ตามรอยครูสุนทรภู่ 

กวีไทย ดอกสารภี บ้านกลอนรจนา กุหลาบเวียงพิงค์

ลิงค์ทั่วไทย ลิงค์ทั่วโลก


ตอน ๑

ชีวประวัติสุนทรภู่

สุนทรภู่เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๑๒๑๖ ในเขตบางกอกน้อยตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี บิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอเมืองแกลง จังหวัดระยอง มารดาเป็นชาวเมืองอื่น ได้พากันมาอยู่ด้วยกันในกรุงเทพมหานคร

สุนทรภู่เกิดเมื่อหลังจากได้สร้างกรุเทพมหานครแล้ว ๔ ปี

แล้วต่อมาในภายหลังบิดามารดาได้หย่าร้างกัน บิดากลับไปบวชอยู่ที่เมืองแกลง ส่วนมารดาได้สามีใหม่มีบุตรหญิงอีก ๒ คน ชื่อ ฉิม คนหนึ่ง ชื่อ นิ่ม คนหนึ่ง

แล้วได้เป็นนางนมพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง (พระองค์เจ้าจงกล) ดังนั้นสุนทรภู่จึงได้อยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลังมาแต่เด็ก

เมื่อสุนทรภู่อายุได้ประมาณ ๒ ขวบ มารดาได้นำไปฝากให้เรียน หนังสือกับพระในสำนักวัดชีปะขาว

(ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามในรัชกาลที่ ๓ ว่า

วัดศรีสุดาราม อยู่ริมคลองบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร) ได้บวชเรียนอยู่ที่วัดหลายปีจนเป็นหนุ่ม เคยเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน

แต่อุปนิสัยไม่ชอบการทำงานอย่างอื่น นอกจากแต่งบทกลอน และถนัดบอกดอกสร้อยสักวาได้แต่รุ่นหนุ่ม

ด้วยเหตุเป็นเจ้าบทเจ้ากลอน จนเกิดความคะนองใจ

จึงลักลอบรักใคร่กับผู้หญิงชื่อ จัน ที่อยู่ภายในพระราชวังหลัง จึงถูกจำเวรทั้งชายหญิง เมื่อทั้งสองถูกจำเวรอยู่ไม่นานนัก เมื่อสุนทรภู่อายุได้ ๒๐ ปี เป็นเวลาที่กรมพระราชวังหลังทิวงคต คือ เมื่อ พ.ศ.๒๓๔๙ จึงได้ออกเดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลง และได้แต่งนิราศเมืองแกลงขึ้น นับว่าเป็นนิราศเรื่องแรกของสุนทรภู่ บิดาของสุนทรภู่ได้บวชเป็นเจ้าคณะเมืองแกลง มีฐานานุกรมเป็นพระครูธรรมรังสี การที่สุนทรภู่ไปหาบิดาครั้งนี้ เนื่องด้วยมีอายุครบอุปสมบท ต้องการบวชล้างอัปมงคล ที่ถูกเวรจำแต่ก็ไม่ได้บวชเพราะป่วยเป็นไข้ป่ามีอาการหนักแทบถึงตาย

ต้องรักษาพยาบาลกันแรมเดือนจึงได้หาย พอหายดีก็เดินทางกลับมากรุงเทพมหานคร

เมื่อสุนทรภู่กลับมาจากเมืองแกลงแล้ว ได้มาเป็น

มหาดเล็กพระองค์เจ้าปฐมวงศ์พระโอรสพระองค์น้อยของกรม พระราชวังหลัง ในเวลาไม่นานนักก็ได้แต่งงานอยู่กินกับหญิง ชื่อ จัน ชาววังผู้เป็นที่รัก ครั้นในภายหลังนางจันภรรยาได้หนี ไปจากบ้าน เข้าใจว่าไม่สามารถทนทานกับการเป็นเจ้าชู้และขี้เมา ของสุนทรภู่ไม่ไหว ตามหลักฐานที่ปรากฎในนิราศต่าง ๆ สุนทรภู่มีเมียราว ๔-๕ คน คือ นางจัน นางม่วง นางนิ่ม นางแก้ว และนางบัวคำ

และมีบุตรเพียง ๓ คนเท่านั้นคือ หนูพัด หนูตาม และหนูนิล

เมื่อขึ้นรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก ในกรมพระอาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดปรานกวีมาก จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้สุนทรภู่เป็น ขุนสุนทรโวหาร เป็นที่ปรึกษาทางกวีนิพนธ์ ประจำพระองค์

เมื่อสุนทรภู่ได้เป็นขุนสุนทรโวหารแล้ว ในขณะที่กำลังเมาสุราได้ไปหามารดา มารดาได้ว่ากล่าว กลับขู่เข็นมารดาขณะนั้นญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งได้เข้า ไปห้ามปราม ถูกสุนทรภู่ทุบตีจนบาดเจ็บสาหัส ญาติผู้นั้นได้นำความขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ขุนสุนทรโวหารถูกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกริ้วมาก ถึงกับรับสั่งเอาตัวไปจำคุก สุนทรภู่ติดคุกอยู่ไม่นานเท่าใด ได้อาศัยความรู้ทางกวีช่วยให้ตนเองหลุดพ้นออกมา จากคุกได้ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์ บทละครเรื่องรามเกียรติเกิดติดขัด ไม่มีผู้ใดแต่งให้พอ พระราชหฤทัยได้ จึงรับสั่งให้มหาดเล็กไปเบิกตัวสุนทรภู่ออกมา สุนทรภู่ก็สามารถแต่งบทละครต่อได้ดังพระราชประสงค์ในเวลา อันสั้น ได้โปรดให้พ้นโทษและกลับเข้ามารับราชการตามเดิม

เมื่อปลายรัชกาลที่ ๒ ได้โปรดให้ขุนสุนทรโวหารเป็นครูสอนหนังสือ ถวายพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอาภรณ์ แม้แต่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ยังเลื่อมใส ศรัทธาในตัวสุนทรโวหารมากถึงกับยกย่องให้เป็นที่ปรึกษาทางกวีนิพนธ์ แต่มีอยู่โอกาสหนึ่งขุนสุนทรโวหารได้ทำให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้รับ ความอับอายและกริ้วมาก และทรงมึนตึงต่อขุนสุนทรโวหารมาตลอดเวลา คือขณะที่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนาตอน บุษบาอาบน้ำในลำธารเมื่อท้าวดาหาพาใช้ให้ไปบน

