ตัวแบบเรือนจำที่เหมาะสม ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในประเทศไทย
เรียบเรียง อายุตม์ สินธพพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนทัณฑปฏิบัติ สำนักทัณฑวิทยา ความนำ การลงโทษผู้กระทำผิดมีประวัติและวิวัฒนาการมาเป็นเวลาอันยาวนาน และเป็นมาตรการทางกฎหมายอย่างหนึ่ง เพื่อใช้สำหรับควบคุมสังคมให้มีความสงบเรียบร้อย ดังนั้น การลงโทษจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ผู้กระทำความผิดเกิดความเกรงกลัวและเข็ดหลาบ ไม่กล้ากระทำผิดอีก สถานที่ที่ใช้สำหรับการลงโทษเรียกกันว่าคุกหรือเรือนจำ จึงถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับคุมขังผู้กระทำผิดเพื่อตัดโอกาสไม่ให้กระทำผิดขึ้นอีก และในขณะเดียวกันเรือนจำก็ยังถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับการอบรมแก้ไขและบำบัดฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับตนเป็นคนดีและสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติภายหลังพ้นโทษไปแล้ว จึงมีแนวคิดของทฤษฎีว่าด้วยการจัดระบบเรือนจำที่เห็นว่า การกำหนดประเภทของเรือนจำจะเกิดประโยชน์ต่อการควบคุมและการฝึกอบรมแก่ผู้ต้องขัง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่างานราชทัณฑ์มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหลักอยู่ 2 ประการ คือ การควบคุมผู้ต้องขังมิให้หลบหนี และการให้การศึกษาอบรมแก้ไข และบำบัดฟื้นฟูพฤตินัยควบคู่กันไป แต่ในสถานการณ์ความเป็นจริงในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังโดยใช้เรือนจำ ทั้งในเชิงโครงสร้างและระบบบริหารจัดการ ทำให่กระบวนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ และเป็นผลให้การแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังให้กลับตนเป็นคนดีตามหลักทัณฑวิทยาขาดประสิทธิภาพ ดังนั้น การจัดระบบตัวแบบของเรือนจำเพื่อควบคุมผู้กระทำผิดลักษณะต่าง ๆ จึงเป็นกลไกที่สำคัญที่จะเอื้ออำนวยให้การควบคุม การอบรม และฝึกวิชาชีพผู้กระทำผิดมีประสิทธิภาพและมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีตัวแบบเรือนจำที่ดีและเหมาะสมแม้ว่าการก่อสร้างเรือนจำต้องใช้งบประมาณมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมภายนอกยังคาดหวังต่องานราชทัณฑ์ว่าจะดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิดให้เกิดความเข็ดหลาบและดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมให้กลับตนเป็นคนดีเพื่อคืนสู่สังคม แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีเรือนจำที่เป็นมาตรการสมบรูณ์แบบที่สอดคล้องกับหลักวิชาการและปรัชญาของงานราชทัณฑ์ ที่ผ่านมาการบริหารงานเรือนจำและทัณฑสถานจึงมีระบบและกระบวนการที่คล้ายคลึงกัน ไม่มีความแตกต่างในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามวัตถุประสงค์ของการลงโทษแต่อย่างใดผู้เขียนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและเปรียบเสมือนเป็นหัวใจในการบริหารงานเรือนจำ จึงได้ศึกษาวิจัยเรื่อง ตัวแบบเรือนจำที่เหมาะสมในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในประเทศไทย (The Appropriate Model of Prison for Institutional Treatment of prisoners in Thailand) โดยใช้เทคนิคเดลฟาย ซึ่งผลการศึกษานี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบราชทัณฑ์ให้เป็นาสากลและนำไปสู่การแก้ปัญหาการบริหารงานเรือนจำในระยะยาวต่อไป