กรณี"โยนบก"จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนปฏิวัติแนวมาร์กซิสต์

นิยม  ประชาธรรม์            

          ภายหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ถึง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙  ขบวนการนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้นำเอาประวัติชีวิต การต่อสู้และงานเขียนของ จิตร ภูมิศักดิ์ปัญญาชนปฏิวัติแนวมาร์กซิสต์ มาทำการศึกษา วิเคราะห์และตีพิมพ์เผยแพร่ออกสู่สายตาสาธารณชนชาวไทย      อันมีจุดมุ่งหมายให้เป็นดั่ง ธงชัย ในการปลุกเร้า จิตสำนึกของการมีส่วนร่วม ทางการเมืองในหมู่มวลชนคนรุ่นใหม่ให้มาร่วมกันการต่อสู้ เพื่อเรียกร้องเอกราช ความเป็นธรรมในสังคม และประชาธิปไตย อันมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดจาก รัฐบาลเผด็จการทรราช อยู่เคียงข้างขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ของเหล่านิสิตนักศึกษาปัญญาชนเพื่อ ร่วมกันกำหนดชะตากรรม ของบ้านเมืองด้วยหนึ่งสมองและสองมือของเราเอง

          จิตร ภูมิศักดิ์ เป็น ปัญญาชนหัวก้าวหน้า ที่มีชีวิตอยู่ในสมัยกึ่งพุทธกาล คือระหว่างปี ๒๔๗๓-๒๕๐๙ อันเป็นช่วงรอยต่อระหว่าง สังคมเก่า "เจ้าศักดินา-ราชาธิปัตย์" และ สังคมใหม่ "ประชาธิปไตยภายใต้อำนาจนิยม เผด็จการกระฎุมพี" ที่คาบเกี่ยวกับยุคสงครามเย็น (ปี ๒๔๘๘-๒๕๓๔) ซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่าง กระแสวัฒนธรรมทุนนิยมและสังคมนิยมที่กำลังถาโถมเข้าสู่เมืองไทย อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          งานเขียนส่วนใหญ่ของจิตรมักจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เสียดสีสภาพสังคมและการเมืองที่เน่าเหม็นฟอนเฟะ ของไทยโดยศึกษาวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าวด้วยหลักปรัชญาของสำนักมาร์กซิสต์ ซึ่งถือว่าเป็นการท้าทาย และปฏิเสธระบบความคิดและความเชื่อดั้งเดิมที่สิงสู่อยู่ในสังคมไทยสมัยนั้น อันเป็นแนวความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อ รัฐบาลเผด็จการทหาร ที่อยู่ภายใต้การครอบงำทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมจากจักรวรรดินิยม อเมริกา โดยแฝงมาในรูปแบบของการช่วยเหลือระหว่างรัฐต่อรัฐ ซึ่งจิตรได้ชี้ชัดฟันธงลงไปว่า "สังคมไทยปัจจุบันมีลักษณะเป็นสังคมกึ่งศักดินา-กึ่งเมืองขึ้น"

          ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลได้แสดงทรรศนะที่มีต่อจิตรไว้ในเอกสารจากสันติบาลกอง ๓ แฟ้มบุคคลสำคัญ ลำดับที่๐๐๘๒ นายจิตร ภูมิศักดิ์, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๐๒ เมื่อคราวที่ถูกจับกุมในข้อหา มีการกระทำอันเป็น คอมมิวนิสต์และกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในและภายนอกราชอาณาจักร ในเช้าตรู่ เวลาประมาณ ๐๖.๐๐ น. ของวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๐๑หลังการทำ รัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เพียง ๑ วัน ดังเนื้อความที่ว่า "(นายจิตร  ภูมิศักดิ์)มีความคิดเห็นทางการเมือง ...เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ มีความคิดเห็นแนวซ้าย สนับสนุนคอมมิวนิสต์"

          ด้วยเหตุนี้เอง งานเขียนส่วนใหญ่ของจิตร จึงถูก รัฐบาลปฏิกิริยาขวาจัด จัดอันดับให้เป็น หนังสือต้องห้าม พร้อมกับมีคำสั่งให้เก็บหรือเผาทำลายให้สิ้นซากไปจากบรรณพิภพไทย

          การที่จิตรมี ความคิดก้าวหน้า เกินกว่าคนร่วมสมัยเดียวกัน ทำให้เขาถูกผู้คนในสังคมบางกลุ่ม ประณามหยามเหยียดว่า เขาเป็น พวกหัวรุนแรง เอียงซ้าย ฝ่ายแดง และ คอมมิวนิสต์ ครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๙๖ สมัยที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ ๓ แผนกวิชาอักษรศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย จิตรได้รับการคัดเลือก จากตัวแทนนิสิตคณะต่าง ๆ รวม ๖ คณะราว๓๐ คน ให้เป็น สาราณียกรของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (สจม.) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า สาราณียกรของมหาวิทยาลัย โดยรับหน้าที่เป็น บรรณาธิการ ในการจัดทำ หนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับปิยมหาราชานุสรณ์ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๖ หรือที่มักเรียกกันว่า หนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ซึ่งเป็นที่มาของ กรณีโยนบก อันอื้อฉาวและโด่งดังครั้งแรกและครั้งเดียว ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

          หนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ นี้ มีกำหนดออกแจกจ่ายเป็นประจำใน วันปิยมหาราช ๒๓ ตุลาคมของ ทุกปีซึ่งเป็นวันถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ องค์ผู้สถาปนาสถาบันการศึกษาแห่งนี้ อันเป็นที่มาของนาม จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

          ซึ่งแต่ละคณะวิชาจะมีการคัดเลือกสาราณียกรของตนเอง เพื่อมีหน้าที่จัดทำหนังสือประจำคณะ ออกแจกจ่ายด้วยเช่นกัน สาราณียกรประจำคณะเหล่านี้จะต้องให้ความร่วมมือในการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ โดยมีหน้าที่รวบรวมต้นฉบับบทความส่งมาให้จิตรพิจารณาคัดเลือกนำลงตีพิมพ์อีกทีหนึ่ง

          ส่วนคณะอักษรศาสตร์ของจิตรนั้น มี ม.ร.ว.นิตยโสภาคย์ เกษมสันต์ รับหน้าที่เป็นสาราณียกรประจำคณะ ในการจัดทำหนังสืออักษรานุสรณ์ ฉบับรับนิสิตใหม่ ประจำปี ๒๔๙๖ ถึงแม้ว่าจิตรจะมีงานยุ่งสักเพียงใด แต่ก็ยังมีกะจิตกะใจส่งงานเขียนมาร่วมตีพิมพ์ลงในหนังสือประจำคณะตามคำร้องขอของ ม.ร.ว.นิตยโสภาคย์ ถึง ๒ ชิ้นด้วยกัน คือ นวนิยายรักขนาดสั้นจากพญาฝัน-ถึงทยอยใน โดยใช้นามปากกาว่า จักร ภูมิสิทธิ์ และ กลอนต้อนรับนิสิตใหม่ ของคณะอักษรศาสตร์ ซึ่งเราสามารถสัมผัสถึงความอลังการของรสถ้อยกวีอันงดงาม วิจิตรบรรจงของจิตรได้ดังนี้

   

        ท้าทายเทวพิมานตระหง่านนภพิสัย
เลอทวยสุเทพไทประสิทธิ์
งามตึกอักษรศาสตร์วิลาสวรวิจิตร
รื่นรมย์มโนนิตย์ นิรันดร์
เชิญเนาผองนุชเพียรบำเรียนวิวิธวรรณ
โดยเจตน์ประจวบบรร- ลุเทอญฯ

 

        จากคำให้การต่อเจ้าพนักงานสอบสวนสันติบาลของจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อปี ๒๕๐๒ คราวถูกจับกุมในคดี มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ คือ บันทึกคำให้การของผู้ต้องหา นายจิตร ภูมิศักดิ์ หรือที่มักรู้จักกันในนาม คำให้การของจิตร ภูมิศักดิ์ได้กล่าวถึงการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ว่า "ข้าฯไม่ได้รับความร่วมมือการจัดทำหนังสือของมหาวิทยาลัยข้าฯ จัดทำคนเดียว"

พันเอก(พิเศษ)ม.ร.ว. นิตยโสภาคย์   เกษมสันตเพื่อนอดีตนิสิตจุฬา ของจิตร  ภูมิศักดิ์ ในงานรำลึก 72 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2545

          ถึงคำให้การของจิตรขัดแย้งกับคำให้สัมภาษณ์ในปัจจุบันของพันเอก (พิเศษ) ม.ร.ว.นิตยโสภาคย์   เกษมสันต์ ที่กล่าวถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่เพียงสั้น ๆ ว่า ทุกสาขาก็ให้ความร่วมมือแต่เมื่อเขา (จิตร ภูมิศักดิ์) ได้ทำตามแนวของเขา เขาคงอยากจะเดินให้จบ (เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 กันยายน 2545)

          ดังนั้น อำนาจเต็มในการตัดสินใจทำหนังสือทั้งรูปแบบและเนื้อหา จึงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของ จิตรแต่เพียงผู้เดียวโดยหาได้มีผู้มีหน้าที่ เกี่ยวข้องคนใดสนใจคัดค้านหรือแสดง ความคิดเห็นใดๆ ไม่ จะมีก็แต่เพียง ม.ร.ว.นิตยโสภาคย์ เกษมสันต์และ นายสุธีร์  คุปตารักษ์ เพื่อนที่สนิทสนมกันเป็นพิเศษ

          มาตั้งแต่ครั้งเรียนอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ถนนพญาไท ที่ได้อาสามาช่วยตรวจปรู๊ฟของต้นฉบับของ บทความที่จะนำลงตีพิมพ์ นอกจากนี้ นายสุธีร์ยังช่วยออกตระเวนหาโฆษณามาลงในหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับนี้อีกด้วย ต่อมา จิตรได้แต่งตั้งให้เขาเป็นเจ้าหน้าที่ผู้รับ และรวบรวมบทความเพื่อนำมา เสนอแก่ตน โดยนายสุธีร์จะประจำอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์

         บทความต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ นอกจากจะเป็นงานเขียนของ เหล่านิสิตแล้วจิตรยังได้ไปขอร้องเหล่าคณาจารย์ในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ให้ช่วยเขียนบทความส่งมาลง ตีพิมพ์อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ดังเห็นได้จากจำนวนบทความที่ส่งมาลงตีพิมพ์มากกว่า ๑๐๐ เรื่อง แต่ด้วยข้อจำกัดทางรูปเล่ม จิตรจึงจำต้องพิจารณาคัดเลือกให้เหลือเพียง ๔๐ เรื่องเท่านั้น ซึ่งปรากฏว่ามีงานเขียนของจิตรปะปนอยู่ถึง ๓ เรื่องด้วยกัน คือ

