การศึกษา เรื่องการผลิตลำไยนอกฤดูของเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมบางประการ
วิธีการผลิตลำไย ความต้องการเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดู รวมทั้งปัญหาและข้อเสนอแนะของเกษตรกร
ตัวอย่างการศึกษามีจำนวน 100 ราย เป็นเกษตรกรในพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อน
และอำเภอสอยดาว เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ วิเคราะห์โดยใช้ค่าคะแนนความถี่
ค่าเฉลี่ย และค่าร้อยละ
ผลการศึกษา พบว่าเกษตรกรที่เป็นหัวหน้าครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย
คือ ร้อยละ 61 จบการศึกษาชั้นประถมศึกษา ร้อยละ 61 อายุเฉลี่ย 50.6
ปี จำนวนสมาชิกในครัวเรือน เฉลี่ย 4.82 คน มีแรงงานในครัวเรือน เฉลี่ย
2.56 คน มีรายได้เฉลี่ย 223,500 บาท/ปี มีขนาดพื้นที่ถือครองทางการเกษตร
เฉลี่ย 38.9 ไร่ มีพื้นที่ปลูกลำไย เฉลี่ย 17.4 ไร่ สำหรับพื้นที่ปลูกลำไยที่ให้ผลแล้ว
เฉลี่ย 12.90 ไร่ มีประสบการณ์ในการทำสวนลำไย เฉลี่ย 10.74 ไร่ สำหรับวิธีการผลิตของเกษตรกร
พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติในสวนลำไยปานกลาง คือ ร้อยละ
42 เลือกปลูกพันธุ์ลำไยที่เหมาะสมกับท้องถิ่นและตลาดต้องการ ร้อยละ
56 ใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีตามขนาดและอายุของต้น ร้อยละ 42 ควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยตามระยะการแตกใบออกดอกและติดผล
ร้อยละ 36 ตัดแต่งช่อดอกและผลให้มีปริมาณเหมาะสมกับต้น และร้อยละ
41 ตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งฉีกขาด กิ่งที่เป็นโรคทันทีหลังการเก็บเกี่ยว
แหล่งความรู้ที่ช่วยในการตัดสินใจผลิตลำไยนอกฤดู ส่วนใหญ่ได้จากการฝึกอบรม
คือร้อยละ 33 ส่วนสารเคมีที่ใช้ในการเร่งการออกดอกของลำไย ร้อยละ
58 โปรตัสเซียมคลอเรต รองลงมาคือ โซเดียมคลอเรต ร้อยละ 42 แหล่งที่มาของสารเร่งดอก
ส่วนใหญ่จากร้านเคมีเกษตร คือร้อยละ 33 และร้อยละ 84 ใช้วิธีผสมน้ำราดรอบชายพุ่มเพื่อเร่งการออกดอก
ความต้องการทางเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูกาลของเกษตรกร พบว่าเกษตรกรมีความต้องการมากที่สุดในทุก
ๆ ด้าน คือ ร้อยละ 58 ในด้านความก้าวหน้าทางวิชาการในเรื่องการผลิตลำไยนอกฤดู
ร้อยละ 57 ในด้านข่าวสารข้อมูลด้านการผลิตและการตลาด ร้อยละ 48 ในด้านการเตรียมสภาพต้นให้พร้อมเพื่อการออกดอก
ร้อยละ 45 ในด้านการจัดการเพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตลำไย ร้อยละ 44
ในด้านการเตรียมสภาพต้นให้พร้อมเพื่อการติดผล และร้อยละ 43 ในด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
ในด้านปัญหาและข้อเสนอแนะของเกษตรกรชาวสวนลำไย พบว่า ปัญหาที่เป็นข้อจำกัดในการตัดสินใจการผลิตของเกษตรกร
ที่มีปัญหาในระดับมากที่สุด คือ ร้อยละ 44 ในเรื่อง ขาดแคลนน้ำ และโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทาน
และร้อยละ 30 การใช้เทคโนโลยีการผลิตและปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม
ส่วนปัญหาที่มีในระดับมาก ได้แก่ ร้อยละ 35 การควบคุมปริมาณผลผลิตให้พอดีกับความต้องการของตลาด
ร้อยละ 34 ความเพียงพอของข้อมูลเพื่อตัดสินใจกำหนดการผลิต และร้อยละ
30 ความรู้เกี่ยวกับสภาพดินที่เหมาะสมกับสวนลำไย สำหรับปัญหาที่พบในระดับปานกลาง
คือ การระบาดของโรค และแมลงศัตรูลำไย สำหรับข้อเสนอแนะของเกษตรกร
พบว่าเกษตรกรอยากจะให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการมากที่สุดในทุก
ๆ เรื่อง คือ ร้อยละ 60 ควบคุมราคาปัจจัยการผลิต ร้อยละ 57 จัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอตลอดปี
ร้อยละ 55 จดทะเบียนผู้ปลูกลำไย ร้อยละ 54 ประสานการทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิต
และฝ่ายตลาด ร้อยละ 53 พยากรณ์การระบาดของบโรคและแมลง ร้อยละ 50
ความรู้ของเจ้าหน้าที่เกษตร ร้อยละ 46 กำหนดเขตเพาะปลูก และร้อยละ
45 ความก้าวหน้าด้านวิชาการ และเทคโนโลยีการผลิตลำไย
ข้อเสนอแนะของผู้ทำการศึกษาคือ ควรให้หน่วยงานของรัฐและเอกชน ทำการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีต่าง
ๆ ที่มีทิศทางที่เกี่ยวข้องกับกรรมวิธีที่จะนำไปสู่การผลิตลำไยที่มีคุณภาพ
การลดต้นทุนการผลิต การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงต้องสอดคล้องกับการบริโภค
และการตลาด ทั้งภายในและนอกประเทศ อีกทั้งควรส่งเสริมให้มีกรรวมกลุ่มผู้ผลิตลำไยนอกฤดู
ศึกษาและพัฒนาการใช้สารบังคับให้ลำไยออกดอก โดยคำนึงถึงความปลอดภัยต่อต้นลำไย
ต่อผู้ใช้ ต่อผู้บริโภค และต่อระบบนิเวศน์ และรัฐควรกำหนดนโยบาย
เขตการผลิต จดทะเบียนผู้ปลูกลำไยมีมาตรการส่งเสริมในแต่ละเขตที่มีศักยภาพในการผลิตลำไยให้ชัดเจน
พร้อมทั้งพัฒนาเจ้าหน้าที่และเกษตรกรไว้รองรับการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าว
นอกจากนี้ ควรมีการวางแผนการผลิตให้ผลิตออกมาในระยะเหมาะสม ตลอดจนเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร
ควรถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรและกลุ่มผู้ผลิตลำไย โดยเน้นกรรมวิธีการผลิตที่ยั่งยืน
ลดการใช้สารเคมีที่ทำลายระบบนิเวศน์ การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน
และที่สำคัญควรจะสร้างแบรนด์เนมสินค้าลำไยนอกฤดูจังหวัดจันทบรี โดยการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้บริโภค
ทั้งในและต่างประเทศ อันจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพการทำสวนลำไยตลอดไป
|