Home

มุมปืนลม
มุมปืนลม 2
มุมปืนลม 3
มุมปืนลม 4
Diana M52
Beeman R9
เป้าปืนลม
มุมปืนลม 4: เลือกซื้อปืนลมให้เหมาะกับคุณ

คอลั่มน์มุมปืนลมห่างหายไปนาน ในช่วงที่ผ่านมานี้มีผู้อ่านหลายท่านสอบถามเข้ามา เรื่องที่ปรึกษาส่วนใหญ่
ก็ไม่พ้นการเลือกซื้อปืน วันนี้พอจะมีเวลาว่างก็เลยมานั่งเขียนเรื่องนี้กันซะเลย แต่ต้องขอบอกก่อนว่า ใน
บทความนี้นอกจากสิ่งที่ได้เคยอ่านเคยค้นคว้ามาแล้วยังมีความคิดเห็นและความชอบส่วนตัวปนอยู่มาก
ยังไงเสียก็คิดก่อนเชื่อนะครับ

จะซื้อปืนลมก็เหมือนการเลือกซื้อของอื่นๆละครับ ข้อแรกก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าจะซื้อมาทำอะไร ในข้อ
นี้ผมพอจะแยกแยะให้ได้ดังนี้ครับ

1) เพื่อการแข่งขันในระบบสากล
2) เพื่อยิงซ้อมมือเล่นในบ้าน
3) เพื่อล่าสัตว์เล็ก
4) เพื่อการแข่งขันที่ไม่ใช่ระบบสากลเช่น Silhouette หรือ Field Target

1) เพื่อการแข่งขันในระบบสากล
ถ้าความตั้งใจของคุณเป็นเรื่องการแข่งขันในระบบสากล ซึงก็คือการแข่งขันในระยะ 10 เมตร ขอแนะนำได้เลยว่า
 ขอให้หาซื้อปืนเกรดแข่งขันไปเลย เพราะปืนประเภทอื่นมาไม่สามารถแข่งขันได้จริงจัง ถ้าซื้อมาก็ต้องเสียเงิน
สองต่อแน่ๆ

ปืนในกลุ่มนี้ก็จะเป็นปืน CO2 หรือ ปืนอัดอากาศ ปืนสปริงมีบ้างก็เป็นพวก Feinwerkbau รุ่นเก่าซึ่งถ้าคิดจะ
จริงจังและไม่อยากเสียเงินหลายรอบก็ควรหลีกเลี่ยง ปืนลมประเภทนี้จะเป็นปืนที่ให้ความเร็วและพลังงานไม่สูง
มาก ประมาณ 500-600 ฟิต/วินาที และใช้กระสุนขนาด .177 นิ้ว หรือเบอร์หนึ่งทั้งหมด

อีกอย่างที่ต้องตัดสินใจก็คือการเลือกระหว่างปืนยาวกับปืนสั้น ทั้งสองประเภทจะยิงที่ระยะสิบเมตรเหมือนกัน
แต่เป้าของปืนยาวจะเล็กกว่ามาก และข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดอีกอย่างก็คือปืนยาวต้องใช้อุปกรณ์มากมายกว่า
มากเช่นรองเท้าและเสื้อหนังซึ่งทำขึ้นมาเป็นพิเศษ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ตัวผู้ยิงนิ่งที่สุด ส่วนปืนสั้นขอแค่มีปืนกับกระสุน
ก็ลงแข่งได้แล้ว
 
ถ้าคิดจะเอาดีทางนี้จริงก็น่าจะขอยืมปืนลองดูทั้งสั้นทั้งยาวก่อน เมื่อได้ลองแล้วก็จะบอกได้เองว่าชอบอะไร

ภาพที่ 1 Styer LP1c P ปืนสั้นแข่งขันระบบอัด
อากาศที่เยี่ยมยอดมากกระบอกหนึ่ง

ภาพที่ 2 P34 ปืนสั้นแข่งขันรุ่นล่าสุดของ
Feinwerkbau มีระบบลดแรงรีคอลย์โดย
การใช้แก๊สผลักตุ้มน้ำหนักถอยหลังเพื่อ
หักล้างกับแรงจากการส่งกระสุน