         ขวัญเมือง เป็นนวนิยายขนาดสั้น อันสะท้อนถึงทัศนคติที่มีต่อสภาพสังคมและการเมืองของไทย ซึ่งถ่ายทอดผ่านทางตัวละครนาม ขวัญเมือง หญิงผู้ยึดเอาภารกิจหน้าที่ทางประวัติศาสตร์การเมืองมาเป็น เป้าหมายสำคัญสูงสุดในชีวิตของตน โดยแนวคิดดังกล่าวนี้จะมีส่วนช่วยทำให้ คน ได้วิวัฒน์พัฒนามาเป็น มนุษย์โดยสมบูรณ์ ได้ ทั้งนี้ ตัวละครหญิงนาม ขวัญเมือง นี้อาจจะเป็นภาพสะท้อน ผู้หญิงในอุดมคติ ของจิตรก็เป็นได้

         ในคำให้การฯ ได้กล่าวถึงนวนิยายเรื่องหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นเรื่องเดียวกันกับ ขวัญเมือง ว่า "เป็นนวนิยายมีข้อความสำคัญกล่าวถึงนิสิตในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยที่ไม่ให้ความร่วมมือในกิจการของสโมสร แต่จะใช้นามปากกาว่าอะไร ข้าฯ จำไม่ได้"

        บทกวี เธอคือหญิงรับจ้างแท้ใช่แม่คน หรือที่มักเรียกกันสั้น ๆ ว่า กลอนเรื่องแม่ จัดอยู่ในประเภทกลอนแปด ซึ่งเป็นงานเขียนที่สะท้อนถึงแนวคิดของจิตรที่มีต่อปัญหาทางจริยธรรมในเรื่องเพศของผู้หญิงที่มักชิงสุกก่อนห่าม และบทบาทของความเป็น แม่ โดยกล่าวตำหนิ แม่บางคน ที่ไม่รับผิดชอบเลี้ยงดูลูกน้อยที่เป็นสายโลหิตของตน ซึ่งเกิดขึ้นจากความสำส่อน

         หลงระเริงในรสกามารมณ์อันไม่เหมาะสม นอกจากนี้ จิตรยังได้แสดงทรรศนะว่า แม่ผู้ให้กำเนิด ควรเป็นผู้ทำหน้าที่เลี้ยงดูอบรม

          สั่งสอนลูกน้อยด้วยตนเอง จึงจะเหมาะสมดีงามตามธรรมนองครองธรรม โดยจิตรได้ใช้นามปากกาว่า ศูลภูวดล

          ใน กลอนเรื่องแม่ จิตรได้บรรยายภาพของหญิงสาวที่มัวหลงระเริงในรสกามารมณ์ เมื่อเกิดความผิดพลาดตั้งครรภ์ขึ้นมา ก็พยายามหาทางทำลายชีวิตน้อย ๆ ที่ตนมิได้ตั้งใจให้เกิด ดังถ้อยกวีที่ว่า

 

          หวังเพียงความย่ามเหลิงระเริงรี่
จนเสือกมีทำไมมิได้ฝัน
เมื่อค่ำดื่มปลื้มปลักนำรักกัน
ใช่หวังปั้นเด็กผีให้มีมา

          ลูกนั้นหรือคือผลพลอยคนได้
จากความใคร่คราวหรรษ์เปลื้องตัณหา
เฝ้าทำลายหลายครั้งประดังมา
มันทนทายาทเถนได้เดนตาย

 

          แต่ใช่ว่างานชิ้นนี้ของจิตรจะกล่าวตำหนิแต่ผู้หญิงที่ทำผิดทำนองครองธรรมเพียงถ่ายเดียว แต่ยังมีเนื้อหาบางส่วนที่ได้กล่าวยกย่องสรรเสริญผู้หญิงที่ถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูลูกน้อยของตนด้วยความรักว่าเป็น แม่ที่แท้จริง ส่วนแม่ที่ตัดสินใจทำลายชีวิตลูกน้อยของตนด้วยการทำแท้ง และแม่ที่ทอดทิ้งไม่เหลียวแลลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิดนั้น จิตรเสนอว่า ควรได้รับการประณามว่าเป็นเสมือน อาชญากร หรือ หญิงรับจ้างแท้...ใช่แม่คน ดังกลอนบทที่ว่า

 

        อันรสร่านซ่านดิ้นคือสินจ้าง
ที่ตอบต่างเงินตราให้มารศรี
ซื้อเด็กคน...ปรนสบายให้หลายที
แล้วคุณมีต่อใครที่ไหนรา !

        ไอ้เรื่องกลุ้มอุ้มท้องที่เบ่งโย้
ลามกก็โขนั้นก็จริงหรอกหญิงจ๋า
แต่สินจ้างรายได้เราได้มา
ต้องใจกล้าลงทุนสมดุลย์กัน

        พระคุณแม่แท้ใช่ที่ได้เบ่ง
อยู่ที่เล็งรักถนอมเหมือนจอมขวัญ
แม้รีดแกล้งแท้งทำระยำยัญ
เธอมีทัณฑ์ฐานฆ่า...อาชญากร

        ถ้าแม้นใคร่ใจที่จะมีลูก
ฤทัยผูกรักล้ำทั้งพร่ำสอน
อุตส่าห์เลี้ยงเอี้ยงกล่อมถนอมนอน
ขอกราบกรนั่นแหละแม่ที่แท้จริง

        แต่เธอคลอดทอดทิ้งแล้ววิ่งหนี
ไม่รู้ชี้เป็นตายหรือชายหญิง
ไม่แลเหลียวเจียวหลังเพราะชังชิง
เธอคือหญิงรับจ้างแท้...ใช่แม่คน

 

       ความเรียงเรื่อง พุทธปรัชญาแก้สภาพสังคมตรงกิเลส วัตถุนิยมไดอะเลคติคแก้สภาพสังคมที่ตัวสังคมเอง และแก้ได้ด้วยการปฏิวัติ มิใช่ปฏิรูปตามแบบของสิทธารถ ปรัชญาวัตถุนิยมไดอะเลคติค กับปรัชญาของสิทธารถผิดกันอย่างฉกรรจ์ที่ตรงนี้ หรือที่รู้จักกันในนาม ผีตองเหลือง ซึ่งจิตรมักเรียกงานเขียนชินน้ีว่า พุทธปรัชญาไม่ใช่วัตถุนิยม โดยใช้นามปากกาว่า นาครทาส

       ผีตองเหลือง นับเป็นงานเขียนชิ้นแรกของจิตร ที่ได้นำเอา ปรัชญาสำนักมาร์กซิสต์ คือ วัตถุนิยมประวัติศาสตร์(Historical Materialism) กับ วัตถุนิยมไดอะเลคติค หรือ วัตถุนิยมวิภาษวิธี (Dialectical Materialism) มาใช้ศึกษาวิเคราะห์พระพุทธศาสนาของไทย

        ซึ่งจิตรน่าจะเริ่มสนใจแนวคิดสังคมนิยมตามปรัชญาลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ความคิดของสตาลินและเหมาเจ๋อตุง ในช่วงที่เรียนอยู่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ระหว่างปี ๒๔๙๓-๒๔๙๔ อันเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ในเรื่องทรรศนะความคิดเห็น โดยจิตรได้ศึกษาเรียนรู้ ความคิดใหม่ นี้ด้วยตนเอง ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากนิตยสารรายเดือนอักษรสาส์น ที่มีสุภา ศิริมานนท์ เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ อันมีเนื้อหาสนับสนุนและเสริมสร้างพัฒนาการทางสังคมตามแนวความคิดสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ ดังนั้น นิตยสารอักษรสาส์นนี้จึงเปรียบประหนึ่งอาหารสมองชั้นเลิศของ ปัญญาชนหัวก้าวหน้าในยุคนั้น จนครั้งหนึ่ง จิตรถึงกับเอ่ยปากว่า "ไม่ต้องสงสัยที่อักษรสาส์นจะต้องมีตำแหน่งสำคัญอยู่ในประวัติศาสตร์ ของการเผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน"

      แต่เรากลับพบว่า ความรอบรู้ใน ปรัชญาปฏิวัติ สำนักมาร์กซิสต์ของจิตร ในช่วงที่เขียนความเรียง ผีตองเหลือง นี้ยังคงสับสนและอ่อนด้อย ไม่ลุ่มลึกเท่านักศึกษาลัทธิมาร์กซ์-เลนินรุ่นใหญ่อย่างปรีดี พนมยงค์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ สมัครบุราวาส อัศนี พลจันทร เปลื้อง วรรณศรี สุภา ศิริมานนท์ และอุดม สีสุวรรณ เป็นอาทิ

         ครั้งหนึ่ง จิตรได้เคยปรารภกับ ทวีป วรดิลก นักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้า เจ้าของนามปากกา ทวีปวร ถึงงานเขียนของตนในช่วงที่เป็นสาราณียกรของมหาวิทยาลัยอย่างไม่สู้จะพอใจเท่าใดนัก โดยกล่าวว่า "ตอนนั้นความคิดของผมยังสับสน ยังไม่อาจชี้ให้เห็นชัดเจนว่าทางออกที่ถูกต้องเป็นอย่างไร" และ "ผมยังไม่สู้จะเข้าใจปัญหาต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์ ที่เขียนไปผิดทั้งนั้น"

        จิตรได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจที่ช่วยจุดประกายให้เขียนความเรียง ผีตองเหลือง ไว้ในตอนต้นของบทความว่า

        "เมื่อไม่นานมานี้ ข้าพเจ้าผ่านไปทางย่านชุมนุมชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้เห็นกระถางมังกรใบใหญ่ ตั้งอยู่บนทางเท้า ในกระถางใบนั้นบรรจุทรายไว้เต็ม บนพื้นทรายมีเหรียญดีบุกราคาต่าง ๆ เรียงรายเปะปะเต็มไปทั้งพื้นหน้า ตรงกลางกระถางมีไม้ระกำขนาดเขื่องปักชลูดขึ้นไป และบนไม้ระกำนั้นมีแขนงไม้เล็ก ๆ ปักแผ่เป็นรัศมีโดยรอบ ตรงปลายของแขนงไม้นี้ติดธนบัตรใบละยี่สิบบาทบ้าง สิบบาทบ้าง และยังมีธนบัตรใบละบาทเป็นบริวารพราวไปหมด เห็นจะไม่ต้องให้ข้าพเจ้าอธิบายก็ได้ว่า เขาทำบุญอวดกัน ถ้าข้าพเจ้าบังเอิญเกิดศรัทธาลงกระถางกับเขาบ้างสักร้อยบาท ครุฑแดงของข้าพเจ้าก็คงจะได้รับเชิญไปปาฏิหาริย์ลอยระริกอยู่บนยอดไม้สูงของไม้ระกำนั้นอย่างไม่มีปัญหา และถ้าข้าพเจ้าบ้า ๆ บอ ๆ อย่างคนบางคน ก็คงยิ้มแก้มแทบแตกที่ได้บริจาคธนบัตรใบละร้อยบาทไปติดยอดกระถางสีแดงแจ๋ข่มรัศมีใบอื่น ๆ ทั้งปวง ได้สาสมกับประเพณีทำบุญเอาหน้า และถ้าบ้าบอต่อไปอีกสักส่วนหนึ่ง ก็คงได้นั่งสร้างวิมานว่า ชาติหน้าคงจะสุโขสโมสรกับที่ทำบุญไปตั้งร้อยบาท

