หน้าแรก
ความเป็นมา
วัตถุประสงค์
กิจกรรม
กระทู้ ถาม-ตอบ
สิทธิสมาชิก
สมัครสมาชิก
แสดงความคิดเห็น
กระดานพูดคุย
ติดต่อเรา
  บันทึกการเดินทาง

ข้อมูลทั่วไป

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ และ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

สภาพแวดล้อมหมู่เกาะสุรินทร์           

          ในทะเลอันดามัน มีเกาะใหญ่น้อยอยู่มากมายกว่า 700 เกาะ ทอดยาวตั้งแต่ชายฝั่งแถบเมืองทวาย ในประเทศเมียนมาร์ลงมาถึงเกาะลังกาวี ในประเทศมาเลเซีย ในส่วนของประเทศไทย ชายฝั่งทะเลอันดามันมีชื่อเสียง ในเรื่องของโลกใต้น้ำที่สวยงาม

          ในบริเวณจังหวัดพังงา ภูเก็ต และกระบี่มีเกาะหินปูนโผล่เหนือน้ำ บางเกาะปกคลุมไปด้วยป่าเขียวชอุ่ม และชายเกาะรายล้อมด้วย หาดทรายขาวสะอาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้เข้ามาเยี่ยมชม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวในภาคใต้ ของประเทศไทยจึงพัฒนา และเติบโตอย่างรวดเร็ว เกาะภูเก็ตได้กลายเป็นแหล่งรวม ของนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติ

          หมู่เกาะสุรินทร์อยู่ในตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ห่างจากชายฝั่งจังหวัดพังงา 60 กิโลเมตร อยู่ใกล้ชายแดนประเทศเมียนมาร์ เป็นที่หลบลมมรสุม สำหรับเรือหาปลาและเป็นที่ตั้ง ของหมู่บ้านมอแกน 2 แห่ง หมู่เกาะสุรินทร์มีป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีป่าชายเลนบริเวณ ที่มีลำธารน้ำจืดไหลลงทะเล และมีหญ้าทะเลปกคลุมอยู่บางส่วน ความหลากหลายทางชีววิทยา ทำให้หมู่เกาะสุรินทร์เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญ อย่างยิ่งในทางนิเวศวิทยา และกรมป่าไม้ได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติในปี พ.ศ. 2524

          อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 135 ตารางกิโลเมตร โดยร้อยละ 76 เป็นทะเล ประกอบด้วย 5 เกาะ มีเกาะใหญ่ 2 เกาะ คือเกาะสุรินทร์เหนือ และเกาะสุรินทร์ใต้ ชายฝั่งเกาะสุรินทร์มีความเว้าแหว่ง ทำให้มีอ่าวหลายแห่งซึ่งเป็นที่กำบังคลื่นลมได้ดี ระยะห่างจากฝั่งและระดับ น้ำลึกโดยรอบเกาะทำให้น้ำทะเลใสสะอาดเหมาะกับการเจริญเติบโตของปะการังหลากหลายชนิด ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังทำให้มีปลา ชนิดต่างๆมากมาย บางครั้งยังพบวาฬและฉลามวาฬในน่านน้ำรอบเกาะอีกด้วย เต่าทะเลโดยเฉพาะเต่ากระและเต่าตนุขึ้นมาวางไข่ตามชายหาดของ เกาะ

          จากยอดเกาะใหญ่ทั้งสอง คือเกาะสุรินทร์เหนือและเกาะสุรินทร์ใต้ มีป่าดิบชื้นที่มีต้นไม้หลายชนิด ถัดลงมามีป่าชายหาดและป่าโกงกาง บนเกาะมีสัตว์อาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 80 ชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่น กระจงเล็ก ลิงกัง ลิงแสม หนูท้องขาว ค้างคาวชนิดต่างๆ ฯลฯ สัตว์เลื้อยคลาน เช่น ตะกวด เหี้ย งูเหลือม งูพังกา ฯลฯ นกหลายชนิด ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพย้ายถิ่น รวมทั้งนกหายากเช่น นกชาปีไหน และเหยี่ยวเพเรกริน บริเวณ เกาะสุรินทร์มีแหล่งน้ำจืดอยู่หลายแห่ง ส่วนใหญ่เป็นน้ำซับหรือทางน้ำเล็กๆ แหล่งน้ำจืดที่ใช้ภายในเขตอุทยานฯ มาจากเกาะสุรินทร์ใต้ โดยต่อท่อ ข้ามช่องขาดมายังฝั่งสำนักงานอุทยานฯ แต่หากมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก น้ำจืดจากแหล่งดังกล่าวก็จะไม่พอใช้

