การจำนอง

ความหมายของการจำนอง
จำนอง คือ การที่บุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า "ผู้จำนอง" เอาอสังหาริมทรัพย์ของตน เช่น ที่ดิน หรือ
ทรัพย์ที่กฎหมายอนุญาตให้จำนองได้ไปจดทะเบียนไว้กับบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า
"ผู้รับจำนอง"
เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ทั้งนี้โดยผู้จำนองไม่ต้องส่งมอบที่ดินหรือทรัพย์สินดังกล่าวนั้น
ให้แก่ผู้รับจำนอง
(ป.พ.พ.มาตรา ๗๐๒)
ตัวอย่าง นายเอกได้กู้เงินจากนายโทเป็นจำนวน ๑ แสนบาท โดยนายเอกได้นำที่ดินของตนจำนวน
๑ แปลงไปจดทะเบียนจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้เงินกู้จำนวน ๑ แสนบาทที่นายเอกได้กู้ไปจากนายโท โดยนายเอกไม่ต้องส่งมอบที่ดินของตนให้แก่นายโท นายเอกยังคงมีสิทธิครอบครองและใช้สอยที่ดินของตนได้ตามปกติ

การจำนองเพื่อการประกันการชำระหนี้แก่ผู้รับจำนองนั้น แบ่งออกเป็น ๒ กรณี คือ
๑.การจำนองทรัพย์ของตนเองเพื่อการประกันการชำระหนี้ของตนเอง
ตัวอย่าง นายเอก ได้กู้เงินจากนายโท ๑ แสนบาท โดยนายเอกนำที่ดินซึ่งเป็นของตนเองไป
จดทะเบียนจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้เงินกู้ของนายเอกเอง

๒.การจำนองเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของบุคคลอื่น
ตัวอย่าง นายเอก ได้กู้เงินจากนายโท ๑ แสนบาท โดยนายตรีได้นำที่ดินของตนไปจดทะเบียนจำนอง
ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ที่นายเอกได้กู้ไปจากนายโท

ทรัพย์สินที่อาจใช้ในการจำนองได้
แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ได้ ๒ ประเภท กล่าวคือ
๑. อสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน บ้าน หรือสิ่งปลูกสร้างทุกชนิดอันติดอยู่กับที่ดินนั้น
๒. สังหาริมทรัพย์ ที่จำนองได้ คือ
ก. เรือกำปั่น หรือเรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป
ข. แพ
ค. สัตว์พาหนะ
ง. สังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ซึ่งกฎหมายได้บัญญัติให้จดทะเบียนจำนองได้ เช่น เครื่องจักรขนาดใหญ่ เป็นต้น

หลักเกณฑ์ในการจำนอง
๑. ผู้จำนองต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่จะจำนอง
๒. สัญญาจำนอง ต้องทำเป็นหนังสือและนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้น สัญญาจำนอง
ตกเป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันแก่คู่สัญญาแต่อย่างใด ในการกู้ยืมเงินนั้นมีอยู่เสมอที่ผู้กู้ได้นำเอาโฉนดที่ดิน
ของตนไปมอบให้แก่ผู้ให้กู้เก็บรักษาไว้เฉย ๆ เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ โดยไม่มีการทำเป็นหนังสือ
และไม่ได้นำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่การจำนอง ผู้ให้กู้หาได้สิทธิใด ๆ ในที่ดิน
ตามโฉนดแต่อย่างใด คงได้แต่เพียงกระดาษโฉนดไว้ในครอบครองเท่านั้น ดังนั้น ถ้าผู้ให้กู้ประสงค์ที่จะให้เป็น
การจำนองตามกฎหมายแล้ว จะต้องทำเป็นหนังสือและนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
๓. ต้องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจรับจดทะเบียนจำนองตามกฎหมาย กล่าวคือ
ก. ที่ดินที่มีโฉนดต้องนำไปจดทะเบียนที่กรมที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร (สาขา) หรือ
สำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินจังหวัด (สาขา) ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ในเขตอำนาจ
ข. ที่ดินที่ไม่มีโฉนด ได้แก่ ที่ดิน น.ส.๓ ต้องไปจดทะเบียนที่อำเภอ ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ในเขตอำนาจ
ค. การจำนองเฉพาะบ้านหรือสิ่งปลูกสร้าง ไม่รวมที่ดิน ต้องไปจดทะเบียนจำนองที่อำเภอ
ง. การจำนองสัตว์พาหนะ หรือแพ ต้องไปจดทะเบียนที่อำเภอ
จ. การจำนองเรือต้องไปจดทะเบียนจำนองที่กรมเจ้าท่า
ฉ. การจดทะเบียนเครื่องจักรต้องไปจดทะเบียนที่กระทรวงอุตสาหกรรม