          "ระหว่างหยุดหน้าร้อน ข้าพเจ้าออกไปเยี่ยมบ้านทุกปี จำได้แม่นว่า ทุกวันต้องมีชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งประเคน เทิ้งบ้องกลองยาวที่แขวนเฉวียงบ่าดังครืนโครมเป็นจังหวะกับฆ้องแตก ๆ ใบย่อม กรายเข้ามาแถวละแวกที่เราอยู่ ข้างหน้าของคนหมู่นี้มีชายคนหนึ่งประคองพานแว่นฟ้ารองรับเครื่องไตรจีวร อีกคนหนึ่งถือขันลงหินสำหรับรับเงินที่ชาวบ้านศรัทธาบริจาค คุณย่าคุณยายละแวกนั้นดูรู้สึกว่า ช่างไม่เบื่อที่จะคลี่ชายพกหยิบเงินปลีกขึ้นจรดเหนือหัว แล้วหย่อนลงไปในขันลงหินนั้นเลย พวกเราหลายคนคุ้นหน้าพวกนี้ดี รู้ดีว่าเขาหากินโดยเท่ียวหลอกลวงประชาชนว่า เขาเป็นคณะที่เที่ยวทำการเรี่ยไร เพื่อบวชนาคอนาถาตระเวนแห่กันไป เข้าหมู่บ้านโน้นออกหมู่บ้านนี้ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ตกเย็นก็แบ่งรายได้กัน แล้วก็พากันไปกินเหล้าเมายาหยำเป พวกชาวบ้านอย่างเรา ๆ ถึงแม้จะรู้ความจริงกันบ้าง เราก็ไม่ค่อยกล้าพูดหรือแฉโพยขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าเขามีอิทธิพลมืดอะไรอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า เอะอะขึ้นก็รังแต่จะเสียเวลาทำมาหากินเปล่า ตกลงเขาก็พากันเอ้อระเหยลอยชายมาใช้ความงมงายในเรื่องนรกสวรรค์ของชาวบ้านเป็นเครื่องยังชีพได้ตามสบายตลอดปี"

          "ข้าพเจ้าจำได้แน่นแฟ้นอีกเหมือนกันว่า ทุกวันนี้ต้องมีสุภาพบุรุษในเรือนร่างสีเหลืองโกนศีรษะโล้น ลอออ่องมาเที่ยวยื่นกระดาษแบบพิมพ์บอกบุญเรี่ยไร ซึ่งเรียกกันว่า "ฎีกา" ให้แก่ชาวบ้าน จุดประสงค์ก็เพื่อรวบรวมเงินไปปลุกสร้างอาคารสถานสำหรับประกอบพิธีกรรมครึคระหลอกลวงประชาชน ซึ่งเรียกกันว่า "ศาลา" บ้าง สร้างที่พำนักกันโอ่โถง เรียกว่า "กุฎิ"บ้าง และคนพวกนี้มิได้ย่างกรายเข้ามาเพียงวันละครั้ง แต่วันละอย่างน้อยถึงสองหรือสามครั้ง ซึ่งเราก็รู้ไม่ได้และไม่เคยนึกอยากจะรู้ว่า เขามาจากสำนักไหนกันนัก ในละแวกบ้านที่ข้าพเจ้าถือเป็นแดนเกิดนั้น สภาพก็เช่นเดียวกับบ้านนอกคอกนาทั่ว ๆ ไป

       บ้านหลังคาแฝด ฝาก็ฝาแฝด พื้นเรือนเป็นไม้ขัดแตะ แต่ละหลังโกโรโกโสจะพังมิพังแหล่ด้วยอายุอานาม พวกเรามีผ้าหยาบ ๆพอปกปิดส่วนอุจาดตาของร่างกายกันคนละชิ้นสองชิ้น ดำรงชีวิตกันอย่างแร้นแค้น แต่พวกที่มายื่นฎีกาให้แก่เรานั้น บางพวกมีผ้าห่มแพรสีไพลผืนใหญ่ ใส่รองเท้าหนังสานรัดส้นราคาคู่ละหลายสิบบาท มีย่ามสีสดปักลวดลายงามตา ขนาดที่ถ้าเราจะซื้อสักใบหนึ่ง บางทีจะต้องอดข้าวกันนับปี ที่พำนักของเขาน่ะหรือ หลังคากระเบื้องเกล็ด บางหลังแถมเคลือบไว้เป็นเงาวาวปลาบตาฝากระดาน เสาไม้จริงต้นใหญ่ พื้นขัดมัน และเรือนโรงโอ่โถงนั้นออกจะคับแคบเกินไป ถ้าเขาจะต้องยัดเยียดกันอยู่หลังละตั้ง

       สองสามคน เขาก็จะวิ่งไปพิมพ์ฎีกามาบอกบุญเรี่ยไรขอเงินจากเรา... เราพวกที่แทบจะไม่มีหลังคาคุ้มหัวกระบาล... ไปสร้างมัน   เพิ่มเติมขึ้นใหม่อีกหนึ่ง สองสาม สี่หลัง และเวลาที่พวกเราซึ่งยังงมงายซื่อหลงเชื่อในชาตินี้ชาติหน้า ควักเงินออกจากไถ้ด้วยมืออันสั่นเทามอบให้เขา เขาก็จะดึงเชฟเฟอร์ด้ามทองอร่ามตาออกมาเขียนใบสำคัญให้เราถือไว้ชมบุญของตัวเอง พฤติการณ์ดูเป็นทำนองเดียวกับการขายใบล้างบาปของพระในคริสตศาสนาสมัยโน้นไม่มีผิด ดูเขาไม่มียางอายเอาเลยที่พากันมารุมเบียดเบียนคนที่แทบจะไม่มีเบี้ยพอยาไส้อย่างพวกเรา"

        ในหนังสือ ความใฝ่ฝันแสนงาม ของจิตร ได้บอกเล่าถึงครอบครัวตนซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีศรัทธา ในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าเฉกเช่นคนธรรมดาสามัญทั่วไป แต่สิ่งที่รับกลับเป็นความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส ซึ่งประสบการณชีวิตดังกล่าวได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจผลักดันให้จิตรได้เขียนบทความวิจารณ์พุทธศาสนา ในนามของ ผีตองเหลือง ดังเนื้อความที่ว่า

        "อีกข้อหนึ่งที่ชีวิตระยะนี้สอนให้ก็คือเรื่องทำบุญ แม่ทำบุญมาแต่เล็ก ไปวัด ตักบาตร รับกัณฑ์เทศน์มหาชาติ ฯลฯแต่ในระยะที่ยากจนและจะหาเงินส่งลูกนี้ สวดมนต์ภาวนาเท่าไร บุญแต่หนหลังก็ไม่ช่วยเลย มีแต่ยิ่งลำบาก ยากจน ยิ่งอด ๆอยาก ๆ จะกินแต่ละคำก็ต้องคิดหน้าคิดหลังว่าหาพอให้ลูกแล้วหรือยัง ถ้าวันนี้ยังหาไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายของลูก ก็ต้องพยายามกินแต่น้อยเข้าไว้ อะไรที่พออดได้ก็อดเอาเสียเลย แม่เห็นว่าความปรารถนาของแม่ที่จะส่งเสียลูกเป็นของดี เป็นของถูกต้องทำไมบุญไม่ช่วย ? ส่วนที่คนเลว ๆ เสเพล คดโกง ทำไมรวย ? ยิ่งกว่านั้นในระยะนั้นก็มักถูกพระมาบอกบุญเรี่ยไร แจกฎีกาทอดกฐิน สร้างกุฏิ สร้างศาลา ฯลฯ บ่อย ๆ แม่จึงเริ่มรู้สึกว่าตนเองอยู่ห้องแถว พื้นผุ จะเดินก็ต้องเลือกเหยียบ หลังคาก็รั่วพรุนแล้วทำไมพระจึงยังมาเรี่ยไรเอาเงินที่หายากแสนยากไปปลูกกุฏิอยู่สบาย ๆ ฯลฯ ความรู้สึกนี้ค่อย ๆ สั่งสมมา และตัวข้าพเจ้าเองก็ได้ศึกษาเรื่องของพุทธศาสนาจากหนังสือต่าง ๆ มากขึ้น ๆ กว้างขวางขึ้น ได้นอนคุยกันทุกคืน ปรับทุกข์กันทุกคืน ในที่สุดเราก็เลยเลิกทำบุญกันเสียที พอกันทีกับเรื่องทำบุญกับพระภิกษุ และเลิกกันเด็ดขาดมาแต่นั้น (ยกเว้นบางคราวที่เลี่ยงไม่ได้เพื่อรักษาความปรกติในสายตาคนทั่วไปไว้) สำหรับแม่นั้น ภาคภูมิใจมากในการได้ส่งเสียให้ข้าพเจ้าเรียนจนนถึงขั้นมหาวิทยาลัย(ขณะนั้นเริ่มเข้าปีที่ ๑) และเมื่อได้เข้าใจแล้วว่าประเพณีบวชของไทยนั้น มาจากพ่อแม่แต่ก่อนต้องการจะให้ลุกได้ร่ำเรียนรู้หนังสือ รู้หลักศีลธรรม ที่จะเรียนได้มีแต่ตามวัด จึงให้บวช เมื่อแม่ได้ส่งลูกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งนับว่าสูงสุดแล้วในเมืองไทย ก็เป็นอันว่าลูกได้เรียนมากยิ่งกว่าที่จะไปเรียนในวัดเสียอีก จึงได้ตกลงใจกันเด็ดขาดอีกอย่างหนึ่งว่า ข้าพเจ้าไม่ต้องบวช เพื่อให้แม่ได้เห็นชายผ้าเหลืองอย่างที่เชื่อ ๆ กัน"

        นามว่า ผีตองเหลือง ไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๒๔ แต่มีเหตุให้ต้องยับยั้ง การตีพิมพ์เผยแพร่ไว้เป็นเวลากว่า ๖ ปี จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๐ นิตยสารถนนหนังสือจึงได้นำเอาบทสัมภาษณ์ดังกล่าว มาตีพิมพ์เผยแพร่ ให้เหล่าหนอนหนังสือได้อ่านกันเป็นครั้งแรก ดังเนื้อความที่ว่า


