จากการศึกษาเพื่อหาอุณหภูมิและระยะเวลาที่ใช้ในการอบลำไยให้ได้ผลดีที่สุดสำหรับลำไยแต่ละพันธุ์
โดยพิจารณาถึงปริมาณความชื้น ปริมาณกำมะถันในรูปซัลเฟอร์ไดออกไซด์
สี ลักษณะของเนื้อ รสและกลิ่น ตลอดจนความสามารถในการคืนรูป(rehydration)
ของลำไยแห้งที่ได้ จะเห็นว่าวิธีการเตรียมลำไยโดยนำเนื้อลำไยมาแช่ในสารละลายโปตัสเซียมเมตาไบซัลไฟต์
0.5% เป็นเวลา 30 นาทีแล้วช้อนขึ้นตั้งทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ นำมาเกลี่ยลงบนตะแกรงสำหรับตาก
นำเข้าอบให้แห้ง เป็นวิธีเตรียมที่เหมาะสมสำหรับลำไยพันธุ์ดอ พันธุ์แดง
พันธุ์ใบดำ และพันธุ์เบี้ยวเขียว เพราะใบลำไยแห้งจะมีปริมาณน้ำตาลสูง
และมีปริมาณกำมะถันในรูปของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ประมาณ 1500-2500 ppm
(มิลลิกรัมต่อน้ำหนักลำไย 1 กก.) ซึ่งไม่มากเกินกว่าที่กฏหมายอนุญาตให้ใช้และเพียงพอที่จะรักษาสีของลำไยไม่ให้เปลี่ยนเป็นสีดำ
และป้องกันไม่ให้ลำไยเน่าเสียได้อีกด้วย ส่วนพันธุ์แห้ววิธีที่เหมาะคือ
วิธีการเตรียมโดยนำเชื้อลำไยมาเกลี่ยลงบนตะแกรงสำหรับตาก แล้วนำไปรมควันกำมะถันที่เกิดจาการเผากำมะถัน
0.5% ของน้ำหนักเนื้อลำไย เป็นเวลา 30 นาที ซึ่งวิธีดังกล่าวก็สามารถจะใช้กับลำไยพันะอื่นได้ด้วย
ผลจากการเตรียมโดยวิธีนำเอาเนื้อลำไยที่คว้านแล้วไปแช่ในสารละลายแคลเซียมคลอไรด์
0.5% เป็นเวลา 15 นาที ก่อนจะนำไปรมควันกำมะถันเพื่อเป็นการปรับปรุงลักษณะเนื้อของลำไยให้มีคุณภาพดีขึ้นภายหลังจากการอบแห้ง
เมื่อตรวจคุณภาพโดยการชิมแล้วไม่แตกต่างจากลำไยที่ไม่ได้แช่สารละลายแคลเซียมคลอไรด์
ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการทำลำไยแห้งไม่ต้องนำเนื้อลำไยมาต้มฆ่าเชื้อแบบการทำลำไยกระป๋อง
ส่วนลำไยที่อบแห้งทั้งเปลือก วิธีที่นำเอาลำไยที่มีขั้วติดที่ผลมารมควันกำมะถันที่เกิดจากการเผากำมะถัน
0.5% ของน้ำหนักลำไยเป็นเวลา 30 นาที เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากลำไยแห้งที่ได้จะยังคงรูปลักษณะภายนอกเหมือนเดิมไม่บุบหรือแตก
ในขณะที่ลำไยที่นำมานึ่งเป็นเวลา 30 นาที ก่อนจะนำไปอบให้แห้งนั้นถึงแม้สีเปลือกจะใสขึ้นก็ตาม
แต่เปลือกนอกจะแตกหรือบุบ ซึ่งไม่เหมาะที่จะเก็บไว้นานๆ เพราะจุลินทรีย์มีโอกาสจะเข้าไปเจริญเติบโตได้ง่าย
อีกทั้งจะต้องใช้เวลาในการอบนานกว่าด้วย
จากการทดลองอบลำไยที่อุณหภูมิต่างๆ กัน คือ 140oฟ , 150 oฟ และ 160
oฟ เพื่อศึกษาหาอุณหภูมิที่เหมาะสมในการอบลำไยแต่ละพันธุ์โดยพิจารณาถึงรสและกลิ่น
สี ตลอดจนลักษณะของเนื้อภายหลังการคืนรูป (rehydration) ของลำไยแห้งที่ได้
พบว่า อุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดในการอบลำไยทั้งเปลือกสำหรับพันธุ์ดอ
พันธุ์แดง พันธุ์เบี้ยวเขียว และพันธุ์แห้ว คือ ที่ 140 oฟ ระยะเวลาที่ใช้ในการอบเพื่อให้มีปริมาณความชื้นเหลืออยู่ประมาณ
11-13% จะใกล้เคียงหรือแตกต่างกันไปบ้างตามปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่และขนาดของผลกล่าวคือ
ลำไยที่มีปริมาณน้ำตาลมาก ต้องใช้เวลาในการอบนานกว่าลำไยที่มีปริมาณน้ำตาลน้อย
และลำไยที่มีขนาดของผลใหญ่ต้องใช้เวลาในการอบมากกว่าลำไยที่มีขนาดของผลเล็ก
