หนอนกินใบที่ได้จากการสำรวจในบางอำเภอของ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน
ในปี 2530 2540-2543 พบหนอนกินใบลำไย 13 ชนิด คือ หนอนผีเสื้อปีกปม
(Dudusa sp.) หนอนร่าน (Parasa sp.) บุ้งปกเหลืองลำไย
(Orgyia sp.) หนอนคืบเขียวลำไย (Thalassodes sp.1) หนอนคืบดำ
(geometrid) ไม่ทราบชนิด หนอนม้วนใบ (Statherotis sp.) หนอนคืบ
(Oxyodes scobiculata) บุ้งขนเหลืองอกดำ (Dasychira
sp.) หนอนคืบเขียวลายน้ำตาล (Thalassodes sp.2) หนอนกัดใบ
(Sybrida sp.) หนอนหัวสั่น (notodontid) ไม่ทราบชื่อชนิด
หนอนวุ้นลำไย (Cheromettia sp.) และหนอนร่านแบน (Thosea
sp.) โดยพบมากเรียงไปหาน้อยตามลำดับ อำเภอที่พบหนอนกินใบมากที่สุดคือ
อำเภอหางดง และสารภี จังหวัดเชียงใหม่ พบ 9 ชนิด เดือนพฤศจิกายน
พบชนิดของหนอนมากที่สุด คือ 9 ชนิด เดือนมกราคมพบจำนวนหนอนกินใบลำไยมากที่สุด
คิดเป็นร้อยละ 4.94
หนอนผีเสื้อปีกปม (Dudusa sp.) มีสีค่อนข้างน้ำตาล ลวดลายดำ
หนามอยู่ด้านบนลำตัวโคนหนามสีครีม ปลายหนามสีดำ ระยะหนอน 49.89 วัน
ระยะดักแด้ 22.54 วัน ตัวเต็มวัยสีน้ำตาลปลายส่วนท้องมีขนเป็นพู่
หนอนหัวสั่น (notodontid) ไม่ทราบชื่อชนิด มีสีน้ำตาลเข้ม ส่วนปล้องรองสุดท้ายขยายนูนกว่าส่วนอื่น
ๆ ด้านล่างมีโครงสร้างยื่นยาว 1 คู่ หนอนร่าน (Parasa sp.)
มีสีเขียว ค่อนข้างอ่อนคล้ายใบลำไยเพสลาด มีหนามที่มีต่อมพิษ เมื่อสัมผัสทำให้ปวดแสบปวดร้อน
ดักแด้เป็นก้อนแข็งผิวเรียบ ระยะดักแด้ 23.66 วัน ตัวเต็มวัยปีกคู่หน้า
โคนปีกถึงกึ่งกลางปีกมีสีเขียว ส่วนที่เหลือสีน้ำตาลอ่อน หนอนร่านแบน
(Thosea sp.) ลำตัวสีเขียว แบนทั้งด้านบนและด้านล่างมีเส้นสีเหลืองอยู่ตรงกลางของส่วนหลัง
ด้านข้างลำตัวมีส่วนยื่นคล้ายขนหรือหนาม หนอนวุ้นลำไย() คล้ายวุ้นสีเขียวใส
(Cheromettia sp.) ด้านบนลำตัวมีจุดสีเหลืองและไม่มีหนาม
บุ้งปกเหลืองลำไย (Orgyia sp.) หนอนมีขนยาวใกล้ส่วนหัว และด้านบนปล้องรองสุดท้าย
ด้านล่างมีขนสีน้ำตาลโดยรอบ ดักแด้เพศเมียมีสีขาวอมเหลือง มีรังดักแด้
ตัวเต็มวัยเมียไม่มีปีก ตัวผู้มีลักษณะเหมือนผีเสื้อโดยทั่วไป บุ้งขนเหลืองอกดำ
(Dasychira sp.) ลำตัวมีขนยาวสีเหลือง ด้านบนของส่วนอกมีสีดำ
หนอนคืบเขียวลำไย (Thalassodes sp.1) มีสีเขียวคล้ายใบไม้
ลำตัวยาวเรียว หนอนเข้าดักแด้ โดยสร้างเส้นใยยึดติดกับใบลำไย ตัวเต็มวัยสีเขียวอมเทา
หนอนคืบเขียวลายน้ำตาล (Thalassodes sp.2) ลำตัวยาวเรียวปลายส่วนท้องรวมทั้งปล้องที่มีขาเทียมมีสีน้ำตาล
ท้องแต่ละปล้องมีแถบสีน้ำตาลพาดอยู่ด้านบนลงมาด้านข้างประมาณครึ่งลำตัว
หนอนคืบดำ (geometrid) ไม่ทราบชื่อชนิด ลำตัวยาวสีน้ำตาลเข้ม ด้านบนลำตัวมีสีขาวบนปล้องที่
1-4 หนอนกัดใบ (Sybrida sp.) ตัวเต็มวัยปีกหน้าสีน้ำตาลเข้ม
ปีกหลังเพศเมียสีน้ำตาล เพศผู้สีน้ำตาลอ่อน หนอนม้วนใบ (Statherotis
sp.) ส่วนหัวสีน้ำตาล ลำตัวสีขาวอมเหลือง หนอนคืบลำไย (Oxyodes
scobiculata) มีสีเขียวอ่อนเคลื่อนไหวเร็ว ระยะหนอน 22 วัน รังดักแด้ทำด้วยใบลำไย
ระยะดักแด้ 11 วัน ตัวเต็มวัยมีสีคล้ายฟางข้าว ปีกหน้าบริเวณปลายปีกมีสีน้ำตาลเข้ม
บริเวณใกล้โคนปีกมีจุดสีน้ำตาลเข้มข้างละ 1 จุด ขอบปีกด้านบนของปีกหลังมีแถบสีน้ำตาลเข้ม
|