ซึ่งมีความว่า

"น้ำใส ไหล เย็น แลเห็น ตัวปลา แหวก กอบัว อยู่ไหวไหว"

สุนทรภู่ติว่ายังไม่ดีควรแก้เป็น

"น้ำใส ไหล เย็น เห็น ตัวปลา แหวกว่าย ปทุมมา อยู่ไหวไหว"

ครั้นเมื่อรัชกาลที่ ๓ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ขึ้น

ครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ชีวิตของสุนทรภู่ที่เคยมีความเป็นอยู่อย่างผาสุกก็ตกอับลง ถูกถอดยศถาบรรดาศักดิ์ ครั้งนี้สุนทรภู่ต้องมีชีวิตอยู่อย่าง แร้นแค้นเป็นที่สุด เที่ยวระหกระเหินเร่ร่อนอด ๆ อยาก ๆ ต้องหลบหนีอาชญาแผ่นดินอยู่เสมอ ในที่สุดตัดสินใจอุปสมบทอีกครั้งที่วัดเลียบ (วัดราชบูรณะ) ขณะนั้นสุนทรภู่มีอายุได้ ๔๑ ปี เมื่อบวชได้นาน ๓ พรรษา มีเรื่องอธิกรณ์เกิดขึ้นจึงถูกบัพพาชนิยกรรมขับไล่ออกไปจากวัดเลียบจนย้ายไปอยู่วัดเทพธิดาราม และวัดพระเชตุพนฯ

วัดมหาธาตุ สุนทรบวชอยู่ได้ ๗ หรือ ๘ พรรษา ก็ได้ลาสิขาบท

เมื่อสุนทรภู่ลาสิขาบทแล้วก็ได้รับราชการอยู่กับพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ แต่เวลาผ่านได้ไม่นานพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ ทำให้สุนทรภู่ไร้ที่พึ่งอีกครั้งและครั้งนี้ก็ตกทุกข์ได้ยากยิ่งกว่าครั้งก่อน ถึงกับท่องเที่ยวพายเรือขายของเลี้ยงชีพ และได้แต่งคำกลอน พระอภัยมณีขายด้วย ในครั้งนี้ทำให้กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

พระราชธิดาองค์หนึ่งในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนิยมเนื้อหาอรรถรสใน หนังสือ ที่สุนทรภู่แต่งไว้มาก จึงได้โปรดให้สุนทรภู่แต่งต่อถวายอีก และได้อุปถัมภ์ค้ำจุนสุนทรภู่มาตลอดเวลา เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ได้ทรงเกื้อกูลสุนทรภู่ด้วย อีกพระองค์หนึ่ง

เมื่อกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพสิ้นพระชนม์ สุนทรภู่ก็ได้แต่พึ่ง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เดียวโดยได้ทรงรับเลี้ยงดูไว้ อยู่ที่พระราชวังเดิม ครั้งถึงรัชกาลที่ ๔ สุนทรภู่ได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง

โดยได้รับการอนุเคราะห์จากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งให้สุนทรภู่เป็น พระสุนทรโวหารเจ้ากรมอาลักษณ์ของพระองค์เอง ทำให้สุนทรภู่มีความสุขในชีวิตบั้นปลาย และได้อยู่ในตำแหน่งนี้นานราว ๖ ปี ได้ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๑๒๙๘ มีอายุได้ ๗๐ ปี

ทายาทผู้สืบสกุลของสุนทรภู่ต่อมา ใช้นามสกุลว่า "ภู่เรือหงษ์"

 

 


ตอน ๒

วรรณกรรมของสุนทรภู่

นิราศ ๙ เรื่อง

๑. นิราศเมืองแกลง ต้น พ.ศ.๒๓๕๐

๒. นิราศพระบาท ปลาย พ.ศ.๒๓๕๐

๓. นิราศภูเขาทอง พ.ศ.๒๓๗๑

๔. นิราศเมืองสุพรรณ แต่งเป็นโคลง พ.ศ.๒๓๘๔

๕. นิราศเจ้าฟ้า ราว พ.ศ.๒๓๗๕

๖. นิราศอิเหนา

๗. นิราศพระประทม พ.ศ.๒๓๘๕

๘. นิราศพระแท่นดงรัง

๙. นิราศเมืองเพชร ระหว่าง พ.ศ.๒๓๘๘-๙๒

 

นิทาน ๕ เรื่อง

๑. โกบุตร แต่งในรัชกาลที่ ๑

๒. พระอภัยมณี แต่งในรัชกาลที่ ๓

๓. พระไชยสุริยา แต่งเป็นกาพย์คำเทียบสอนอ่าน

๔. ลักษณวงศ์

๕. สิงหไตรภพ ตอนต้นแต่งในรัชกาลที่ ๒

สุภาษิต ๓ เรื่อง

๑. สวัสดิรักษา ระหว่าง พ.ศ.๒๓๖๔-๗

๒. เพลงยาวถวายโอวาท ราว พ.ศ.๒๓๗๓

๓. สุภาษิตสอนหญิง ราว พ.ศ.๒๓๘๐-๓

บทละคร ๑ เรื่อง

๑. อภัยนุราช

 

 

 

บทเสภา ๒ เรื่อง

๑. ขุนช้างขุนแผน ตอนกำเหนิดพลายงามแต่งในรัชกาลที่ ๒

๒. พระราชพงศาวดาร แต่งในรัชการที่ ๔

บทเห่กล่อม ๔ เรื่อง

๑. เห่เรื่องจับระบำ

๒. เห่เรื่องกากี

๓. เห่เรื่องพระอภัยมณี

๔. เรื่องโกบุตร

 

 


กราบพระคุณสุนทรภู่ครูชั้นเยี่ยม

กลอนมากเปี่ยมประดับนับมากผอง

ดุจสินทรัพย์ล้ำค่าว่าดั่งทอง

ภาษาคล่องของกวีมีพร้อมมูล

นิราศผ่านนิทานพร้อมเห่กล่อมบท

มีปรากฏบทละครไม่กร่อนสูญ

บทเสภาสุภาษิตพิศจำรูญ

ยังไพบูลย์เบ่งบานงานท่านเพียร

จักเป็นครูสู่ลูกศิษย์ติดตามต่อ

มิรั้งรอทอคำนำขีดเขียน

เป็นบทกลอนร่อนคำนำวนเวียน

มิให้เพี้ยนกำหนดกฎเกณฑ์มี.