          ลมมรสุมมีอิทธิพลต่อสภาพแวดล้อมของเกาะอย่างยิ่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้หรือฤดูฝน อยู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ช่วงนี้เป็น ช่วงที่คลื่นลมแรงยากแก่การเดินเรืออุทยานฯจึงปิดรับนักท่องเที่ยว ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูแล้งอยู่ในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือน พฤษภาคมเป็นฤดูที่อุทยานฯ เปิดรับนักท่องเที่ยว โดยมีบริการเรือระหว่างท่าเรือที่คุระบุรีและเกาะสุรินทร์เหนือ เรือธรรมดาใช้เวลาแล่นประมาณ 3-4 ชั่วโมง ส่วนเรือเร็วใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง นักท่องเที่ยวที่มาเยือน หมู่เกาะสุรินทร์มีทั้งคนไทยและต่างชาติ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหมู่เกาะสุรินทร์

          ก่อนที่หมู่เกาะสุรินทร์จะได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ มอแกนเป็นคนกลุ่มเดียวพักอาศัยและทำมาหากินอยู่ในบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ ใน บางช่วงมีคนไทยจากฝั่งเดินทางไปหาไม้หอมหรือของป่าอื่นๆ และพักค้างแรมอยู่บนเกาะแต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ นอกจากนั้นมีพวกที่เข้า ไปตกปลาหรือ ทำการประมงในรูปแบบอื่นๆ หลังจากที่มีการประกาศให้พื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติ การหาไม้หอมและ การประมงบริเวณหมู่เกาะนี้ก็สิ้นสุดลง

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

          ในปัจจุบันการบริหารจัดการอุทยานฯ ดำเนินงานโดยสำนักงานอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ กรมอุทยานแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาต ิและสิ่งแวดล้อม มีเจ้าหน้าที่หลักๆ คือหัวหน้าอุทยานฯ ผู้ช่วยฯ และ เจ้าหน้าที่ที่เป็นข้าราชการอีก 3-4 คน ส่วนที่เหลือประมาณ 30-40 คนนั้นเป็นลูกจ้างชั่วคราว สำนักงานอุทยานฯ ตั้งอยู่ที่ท่าเรือในอำเภอคุระบุรี และที่เกาะสุรินทร์เหนือ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2504 กิจกรรมต่างๆภายในเขตอุทยานต้องถูกจำกัดและควบคุม ในทางทฤษฎีพื้นที่ที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติจะต้องไม่อยู่ใต้การครอบครอง หรือมีผู้ถือเอกสารสิทธิใดๆ แต่ในทางปฏิบัติบ่อยครั้งที่มีการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งสร้างความลำบากในการปฏิบัติ หน้าที่ของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และในขณะเดียวกันก็จำกัดกิจกรรมทำมาหากินของชาวบ้านด้วย

          ในกรณีของมอแกนที่หมู่เกาะสุรินทร์ แม้ว่าจะไม่มี ข้อตกลงที่เป็นทางการหรือเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และมอแกน แต่เป็นที่เข้าใจกันทุกฝ่ายว่ามอแกนเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่ทำมาหากิน และพักพิงเกาะสุรินทร์มานานก่อนการประกาศพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติ อีกทั้ง วิถีชีวิตรวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ของมอแกนก็เรียบง่าย และการทำมาหากินแบบยังชีพก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรที่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง น้อยมาก มอแกนจึงอยู่อาศัยในหมู่เกาะนี้ได้ต่อไป และสามารถจะโยกย้ายหมู่บ้านไปยังบริเวณต่างๆ ของเกาะได้ตามวิถีดั้งเดิม ในช่วงต้นของทศวรรษ 2530 หลังจากที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญ มอแกนได้รับอนุญาติให้นำเปลือกหอยสวยงามมาขาย ให้นักท่องเที่ยว เปลือกหอยเหล่านี้มีทั้งที่งมมาจากน่านน้ำบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์และบริเวณเกาะต่างๆ ในประเทศเมียนมาร์การค้าขายเปลือกหอย ดำเนินติดต่อกันมาเกือบ 10 ปี และทำรายได้ให้แก่มอแกนช่วงฤดูท่องเที่ยว

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 ทางอุทยานฯ ได้ยกเลิกการค้าขายเปลือกหอย เพราะเกรงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ตั้งกองทุน มอแกนขึ้นเพื่อรับบริจาคเงินจากนักท่องเที่ยว และจากแหล่งอื่นๆเพื่อเป็นทุนซื้อข้าวสารและสิ่งจำเป็นให้มอแกนเงินบางส่วนจากรายได้ ร้านค้าสวัสดิการ อุทยานฯก็นำมาจ้างมอแกนเพื่อทำงานในอุทยานฯ เช่น ขับเรือ เก็บขยะ ช่วยงานครัว ล้างชาม ฯลฯ เงินค่าจ้างมอแกนนั้นเบิกจากงบประมาณของรัฐไม่ได้ เพราะมอแกนเป็น “คนไร้รัฐ” ไม่มีสัญชาติและไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ภารกิจหลักของอุทยานฯคือการปกป้องคุ้มครอง พื้นที่อนุรักษ์และการบริการ นักท่องเที่ยว ดังนั้นจึงไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในเรื่องงบประมาณ และกำลังคนที่ทำงานด้านชนเผ่าและวัฒนธรรม อีกทั้งแผนแม่บทอุทยาน แห่งชาติ หมู่เกาะสุรินทร์ ปี พ.ศ. 2543-2547 ไม่ได้เน้นเรื่องเกี่ยวกับมอแกนมากนัก การตั้งกองทุน การแจกข้าวสาร และการจ้างงาน มอแกน ไม่ได้มีข้อตกลงที่เป็นทางการระหว่างมอแกน และอุทยานฯแต่เป็นความพยายามของอุทยานฯ ที่จะช่วยเหลือมอแกนที่ขาดรายได้เพราะการยกเลิกขาย เปลือกหอย แต่เนื่องจากมอแกนมีวัฒนธรรมการทำมาหากินแบบวันต่อวัน และไม่เคยชินกับการอดออม รายได้จึงถูกใช้จ่ายหมดไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งไป กว่านั้น มอแกนซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคแบบแบ่งซื้อ หรือซื้อปลีก จึงต้องจ่ายเงินในราคาที่แพงขึ้น ทำให้มอแกนต้องพึ่งพาอุทยานฯ มากขึ้นตามลำดับ