วัตถุประสงค์ของการวิจัย รายงานการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ (1) ศึกษาตัวแบบเรือนจำในอนาคตที่สอดคล้องกับปรัชญางานราชทัณฑ์ (2) ศึกษาความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารงานเรือนจำนักอาชญาวิทยาและกฎหมายต่อตัวแบบเรือนจำในอนาคตและ (3) เสนอแนะตัวแบบเรือนจำที่พึงประสงค์ สำหรับประเทศไทยในอนาคต ขอบเขตการวิจัย กรอบในการศึกษาวิจัย เรื่อง ตัวแบบเรือนจำที่เหมาะสมในการปฏิบัติต่อผู้ขัง มุ่งศึกษาความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารงานเรือนจำ ตลอดจนนักอาชญาวิทยาและกฎหมายซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องเกี่ยวกับเรือนจำที่ได้รับการคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิของกรมราชทัณฑ์ และเป็นที่ยอมรับในวงการกระบวนยุติธรรม 2 ท่าน ได้แก่ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายบริหาร (นายสมบรูณ์ ประสพเนตร) และรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายวิชาการ (นายนัทธี จิตสว่าง) โดยแบ่งผู้เชี่ยวชาญออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารงานเรือนจำจำนวน 10 ท่าน และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาอาชญาวิทยาและกฎหมายจำนวน 9 ท่าน รวมเป็น 19 ท่าน การออกแบบการวิจัย สำหรับรูปแบบในการศึกษาวิจัยนี้ เป็นการศึกษาวิจัยเชิงอนาคต (Futuristic research) โดยใช้เทคนิคเดลฟาย (Delphi technique) ซึ่งเป็นกระบวนการในการราบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวแบบเรือนจำที่พึงประสงค์จากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สอดคล้องกันและมีความถูกต้อง เชื่อถือมากที่สุด โดยการเก็บรวบรวมข้อมูล 3 รอบ โดยที่ไม่ต้องนัดผู้เชี่ยวชาญมาประชุมพบปะกันซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลทางความคิดของผู้อื่นหรือเสียงส่วนใหญ่สำหรับแบบสอบถามที่ 1 นั้น ได้จากการนำข้อมูลพื้นฐานที่ทำการศึกษาค้นคว้า จากทฤษฎีการลงโทษและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยใช้เรือนจำที่เกี่ยวกับโครงสร้างเรือนจำและการจัดระบบเรือนจำมากำหนดเป็นกรอบของคำถามในลักษณะคำถามปลยเปิด โดยแบ่งออกเป็น 10 ด้าน คือ (1) โครงสร้างและการบริหารงานเรือนจำ (2) เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของงานเรือนจำ (3) การจัดประเภทเรือนจำ (4) การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ (5) การฝึกวิชาชีพของผู้ต้องขัง (6) อาคารสถานที่ (7) บทบาทของเจ้าพนักงานเรือนจำ (8) สิทธิของผู้ต้องขัง (9) การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในงานเรือนจำและ (10) การให้ภาคเอกชนมามีส่วนร่วมในงานเรือนจำ เมื่อได้รับคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญในการตอบแบบสอบถามรอบที่ 1 แล้ว จึงวิเคราะห์เนื้อหาโดยอยู่ภายใต้กรอบแนวคิดของทฤษฎีการลงโทษระหว่างการลงโทษหรือข่มขู่ยับยั้งกับการลงโทษเพื่อการแก้ไขฟื้นฟู เพื่อสร้างแบบสอบถามเป็นมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 อันดับ ออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 เป็นคำถามเกี่ยวกับตัวแบบเรือนจำที่มุ่งเน้นการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเพื่อเป็นการปกป้องและคุ้มครองสังคม ส่วนที่ 2 เป็นคำถามเกี่ยวกับตัวแบบเรือนจำที่มุ่งเน้นการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง เพื่อการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูพัฒนาพฤตินิสัย ส่วนที่ 3 เป็นคำถามเกี่ยวกับตัวแบบเรือนจำที่มุ่งเน้นการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังแบบผสมผสานระหว่างการปกป้องคุ้มครองสังคมกับการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูพัฒนาพฤตินิสัย และเมื่อได้คำตอบจากรอบที่ 2 แล้ว จึงนำข้อมูลมาคำนวณค่ามัธยฐาน (Medium) และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ (Interquatile range) ของแต่ละข้อความแล้วจึงสร้างแบบสอบถามรอบที่ 3 โดยใช้ข้อความเดิม แต่เพิ่มตำแหน่งของมัธยฐาน ช่วงพิสัยระหว่างควอไทล์ และตำแหน่งที่ผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่านตอบในรอบที่ 2 เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญยืนยันความเห็นอีกครั้ง สำหรับสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลครั้งนี้ได้ไช้การคำนวณหาค่ามัธยฐาน (Medium) จากสูตร และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ (Interquartile Range) คือ ค่าความแตกต่างระหว่างควอไทล์ที่ 3 กับควอไทล์ที่ 1 (Q3 Q1) รวมทั้งการทดสอบค่าเฉลี่ยของผู้เชี่ยวชาญ 2 กลุ่ม โดยการทดสอบค่าที (t test) ว่ามีความคิดเห็นต่อตัวแบบเรือนจำแตกต่างกันหรือไม่ ผลการศึกษา การศึกษาวิจัย เรื่อง ตัวแบบเรือนจำที่เหมาะสมในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในประเทศไทยพบว่า ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารงานเรือนจำ และผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยา และกฎหมายเกี่ยวกับตัวแบบเรือนจำที่เหมาะสมในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง 3 ตัวแบบด้วยกัน คือ (1) ตัวแบบเรือนจำที่มุ่งเน้นการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเพื่อปกป้องและคุ้มครองสังคม (2) ตัวแบบเรือนจำที่มุ่งเน้นการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเพื่อการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูพัฒนาพฤตินิสัย และ (3) ตัวแบบเรือนจำที่มุ่งเน้นการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังแบบผสมผสานระหว่างการปกป้องคุ้มครองสังคม กับการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูพัฒนาพฤตินิสัย กลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดมีความคิดเห็นสอดคล้องกันตามปรัชญาการลงโทษจำคุก หากพิจารณาการตอบแบบสอบถามในรอบที่ 1 ซึ่งเป็นคำถามปลายเปิด รวมทั้งการสัมภาษณ์พูดคุยจะพบว่าผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารงานเรือนจำ และผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยามีความเห็นแตกต่างกันตามแต่ละปรัชญา และเมื่อพิจารณาผลการศึกษาทั้ง 3 รอบ สามารถสรุปแนวความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่อตัวแบบเรือนจำที่เหมาะสมในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในประเทศไทยได้ว่า ตัวแบบเรือนจำควรจะต้องมีลักษณะผสมผสานระหว่างการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มุ่งเน้นหลักการปกป้องคุ้มครองสังคมกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มุ่งเน้นหลักการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูพัฒนาพฤตินิสัยที่มีความสอดคล้องกันและสมดุลกันอย่างเหมาะสมโดยแบ่งออกเป็น 10 องค์ประกอบ ดังนี้ 1. ด้านโครงสร้างและการบริหารงานเรือนจำ เรือนจำต้องมีการจัดโครงสร้างหน่วยงานและการบริหารงานที่สอดคล้องกับการจัดประเภทและขนาด ตามวัตถุประสงค์ของการใช้เรือนจำเป็นหลักสำคัญ กล่าวคือ เรือนจำจะต้องสามารถควบคุมผู้ต้องขังไว้ภายในเรือนจำไม่ให้สามารถหลบหนีได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือนจำความมั่นคงที่คุมขังผู้ต้องขังคดีร้ายแรงรวมทั้งการจัดโครงสร้างหน่วยงานภายในเรือนจำแต่ละประเภทก็จำเป็นต้องเหมาะสมและสนับสนุนการบริหารจัดการให้มีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น เรือนจำขนาดใหญ่ที่ต้องการความปลอดภัยสูง ควรต้องมีหน่วยงานเฉพาะนอกเหนือจากการควบคุมและรักษาการณ์เวรยามตามปกติ ในขณะเดียวกันการบริหารงานเรือนจำก็จะต้องสอดคล้องกับกฎหมาย โดยมุ่งคำนึงถึงเสรีภาพที่ผู้ต้องขังพึงมี โดยยึดหลักศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ รวมทั้งควรที่ยะมีการบริหารงานที่เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติ โดยสนับสนุนให้องค์การสาธารณะ หรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานเรือนจำได้เท่าที่จำเป็น ซึ่งจะทำให้การบริหารเรือนจำเป็นระบบเปิดมากขึ้น 2. ด้านเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของงานเรือนจำ เป้าหมายที่แท้จริงของงานเรือนจำนั้น ต้องสามารถควบคุมผู้ต้องขังและรักษาความปลอดภัยและสร้าง ความสงบสุขแก่สังคม โดยคำนึงถึงความรู้สึกของผู้บริสุทธิ์และเหยื่อผู้เสียหายเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เรือนจำจะต้องดำเนินการแยกประเภทและลักษณะผู้ต้องขังออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อจะได้ให้การอบรม แก้ไข ฟื้นฟู รวมทั้งการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในด้านอื่น ๆ เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมตามหลักทัณฑวิทยา สิ่งสำคัญในการที่จะมีระบบการจำแนกประเภทลักษณะของผู้กระทำผิดที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับต้องเพียบพร้อมไปด้วยบุคลากรที่จำเป็นในการปฏิบัติงานดังกล่าวเพียงพอ เพื่อให้การบริหารงานเรือนจำสามารถดำเนินการตามกระบวนการของระบบราชทัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่อง โดยหวังผลลัพธ์คือการที่ผู้พ้นโทษสามารถกลับสู่สังคมทั่วไปได้ 3. การจัดประเภทเรือนจำ เรือนจำที่เหมาะสมในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง จะต้องมีการจัดประเภทของเรือนจำอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดการใช้เรือนจำตามวัตถุประสงค์ โดยมีระบบการจำแนกประเภท ชนิดของผู้ต้องขังว่าจะส่งตัวไปควบคุมไว้สถานที่ใด การแยกควบคุม (Segregation) ผู้ต้องขังนี้ สามารถแยกได้ตามเพศของผู้ต้องขังแยกตามลักษณะของผู้กระทำความผิด กล่าวคือ แยกผู้วิกลจริตหรือจิตไม่ปกติไปควบคุมไว้ในเรือนจำพิเศษโดยเฉพาะ รวมทั้งควรมีการแยกควบคุมผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาไว้ต่างหากไม่ปะปนกันกับผู้ต้องขังที่ถูกลงโทษตามคำพิพากษาแล้ว สำหรับการจัดระดับความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างเรือนจำนั้น จะต้องแบ่งเป็น 3 ระดับคือ 1) เรือนจำระดับความมั่นคงแข็งแรงสูง 2) เรือนจำระดับความมั่นคงแข็งแรงปานกลาง และ 3) เรือนจำระดับความมั่นคงแข็งแรงต่ำ ซึ่งกรมราชทัณฑ์จะสามารถส่งตัวผู้ต้องขังไปควบคุมในสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเหมาะสม 4. การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำทุกประเภท ต้องใช้หลักผสมผสานความสมดุลระหว่างการควบคุมผู้ต้องขังไว้ในเรือนจำมิให้หลบหนีหรือก่อเหตุร้ายเพื่อให้สังคมทั่วไปและประชาชนมีความเชื่อมั่นในระบบเรือนจำ รวมทั้งกระบวรการยุติธรรมด้วย ขณะเดียวกันในระหว่างต้องโทษจำคุกจะต้องให้มีการอบรม แก้ไข บำบัด ฟื้นฟูพฤติกรรมของผู้ต้องขัง ตามประเภท ชนิด อายุและเพศ โดยมีระบบการแยกขังและจำแนก ลักษณะเป็นหลักในการปฏิบัติเป็นรายบุคคลภายใต้หลักสิทธิมนุษยธรรมอย่างมีเหตุผลทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ต้องขังมีความพร้อมก่อนที่จะได้รับการปลดปล่อยออกไปดำรงชีวิตในสังคมภายนอก ดังนั้น การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำต้องยึดความยุติธรรมเป็นหลัก โดยจะต้องปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยความเป็นธรรม ซึ่งประกอบด้วย การควบคุม (Custody) การดูแลและสวัสดิการ (Care) และความยุติธรรม ( Justice) 5. การฝึกวิชาชีพผู้ต้องขัง การอบรมและฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังในเรือนจำแต่ละประเภทนั้น ควรต้องดำเนินการตามหลักปรัชญาการแก้ไขฟื้นฟู (Rehabilitation) ที่เชื่อว่าสาเหตุการประกอบอาชญาเกิดจากสภาพแวดล้อมทางสังคมของบุคคลนั้น หรือเกิดจากความบกพร่องทางบุคลิกภาพ ดังนั้น โปรแกรมสำหรับการฝึกวิชาชีพจึงจำเป็นต้องสอดคล้องกับประวัติ ภูมิหลัง การศึกษา อาชีพ สภาพแวดล้อมเดิมระดับสติปัญญา อายุ อุปนิสัย ความถนัด และความสมัครใจของผู้ต้องขัง โดยเรือนจำจะต้องมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามโปรแกรมนั้นด้วย ภายใต้สภาพความเป็นจริง (Realistic) เท่าที่เรือนจำแต่ละประเภทจะสามารถดำเนินการได้ 6. อาคารสถานที่ ตัวแบบโครงสร้างอาคารสถานที่ของเรือนจำ จะต้องสอดคล้องกับการจัดระดับความมั่นคง แข็งแรงของเรือนจำ และการควบคุมผู้ต้องขังในแต่ละประเภทเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาก่อสร้างหรือปรับปรุงซ่อมแซมให้มีมาตรฐานที่สมบรูณ์แบบมีอาคารและสถานที่ที่เหมาะสมกับการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขัง ดังนั้น เรือนจำที่มีขนาดใหญ่จึงต้องมีการแบ่งบริเวณที่คุมขังผู้ต้องขังให้เหมาะสมกับลักษณะของผู้ต้องขังและกิจกรรม ควรจะได้มีการแบ่งแยก ประเภทของผู้ต้องขังตามอายุ เพศ และความร้ายแรงของความผิด สถานที่ตั้งของเรือนจำในแต่ละประเภทควรมีที่ตั้งแตกต่างกัน เรือนจำที่ควบคุมผู้ต้องขังโทษสูงที่มีลักษณะร้ายเสี่ยงต่อการหลบหนี ต้องการความรักษาความปลอดภัยสูง อาจตั้งอยู่ห่างชุมชนได้ เนื่องจากเป็นเรือนจำขนาดใหญ่ ความจุผู้ต้องขังไม่เกิน 3,000 คน ส่วนเรือนจำขนาดกลางและขนาดเล็กที่ควบคุมผู้ต้องขังได้ไม่เกิน 1,500 คน อาจมีที่ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนได้เนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้ตัวแบบการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในชุมชน (Community Based Corrections) หากเป็นเรือนจำเพื่อดำเนินการกิจกรรมทางเกษตรกรรม อาคารควรเป็นลักษณะเป็นบ้านหรือกระท่อมเล็ก ๆ โดยมีความจุระหว่าง 10 20 คน เพื่อให้ผู้ต้องขังทำงานภายในพื้นที่ของเรือนจำ สำหรับด้านการควบคุมและรักษาความปลอดภัยในการปกครองผู้ต้องขังภายในเรือนจำนั้น เรือนจำเกือบทุกตัวแบบมีความจำเป็นมีหอควบคุมการปฏิบัติงานทรงสูง สำหรับเจ้าพนักงานเรือนจำเพื่อใช้ในการสอดส่องดูแลความเคลื่อนไหวของผู้ต้องขังได้ชัดเจน