ดอกสารภี [ศ. 12 พ.ค. 2543 - 12:08:58 น.]

สุนทรภู่ฟูเฟื่องเรื่องนิราศ

ท่านเปรื่องปราชญ์นิราศแรกแทรกภาษา

เป็นนิราศเมืองแกลงแสดงมา

เยี่ยมบิดาที่เมืองแกลงแห่งระยอง

นิราศพระบาทตอนคลาดเคลื่อน

กลับเยี่ยมเยือนบิดามาเรื่องสอง

พรรณนาถึงบ้านเมืองอันเรืองรอง

ที่ผ่านท่องล่องเที่ยวเลี้ยวทางเดิน

หลายเรื่องหลากรสบทประพันธ์

สุนทรฯนั้นเรียงไว้ไม่ขัดเขิน

ได้อรรถรสบทชัดไม่ขาดเกิน

พินิจเพลินภาษาไทยลื่นไหลตาม

กุหลาบเวียงพิงค์ [พ. 10 พ.ค. 2543 - 21:40:54 น.]

 

 


ตอน ๓

ถ้าพลาดพลั้งเจ็บอกเหมือนตกตาล

เจ้าของตาล รักหวาน ปีนขึ้นต้น

ระวังตน ตีนมือ ระมัดมั่น

เหมือนคบคน คำหวาน รำคาญครัน

ถ้าพลาดพลั้ง เจ็บอก เหมือนตกตาล...

...นิราศพระพุทธบาท...

 

 

 

พี่รักน้องปองนุชสุดจะถอน

ให้อาวรณ์ค่ำเช้าเฝ้าห่วงหา

ฤทัยร้าวหาญหักหนักอุรา

ยากจะหาใดแม้นแทนน้องนาง

กุหลาบเวียงพิงค์ [พฤ. 11 พ.ค. 2543 - 13:31:19 น.]

 

 

 

 

 


 

ตอน ๔

ร่องน้ำ ร่องคด ลำคลอง

คลองคดเลี้ยวลดด้วย................หลักตอ

เคะกะระเรือรอ..........................ร่องน้ำ

คดคลองช่องแคบพอ.................พายต่อ พ่อเอย

คนคดลดเลี้ยวล้ำ......................กว่าน้ำลำคลอง

...นิราศเมืองสุพรรณ...

 

 

 

 

 

ถึงคลองคดเคลื่อนคล้อย.....ไหลงาม

มักเอื่อยไหลลงตาม............แม่น้ำ

นิราศผ่านเขตคาม..............ยามเที่ยว ทางเรือ

สถานท่องมองเลิศล้ำ.........ครานั้นสุพรรณเมือง

กุหลาบเวียงพิงค์ [พ. 10 พ.ค. 2543 - 23:06:02 น.]

 

 

 


 

ตอน ๕

ทุกชาติไป

ถึงม้วยดิน สิ้นฟ้า มหาสมุทร

ไม่สิ้นสุด ความรัก สมัครสมาน

แม้เกิดใน ใต้ฟ้า สุธาธาร

ขอพบพาน พิสวาท ไม่คลาดคลา

แม้เนื้อเย็น เป็นห้วง มหรรณพ

พี่ขอพบ ศรีสวัสดิ์ เป็นมัจฉา

แม้เป็นบัว ตัวพี่ เป็นภุมรา

เชยผกา โกสุม ปทุมทอง

เจ้าเป็นถ้ำ อำไพ ขอให้พี่

เป็นราชสีห์ สิงสู่ เป็นคู่สอง

จะติดตาม ทรามสงวน นวลละออง

เป็นคู่ครอง พิสวาท ทุกชาติไป...

...พระอภัยมณี...

 

ความรักจักไม่สิ้นในถิ่นฐาน

จะยาวนานแนบแน่นถึงแผ่นฟ้า

รักไม่สุดสะดุดใดในโลกา

รักพี่ยาทุกชาติ ไม่ขาดกัน

พี่เป็นป่า แก้วตา เป็นสายน้ำ

จะพรมพรำไหลผ่านประสานฝัน

ขอครองรักให้หนักแน่นแทนใจกัน

ด้วยรักมั่น จะไม่ขาด ทุกชาติไป

กุหลาบเวียงพิงค์ [พ. 10 พ.ค. 2543 - 22:40:31 น.]

 


 

ตอน ๖

เหมือนมดแดงเฝ้ามะม่วง

ถึงบางม่วง เห็นพวง มะม่วงห้อย

คิดจะสอย ก็ไม่สม อารมณ์หมาย

จะปีนต้น ก็ยาก ลำบากกาย

พี่นึกอาย ยิ่งอด เหมือนมดแดง...

อดมะม่วง อดได้ พี่ไม่อยาก

เป็นแต่ปาก พูดแยบ ให้แอบแฝง

แต่อดชม พี่นี้ตรม อุราแรง

ไม่รู้แห่ง ที่จะอด ซึ่งรสชม...

...นิราศพระแท่นดงรัง...

 

อยากจะเป็นมดแดงที่แฝงพวง

ใคร่ขอหวงผลใส ใสได้ไหมเอ่ย

เอามาจิ้มน้ำปลาหวานที่ทานเคย

ไม่ลืมเลย มะม่วง พวงแก้มนาง

กุหลาบเวียงพิงค์ [ศ. 12 พ.ค. 2543 - 08:56:51 น.]

 

เห็นมะม่วงจากเพื่อนเลื่อนดูภาพ

น่าซึ้งซาบกลอนประกอบชอบนักหนา

สุนทรภู่ครูกวีพรรณนา

คำมีค่าควรเยี่ยงเสียงคล้องจอง

เห็นสิ่งใดใจคำนึงถึงสิ่งเกี่ยว

แน่แท้เชียวช่างคิดจิตสนอง

คิดถึงนางปรางนวลควรทำนอง

มะม่วงต้องมดแดงที่แฝงชม.