          แม้ว่าแผนและนโยบายของอุทยานฯจะไม่เอื้อกับการส่งเสริมวิถีชีวิตของมอแกน แต่เท่าที่ผ่านมาแนวปฏิบัติของอุทยานฯก็อะลุ้มอล่วยให้กับ มอแกนพอสมควร ปัญหาอุปสรรคหนึ่งในการจัดการให้เป็นไปตามกฎระเบียบของอุทยานฯ คือการหามาตรการที่เหมาะสมในการลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎ ที่แล้วมาการลงโทษใช้วิธีตักเตือนด้วยวาจา หรือในกรณีที่ฝ่าฝืนกฎอย่างรุนแรงก็ใช้การยึดเรือซึ่งจริงๆแล้วเป็นการตัดโอกาสในการทำมาหากินของ มอแกน ดังนั้น การรักษากฎระเบียบจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เพราะต้องเข้มงวดและผ่อนปรนในเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ดี แนวปฏิบัติของอุทยานจะต้อง มีความคงเส้นคงวา และการสื่อสารกับมอแกนจะต้องมีความชัดเจน มิฉะนั้น จะเกิดความสับสนไม่แน่นอน และเกิดการเล่าลือต่อๆ กันในกลุ่มมอแกน ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างมอแกนและอุทยานฯ


หน่วยอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ

          หน่วยราชการอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีสถานีย่อยอยู่บนเกาะสุรินทร์เหนือ คือหน่วยอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยรักษา พันธุ์สัตว์น้ำนี้ขึ้นตรงกับงานอนุรักษ์ทรัพยากรประมงทะเล จังหวัดกระบี่ กรมประมง บทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หน่วยอนุรักษ์ฯ คือการประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับการอนุรักษ์สัตว์น้ำ การตรวจตราและการจับกุมผู้ที่ทำประมงผิดกฎหมาย สถานีย่อยของหน่วยฯนี้มีขนาดเล็ก เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยส่วนใหญ่เป็น ลูกจ้างประจำและชั่วคราว อีกทั้ง งบประมาณและกำลังคนน้อย จึงไม่สามารถจะเข้มงวดในการตรวจตราปราบปรามมากนัก อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ บางส่วนพยายามประชาสัมพันธ์ให้ มอแกนเลิกทำการประมงที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การงมหอย ล่าเต่า ฯลฯ

          ในปี พ.ศ. 2537 มีการจัดตั้งโรงเรียนเล็กๆ ขึ้นสอนวิชาพื้นฐานเช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ พลศึกษา ฯลฯ เพื่อให้เด็กมอแกนมีความรู้เบื้อง ต้นที่จะสามารถติดต่อสื่อสารกับสังคมใหญ่ได้ โดยจัดให้มีเรือรับส่งและอาหารกลางวันให้ มีเจ้าหน้าที่หน่วยอนุรักษ์หรืออาสาสมัครมอแกน ผลัดกัน นำเรือรับส่งเด็กๆ และทำกับข้าวให้เด็กรับประทาน ต่อมาทางสำนักงานประถมศึกษา จังหวัดพังงาได้ให้การสนับสนุนการเรียนการสอน โดยให้โรงเรียน สุรัสวดีเป็นโรงเรียน สาขาของโรงเรียนบ้านปากจก ตำบลเกาะพระทอง และให้ตำแหน่งลูกจ้าง เพื่อเป็นครูสอนนักเรียน ส่วนเครื่องแบบ สมุดหนังสือ และอุปกรณ์กีฬานั้นรับบริจาค จากไต้ก๋งเรือประมงที่เดินทางไปมาบริเวณนี้ และจากนักท่องเที่ยว นักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนี้ และอยากเรียน ต่อในระดับที่สูงขึ้น ประสบปัญหาเพราะต้องไปเรียนต่อที่โรงเรียนบนฝั่ง อยู่ห่างไกลจากครอบครัวและชุมชน แต่หากมีการสนับสนุน ให้ทุนการศึกษาและ ให้เด็กไปเรียนต่อเป็นกลุ่ม เด็กก็จะคลายความคิดถึงบ้านลง หัวใจสำคัญของการเรียนการสอนคือ ต้องกระตุ้นให้เชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้มาประยุกต์ใช้ เพื่อการดำรงชีวิต และดำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งจะทำให้การศึกษาในระดับที่สูงขึ้นมีคุณค่า และความหมายกับวิถีของมอแกน