รวมทั้งยังเป็นการสร้างระบบรักษาความปลอดภัยในการทำงานแก่เจ้าพนักงานเรือนจำอีกด้วย 7. บทบาทของเจ้าพนักงานเรือนจำ เจ้าพนักงานเรือนจำในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ควรมีความรู้ความสามารถพิ เศษที่แตกต่างจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่น ๆ ทั่วไป ทั้งนี้ เพราะการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทั้งในด้านการควบคุม ปกครองดูแล และการแก้ไขบำบัดฟื้นฟู จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานทางทฤษฎีและภาคปฏิบัติเกี่ยวกับผู้กระทำผิดแต่ละประเภทที่ถูกต้องตลอดจนจะต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมอยู่เสมอสามารถใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ และอาวุธเฉพาะงานเรือนจำได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงควรได้รับการทบทวนและมีการสรรหาอย่างเข้มข้นเพื่อให้เจ้าพนักงานเรือนจำมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับงานราชทัณฑ์จริง ๆ ในกรณีที่จำเป็นต้องอาศัยผู้ชำนาญการพิเศษในสาขาต่าง ๆ อาทิ จิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ ครู และครูฝึกวิชาชีพ ควรจะต้องได้รับการพิจารณาอีกครั้งว่า ผู้ชำนาญพิเศษดังกล่าวสมควรปฏิบัติงานประจำอยู่ที่เรือนจำหรือไม่เพียงใด นอกจากนี้ เงินเดือน และค่าตอบแทนของเจ้าพนักงานควรได้รับการพิจารณาปรับอัตราเงินเดือนให้สูงพอสมควรที่จะเป็นสิ่งดึงดูดใจให้คนดีเข้ามาทำงานมากขึ้น 8. สิทธิของผู้ต้องขัง ผู้ต้องขังควรได้รับสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายราชทัณฑ์รวมทั้งข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติ แต่จะต้องไม่เป็นการให้สิทธิประโยชน์ความสะดวกสบายที่ฝืนความรู้สึกของสังคม ซึ่งหมายความว่าผู้ต้องขังจะได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ทั่วไปในสังคมภายนอกไม่ได้ มิฉะนั้นจะเป็นการขัดต่อปรัชญาการลงโทษและวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังโดยใช้เรือนจำ นอกจากนี้สิทธิในการได้รับการติดต่อสื่อสารและการเยี่ยมเยียนควรได้รับการปรับปรุงในตัวแบบต่าง ๆ อาทิ การเยี่ยมแบบใช้ชีวิตคู่ หรือการเยี่ยมแบบใกล้ชิดถึงตัว การอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์จากภายในเรือนจำ หรือการรับข้อความจากจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) ที่ญาติพี่น้องผู้ต้องขังส่งมาถึง ประการสำคัญ คือ ควรให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ต้องขังในรูปแบบต่าง ๆ ภายใต้หลักทัณฑวิทยาเพื่อให้ผู้ต้องขังเกิดแรงจูงใจในการที่จะประพฤติตนดีในระหว่างต้องโทษ และไม่หันกลับไปกระทำผิดซ้ำขึ้นอีก 9. การนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานเรือนจำ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในเรือนจำนั้น ควรนำมาใช้ในเรือนจำความมั่นคงสูงที่ควบคุมผู้ต้องขัง ลักษณะร้าย มีความเสี่ยงต่อการหลบหนีและก่อเหตุร้าย ซึ่งจะมุ่งเน้นความปลอดภัยให้แก่เจ้าพนักงานเรือนจำและอำนวยความสะดวกในการควบคุม ตรวจตราในขณะอยู่เวรยามทั้งกลางคืนและกลางวัน นอกจากนี้เครื่องมืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่นำมาใช้ควรเป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาสำหรับงานราชทัณฑ์โดยตรง และมีการใช้งานไม่ซับซ้อนจนเกินไปซึ่งจะเป็นการประหยัดงบประมาณของประเทศ ดังนั้น