ข้อแนะนำ 12 ประการ

ในการจัดฝึกอบรมหลักสูตรสิทธิมนุษยชน

 

บทนำ

การจัดทำคู่มือเล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ชี้แจงถึงข้อควรปฏิบัติ 12 ประการในการจัดฝึกอบรมหลักสูตรสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นยังเป็นการให้แนวคิดในการติดตามและประเมินผลโครงการฝึกอบรมที่เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนให้กับข้าราชการทั่วไป

ปัจจุบัน องค์การภาครัฐทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ให้ความสนใจในการนำความรู้และหลักปฏิบัติในเรื่องสิทธิมนุษยชนมาจัดเป็นโครงการฝึกอบรมอย่างแพร่หลาย

อย่างไรก็ตาม องค์การนิรโทษสกรรมสากล (Amnesty International) พบว่า โครงการฝึกอบรมให้ความรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชนขององค์การระดับต่าง ๆ ยังขาดการวิเคราะห์ถึงความต้องการในการฝึกอบรมและการวิเคราะห์สภาพปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ประสบปัญหาอยู่ในขณะนั้น  โครงการฝึกอบรมที่จัดขึ้นในปัจจุบันมักใช้เครื่องมือหรือวิธีการฝึกอบรมแบบเก่า นอกจากนี้ยังขาดการติดตามผลการฝึกอบรมเพื่อปรับปรุงรูปแบบการฝึกอบรม ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา หรือวิธีการในการให้ความรู้และการนำเสนอประเด็นศึกษาใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชน

 ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้วนั้น องค์การนิรโทษสกรรมสากลจึงได้จัดทำหนังสือข้อแนะนำ 12 ประการในการจัดฝึกอบรมหลักสูตรสิทธมนุษยชนให้กับข้าราชการทั่วไปเล่มนี้

วัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งในการจัดทำหนังสือคู่มือเล่มนี้ก็คือ ผู้จัดทำปรารถนาที่จะช่วยเหลือ และให้การสนับสนุนองค์กรเอกชนหรือองค์กรNGOs นำหลักสิทธิมนุษยชนไปจัดทำโครงการฝึกอบรมให้ความรู้กับบุคคลทั่วไป

 องค์กรนิรโทษสกรรมสากล ขอประกาศกิตติคุณแด่ผู้ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานจัดทำหนังสือคู่มือเล่มนี้ให้เสร็จสิ้นลุล่วงตามวัตถุประสงค์  และขอขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นอันจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงคุณภาพของหนังสือคู่มือเล่มนี้

 

 ********************************************************

 นิยาม “การจัดฝึกอบรม ให้การศึกษา เรื่องหลักสิทธิมนุษยชน”

ไม่ว่าจะเป็นองค์การใด ๆ ก็ตามที่ต้องการจัดหลักสูตรการฝึกอบรมในเรื่องสิทธิมนุษยชน องค์การนั้น ๆ จะต้องมีการเตรียมความพร้อมทางด้านเอกสาร การเรียนการสอน และข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนให้มีความพร้อม ทั้งนี้ก็เพื่อจะบรรลุเป้าหมายของการฝึกอบรมก็คือทำให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงความรู้ ทัศนคติ ตลอดจนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เป็นอยู่เดิมให้มีความสอดคล้องกับหลักปฏิบัติสิทธิมนุษยชน

 การบรรลุวัตถุประสงค์ที่กล่าวไว้ข้างต้น จะต้องประกอบไปด้วยความร่วมมือจากกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มด้วยกัน การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี

ระหว่างวิทยากรและผู้เข้ารับการฝึกอบรม การฝึกปฏิบัติและการเรียนรู้หลักการและแนวความคิดในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน

 ในทางปฏิบัติ การจัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรสิทธิมนุษยชนอย่างมืออาชีพ จะต้องมีการกำหนดเป้าหมายในการดำเนินการ ซึ่งเป้าหมายในการดำเนินการนี้จะต้องชี้วัดได้ถึงประสิทธิผลในการเรียนรู้ของผู้เข้ารับการฝึกอบรมว่าความรู้ดังกล่าวที่พวกเขาได้รับนั้นสอดคล้องกับหลักการและทฤษฎีที่ว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่

