ปีที่ 2 ฉบับที่ 713 ประจำวันอาทิตย์ที่ 27 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2542

บทความพิเศษ

นิพพานนั้น เป็นเช่นไร?

คำว่า "นิพพาน" เป็นชื่อของเป้าหมายสูงสุดของชาวพุทธ ตามตำรา นิพพานมี 2 อย่าง คือ

1. นิพพานของพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ เรียกตามศัพท์เทคนิคทางพระพุทธศาสนาว่า สอุปาทิเสสนิพพาน

นิพพานชนิดนี้ นักวิชาการสมัยใหม่ บางท่านเรียกว่า นิพพานทางจิตวิทยา เพราะเป็นประสบการณ์ทางจิตชั้นสูง ของพระอรหันต์ ผู้ดับกิเลสทุกชนิดได้ อย่างเด็ดขาดแล้ว จิตใจ ของท่าน มีแต่ความสว่าง ความสะอาด ความสงบสุขตลอดกาล

นิพพานชนิดนี้ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นประสบการณ์ในปัจจุบัน ถ้าอยากรู้ว่ามีจริงหรือไม่ ก็อาจพิสูจน์ดูได้ด้วยการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 ที่พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์สาวก ทั้งหลาย ปฏิบัติได้ผลมาแล้ว

2. นิพพานอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึงนิพพานของพระอรหันต์ ที่สิ้นขีพดับขันธ์แล้ว นิพพานชนิดนี้ มีปัญหาถกเถียงกันมาก และถกเถียงกันมา ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน มีคนทูลถามพระพุทธเจ้า มาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้วว่า พระอรหันต์สิ้นชีพแล้ว อะไรเกิดขึ้น ท่านยังมีอยู่หรือไม่มีอยู่ ความจริง พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ก็ได้ประทาน คำตอบไว้แล้ว ในพระไตรปิฎก แต่ถึงกระนั้น คนก็ยังถกเถียงกันอยู่ เพราะเหตุไร ก็เพราะคำตอบเหล่านั้น ยังไม่ชัดเจนพอ บางทีก็ตอบเชิงปฏิเสธ (Negative) ว่า นั่นก็ไม่ใช่ นี้ก็ไม่ใช่ ไม่ใช่อะไรสักอย่าง บางทีก็ตอบว่า นิพพานลึกซึ้งจนพูดถึงไม่ได้ อธิบายไม่ได้

ด้วยท่าทีแบบนี้ จึงมีชาวพุทธเถรวาทเป็นอันมาก เช่น ท่านพุทธทาส เป็นต้น ยอมรับเฉพาะนิพพานทางจิตวิทยาเท่านั้น ไม่ยอมรับนิพพานที่เป็น สภาวธรรมอันหนึ่ง ที่มีอยู่โดยตัวเอง ในเอกภพ หรือที่นักวิชาการสมัยใหม่ (ศาสตราจารย์ ดร.วิทย์ วิศทเวทย์) เรียกว่า นิพพานแบบอภิปรัชญา (Metaphysical Nirvana) ท่านเหล่านี้เชื่อว่า เมื่อพระอรหันต์สิ้นชีพ ดับขันธ์ลง ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็สิ้นสุดลงแค่นั้น ชีวิตของท่านดับไป เหมือนไฟหมดเชื้อ เหมือนตาลยอดด้วน ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย

ปัญหาที่ใคร่จะพยายามตอบในบทความนี้ ก็คือว่า นิพพานแบบอภิปรัชญา มีอยู่หรือไม่ คำตอบที่ได้พบในพระไตรปิฎกเป็นแบบ ยอมรับว่ามี

นิพพานเป็นอายตนะอย่างหนึ่ง

บางสำนักกำลังถูกโจมตีว่า บิดเบือนพระไตรปิฎก เพราะสอนว่า นิพพานเป็นอายตนะ อย่างหนึ่ง แล้วบัญญัติศัพท์ขึ้นใช้ว่า "อายตนนิพพาน" ความจริงพระพุทธพจน์ที่ว่า "นิพพาน มีอยู่จริง ในฐานะเป็นอายตนะอย่างหนึ่ง" ก็มีปรากฎอยู่ชัดเจนในพระไตรปิฎก กล่าวคือ ในคัมภีร์ อุทานแห่งขุททกนิกาย (25/158/206) มีข้อความว่า

อตฺถิ ภิกฺขเว ตทาายตนํ ฯลฯ แปลว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ แต่ในนั้น ไม่มีดิน ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีลม ไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ ไม่ใช่วิญญาณัญจายตนะ ไม่ใช่อากิญจัญญายตนะ ไม่ใช่เนวสัญญานา สัญญายตนะ ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น ไม่ใช่โลกทั้งสอง ไม่ใช่พระอาทิตย์ และพระจันทร์ เราไม่กล่าวอายตนะนั้นเป็นการมา เป็นการไป เป็นสิ่งตั้งอยู่ เป็นการดับไป เป็นการเกิดขึ้น อายตนะนั้นไม่มีที่ตั้ง ไม่หมุนไป ไม่มีอารมณ์ใดๆ นี้แลคือที่สุดแห่งทุกข์"

ในพระพุทธพจน์นี้ พระพุทธเจ้าทรงเรียกนิพพานว่า อายตนะ ซึ่งหมายถึงสิ่งรับรู้ก็ได้ สิ่งที่ถูกรับรู้ก็ได้ สิ่งรับรู้ท่านเรียกว่า อายตนะภายใน มี 6 อย่าง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ส่วนสิ่งที่ถูกรับรู้ท่านเรียกว่า อายตนะภายนอก เช่น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และ มโนภาพ

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อทรงยืนยันว่า อายตนะนั้นมีอยู่ แล้วก็ทรงปฏิเสธว่า อายตนะนั้น ไม่ใช่สิ่งนั้นๆ ไม่ปรากฏว่า พระองค์พูดถึง อายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เลย คล้ายกับจะทรงบอกว่า อายตนะนั้นไม่ใช่อายตนะภายในใดๆ ไม่ใช่สิ่งที่รับรู้ แต่ทรงปฏิเสธว่า อายตนะนั้น ไม่ใช่ธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งเป็นอายตนะภายนอก ต่อจากนั้น ยังนำเอา สิ่งที่เป็นอายตนะภายนอกอื่นๆ มาปฏิเสธอีก เช่น โลกนี้โลกอื่นไม่ใช่ทั้งสอง ไม่ใช่พระอาทิตย์พระจันทร์ ตอนสุดท้ายทรงปฏิเสธกิริยาอาการทุกอย่างของอายตนะนั้น เช่น การมา การไป การตั้งอยู่ การดับ การเกิด แล้วทรงสรุปว่า อายตนะนั้นไม่มีที่ตั้ง ไม่ดำเนินไปและไม่มีอารมณ์ จากการที่พระพุทธองค์ทรงเอ่ยถึงสิ่งที่ถูกรับรู้ต่างๆ เหล่านี้ แสดงว่า อายตนะนั้น เป็น อายตนะภายนอก นิพพานเป็นอายตนะภายนอก เป็นสิ่งที่สามารถรับรู้ได้

ในพระพุทธพจน์นั้น มีการปฏิเสธว่า อายตนะนั้น ไม่ใช่อรูปฌาณ 4 ด้วย และอรูปฌาน 4 นั้น เป็นสมาธิขั้นสูง มีสิ่งไร้รูป เช่น ความว่าง(อากาศ) และวิญญาณ เป็นต้น เป็นอารมณ์ เป็น สภาพจิตที่จิตสามารถรับรู้ได้ แม้ว่าจะเป็นสิ่งละเอียดประณีตเพียงใดก็ตาม เมื่อเป็นสิ่งถูกรับรู้ จึงเป็นอายตนะภายนอก

สรุปแล้ว ในพระพุทธพจน์นั้น พระพุทธองค์ทรงมีพระประสงค์จะยืนยันว่า นิพพานเป็นอายตนะภายนอกอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่อายตนะหยาบๆ เช่น ดิน น้ำ ไฟ ลม หรือแม้อายตนะ ที่ละเอียด เช่นรูปฌาณ 4 แต่แม้จะเป็นอายตนะที่ละเอียดยิ่ง บุคคลก็สามารถรับรู้ได้ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ สะอาด ดังจะเห็นได้ว่า พระโยคาวจร ผู้เจริญวิปัสสนา จนถึงขั้นได้โคตรภูญาณ จิตจะยึด พระนิพพานเป็นอารมณ์ และก้าวจาก ขั้นปุถุชนไปสู่ภูมิของพระอริยบุคคล

