HOME

 

 

                ชมรมโรคตาแขนงต่างๆ ได้จัดตั้งมาหลายชมรมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นชมรมจอประสาทตา ชมรมต้อหิน ชมรมกระจกตาดำ และอื่น ๆ กลุ่มที่สนใจทางกล้ามเนื้อกลอกลูกตา คือตาเขหรือตาเหล่ (strabismus ) จึงจัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อก่อรูปแบบนำร่องโดยพยายามรวบรวมเอาหัวหน้ากลุ่มงานทางด้านตาเขขึ้นมาช่วยกันร่างวัตถุประสงค์และระเบียบต่างๆๆ

                ความจริงชมรมตาเขหรือตาเหล่นี้ เคยมีการก่อตั้งมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่เงียบหายไป ช่วงประมาณ 4-5 ปี จึงนำมาปรับปรุงให้เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน มีหลักและวิธีการที่เป็นไปตามหลักสากลกันใหม่ช่วยกันคิดร่างกฎระเบียบต่าง ๆ ของชมรม ฯ เมื่อคราวประชุมวิชาการของราชวิทยาลัยจักษุ ฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2542 ที่ผ่านมามีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดแรก และ ได้นำเรื่องพร้อมรายชื่อกรรมการและกฏระเบียบต่าง ๆ ที่ร่างขึ้นมาเสนอประธานราชวิทยาลัยจักษุ ฯ เพื่อพิจารณาเห็นชอบและยอมรับเป็นทางการ จากการประชุมกรรมการบริหารราชวิทยาลัย ฯ เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2543 ได้มีการบันทึกไว้ในรายงานการประชุมด้วยว่ามีชมรมตาเขจัดตั้งขึ้นเป็นทางการแล้วอีกหนึ่งชมรม ฯ ให้ชื่อว่า “ ชมรมตาเขแห่งราชวิทยาลัย “ ไม่ใช่ “ ชมรมตาเขแห่งประเทศไทย “ ซึ่งไม่ถูกหลักและระเบียบที่มีอยู่

                หลังจากนั้น ทางชมรม ฯ พยายามชักชวนหาสมาชิกให้มากเท่าที่จะทำได้ ด้วยการออกจดหมายเชิญชวนจักษุแพทย์ทั่วประเทศที่มีวุฒิบัตร หรือหนังสืออนุมัติเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าได้รับการตอบรับการเป็นสมาชิกอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เกือบ 200 ท่าน ซึ่งได้อาจารย์หมอ ประภัสสร ผาติกุลศิลา เลขานุการช่วยดำเนินการมาโดยตลอด

วัตถุประสงค์หลักของชมรม ฯ ก็เพื่อที่จะส่งเสริมวิชาการด้านกล้ามเนื้อตา อันเป็นเหตุให้เกิดภาวะตาเขหรือตาเหล่ พัฒนาการให้ทันยุคสมัยตามหลักสากล และเผยแพร่วิชาการให้กับเพื่อนสมาชิกทราบ เพิ่มพูนความรู้ นอกจากนั้นแล้วยังส่งเสริมและแลกเปลี่ยนทักษะวิชาการด้านนี้ระหว่างผู้มีประสบการณ์จากสถาบันต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศ ส่งเสริมสนับสนุนผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่แก่สาธารณะ และอื่น ๆ อีกหลากหลาย ให้เกิดการสร้างสรรค์ รวมทั้งความสามัคคีในหมู่คณะอีกด้วย

หลังจากที่นำเรื่องการตั้งชมรม ฯ เข้าที่ประชุมราชวิทยาลัย ฯ เมื่อครั้งแรกไปแล้ว ได้รับการเสนอแนะให้รวมเอาโรคตาในเด็กเข้าไปด้วยเพื่อให้เป็นไปตามหลักสากลนิยม จึงได้นำเอาข้อเสนอนี้มาปรึกษากับกรรมการชมรม ฯ อีกครั้ง เมื่อคราวประชุมวิชาการประจําปีของราชวิทยาลัย ฯ ที่โรงแรมรีเจ้นท์ชะอำ วันที่ 15-16 กรกฎาคม 2543 ได้ข้อสรุปว่า

    1. ควรจะรวมเอาโรคตาในเด็กเข้าเป็นชมรมเดียวกัน ให้ชื่อว่า “ ชมรมจักษุวิทยาเด็กและตาเข “ ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษเช่นเดียวกับต่างประเทศว่า “ Pediatric Ophthamology and Strabismus Society “
    2. ออกตราสัญลักษณ์ของชมรม ฯ (logo) ใหม่ ให้แลดูเก๋ไก๋ทันสมัย โดยยึดรูปแบบโครงร่างเดิม
    3. ออกจุลสารวิชาการสั้น ๆ ที่ทันสมัย หรือมีประเด็นที่ง่ายๆ แต่มีประโยชน์นำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเองพร้อมการประชุมราชวิทยาลัยฯทุกครั้ง(2 ครั้งต่อปี) โดยมอบหมายให้อาจารย์สุดารัตน์ ใหญ่สว่างประธานฝ่ายวิชาการและอาจารย์ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์รับไปดำเนินการ ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน ควรเชิญอาจารย์โรคตาในเด็กเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย

วัตถุประสงค์ :

    1. เพื่อรวบรวมจักษุแพทย์ที่มีความสนใจเรื่องโรคตาเข
    2. เพื่อส่งเสริมวิชาการด้านจักษุวิทยาเรื่องตาเข ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ให้เจริญก้าวหน้าทันสมัยตามแบบสากล
    3. เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่วิชาการเกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้อตา

คุณสมบัติของชมรม

    1. เป็นชมรมหนึ่งที่ขึ้นอยู่กับราชวิทยาลัย และสมาคมจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
    2. ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรืออยู่ภายใต้อิทธิพลของใครหรือองค์กรใด

แผนการดำเนินงาน

    1. รวบรวมผลงานของสมาชิกที่น่าสนใจที่เคยเสนอในที่ประชุมวิชาการราชวิทยาลัย, สมาคม หรือต่างประเทศ พิมพ์รวมเป็นเล่ม หรือออกเป็นวารสารราย 4 เดือน แจกสมาชิก (อาจจำหน่ายภายหลัง)
    2. นัดหมายให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ ทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติในผู้ป่วยตาเขอย่างสม่ำเสมอ
    3. มีการอบรมหรือประชุมกลุ่มย่อย สาธิตการผ่าตัด wet lab เพื่อฟื้นฟูวิชาการใหม่แก่สมาชิก
    4. รายงานผลการปฏิบัติงานให้ราชวิทยาลัยฯและสมาคมจักษุฯ ทราบทุก ๆ 4 เดือน