ผลของสัญญาจำนอง
๑. ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ โดยไม่ต้องคำนึงว่า
กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ก็ตาม
๒. นอกจากนี้ผู้รับจำนองยังมีสิทธิที่จะเรียกเอาทรัพย์สินที่จำนองนั้นหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้
หากเข้าเงื่อนไข ดังนี้ คือ
๒.๑. ลูกหนี้ได้ขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้วเป็นเวลาถึง ๕ ปี
๒.๒. ผู้จำนองมิได้แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินนั้นท่วมจำนวนเงินอันค้างชำระ และ
๒.๓. ไม่มีการจำนองรายอื่น หรือบุริมสิทธิอื่นได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้เอง
๓. ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้าง
ชำระกันอยู่ หรือ ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองหลุดเป็นของผู้รับจำนองและราคาทรัพย์นั้นมีราคาต่ำกว่าจำนวนเงิน
ที่ค้างชำระกันอยู่ ทั้งสองกรณีนี้เงินยังขาดอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบจำนวนในเงินที่ยังขาดอยู่นั้น
ข้อยกเว้น แต่ถ้าในสัญญาจำนองได้ตกลงกันไว้ว่า ในกรณีที่มีการบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอ
ชำระยอดหนี้ เงินที่ยังขาดจำนวนนี้ลูกหนี้ยังต้องรับผิดชดใช้ให้แก่ผู้รับจำนองจนครบถ้วน ข้อตกลงเช่นนี้
มีผลบังคับได้ ไม่ถือว่าเป็นการผิดกฎหมาย ผู้รับจำนองมีสิทธิที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ส่วนที่ยังขาด
จำนวนอยู่ดังกล่าวได้อีกจนครบถ้วน
๔. ในกรณีที่มีการบังคับจำนอง เมื่อนำที่ดินออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิเท่าใดแล้ว ก็ให้นำเงิน
ดังกล่าวชำระหนี้คืนให้แก่ผู้รับจำนอง หากมีเงินเหลืออยู่เท่าใดก็ให้ส่งมอบคืนให้แก่ผู้จำนอง ผู้รับจำนอง
จะเก็บไว้เสียเองไม่ได้

ขอบเขตของสิทธิจำนอง
ผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับจำนองได้เฉพาะที่จดทะเบียนจำนองเท่านั้น จะไปบังคับถึงทรัพย์สินอื่น ๆ
ที่ไม่ได้จดทะเบียนจำนองไม่ได้เช่น จำนองเฉพาะที่ดินย่อมไม่ครอบถึงโรงเรือนหรือบ้านที่ปลูกภายหลัง
วันจำนอง เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้ก่อนว่าให้รวมถึงบ้านและโรงเรือนดังกล่าวด้วย ,จำนองเฉพาะบ้านซึ่ง
ปลูกอยู่ในที่ดินของคนอื่น ก็มีสิทธิเฉพาะบ้านเท่านั้น , จำนองย่อมไม่ครอบคลุมถึงดอกผลแห่งทรัพย์สิน
ซึ่งจำนอง เช่น จำนองสวนผลไม้ดอกผลที่ได้จากสวนผลไม้ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้จำนองอยู่


ทรัพย์สินซึ่งจำนองอยู่นี้ ย่อมเป็นหลักประกันเพื่อการชำระหนี้ดังต่อไปนี้
๑. เงินต้น
๒. ดอกเบี้ย
๓. ค่าเสียหายในการไม่ชำระหนี้ เช่น ค่าทนายความ
๔. ค่าธรรมเนียมในการบังคับจำนอง

