบแบบอย่างชีวิตของจิตรมาย้อนมองดูแวดวง “นักวิชาการ” ปัจจุบัน – ว่าเราจะเห็นและเข้าใจอะไรได้บ้าง?

          จิตรเป็นนักวิชาการแน่ไม่ต้องสงสัย ทั้งโดยผลงานและวิชาชีพ เขาเคยเป็นนิสิตอักษรศาสตร์จุฬาฯ, ผู้ช่วยวิจัยของ ดร. วิลเลียม เก็ดนีย์ นักภาษาศาสตร์อเมริกัน, อาจารย์พิเศษสอนภาษาอังกฤษ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ครูโรงเรียนเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์และโรงเรียนกวดวิชาเทเวศร์ศึกษา, นักศึกษาปริญญาโทสถาบันวิจัยเรื่องเด็กของยูเนสโกในวิทยาลัยประสานมิตร บางกะปิ, ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ – และไม่โดนไล่ออกจากมหาวิทยาลัยด้วยข้อหาการเมืองเสียก่อน, ป่านฉะนี้เขาอาจได้เป็นศาสตราจารย์เกษียณอายุ หรือศาสตราจารย์กิตติคุณ หรือศาสตราพิชาญทางภาษาศาสตร์ อักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชาติพันธุ์วรรณนา ไทยคดีศึกษา ฯลฯ, กระทั่งอาจเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัย, ไม่ก็กรรมการหรือนายกสภามหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่ง

         แต่จิตรไม่ได้เป็น แค่ นักวิชาการ, เขามีทั้ง “ความเป็นนักวิชาการ” และ “ความไม่เป็นนักวิชาการ” อยู่ในตัว, และเอาเข้าจริง ที่คนรุ่นหลังรวมทั้งนักวิชาการสนใจเขาเป็นพิเศษ ให้ความหมายความสำคัญแก่ชีวิตและผลงานของเขาเป็นพิเศษ ก็ตรง “ความไม่ได้เป็นแค่นักวิชาการ” หรือ ความที่อยู่ข้างนอก “คอกนักวิชาการ” ของเขานี่เอง

         ทำไมนักวิชาการในคอกอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ จึงสนใจคนนอกคอกที่ไม่ได้เป็นนักวิชาการเต็มร้อยทั้งตัว, คนที่เป็นนักวิชาการแล้วยังเที่ยวไปแหกคอกล้ำเส้นเพ่นพ่านเล่นนอกบท เป็นอะไรต่อมิอะไรอย่างอื่นที่ไม่ใช่นักวิชาการ, หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคนนอก “คอกนักวิชาการ” ผู้นี้?

         ตอบ: - ก็เพราะเขาเคยเป็นคนหนึ่งในวงวิชาการเรา เขาสามารถที่จะเป็นคนหนึ่งในหมู่นักวิชาการเรา ความสามารถทางวิชาการของเขากระทั่งเหนือล้ำกว่าพวกเราหลายคน แต่ เขากลับเลือกที่จะแหกคอก ที่จะจากไปและทิ้งเราไว้เบื้องหลัง เขาเลือกที่จะไม่เป็นแค่นักวิชาการเยี่ยงเรา, มันชวนสนเท่ห์ว่าทำไม?

         กล่าวอีกนัยหนึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์เป็นบุคลาทิษฐานหรือสัญลักษณ์ตัวแทนแห่งความเป็นไปได้นอกคอก ที่มีเสน่ห์เย้ายวนใจ, กวักมือเรียกนักวิชาการในคอกอย่างเราอยู่ไหวๆ ตลอดเวลา

๒) คอกนักวิชาการที่จิตรแหก

          อะไรคือคอกนักวิชาการที่จิตรแหกไป? ผมคิดว่ามี ๓ คอก ได้แก่คอกที่แยกนักวิชาการออกจากสัจธรรม, ประชาชน และการเมืองต่อต้านระบบ กล่าวคือ: -

          ๑) คอกที่แยกความเป็นนักวิชาการจากสัจธรรม

          เพราะนักวิชาการไม่มีหน้าที่แสวงหาสัจธรรมทั้งหมด (the whole truth) หากมีหน้าที่แสวงหาสัจธรรมเพียงบางส่วน (partial truth) เท่าที่สอดคล้องกับอำนาจนำทางอุดมการณ์ (hegemony) ในวงวิชาการและสถานภาพนักวิชาการของตน; จิตรเลือกที่จะแหกคอกนี้ไปเป็นปัญญาชนหัวก้าวหน้า ปัญญาชนฝ่ายซ้ายหรือคอมมิวนิสต์