กรมราชทัณฑ์ควรจะได้มีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อรับฟิดชอบกำหนดมาตรฐานของเครื่องมือการใช้งาน การติดตามผล รวมทั้งการฝึกอบรมเจ้าพนักงานเรือนจำให้มีความรู้ ความชำนาญในการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีเป็นอย่างดี 10. การให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในงานเรือนจำ เรือนจำแต่ละประเภทควรจะได้มีการถ่ายโอนงานบางประเภทที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของงาน เรือนจำ เพื่อให้เอกชนเข้ามาดำเนินการเพื่อที่จำนำกำลังเจ้าพนักงานเรือนจำกลับไปปฏิบัติหน้าที่หลัก คือการควบคุมผู้ต้องขัง อาทิเช่น งานดูแลอาคารสถานทีและรักษาการณ์บริเวณภายนอกเรือนจำ งานขนย้ายผู้ต้องขังไปศาลและขนย้ายไปต่างเรือนจำ และงานรักษาความปลอดภัยของเรือนจำความมั่นคงต่ำ ส่วนการว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการทั้งระบบคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเอกชนไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายบ้านเมือง นอกจากนี้ เห็นว่างานด้านการแพทย์การให้บริการด้านการศึกษา การบริการด้านเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ควรให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในระหว่างที่ผู้ต้องขังต้องโทษจำคุกด้วย และในอนาคตผู้เชี่ยวชาญเห็นว่างานด้านการอบรมแก้ไข บำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขัง ก็ควรถ่ายโอนงานให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการแทน อาทิ การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมสำหรับฝึกวิชาชีพ การจัดโปรแกรมการอบรมและฝึกวิชาชีพ การประกอบอาหารเลี้ยงผู้ต้องขัง งานบำบัดแก้ไขฟื้นฟูจิตใจและให้คำปรึกษาเป็นต้น เนื่องจากเห็นว่าอัตรากำลังเจ้าพนักงานที่จะดำเนินการด้านนี้จำนวนไม่เพียงพอ รวมทั้งจะต้องทำหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังในเรือนจำไปพร้อมกันด้วยจึงมีความจำเป็นที่ต้องการเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติที่มีมาแต่เดิม ข้อเสนอแนะ 1. ข้อเสนอแนะที่ได้จากการศึกษาวิจัย 1.1 กรมราชทัณฑ์ควรมีการจัดประเภทเรือนจำให้สอดคล้องกับประเภทและชนิดของผู้ ต้องขัง โดยมีระดับความมั่นคงแข็งแรงและระบบการรักษาปลอดภัยที่เหมาะสม สามารถจำแนกและแยกประเภทของผู้ต้องขังแต่ละประเภทออกจากกัน เพื่อให้มีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างแตกต่างกัน เช่น เรือนจำสำหรับควบคุมผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี (Jail) และเรือนจำสำหรับควบคุมผู้ต้องขังที่ศาลพิพากษาลงโทษเด็ดขาดแล้ว (Prison) ควรจะได้มีการแยกการควบคุมและกักขังออกจากกันโดยเด็ดขาด ซึ่งจะทำให้การบริหารงานเรือนจำมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 1.2 ควรปรับปรุงโครงสร้างอาคารสถานที่ภายในเรือนจำที่มีอยู่ในรูปแบบที่เป็นมาตร ฐาน มีความมั่งคงแข็งแรงตามความเหมาะสม สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้เรือนจำแต่ละประเภท สามารถควบคุมดูแล และปกครองผู้ต้องขัง รวมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับการอบรมแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถรองรับจำนวนผู้ต้องขังที่เพิ่มมากขึ้นได้ตามความจุมาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งเอื้ออำนวยดำเนินการจำแนกลักษณะและแยกควบคุมเพื่อมิให้ผู้ต้องขังถ่ายพฤติกรรมกันได้ รวมทั้งนำอุปกรณ์เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการควบคุมผู้ต้องขังป้องกันหลบหนีและก่อเหตุร้ายตลอดจนจัดระเบียบสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในเรือนจำให้ดีขึ้น 1.3 มิให้หลบหนี ในฐานะที่เป็นสถาบันป้องกันและคุ้มครองสังคม โดยมุ่งเน้นการ ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำที่มีความสมดุลระหว่างการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเรือนจำ (Security) การควบคุมกักขัง (Control) และความยุติธรรม (Justice) เพื่อมิให้สังคมและประชาชนทั่วไปเกิดความรู้สึกว่าผู้กระทำผิดได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าประชาชนทั่วไป 1.4 การปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยใช้เรือนจำควรเป็นมาตรการขั้นสุดท้าย ทั้งนี้เพราะ แนวโน้มของการราชทัณฑ์สากลหันกลับไปสู่การปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดแบบเคร่งครัดมากขึ้นเนื่องจากการศึกษาวิจัยประเมินผลประสิทธิภาพงานราชทัณฑ์ที่ผ่านมา พบว่า โครงการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดในลักษณะต่าง ๆ ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอบรมแก้ไขผู้กระทำผิดส่วนมามักไม่ประสบความสำเร็จหรือประสบความสำเร็จเพียงบางส่วนเท่านั้น ดังนั้น เรือนจำควรเป็นสถานที่สำหรับการควบคุมผู้ต้องขังไว้เพื่อการป้องกันสังคมให้ปลอดจากอาชญากรรม และเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในชุมชนมาใช้มากขึ้น 1.5 สนับสนุนและผลักดันให้ฝ่ายการเมืององค์กรเอกชนและประชาสังคม เข้ามามีส่ ร่วมในการบริหารงานเรือนจำให้กว้างขวางยิ่ง ตลอดจนให้ความสนับสนุนทางด้านงบประมาณเพื่อให้การบริหารงานเรือนจำมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล 1.6 ด้านอัตรากำลังเจ้าพนักงานเรือนจำ ควรได้มีการพัฒนาให้มีความเป็นวิชาชีพแขนง หนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น รวมทั้งผลักดันให้เจ้าพนักงานเรือนจำได้รับค่าตอบแทนเงินเดือนที่สูงขึ้น ในฐานะที่ปฏิบัติหน้าที่ตรากตรำและเสี่ยงภัย 2. ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยต่อไป 2.1 ควรมีการวิจัยศึกษาทัศนคติหรือความคิดเห็นของประชาชนในสังคมว่าปัจจุบัน สังคมไทยมีแนวคิดเกี่ยวกับปรัชญาการลงโทษอย่างไร เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับความคิดเป็นของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการจัดตัวแบบเรือนจำที่เหมาะสมในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง 2.2 ควรจะได้มีการนำผลการวิจัยครั้งนี้ไปศึกษาเชิงปริมาณเจ้าพนักงานเรือนจำระดับ ปฏิบัติ เพื่อจะได้พัฒนาตัวแบบเรือนจำที่เหมาะสมทั้งในทางวิชาการและในทางปฏิบัติ บทส่งท้าย ผลของการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ทำให้ทราบถึงความคิดเชี่ยวชาญด้านการบริหารงานเรือนจำ และผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยาและกฎหมายที่มีต่อตัวแบบเรือนจำในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารงานเรือนจำให้มีระบบงานและโครงสร้างที่เหมาะสมในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่สอดคล้องกับปรัชญาของงานราชทัณฑ์ และเป็นการพัฒนาระบบงานราชทัณฑ์ของไทยให้เป็นมาตรฐานตามหลักทัณฑวิทยา อันจะนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมอย่างเป็นระบบต่อไป
|