 หลักสูตรฝึกอบรมใด ๆ ก็ตามที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับหลักสิทธิมนุษยชน วัตถุประสงค์ในการจัดทำควรมุ่งความสำคัญไปที่ ความสามารถในการนำหลักสิทธิมนุษยชนไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทักษะความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้ในเรื่องสิทธิมนุษยชนเมื่อพวกเขาสำเร็จการฝึกอบรมไปแล้ว นั่นคือ ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์วิจารณ์ (critical thinking)       มีความสามารถในการติดต่อสื่อสาร มีความสารถในการตัดสินปัญหา และมีความสามารถที่จะทำการการต่อรองเพื่อผลประโยชน์ได้

 ในบางกรณี การจัดหลักสูตรสิทธิมนุษยชนก็จำเป็นที่จะต้องจัดขึ้นมาในรูปแบบหลักสูตรเฉพาะ เนื่องจากเป็นการมุ่งเน้นไปที่การชดเชย และปูพื้นฐานความรู้สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ไม่เคยได้รับการอบรมหลักสูตรสิทธิมนุษยชนมาก่อน แม้ว่าในทางทฤษฎีจะกล่าวไว้ว่า หลักความรู้ในด้านสิทธิมนุษยชนควรจะถูกจัดเป็นวิชาหลักวิชาหนึ่งในหลักสูตรฝึกอบรมทุก ๆ หลักสูตรก็ตาม

 

 ข้อแนะนำ 12 ประการในการจัดฝึกอบรมหลักสูตรสิทธิมนุษยชน

 

1. การสำรวจความต้องการในการฝึกอบรมเป็นสิ่งสำคัญก่อนที่จะลงมือฝึกอบรม

ก่อนที่จะลงมือฝึกอบรมให้กับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ สิ่งที่จำเป็นและจะละเลยไม่ได้ก็คือการสำรวจความเป็นไปได้ในการจัดโครงการศึกษาให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศนั้น ๆ ก่อน

 ขั้นตอนการสำรวจหาความต้องการในการฝึกอบรมเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรจะดำเนินการทุกครั้งงก่อนการฝึกอบรม ทั้งนี้เพื่อที่สามารถระบุถึงระดับความสำคัญของปัญหาและวิธีการแก้ไข และเพื่อที่จะเขียนเป็นโครงร่างของหลักสูตรและวิธีการฝึกอบรมที่เหมาะสมตรงกับความต้องการขององค์การและสถานการณ์

 ในบางกรณี การฝึกอบรม/ให้ความรู้ที่เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนก็ไม่สามารถที่จะใช้เป็นขั้นตอนแรกในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่าางรุนแรง อาทิเช่น ในบางประเทศที่รัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลเผด็จการเข้ามาปกครองประเทศโดยใช้ความรุนแรงเป็นที่ตั้ง  หรือจะเป็นในกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายเน้นวิธีการอื่นนอกเหนือไปจากการอบรมให้การศึกษาในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

 ไม่ว่าสถาานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนจะอยู่ในระดับไหนก็แล้วแต่ หากแต่การรณรงค์สร้างความตระหนักในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องกระทำ ซึ่งสามารถกระทำได้โดยการจัดสัมมนาอย่างเป็นทางการ หรือมีการประชุมปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาหาความต้องการในการฝึกอบรมหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อที่จะพัฒนาแนวความคิดในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้ถูกกลุ่มเป้าหมาย

 

2.      การให้การศึกษาในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนเป็นขั้นตอนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายหลัก

การให้การศึกษา/อบรมในเรื่องสิทธิมนุษยชนจะเกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อผู้บริหารประเทศให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเปิดใจกว้างยอมรับหลักปฏิบัติในเรื่องสิทธิมนุษยชน

 ในประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง การให้การศึกษา/อบรมในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนดูจะมีความสำคัญน้อยมากเปรียบเสมือนหยดน้ำในทะเล  แม้ว่ารัฐบาลหลาย ๆ ประเทศพยายามที่จะให้ความรู้ในเรื่องหลักปฏิบัติสิทธิมนุษยชน  แต่สถานการณ์การละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนกลับไม่พัฒนาขึ้นมาเลย