          ผลลัพธ์ก็คือหนังสือมหาวิทยาลัยประจำปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ที่เขาร่วมเขียนและเป็นสาราณียกรถูกผู้บริหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเซ็นเซ่อร์, เขาถูกนำตัวขึ้น “ศาลเตี้ย” ไต่สวนกลางหอประชุมใหญ่จุฬาฯ, ถูกนิสิตวิศวะฯกลุ่มหนึ่งตัดสินลงโทษโดยพลการด้วยการจับ “โยนบก “จนสลบ แล้วมิหนำยังถูกทางมหาวิทยาลัยทำโทษพักการเรียนจนถึงปี ๒๔๙๘

          ๒) คอกที่แยกความเป็นนักวิชาการจากประชาชน

          เพราะนักวิชาการไม่มีหน้าที่สอน, เรียนและสร้างสรรค์องค์ความรู้รับใช้ประชาชนทั้งหมด (all people) หากมีหน้าที่สอน, เรียนและสร้างสรรค์องค์ความรู้รับใช้คนในสังคมบางกลุ่มเป็นหลัก (some people) เท่าที่สอดคล้องกับโครงสร้างชนชั้นในสังคมและฐานะชนชั้นของตน; จิตรเลือกที่จะแหกคอกนี้ไปเป็น ปัญญาชนสาธารณะ (public intellectual) ผลิตเผยแพร่งานเขียนเพื่อประชาชนคนยากคนจน

          ผลลัพธ์คือเขาถูกคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จับติดคุกลาดยาว ๖ ปี (๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ - ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗) อันเป็นการแยกปัญญาชนเยี่ยงเขาออกจากสาธารณะ อย่างเด็ดขาด แม้เขายังสามารถอ่านคิดค้นเรียนเขียนแปล ผลิตผลงานศิลปะวรรณกรรมก้าวหน้าเพื่อประชาชนและ ดำเนินชีวิตคอมมูนกับสหายในคุก ทว่างานของเขาเหล่านั้นไม่มีโอกาสปรากฎต่อ สาธารณชน ประชาชนไม่ได้สัมผัสรับรู้ ผลของมันแม้ไม่ใช่เป็นการประหารชีวิตเขาให้ ถึงแก่ความตายจริง ๆ แต่ก็เท่ากับเป็นการประหารเขาให้ตายไปจากสาธารณะ ทางการเมือง วัฒนธรรม ซึ่งสำหรับปัญญาชน สาธารณะคนหนึ่งแล้ว มันก็คือความตาย คือการถูกยุติบทบาทปัญญาชนสาธารณะลงนั่นเอง

          ๓) คอกที่แยกความเป็นนักวิชาการจากการเมืองต่อต้านระบบ

          เพราะนักวิชาการไม่มีหน้าที่นำความรู้ความเชี่ยวชาญของตนไปท้าทายหรือเปลี่ยนแปลงระบบสังคม หากมีหน้าที่นำความรู้ความเชี่ยวชาญของตนไปเข้าหาหรือไปเป็นเครื่องมือผ่านอำนาจในระบบดังที่เป็นอยู่ เท่าที่สอดคล้องกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบบการเมืองเศรษฐกิจวัฒนธรรมของสังคมและการรักษาสร้างเสริมอำนาจของตนในฐานะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ; จิตรเลือกที่จะแหกคอกนี้ไปเป็นปัญญาชนปฏิวัติ เข้าป่าจับปืนร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๕๐๘

          ผลลัพธ์คือเขาถูกเจ้าหน้าที่ราชการยิงตายในชายป่าบ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๙

๓) บริบทของการแหกคอก

           จิตรเลือกแหกคอกนักวิชาการ ในบริบทของการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างชาตินิยมไทยสองกระแส – อันมีที่มาจากลัทธิสากลนิยมสองสายในระดับสากล - ซึ่งก่อตัวขึ้นในการเมืองวัฒนธรรมไทยช่่วงพุทธทศวรรษที่ ๒๔๙๐ ได้แก่: -