Professor Dr.William J. Gedney

          ศาสตราจารย์ ดร.วิลเลียม เจ. เก็ดนีย์ (Professor Dr.William J. Gedney) นักอักษรศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล สาขาภาษาโบราณตะวันออก และที่ปรึกษากรมศิลปากร ฝ่ายหอสมุดวชิรญาณ อาจารย์ฝรั่งสัญชาติอเมริกันที่มาทำ การศึกษาวิจัยภาษาไทยและวรรณคดีไทยอยู่ที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ให้การอุปการะด้านที่พักอาศัยแก่จิตร  ภูมิศักดิ์ ด้วยการให้มาพำนักอาศัยอยู่ด้วยกัน ที่บ้านเช่าของตน ตั้งแต่สมัยที่จิตรเรียนอยู่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยชั้นปีต้น ๆ

        ดร.เก็ดนีย์ได้เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารโลกหนังสือ ถึงสาเหตุที่ทำให้จิตรเขียน บทความวิพากษ์วิจารณ์ พุทธศาสนาว่า

        "(จิตร) ก็นับถือ (พุทธศาสนา) มาก แต่ไม่ได้ไปวัด นับถือแบบพวกที่มีความรู้ แกชำนาญเรื่องพระปางต่าง ๆ เช่นที่ระเบียงวัดเบญจฯ แกอธิบายได้หมด ที่เขาสนใจเขียนเกี่ยวกับศาสนา ก็คงเพราะว่า ตอนที่เขามาอยู่ตอนแรก ผมก็เช่าบ้านใหญ่ (ซอยวิทยุ ๑) ต่อมาเจ้าของขายบ้าน เราก็ต้องย้าย ก็ไปเช่าบ้านที่ซอยร่วมฤดี ข้าง ๆ ทางรถไฟ ตรงข้ามมีบ้านแปลกอยู่หลังหนึ่ง ผู้ชายในบ้่านนั้นทุก ๆ วันพระ ก็เอาผ้าเหลืองมาห่มไปขอทาน จิตรก็เห็นว่าเป็นเรื่องสกปรกมาก เขาเคยเป็นลูกศิษย์วัด เขาก็เคยเจอบ้าง พระที่ไม่ดี เขาก็เอามาเขียน ก็ไม่แปลกที่จะเขียน พวกที่ใช้ศาสนาไปทางไม่ดี น่าจะเป็นสิ่งที่เขียนได้"

        ซึ่งความเรียง ผีตองเหลือง ของจิตร อาจได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากบทความ พุทธิสม์เผชิญหน้ากับคอมมิวนิสต์ที่เขียนโดย กัปตันสมุทร อันเป็นนามปากกาของสมัคร บุราวาส โดยตีพิมพ์อยู่ในนิตยสารอักษรสาส์น ฉบับที่ ๔ พ.ศ.๒๔๙๕ซึ่งเป็นความพยายามครั้งแรกของ นักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้าของไทย ที่ต้องการเปรียบเทียบพระพุทธศาสนากับลัทธิมาร์กซ์-

        เลนิน ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์เปรียบเทียบแนวปรัชญา เพื่อแสดงให้เห็นถึงจุดร่วมและจุดต่างของทั้งสองสำนักนี้ โดยในช่วงนั้นจิตรได้ศึกษาพุทธปรัชญาจากหนังสือหลายเล่มด้วยกัน อาทิ

       ผีตองเหลือง เป็นบทความวิพากษ์วิจารณ์พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาบางรูปที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่สำรวมและกระทำกิจไปในทางที่เสื่อมเสีย ซึ่งขัดต่อ พระธรรมวินัย ที่ สิทธารถ หรือ เจ้าชายสิทธัตถะ พระสมณโคดม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงบัญญัติไว้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว นักบวชนอกรีตเหล่านี้เป็นเพียง คนลวงโลก ที่นำเอาผ้าเหลืองมานุ่งห่มร่างกาย แล้วแอบอ้างว่าเป็น พระภิกษุ เพื่อหลอกลวงเอาเงินทำบุญต่อผู้ที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างงมงายไร้สติคนลวงโลก เหล่านี้ จึงเป็นเพียง ภิกขุเก๊ หรือ โจรผ้าเหลือง ซึ่ง "มิได้มีสมบัติแห่งภิกขุในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงเลย"แม้แต่น้อย

          ส่วน พุทธธรรม หรือพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน อาจถูกแปลกปลอมจนคลาดเคลื่อน ไปจากเดิมจึงเป็นเสมือนยาพิษหรือยาฝิ่นที่คอยมอมเมาประชาชน ทั้งนี้เพราะ พุทธธรรม ได้ถูกสถาบันหรือบุคคล บางกลุ่มนำมาดัดแปลงแก้ไข เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการตอบสนองความต้องการของพวกตน จนบดบังแก่นแท้ดั้งเดิมของพระพุทธศาสนา ซึ่งจะเหลือก็แต่เพียงเปลือกนอกเท่านั้น ดังพบได้จากการที่ชนชั้นปกครองนำเอาพระธรรมคำสอนมาอวดอ้างถึงความชอบธรรมในการปกครองประชาชน อย่างกดขี่ข่มเหง

         สิทธารถได้เป็นผู้ค้นพบว่า กิเลส ของมนุษย์เป็นบ่อเกิดของความทุกข์ทั้งมวลในสังคม ดังนั้น การแก้ไขปัญหาสภาพสังคมจึงต้องแก้ด้วยการตัดกิเลสออกจากจิตใจเสียก่อน นอกจากนี้ สิทธารถยังได้ชี้ให้เห็นถึงความชั่วร้ายเลวทรามของสังคมเก่าพร้อมทั้งเสนอแนวทางการปฏิบัติแบบใหม่ให้แก่ประชาชน ผู้มีศรัทธา โดยการปลูกฝังค่านิยมในระดับปัจเจกบุคคลเป็นสำคัญ

          แต่สิทธารถมิได้มองไปถึงพลังของประชาชน หรือคิดที่จะรวบรวมประชาชนเข้าด้วยกัน แล้วทำการปลุกระดมให้ลุกฮือขึ้นทำลายรากเง่าของสังคมเก่าด้วยกำลัง เพื่อให้ได้มาซึ่งผลสำเร็จเด็ดขาดอย่างสมบูรณ์ตามวิถีทางแห่ง การปฏิวัติ แล้วต่อจากนั้น ก็วางรากฐานสังคมเสียใหม่ให้เป็นไปตาม สังคมในอุดมคติ

         ดังนั้น สิทธารถจึงเป็นแต่เพียงยื่นมือเข้ามาโอบอุ้มประชาชนให้หลุดพ้นจากทุกข์แต่เพียง สภาพทางจิต โดยขัดเกลากิเลสด้วยการปฏิบัติธรรม ซึ่งสัมพันธ์กับแนวความคิดของ ลัทธิจิตนิยม (Idealism) ส่วนความเป็นอยู่ของประชาชนในสังคมแบบเก่า ซึ่งเป็น สภาพทางวัตถุ นั้น สิทธารถมิได้คิดที่จะโอบอุ้มแต่ประการใดไม่ !

        ซึ่งการแก้ไขปัญหาสภาพสังคมด้วย การปฏิรูป ตามหลัก พุทธปรัชญา ของสิทธารถนั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆได้อย่างแท้จริง จะแก้ได้ก็แต่เพียงกิเลสในระดับปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่หาได้ปลดปล่อยผู้ทุกข์ยากเหล่านี้ออกจากพันธนาการของสังคมเก่าไม่ ! การแก้ไขสภาพสังคมโดยรวมให้ได้ผลสำเร็จนั้น จะต้องใช้ การปฏิวัติ ตาม ปรัชญาวัตถุนิยมไดอะเลคติคของสำนักมาร์กซิสต์ ซึ่งได้ศึกษาลงลึกไปถึงต้นตอของความชั่วร้ายทั้งมวลที่ทำให้มนุษย์เกิดกิเลสในอีกระดับหนึ่ง โดยกล่าวว่าที่มาของกิเลสจะต้องมีตัวตน ไม่ใช่เป็นแต่เพียงความรู้สึกนึกคิดที่เกิดจาก จิต แต่เพียงอย่างเดียว ต้นตอของกิเลศก็คือ ความขัดแย้งของสภาพสังคม ซึ่งในปัจจุบันสภาพสังคมไทยตกอยู่ภายใต้ระบบการผลิตแบบทุนนิยม อันเป็นสังคมกึ่งศักดินา-กึ่งเมืองขึ้น ดังนั้น สิทธารถจึงเป็นเพียง นักปฏิรูปสังคม ไม่ใช่ นักปฏิวัติสังคม อย่างที่หลายคนเชื่อ

        ซึ่งแนวปรัชญาของทั้งสองสำนักนี้จะแตกต่างกันก็ตรงที่ วิธีปฏิบัติ คือ พุทธปรัชญาของสิทธารถจะใช้ การปฏิรูป แบบอหิงสาประนีประนอม โดยจะเกลี้ยกล่อมให้ชนชั้นปกครองมีความกรุณาปรานีต่อประชาราษฎร์ในด้านปกครอง ซึ่งแท้ที่จริงแล้วแฝงไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมกลโกง ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกตนไว้ให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ปรัชญาวัตถุนิยมไดอะเลคติคของสำนักมาร์กซิสต์จะใช้ การปฏิวัติ ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาสภาพสังคมได้อย่างเด็ดขาดและสมบูรณ์

         ในความเรียง ผีตองเหลือง นี้ จิตรได้นำเสนอทรรศนะมุมมองและทำการศึกษาเปรียบเทียบแนวคิด ของลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ที่มีต่อพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งวิเคราะห์ในแง่ประวัติความเป็นมา ของพุทธศาสนาในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แต่ก็มิได้วิเคราะห์ลงลึกไปถึงพระธรรมคำสอนอย่างแท้จริง ที่สำคัญคือจิตรยังมีขีดจำกัดทางด้านความรู้ความเข้าใจในปรัชญาของทั้งสองสำนักนี้

       ด้วยเหตุนี้ จิตรจึงตัดสินใจฟันธงลงไปว่า ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแนวคิดของ พุทธศาสนาได้ เพราะทั้งสองลัทธินี้มีเป้าหมายและวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จึงทำให้แนวปรัชญาของทั้งสองสำนักนี้ไม่สามารถเชื่อมโยงส่งเสริมกันและกันได้ แถมพระธรรมคำสอนของสิทธารถยังเป็นอุปสรรคต่อการเผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน อีกด้วยซึ่งทรรศนะความคิดเห็นดังกล่าวของจิตร แตกต่างไปจากแนวคิดของนักศึกษาลัทธิมาร์กซ์-เลนินรุ่นใหญ่ในกลุ่ม กบฏสันติภาพปี ๒๔๙๕ ที่เชื่อว่า พุทธศาสนาสามารถอยู่ร่วมและส่งเสริมซึ่งกันและกันกับลัทธิมาร์กซ์-เลนินได้

