ชื่อเรื่องไทย วัชพืชที่สำคัญในสวนลำไยในที่ราบลุ่มเชียงใหม่  
ชื่อเรื่องอังกฤษ Major Weed Species in Longan Orchard in The Chiang Mai Valley
 
ผู้แต่ง วีระพล โสตถิพันธุ์กุล
 
สาขาวิจัย วิทยาศาสตรบัณฑิต  
สถาบัน สาขาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  
ปีที่พิมพ์ 2532  
ประเภท เขตกรรม  
บทคัดย่อ

ลำไยเป็นไม้ผลซึ่งถือได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดชนิดหนึ่งในเขตภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน มีพื้นที่เพาะปลูกลำไยสูงที่สุด การหาชนิดของวัชพืชที่สำคัญในสวนลำไย เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนควบคุมวัชพืชในสวนลำไย โดยทำการสำรวจวัชพืชในสวนลำไยโดยวิธีสุ่มเก็บ ปลายฤดูฝนเมื่อเดือนกันยายนจนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ในเขตอำเภอสารภี และอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับอำเภอสารภีอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 18 o 37' -18 o 45' และเส้นแวงที่ 99 o 00' - 99 o 08' ระดับความสูงของพื้นที่ 302 เมตร จากระดับน้ำทะเล และอำเภอแม่แตงอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 19 o 02' - 19 o 20' และเส้นแวงที่ 98 o 34' - 99 o 09' ระดับความสูงของพื้นที่ 336 เมตร เหนือจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และมีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,270 ม.ม. ต่อปีทั้งจังหวัด วัชพืชที่ทำการสำรวจพบ มีจำนวน 45 ชนิด สามารถจำแนกชื่อได้ทั้งสิ้น 41 ชนิด (species) และในจำนวนที่จำแนกชื่อได้แล้วนี้ กระจายอยู่ใน 12 วงศ์ (families) วัชพืชส่วนใหญ่จะพบอยู่ในวงศ์ Gramineae คือพบถึง 14 ชนิด ตามด้วย Compositae 6 ชนิด Amaranthaceae 4 ชนิด Cyperaceae 3 ชนิด จากการสำรวจพบว่าวัชพืชที่สามารถขึ้นได้ดีในทรงพุ่มลำไยคือ Tridax procumbens L. และชนิดของวัชพืชที่สามารถขึ้นได้ดีนอกทรงพุ่มออกไป คือ Eleusine indica (L.) Gaertn สำหรับ Panicum repens L. เป็นวัชพืชที่พบมาก และหนาแน่นทั้งในสวนลำไย อายุ 1- 4 ปี และอายุมากว่า 4 ปี อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงภาพรวมแล้ววัชพืชที่สำคัญในสวนลำไย อำเภอสารภีและอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงเวลาที่ทำการศึกษา ได้แก่ Panicum repens L. Eleusine indica (L.) Gaertn. Cynodon dactylon (L.) Pers. Cyperus kyllingia Endl. Eupatorium odoratum ตามลำดับ