           ๑) ชาตินิยมฝ่ายซ้ายซึ่งเกี่ยวโยงสืบเนื่องกับลัทธิสากลนิยมคอมมิวนิสต์

ชาตินิยมฝ่ายซ้ายแห่งพุทธทศวรรษที่ ๒๔๙๐ เป็นผลของการเคลื่อนไหวก่อกบฎทางปัญญาความคิดและการเมืองวัฒนธรรมขนานใหญ่ มีการเสนอบทวิพากษ์ประวัติศาสตร์นิพนธ์และศิลปะวรรณคดีศักดินา, รวมทั้งปรัชญาและเศรษฐศาสตร์การเมืองทุนนิยม-เสรีนิยม-ปัจเจกชนนิยมอย่างขุดรากถอนโคน

           บทวิพากษ์ดังกล่าวมีที่มาจากกระบวนการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมข้ามชาติและจากเมืองสู่ชนบท คร่าว ๆ ดังนี้คือ: -

           [ปัญญาชนผู้มีการศึกษา รู้สองภาษาหรือมากกว่า ทั้งในและนอกพรรคคอมมิวนิสต์ แปลงานเขียนและศัพท์แสงลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์จากภาษาจีนและอังกฤษให้เป็นไทย] ->

           [นักคิดนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ประพันธ์ผลงานวรรณกรรมนานาชนิดอันปรุงแต่งขึ้น ด้วยภาษาวาทกรรมแปลดังกล่าวและแปรมันเป็นสินค้า วางจำหน่ายเผยแพร่ในตลาดสิ่งพิมพ์และ ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมทุนนิยม] ->

          [สินค้าและวาทกรรมเหล่านี้เข้าถึงมือนักศึกษาปัญญาชนที่ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นเบื้องแรก แล้วแพร่หลายต่อไปยังมหาวิทยาลัยอื่น ๆ] ->

          [ในที่สุด นักศึกษาปัญญาชนที่ตื่นตัวทางการเมือง จากวาทกรรมมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ ก็แทรกซึมเข้าสู่พื้นที่ชนบทอันกว้างขวางของประเทศ นำมันไปเผยแพร่ต่อแก่ชาวนาชาวไร่และชนชาติส่วนน้อยกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งเป็นประชากรส่วนข้างมากของชาติ]

          วาทกรรมฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านเผด็จการทหาร-จักรวรรดินิยมอเมริกา-ศักดินา ก็เกิดขึ้นท่ามกลางกระบวนการที่ว่านี้และค่อยก่อตัวเป็นประชาชาตินิยมฝ่ายซ้ายซึ่งท้าทายชาตินิยม ของเผด็จการทหารและราชาชาตินิยมของคณะเจ้าแต่เดิม

          ดังจะเห็นได้ว่านี่เป็นยุคบุกเบิกงานแปลต้นตำรับลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ของมาร์กซ, เองเกลส์, เลนิน, สตาลิน, เหมาเจ๋อตุง เป็นไทย, เป็นยุคสร้างสรรค์งานประวัติศาสตร์และวรรณกรรมฝ่ายซ้าย อาทิ ไทยกึ่งเมืองขึ้น ของ พ.เมืองชมพู (อุดม สีสุวรรณ), “โฉมหน้าที่แท้จริงของศักดินาไทยในปัจจุบัน” ของ สมสมัย ศรีศูทรพรรณ (จิตร ภูมิศักดิ์), แลไปข้างหน้า ของ ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์), ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ (ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์), “ข้อไม่น่าศึกษาทางการประพันธ์” และ “ข้อคิดจากวรรณคดี” ของ อินทรายุธ (อัศนี พลจันทร), “เศรษฐีวิทยา” ของ ผู้ยิ่งน้อย (สมัค บุราวาศ) อีกทั้งงานเชิงปรัชญา กาพย์กลอน เพลง บทละคร ภาพยนตร์จำนวนมาก

           ๒) ชาตินิยมฝ่ายขวาซึ่งเกี่ยวโยงสืบเนื่องกับลัทธิสากลนิยมแอนตี้-คอมมิวนิสต์

           ลัทธิสากลนิยมแอนตี้-คอมมิวนิสต์ถูกนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรโลกเสรี (เช่นอังกฤษ, ฟิลิป-ปินส์) อย่างเอาการเอางานต้นพุทธทศวรรษที่ ๒๔๙๐ พร้อมอิทธิพลทางการเมืองกับความช่วยเหลือในรูปดอลล่าร์และอาวุธในยุคสงครามเย็น (นับแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สองถึงราว พ.ศ. ๒๕๓๓) และสงครามเกาหลี (พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๔๙๖), แล้วกลายมาเป็นนโยบายของรัฐไทย อย่างไรก็ตาม ในฐานะวาทกรรมการเมือง ลัทธิแอนตี้-คอมมิวนิสต์ก็ถูกชนชั้นนำฉวยใช้ไปเล่นงานปรปักษ์ในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันในเกมอำนาจแบบไม่เลือกอุดมการณ์ เช่นกรณีฆาตกรรมคุณเตียง ศิริขันธ์กับพวกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นต้น