ดอกสารภี [ศ. 12 พ.ค. 2543 - 11:53:43 น.]

 


 

ตอน ๗

อย่าหมิ่นชาย

อย่ามิ่นชาย เชิญตรึก ให้ลึกซึ้ง

เหมือนภูมริน บินหา ซึ่งสาโรส

ถึงร้อยโยชน์ แย้มกลิ่น ก็บินถึง

แต่ดอกไม้ ไทน้าว ดาวดึงส์

ไม่พ้นซึ่ง พวกหมู่ แมลงภู่ตอม...

...นิราศวัดเจ้าฟ้า...

 

 

 

จะหมิ่นชาย ตรองใจให้ลึกซึ้ง

เหมือนดั่งผึ้งบินตอมหอมพฤกษา

จะอยู่ห่างแสนไกลในพารา

แย้มดอกมา เห็นเกสร ภมรตอม

กุหลาบเวียงพิงค์ [ส. 13 พ.ค. 2543 - 09:30:11 น.]

 

 

 

 


ตอน ๘

เพราะรักจึงยอมทุกอย่าง

ตัวของพี่ นี้ถ้าแม้น แม่แค้นเดือด

ตามแต่เชือด ฉะลง ตรงไหน

จะขอกอด ยอดมิ่ง ไม่ชิงชัย

จนขาดใจ จึงจะวาง ไม่ห่างทรวง...

...พระอภัยมณี...

 

 

 

พี่จะยอมทุกอย่างไม่ห่างน้อง

จะขอปองน้องรักด้วยศักดิ์ศรี

แม้นสูญเสียร่างยับดับชีวี

พี่ยอมพลีสิ้นสุดเพื่อนุชนาง

กุหลาบฯ [ส. 13 พ.ค. 2543 - 09:12:49 น.]

  

 

 


ตอน ๙

ผู้ชายไม่ดี

ฝูงแมงดา น่าดู ตัวผู้เกาะ

เที่ยวว่ายเสาะ พาจร จนอ่อนหู

ไปหาเหยื่อ เผื่อกัน กตัญญู

พิเคราะห์ดู เหมือนคน จนปัญญา

ทั้งเกียจคร้าน มึนตึง พึ่งผู้หญิง

ไปแอบอิง พิงปาก ยากหนักหนา

พวกมนุษย์ เมียแช่ง เช่นแมงดา

ทำแต่ตา ปรอบปรอย คอยจะกิน...

...พระอภัยมณี...

 


ตอน ๑๐

น้ำใจคน

แล้วสอนว่า อย่าไว้ ใจมนุษย์

มันแสนสุด ลึกล้ำ เหลือกำหนด

ถึงเถาวัลย์ พันเกี่ยว ที่เลี้ยวลด

ก็ไม่คด เหมือนหนึ่งใน น้ำใจคน...

...พระอภัยมณี...

 

 

 


ตอน ๑๑

ถึงตัวตายไว้ชื่อให้ลือชา

อันผิดชอบ ชั่วดี เป็นนิสัย

ถ้าทำผิด คิดเห็น จะเป็นไร

ทำชอบให้ หายผิด อย่าคิดตาย

ถึงม้วยแล้ว แคล้วคลาด แต่ชาตินี้

แต่ชั่วดี มีอยู่ ไม่รู้หาย

อันช้างงา สามารถ เหมือนชาติชาย

ถึงตัวตาย ไว้ชื่อ ให้ลือชา...

...พระอภัยมณี...

 


ตอน ๑๒

ห่วงมาร

เกิดแล้วตาย วายลง ในสงสาร

ทางกันดาร มรรคา ไม่ฝ่าฝืน

คิดก็เป็น อนิจจัง ไม่ยั่งยืน

เป็นแต่พื้น เน่าจม ถมแผ่นดิน

เกิดมาแล้ว ต้องตาย วายชีวาตม์

อย่าหมายมาด รักใคร่ ใจถวิล

เพราะกิเลส เจตนา จึงราคิน

ใช่สัตว์ดิ้น อยู่ในบ่วง คือห่วงมาร...

...พระอภัยมณี...

 

 

เกิดแล้วตายกลายเป็นเช่นผุยผง

ชีวิตคงเวียนว่ายไม่หายสูญ

อยู่เพราะกรรมตามแต่งแห่งผลบุญ

จะเกื้อกูล พูนสุข หรือทุกข์ใจ

มีอะไรเป็นไปให้เที่ยงแท้

ชีวิตแย่เกิดแล้วตายหายไปไหน

มีกิเลส ทำดับดิ้นสิ้นลมไป

คงเกิดใหม่รับผลกรรมจำวนเวียน

กุหลาบเวียงพิงค์ [ส. 13 พ.ค. 2543 - 21:18:43 น.]

 

 

 


ตอน ๑๓

ลมปาก

อันอ้อยตาล หวานลิ้น แล้วสิ้นซาก

แต่ลมปาก หวานหู ไม่รู้หาย

แม้นเจ็บอื่น หมื่นแสน จะแคลนคลาย

เจ็บจนตาย นั้นเหน็บ ให้เจ็บใจ...

...เพลงยาวถวายโอวาท...

 

 

 

 


ตอน ๑๔

สุนทรภู่เทศนาธรรม

เทศนา ว่าไป ในกองทุกข์

เหมือนไฟลุก รุ่มร้อน อาวรณ์หวัง

แม้นโลภหลง เข้าเมื่อไร ก็ไม่ฟัง

มันยัง เกิดทุกข์ เข้าคลุกคลี

นี่แหละตัว ทุกข์สัจ สันทัดเที่ยง

คิดหลีกเลี่ยง ความทุกข์ เป็นสุขี

เบาปัญญา หยั่งลง ให้จงดี

คงจะมี ความสุข ทุกทิวา...

...พระอภัยมณี...