 รัฐบาลควรที่จะให้ความสำคัญในด้านสิทธิมนุษยชน อาทิเช่น เป็นผู้ผลักดันในการเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมาย อนุญาติให้มีการชุมนุมแสดงความคิดเห็นกันอย่างสงบ  สนับสนุนให้กลุ่มองคืกรสามารถทำการเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อนำไปใช้ในชุมชน หรือนำประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนมาเป็นหลักสูตร/วิชาที่ประชาชนทั่วไปสามารถศึกษาได้ทุกคน

 ในบางกรณี การสัมมนา/และการประชุมเฉพาะกลุ่มเป้าหมายก็นับเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการปฎิรูประบบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนได้ อาทิเช่น การประชุมหรือสัมมนาเฉพาะกลุ่มของผู้พิพากษา หรือนักการเมือง ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ และเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันนำหลักสิทธิมนุษยชนไปใช้

 ดังนั้น การให้การศึกษา/อบรม ควรจะเป็นส่วนหนึ่งในแผนกลยุทธ์พัฒนาประเทศ ที่สำคัญหลักสูตรการฝึกอบรม/ให้การศึกษาควรจะออกแบบให้มีความเหมาะสมกับโครงสร้างการปฏิรูปกฎหมายสิทธิมนุษยชน

 

3.   เจ้าหน้าที่ควรให้ความสำคัญกับการนำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมด้านสิทธิมนุษยชนไปใช้ เปรียบเสมือนสิทธิมนุษยชนเป็นหลักในการปฏิบัติงานระดับมืออาชีพ

รัฐบาลมีหน้าที่ในการจัดหลักสูตรฝึกอบรม/ให้ความรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการในการนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติจริง  และหลักสิทธิมนุษยชนควรเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางและกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน

 หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ในการให้ความรู้/อบรมในเรื่องสิทธิมนุษยชนจะต้องกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบตลอดทั้งโครงการและรวมไปถึงการขอความสนับสนุนในการดำเนินการที่เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนในทุก ๆ ด้านจากผู้บริหารในทุก ๆ ระดับ  ขั้นตอนแรกควรจะเริ่มจากการเปลี่ยนแปลง พรบ. ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงตระหนักถึงความสำคัญ รวมทั้งเข้ามามี  บทบาทและให้ความสำคัญกับการนำหลักสิทธิมนุษยชนไปใช้และเพื่อเป็นหลักประกันถึง         เป้าหมายการให้การศึกษาในเรื่องสิทธิมนุษยชนระยะยาว

 

4.   การจัดารฝึกอบรมหลักสูตรสิทธิมนุษยชนจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในขณะนั้นและของชุมชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

 การให้การศึกษา/อบรมหลักสูตรสิทธิมนุษยชนไม่ควรจัดขึ้นเองเฉพาะหน่วยงาน ควรจัดโครงการฝึกอบรม/ให้ความรู้เรื่องหลักสิทธิมนุษยชนในระดับชาติ และมุ่งผลไปยังการสร้างวัฒนธรรมความคิดในเรื่องของการตระหนักถึงหลักสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงหน่วยงานที่ถูกเพ่งเล็งในเรื่องการปฏิบัติที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องด้วยกัน อาทิเช่น หน่วยงานตำรวจและนักสังคมสงเคราะห์จะต้องทำงานร่วมกันในการแก้ปัญหาเด็กจรจัดไร้ที่อยู่ โดยใช้วิธีการปฏิบัติต่อเด็กจรจัดอย่างนุมนวลเพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหาและเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น และที่สำคัญเป็นการขจัดอคติซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการปฏิบัติงานที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

 5.      องค์การ NGOs ควรเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการฝึกอบรม

ในการพิจารณาความเหมาะสมเพื่อดำเนินการหลักสูตรสิทธิมนุษยชนระดับชาติ จะต้องเปิดโอกาสให้วิทยากรจากองค์การ NGOs เข้ามามีบทบาทในการให้ความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการฝึกอบรมไม่ว่าจะเป็นในด้านรูปแบบการฝึกอบรม การบริหารการฝึกอบรม และการติดตามประเมินผลการฝึกอบรม เหตุผลสำคัญที่ควรเปิดโอกาสให้องค์การ NGOs เข้ามามีส่วนร่วมก็คือองค์การ NGOs เป็นองค์การที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และเป็นองค์กรที่สามารถผลักดันรัฐบาลให้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องที่เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนได้อีกด้วย