           วาทกรรมแอนตี้-คอมมิวนิสต์นี้ได้ผสานหลอมรวมเข้ากับชาตินิยม แบบเชื้อชาตินิยม-รัฐนิยม-ทหารนิยมของเผด็จการทหาร และกับราชาชาตินิยมของคณะเจ้า, กลายเป็นชาตินิยมฝ่ายขวาแอนตี้-คอมมิวนิสต์ที่ยึดถือสถาบันชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์ และอุดมการณ์ “ความเป็นไทย” เป็นแกน และได้กลายเป็นพื้นฐานทางอุดมการณ์ของรัฐราชการไทยสืบมา

           และในพุทธทศวรรษที่ ๒๔๙๐ นี้เองที่เราได้เห็นงานวรรณกรรมลือเลื่องของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เอกอัครปัญญาชนสาธารณะของฝ่ายอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยม ได้แก่นวนิยายเรื่อง สี่แผ่นดิน ซึ่งพุ่งเป้าวิพากษ์โจมตีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ และ ไผ่แดง ซึ่งมุ่งล้อเลียนคอมมิวนิสต์ไทย

           ในสงครามการเมืองวัฒนธรรมนี้ จิตรเลือกอยู่ข้างชาตินิยมฝ่ายซ้ายแบบคอมมิวนิสต์, แหกคอกชาตินิยมฝ่ายขวาแอนตี้-คอมมิวนิสต์, จึงจ่ายค่าตอบแทนถูกโยนบก ติดคุก, เขาเลือกที่จะดำเนินชีวิตตามสัจธรรมที่เขาเชื่อเคียงข้างประชาชนคนชั้นล่างในขบวนการปฏิวัติ

          จิตรเป็นนักวิชาการ ไม่ใช่ไม่เป็น, จิตรมีความเป็นนักวิชาการ ไม่ใช่ไม่มี, จิตรมีความสามารถและผลงานทางวิชาการที่ดีเด่น คู่ควรแก่การยอมรับนับถือทางวิชาการ, แต่ทั้งหมดนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเขา, สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเขาอยู่นอกคอกนักวิชาการออกไป, และแน่นอน เขาเลือกสิ่งนั้น

๔) คอกปัญญาชนปฏิวัติ

          หลังการฆ่าหมู่และรัฐประหาร ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙ นิสิตนักศึกษานักวิชาการจำนวนมากได้แหกคอก ความเป็นนักวิชาการ เดินตามรอยจิตรไปเป็นปัญญาชนปฏิวัติ “นอกคอกนักวิชาการ” แต่แล้วก็พบกรอบใหม่หรือคอกใหม่ในป่า เป็นคอกปัญญาชนปฏิวัติที่แยกพวกเขาออกจากสัจธรรมส่วนอื่น, ประชาชนส่วนอื่น, และการเมืองที่ต่อต้านระบบอีกแบบหนึ่งลักษณะหนึ่ง ดังที่แคน สาริกาได้บรรยายเรื่องนี้ไว้ในวาระสุดท้ายแห่งชีวิตจิตร ภูมิศักดิ์ (๒๕๓๑): -

          “สหายปรีชา (ชื่อจัดตั้งในป่าของจิตร) เป็นปัญญาชนรุ่นแรก เป็นรุ่นบุกเบิกด่านการดัดแปลงโลกทัศน์ ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ปัญญาชนปฏิวัติจะต้องอุทิศแรงกายให้กับการใช้แรงงาน ทุ่มแรงใจให้กับการคิดค้น และขีดเขียนเพื่องานปฏิวัติ ทางจัดตั้งไม่ใช่ท่าทีบังคับ แต่ทุกคนต้องเรียกร้องตัวเอง สหายชาวเมืองต้องสลัดคราบ “ปัญญาชน” ทิ้งไป ต้องปรับตัวเองให้สหายชาวนายอมรับในบทบาทของแต่ละคน ใครทำให้สหายชาวนายกย่องได้ คนนั้นจัดเป็นสหายที่ก้าวหน้าและมีอนาคตทางการเมือง อาจถูกเลือกเลื่อนขึ้นเป็น “ย.” (สมาชิกสันนิบาตเยาวชนประชา - ธิปไตยประชาชนแห่งประเทศไทย อันเป็นองค์กรแขนขวาของ พคท.) หรือ “ส.” (สมาชิก พคท.) (น. ๘๗)

             หลักนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ที่จะไม่ปล่อยให้นักศึกษาปัญญาชนจากในเมืองเป็นอย่างที่เคยเป็น หากต้องดัดแปลงโลกทัศน์พวกเขาให้กลายเป็น “ปัญญาชนปฏิวัติ” ตามคำนิยามและแบบแผนของพรรค ดำเนินสืบมาจากจิตรถึงนักศึกษาปัญญาชนที่เข้าป่าหลัง ๖ ตุลาฯ ดังที่ จันทนา ฟองทะเล อดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ได้บรรยายวิเคราะห์ไว้ในบันทึกความทรงจำของเขาเรื่อง
จากดอยยาวถึงภูผาจิ (๒๕๓๖) ว่า: -

          “เรื่องที่กระทบต่อระบบคิดก็คือการเคลื่อนไหวปัญหาโลกทัศน์และการดัดแปลงตนเอง เพราะนักศึกษาคือเป้าหมายหลักของการต่อสู้ในปัญหานี้

           “สิ่งที่ขบวนปฏิวัติขณะนั้นคิดได้และยึดถือเป็นความเชื่อความเข้าใจของตนต่อนักศึกษาอย่างตายตัว ล้วนถอดมาจากสรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตงและกระบวนการมองปัญหาของพรรคจีน เช่น การคัดค้านลัทธิเสรี, คัด ค้านโลกทัศน์ชนชั้นนายทุนและปัญญาชนนายทุนน้อย, ส่งเสริมการใช้แรงงานกายโดยยึดถือว่าเป็นกระบวนการเดียวที่ทำให้ปัญญาชนได้คิดแบบชนชั้นกรรมาชีพ และมีอารมณ์ความรู้สึกแบบกรรมาชีพ, กระตุ้นเรื่องวินัยเหล็ก, กระตุ้นเรื่องความสามัคคีภายใน, การถนอมรัก, การเข้มงวดต่อตนเอง, การเสียสละอย่างถึงที่สุด, ส่งเสริมการวิจารณ์และวิจารณ์ตนเองต่อสาธารณะ และปลูกฝังความศรัทธาต่อพรรคอย่างสุดชีวิตจิตใจ.....

            “กล่าวเฉพาะสถานการณ์ขณะนั้น ผมเชื่อว่าภาวะกระแสสูงของการปฏิวัติมีส่วนโน้มน้าวให้ผู้คนเดินตาม ทิศทางการศึกษาที่กำหนด มีคนเขียนเพลงและบทกวีสดุดีพรรคประดุจเทพเจ้ากันมากมาย คำว่า “พ่อแม่คือผู้ให้กำเนิด ประชาชนเป็นผู้เลี้ยงดู พรรคคือผู้ชี้นำ” เป็นสุดยอดของศรัทธาธรรม เราคิดและเขียนถึงพรรคบนพื้นฐานความเชื่อชนิดนี้เท่านั้น.....

          “ผมเข้าใจว่ากระบวนการนี้เป็นวิธีการสำเร็จรูปที่ฝ่ายนำหรือฝ่ายการเมืองในป่าใช้กันเป็นปกติ และได้ผลพอสมควร และต้นแบบก็คงได้มาจากประเทศจีน โดยเฉพาะในช่วงปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม ระบบเช่นนี้ ดูเผิน ๆ เหมือนจะเน้นหลักการ “เข้มงวดต่อตนเอง ผ่อนปรนให้ผู้อื่น” แต่ผลที่เป็นจริงก็คือ มีระบบลงโทษทางสังคมที่รุนแรงเพราะคนที่ปฏิบัติตนอย่างเข้มงวดเท่าคนอื่นไม่ได้ จะด้วยเหตุผลส่วนตัวอย่างไรก็ตาม เขาจะกลายเป็น “คนมีปัญหา” ในสายตาของสังคม และหากสังคมนั้นไม่มีฝ่ายนำที่ใจกว้างหรือเข้าใจเพื่อนมนุษย์ดีพอ เขาก็จะถูกทำร้ายทางจิตใจด้วยมาตรการต่าง ๆ แบบเป็นไปเอง คือถูกตีตราว่ามีความคิดที่ผิดอยู่เต็มสมอง เช่น เสรี, ไร้วินัย, ไร้จัดตั้ง, ลัทธิเอกชน, โลกทัศน์ชาวนา, นายทุนน้อยฯ” (น. ๒๘–๓๑)


