อิสิทาสีภิกษุณี ตอนที่ ๒
ชาตินี้ขอสะสางกรรม
นางคิดถึงพระดำรัสของพระศาสดานี้ก็ทำให้สลดใจอยู่ไม่น้อย พระธรรมกถาก็หลั่งไหลวนเวียนย้ำเตือนนางอยู่เสมอ
ภิกขุนูปัสสะยะเวลาเช้าช่างเงียบสงัดเหลือเกิน ภิกษุณีทั้งหลายต่างก็เร่งความเพียรเหมือนไม่รู้จักคำว่า "หลับ" ประคองธรรมะภายในใจประดุษพระพายรำเพยที่แผ่วไหว เมื่อกระทบกายใจใคร ก็จะรู้สึกสดชื่น
จริงอยู่มนุษย์ผู้ตื่นอยู่ไม่ใคร่จะหลับมีอยู่ 5 ประเภท ที่พระบรมศาสดาตรัสแก่ภิกษุภิกษุณีทั้งหลายเมื่อคราวที่พระองค์เสด็จผ่านมาโปรดเวไนยสัตว์ที่ชินทัตตารามแห่งนี้เองว่า "ภิกษุทั้งหลาย! บุคคลผู้ตื่นอยู่ไม่รู้จักหลับ คือผู้หลับน้อยแต่ตื่นนานในราตรีมีอยู่ 5 จำพวก คือ
1. สตรีผู้มีความประสงค์กำหนัดในบุรุษแล้วเธอก็ดำริคำนึงถึง
2. บุรุษผู้มีความกำหนัดในสตรีกระหายใคร่ได้ใคร่สัมผัส มีใจอันส่งไปกระสับกระส่าย
3. โจรผู้มีความประสงค์จะลักทรัพย์และคิดหาวิธีคอยโอกาส ที่ผู้คนหลับไหล
4. พระราชาผู้ประกอบในราชกรณียกิจเป็นห่วงประชาราษฎร์และการรบ
5. ภิกษุผู้ปรารถนาความหลุดพ้นหรือพุทธสาวกสาวิกาผู้ปรารถนาความหลุดพ้นเร่งความเพียร
อิสิทาสีภิกษุณีเธอเป็นผู้หลับน้อยตื่นนานเร่งความเพียร ปรารถนาความหลุดพ้น เมื่อคืนนี้นางพิจารณาธรรมอยู่ตลอดทั้งคืน พระพุทธคุณ เล่า! ก็ไหลวนเวียนเข้ามาสู่ความสำนึกอันลึกซึ้ง นางคิดว่า ภายใต้พุทธฉายานี้ ช่างมีความสงบเย็น ตื่นตาตื่นใจ วิปัสสนาธรรมเล่า! ก็นำมาซึ่งความบริสุทธิ์ที่น่าพึงใจ
เสียงไก่โห่อยู่ไม่นานท้องฟ้าก็เริ่มสาง ลมเย็นตอนรุ่งอรุณพัดแผ่วตามทิวไม้ แสงแดดในยามเช้าก็ชุ่มชื่นพอสบาย พระอาทิตย์เพิ่งจะยอแสงสาดส่องทั่วพื้นพิภพไม่นานนัก สายลมที่แผ่วไหวพัดเฉื่อยฉิวหอบเอากลิ่นดอกไม้ธรรมชาติติดมาด้วย นกตัวเล็กๆ กระโดดโลดเต้นด้วยความสำราญเบิกบานใจ บินจากต้นนี้ไปสู่ต้นโน้น บินจากต้นโน้นไปสู่ต้นนั้น อันธรรมชาติของสัตว์นั้นเป็นธรรมชาติซื่อตรงไม่คดโกง นกตัวเล็กๆ พลางร้องเหมือนทักทายกันด้วยความสดชื่นในเวลาอรุณรุ่ง
ท้องฟ้าสางแล้ว แสงสว่างสาดไปทั่วไพรสณฑ์ โน้มน้อมดวงหทัยของนางภิกษุณีให้แจ่มใสชื่นบาน แลแล้ววิปัสสนาปัญญาก็โพลงขึ้น ชำแรกกิเลสแทงทะลุบาปธรรมทั้งมวลที่หุ้มห่อจิต แหวกอวิชชาและโมหะเป็นประดุจตาข่ายด้วยศัสตราคือวิปัสสนาปัญญา พิจารณาเห็นสภาวธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งมวล บรรลุอรหัตผลพร้อมด้วยวิชชา 3 ในวันที่ 7 แห่งการอุปสมบท
