ชื่อเรื่องไทย ผลของวิธีการควบคุมโรคและวัสดุที่ใช้ห่อ ต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของลำไยพันธุ์ดอ  
ชื่อเรื่องอังกฤษ Effect of Diseases Controled Methods and Wrapping Materials on Postharvest
Quality of Longan (Dimocarpus longan Lour.) var.Dor

 
ผู้แต่ง สุนทร มาสิงห์
 
สาขาวิจัย วิทยาศาสตรบัณฑิต  
สถาบัน สาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้  
ปีที่พิมพ์ 2538  
ประเภท วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว  
บทคัดย่อ

การศึกษาวิธีการควบคุมโรค และวัสดุที่ใช้ห่อต่อคุณภาพหลังเก็บเกี่ยวของลำไยพันธุ์อีดอเมื่อเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 9 วัน โดยวิธีการควบคุมโรค ทำโดยการจุ่มในน้ำร้อน 50 องศาเซลเซียส จุ่มในสารละลายเบนเลท ความเข้มข้น 500 ppm. จุ่มในสารละลายเบนเลท ความเข้มข้น 500 ppm.+ น้ำร้อน 50 องศาเซลเซียส และไม่ได้จุ่ม พบว่า ทุกกรรรมวิธีไม่มีผลต่อเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนัก การเปลี่ยนแปลงสีผิว การเกิดโรค ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ ปริมาณกรดที่ไตเตรทได้ และปริมาณวิตามินซี แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการควบคุมโรคสามารถช่วยทำให้ลำไยมีอายุการเก็บรักษานานขึ้น โดยการจุ่มในสารละลายเบนเลท+ น้ำร้อน การจุ่มในน้ำร้อนและไม่ได้จุ่ม ลำไยมีอายุการเก็บรักษา 8.7 , 8.1 , 7.1 และ 6.2 วัน ตามลำดับ
สำหรับการศึกษาผลของวัสดุที่ใช้ห่อขณะเก็บรักษา คือ ใช้พลาสติกโพลีเอทธิลีนพลาสติกโพลีไวนิลคลอไรด์ และไม่ได้ห่อ พบว่า การใช้พลาสติกห่อผล สามารถช่วยลดเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนักของผลลำไยลงได้ ซึ่งการใช้พลาสติกโพลีเอทธิลีน มีการสูญเสียน้ำหนักต่ำสุดคือ 0.84 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การใช้พลาสติกโพลีไวนิลคลอไรด์ ช่วยทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสีผิว และการเกิดโรคน้อยที่สุด โดยมีค่าเท่ากับ 0.15 และ 0.13 คะแนน ตามลำดับ และยังพบอีกว่า การห่อด้วยพลาสติกทำให้ลำไยมีอายุการเก็บรักษานานขึ้น โดยการห่อด้วยพลาสติกโพลีไวนิลคลอไรด์ และโพลีเอทธิลีน มีอายุการเก็บรักษา 8.3 และ 8.1 วัน ตามลำดับ เมื่อเทียบการไม่ได้ห่อผล ซึ่งมีการสูญเสียน้ำหนัก 8.43 เปอร์เซ็นต์ การเปลี่ยนแปลงสีผิว 0.58 คะแนน การเกิดโรค 0.41 คะแนน และมีอายุการเก็บรักษานาน 6.5 วัน แต่การไม่ได้ห่อผล นั้นทำให้ลำไยมีปริมาณของแข้งที่สามารถละลายน้ำได้และปริมาณวิตามินซีสูงสุด และนอกจากนี้ยังพบอีกว่า การใช้พลาสติกห่อผลไม่มีผลต่อปริมาณกรดไตเตรทได้