ชื่อเรื่องไทย สถานการณ์การตลาดลำไยในอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน  
ชื่อเรื่องอังกฤษ ไม่ปรากฏ  
ผู้แต่ง สุวรรณภัทร์ คหินทพงศ์  
สาขาวิจัย วิทยาศาสตรบัณฑิต  
สถาบัน ภาควิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  
ปีที่พิมพ์ 2544  
ประเภท การตลาด  
บทคัดย่อ
จากการศึกษาวิจัยเรื่อง สถานการณ์การตลาดลำไยใน อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาข้อมูลการใช้พื้นที่เพื่อการผลิตลำไย สถานการณ์ตลาดลำไย ปัญหาและอุปสรรคในด้านการตลาดของเกษตรผู้ปลูกลำไย
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ใช้การศึกษาวิจัยเชิงสำรวจ ได้ทำการศึกษาค้นคว้าจากเอกสารและศึกษาโดยใช้แบบสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกลำไย ในเขต อ.บ้านโฮ่ง จำนวน 118 ราย โดยการใช้การสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ จากผลการทดลองพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุระหว่าง 61-70 ปี มีจำนวนสมาชิกต่ำกว่าจำนวน 3 คน มีระดับการศึกษาชั้นประถมเป็นส่วนใหญ่ เกษตรกรนิยมปลูกลำไยพันธุ์ดอทั้งหมด พันธุ์ชมพูและเบี้ยวเขียวมีน้อยรายเท่านั้น มีพื้นที่การถือครองต่ำกว่า 10 ไร่ มีประสบการณ์ในการปลูกอยู่ระหว่าง 6-10 ปี ปลูกลำไยเป็นอาชีพหลักเป็นส่วนใหญ่ และเป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรกร
ปริมาณผลผลิตที่ได้ในแต่ละปีโดยเฉลี่ย พบว่าอัตราผลิตที่ตำกว่า 1,000 กก./ปี และ 1,000-2,000 กก./ปี มีอัตราเท่ากันร้อยละ 38.14 เกษตรกรมีการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตถึงร้อยละ 82.2 ลักษณะการใช้คือราดลงดิน ช่วงที่เกษตรกรนิยมใส่ระหว่างเดือน ตุลาคม-ธันวาคม อัตราที่ใช้อยู่ระหว่าง 500-1,500 กรัม/ต้น
เกษตรกรนิยมขายผลผลิตโดยการขายเหมามากที่สุด แรงงานในการเก็บลำไยใช้แรงงานชายทั้งหมด อัตราค่าแรงนิยมให้ 200 บาท/วัน แรงงานหญิงใช้ในการคัดคุณภาพ ค่าแรงต่อวันอยู่ที่ 100 บาท/วัน นิยมใช้ตะกร้าพลาสติกเป็นภาชนะบรรจุมากที่สุดและไม่มีการอบก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์หลังจากการเก็บผลผลิต
ราคาลำไยที่จำหน่ายได้ต่อกิโลกรัมได้ราคาระหว่าง 26-30 บาท มีเกษตรกรบางรายมีการแปรรูปโดยการอบแห้งทั้งเปลือก อบแห้งแกะเปลือกและดองเหล้า
เกษตรกรส่วนใหญ่ชอบการใส่สารโปตัสเซียมคลอเรตถึงร้อยละ 85 และพอใจในรายได้และพ่อค้าคนกลางให้ราคาที่ยุติธรรม คิดเป็นร้อยละ 78 เว้นเสียแต่ในบางปีที่ลำไยล้นตลาดจะขาดทุนอยู่บ้างและเสียราคาจากการแปรรูปเนื่องจากราคาที่ได้ไม้คุ้มกับต้นทุนที่เสียไป