วิธีบังคับจำนอง
ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ซึ่งปกติจะใช้
เวลาประมาณ ๓๐ วันหากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้คืนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ผู้รับจำนองจะใช้สิทธิ
บังคับจำนอง หากถึงกำหนดนัดแล้วลูกหนี้ไม่นำเงินมาชำระ ผู้รับจำนอง ต้องฟ้องผู้จำนองต่อศาล เพื่อให้
ลูกหนี้ปฏิบัติการชำระหนี้ หากไม่ชำระหนี้ ก็ขอให้ศาลสั่งให้นำเอาทรัพย์ที่จำนองนั้นออกขายทอดตลาดนำ
เงินมาชำระหนี้ของตน หรือขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์ที่จำนองนั้นหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของตนหากเข้าเงื่อนไข
ที่กฎหมายกำหนดไว้
จะเห็นได้ว่ากฎหมายบังคับไว้โดยเด็ดขาดว่าการบังคับจำนองจะต้องฟ้องคดีต่อศาลเสมอ จะนำเอา
ที่ดินขายทอดตลาดไม่ได้และต้องมีการออกจดหมายทวงหนี้ไปถึงลูกหนี้ก่อนเสมอ จะฟ้องคดีโดยไม่มีการ
บอกกล่าวทวงถามก่อนไม่ได้
การบังคับจำนองนี้จะไม่คำนึงเลยว่าในขณะที่มีการบังคับจำนองนั้น ทรัพย์สินที่จำนองอยู่ในความ
ครอบครองของใครหรือลูกหนี้ได้โอนกรรมสิทธิ์ไปยังผู้อื่นกี่ทอดแล้วก็ตาม สิทธิจำนองย่อมติดตามตัวทรัพย์สิน
ที่จำนองไปด้วยเสมอ แม้ว่าจะเป็นการโอนทางมรดกก็ตามสิทธิจำนองก็ติดตามไปด้วย

หนี้ที่ขาดอายุความไปแล้วจะมีผลกระทบถึงการจำนองหรือไม่
แม้ว่าหนี้ที่เป็นประกันนั้นจะขาดอายุความแล้วก็ตาม ผู้รับจำนองก็ยังมีสิทธิที่จะบังคับจำนองเอากับ
ทรัพย์สินที่จำนองได้ ดังนั้น จึงไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของผู้รับจำนองในทรัพย์สินที่จำนองแต่อย่างใด
แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า ๕ ปีไม่ได้
(ป.พ.พ. มาตรา ๗๔๕)
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการจำนองเป็นหลักประกันการชำระหนี้อย่างแท้จริง ดังนั้น หากเจ้าหนี้
ประสงค์ที่จะได้รับชำระหนี้คืนแล้วเจ้าหนี้จึงควรให้ลูกหนี้นำทรัพย์สินมาจำนองเป็นประกันการ
ชำระหนี้ด้วย


การชำระหนี้จำนอง
การชำระหนี้จำนองทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ดี การระงับหนี้จำนองไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็ดี การ
เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อตกลงในการจำนองก็ดี กฎหมายบังคับให้ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นแล้วจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกไม่ได้

เชื่อมโยงไปยังหน้าที่เกี่ยวข้อง  www.siamlaw.com
หมายเหตุ ป.พ.พ. = ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตราตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ควรดูประกอบ มาตรา ๗๐๒ - ๗๔๖
เอกสารอ้างอิงรวมกฎหมายที่ประชาชนควรรู้จัดพิมพ์โดยสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือประชาชน
(สคช.)สำนักงานอัยการสูงสุด


การจำนำ

ความหมายของการจำนำ
จำนำ
คือ การที่บุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า "ผู้จำนำ" นำสังหาริมทรัพย์ไปส่งมอบให้อยู่ในความครอบครอง
ของบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า
"ผู้รับจำนำ" เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่ผู้จำนำเป็นหนี้ผู้รับจำนำ (ป.พ.พ.มาตรา๗๔๗)
ตัวอย่าง นาย ก. ได้กู้เงินจาก นาย ข. เป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท โดยนาย ก. ได้มอบสร้อยคอทองคำให้
นาย ข. ยึดถือไว้เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้เงินกู้ ๓,๐๐๐ บาท ของนาย ก. สัญญาเช่นนี้ เรียกว่า
"สัญญาจำนำ"

ทรัพย์สินที่จะใช้จำนำได้
ทรัพย์สินที่จะใช้จำนำได้แก่ "สังหาริมทรัพย์" ทุกชนิด
"สังหาริมทรัพย์" ได้แก่ ทรัพย์สินทั้งหลายซึ่งอาจเคลื่อนจากที่หนึ่งไปแห่งอื่นได้ เช่น รถยนต์,นาฬิกา,แหวน,สร้อย ฯลฯ