ภาพที่ 3 Morini 162e ปืนสั้นอัดลมที่ใช้ระบบไกไฟฟ้า เป็นปืนที่ล้ำสมัยมาก

ภาพที่ 4Feinwerkbau P70 ปืนยาวแข่งขัน
ระบบอัดอากาศ

ภาพที่ 5 Anschutz 2002 ปืนยาวอัดลมแข่งขันที่เป็นเจ้า
ของสถิติระดับโลกมากมาย ขอชมได้ที่ร้าน ม.ฮะกีมี

2) เพื่อยิงซ้อมมือเล่นในบ้าน
ในเรื่องนี้จะมีปืนให้เลือกมากมายทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นปืน CO2 ปืนอัดอากาศแบบปั๊ม หรือ  ปืนสปริง

ปืนที่เราจะเอาไว้ใช้ยิงเล่นในบ้านไม่จำเป็นต้องเป็นปืนลมแรงสูง เพราะส่วนใหญ่ก็ยิงกันที่ระยะไม่เกิน 10-15
เมตร ที่จริงแล้วควรจะหาซื้อปืนที่ไม่แรงนักจะเหมาะกว่าเพราะจะทำให้ไม่มีโอกาสทะลุที่กั้นไปเป็นอันตรายกับ
เพื่อนบ้าน ปืนที่เหมาะก็น่าจะเป็นปืนที่มีความเร็วกระสุนประมาณ 400-700 ฟิตต่อวินาที

บางคนอาจจะอยากได้ปืนสั้นเพราะเห็นว่าคล่องตัวไม่เกะกะ แต่ผมมีความคิดเห็นส่วนตัวว่าปืนยาวน่าสนใจ
กว่ามากเพราะว่าแท้ที่จริงแล้วเราก็ไม่ได้พกพามันไปไหนหรอก และนอกจากนั้นถ้าเราคิดจะแบกมันออกไปยิง
เล่นเปลี่ยนบรรยากาศนอกสถานที่ซึ่งมีระยะยิงยาวขึ้นแล้วคุณจะพบว่าปืนสั้นอัดลมทั้งหลายมักจะไม่สามารถ
ยิงอะไรได้สนุกนักในระยะเกินระยะ 15เมตรไป

สำหรับปืนยิงเล่นในบ้านแล้วผมชอบปืนยาวแบบสปริงมากที่สุดเพราะปืนชนิดนี้พร้อมอยู่เสมอที่จะให้เราคว้า
มายิง แม้กระทั่งเวลาเร่งรีบก่อนออกจากบ้านตอนเช้าก็ยังพอยิงได้ซักห้านัดสิบนัด ปืนในกลุ่มนี้ที่น่าสนใจก็มี
หลายกระบอกเช่น Baikal IJ-61, Slavia M631, Diana M34, Anzchutz M335 ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปืนที่ราคา
ไม่สูงจนเกินไป

ภาพที่ 6 Baikal IJ-61 ปืนจากรัสเซียที่เหมาะมากสำหรับ
การสอนเด็กให้ยิงปืน เพราะ น้ำหนักเบา, การง้างสปริงไม่
แข็งจนเกินไป และยังปรับพานท้ายให้หดสั้นเข้าอีกด้วย
มีที่ร้านไกอาร์ม ราคาหมื่นต้นๆ

ภาพที่ 7 Slavia M631 ปืนที่น่าสนใจอีกกระบอกที่เหมาะกับ
การยิงเล่นในบ้าน มีวางขายอยู่หลายร้านในราคาหมื่นต้นๆ

ภาพที่ 9 Anschuts M35 ปืนดีราคาถูกที่หลายคนมอง
ข้าม ราคาแค่หมื่นกลางๆ แต่คุณภาพเกินราคา
มีที่ร้าน ม.ฮะกีมี