 


 

ตอน ๑๕

ปัญญา ชนะทุกสิ่ง

วิสัยคน ทนคง เข้ายงยุทธ

ฤทธิรุทธ แรงร้าย กายสิทธิ์

แม้นเพลิงกาล ผลาญแผ่นดิน สิ้นชีวิต

อำนาจฤทธิ์ ย่อมแพ้ แก่ปัญญา

จะรบพุ่ง มุ่งหมาย ทำลายล้าง

ผิดเยี่ยงอย่าง ควรจำ บาปกรรมหนา

ทุกแว่นแคว้น แดนดิน จะนินทา

แม้นคิดฆ่า แม่พ่อ เหมือนทรยศ...

...พระอภัยมณี...

 


ตอน ๑๖

อันฉันทา จะพาพัง

แล้วดำริ ติเตือน กองกิเลส

แม้นใคร เจตนานัก มักหลงไหล

ไม่เป็นอัน นั่งนอน มักร้อนใจ

จะทำให้ ทุกขัง ไม่ยั่งยืน

ทุจริต จิตชั่ว คือตัวโลภ

หลงละโมภ เรี่ยวแรง ด้วยแข็งขืน

เกินทิษฐิ ที่ในจิต ดังพิษปืน

ต้องแข็งขืน มานะ ในอารมณ์

คือฉันทา กล้านัก มักให้ชั่ว

ต้องหมองมัว หวานหาย กลายเป็นขม

ผู้ที่จะ เข้ามา สมาคม

ไม่นิยม รักกัน เพราะฉันทา...

...พระอภัยมณี...

 


ตอน ๑๗

วิชาจีบสาว

จึงสั่งสอน อย่างเดียว เกี้ยวผู้หญิง

ถ้าถึงจริง ก็มักชา ประดาหาย

ถ้าหวานหวาน ไว้สักหน่อย ค่อยสบาย

นี่แยบคาย เจ้าชู้ แต่บูราณ...

ธรรมดา มาเที่ยว เกี้ยวผู้หญิง

ต้องอ้อยอิ่ง อดเปรี้ยว ไว้กินหวาน

เราอุตส่าห์ พยายาม ตามโบราณ

คงเป็นการ มั่งคง อย่าสงกา...

กระต่ายแก่ แต่ละคน ล้วนกลมาก

ทั้งฝีปาก เปรื่องปราด นิลาดเฉียว

ต้องง้องอน อ่อนจิต บิดเป็นเกลียว

จะเกี้ยวกัน เหมือนสาว ทุกคราวไป...

...พระอภัยมณี...

 

 


ตอน ๑๘

เมารัก

ไม่เมาเหล้า แล้วแต่เรา ยังเมารัก

สุดจะหัก ห้ามจิต คิดไฉน

ถึงเมาเหล้า เช้าสาย ก็หายไป

แต่เมาใจ นี้ประจำ ทุกค่ำคืน...

...นิราศภูเขาทอง...

 

 

 


ตอน ๑๙

น่าเสียดาย

เหมือนหนุ่ม ลุ่มหลง พะวงสวาท

เหลือร้ายกาจ กอดจูบ รักรูปเขา

ครั้นวอดวาย ตายไป เหม็นไม่เบา

เห็นหนองหนอน พองเน่า เสียดายเปล่า...

...สิงหไกรภพ...

 

 

 


ตอน ๒๐

ตัดรัก

จะหักอื่น ขืนหัก ก็หักได้

หักอาลัย ไม่หลุด สุดจะหัก

สารพัด ตัดขาด ประหลาดนัก

แต่ตัดรัก ไม่ขาด ประหลาดใจ...

...นิราศอิเหนา...

 

 

 


ตอน ๒๑

สุภาษิตสอนหญิง

การนินทา ด่าผัว นี้ชั่วถ่อย

เป็นคนน้อย ปัญญา เสียราศรี

ถึงหย่าร้าง หาใหม่ วิสัยมี

ชายดีที่ รู้กำพืด ก็จืดไป...

...สุภาษิตสอนหญิง...

 

 

 

 


ตอน ๒๒

เป็นสาวแซ่นะแม่เอ๋ย

เป็นสาวแซ่ แร่รวย สวยสะอาด

ก็หมายมาด เหมือนมณี อันมีค่า

แม้แตกร้าว รานร่อย คอยราคา

จะพลอยพา หอมหาย จากกายนาง

อันตัวต่ำ สลัวอย่าทำ ให้กายสูง

ดูเยี่ยงยูง แววยังมี ที่วงหาง

ต้องเสงี่ยม เจียมใจ จึงจะวาง

ให้ต้องอย่าง กิริยา เป็นนารี...

...สุภาษิต สอนหญิง...

 

 


ตอน ๒๓

สาวๆ ระวัง หลุมพรางไว้บ้างนะ

แม้ชายใด ใจประสงค์ มาหลงรัก

ให้รู้จัก เชิงชาย ที่หมายมั่น

อันความรัก ของชาย มีหลายชั้น

เขาว่ารัก รักนั้น ประการใด

จงพินิจ คิดดู ให้รู้แน่

อย่าทำแต่ ใจเร็ว จะเหลวไหล

เปรียบเหมือนคิด ปริศนา อย่าไว้ใจ

มันมักไพล่ แพ้ลงขุม เป็นหลุมพราง...

...สุภาษิต สอนหญิง...

 

 


ตอน ๒๔

รักแท้ไปขอกับแม่พ่อ

เขารักจริง ให้สู่ขอ กับพ่อแม่

อย่าวิ่งแร่ หลงงาม ไปตามง่าย

เขาไม่เลี้ยว ไล่ขับ จะอับอาย

ต้องเป็นหม้าย อยู่บ้าน ประจานตน...

...สุภาษิต สอนหญิง...

 

 

 

 


ตอน ๒๕

พรรณนาท้องทะเล

พอสิ้นแสง สุริยัน จันทร์กระจ่าง

ส่องสว่าง กลางทะเล พระเวหา

ต้องพระพาย ชายพัด กระพือพา

สำเภาหญิง ฝ่าคลื่น มากลางชล

พระเล็งแล ตามกระแส ชลาสินธุ์

สิขรินทร์ เกาะแก่ง ทุกแห่งหน

ละลิบลิ่ว ทิวเมฆ เป็นหมอกมน

เห็นแต่ชล กับมัจฉา ดาราพราย

เวลาค่ำ น้ำเค็ม ก็พร่างพร่าง

แวมสว่าง วาบวับ ระยับฉาย

เสมอเม็ด เพชรรัตน์ โมราราย

แจ่มกระจาย พรายพร่าง กลางชล...