 ในกรณีที่องค์การ NGOs ไม่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดฝึกอบรม ผู้จัดหลักสูตรควรเชิญสมาชิกองค์การNGOs เข้ามาเป็นผู้สังเกตุการณ์ในการฝึกอบรม โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกองค์การ NGOs ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ เพื่อที่จะนำไปปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรให้ดียิ่งขึ้น และ การให้ความร่วมมือของ NGOs ในการฝึกอบรมจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชนว่ามีผลต่อการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐภาคต่าง ๆ และมีผลต่อผู้ที่ได้รับการปฏิบัติจากหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน

 ที่สำคัญ ผู้จัดหลักสูตรฝึกอบรมจะต้องมั่นใจว่าสมาชิกองค์การ NGOs ที่เข้ามามีส่วนร่วมนั้น มีความเป็นกลางและมีความเป็นมืออาชีพ

 

6.      จะต้องมีการระบุกลุ่มเป้าหมายและประโยชน์ที่ได้รับจากการฝึกอบรมอย่างชัดเจน

การอบรมเพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสามารถกระทำได้หลายวิธีการ อย่างไรก็ตามเนื้อหาและวิธีการฝึกอบรมเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจและการสำนึกร่วมกันย่อมต้องมีลักษณะเฉพาะและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิเช่น ระดับความรุนแรงในการละเมิด ลักษณะประเทศ และปัจจัยอื่น ๆ  โดยทั่วไปแล้ววิธีการฝึกอบรมหลักสูตรสิทธิมนุษยชนสามารถแจกแจงได้อย่างคร่าว ๆ 3 วิธี  ดังต่อไปนี้

 ตัวอย่างมีดังต่อไปนี้ :

วิธีการที่ กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงว่าจะให้การฝึกอบรมแก่บุคคลากรทั้งหน่วยงานหรือสำนัก/กองที่เกี่ยวข้อง วัตถุประสงค์ในการจัดฝึกอบรมวิธีการนี้ก็คือ เป็นการจูงใจให้ผู้เข้ารับการอบรมตั้งใจฝึกอบรม และเป็นการหลีกเลี่ยงอิทธิพลทางความคิดจากเพื่อนร่วมงานหลังจากที่ผู้เข้ารับการอบรมถูกส่งตัวกลับไปยังหน่วยงานของตน วิธีการนี้ยังเป็นการง่ายที่จะติดตามและประเมินผลหลังจากที่ฝึกอบรมเสร็จสิ้นไปแล้ว นอกจากนี้ยังสะดวกต่อการสนับสนุนและสานต่อความรู้ให้กับหน่วยงานอีกด้วย

 

วิธีการที่ 2 : เป็นการสร้างตัวคูณวิทยากร โดยใช้วิธีการคัดเลือกวิทยากรจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้เข้ามาฝึกอบรมเพื่อที่จะให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมนำความรู้ที่ได้ไปจัดหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของตนต่อไป การที่จะดำเนินการเช่นนี้ได้จะต้องแน่ใจเป็นอย่างยิ่งว่า หน่วยงานที่ส่งวิทยากรให้เข้ารับการฝึกอบรมนั้นได้จัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนรวมอยู่ในหลักสูตรฝึกอบรมของหน่วยงานนั้น ๆ

 

วิธีการที่ 3: เป็นการรวมกันระหว่างการให้การฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ทั้งหน่วยงานและมีการคัดเลือกวิทยากรหรือเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภายนอกให้เข้ามาอบรมร่วมกัน ข้อดีของการฝึกอบรมวิธีการนี้มีอยู่ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการอนุญาติให้เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภายนอกเข้าฝึกอบรมร่วมกัน เมื่อนั้นผู้เข้ารับการอบรมจะสามารถสร้างสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างกันได้เป็นอย่างดี

 

7.      วิทยากรจะต้องมีความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย

ในการจัดฝึกอบรมหลักสูตรสิทธิมนุษยชนให้กับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ควรคัดเลือกวิทยากรที่มีความสัมพันธ์กับหน่วยงานหรือกลุ่มเป้าหมายนั้น ๆ อาทิเช่น เมื่อจัดฝึกอบรมหลักสูตรสิทธิมนุษยชนให้กับตำรวจหรือข้าราชการพลเรือน ควรที่จะเชิญวิทยากรผู้มีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับตำรวจหรือข้าราชการพลเรือนมาให้ความรู้เช่นเดียวกัน เหตุผลที่จะต้องมีการคัดเลือกวิทยากรที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายเป็นเพราะวิทยากรที่ได้รับเชิญเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานหรือกลุ่มเป้าหมายและยังเป็นผู้ที่เข้าใจถึงปัญหาที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานภายในหน่วยงานได้อย่างดีอีกด้วย

 การคัดเลือกวิทยากรจะต้องกระทำอย่างละเอียดถี่ถ้วน วิทยากรจะต้องมีความเป็นกลางและเป็นผู้ที่มีอำนาจในการบังคับบัญชา ไม่ควรที่จะคัดเลือกวิทยากรผู้ขาดประสบการณ์การสอน และเป็นผู้ขาดความคิดด้านหลักสิทธิมนุษยชนเชิงเปรียบเทียบ ผลของการคัดเลือกวิทยากรที่คุณสมบัติไม่ครบถ้วนจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของหลักสูตร

 การให้การฝึกอบรมแก่วิทยากรจากหน่วยงานเป้าหมายและจากองค์การ NGOs ที่ทำงานเกี่ยวข้องในด้านสิทธิมนุษยชน นับว่าเป็นประเด็นสำคัญเนื่องจากเป็นการเพิ่มจำนวนวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและเป็นการขยายการเผยแพร่ความรู้ในวงกว้างยิ่งขึ้น ดังนั้นการดำเนินการเบื้องต้นจึงจำเป็นจะต้องหาวิธีการให้ผู้เข้ารับการอบรม (วิทยากรจากหน่วยงานและจากองค์การ NGOs) เข้ามามีส่วนร่วมในหลักสูตร ในขณะเดียวกันก็ทำการพัฒนาทักษะความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชน

 

8.   วิธีการให้การศึกษา/ฝึกอบรมควรจะเป็นวิธีการที่สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของศาสนาและวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้น ๆ และจะต้องบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ในหลักสูตรฝึกอบรม

รูปแบบวิธีการฝึกอบรมในหลักสูตรสิทธิมนุษยชนไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับประเทศ หรือท้องถิ่นนั้น ๆ อาทิเช่น กลุ่มเป้าหมายในการฝึก    อบรม ระดับความรุนแรงในการละเมิดสิทธิมนุษยชน วิธีการในการฝึกอบรมจะต้องไม่ขัดต่อหลักศาสนาและวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ และที่สำคัญก็คือ วิธีการฝึกอบรมจะต้องเป็นวิธีการที่สามารถทำให้เกิดการเรียนรู้และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้

 9. หลักสูตรการฝึกอบรมต้องเป็นหลักสูตรที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ในสถานการณ์จริง และเป็นการรวบรวมเทคนิควิธีการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้และสามารถนำไปใช้ได้

ในกรณีที่หลักสูตรสิทธิมนุษยชนมีผู้พิพากษาเข้าร่วมอบรมในหลักสูตร ผู้จัดทำหลักสูตรจะต้องยกกรณีศึกษา หรือมีการยกเหตุการณ์สมมุติที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงให้ผู้พิพากษาตอบแนวทางการตัดสินคดีตัวอย่าง  หรือในกรณีของตำรวจก็จะเป็นการยกกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมการสืบสวนและสอบสวนโดยจะถามถึงแนวทางแก้ปัญหาเมื่อเกิดการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนในขอบเขตหน้าที่ของตำรวจ

ในการดำเนินการฝึกอบรมให้ความรู้  วิทยากรควรหลีกเลี่ยงที่จะยกตัวอย่างวิธีการทรมานร่างกาย การปฏิบัติอย่างโหดเหี้ยมและหลีกเลี่ยงที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม วิธีการที่ควรนำมาใช้ควรจะเริ่มโดยใช้การอภิปรายข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนว่าเป็นการก่ออาชญากรรมสำคัญในระดับนานาชาติ ระดับกลุ่มภูมิภาค และระดับประเทศ และพฤติกรรมเช่นนี้ สมควรที่จะได้รับการลงโทษ