กรมการปกครอง/องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น

          ในด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น หมู่เกาะสุรินทร์ขึ้นอยู่กับตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี บางครั้งมีตัวแทนจากหน่วยงานราชการมาเยี่ยม หมู่เกาะสุรินทร์บ้าง แต่ยังไม่มีการวางแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติและบัตรประชาชน รวมทั้งบริการสังคมอื่นๆแก่มอแกน หน่วยราชการ เหล่านี้มีการหมุนเวียนข้าราชการบ่อยครั้ง ทำให้การประสานงานและสานต่องานเป็นไปได้ยาก และทำให้การดำเนินงานเรื่องสัญชาติมอแกนไม่ได้รับการ ใส่ใจและผลักดันเท่าที่ควร จนถึงปัจจุบัน มอแกนยังไม่ได้รับสัญชาติไทย แม้ว่าจะมีบางคนที่แต่งงานกับผู้ที่ถือบัตรประชาชนไทย

          นอกจากนั้น กรอบทัศนคติของหน่วยงานรัฐในระดับชาติยังไม่ให้ความสำคัญกับชนพื้นเมือง อันที่จริงแล้วถือได้ว่าประเทศไทยยังไม่ยอมรับ การมี อยู่ของชนพื้นเมือง รวมทั้งไม่มีแผนงานหรืองบประมาณเพื่อสนับสนุนสถานภาพพลเมือง และการมีส่วนร่วมของชนพื้นเมืองในการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติอย่าง จริงจัง

หน่วยงานอื่นๆ

          เจ้าหน้าที่จากหน่วยควบคุมโรคติดต่อที่นำโดยแมลง อำเภอคุระบุรีได้เดินทางมาที่หมู่เกาะสุรินทร์อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อฉีดพ่นยากำจัดยุง และเพื่อตรวจเลือด เจ้าหน้าที่อุทยานฯและมอแกนเพื่อหาเชื้อมาลาเรีย หากมอแกนป่วยไข้ไม่สบายอาจจะขึ้นฝั่งเพื่อไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่บ้าน ปากจก หรือพบแพทย์ที่โรงพยาบาลคุระบุรีหรือโรงพยาบาลระนองได้ แต่การไม่มีบัตรประชาชนทำให้มอแกนไม่อยากเดินทางเข้ามาในเมือง เพราะอาจ จะถูกตรวจจับได้ นอกจากนั้น การอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย และความยากลำบากในการสื่อสารทำให้มอแกนไม่อยากเข้ามาตรวจรักษาในโรงพยาบาลนัก
ที่มา : โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท กรุงเทพฯ 10330 โทรสาร 0-2255-2353

ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

          มีพื้นที่รวม 135 ตารางกิโลเมตร(ประมาณ 84,357 ไร่) ร้อยละ 76 ของพื้นที่เป็นทะเล ประกอบด้วยเกาะ 5 เกาะ และกองหินโผล่พ้นน้ำ 2 แห่งได้แก่เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้เกาะปาจุมบา(เกาะกลาง) เกาะตอรินลา(เกาะไข่) เกาะ(เกาะสต็อร์ค)หินแพและหินกอง เป็นแนวปะการัง รอบหมู่เกาะสุรินทร์มีลักษณะที่โดดเด่น และเป็นแนวปะการังที่กว้างที่สุด และโดดเด่นที่สุดในทะเลไทย อีกทั้งยังมีสรรพชีวิตใต้น้ำที่หลากหลาย จุดดำน้ำตื้น (Snorkelling) ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือบริเวณอ่าวเต่า เป็นแนวปะการังแคบและหักชันลงในที่ลึก ผู้มาเยือนบริเวณนี้มีโอกาสเห็นปะการัง หอยมือเสือ และปลาสวยงามหลากชนิด บางครั้งอาจพบเต่ากระเข้ามาหากินบริเวณนี้ หรือปลาใหญ่ว่ายเทียบแนวปะการัง ส่วนจุดอื่นๆก็จะมีเช่น อ่าวผักกาด หาดไม้งาม นอกจากนี้ยังมีจุดดำน้ำลึกแบบ Scuba จุดที่มีชื่อเสียงคือกองหินทางตอนใต้ห่างจากปลายเกาะสุรินทร์ใต้เพียง 20-100 เมตรความลึกเฉลี่ย 15-30 เมตร เป็นที่อาศัยของปะการังอ่อนน้ำลึกมีสีสันที่สวยงาม ไม่ผิดอะไรกับโลกใต้ทะเลที่สิมิลัน