เหล่าฉลาม ล้วนฉลาม ตามกันมา

ค่อยเคลื่อนคลา คล้ายคล้าย ในสายชล

ฉนากอยู่ คู่ฉนาก ไม่จากคู่

ขึ้นฟ่องฟู พ่นฟอง ละอองปน

ฝูงพิมพา พาฝูง เข้าแฝงวน

บ้างผุดพ่น ฟองน้ำ บ้างดำจร

กระโห้เรียง เคียงกระโห้ ขึ้นโบกหาง

ลอยสล้าง กลางกระแส แลสลอน

มังกรเกี่ยว เลี้ยวลอด กอดมังกร

ประชุมซ่วน แฝงชล ขึ้นวนเวียน

ฝูงม้าน้ำ ทำท่า เหมือนม้าเผ่น

ขึ้นลอยเล่น เลี้ยวลัด ฉวัดเฉวียน

ตะเพียนทอง ลองน้ำ นำตะเพียน

ตาษเดียร ดูเพลิน จนเกินมา

เห็นละเมาะ เกาะเขา เขียวชอุ่ม

โขดตะคุ่ม เคียงเคียง เรียงรุกขา

จะเหลียวซ้าย สายสมุทร สุดสายตา

จะแลขวา ควินคลุ้ม กลุ้มโพยม

จะเหลียวดู สุรีย์แสง เข้าแฝงเมฆ

ให้วิเวก หวาดองค์ พระทรงโฉม...

.....

เสียงโครมครืน คลื่นกลิ้ง เป็นเกลียวเกลียว

ให้เปล่าเปลี่ยว เห็นแต่ปลา ในสาคร

เป็นคู่คู่ งูเงือก ขึ้นเกลือกกลอก

ตามระลอก โลดเต้น เห็นสลอน

ฝูงพิมพา พากัน เที่ยวสัญจร

ทั้งเนื้ออ่อน อ่อนกาย เที่ยวว่ายวน

 

ทั้งโลมา ราหู ขึ้นฟูฟ่อง

บ้างพ่นฟอง ฟุ้งฟ้า ดังห่าฝน

จรเข้ เหรา ในสายชล

ดูเกลื่อนกล่น กลางน้ำ น่าสำราญ...

...พระอภัยมณี...

 

 


ตอน ๒๖

พรรณนาตรีกาล

โอ้ยามหนาว ดาวเคลื่อน เดือนก็คล้อย

น้ำค้างพร้อย พร่างพรม เมื่อลมหวน

คิดถึงเนื้อ เจือจันทร์ ยิ่งรัญจวน

เหมือนจะชวน ชื่นจิต คิดคะนึง

เสาวคนธ์ มณฑา จำปาเทศ

มาลับเนตร ให้พี่นึก รำลึกถึง

แก้วพี่เอ๋ย เคยเฝ้า แต่เคล้าคลึง

เมื่อไรจึง จะได้มา เห็นหน้าน้อง

โอ้แลเหลียว เปลี่ยวใจ ให้ละห้อย

สงสารสร้อย สาวคนธ์ จะหม่นหมอง

มาลับนุช สุดสงวน นวลละออง

กอดแต่น้อง น้องอุ่น ละมุนทรวง

พระขวัญเอ๋ย เคยนอน บรรจถรณ์แท่น

มาเที่ยวแล่น เรือเร่ ทะเลหลวง

โอ้ดวงเดือน เหมือนจะส่อง ให้ต้องดวง

พระพักตร์พ่วง ผ่องเพียง จะเคียงเดือน

ถึงดินแดน แผ่นฟ้า จะหาอื่น

มาชูชื่น จิตพี่ ไม่มีเหมือน

ขนงเนตร เกศแก้ม ยิ้มแย้มเยือน

เหมือนจะเตือน อารมณ์ ให้ชมเชย...

...พระอภัยมณี...

 

หลากหลายตอนคำกลอนสุนทรภู่

ใคร่ครวญดูรู้เห็นเป็นครูสอน

ทั้งไพเราะเสนาะล้ำด้วยคำกลอน

ถ้อยสุนทรเก็บไว้ในบทเรียน

กุหลาบเวียงพิงค์ [พ. 17 พ.ค. 2543 - 12:38:12 น.]

 

 

 


ตอน ๒๗

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับสุนทรภู่

เมื่อสุนทรภู่เป็นอาลักษณ์ สุนทรภู่ได้ทำความชอบในหน้าที่

กล่าวคือ บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ของพระบาทสมเด็จ

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตอนนางสีดาผูกคอตาย ว่า

"เอาภูษาผูกศอให้มั่น

แล้วพันกับกิ่งโศกใหญ่

หลับเนตรจำนงปลงใจ

อรไทก็โจนลงมา

บัดนั้น

วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า

ครั้นเห็นองค์อัครกัลยา

ผูกศอโจนมาก็ตกใจ

ตัวสั่นเพียงสิ้นชีวิต

ร้อนจิตดังหนึ่งเพลิงไหม้

โลดโผนโจนลงตรงไป

ด้วยกำลังว่องไวทันที

ครั้นถึงจึงแก้ภูษาทรง

ที่ผูกศอองค์พระลักษมี

หย่อนลงยังพื้นปฐพี

ขุนกระบี่ก็โจนลงมา"

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเห็นว่ากว่า

หนุมาณจะเข้าไปแก้ไขได้นานมาก เกรงนางสีดาจะตายเสียก่อน

จึงทรงพระนิพนธ์ใหม่ให้หนุมาณแก้ไขได้โดยไว ว่า

"จึงเอาผ้าผูกพันกระสันรัด

เกี่ยวกระหวัดกับกิ่งโศกใหญ่"

แล้วก็มาติดว่า หนุมาณจะแก้นางสีดาได้โดยไวได้อย่างไร

เหล่ากวีที่ปรึกษาไม่มีใครที่แต่งให้ พอพระราชหฤทัยได้

จึงให้สุนทรภู่แต่งต่อ สุนทรภู่แต่งว่า

"ชายหนึ่งผูกศออรไท

แล้วทอดองค์ลงไปจะให้ตาย

บัดนั้น

วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมาย"

ดังนี้ เป็นที่พอพระราชหฤทัย เพราะเมื่อนำบทละครไปซ้อมแล้ว

บทละครของสุนทรภู่ที่แต่งถวายนั้น เข้ากับกระบวนเล่นได้สะดวกดี

จึงทรงโปรด...