ภาพที่ 8 Diana M34 ปืนลมยาวยอดนิยม อันดับ
หนึ่งในเมืองไทย มีขายหลายร้าน

ภาพที่ 10 เบ็นจามิน-เชอริแดน แบบอัดอากาศ ปั๊มได้
หลายครั้งแล้วแต่ว่าต้องการให้แรงแค่ไหน มีขายที่ร้าน พ.พานิช

อีกกระบอกที่น่าสนใจแต่ไม่ใช่ปืนลมสปริงก็คือปืนเบ็นจามิน-เชอริแดน แบบปั๊มซึ่งทำขายมาหลายสิบปีจนเป็น
ปืนคลาสสิก เป็นปืนที่ดีสำหรับยิงเล่นเพราะเราสามารถจะเลือกระดับความแรงได้ ถ้ายิงระยะใกล้ก็ปั๊มเพียงหนึ่ง
หรือสองครั้ง ถ้าต้องการแรงๆก็ปั๊มมากครั้งขึ้นตามลำดับ

ส่วนปืนสั้นที่น่าสนใจก็มี เช่น Diana M5G และ Webley Tempest ซึ่งเป็นปืนสปริงทั้งคู่ อีกกระบอกก็คือ Daisy
 747 ซึ่งเป็นปืนอัดอากาศราคาย่อมเยาที่คุณภาพเกินราคา

ภาพที่ 12 Daisy M747 ปืน Pneumatic จาก
อเมริกา นับว่าเป็นปืนยิงเล่นที่ดีมากอีกกระบอกหนึ่ง

ภาพที่ 11 Diana M5G ปืนสั้นสปริงชั้นดีจากเยอรมัน

ภาพที่ 13 Weihrauch HW40 PCA ปืนสั้นระบบ Pneumatic ที่น่าสนใจมาก แต่ยังไม่มีใครสังเข้ามาในเมืองไทย

ภาพที่ 14 Webley Hurricane ปืนสั้นระบบ Pneumatic
 ที่มีขายในเมืองไทย

นอกจากนั้นก็เป็นปืน CO2 ทั้งสั้นทั้งยาว ที่มักจะทำเลียนแบบปืนจริง ปืนในกลุ่มนี้ผมไม่อยากจะแนะนำให้ซื้อกัน
นักเพราะนอกจากจะใช้ CO2 กระป๋องแบบใช้แล้วทิ้งแล้วยังมักจะเป็นปืนที่ไม่ค่อยจะแม่นยำนักและมักจะเสียง่าย
เนื่องจากเป็นปืนยิงเล่นราคาถูกจากอเมริกาแต่พอมาเมืองไทยแล้วก็ราคาแพงจนไม่คุ้มค่า

ภาพที่ 15 Crossman 3576 ปืนที่ใช้ CO2 แบบถังเล็ก
ใช้แล้วทิ้ง ปืนประเภทนี้จะสวยดูเหมือนปืนจริง แต่
คุณภาพและความแม่นยำไม่ดีนัก ถ้าจะยิงจริงจัง
หลีกเลี่ยงดีกว่า

3) เพื่อล่าสัตว์เล็ก
ที่จริงแล้วผมไม่อยากจะสนับสนุนให้ล่าสัตว์กันแล้วนอกจากสัตว์ที่ทำความเดือดร้อนเช่น หนู

ปืนประเภทนี้แนะนำว่าเป็นปืนยาวที่มีความแรงตั้งแต่ 12 ฟุต-ปอนด์ขึ้นไป ซึ่งถ้าเทียบเป็นความเร็วแล้วก็จะได้
ประมาณ 830 ฟิต/วินาที สำหรับกระสุนเบอร์หนึ่งและ ประมาณ 610 ฟิต/วินาทีสำหรับกระสุนเบอร์สอง

ปืนในกลุ่มนี้ที่นิยมกันในบ้านเราก็ได้แก่เดียนา M36, M52 ที่น่าสนใจมากแต่ไม่มีขายในบ้านเราก็คือ ยี่ห้อ
Weihrauch หรือที่ขายในอเมริกาในยี่ห้อ Beeman รุ่นที่น่าสนใจก็คือ R9 และ R1 นอกจากนั้นก็มีปืนอังกฤษ
ดีๆอีกหลายกระบอกเช่น เว็บเลย์ หรือ BSA อีกหลายกระบอก