      ในคำให้การของจิตร ได้กล่าวถึงความเรียง ผีตองเหลือง ไว้แต่เพียงสั้น ๆ ว่า "...เป็นบทความเกี่ยวกับวิจารณ์พระพุทธศาสนา เรื่องข้าฯ จะใช้นามปากกาอย่างไร ข้าฯ จำไม่ได้ เขียนลงในหนังสือจุฬาลงกรณ์ ปี ๒๔๙๖ เป็นบทความเสนอแนะให้ผู้อ่านทราบว่า ศาสนาพุทธเป็นปรัชญา ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทุกคนจะเชื่ออย่างงมงายโดยไม่มีเหตุผล และกล่าวว่า พระพุทธเจ้าผู้บัญญัติศาสนาพุทธนั้น เพื่อจะปฏิรูปจิตใจและสังคมมนุษย์ให้อยู่ในความสงบสุข ไม่ให้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน"

         จิตรได้เคยประกาศยืนยันความเป็น ชาวพุทธ ของตนไว้อย่างหนักแน่นและมั่นคง โดยยืมปากตัวละครในประวัติศาสตรสนทนานาม ตำนานนครวัด ที่เขียนขึ้นเมื่อราวปี ๒๔๙๘-๒๔๙๙ ดังเนื้อความที่ว่า

         "...ฉันคือชาวพุทธ และเป็นชาวพุทธที่ยึดมั่นอยู่กับหลักธรรมอันแท้จริงของพระพุทธเจ้า !"

        นอกจากนี้ จิตรยังได้กล่าวถึง หัวใจสำคัญขั้นพื้นฐานของพุทธปรัชญา ไว้ในงานเขียนชิ้นเดียวกันนี้ว่า "การมองทุกสิ่งในแง่ที่มันเป็นอยู่จริงโดยไม่ลำเอียง ไม่ทึกทักเอาตามท่าทีที่ต้องใจของตัวเอง นี้คือหัวใจสำคัญขั้นพื้นฐานของพุทธปรัชญา ที่เรียกว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ ยังไงคะ และพื้นฐานอันนี้เอง ที่ทำให้พุทธศาสนามีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์นั้นมิใช่อะไรอื่น คือการศึกษาสรรพสิ่งในแง่ที่มันเป็นอยู่จริงโดยตัวของมันเองเท่านั้น    ส่วนจะมองอะไร ศึกษาอะไร นั่นเป็นเรื่องปลีกย่อย พื้นฐานสำคัญของมันคือมองสรรพสิ่งตามที่มันเป็นอยู่จริงโดยตัวของมันเอง คือ ยถาภูตญาณทัสสนะ ที่พระพุทธเจ้าทรงยืนยันนักหนา แต่เรามักละทิ้งคำยืนยันข้อนี้ และมองข้ามกันไปเสียหมด"

           โดยจิตรได้อธิบายความหมายของ ยถาภูตญาณทัสสนะ ไว้ว่า คือ "ทรรศนะในการมองสรรพสิ่งตามที่มันเป็นอยู่จริงโดยตัวของมันเอง"

          นอกจากนี้ จิตรยังได้เน้นย้ำถึงศรัทธาอันมั่นคงของตนที่มีต่อพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งแสดงทรรศนะความคิดเห็นที่มีต่อศาสนาพุทธไว้ในคำให้การฯ ว่า

         "ศาสนาที่ข้าฯ นับถือก็มีศาสนาพุทธเพียงศาสนาเดียว แต่ข้าฯ ใช้เวลาว่างศึกษาปรัชญาของศาสนาพราหมณ์ด้วยเพื่อนำเทียบเคียงกับศาสนาพุทธ และสนใจค้นคว้าเกี่ยวกับพุทธศาสนา ข้าฯ มีความเห็นว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาดี แต่ความเข้าใจของข้าฯ คำว่า ศาสนา ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า 'รีลิยัน' ซึ่งแปลว่า ความรักใคร่นับถือในพระผู้เป็นเจ้า และความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกของพวกฝรั่งชาวตะวันตก แต่คำว่าศาสนาในภาษาไทยแปลตามตัวว่า คำสั่งสอน หรือ คำสั่ง ดังนั้น ความเข้าใจของชาวตะวันตกจึงเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งมีความเชื่อพุทธศาสนาอย่างชาวตะวันตก คือเชื่อในอิทธิฤทธิ์และความลึกลับอันพิสูจน์ไม่ได้ อีกพวกหนึ่งมีความเชื่อว่า พุทธศาสนาคือหลักปรัชญาที่สอนให้มนุษย์รู้จักปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนและแก่สังคม โดยสอดคล้องกัน ไม่ใช่เชื่ออย่างงมงาย ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีเหตุและผล ใช้หลักอธิบายโดยหลักวิทยาศาสตร์ คือใช้ความจริงเข้าอ้างและสามารถพิสูจน์ได้ ข้าฯ เองมีความเชื่ออย่างพวกหลัง คือคิดว่า พุทธศาสนาเป็นหลักปรัชญาที่ดี ข้าฯจึงนับถือพุทธศาสนา"

         จิตรได้กล่าวถึงความเรียง ผีตองเหลือง ไว้ในคำแถลงการณ์ปิดท้ายของจำเลย ก่อนที่ศาลทหารกรุงเทพฯ จะพิพากษาคดีของตน ไว้เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๐๗ ซึ่งกล่าวพาดพิงไปถึงกรณีการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ปี ๒๔๙๖อันเป็นการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาว่า

         "จำเลย จึงขอศาลได้โปรดพิจารณาเหตุผล ข้อกฏหมาย และข้อเท็จจริง แล้วพิพากษาชี้ขาดให้ความเป็นธรรมแก่จำเลย ซึ่งได้ถูกกักขังทรมานมาเป็นเวลา ๖ ปีเศษแล้ว ให้ได้รับอิสรภาพอันมีเกียรติ ขอศาลได้ชี้ว่า การกระทำโดยสุจริตเพื่อสร้างสรรค์ เพื่อความดีงาม เพื่อความบริสุทธิ์ผุดผ่องของพระศาสนา อันเป็นสิ่งที่แม้พระศาสนา พระภิกษุ และชาวพุทธที่แท้ทั้งหลายย่อมกระทำกันนี้ เป็นความผิดและต้องรับโทษหรือ และจำเลยเองในฐานะที่เป็นสาราณียกร ซึ่งเชื่อโดยสุจริตว่า บทความนี้เป็นบทความเพื่อพิทักษ์พุทธศาสนา และกำจัดสิ่งโสโคกสิ่งปฏิกูลทั้งหลายบรรดาที่เข้ามาแอบแฝงอาศัยศาสนาหากิน ซึ่งพระศาสดาพระพุทธสาวกที่แท้ทั้งหลายได้ต่อสู้เพื่อทำลายให้หมดไปนี้ พึงต้องได้รับโทษ หรือคำพิพากษาของศาลย่อมจักเป็นประวัติศาสตร์อยู่ตลอดไปชั่วกาลนาน"

           แม้การพิจารณาคัดเลือกบทความที่จะนำลงตีพิมพ์ในหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ จะสร้างความยุ่งยากลำบากใจให้แก่จิตรสักเพียงใด แต่เขาก็สามารถทำงานนี้สำเร็จลุล่วงได้ทันตามเวลาที่กำหนดไว้ จิตรได้ไปว่าจ้างตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ซึ่งอยู่หน้าสนามกีฬาปทุมวัน ตามคำแนะนำของ ม.ร.ว.นิตยโสภาคย์ เกษมสันต์ โดยจิตรได้ตกลงกับนายจรัสวันทนทวี ผู้จัดการโรงพิมพ์ ว่าจะต้องพิมพ์ให้เสร็จทันตามกำหนดส่งมอบในวันที่ ๒๓ ตุลาคม อันเป็นวันแจกจ่ายหนังสือฉบับนี้เมื่อตกลงในรายละเอียดจนเป็นที่พึงพอใจแล้ว จิตรก็ได้มอบต้นฉบับบางส่วนให้กับทางโรงพิมพ์ ซึ่งส่วนที่เหลือก็จะทยอยส่งให้จนครบในคราวต่อไป

          ก่อนหน้าวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๖ เพียงหนึ่งอาทิตย์ จิตรได้มาตรวจดูการพิมพ์หนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯที่โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชตามปรกติ ซึ่งขณะนั้นเย็บเล่มหมดแล้ว เหลือก็แต่เพียงเข้าปกเท่านั้น การมาที่โรงพิมพ์ในครั้งนี้ทำให้จิตรทราบว่า ทางสภามหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งให้อายัดหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ นี้เสียแล้ว นายจรัส วันทนทวีผู้จัดการโรงพิมพ์ ได้บอกกับจิตรว่า "บทความต่าง ๆ ที่ส่งมาลงพิมพ์ในหนังสือที่สั่งพิมพ์ มีข้อความไม่พึงประสงค์ในทัศนะของสภามหาวิทยาลัย ให้ข้าฯ ไปสอบถามและติดต่อกับสภามหาวิทยาลัยเอง" (คำให้การฯ)

       จิตรได้กล่าวถึงการที่สภามหาวิทยาลัยมีคำสั่งให้เซ็นเซ่อร์หนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ  ไว้ในคำให้การฯ ว่า  "เท่าที่ข้าฯ ทราบในตอนหลังว่า ทางโรงพิมพ์ จะเป็นผู้จัดการหรือเจ้าของไม่ทราบ ได้ส่งเรื่องต่าง ๆ ประมาณ ๒ หรือ๓ เรื่องไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลส่งเรื่องต่อไปให้ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งและเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์"  แต่คำให้การของจิตรได้ให้ข้อมูล ที่ขัดแย้งกันกับหลักฐานร่วมสมัย ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.สลับ ลดาวัลย์เลขาธิการจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ที่ได้ให้ไว้กับหนังสือพิมพ์กิตติศัพท์ว่า

         "ได้ทราบเรื่องนี้จากอาจารย์ผู้หนึ่ง (ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ณ อยุธยา) ซึ่งบังเอิญไปพบกำลังตรวจปรู๊ฟกันอยู่ที่โรงพิมพ์ อาจารย์คนนั้นจึงเอะอะวิ่งโร่นำเสนอขึ้นมา เมื่อเขาเสนอขึ้นมา ผมก็ต้องจัดการตรวจตราดูและสั่งห้ามทันที ตำรวจไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างที่ลือกันหรอกครับ..... ท่านอธิการบดีก็รับรู้ และได้เรียกนายจิตร ภูมิศักดิ์ สาราณียกรมาสอบถามซึ่งเขาก็ยืนยันว่าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจจริง ๆ" (ฉบับวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๙๖)