อีกครั้ง เมื่อทรงนิพนธ์บทชมรถทศกัณฑ์ ว่า

"รถที่นั่ง

บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน

กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล

ยอดเยี่ยมเที่ยววิมาณเมืองแมน

ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง

เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน

สารถีขี่ขับเข้าดงแดน

พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุล"

ทรงนึกที่จะต่อให้สมกับรถที่ใหญ่โตไม่ออก จึงมีรับสั่งให้

สุนทรภู่แต่งต่อ สุนทรภู่แต่งว่า

"นทีตีฟองนองระลอก

คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลขันขุ่น

เขาพระสุเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน

อนนต์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน

ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท

สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน

บดบังสุริยันตะวันเดือน

คลาดเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา"

รัชกาลที่ ๒ จึงทรงโปรด และนับสุนทรภู่เป็นกวีที่ปรึกษาด้วย

อีกคนหนึ่ง และทรงตั้งให้เป็นที่ขุนสุนทรโวหารในกรมอาลักษณ์

พระราชทานที่ให้ปลูกเรือนที่อยู่ไต้ท่าช้าง และมีตำแหน่งเข้าเฝ้าฯ

เป็นนิจ แม้เวลาเสด็จประพาสก็ทรงโปรดฯ ให้ลงเรือพระที่นั่ง

เป็นพนักงานอ่านเขียน ในเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทกลอน

แต่สุนทรภู่เสพสุราเป็นประจำ ครั้งหนึ่งเมาสุราไปหามารดา

มารดาว่ากล่าวกลับขู่เข็ญ ญาติผู้ใหญ่เข้ามาห้ามปรามกลับถูก

สุนทรภู่ตีเอาบาดเจ็บ จึงถูกถวายฎีกา ถูกกริ้วและรับสั่งให้

นำตัวไปขังคุก ซึ่งก็ได้แต่งเสภาพรรณาถึงลักษณะคุกในเรื่อง

ขุนช้างขุนแผน ว่า

"ขุนแผนว่าจะอยู่ดูไม่ได้

ในคุกใหญ่ยากแค้นมันแสนเข็ญ

เหมือนกับอยู่ในนรกตกทั้งเป็น

ไม่ว่างเว้นโทษทัณฑ์สักวันเลย

แต่พ่อนี้ท่านเจ้ากรมยมราช

อนุญาตให้อยู่ทับในหับเผย

คนทั้งหลายนายมูลก็คุ้นเคย

เขาละเลยพ่อไม่ต้องถูกจอกจำ"

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระนิพนธ์บทละคร

ติดขัดไม่มีผู้แต่งต่อให้พอพระราชหฤทัยได้ จึงมีรับส่งให้เบิกตัว

สุนทรภู่ออกจากคุก สุนทรภู่ต่อกลอนได้ดังพระราชประสงค์ จึงทรง

พระกรุณาโปรดเกล้าให้พ้นโทษ กลับมารับราชการตามเดิม

ในสมัยราชกาลที่ ๓ สุนทรภู่ได้ออกบวช ด้วยเกรงพระราชอาญา

เพราะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขัดเคืองแต่ราชกาลก่อน

เช่นครั้งหนึ่งพระองค์ทรงแต่งบทละครเรื่องสังข์ทอง ตอนท้าวสามล

จะให้ลูกสาวเลือกคู่ ว่า

"จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว

ให้ลูกแก้วสมมาดปราถนา"

สุนทรภู่ทูลถามว่า ลูกปรารถนาอะไร ทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงกริ้ว ต้องทรงแก้ว่า

"ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา"

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราช สุนทรภู่จึงออกบวช

ดังกล่าวในนิราศภูเขาทองว่า

"ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด

คิดถึงบาทบพิตรอดิศร

โอ้ผ่านเกล้าเจ้าพระคุณของสุนทร

แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น

พระนิพพานปานประหนึ่งศรีษะขาด

ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ

ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น

ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา"

......

"สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ

ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย

แม่กำเหนิดเกิดประสบภพใดใด

ขอให้ได้เป็นข้าฝ่าธุลี

สิ้นแผ่นดินขอให้สิ้นชีวิตบ้าง

อย่ารู้ร้างบงกชบทศรี

เหลืออาศัยใจกรมระทมทวี

ทุกวันนี้ซังตายทรงกายมา"

มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อครั้งสุนทรภู่จอดเรืออยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง

มีชาวบ้านนำภัตตาหารมาถวาย แต่ทายกว่าคำถวายไม่เป็น

และอาราธนาให้สุนทรภู่ช่วยสอน สุนทรภู่จึงเป็นคำกลอนว่า

"อิมัสมิงริมฝั่ง อิมังปลาร้า กุ้งแห้งแตงกวา อีกปลาดุกย่าง

ช่อมะกอก ดอกมะปราง เนื้อย่าง ยำมะดัน ข้าวสุกค่อนขัน

น้ำมันขวดหนึ่ง น้ำผึ้งครึ่งโหล ส้มโอแช่อิ่ม ทับทิมสองผล

เป็นยอดกุศล สังฆัสสะ เทมิ"

ในตอนตกยากสุนทรภู่ได้แต่งหนังสือหลายเรื่อง เช่น เรื่อง

พระแท่นดงรัง ซึ่งมีกลอนตอนหนึ่งกล่าวว่า

"ปีวอกนักบัตรอัฐศก

ชะตาตกต้องไปถึงไพรสณฑ์

ลงนาวาหน้าวัดพระเชตุพน

พี่ทุกข์ทนถอนใจครรไลจร"

คือภายหลังที่พระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ไปแล้ว

ไม่มีใครกล้าอุปการะสุนทรภู่ จึงต้องตกยาก ไม่มีบ้านเรือนจะอาศัย

ต้องลงเรือลอยเที่ยวอยู่ตามสวน หาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้าง