ภาพที่ 16 Diana M36 ปืนยาวสปริงที่แพร่หลาย
ที่สุดอีกกระบอก ราคาประมาณหมื่นแก่ๆ

ภาพที่ 18 BSA Super Star ปืนลมชั้นดีจากอังกฤษ
กระบอกนี้มีเข้ามาในเมืองไทยเป็นระยะๆ

ภาพที่ 21 Webley Patriot ปืนลมแม็กนั่มที่แรงที่สุด
กระบอกหนึ่งจากเกาะอังกฤษ

ภาพที่ 17 Diana M 52 Deluxe ปืนลมแม็กนั่มชั้นดี

ภาพที่ 20 Weihrauch HW95 หรือ Beeman R9 ปืนลมสปริงชั้นดีจากเยอรมัน

4) เพื่อการแข่งขันที่ไม่ใช่ระบบสากลเช่น Silhouette หรือ Field Target
ปืนในประเภทนี้จะต้องเป็นปืนที่ทั้งแรงและแม่น โดยที่จะต้องมีความเร็วไม่ต่ำกว่า 800 ฟิต/วินาที และมีกลุ่ม
กระสุนไม่เกิน 1 นิ้วที่ห้าสิบหลา

กระสุนเบอร์หนึ่งได้รับความนิยมมากกว่าสำหรับภารกิจนี้เพราะว่ามันมีวิถีกระสุนที่โค้งน้อยกว่าทำให้ยิงได้ง่าย
กว่าในระยะไกลๆ (ห้าสิบหลาก็นับว่าไกลแล้วครับสำหรับปืนลม)

ปืนที่นิยมสำหรับการแข่งขันทั้งสองประเภทนี้ก็คือ ปืนลมยาวแบบสปริงชั้นดีและปืนอัดอากาศ ในการแข่ขันจริง
แล้วจะแยกปืนสปริงและปืนอัดอากาศออกจากกัน

ปืนดังในกลุ่มนี้ก็ได้แก่ HW 77 HW 97 Beeman R11 Diana M48 M52 M54 Airarm TX-200 Airarm Prosport
ส่วนปืนอัดอากาศก็มี Airarm Pro-target Daystate CR 97 Falcon FN19 Riplry AR5S

ภาพที่ 22  Weihrauch HW 77 ปืนคลาสสอิกที่ดังมาจากสนาม Field Target

ภาพที่ 23 M54 ปืนลมระดับแม็กนั่มที่มีกลไก ลดแรงสะท้อนถอยหลังโดย
ใช้รางเลื่อนเพื่อยกเลิกแรงดีดตัวของสปริง ราคาอยู่หลักใกล้สามหมื่น

ภาพที่ 24 Air Arm Prosport ปืนสปริงแข่งขันที่มาแรงจากเกาะอังกฤษ

ภาพที่ 25 CR-X ปืนอัดอากาศรุ่นล่าสุดจาก Daystate

ภาพที่ 26 Air Arm Protarget ปืนอัดอากาศ ชั้นแนวหน้าในสนาม Field Target

ภาพที่ 27 Anschutz 2025  เจ้าสนาม10เมตรก็ทนไม่ได้ที่จะไม่ลงมาในสนาม Field target

ภาพที่ 28 Falcon FN19

แถมเรื่องกระสุนกันอีกหน่อยประกอบการตัดสินใจ กระสุนปืนลมที่ใช้กันอยู่มีทั้งหมดสี่ขนาด(ยกเว้นปืนลูกกลม
ที่เรียกกันว่า BB) คือ .177, .20, .22, .25 นิ้ว