นางลงจากที่จงกรมผินพักตร์ไปทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ กราบถวายบังคมพระศาสดาด้วยความเห็นบุญเห็นคุณอันสุดจะประมาณได้
"อา! นางอุทานเบา ๆ จิตนี้เป็นธรรมชาติผ่องใสมีรัศมีเหมือนจันทร์เจ้า แต่อาศัยกิเลสที่จรมาเป็นครั้งคราว จิตนี้จึงเศร้าหมอง เหมือนก้อนเมฆบดบังดวงจันทร์ให้อับแสง
จิตอันเป็นบาปใดที่เราเคยกระทำแล้ว แต่ภายหลังมาละได้ด้วยวิปัสสนาญาณ เป็นเหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากเมฆหมอกส่องแสงสว่างจ้าได้ฉะนั้น"
นางเตรียมนุ่งอันตรวาสก ครองอุตราสงค์ให้เป็นปริมณฑลเรียบร้อยถือบาตรเข้าสู่นครปาฏลีเพื่อบิณฑบาต ในระหว่างทางนั้นนางได้เจอกับเพื่อนภิกษุณีนางหนึ่ง สนทนากันพอประมาณได้ทราบชื่อว่า "โพธิ" เธอทั้ง 2 ได้ร่วมโคจรเที่ยวบิณฑบาตในสายทางเดียวกัน มีผู้คนคอยดักถวายอาหารเป็นแห่ง ๆ ภิกษุณีพุทธสาวิกาเหล่านี้เป็นที่คุ้นตาของประชาชนชาวเมืองปาฏลีอยู่แล้ว เมื่อบิณฑบาตเสร็จแล้วฉันอาหารท่ามกลางหาดทรายที่ศรัทธานำมาถวายด้วยอาการสามีบริโภค อันเป็นแบบอย่างแห่งพระอรหันต์ทั้งหลาย ทำภัตตกิจเสร็จแล้วภิกษุณีทั้ง 2 ก็ยับยั้งอยู่ ณ ที่นั้น สนทนาธรรมด้วยวิหารธรรมอันประเสริฐ
"ข้าแต่แม่อิสิทาสีผู้ประพฤติพรหมจารีย์" โพธิภิกษุณีกล่าวถามขึ้น ท่านเป็นผู้หลับน้อยตื่นนานเร่งความเพียรรื่นเริงในธรรม มุ่งสันติวรบทคือพระนิพพาน ไม่คลุกคลีอยู่เดียวดาย ปรารถนาวิเวก มักน้อยและตั้งจิตไว้ชอบ ท่านทำประการใดหรือ? ท่านจึงตามรักษาจิตของท่านไว้ในอำนาจได้
"แนะแม่โพธิผู้บำเพ็ญตบะ" อิสิทาสีภิกษุณีกล่าวตอบ "ข้าพเจ้าปฏิบัติตามพระดำรัสของพระศาสดาที่ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายที่วัดเชตวัน พระองค์ตรัสว่า "
"ภิกษุทั้งหลาย! พวกเธอทั้งหลายเห็นท่อนไม้ใหญ่อันกระแสลมพัดลอยมาในแม่น้ำคงคาบ้างหรือไม่ พระพุทธองค์ตรัสแล้วทรงชี้พระหัตถ์ไปทางฝั่งแม่น้ำคงคา ภิกษุทั้งหลาย! ถ้าท่อนไม้นี้จะไม่ลอยมาติดฝั่งข้างนี้หรือข้างโน้น จะไม่จมเสียในท่ามกลางแม่น้ำ ไม่เกยบก ไม่ถูกผู้คนลากเข้าฝั่ง ไม่ถูกน้ำวนวนเอาไว้ และไม่ผุเน่าในภายใน ภิกษุทั้งหลาย! ด้วยประการดังกล่าวมาเช่นนี้แล ไม้ท่อนนั้นจะลอยไหลเรื่อยลงไปสู่มหาสมุทรได้ เพราะเหตุอะไร เพราะเหตุว่ากระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคาลุ่มลาดไหลเทลงไปสู่มหาสมุทรฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย! พวกเธอทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าเธอทั้งหลายประพฤติธรรมมีความเห็นชอบ จะไม่แวะเข้าฝั่งข้างนี้ หรือแวะเข้าฝั่งข้างโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับไว้ พวกเธอไม่ถูกเกลียวน้ำวนวนไว้ ไม่เป็นผู้เน่าเสียภายในไซร้ ด้วยประการดังกล่าวมานี้ พวกเธอทั้งหลายจักโน้มเอียงไปสู่พระนิพพานอันเป็นแดนเกษม เหมือนขอนไม้นั้นเข้าถึงฝั่งได้ฉันนั้น ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุอะไร เพราะเหตุว่า ความเห็นชอบย่อมโน้มเอียงโอนเทลาดไหลลงไปสู่พระนิพพานฉันนั้นเหมือนกัน
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ "ฝั่งนี้และฝั่งโน้น" ได้แก่อะไรพระเจ้าข้า" ภิกษุรูปหนึ่งทูลถามขึ้นด้วยความสนใจเป็นที่ยิ่ง
ภิกษุทั้งหลาย! พระศาสดาตรัสด้วยพระสุรเสียงอันกังวาล
คำว่า "ฝั่งนี้" ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
คำว่า "ฝั่งโน้น" ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพผะ ธรรมารมณ์ที่เข้ามาสัมผัส
คำว่า "จมลงในท่ามกลาง" ได้แก่ นันทิราคะ คือความเพลิดเพลินหลงใหลมัวเมา
คำว่า "เกยบก" ได้แก่ อัสมิมานะ คือความถือตัวถือตน หลงตัวหลงตน
คำว่า "ถูกมนุษย์จับไว้" ได้แก่ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้คลุกคลีเพลิดเพลินเศร้าโศกอยู่กับพวกคฤหัสถ์ เมื่อเขาสุขก็สุขด้วยเมื่อเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ยอมรับใช้เขาเป็นต้น
คำว่า "ถูกอมนุษย์จับไว้" คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยศีลด้วยตบะโดยหวังเป็นเทวดาหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง
คำว่า "เกลียวน้ำวน ๆ ไว้" ได้แก่ การลุ่มหลงในกามคุณทั้งห้า
คำว่า "เน่าในภายใน" ได้แก่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ทุศีลมีธรรมอันลามกไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการงานชั่วแต่ปกปิดไว้ ไม่เป็นสมณะก็ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ เป็นผู้เน่าในภายในมีใจชุ่มไปด้วยกาม และเป็นประดุจถังขยะ
ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อเธอทั้งหลายประกอบด้วยความเห็นชอบ ย่อมโน้มเอียงและโอนไปสู่พระนิพพาน เหมือนท่อนไม้ไม่มีสิ่งกีดขวางย่อมไหลลาดเทลงไปสู่ทะเลลึกได้ฉะนั้น
