จากการศึกษาความสัมพันธ์ในลักษณะความเป็นไมคอร์ไรซ่าของเห็ดหนามและเห็ดมะม่วง
(Phlebopus portentosus Berk. et Br.) กับต้นไมยราพยักษ์
, มะขาม , กระถินและลำไย ทำการทดลองในสภาพห้องปฏิบัติการ โดยเฉพาะเมล็ดไมยราพยักษ์
มะขาม กระถินและลำไยลงในขวดแก้วทนความร้อนที่บรรจุดินอบนึ่งฆ่าเชื้อ
เมื่อพืชมีอายุได้ 2 สัปดาห์ จึงนำเชื้อเห็ดหนามและเห็ดมะม่วงที่เพาะเลี้ยงเชื้อเอาไว้
ไปปลูกถ่ายลงในขวดบริเวณโคนรากของต้นพืช ในการทดลองขั้นนี้แบ่งออกเป็น
3 กรรมวิธี กรรมวิธีที่ 1 เป็นชุดควบคุม(control) กรรมวิธีที่ 2
ใส่เชื้อเห็ดหนาม และกรรมวิธีที่ 3 ใส่เชื้อเห็ดมะม่วง หลังจากเชื้อเห็ดเจริญเข้าไปในรากพืชเป็นเวลา
1 เดือน ปรากฏว่า ต้นมะขามที่มีเชื้อเห็ดหนามและต้นลำไยที่มีเชื้อเห็ดมะม่วงมีการเจริญเติบโตดี
ส่วนต้นไมยราพยักษ์และกระถินตายหมด ซึ่งอาจเกิดจากมีเชื้อราอื่นๆ
ปนเปื้อนอยู่ด้วย ในขวดแก้วทนความร้อน รากมะขามที่ได้รับการปลูกเชื้อเห็ดหนาม
และรากลำไยที่ได้รับการปลูกเชื้อเห็ดมะม่วง ไม่มีเส้นใยของเห็ดแทงเข้าไปในเนื้อเยื่อของเซลล์ราก
สำหรับการทดลองในกระบะเพาะ และกระถาง ได้นำเมล็ดไมยราพยักษ์ มะขามและกระถินไปเพาะปลูกลงในดินที่ไม่อบฆ่าเชื้อ
เมื่อพืชมีอายุได้ 1 เดือน นำดินที่มีเชื้อเห็ดหนามและเห็ดมะม่วงใส่ลงไปผสมกับดินเดิม
หลังจากที่ปล่อยให้เชื้อเห็ดเจริญเข้าไปในรากพืชเป็นเวลา 1 เดือน
จึงนำรากพืชที่ได้จากการเพาะปลูกในขวดแก้วทนร้อน กระบะ และกระถางทั้งหมด
มาทำการย้อมสีรากด้วย โดยใช้ cotton blue 0.05% (w/v) , 0.10% (w/v)
และ chlorazole black E 0.10% (w/v) ใน lactoglycerol จากการทดลองพบว่า
ในกระบะ และกระถาง รากไมยราพยักษ์ที่ได้รับการปลูกเชื้อเห็ดหนาม
มีเส้นใยของเห็ดหนามแทงเข้าไปในเนื้อเยื่อของเซลล์ราก ชั้น cortox
มีลักษณะเส้นใยชัดเจนกว่ารากที่มีเส้นใยของเห็ดมะม่วงอยู่เป็นเชื้อราพวก
endomycorrhiza สำหรับรากมะขามและกระถิน พบว่ามีเส้นใยของเห็ดหนามและเห็ดมะม่วงแทงเข้าไปในเนื้อเยื่อพืชของเซลล์ราก
เป็นเชื้อรากพวก ectendomycorrhiza โดยติดสีย้อมของ cotton blue
และ chlorazole black E เมื่อเปรียบเทียบกับชุด control ไม่พบเส้นใยของเชื้อราในเนื้อเยื่อของเซลล์ราก
ดังนั้นเห็ดหนามและเห็ดมะม่วงจึงมีความสัมพันธ์แบบ mycorrhiza กับต้นไมยราพยักษ์
มะขาม กระถินและลำไย
|