ชื่อเรื่องไทย มอดเจาะกิ่งลำไยและลักษณะการเข้าทำลาย  
ชื่อเรื่องอังกฤษ Asian ambrosia beetle of longan and its damaging characteristics  
ผู้แต่ง นรพัฒฌ์ อินทพันธ์
 
สาขาวิจัย วิทยาศาสตรบัณฑิต  
สถาบัน ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  
ปีที่พิมพ์ 2544  
ประเภท โรคและแมลง  
บทคัดย่อ

มอดเจาะกิ่งลำไย Xylossandrus spp. เป็นมอดเจาะกิ่งขนาดเล็กอยู่ในวงศ์ Scolytidae ซึ่งพบระบาดทำความเสียหายในสวนลำไย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นครั้งแรกในประเทศไทยตัวเต็มวัยเพศเมียมีสีดำ ขนาดตัวยาวประมาณ 2.32 มิลลิเมตร กว้าง 0.98 มิลลิเมตร มีขนละเอียดปกคลุมตลอดส่วนหัวและปีก มีหนวดตรงปลายป่องเป็นรูปทรงกระบอง ตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย ความยาวลำตัวประมาณ 2 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 0.9 มิลลิเมตร ไข่สีขาวใส รูปร่างยาวรี ขนาดไข่ยาว 0.7 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 0.33 มิลลิเมตร หนอนมีสีครีม ไม่มีขา หนอนโตเต็มที่ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ดักแด้มีสีครีม ระยะใกล้จะออกเป็นตัวเต็มวัย จะเห็นรยางค์ต่าง ๆ ชัดเจน มอดเจาะกิ่งลำไยตัวเต็มวัยเข้าทำลายในกิ่งลำไย ทำให้กิ่งเสียหาย ทำให้ยอดเหี่ยวแห้งและกิ่งหัก จากการทดสอบการเข้าทำลายของมอดเจาะกิ่งบนลำไยภายใน 24 ชั่วโมง ในห้องปฏิบัติการภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าความยาวของแผลที่มอดเจาะกิ่งเข้าทำลาย ในช่วงเวลาดังกล่าว เฉลี่ย 0.25 มิลลิเมตร การศึกษาชนิดของพืชอาหารและความชอบในพืชอาหาร ในเวลา 24 ชั่วโมง โดยนำพืชมาทดลองทั้งหมด 4 ชนิด คือ ชาทอง ไผ่ กาแฟและลำไย พบว่ากาแฟเป็นพืชอาหารที่ถูกมอดเจาะกิ่งลำไยเจาะเข้าทำลายมากที่สุด รองลงมาเป็นไผ่ ลำไย และชาทองตามลำดับ การหาอัตราการอยู่รอดของมอดเจาะกิ่งลำไยบน ลำไย และลิ้นจี่ พบว่า เมื่อนำมอดเจาะกิ่งเพศเมีย 5 ตัว ต่อเพศผู้ 1 ตัว ลงไปในแต่ละกิ่งทั้งหมด 5 กิ่ง ในลิ้นจี่พบอัตราการอยู่รอดของมอดเจาะกิ่งเพศเมีย 44 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในเพศผู้ 80 เปอร์เซ็นต์ ในกิ่งลำไยพบอัตราการอยู่รอดของมอดเจาะกิ่งเพศเมีย 64 เปอร์เซ็นต์ สำหรับเพศผู้ 40 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปล่อยให้เจาะทำลายเป็นเวลา 1 สัปดาห์