        ซึ่งคำให้สัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.สลับ ได้ให้ข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับคำให้การที่เสนอต่อศาลทหารกรุงเทพฯ ของนายน้อย ฝากมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ในฐานะพยานโจทก์ในคดีของจิตร ซึ่งรับหน้าที่ตรวจปรู๊ฟหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ดังความที่ว่า  "ข้าฯ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตรวจดูหนังสือ ซึ่งพิมพ์ไปแล้วประมาณ ๑๗-๑๘ ยก ว่ามีเรื่องใดบ้างที่พิมพ์แล้วยังไม่ได้เข้าเล่มนั้น มีเรื่องซึ่งไม่สมควรจะพิมพ์ออกเผยแพร่ ข้าฯ ได้นำมาอ่านแล้ว ปรากฏพบประมาณ ๗-๘ เรื่อง ที่เห็นว่าไม่ควรพิมพ์ออกเผยแพร่ ก็ได้นำเสนอ ม.ร.ว.สุมนชาติ ซึ่งปรากฏต่อมาว่า บทความ ๗-๘ เรื่องนั้นได้ถูกตัดออก ไม่มีรวมอยู่ในการเย็บเป็นเล่มของหนังสือ ๒๓ ตุลาฯ ฉบับนี้ บทความที่ถูกตัดออกมีเป็นเรื่อง การปฏิวัติในฝรั่งเศส และ บทกลอนเรื่องแม่  เป็นต้น"

        ส่วนคำให้การของนายจรัส วันทนทวี ผู้จัดการโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ที่เสนอต่อศาลทหารกรุงเทพฯ เพื่อตอบโจทก์ในคดีของจิตร กรณีคำสั่งระงับการตีพิมพ์หนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ได้กล่าวไว้ต้องกันกับคำให้การของนายน้อยว่า  "ต่อมา ม.ร.ว.สุมนชาติได้มาขอให้ระงับการพิมพ์หนังสือ คราวนี้ต่อไปก่อน เพื่อจะได้นำเรื่องที่ไม่เหมาะสมไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ตำรวจ"

        ใน บันทึกการสอบสวน กรณีการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ของพันตำรวจตรีวิศิษฐ์ แสงชัย สว.ผ.๒กก.๒ ส. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการสั่งอายัดหนังสือเจ้าปัญหาฉบับนี้ว่า "โดยเฉพาะข้าฯ สืบสวนได้ความว่า การที่ นายจิตร ภูมิศักดิ์ รับเป็นผู้ทำหนังสือนี้ ทางมหาวิทยาลัยให้เงินจัดทำเพียงเล็กน้อย แต่ นายจิตร ภูมิศักดิ์ ก็รับอาสาหาเงินและกระดาษมาเอง ทั้งนี้ เพื่อผลในการโฆษณาเผยแพร่แทรกซึมลัทธิคอมมิวนิสต์... ข้าฯ ได้ปรึกษากับอาจารย์สุมนชาติ เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้หนังสือที่นายจิตรจัดพิมพ์ออกเผยแพร่ได้ พร้อมกันนี้ข้าฯ ก็ได้รายงานให้พันตำรวจโทอรรณพ พุกประยูร ทราบด้วย แล้วข้าฯ พร้อมด้วยอาจารย์สุมนชาติ ได้ไปอายัดหนังสือทั้งหมดที่โรงพิมพ์ไทยวัฒนาฯ ทราบว่า ภายหลังทางมหาวิทยาลัยจุฬาฯ ได้ไปขนหนังสือนี้ไปเก็บไว้ที่มหาวิทยาลัย"

          ปัจจุบัน พันเอก (พิเศษ) ม.ร.ว.นิตยโสภาคย์ เกษมสันต์ ได้เฉลยถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับต้นเหตุของการสั่งเซ็นเซ่อร์ หนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ไว้สอดคล้องกับคำให้การของจิตร ดังคำให้สัมภาษณ์ที่ว่า  "ทางโรงพิมพ์เอาต้นฉบับไปให้สันติบาล แต่ตามคำให้การที่ให้ต่อสันติบาล จะไม่บอกอย่างนั้น คือเขา (จิตร ภูมิศักดิ์)จะป้องกันโรงพิมพ์ไว้ คือเอาความไปบอก ก็ให้เป็นว่าอาจารย์สุมนชาติไปพบต้นฉบับนี้เอง" (เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23กันยายน 2545)

          ต่อมา จิตรได้พบกับ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ณ อยุธยา อาจารย์ในแผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ของคณะอักษรศาสตร์ ที่โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชโดยบังเอิญ จึงทำให้ทราบถึงสาเหตุที่ทางสภามหาวิทยาลัย มีคำสั่งให้อายัดหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ว่าเป็นเพราะบทความ ผีตองเหลือง กับ กลอนเรื่องแม่ นั้น "มีความโน้มเอียงไปในทางคอมมิวนิสต์" (คำให้การฯ)

          ก่อนหน้าที่ทางสภามหาวิทยาลัยจะเรียกตัวจิตรไปทำการสอบสวนเพียง ๒ วัน ม.ร.ว.สลับ และพระเวชยันตรังสฤษฎ์(พลอากาศโทมุนี มหาสันทนะ) อธิการบดีจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เรียกจิตรไปพบในห้องส่วนตัวของ ม.ร.ว.สลับ ซึ่งท่านทั้งสองได้พยายามซักถามถึง เรื่องการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ พร้อมกับกล่าวว่า บทความบางเรื่องมีเนื้อหาที่ขัดต่อนโยบายของ รัฐบาลท่านผู้นำ ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะนำมาลงตีพิมพ์ในหนังสือของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย จึงขอให้จิตรซึ่งเป็นสาราณียกรของมหาวิทยาลัย ช่วยตัดบทความที่มีปัญหาเหล่านี้ออกไปเสียให้หมด

          เพียงสามสี่วันก่อนวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๖ ทางสภามหาวิทยาลัยได้เรียกประชุมคณะกรรมการ เพื่อทำการสอบสวนหาความจริงในกรณีการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ของจิตร ในฐานะบรรณาธิการผู้รับผิดชอบ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิราว ๑๐ ท่าน อาทิ ม.ร.ว.สลับ ประธานในที่ประชุม พระเวชยันตรังสฤษฎ์ ม.ร.ว.สุมนชาติ และ นางนพคุณ ทองใหญ่ ผู้จดบันทึกการประชุม

       คณะกรรมการได้ซักถามจิตรถึงเรื่องที่มาของบทความต่าง ๆ ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ว่างานเขียนเหล่านี้เป็นของใครบ้าง ? แล้วจิตรใช้หลักเกณฑ์อะไรในการพิจารณาคัดเลือกบทความที่นำมาลงตีพิมพ์ ? นอกจากนี้ทางคณะกรรมการยังได้นำเอาข้อความบางตอนของงานเขียนที่มีปัญหามาทำการศึกษาวิเคราะห์ ในที่ประชุมนี้ด้วย ส่วนงานเขียนที่ถูกนำมาศึกษาวิเคราะห์ในการสอบสวนครั้งนี้ ก็คือ กลอนเรื่องแม่ และ ผีตองเหลือง ทางคณะกรรมการได้พยายามซักไซ้ไล่เลียงว่า ใครเป็นผู้เขียนบทความทั้ง ๒ ชิ้นนี้ ? แต่จิตรก็ทำปากแข็ง ไม่ยอมบอกว่าใครเป็นผู้เขียนบทความดังกล่าว ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ตัวเขานั่นแหละที่เป็นผู้เขียนบทความเจ้าปัญหาทั้ง ๒ เรื่องนี้ เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นลงคณะกรรมการต่างก็ลงความเห็นว่า จิตรมีความ "เลื่อมใสในระบอบลัทธิคอมมิวนิสต์" จึงได้มีมติให้ส่งตัวไปให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล ทำการสอบสวนหาความจริงต่อไป (คำให้การฯ)

       ในวันรุ่งขึ้น สภามหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง เพื่อทำการตรวจสอบและพิจารณาบทความต่าง ๆที่ปรากฏอยู่ในหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ทั้งที่ตีพิมพ์เสร็จแล้วและที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ คณะกรรมการชุดนี้ประกอบไปด้วย ม.ร.ว.สุมนชาติ หัวหน้าคณะกรรมการ นางจินตนา ยศสุนทร นางฉลวย กาญจนาคม และนางสาวเบญจวรรณ ธันวารชร

        โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีอำนาจเต็มในการเรียกต้นฉบับของบทความต่าง ๆ คืนจากโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช เพื่อนำกลับมาทำการตรวจสอบได้ตามที่ต้องการ ทั้งนี้ คณะกรรมการยังได้มีคำสั่งห้ามไม่ให้จิตรมายุ่งเกี่ยว หรือมีส่วนร่วมในการพิจารณาตรวจสอบบทความในครั้งนี้ และยังห้ามมิให้มีการติดต่อใด ๆ กับทางโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชอีกต่อไป นอกจากนี้ยังตัดสิทธิต่าง ๆ ในการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ อีกด้วย

         หลังจากการพิจารณาตรวจสอบบทความในหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ เสร็จสิ้นลงแล้ว ทางคณะกรรมการได้ส่งต้นฉบับบางส่วนกลับคืนมายังจิตร แต่เนื้อหาส่วนใหญ่ของบทความที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ ได้ถูกคณะกรรมการทำการตัดทอนออกหลายแห่ง แม้แต่บทความที่ตีพิมพ์เสร็จแล้ว ก็ยังถูกเซ็นเซ่อร์ข้อความบางตอนออกไปอย่างหน้าตาเฉย ยังผลให้จิตรเกิดความไม่พอใจกับการเซ็นเซ่อร์ในครั้งนี้ ที่ทางคณะกรรมการไม่ยอมเปิดโอกาสให้ตนได้ทำการชี้แจงเหตุผลของการพิจารณาคัดเลือกงานเขียนที่มีปัญหาเหล่านี้ ซึ่งการเซ็นเซ่อร์ในครั้งนี้ได้ส่งผลให้หนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ มีเนื้อหาไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรจะเป็น ไม่สมดังที่จิตรได้เคยตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่แรกเข้ามารับตำแหน่งเป็น บรรณาธิการ ในการจัดทำหนังสือฉบับนี้

        ในวันเดียวกันนั้น จิตรได้ขอเข้าพบ ม.ร.ว.สุมนชาติ เพื่อขอคำปรึกษาในเรื่องการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ๒๓ ตุลาฯ ซึ่งขณะนี้กำลังประสบกับปัญหา ไม่สามารถจัดพิมพ์ให้เสร็จทันตามกำหนดเวลาได้ ม.ร.ว.สุมนชาติได้ให้คำแนะนำกับจิตรว่า "เมื่อทำงานไม่สำเร็จ ก็ควรลาออกตามวิถีทางประชาธิปไตย" (คำให้การฯ)