จากผลการทดลอง ลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียว ใช้เวลาในการอบนานที่สุด คือ
52 ชั่วโมง รองลงมาคือ พันธุ์แห้ว พันธุ์แดง และพันธุ์ดอ ซึ่งใช้เวลาในการอบ
47, 46 และ 40 ชั่วโมงตามลำดับ ถ้าพิจารณาถึงลักษณะเนื้อ สี รสและกลิ่น
กับความสามารถในการคืนรูปแล้ว ลำไยทั้ง 4 พันธุ์ซึ่งอบที่อุณหภูมิดังกล่าวจะมีสีน้ำตาลอ่อน
มีกลิ่นหอม และสามารถคืนรูปได้ดีกว่าเมื่อนำมาต้มเป็นน้ำลำไย (ค่า
rehydration value ประมาณ 2.3) อีกทั้งลักษณะเนื้อลำไยที่ได้จะยังคงกรอบคล้ายของสดมากกว่า
ลำไยที่อบให้แห้งที่อุณหภูมิอื่นๆ ส่นลำไยที่แกะเปลือก คว้านเอาเมล็ดออกนั้น
อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับลำไยพันธุ์ดอ พันธุ์แดง พันธุ์เบี้ยวเขียว
และพันธุ์แห้ว คือ 150 oฟ ระยะเวลาที่ใช้ในการอบคือ 24, 24, 34 และ
30 ชั่วโมง ตามลำดับ โดยมีปริมาตรความชื้นเหลืออยู่ประมาณ 11-13%
มีรูปลักษณะยังคงเป็นผล มีสีน้ำตาลอ่อนกว่า มีกลิ่นหอม สามารถคืนรูปได้ดีกว่า
เมื่อนำมาต้มเป็นน้ำลำไย (ค่า rehydration value ประมาณ 3) และมีลักษณะเนื้อลำไยกรอบเหมือนลำไยสดมากกว่าลำไยที่นำมาอบให้แห้งที่อุณหภูมิอื่นๆ
ถ้าเปรียบเทียบค่า rehydration value ของลำไยอบแห้งที่ทำขึ้นกับของกรมวิทยาศาสตร์
กระทรวงอุตสาหกรรม จะเห็นว่ามีค่าใกล้เคียงกันโดยลำไยแห้งของกรมวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรม
มีค่า ค่า rehydration value ประมาณ 2.5 - 3.0
สำหรับลำไยพันธุ์ใบดำได้ทำการทดลองอบที่อุณหภูมิ 150 oฟ และ 160
oฟ โดยมีวิธีเตรียมเพียง 4 วิธีเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากลำไยพันะดังกล่าวหมดฤดูกาลเสียก่อนที่การทดลองจะเสร็จสิ้น
จากผลการตรวจคุณภาพ ปรากฏว่าลำไยแห้งพันธุ์ใบดำไม่ว่าจะเป็นแบบที่อบแห้งทั้งเปลือกหรือแกะเปลือกคว้านเอาเมล็ดออกที่อุณหภูมิ
150 oฟ และ 160 oฟ ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณะ สี และลักษณะของเนื้อก็ตาม
ยังได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งนี้เนื่องจากสีของลำไยแห้งที่ได้ ยังเป็นสีน้ำตาลที่ค่อนข้างจะแก่เกินไป
และมีลักษณะไม่ค่อยเป็นเมล็ด ถ้าหากใช้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 150 oฟ
ในการอบจะทำให้คุณภาพดังกล่าวดีขึ้นได้
ในด้านความพอใจของผู้ชิมที่มีต่อลำไยแห้ง พบว่าลำไยแห้งแบบแกะเปลือกคว้านเมล็ดออกและอบที่อุณหภูมิ
140 oฟ , 150 oฟ และ 160 oฟ จะมีคะแนนเฉลี่ยความพอใจของผู้ชิมใกล้เคียงกัน
แต่จะแตกต่างกันสำหรับลำไยที่อบแห้งทั้งเปลือกกล่าวคือ ลำไยแห้งที่อบที่อุณหภูมิ
140 oฟ จะได้รับความนิยมสูงสุดรองลงมาคือ ที่อุณหภูมิ 150 oฟ และ
160 oฟ ตามลำดับ
เมื่อเปรียบเทียบความพอใจของผู้ชิมที่มีต่อลำไยแห้งทั้งสองชนิด จะเห็นว่าลำไยแห้งแบบแกะเปลือก
คว้านเอาเมล็ดออก จะได้รับความนิยมมากกว่าลำไยแห้งแบบอบทั้งเปลือก
การเก็บรักษา ลำไยแห้งทุกพันธุ์ที่ทำการอบแล้วบรรจุไว้ในถุงพลาสติกสามารถเก็บไว้นานประมาณ
1 ปี โดยปราศจากการเน่าเสียอันเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ และปริมาณความชื้นจะเปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อยในระหว่างที่เก็บ
|