สิทธิของผู้รับจำนำ
ผู้รับจำนำมีสิทธิยึดของที่จำนำไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืนแล้วจนครบถ้วน (ป.พ.พ. มาตรา ๗๕๘)

สิทธิจำนำมีขอบเขตเพียงใด
การจำนำย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ดังต่อไปนี้ คือ
๑.ต้นเงิน
๒.ดอกเบี้ย
๓.ค่าเสียหายในการไม่ชำระหนี้
๔.ค่าธรรมเนียมในการบังคับจำนำ
๕.ค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งจำนำ
๖.ค่าทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากความชำรุดบกพร่องของทรัพย์ที่จำนำ ซึ่งผู้รับจำนำมอง
ไม่เห็นในวันรับจำนำของเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว หากลูกหนี้ (ผู้จำนำ) ผิดนัดไม่ยอมชำระหนี้ผู้รับจำนำ
ต้องบังคับจำนำทรัพย์ที่จำนำนั้น ผู้รับจำนำจะยึดถือเอาทรัพย์ที่จำนำหลุดเป็นของตนเอง โดยไม่มีการบังคับจำนำไม่ได้

การบังคับจำนำ
มีวิธีการดังต่อไปนี้ คือ
๑.ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ลูกหนี้จัดการชำระหนี้ รวมทั้งดอกเบี้ยและ
ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาแล้วภายในเวลาอันสมควรซึ่งได้กำหนดไว้ในหนังสือบอกกล่าวดังกล่าว
๒.ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำมีสิทธินำเอาทรัพย์สินที่
จำนำออกขายทอดตลาดได้
๓.ผู้รับจำนำต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้จำนำทราบถึงวันที่จะขายทอดตลาดและสถานที่ที่จะขายทอดตลาด
ข้อยกเว้น แต่ถ้าลูกหนี้ค้างชำระเกินกว่าเวลาที่กำหนด ๑ เดือน และไม่สามารถจะบอกกล่าวก่อนได้
ผู้รับจำนำไม่ต้องบอกกล่าวให้ลูกหนี้ทราบก่อนแต่อย่างใดผู้รับจำนำมีอำนาจนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาด
ได้ทันที
(ป.พ.พ.มาตรา ๗๖๕)

ข้อตกลงไว้ล่วงหน้าว่าถ้าลูกหนี้ผิดนัดแล้วให้ทรัพย์ดังกล่าวตกเป็นของผู้รับจำนำ
โดยไม่ต้องมีการบังคับจำนำ

ข้อตกลงเช่นนี้ย่อมไม่สมบูรณ์ไม่มีผลบังคับได้ กล่าวคือ กฎหมายบังคับให้ต้องมีการบังคับจำนำด้วยวิธี
ที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น ผู้รับจำนำจะใช้สิทธิยึดเอาทรัพย์ที่จำนำหลุดเป็นของตนเองไม่ได้

เมื่อขายทอดตลาดได้เงินมาแล้วต้องดำเนินการอย่างไร
เมื่อขายทอดตลาดได้เงินสุทธิเท่าใด ผู้รับจำนำมีสิทธิหักเงินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้คืนแก่ตนได้จน
ครบถ้วน หากมีเหลือเท่าใดผู้รับจำนำต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำไป
แต่ถ้าเงินที่ขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้คืนแล้ว เงินยังขาดอยู่เท่าใดผู้จำนำต้องใช้คืนให้แก่
ผู้รับจำนำจนครบถ้วน
(ป.พ.พ.มาตรา ๗๖๗)

ถ้าในระหว่างจำนำผู้รับจำนำส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำคืนให้แก่ผู้จำนำแล้วจะมีผลอย่างไร
ถ้าในระหว่างจำนำผู้รับจำนำส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำคืนให้แก่ผู้จำนำแล้วกฎหมายให้ถือว่าการจำนำ
นั้นระงับไปผู้รับจำนำจะใช้สิทธิในการบังคับจำนำเอากับทรัพย์นั้นอีกไม่ได้คงทำได้แต่เพียงฟ้องร้องบังคับ
ตามหนี้ที่ลูกหนี้เป็นหนี้ค้างชำระแก่ตนได้เท่านั้น

หมายเหตุ ป.พ.พ. = ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตราตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ควรดูประกอบ มาตรา ๗๔๗ - ๗๖๙
เอกสารอ้างอิงรวมกฎหมายที่ประชาชนควรรู้จัดพิมพ์โดยสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือประชาชน
(สคช.)สำนักงานอัยการสูงสุด