         วันปิยมหาราช ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๖ ซึ่งถึงกำหนดแจกจ่ายหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ให้แก่บรรดานิสิตของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย แต่ในปีนี้ทางสโมสรนิสิตจุฬาฯ ได้มีคำสั่งให้ระงับการแจกจ่าย หนังสือฉบับนี้อย่างกระทันหัน

          เมื่อไม่มีการแจกจ่ายหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ เหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติกันมาจนเป็นประเพณี ประจำของทุกปี นิสิตส่วนใหญ่จึงเกิดความสงสัยใคร่รู้ในความขัดข้องที่เกิดขึ้นดังกล่าว อีกทั้งยังมีเสียงร่ำลือหนาหูว่า ทางการตำรวจและสภามหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งระงับการแจกจ่ายหนังสือฉบับนี้เสียแล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่า "มีบทความเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์"

          หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๔๙๖ ได้รายงานถึงสาเหตุที่มีการสั่งระงับแจกจ่ายหนังสือ มหาวิทยาลัยฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ของสภามหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ว่า

         "ทางการตำรวจได้สั่งระงับการออกนิตยสารเล่มนี้ เนื่องด้วยทางการตำรวจเห็นว่า บทความบางเรื่องโน้มน้าวไปในทางลัทธิซ้ายจัด นิตยสารของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยเล่มนี้ได้พิมพ์เสร็จแล้ว บรรจุหน้ากระดาษถึง ๔๐ ยก ได้ถูกทางการตำรวจเซ็นเซ่อร์เสีย ๒๐ กว่ายก และไม่ปรากฏพิมพ์ภาพพระบรมรูป ไว้ในเล่มเลย ทางการตำรวจได้สั่งให้ทางการมหาวิทยาลัยจัดการกับผู้จัดทำนิตยสาร เล่มนี้ด้วยแล้ว"

        ดร.เก็ดนีย์ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการสั่งเซ็นเซ่อร์หนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ของสภามหาวิทยาลัย กับทางหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยว่า "เมื่อเกิดการเซ็นเซ่อร์หนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยขึ้น ผมก็ได้อ่านหนังสือนี้ตลอดเล่มเป็นครั้งแรก ยกเว้น ๒-๓ เรื่องซึ่งเข้าใจว่า ทางการตำรวจประท้วงมา และจิตรได้ตัดออกไปแล้วโดยดี เรื่องที่เหลืออยู่ผมก็อ่านดู ตามความเห็นของผม ก็ไม่เห็นว่า มันแดงยังไง แต่ต่อมาปรากฏว่า คณะกรรมการเซ็นเซ่อร์ของมหาวิทยาลัยตัดเรื่องออกอีกประมาณ ๒๐ เรื่อง รวมทั้งสิ้นเป็น ๒๔ เรื่องด้วยกัน เรื่องที่ให้คงไว้เพียง ๑๔ เรื่องเท่านั้น ผมก็ชักประหลาดใจ" (ฉบับวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๙๖)

          วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๔๙๖ ได้มีใบปลิวแสดงความไม่เห็นด้วย กับคำสั่งระงับการแจกจ่ายและการเซ็นเซ่อร์ ข้อความในหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ของนิสิตหัวก้าวหน้าบางกลุ่มในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย โดยสอดไว้ตามหนังสือของสโมสรนิสิตจุฬาฯ และคณะต่าง ๆ มีข้อความเรียกร้องให้เหล่านิสิต ได้รับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ทางความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ โดยทางสภามหาวิทยาลัยจะต้องเคารพ ในการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวนี้ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีส่วนช่วยทำให้ นิสิตมีมันสมองที่ปราดเปรื่อง และจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติไทยต่อไป แต่ที่ผ่านมา นิสิตกลับถูกริดรอนสิทธิและเสรีภาพจากอำนาจ เบื้องบนมาตลอด ดังพบได้จากกรณีการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ นี้ ทั้ง ๆ ที่จุดประสงค์ดั้งเดิม ในการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ก็เพื่อต้องการให้นิสิตได้แสดงออกทางความคิดเห็นอย่างเสรี โดยผ่านทางบทความของหนังสือฉบับนี้ (นสพ.สารเสรี ฉบับวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๙๖)

         หลังจากที่จิตรได้อ่านใบปลิวที่เพื่อนนิสิตผู้หวังดีนำมาให้แล้ว ก็ได้นำใบปลิวดังกล่าวไปให้ ม.ร.ว.สุมนชาติ อ่าน เพื่อให้รับทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ม.ร.ว.สุมนชาติจึงได้บอกกับจิตรว่า ตนจะส่งใบปลิวแผ่นดังกล่าวไปให้ทาง ตำรวจสันติบาลทำการตรวจสอบเพื่อหาความจริงต่อไป

          หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้มีใบปลิวปรากฏขึ้นอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นของนิสิตฝ่ายปฏิกิริยาขวาจัด โดยปิดไว้ตามต้นจามจุรีในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มีข้อความในทำนอง "ต่อต้านคอมมิวนิสต์" (คำให้การฯ)

         ในวันเดียวกัน จิตรได้ไปยื่นใบลาออกจากตำแหน่งสาราณียกรของมหาวิทยาลัยต่อนายธวัชไชย ไทยง นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ตามคำแนะนำของ ม.ร.ว.สุมนชาติ หลังจากที่จิตรได้รับการอนุมัติให้ลาออกแล้ว นายธวัชไชยก็ได้เข้ารับตำแหน่งสาราณียกรของมหาวิทยาลัยแทนไปโดยปริยาย

         นายจรัส วันทนทวี ผู้จัดการโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ได้กล่าวถึงการทำหน้าที่ในตำแหน่งสาราณียกรคนใหม ่ของนายธวัชไชยไว้ในคำให้การที่เสนอต่อศาลทหารกรุงเทพฯ เพื่อตอบโจทก์ในคดีของจิตร กรณีหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ว่า

        "ต่อมา นายธวัชไชย ไทยง ได้มาดำเนินการพิมพ์หนังสือนี้ต่อไป โดยรับช่วงงานต่อจากจำเลย (นายจิตร ภูมิศักดิ์) ไป... นายธวัชไชยมารับเรื่องที่ยังไม่ได้พิมพ์และที่พิมพ์แล้วกลับไปหมด เมื่อนำไปแก้ไขให้มีเฉพาะเรื่องที่ควรพิมพ์ได้แล้ว จึงนำมาพิมพ์กันใหม่อีก"

          แม้จิตรจะสร้างความเสื่อมเสียให้แก่สโมสรนิสิตจุฬาฯ และจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยในกรณีจัดทำหนังสือ มหาวิทยาลัยฉบับ ๒๓ ตุลาฯ สักเพียงใดก็ตาม แต่ก็ยังได้รับเกียรติให้มีชื่ออยู่ในคณะกรรมการสโมสรนิสิตจุฬาฯ ตำแหน่ง สาราณียกรดังปรากฏอยู่ในหน้าข่าวของคณะอักษรศาสตร์ ที่พิมพ์อยู่ท้ายเล่มหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ซึ่งจัดทำขึ้นใหม่ภายหลังเหตุการณ์ โยนบก

         ส่วนชะตากรรมของหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ที่มีจิตรเป็นผู้จัดทำนั้น ใน บันทึกการสอบสวน ของพันตำรวจตรีวิศิษฐ์ แสงชัย ได้ระบุไว้ว่า  "ข้าฯ พร้อมด้วยอาจารย์สุมนชาติ ได้ไปอายัดหนังสือทั้งหมดที่โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ทราบว่า ทางมหาวิทยาลัยจุฬาฯ ได้ไปขนหนังสือนี้ไปเก็บไว้ที่มหาวิทยาลัย"

           พันตำรวจเอกชัช ชวางกูร ผู้เชี่ยวชาญลัทธิคอมมิวนิสต์ของกรมตำรวจ ได้กล่าวถึงชะตากรรมของหนังสือเจ้าปัญหาฉบับนี้ไว้ในคำให้การต่อศาลทหารกรุงเทพฯ เพื่อตอบโจทก์ กรณีหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ในคดีของจิตรว่า  "ตัวบทความที่ข้าฯ ได้พิจารณาขณะนั้นเป็นหนังสือพิมพ์ แท่นตัวบทความพิมพ์แท่นนี้ จุฬาฯ ส่งมาให้พิจารณา เมื่อพิจารณาแล้วส่งคืนจุฬาฯ ไป แต่ได้สำเนาไว้ด้วยพิมพ์ดีด" ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การต่อศาลทหารกรุงเทพฯ ของ ม.ร.ว.สลับ เพื่อตอบโจทก์ในคดีของจิตร กรณีหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ที่กล่าวว่า "ข้าฯ จึงได้ให้ ม.ร.ว.สุมนชาติ นำบทความดังกล่าวมาให้ดู ข้าฯ ดูแล้วเห็นว่า เป็นบทความที่ไม่ควรนำมาพิมพ์ออกเผยแพร่ในหนังสือมหาวิทยาลัยจริง จึงได้นำหนังสือที่พิมพ์เสร็จแล้วมายังสำนักงานเลขาธิการมหาวิทยาลัย"

           นายวิศิษฐ์ บุณยเกสานนท์ นิสิตคณะบัญชี ผู้มีตำแหน่งเป็นเหรัญญิกของสโมสรนิสิตจุฬาฯ ได้ให้การต่อศาลทหารกรุงเทพฯ เพื่อตอบโจทก์ในคดีของจิตร กรณีหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ได้กล่าวถึงวาระสุดท้ายของหนังสือเจ้าปัญหาฉบับนี้ว่า "...ข้าฯ ทราบว่า ต่อมาหนังสือมหาวิทยาลัยไม่ได้ออกในวันที่ ๒๓ ตุลาคม อันเป็นกำหนดที่จะต้องออก เพราะมีบทความรุนแรง แต่ได้นำหนังสือที่พิมพ์เสร็จมาเผาจนหมดสิ้น"

          จากปากคำของผู้ที่เกี่ยวข้องในกรณีหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า ทางจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยและเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลได้สั่งอายัดหนังสือที่พิมพ์เสร็จแล้วมาจาก โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช แล้วนำมาเก็บไว้ที่สำนักงานเลขาธิการจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ในที่สุดหนังสือฉบับนี้ก็ถูกเผาทำลายจนสิ้นทราก แต่ปัจจุบันพบว่ายังมีบางฉบับที่เหลือรอดมาจากการกวาดล้างในครั้งนั้น