ในเมืองไทยเรามีให้เลือกใช้กันแค่ .177 ที่เรียกกันว่าเบอร์หนึ่ง และ .22 ที่เรียกกันว่าเบอร์สอง เท่านั้น สรุปแบบ
ว่าฟันธงไปเลยก็แล้วกันว่าถ้าไม่ได้เอาไว้ล่าสัตว์เล็กแล้วให้ซื้อเบอร์หนึ่งเพราะกระสุนหาซื้อได้ง่ายราคาถูกกว่า
(เพราะเป็นกระสุนปืนลมแข่งขัน) ความเร็วสูงกว่าถ้ายิงจากปืนแบบเดียวกันทำให้วิถีกระสุนราบเรียบกว่า เอาไว้ได
้โอกาสเหมาะจะมาเล่าเรื่องกระสุนให้ฟังกันโดยละเอียดอีกครั้งครับ

สรุป
ขอแนะนำว่า ก่อนจะซือ้ปืนลม คิดให้ดีก่อนว่าคุณจะเอาไปใช้งานอะไร ปืนลมที่แรงที่สุดและแพงที่สุด อาจไม่ใช่
ปืนที่เหมาะที่สุดสำหรับการใช้งานของคุณก็ได้ หวังว่ามุมปืนลมตอนนี้คงจะช่วยให้ท่านตัดสินใจเลือกปืนได้ดีขึ้น
นะครับ

แถมอีกเรื่องก็คือการขอสั่งปืนเข้ามาเอง มีคนถามเข้ามามากเพราะเมื่อไปเดินร้านปืนแล้วพบว่าไม่มีปืนลมให้
เลือกซื้อมากนักยิ่งอ่านมุมปืนลมแล้วก็ยิ่งหงุดหงิดเพราะเห็นปืนสวยๆงามๆถูกใจแต่หาซื้อไม่ได้

ยังไงก็ขอแนะนำว่าถ้าปืนที่คุณอยากได้มีขายในเมืองไทยก็ซื้อจากร้านเถอะครับเพราะการสั่งปืนเข้ามาเองอาจ
ทำได้แต่ขั้นตอนมากวุ่นวายจนหมดสนุก ราคาสั่งเข้ามาเองแล้วก็ไม่ได้ถูกกว่าร้าน แต่ถ้ามีปืนที่อยากได้จริงๆและ
หาไม่ได้ในเมืองไทยก็เอาเลยครับ

ขั้นตอนคือ
1) ไปขอใบอนุญาต นำเข้า หรือ ป.2 จากกองทะเบียนกรมตำรวจ ต้องระบุด้วยว่าจะซื้อปืนลมขนาดอะไร
สั้นหรือยาว จากประเทศอะไร หลักฐานที่ต้องใช้ก็มี  บัตรประชาชน, ทะเบียนบ้าน, สมุดฝากเงิน,  หนังสือ
รับรองการทำงาน(ต้องเซ็นโดยกรรมการบริษัท), หนังสือจดทะเบียนบริษัท, สำเนาทะเบียนปืน(ถ้าเคยมีแล้ว)
ถ้าเอกสารครบก็ใช้เวลาประมาณ 3สัปดาห์
2) เอา ป.2 ที่ได้ไปประทับตราที่กรมศุลกากร
3) สั่งปืน ที่ต้องการ
4) เมื่อปืนเข้ามาจะไปติดอยู่ที่ศุลกากรไปรษณีย์ที่ข้างหัวลำโพง คุณไปเสียภาษีประมาณ 40%
5) เมื่อเอาปืนออกมาได้ เอาปืนไปตอกทะเบียนและออกใบ ป.4 ที่กองทะเบียน
 

การสั่งปืนลมเข้ามาเองทำได้แต่ค่อนข้างยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายรวมแล้วอาจถูกกว่าซื้อที่ร้านนิดหน่อยแต่อาจไม่
คุ้มกับการที่ต้องอารมณ์เสีย กับระบบราชการไทย

หรือถ้าอยากได้ปืนอะไรมารวมตัวกันให้ร้านสั่งให้ดีมั๊ยครับ

คุยกันรอบกองไฟ

เซ็นสมุดเยี่ยม

 

ตาเกิ้น

5 พฤษภาคม 2544

สมัครสมาชิก Thailand Outdoor ฟรี

กรุณาใส่ email และคลิ๊ก submit
Powered by YourMailinglistProvider.com