 10.  สื่อการสอน/ฝึกอบรมควรเป็นสิ่งที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

ควรมีการวางเนื้อหา/สื่อการสอนในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับการ อบรมก่อนที่จะดำเนินการฝึกอบรม

 การจัดทำเอกสารประกอบการฝึกอบรมในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่จะฝึกอบรมและภาษาที่กลุ่มเป้าหมายใช้ในชีวิตประจำวันถือว่าเป็นการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวของการฝึกอบรม และเป็นการวางโครงสร้างหลักสูตรการฝึกอบรมอย่างมีประสิทธิภาพ

 

11. ควรมีการวางแผนในเรื่องการติดตามประเมินผลการฝึกอบรมตั้งแต่แรกเริ่มโครงการฝึกอบรม

กล่าวได้ว่าหากการฝึกอบรมหลักสูตรใด ๆ ก็ตามที่ขาดการติดตามและประเมินผล ประสิทธิภาพของโครงการจะไม่เกิดขึ้น การติดตามประเมินผลก่อให้เกิดการสนันสนุนและความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และโครงการติดตามและประเมินผลจะเป็นตัวเสนอแนะแก่วิทยากรและผู้วางนโยบายในการจัดหลักสูตรในการดำเนินการเพื่อรักษาระดับความต่อเนื่องและมาตราฐานการจัดฝึกอบรม

 เทคนิควิธีการที่ใช้ในการติดตามประเมินผลมีมากมายหลายชนิด อาทิเช่น การประชุมพบปะสังสรรค์ระหว่างผู้ที่สำเร็จการฝึกอบรมไปแล้ว การออกจดหมายข่าวที่ชักจูงให้เกิดการติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การใช้แบบประเมินผล และที่สำคัญในการติดตามประเมินผลทุกครั้งผู้ดำเนินโครงการจะต้องทำการติดต่อกับผู้เข้ารับการอบรมหลังจากที่เสร็จสิ้นหลักสูตรฝึอบรมไปแล้ว   ทั้งนี้เพื่อที่จะตรวจสอบว่าผู้เข้ารับการอบรมได้นำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติหรือไม่เพียงใด

 

12.  การประเมินผลการฝึกอบรมเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะเป็นการค้นหาข้อผิดพลาดและนำข้อเสนอแนะที่ได้ไปพิจารณาดำเนินการ

การกำหนดตัวบุคคลในการทำหน้าที่ประเมินผลโครงการเป็นเรื่องสำคัญและควรมีการวางแผนตั้งแต่แรกเริ่มโครงการ ทั่วไปแล้ว หน่วยงานที่ดำเนินการจัดฝึกอบรม ผู้เข้ารับการอบรม และหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการฝึกอบรมจะไม่เป็นผู้เข้ามามีบทบาทในการประเมินผล ในทางปฏิบัติ องค์การอิสระ (เช่นองค์การ NGOs  หรือสถาบันการศึกษาต่าง) จะเป็นผู้รับหน้าที่ในการประเมินผลการฝึกอบรม และเป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานด้านต่าง ๆ โดยมีหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ประชาชน และหน่วยงานระหว่างประเทศเป็นผู้ตรวจสอบข้อเสนอแนะต่าง ๆที่จะนำไปปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 หน่วยงานที่มีลักษณะงานเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนควรให้ความร่วมมือเข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งข้อมูลอันเป็นประโยชน์จากการเข้าร่วมฝึกอบรมของบุคคลากรจากหน่วยงานต่าง ๆ จะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในขณะนั้น และเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาจิตสำนึกในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน

 รัฐบาลควรที่จะตรวจตราสอดส่องการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ว่ามีความสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนเพียงใด และรัฐบาลควรให้รางวัลกับหน่วยงานที่มีการดำเนินงานสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ในขณะเดียวกันควรกำหนดมาตราการลงโทษหน่วยงานที่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน    ซึ่งหากทำเช่นนี้แล้ว การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนก็จะประสบความสำเร็จ ลุล่วงตามวัตถุประสงค์อย่างแน่นอน

จุฑารัตน์  สุวารี

 แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ  

Amesty International, International Secretaria (1998). " a 12-Point Guide for Good Practice in the   

                       training and Education for Human Rights of Government Officials", London, 

                       United Kingdom.