ชื่อเรื่องไทย ความสัมพันธ์ระหว่างความหนาแน่นของประชากรผึ้งพันธุ์(Apis mellifera L.)กับการติดผลของลำไย  
ชื่อเรื่องอังกฤษ Relationship between Honey Bee (Apis mellifera L.) Population Density and Longan Fruit Setting
 
ผู้แต่ง แขจรรยา สุตาคำ
 
สาขาวิจัย วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต  
สถาบัน ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  
ปีที่พิมพ์ 2541  
ประเภท เขตกรรม  
บทคัดย่อ

จากการศึกษาระหว่างความหนาแน่นของประชากรผึ้งพันธุ์ (Apis mellifera L.)ที่มีผลต่อการติดผลของลำไย (Nephelium longana Camp.) พันธุ์ดอ พบว่า การเพิ่มประชากรผึ้งพันธุ์ 12,000 ตัวต่อ 1,600 ตารางเมตร มีการติดผล 21.81 ? 3.19 เปอร์เซ็นต์ และการเพิ่มประชากรผึ้งพันธุ์ 36,000 ตัวต่อ 1,600 ตารางเมตร มีการติดผล 18.62?2.80 เปอร์เซ็นต์ สำหรับกรรมวิธีไม่เพิ่มประชากรผึ้งพันธุ์ มีการติดผล 12.76?1.67เปอร์เซ็นต์ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ (p<0.05) และเปอร์เซ็นต์การติดผลทุกรรมวิธีที่มีการเพิ่มประชากรผึ้งเป็นสหสัมพันธ์กับปริมาณผึ้งพันธุ์ที่ลงตอมดอกลำไย (p=0.02) เมื่อ Y=9.29+9.46X (r2=0.78) จากการประเมินค่ามูลทางเศรษฐกิจรายปี เมื่อใช้ผึ้งพันธุ์ช่วยในการผสมเกสร (annual value attribute to Apis mellifera L. : V hb ) พบว่า การเพิ่มประชากรผึ้งพันธุ์ 12,000 ตัวต่อ 1,600 ตารางเมตรมีค่า V hb สูงสุดเท่ากับ 16,285.50 บาทต่อไร่ต่อปี
ผลการตรวจนับ(visual count) จำนวนแมลงผสมเกสรที่ลงตอมดอกลำไย ตั้งแต่ช่วงเวลา 06.00-10.000, 10.00-14.00 และ 14.00-18.00 น. พบว่าผึ้งพันธุ์ (A. mellifera L.) ลงตอมดอกลำไยเพศผู้มากที่สุดในช่วงเวลา 06.00-10.00 น. คือ 6.09 ?1.25 ตัวต่อวันต่อ 9 ช่อ รองลงมาคือช่วงเวลา 10.00-14.00 น. เท่ากับ 4.61?0.77 ตัวต่อวันต่อ 9 ช่อ และน้อยที่สุดเทากับ 1.49+0.37 ตัวต่อวันต่อ 9 ช่อ ในช่วงเวลา 14.00-18.00 น. และพบแมลงผสมเกสรทั้งหมดมี 15 ชนิด (morphospecies)ได้แก่ ผึ้งพันธุ์ (A. mellifera ) 68.29 เปอร์เซ็นต์ ผึ้งโพรง (A. cerana F.) 2.58 เปอร์เซ็นต์ ผึ้งมิ้ม (A. florea F.) 4.35 เปอร์เซ็นต์ ผึ้งหลวง(A. dorsata F.) 0.46 เปอร์เซ็นต์ ชันโรง(Trigona spp.) 8.17 เปอร์เซ็นต์ แตน (Vaspa sp.) 1.04 เปอร์เซ็นต์ แมลงภู่ (Xylocopa sp.) 0.08 เปอร์เซ็นต์ มดดำ (Componotus compressus F.) 6.01 เปอร์เซ็นต์ แมลงวันบ้าน (Musca domestica L.) 3.58 เปอร์เซ็นต์ แมลงวันหัวเขียว (Chrysomyia sp.) 1.19 เปอร์เซ็นต์ แมลงวันดอกไม้ (Syrphus sp.) 1.62 เปอร์เซ็นต์ แมลงค่อมทอง(Hypomces squamosus F.) 1.39 เปอร์เซ็นต์ ผีเสื้อหญ้า (Eucromiid) 0.92 เปอร์เซ็นต์ แมลงปอเข็ม (Agriocnemis spp.) 0.08 เปอร์เซ็นต์ และเพลี้ยจั๊กจั่น (Idioscopus spp.) 0.19 เปอร์เซ็นต์ ส่วนความแปรปรวนสัมพัทธ์ (relative variation : RV) ของผึ้งพันธุ์ พบว่า RV มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.87 เปอร์เซ็นต์
จากการศึกษาโครงสร้างสังคมของพืชภายในสวนลำไย พบวัชพืชทั้งหมด 25 ชนิด วัชพืชที่เด่นคือ หญ้ายาง (Euphobia heterophylla L.) 17.69 เปอร์เซ็นต์ หญ้าแพรก (Cynodon dactylon (L.) Pers.) 13.52 เปอร์เซ็นต์ หญ้าตีนตุ๊กแก (Tridax procumbens L.) 10.77 เปอร์เซ็นต์ หญ้าชันกาด (Panicum repens L.) 8.59 เปอร์เซ็นต์ ดำผีแป๋ง (Digitaria bicornis (Lmk.) Roem & Schult.) 8.42 เปอร์เซ็นต์ และแห้วหมู (Cyperus rotundus L. spp. rotundus) 6.82 เปอร์เซ็นต์ สำหรับดัชนีความหลากชนิด (Shannon-Wiener index (H')) ดัชนีจำนวนชนิด ( Margalef's index หรือ species richness) และความสม่ำเสมอของชนิด (Modified Hill's ratio หรือ equitability ) มีค่าสูงสุดเท่ากับ 2.16 , 3.25 และ 0.70 ตามลำดับ