          ลักษณะชายฝั่งโดยทั่วไปของหมู่เกาะสุรินทร์จะมีส่วนเว้าแหว่งเป็นอ่าวทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไป และด้วยความห่างไกลจากชาย ฝั่งทำให้บริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ได้รับอิทธิพลจากชายฝั่งน้อย บริเวณรอบๆเกาะ ยังเป็นเขตน้ำลึกกว่า 50 เมตร การไหลเวียน ของน้ำบริเวณรอบๆเกาะ กับน้ำทะเลในท้องทะเลเปิดเป็นไปอย่างสะดวก ประกอบกับสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์บนเกาะเป็นตัวป้องกันการพังทลายของดินและป้องกันการตกตะกอน ที่จะลงมายังทะเล ทำให้น้ำทะเลมีความโปร่งใสสูง โดยมีพิสัยการมองเห็นใต้น้ำถึง 20 เมตร

แหล่งท่องเที่ยวและจุดเด่นที่น่าสนใจ

          หมู่เกาะสุรินทร์ ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีแนวปะการังน้ำตื้นที่สวยที่สุดในประเทศไทย จึงเป็นสถานที่ที่ได้รับการเยี่ยมเยือนจากนักท่องเที่ยวทั้งชาว ไทยและชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละฤดูกาลท่องเที่ยวนอกจากนี้ยังมีทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ที่มีความสำคัญและน่าสนใจ อีกเป็นจำนวนมาก

          • เกาะสุรินทร์เหนือ และ เกาะสุรินทร์ใต้ เป็นเกาะที่อยู่ติดกันโดยมีร่องน้ำคั่นกลาง มีอ่าวทั้งเล็กและใหญ่กระจายอยู่รอบเกาะ ทุกอ่าว มีความสวยงาม ของหาดทรายและน้ำทะเลแตกต่างกันไป เกาะสุรินทร์เหนือเป็นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บ้านพัก ที่กางเต็นท์ และมีเรือหางยาวให้เช่าเที่ยวตามเกาะต่าง ๆ
          • อ่าวช่องขาด อยู่ทางใต้ของเกาะสุรินทร์เหนือ เป็นจุดสำหรับกางเต็นท์ หาดทรายขาวสะอาด เล่นน้ำได้ มีปะการังและฝูงปลา เช่น ปลานกแก้วสีสดใส และปลานกขุนทอง มาว่ายเวียนทักทายให้ดูอยู่เสมอ
          •    อ่าวแม่ยาย อยู่ทางใต้ของเกาะสุรินทร์เหนือ เป็นอ่าวที่มีคลื่นลมสงบ และมีขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะสุรินทร์ มีปะการังน้ำตื้น
          •   อ่าวไทรเอน อยู่ทางตะวันออกของเกาะสุรินทร์เหนือ เป็นอ่าวที่มีชาวเลหรือมอแกน ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่ยังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมกินนอน อยู่ในเรืออาศัยอยู่ นับถือเทวรูปอินเดียนแดง ซึ่งแกะสลักด้วยท่อนไม้ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวเล ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือนเมษายนของทุกปี ชาวเลจะ มาชุมนุมเพื่อไหว้ผีที่ตนเคารพนับถือ งานจะจัดเป็นเวลา 3 วัน
          • อ่าวลึก อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสุรินทร์เหนือ มีปะการังน้ำตื้น สาหร่ายทะเล ดอกไม้ทะเล กัลปังหา ฝูงปลาการ์ตูน และฝูงปลา หลากชนิด สีสันสวยงาม
          •   อ่าวจาก อยู่ทางทิศเหนือของเกาะสุรินทร์เหนือ มีหาดทรายขาวละเอียดสะอาด เป็นจุดดำน้ำตื้นที่มีแนวปะการังที่สวยงามสมบูรณ์
          • อ่าวไม้งาม อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะสุรินทร์เหนือ ติดกับอ่าวที่ทำการฯเป็นอ่าวใหญ่ ชายหาดยาวโค้ง มีแนวปะการังที่สวยงามและปลา หลากสีหลายพันธุ์ นอกจากนั้นยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่าวไม้งาม เดินผ่านป่าดงดิบเลียบชายหาด มีป้ายสื่อความหมาย ระยะทาง 2 กิโลเมตร ใช้เวลา เดิน ประมาณ 1 ชั่วโมง จะพบพืชพรรณนานาชนิด สัตว์ป่าต่าง ๆ เช่น กระจง บ่าง นกที่หาดูได้ยาก ได้แก่ นกชาปีไหน นกลุมพูขาว
          •   อ่าวบอน อยู่ทางตะวันออกของเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นที่อยู่ของชาวมอแกน หรือชาวเลอีกกลุ่มหนึ่ง
          •   อ่าวเต่า อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะสุรินทร์ใต้ มีเต่าทะเลอาศัยจำนวนมาก บริเวณใกล้แนวปะการังเป็นอ่าวที่เหมาะจะดำน้ำตื้น เพราะมี ปะการังอ่อน และกัลปังหา
          •  อ่าวผักกาด อยู่ทางทิศใต้ของเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นจุดดำน้ำตื้น ที่มีแนวปะการังเขากวาง เป็นอ่าวที่ดำน้ำได้ทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก
          •  อ่าวสุเทพ อยู่ทางเหนือของเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นอ่าวที่มีปะการังสมบูรณ์ เหมาะสำหรับดำน้ำตื้น
          •  เกาะปาจุมบา หรือ เกาะกลาง อยู่ทางเหนือของเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นเกาะที่มีหาดทรายขาวละเอียดสะอาด แนวปะการังสมบูรณ์ บริเวณนี้ยัง พบปลากระเบนราหู ปลาหลากพันธุ์สีสวยงาม และกุ้งมังกรจำนวนมากซึ่งหาดูได้ยาก จนได้ชื่อว่า อ่าวมังกรและยังเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล
          •  เกาะไข่ หรือ เกาะตอริลลา อยู่ทางใต้ของเกาะสุรินทร์ใต้ ด้านทิศตะวันออกของเกาะมีแนวปะการังยาวเหยียดที่ยังคงความสวยงามสมบูรณ์ เหมาะแก่การดำน้ำลึก


อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
จังหวัดพังงา
พื้นที่ทั้งหมด 80,000.00 ไร่ (128 ตร.กม.)   พื้นที่น้ำ 71,250.00 ไร่ (114 ตร.กม.)
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 99 ตอนที่ 123 เมื่อ 1 กันยายน 2525

ประวัติและที่ตั้ง

          ไกลออกไปทางด้านใต้ของหมู่เกาะสุรินทร์ด้วยการเดินทาวงยาวไกลไม่น้อยกว่า 3 - 4 ชั่วโมง จากท่าเรือทับละมุ จังหวัดพังงา หรือกว่านั้น หากมา จากภูเก็ต ที่นี่ "หมู่เกาะสิมิลัน" หมู่เกาะ กลางทะเลอันดามันที่เป็นเลิศในความงามอีกแห่งหนึ่งของโลก "สิมิลัน" เป็นภาษายาวีหรือมลายู แปลว่า "เก้า" จึงมีชื่อเรียกกันว่า หมู่เกาะสิมิลัน หรือหมู่เกาะเก้า ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อย 9 เกาะด้วยกัน เกาะทั้งเก้าเรียงตัวตามแนวทิศเหนือไปทิศใต้ ได้แก่ เกาะบอน เกาะบางู เกาะสิมิบัน เกาะปายู เกาะห้า เกาะเมียง เกาะปาหยัน เกาะปายัง และเกาะหูยง

ภูมิประเทศ, ภูมิอากาศ

          หมู่เกาะสิมิลัน ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติของประเทศไทย ในปี พ.ศ.2525 ครอบคลุมพื้นที่เกาะและห้วยน้ำทะเล รอบเกาะ ที่มีปะการังสมบูรณ์ ในท้องที่ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นเนื้อที่ประมาณ 128 ตารางกิโลเมตร (80,000 ไร่) พื้นที่เกาะซึ่งเป็นแผ่นดินมีประมาณ 14 ตารางกิโลเมตร

