การสำรวจและจำแนกชนิดของเพลี้ยไฟบนช่อดอกลำไยในสวนลำไย จังหวัดเชียงใหม่
และลำพูน ระหว่างเดือนมีนาคม 2543 ถึง เดือนเมษายน 2544 โดยวิธีการสุ่มเคาะช่อดอกลำไยแล้วนำมาตรวจนับ
และแยกชนิดเพลี้ยไฟในห้องปฏิบัติการ พบเพลี้ยไฟทั้งหมด 5 ชนิด ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์
Phlaeothripidae 1 ชนิด คือ Haplothrips sp. วงศ์ Thripidae
4 ชนิด คือ Scirtothrips dorsalis Hood, Megalurothrips
sp., Thrips coloratus Schumtz และ Thrips hawaiiensis
Morgan โดยพบเพลี้ยไฟเป็นจำนวนมากในเดือนมีนาคม และเดือนเมษายน สำหรับชนิดที่พบมากที่สุดคือ
Scirtothrips dorsalis Hood
เมื่อทำการศึกษาชนิดและปริมาณเพลี้ยไฟ โดยใช้กับดักกาวเหนียว 4 แบบ
พบเพลี้ยไฟที่ดักได้ 5 ชนิด เช่นเดียวกับวิธีสุ่มเคาะจากช่อดอก และชนิดที่มากที่สุด
คือ Scirtothrips dorsalis Hood เช่นเดียวกัน จากการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของกับดัก
พบว่ากับดักกาวเหนียวรูปทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15 เซนติเมตร
สูง 30 เซนติเมตร แขวนนอกทรงพุ่มลำไยเหนือระดับดิน 1.5 เมตร มีประสิทธิภาพในการดักเพลี้ยไฟได้มากที่สุด
เฉลี่ย116.60 ตัวต่อกับดัก ส่วนกับดักแบบท่อฝังดินทรงกระบอก มีประสิทธิภาพในการดักเพลี้ยไฟได้น้อยที่สุดเฉลี่ย
0.70 ตัวต่อกับดัก ในช่วงลำไยบานเดือนมีนาคม 2544 ลักษณะเพลี้ยไฟมีสีน้ำตาลจนถึงสีดำ
โดยเพลี้ยไฟดูดกินทั้งผิวบน และผิวด้านล่างของใบโดยเฉพาะบริเวณเส้นกลางใบ
ทำให้ขอบใบแห้งและม้วนหงิกลงใต้ใบ สีของใบซีด เนื้อใบเป็นจุดสีเหลือง
และจุดสีน้ำตาลตรงบริเวณที่ถูกดูดกิน ใบที่ถูกทำลายเหี่ยวแห้งและร่วงก่อนกำหนดได้
ส่วนในระยะดอกพบเพลี้ยไฟจำนวนมากในระยะดอกบาน เนื่องจากมีน้ำหวานมาก
บริเวณฐานรองกลีบดอกเพลี้ยไฟทั้งตัวอ่อน และตัวเต็มวัยเข้าดูดกินน้ำเลี้ยง
และน้ำหวานในส่วนของกลีบดอก กลีบเลี้ยง ก้านชูอับเรณู ฐานรองกลีบดอก
และรังไข่ ทำให้เกิดรอยช้ำ ไหม้ แผลจากการเข้าทำลายทำให้ดอกนั้นแห้งและร่วงก่อนกำหนด
การทดสอบประสิทธิภาพของสารฆ่าแมลงชนิดต่าง ๆ ในสภาพสวนที่เพลี้ยไฟระบาดเป็นจำนวนมาก
พบว่าสารเคมีกำจัดแมลง dimethoate 40% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ
20 ลิตร มีประสิทธิภาพดีในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ และทำให้มีการติดผลมากกว่าช่อดอกลำไยที่ไม่ได้พ่นสารเคมีกำจัดแมลง
ดังนั้นการเข้าทำลายช่อดอกลำไยของเพลี้ยไฟ จึงมีผลกระทบต่อการติดผลของลำไย
|