พระพุทธพจน์อันลึกซึ้งนี้ทำให้โพธิภิกษุณีหยุดชะงักและนิ่งงันไปชั่วครู่หนึ่ง อาจจะเป็นเพราะความลึกซึ้งแห่งบทธรรมอันกินใจที่นางไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่ใดมาก่อน "ข้าแต่แม่อิสิ" นางกล่าวชื่อสั้น ๆ ของอิสิทาสีภิกษุณี ข้าแต่แม่อิสิ! บทธรรมเหล่านี้ข้าพเจ้าใคร่กระหายอยากฟังมานานแล้ว นับเป็นบุญของข้าพเจ้าจริง ๆ ที่ท่านได้โปรดอนุเคราะห์เล่าธรรมะภาษิตของพระศาสดา ข้าพเจ้าจึงเป็นเสมือนโคตัวกระหายนมแม่ เมื่อได้ดื่มนมแม่ก็สดชื่น ถึงซึ่งการโลดคนอง เมื่อข้าพเจ้าได้ฟังพระธรรมที่ท่านเล่า ก็รื่นเริงเป็นประดุจลูกโคน้อยตัวนั้น
"แนะแม่โพธิผู้ยินดีในการเพ่งฌาณ!" อิสิทาสีภิกษุณีกล่าวขึ้น อันจิตที่เห็นชอบนั้นเหมือนลูกโคตัวดื้อรั้นวิ่งออกนอกทางแล้วก็กลับเข้ามาสู่ทาง อันจิตเข้าสู่ทางอันประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 นั้น เป็นจิตตรง คำว่า "ตรง" นั้น คือตรงต่อพระนิพพานโดยส่วนเดียว จิตที่ตรงนั้นไม่สามารถจะกลับมาทำความชั่วโดยเจตนาได้อีกแม้แต่น้อย มีอยู่ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าจำได้ว่า พระพุทธองค์ทรงตรัสพระธรรมเทศนาอันเปรียบด้วยเลื่อยไว้ดังนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย! แม้นพวกโจรใจบาปผู้มีความประพฤติต่ำช้า พึงตัดทอนอวัยวะน้อยใหญ่ของพวกเธอทั้งหลายด้วยเลื่อยอันคมกริบ อันมีด้ามสองข้างไซร้ ภิกษุผู้มีใจคิดประทุษร้ายตอบในโจรนั้น ย่อมไม่ชื่อว่า "ทำตามคำสอนของเราตถาคต"
"ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุนั้นควรตั้งจิตไว้ชอบอย่างนี้ว่า ความเพียรอันเราบำเพ็ญแล้ว จักไม่ย่อหย่อน สติอันเราตั้งมั่นไว้ดีแล้ว จักไม่หลงลืม กายอันเราให้สงบแล้วจักไม่กระวนกระวาย จิตอันเราฝึกตั้งมั่นไว้ดีแล้ว จักมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว การประทุษร้ายด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนหิน ด้วยท่อนไม้ ด้วยศัสตราทั้งหลายที่เหล่าโจรกระทำจงเป็นไปในกายนี้เถิด คำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะตั้งไว้ชอบและทำให้จงได้ดังนี้"
นี่แหละแม่โพธิ พวกเราจึงควรเห็นพระธรรมะวินัยอันเป็นคำสอนสำคัญยิ่งกว่าอย่างอื่นที่จะมาถึงเข้า
ข้าแต่แม่อิสิ ข้าพเจ้าเห็นท่านเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ ทั้งก็เป็นผู้มีชาติตระกูลดี รูปร่างและวัยก็ยังไม่เสื่อมโทรม แม้แต่ข้าพเจ้าเป็นผู้หญิงยังต้องนึกชมว่า ท่านเป็นผู้มีรูปร่างผิวพรรณอันบุญหนุนส่ง ท่านเห็นประโยชน์หรือโทษอะไร ถึงได้ออกบวช ขอท่านเล่าความเป็นมาให้ข้าพเจ้าฟังเถิด
อิสิทาสีภิกษุณี ตอนที่ 3
กลับหน้าหลัก