พืชพรรณ , สัตว์ป่า

          • ปะการัง และสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ปะการัง เป็นสัตว์จำพวกไม่มีกระดูกสันหลัง อยู่ในไฟลัม Cnidaria ชั้น Anthozoa มีโครงสร้าง ภายนอกเป็นหินปูนรองรับอยู่ที่ฐาน และมีเนื้อเยื่อที่มีชีวิตอยู่ด้านบน สามารถอยู่อย่างโดยเดี่ยวหรือรวมกันหลายตัวเป็นกลุ่มปะการังพวกที่เจริญเติบโต เป็นแนวปะการัง ส่วนปะการังที่เจริญได้ดีในเขตน้ำตื้น จนถึงเขตน้ำลึกประมาณ 50 เมตร มีการเจริญเติบโตแบบรวมเป็นกลุ่ม จะเกิดเป็นแนว ประการังขนาดใหญ่ โดยประการังแต่ละตัวที่อยู่รวมกัน จะสร้างโครงสร้างในรูป ของ หินปูนเป็นรูปร่างต่าง ๆ กันแล้วแต่ชนิดของปะการังนั้น ๆ เช่น ปะการังเขากวาง ปะการังสมอง เป็นต้น
          •   นักชีววิทยาได้แบ่งปะการังที่มีอยู่ออกตามกลุ่มรูปแบบการเจริญเติบโตได้เป็น ปะการังก้อน ปะการังแท่ง ปะการังเคลือบ ปะการังกิ่ง ปะการังกลีบซ้อน ปะการังแผ่น และปะการังเดี่ยว นอกจากนี้ยังมีสัตว์บางกลุ่มที่มีชื่อขึ้นต้นว่า ปะการัง แต่ไม่จัดเป็น พวกเดียวกับปะการังแท้ ได้แก่ ปะการังอ่อน ปะการังดำ ซึ่งอยู่ในชั้น Anthozoa เช่นเดียวกับปะการังแท้และปะการังไฟ ซึ่องู่นใชั้น Hydrozoa
          • แนวปะการังที่พบในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันเป็นแนวปะการังน้ำลึก มีความหลากหลายของชนิดปะการังมาก เช่น ปะการังเขากวาง แปรงล้างขวด (Acropora echinata ) และปะการัง Seriatopora histrix พบเป็นชนิดเด่นในขณะที่หมู่เกาะอื่นไม่พบ ปะการังในกลุ่มนี้เลย (ยกเว้นหมู่เกาะสุรินทร์) บริเวณที่มีแนวปะการัง ได้แก่ เกาะบอน เกาะบางู เกาะสิมิลัน เกาะปายู เกาะเมี่ยง เกาะห้า เกาะปายัง เกาะปาหยัน และเกาะหูยูง
          นอกจากปะการังแล้ว ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นที่อาศัยร่วมอยู่ในแนวปะการังอีกหลายชนิด ที่สามารถพบได้ทั่วไป ได้แก่ ฟองน้ำ ปะการังอ่อน กัลปังหา ดอกไม้ทะเล หนอนทะเล หอยมือเสือ หมึกทะเล กุ้งมังกร และปู
          •  สำหรับปลาในแนวปะการังได้มีการสำรวจและพบอย่างน้อย 54 ชนิด เช่น ปลากะรัง ปลากะพง ปลาหมูสี ปลาสร้อยนกเขา ปลาผีเสื้อ ปลานกขุนทอง
          •  ลักษณะพืชพรรณของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เป็นป่าที่ลุ่มต่ำประกอบด้วย
             (1) ป่าชายหาด (Beach Forest) เป็นสังคมพืชที่อยู่บริเวณรอบเกาะ ในระดับพื้นที่ต่ำ ใกล้ทะเลบนชายหาด มีลักษณะเป็น ป่าโปร่งพันธุ์ไม้ที่ สำคัญได้แก่ หูกวาง จิกทะเล สารภีทะเลละมุดป่า งวงช้าง ทะเล ตะบัน ปอทะเล ตีนเป็ด มะพลับ เข็มขาว เตยทะเล ปรงทะเล รักทะเล และมีพืชคลุมดินพวกถั่วผี ผักคราด และหญ้าหวาย เป็นต้น
             (2) ป่าดงดิบ (Evergreen Forest ) เป็นสังคมพืชที่มีไม้ผลัดใบและไม่ผลัดใบ ขึ้นปะปนกัน พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยางปาย ยางขน ตะเคียน ขนุนนก หยีน้ำ โมกป่า สำโรง ปออีเก้ง ทุ้งฟ้า เนียน กะตังใบ ไผ่ป่า เต่าร้าง นอกจากนี้จังมีหมาย กำพวน เสี้ยวเครือ เมื่อย ลิเภาป่า เป็นต้น

          อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันมีสภาพป่าที่สมบูรณ์ มีความหลากหลายของพันธุ์ไม้ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะละมุดป่า (Manikara sp.) ปอทะเล (Cordia subcordia ) งวงช้างทะเล (Tournefotia argentia) เป็นพันธุ์ไม้ที่หาพบได้ยาก มีเฉพาะแห่งตามเกาะใหญ่ในฝั่งทะเลตะวันตกเท่านั้น
ในปี พ.ศ.2535 ได้มีการสำรวจทรัพยากรสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน พบว่า มีนกไม่น้อยกว่า 39 ชนิด ซึ่งแบ่งเป็น
          (1) นกที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในประเทศไทยและไม่อพยพย้ายถิ่น เช่น เหยี่ยวแดง นกกวัก
          (2) นกอพยพ เช่น นกปากซ่อมหางเข็ม นกเด้าลมหลังเทา และ
        (3) นกประจำถิ่น และบางครั้งมีการอพยพย้ายถิ่น ได้แก่ นกนางแอ่นบ้าน นกยางควาย นกอีลุ้ม และนกนางนวลแกลบสีกุหลาย นกที่พบได้บ่อย ในเขต อุทยานแห่งชาติ ได้แก่ นกยางทะเล ( Egretta sacra) นกชาปีไหน (Caloenas nicrobarica) นกลุมพูขาว (Ducula bicolor) นกออก (Haliaeetus leucogaster) และนกกินเปี้ยว (Haleyon chloris)

          เนื่องจากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิบัน มีสภาพพื้นที่เป็นเกาะขนาดเล็กอยู่ห่างไกลขากชายฝั่ง มีแหล่งน้ำจืดตามธรรมชาติน้อย จึงทำให้มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนำนมน้อย เท่าที่สำรวจพบ มี 27 ชนิด โดยทั่วไปมีขนาดเล็กประกอบด้วย ค้างคาว 16 ชนิด ( เช่น ค้างคาวปีกถุงเคราดำ ค้างคาวแวมไพร์แปลงเล็ก ค้างคาวมงกุฎเล็ก ค้างคาวปีกพับเล็ก และค้างคาวหน้าหมู เป็นต้น) กระรอก 3 ชนิด (เช่น กระรอกบินแก้มสีเทา) หนู 4 ชนิด (เช่น หนูพานท้องเหลือง และหนู ท้องขาว) แม่นหางพวง อีเห็นธรรมดา และโลามหัวขวดปากสั้นสัตว์เลื้อยคลาน ที่พบมี 22 ชนิด ได้แก่ กิ้งก่าสวน เต่ากระ เต่ามะเฟือง ตะกวด เหี้ย งูเหลือม งูสามเหลี่ยม งูเขียวหางไหม้ท้องเขียว เป็นต้น นอกจากนี้ยังสำรวจพบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกอีก 4 ชนิด ได้แก่ อึ่งน้ำเต้า คางคกบ้าน กบหนอง และเขียดตะปาด นอกจากนี้ยังมีสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ ปูไก่ หรือที่คน ทั่วไปเรียกว่า "ปูขน" เนื่องจากมีขนปรากฎอยู่บริเวณขาจำนวนมากจนเป็นลักษณะเด่นที่เห็นชัด พบเห็นได้ไม่ยากในหมู่เกาะสิมิลัน โดยจะขุดรูอยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำ


          หมู่เกาะสิมิลัน เป็นหมู่เกาะที่ได้รับการยกย่องจากนิตยสารสกินไดวิ่ง ของอเมริกันว่า เป็นหมู่เกาะ ที่มีความสวยงามทั้งบนบกและใต้น้ำ ซึ่งติดอันดับความงาม เป็น 1 ใน 10 ของโลก ซึ่งมีช่วงฤดูกาล ที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยวมากที่สุดคือ ระยะปลายเดือนธันวาคมถึงกลางเดือน เมษายน ในเดือนมีนาคมจะเป็นช่วงที่อากาศดีที่สุด น้ำใส และไม่มีมรสุม โดยมีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่
          o    เกาะสิมิลันหรือเกาะแปด เป็น เกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะสิมิลัน ระดับน้ำทะเล ในบริเวณรอบ เกาะสิมิลันค่อนข้างลึก มีระดับ โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 100-120 ฟุต ซึ่งใต้น้ำสมบูรณ์ไปด้วย ปะการัง กัลปังหา พัดทะเล และกุ้งมังกร เกาะสิมิลันจะมีอ่าวเล็ก ๆ อยู่ทางตะวันตกของ เกาะอ่าวเกาะสิมิลัน มีรูปโค้งเหมือนเกือกม้า น้ำลึกโดยเฉลี่ย 60 ฟุต ใต้ท้องทะเลอุดม สมบูรณ์ไปด้วยกองหิน และแนวปะการัง มีปลาเล็กปลาน้อย มากมาย สภาพหาดสวยงามมากเหมาะสำหรับการดำน้ำดูปลา และปะการังทางด้านเหนือของอ่าวเป็นเกาะแก่งเล็ก ๆ ใต้น้ำอุดม ไปด้วยปะการัง เขากวาง ปะการังดอกเห็ดขนาดใหญ่ ทางใต้ของอ่าวเป็นโขดหินสลับกับแนวปะการังไม่เป็นระยะตลอดแนวอ่าวด้านทิศเหนือของเกาะ มีก้อนหินขนาดยักษ์รูปร่าง คล้ายรองเท้าบู้ท หรือหัวของโดนัลดักของวอลท์ดิสนีย์ ก้อนหินนี้เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของเกาะสิมิลัน หรือเกาะแปด เลยทีเดียว
          o หินปูซาร์ หรือ เกาะหัวกะโหลก เป็นเกาะอันดับ 7 ของหมู่เกาะสิมิลัน มีลักษณะเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ มีลักษณะแปลกมาก เมื่อมอง ดูจากมุมหนึ่งจะเห็นเป็นรูปหัวกะโหลก สภาพใต้นำของเกาะนี้สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง และมีระดับความลึกที่แตกต่างกันออกไปหลายระดับชั้น สภาพเหมือน หุบเขาใต้น้ำที่เต็มไปด้วย ปะการัง และหุบเหวลึกน่ากลัว ปลาใหญ่น้อยนับแสนพากันเวียนว่ายอยู่ตามก้อนหิน และบางครั้งมีปลาโลมา ปรากฎให้เห็น
          o   เกาะหูยง เป็นเกาะที่มีหาดทรายขาวสะอาด และยาวมากที่สุดในหมู่เกาะเก้า เป็นที่วางไข่ของเต่าทะเล
          o   เกาะเมียงหรือเกาะสี่ เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติ มีแหล่งน้ำจืดหาดทรายสวยงาม เป็นแหล่งที่สามารถหาดูปูขน และนกชาปีไหน ได้ดีกว่าพื้นที่อื่น เป็นพื้นที่ที่ได้จัดไว้เพื่อการพักแรม

กิจกรรมที่น่าสนใจในอุทยานแห่งชาติ

          คือ การเดินป่า การว่ายน้ำ การถ่ายภาพ การรื่นเริง รอบกองไฟในยามค่ำคืน การพักแรมในภูมิประเทศห่างไกลที่มีเสียงแมลงเป็นดนตรีขับกล่อม หรือการเดินชายหาดที่สวยงามริมทะเล และการดำน้ำชมโลกของของปะการังที่น่าตื่นใจ

                                                                                                                                                                       กลับไปด้านบน >>

 

Counters