ชื่อเรื่องไทย อิทธิพลของปุ๋ยและน้ำต่อการเจริญเติบโตของลำไยที่ยังไม่ให้ผลผลิต (อายุ 1-4 ปี)  
ชื่อเรื่องอังกฤษ ไม่ปรากฏ
 
ผู้แต่ง ดุสิต มานะจุติ, สุชาติ จิรพรเจริญ, โชคชัย ไชยมงคล, อัสนี นิมมลังกูล, สมศักดิ์ จีรัตน์
 
สาขาวิจัย รายงานวิจัย  
สถาบัน ภาควิชาปฐพีศาสตร์และอนุรักษ์ศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  
ปีที่พิมพ์ 2544  
ประเภท เขตกรรม  
บทคัดย่อ

การเจริญเติบโตของลำไยในด้านความสูง ความกว้างของทรงพุ่ม และเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นเฉลี่ยเนื่องจากอิทธิพลของตำรับปุ๋ยและระบบน้ำต่างๆ ในช่วง 10 เดือน(กรกฎาคม 2543 - เมษายน 2544) สรุปไว้ในตารางที่ 7 ซึ่งพบว่า ในด้านความสูงของลำต้นโดยเฉลี่ยแล้ว ตำหรับปุ๋ยที่ประกอบด้วยทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีที่ใส่มากครั้ง (T 6,T7) จะมีความสูงมากกว่าตำหรับอื่นๆ แต่โดยทั่วไปความสูงจะไม่แตกต่างกันมากนักและมีความผันผวนบ้าง เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกันให้น้ำแบบมินิสปริงเกอร์และน้ำหยด แต่การให้น้ำแบบน้ำหยดจะมีความสูงของทรงต้นลำไยไม่ผันผวนแตกต่างกันมากนัก โดยจะเพิ่มขึ้นตามลำดับปุ๋ยที่สูงขึ้น ตั้งแต่ต่ำสุดใน T1 และสูงสุดใน T7 ความกว้างของทรงพุ่มของลำไยพบว่าในระบบการให้น้ำแบบมินิสปริงเกอร์จะมากที่สุดในตำหรับที่ 5 และต่ำสุดในตำหรับปุ๋ยที่ 1 แต่จะมีความกว้างทรงพุ่มที่ผันแปรลดลงในตำหรับปุ๋ยที่ 6 และ 7 โดยมีความกว้างของทรงพุ่มที่น้อยกว่าตำหรับปุ๋ยที่ 5 ในการให้น้ำแบบหยดพบว่าในตำหรับปุ๋ยที่ 7 จะมีความกว้างมากที่สุดและน้อยที่สุดในตำหรับปุ๋ยที่ 1 ความแตกต่างของความกว้างของทรงพุ่ม เนื่องจากระบบน้ำที่แตกต่างกันจะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย สำหรับผ่าศูนย์กลางของลำต้นนั้นพบว่า ทั้งตำหรับปุ๋ยและระบบน้ำที่แตกต่างกันจะมีความผันแปรแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย เนื่องจากต้นลำไยยังมีอายุน้อยและมีการเจริญเติบโตของต้นด้านลำต้นไม่มากนัก
โดยสรุปแล้วในช่วงระยะเวลาของการทดลอง 10 เดือน ความแตกต่างของการเจริญเติบโตของลำไยทั้งทางด้านความสูง ความกว้างทรงพุ่มและเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น มีความผันแปรแตกต่างยังเห็นไม่ชัดเจนนักเนื่องจากเป็นระยะเริ่มแรกของงานทดลองและระบบการให้น้ำทั้งสองระบบยังไม่สมบูรณ์แบบ คือปริมาณการให้น้ำยังไม่สามารถควบคุมให้มีปริมาณที่ส่ำเสมอกันได้ตลอดเวลา ประกอบกับสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินและความสามารถในการอุ้มน้ำของดินไม่ค่อยดี เป็นดินทรายที่ความสามารถในการอุ้มน้ำได้ต่ำและมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ในระดับที่ต่ำถึงต่ำมาก งานทดลองในระยะที่นานขึ้นในปีที่สองและสามจะเห็นผลได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น