          เมื่อเวลา ๑๖.๐๐ น. ของวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๔๙๖ ม.ร.ว.สลับได้ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่สั่งเซ็นเซ่อร์บทความ ในหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ กับหนังสือพิมพ์กิตติศัพท์ ณ ตึกเลขาธิการ ว่า "มีเรื่องที่จะสร้างความเสื่อมเสียอย่างใหญ่หลวงรวมอยู่ในหนังสือพิมพ์เล่มนั้นถึง ๔-๕ เรื่อง ว่า เอียงทางซ้าย...เนื้อหาในหนังสือเล่มนั้นมีบทความโน้มน้าวไปในทางซ้าย ซึ่งไม่ควรแก่ประเทศไทยอย่างยิ่ง มีอยู่ด้วยกัน ๔-๕ เรื่อง ที่ไม่ควรจะนำลงในหนังสือซึ่งมีเกียรติอย่างนั้น... มีอย่างหรือคุณ เอาเรื่องพุทธศาสนามาวิจารณ์ เอาเรื่องเศรษฐกิจของชาติมาพูดเศรษฐกิจของเราแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่คอมมิวนิสต์.... ผมบอกได้เลา ๆ ว่า ไม่มีพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ อย่างเคย ทำไมไม่มีก็ไม่รู้เหมือนกัน คนดีไซน์แบบเขาคงมีเหตุผลของเขา เช่นหน้าปกก็มีลายเซ็น สยามินทร์ แล้วก็รูปจักรวาลกำลังหมุนคว้างและมีคำพูดอะไรเขียนไว้ ๒-๓ คำ ผมลืมเสียแล้ว อย่าดูเลยไม่จำเป็น" (ฉบับวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๙๖)

            ส่วนหนังสือพิมพ์สารเสรีก็ได้ลงคำให้สัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.สลับ ถึงกรณีสั่งเซ็นเซ่อร์บทความในหนังสือมหาวิทยาลัยฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ว่า "เป็นเรื่องที่มีข้อความเกี่ยวกับการเมืองและพุทธศาสนา โดยพูดถึงการนำพุทธปรัชญามาทำลายล้าง พวกเอาศาสนามาเป็นเครื่องมือ จึงได้สั่งเซ็นเซ่อร์ก่อนวันที่ ๒๓ ตุลาฯ ประมาณ ๒ วัน" ซึ่งเป็น "เพราะอาจารย์ท่านเล็งเห็นว่าเรื่องและบทความเหล่านั้น ไม่สมควรที่นิสิตจะแสดงออก" (ฉบับวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๙๖)

          แต่แล้วเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ นิสิตหัวก้าวหน้าแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ก็เกิดขึ้นอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด คือเมื่อเวลา ๑๒.๑๕ น. ของวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๙๖ ม.ร.ว.สลับ เลขาธิการจุฬาฯ ได้เรียกประชุมนิสิตทั้งหมดที่มีอยู่ราว ๓,๐๐๐คน ให้มาพร้อมกันที่หอประชุมใหญ่

         เมื่อเหล่านิสิตมาเข้าประชุมพร้อมเพียงกันแล้ว ม.ร.ว.สลับก็เดินขึ้นไปบนเวทีหอประชุม เพื่อแถลงถึงสาเหตุที่ทางสภามหาวิทยาลัยได้สั่งระงับการแจกจ่ายหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ซึ่งในคำให้การฯ ได้กล่าวถึงคำชี้แจงและคำกล่าวโทษของ ม.ร.ว.สลับ ไว้ว่า  "สาเหตุที่ยับยั้งไม่ให้หนังสือเล่มนี้ออก เป็นเพราะ มีข้อความบางเรื่องเป็นเรื่องที่สภามหาวิทยาลัยไม่พึงประสงค์ เป็นต้นว่าเรื่องที่มีนิสิตผู้แปลมาจากคำวิพากษ์วิจารณ์เมืองไทยของนักเขียนอเมริกัน ซึ่งเป็นการขัดต่อนโยบายของรัฐบาล และเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนา ซึ่ง ม.ร.ว.สลับกล่าวหาว่าเป็นการดูหมิ่นพระภิกษุสงฆ์ ในบทความเรื่องนี้ ม.ร.ว.สลับกล่าวว่าผู้เขียนประณามภิกษุสงฆ์ทั่วไปว่าเป็นผีตองเหลือง บทความเรื่องนี้ ม.ร.ว.สลับไม่ทราบว่าใครเป็นคนเขียน แต่ความจริงแล้วข้าฯเป็นคนเขียน นอกจากเรื่องนี้ ม.ร.ว.สลับได้พูดถึงเรื่องก่อนอันมีบทความเกี่ยวกับแม่ ม.ร.ว.สลับกล่าวว่า ผู้เขียนประณามผู้หญิงว่า ผู้หญิงทุกคนที่เกิดมีบุตรออกมาไม่ได้ตั้งใจให้เกิด เป็นผลพลอยได้จากความสนุกสนานทางกามารมณ์และอาจจะมีเรื่องอื่นอีก ข้าฯ จำไม่ได้ ที่นึกได้เดี๋ยวนี้คือเรื่องการทำปกหนังสือ ซึ่ง ม.ร.ว.สลับกล่าวว่าหนังสือที่จะพิมพ์นี้ ได้ทำปกเป็นสีดำมีวงกลมสีขาว ซึ่ง ม.ร.ว.สลับตีความหมายว่าเป็นการแสดงให้เห็นว่าจากยุคมืดไปสู่ยุคแห่งความสว่าง และได้พูดถึงเรื่องหนังสือเล่มนี้ไม่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ ๕ ซึ่งควรจะมี เท่าที่ข้าฯ จำได้ ม.ร.ว.สลับได้พูดเพียงแค่นี้... ม.ร.ว.สลับก็ได้กล่าวไว้เหมือนกันว่า ข้าฯ มีจิตใจโน้มเอียงนิยม ลัทธิคอมมิวนิสต์"

        ขณะที่ ม.ร.ว.สลับกำลังชี้แจงอยู่นั้น จิตรได้พยายามยกมือ พร้อมกับลุกขึ้นคัดค้านคำแถลงดังกล่าว และร้องขอให้ตนได้ชี้แจงเจตนารมณ์ในการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ แต่ ม.ร.ว.สลับกลับตอบปฏิเสธและบอกให้จิตรนั่งลงก่อนเมื่อตนชี้แจงเสร็จแล้ว จึงจะเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น ซึ่งจิตรก็ยอมปฏิบัติตามด้วยความจำใจ เนื่องจากถูกนายสีหเดชบุนนาค ผู้แทนนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ และนายศักดิ์ สุทธิพิศาล นิสิตวิศวะ เดินเข้ามากดไหล่ให้นั่งลง พร้อมกับกล่าวว่า"ประเดี๋ยวจะให้พูด"

           หลังจาก ม.ร.ว.สลับแถลงเสร็จแล้ว ท่านก็รีบเดินออกจากหอประชุมในทันที นายธวัชไชย นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯได้เดินขึ้นมาบนเวที พร้อมกับกล่าวย้ำถ้อยแถลงของท่านเลขาธิการจุฬาฯ แล้วกล่าวเชื้อเชิญให้นายสีหเดชขึ้นมาแสดงความคิดเห็นในกรณีดังกล่าวบนเวทีหอประชุม

         นายสิงหเดชได้อ้างว่า "ในเรื่องหนังสือของมหาวิทยาลัยนั้น นายจิตร ภูมิศักดิ์ สาราณียกรได้เคยกล่าวกับสาราณียกรประจำคณะว่า จะทำหนังสือมหาวิทยาลัยในแนวแปลกจากที่เคยทำ โดยจะทำตามแบบใหม่ให้เอียงซ้าย "...ในหนังสือเล่มนี้ปรากฏมีเรื่องเกี่ยวกับการสรรเสริญเกียรติคุณของรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นองค์ก่อกำเนิดมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์เรื่องเดียวเท่านั้น"(นสพ.สารเสรี ฉบับวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๙๖)

         ในคำให้การฯ ได้กล่าวถึงคำแถลงของนายสีหเดชไว้แต่เพียงสั้น ๆ ว่า "กล่าวสนับสนุนคำพูดของ ม.ร.ว.สลับ และโจมตีข้าฯว่า ข้าฯทำหนังสือเอียงซ้าย ซึ่งหมายความว่า ข้าฯ นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์"

         ส่วนบทความ ชีวประวัติบางตอนของจิตร ภูมิศักดิ์ ของวารสารอักษรศาสตรพิจารณ์ ครบรอบ ๑๐ แห่งมรณกรรมของจิตร ภูมิศักดิ์ ฉบับที่ ๑๑-๑๒ เดือนเมษายน-พฤษภาคม ๒๕๑๙ ซึ่งเขียนโดย มิตร ร่วมรบ อันเป็นนามปากกาของนายประวุฒิ ศรีมันตะ เพื่อนนิสิตรุ่นน้องที่สนิทสนมและเรียนร่วมชั้นเดียวกันกับจิตร เมื่อปี ๒๔๙๘ ได้กล่าวถึงถ้อยแถลงของนายสีหเดชไว้ว่า  "จิตร ภูมิศักดิ์ เคยกล่าวกับผมในระยะก่อนทำหนังสือว่า หนังสือ ๒๓ ตุลาฯ ปีนี้ จะทำแบบแหวกแนว จะทำให้เอียงซ้ายสัก ๓๐ องศา นี่แสดงว่า สาราณียกรทำหนังสือให้เป็นแดงแบบมีการจงใจ ใครจะเป็น ดำ เป็น แดง ผมไม่ว่า แต่ต้องให้เรียนจบเสียก่อน อย่าเอาพระนาม จุฬาลงกรณ์ ไปแปดเปื้อน เมื่อถึงตอนนั้นคุณจะ เอียงซ้าย กี่องศา ผมก็ไม่ว่า คุณทำไม่ดี ตำรวจเขาก็จะจัดการกับคุณเอง"

          เมื่อนายสีหเดชกล่าวจบแล้ว ก็ได้เชิญจิตรให้ขึ้นมาชี้แจงเหตุผลของตนบ้าง หนังสือพิมพ์กิตติศัพท์ ฉบับวันที่ ๒๙ตุลาคม ๒๔๙๖ ได้บรรยายถึงบรรยากาศภายในหอประชุมวันนั้นว่า "ขณะที่นายจิตรกำลังแถลงให้นิสิตทราบ ข้อเท็จจริงต่อไปนั้น   ก็ปรากฏมีเสียงสอดอย่างหยาบคายดังระงมอยู่ตลอดเวลา ทั้งมีการยื้อแย่งไมโครโฟน ไม่ยอมให้นายจิตรพูด จึงเกิดการโต้เถียงอย่างรุนแรง"

     ต่อหน้า 2     

 

Last changed: ตุลาคม 18, 2545