แต่งบทกลอน และทำการค้าประกอบกัน เรื่องที่แต่งนอกจากนี้มี

สุภาษิตสอนหญิง ลักษณวงศ์ พระสมุทและจันทโครบ

ครั้นเมื่อสิ้นเคราะห์ ด้วยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมชุนอิศเรศรังสรรค์

โปรดให้ประทับ ณ พระราชวังเดิมซึ่งเป็นที่เสด็จประทับในสมัยนั้น

และต่อมากรมหมื่นอัปสรสุดาทรงอุปการะด้วย เนื่องจากพอพระหฤทัย

เรื่องพระอภัยมณีและเห็นว่าแต่งค้าง จึงให้สุนทรภู่แต่งถวายให้จบ

โดยให้แต่งถวายเดือนละเล่ม นอกจากนี้ยังแต่เรื่องสิงหไตรภพ

ถวายกรมหมื่นอัปสรฯ อีกเรื่อง

ในระหว่างนี้เองสุนทรภู่ได้ไปพระปฐมเจดีย์ จึงแต่งนิราศพระประธมขึ้น

ซึ่งแต่งได้ดีกว่านิราศพระแท่นดงรัง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะกำลังสบายใจ

ดังความตอนหนึ่งว่า

"ถึงล่วงแล้วแก้วเกิดกับบุญฤทธิ์

ยังช่วยปิดปกอยู่ไม่รู้สูญ

สิ้นแผ่นดินทินกรจรจำรูญ

ให้เพิ่มพูนพอสว่างหนทางเดิน

ดังจินดาห้าดวงพ่วงทวีป

ได้ชูชีพช่วยทุกเมื่อฉุกเฉิน

เป็นทำนุอุปถัมภ์ไม่ก้ำเกิน

จงเจริญเรียงวงศ์ทรงสุธา"

ต่อมากรมหมื่นอัปสรสิ้นพระชนม์ สุนทรภู่รับอาสา พระบาทสมเด็จ

พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปหาของที่ต้องพระประสงค์ที่เพชรบุรี

จึงได้แต่งนิราศเพชรบุรีซึ่งเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายของสุนทรภู่

ในการไปครั้งนี้มีบุตรตามไปด้วย ๒ คน คือ พัดลูกกับภรรยาที่ชื่อจันทร์

และนิลลูกกับภรรยาที่ชื่อม่วง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวราชาภิเษกแล้ว ก็ทรงตั้งให้

สุนทรภู่เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ ฝ่ายพระบวรราชวังมีบรรดาศักดิ์เป็น

สุนทรโวหาร ขณะอายุได้ ๖๖ ปี ได้แต่งหนังสือ ๕ เรื่อง คือ

บทละครเรื่องอภัยนุราช แต่งถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระราชธิดา

ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้ากับเสภาเรื่อง พระราชพงศาวดาร

มีผู้ยกย่องว่า สุนทรภู่เป็น เอก ในทางแต่งกลอนแปด เพราะสุนทรภู่

แต่งกลอนได้ไพเราะด้วยการมีสัมผัสใน ซึ่งมีผู้ดำเนินตามตลอดจนถึง

ทุกวันนี้

งานที่ดีที่สุดของสุนทรภู่ คือ นิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี

เพราะแต่งอย่างปราณีต ในการวางโครงเรื่อง การกำหนดสถานที่

การพรรณาอัธยาศัยตัวละคร และยังแสดงถึงความคิดก้าวหน้าล้ำยุค

ของสุนทรภู่อีกด้วย คือเปลี่ยนแปลงลักษณะของพระเอกนักรบ

มาเป็นพระเอกศิลปิน และประดิษฐ์เรื่องขึ้นใหม่ โดยใช้เหตุการณ์

ใกล้เวลาของสุนทรภู่เป็นเนื้อเรื่องแทนที่จะใช้นิทานชาดกตามแบบเดิม

แต่เป็นลักษณะสมจริง และเน้นความสำคัญของมนุษย์มากกว่าอำนาจเทวดา

นับเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญมากของวงการวรรณคดีไทย...


*************กราบสวัสดีขอรับ************

หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ เดลินิวส์ ในเครือมติชน สำนักข่าวไทย
กรุงเทพธุรกิจ ผู้จัดการ ฐานเศรษฐกิจไทยโพสต์ bangkok post inn the nation

ทีวี ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง 11 ช่อง itv UBC

ค้นหา ค้นหาเบอร์โทรศัพท์ ค้นหารหัสไปรษณีย์ หน่วยงานของรัฐ
โรงพยาบาล แหล่งความรู้ กระทรวง ทบวง กรม

รวมลิงค์ ลิงค์ทั่วไทย ลิงค์ทั่วโลก

[ กวีไทย ] [ ดอกสารภี ] [ บ้านกลอนรจนา ] [ กุหลาบเวียงพิงค์ ]

โฮมเพจ: กวีไทย
อีเมล์:
songkran2000@chaiyo.com
ผู้สร้าง: ko2000pee

 

 

Midi KaraOke Online

กวีไทย (เก่า)
cdonair.com (ใหม่ 1) 
karaokedd.com (ใหม่ 2) 

 

English Version Thai Version KaraOkeDD.Com MySong RaDiO Online TamMa RaDiO HisToRy Tour SingSongSchool
รูปแบบภาษาอังกฤษ รูปแบบภาษาไทย ศูนย์คาราโอ เกะ งานเพลงของฉัน วิทยุชุมชนสิงห์บุรี ธรรมะเรดิโอ บันทึกการเดิน ทาง โรงเรียนฝึกร้องเพลงออนไลน์




English Version Thai Version KaraOkeDD.Com MySong RaDiO Online TamMa RaDiO HisToRy Tour SingSongSchool Thai76ProVince
รูปแบบภาษาอังกฤษ รูปแบบภาษาไทย ศูนย์คาราโอเกะ งานเพลงของฉัน วิทยุชุมชนสิงห์บุรี ธรรมะเรดิโอ บันทึกการเดินทาง โรงเรียนฝึกร้องเพลงออนไลน์ 76จังหวัด ทั่วไทย

Web Design Factory

webmaster :: songkran2000@chaiyo.com