ชื่อเรื่องไทย ผลของโพแทสเซียมคลอเรทในการชักนำการออกดอกในระหว่างการเจริญของต้นกล้าลำไย(Dimocarpus longan Lour.)  
ชื่อเรื่องอังกฤษ Effect of Potassium Chlorate on Floral Induction During Development of Longan Seedling (Dimocarpus longan Lour.)  
ผู้แต่ง ณัฏฐิณี บัวพงษ์
 
สาขาวิจัย วิทยาศาสตร์(ปัญหาพิเศษ)  
สถาบัน ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  
ปีที่พิมพ์ 2545  
ประเภท เขตกรรม  
บทคัดย่อ

ศึกษาผลของโพแทสเซียมคลอเรทในการชักนำการออกดอกในระหว่างการเจริญของต้นกล้าลำไยตั้งแต่ระยะที่เมล็ดกำลังงอกจนกระทั่งเจริญเป็นต้นอ่อนและต้นกล้า รวมทั้งศึกษาการเจริญในระยะต่างๆ เมื่อเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อเป็นเวลา 1 ปี จากการทดลองไม่พบว่ามีการออกดอกเกิดขึ้นไม่ว่าจะให้สารในระยะใดของการเจริญ แต่ได้บันทึกผลเกี่ยวกับเปอร์เซ็นต์การงอก เปอร์เซ็นต์การรอด ความสูง และความยาวรากไว้ดังนี้ เปอร์เซ็นต์การงอก เปอร์เซ็นต์การรอดหลังจากที่แช่เมล็ดในสารละลายโพแทสเซียมคลอเรทความเข้มข้น 2.5 และ 5.0 กรัมต่อลิตร แล้วแบ่งเมล็ดเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำ ส่วนอีกกลุ่มนำไปปลูกทันที พบว่าเมล็ดมีการงอกในกลุ่มที่เก็บเมล็ดไว้ที่อุณหภูมิต่ำมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เก็บเมล็ดที่อุณหภูมิต่ำและได้รับสารความเข้มข้นสูง และมีการรอดในกลุ่มที่เก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เก็บที่อุณหภูมิต่ำที่ทุกความเข้มข้น นอกจากนี้ยังพบว่า การให้สารโดยการคลุกเมล้ดซึ่งไม่ได้เก็บที่อุณหภูมิต่ำก็มีเปอร์เซ็นต์การรอดต่ำเช่นกัน สำหรับการทดลองราดสารแก่ต้นอ่อนลำไยอายุ 7 วัน พบว่ากลุ่มที่ได้รับสารความเข้มข้นสูงจะมีความสูงน้อย แต่มีเปอร์เซ็นต์การรอดเป็นปกติทั้งในกลุ่มที่ได้รับสารความเข้มข้นต่ำและสูง ส่วนการทดลองพ่นสารโพแทสเซียมคลอเรทความเข้มข้น 0.75 และ 1.5 กรัมต่อลิตรแก่ต้นกล้าลำไยอายุ 3 เดือน พบว่ากลุ่มที่ได้รับสารทั้ง 2 ความเข้มข้นมีความสูงเป็นปกติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม จากการศึกษาการเจริญในสภาพปลอดเชื้อในอาหารที่ผสมสารโพแทสเซียมคลอเรทความเข้มข้น 400 และ 600 ?M และ 5- AzaC ความเข้มข้น 250 และ 500 ?M แล้วติดตามผลเป็นเวลา 1 ปี พบว่ากลุ่มที่ได้รับสารแต่ละชนิดที่ความเข้มข้นต่างๆ มีเปอร์เซ็นต์การงอกเป็นปกติ ส่วนความสูงเมื่ออายุ 1 ปี พบว่ากลุ่มที่ได้รับสารโพแทสเซียมคลอเรท และกลุ่มที่ได้รับสาร 5- AzaC มีแนวโน้มที่จะมีความสูงน้อยกว่ากลุ่มควบคุม ความยาวรากของกลุ่มที่ได้รับสารแต่ละชนิดที่ความเข้มข้นต่ำ มีแนวโน้มที่จะมีความยาวรากมากกว่ากลุ่มที่ได้รับสารความเข้มข้นสูง