แม้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ก็ทรงนิพนธ์ไว้ว่า "เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงไม่ปฏิเสธสิ่งที่ตั้งอยู่ สิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่ดำรงอยู่ คือวิสังขาร หรือ อสังขตธรรม ว่า มีอยู่จริง ดำรงอยู่จริง และโดยเฉพาะภูมิธรรมที่บรรลุ ตลอดจนถึงนิพพานนี้ พระพุทธเจ้ายังตรัสเรียกชื่อว่า เป็นอายตนะ ดังที่ตรัสไว้ในที่แห่งหนึ่งว่า อตฺถิ ภิกฺเข อายตนํ ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ที่เรียกว่า อายตนะ แปลว่า ที่ต่อ หมายความว่า บุคคลปฏิบัติให้บรรลุ ให้ถึงได้ ก็เป็นอันว่า จิตนี้ต่อเข้าไปได้ ดังที่มีตรัสไว้ในคาถาหนึ่งว่า "วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ" จิตถึงวิสังขาร คือ นิพพาน ปราศจากสังขารเครื่องปรุงแต่งแล้ว ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา ถึงความสิ้นไปแห่งตัณหาทั้งหลายแล้ว" ดังนี้

ถ้าหากว่า ไม่เป็นอายตนะ ก็บรรลุไม่ได้ ถึงไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นอายตนะคือต่อได้ บรรลุได้ ถึงได้ ก็คือวิสังขารธรรม... แต่ว่า ไม่ให้ยึดถือว่า เป็นตัวเราของเรา เพราะถ้ามีความ ปรารถนาต้องการอยากได้อยากถึงอยู่ ก็ถึงไม่ได้ บรรลุไม่ได้ ต้องปล่อยวางทั้งหมด ปล่อยวางเมื่อใด ก็เป็นอันว่า บรรลุได้ถึงได้ จิตเชื่อมเข้ากับวิสังขาร คือ อสังขตธรรมได้ เพราะฉะนั้น อัตตาในพระพุทธศาสนา พึงเข้าใจว่า หมายถึงมีสิ่งที่ยึดถือว่า เป็นตัวเราของเรานี้แหละ แต่ว่าสิ่งที่มีอยู่ ดำรงอยู่ ตั้งอยู่ ก็มีอยู่

(พุทธชยมังคลคาถาบรรยายใน "ธรรมจักษุ" ปีที่ 83 ฉบับที่ 5 กุมภาพันธ์ 2542 หน้า 17-18)

ถ้าไม่มีโลกุตรภูมิ ก็ไม่มีทางหนีจากโลกิยภูมิ

มีพระพุทธพจน์อีกตอนหนึ่ง ในคัมภีร์อุทาน แห่งขุททกนิกาย (25/160/207) ที่พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า นิพพานมีอยู่ในฐานะเป็น อายตนะ หรือ ภูมิ หรือแดนอีกอันหนึ่งต่างหาก ด้วยเหตุผลที่หนักแน่นยิ่ง พระพุทธองค์ตรัสว่า

อตฺถิ ภิกฺขเว อชาตํ อภูตํ อกตํ อสงฺขตํ ฯ โน เจ ตํ ภิกฺขเว อภวิสฺส อชาตํ อภูตํ

อกตํ อสงฺขตํ ฯ นยิธ ชาตสฺส ภูตสฺส กตสฺส สงฺขตสฺส นิสฺสรณํ ปญฺญาเยถฯ

ยสฺมา จ โข ภิกฺขเว อตฺถิ อชาตํ อภูตํ อกตํ อสงฺขตํ ฯ ตสฺมา ชาตสฺส ภูตสฺส กตสฺส สงฺขตสฺส

นิสฺสรณํ ปญฺญายตีติ

แปลว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติที่ไม่มีเกิด ไม่มีกลับกลาย ไม่มีผู้สร้าง ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง มีอยู่ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ถ้าธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่กลับกลาย ไม่มีผู้สร้าง ไม่มีปัจจัย ปรุงแต่งนั้น จักไม่มีไซร้ การสลัดออกเสียซึ่งธรรมชาติที่มีเกิด มีกลับกลาย มีผู้สร้าง มีปัจจัยปรุงแต่งนั้นก็มีไม่ได้ แต่ภิกษุทั้งหลาย เพราะธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่กลับกลาย ไม่มีผู้สร้าง ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งมีอยู่ การสลัดออกเสียซึ่งธรรมชาติที่มีเกิด มีกลับกลาย มีผู้สร้างมีปัจจัยปรุงแต่งจึงมีได้"

(ยังมีต่อ)


โดย ศาสตราจารย์ แสง จันทร์งาม

อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่