          นักศึกษาปัญญาชนส่วนใหญ่ได้ดัดแปลงโลกทัศน์ตัวเองให้เข้ากับคอกใหม่ด้วยจิตใจปฏิวัติ เสียสละรักความก้าวหน้าอันเร่าร้อน แต่เมื่อทำงานเคลื่อนไหวปฏิวัติไป เห็นจุดอ่อนข้อบกพร่องของคอกนั้นว่าขัดฝืนความเป็นจริงและความเป็นมนุษย์ จึงได้พยายามปฏิรูปคอกแต่ไม่เป็นผล มีการเซ็นเซ่อร์สิ่งพิมพ์ฝ่ายเห็นต่างในป่าทั้งกรณีหนังสือพิมพ์กำแพงที่ภาคใต้ (นิมิต ศัลยา, ลมพัดชายเขา, น. ๒๘๘) กรณีนสพ. ธงปฏิวัติที่อีสานเหนือ (แคน สาริกา, เปลือยป่าแดง, น. ๘๒-๓) และกรณีนิตยสารธงชัยที่อีสานใต้ (ปวีณา เดชกล้า, ขบวนการนั้นชื่อพรรคคอมมิวนิสต์, น. ๑๗๓-๘๖) ความแตกต่างขัดแย้งในคอกประจวบกับสถานการณ์รอบบ้านและในประเทศที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้พวกเขาแหกคอก ออกจากป่า คืนเมืองมาร่วมพัฒนาชาติไทย และบางส่วน เช่นผม ก็กลับมาเข้าคอกนักวิชาการ

๕) บทสรุปจากในคอก

            เราพอจะได้ข้อคิดข้อสังเกตคำถามอะไรไว้คิดค้นต่อบ้างจากชีวิตแหกคอกนักวิชาการของจิตร? ผมคิดว่ามีดังต่อไปนี้คือ: -

            ๑) การอยู่อิสระโดยไม่มีคอกเป็นไปได้หรือไม่? สภาวะไม่มีคอกเป็นอย่างไร?

            ๒) คอกที่ซ่อนลึก แนบเนียน เห็นยาก แหกยากที่สุดคือคอกที่เราสร้างขังตัวเราเอง

            ๓) การแหกคอกไม่ว่าคอกนักวิชาการหรือคอกอื่นใดคงต้องอาศัยการสลัดพ้นจากความกลัวทางจริยธรรม อาศัยความกล้าหาญทางศีลธรรม รวมทั้งความพร้อมที่จะจ่ายราคาค่าแหกคอก ต้องเสียสละบางอย่าง มันไม่มีการแหกคอกฟรี

            ๔) การแหกออกไปนอกคอกนักวิชาการเพื่อแสวงหาสัจธรรม, ประชาชนและการเมืองต่อต้านระบบนั้น ควรระมัดระวัง, โดยเฉพาะสัจธรรมที่อ้างว่าตัวมันสัมบูรณ์ควรยึดถือด้วยวิจารณญาณ ใคร่ครวญ รอบคอบ, สำหรับประชาชน ก็ใช่ว่าจะฟังเราเสมอไป บางครั้งบ่อยครั้งประชาชนก็อาจทิ้งเรา กระทั่งหันมาเล่นงานเรา เช่นในเหตุการณ์ ๖ ตุลาฯ เป็นต้น, ส่วนการเมืองนั้นเล่า ไม่ว่าจะต่อต้านระบบหรือรักษาระบบ ก็เป็นเรื่องของอำนาจ และขึ้นชื่อว่าอำนาจย่อมหวานหอม ชวนลุ่มหลง

           ๕) เราจะอยู่อย่างไรในโลกที่มีคอก (หลาย ๆ คอก)? จะมียุทธวิธีในการปรับตัวประนีประนอมแค่ไหนอย่างไร? คอกที่ดีควรเป็นอย่างไร? เช่น คนในคอกควรมีส่วนร่วมออกแบบ ก่อสร้างและจัดการคอกด้วย, มันควรเป็นคอกที่เปิดช่องให้เถียงได้ ปรับได้ แหกได้ รื้อได้ เป็นต้น


 กลับสู่    หน้าหลัก

จัดทำโดย  NeoFreeEnergy Group

Last changed: ตุลาคม 18, 2545