เพลงตับคาวี   แผ่นเสียงร่องกลับทาง                                                                     

            เมื่อวันขึ้นปีใหม่  พ.ศ.2523 ผู้เขียนไปเยี่ยมอาจารย์มนตรี  ตราโมท  ที่บ้านซอยโสมส่องแสง  จังหวัดนนทบุรี  ท่านขนแผ่นเสียงเก่าออกมาให้ผู้เขียนหีบหนึ่งแล้วบอกผู้เขียนว่า

            " หมอไปเลือกดูเอาเองเถิด  ไม่ได้ปัดฝุ่นหรอกนะ  จะได้เห็นสภาพที่แท้จริงว่ามันเก่าจริงๆ  ในกล่องนั้นมีแผ่นเดี่ยวขิมเพลงลาวแพน  ผมเดี่ยวไว้แผ่นหนึ่งด้วย

             เวลาใครบอกให้แผ่นเสียงโบราณผมทีไร  ผมจะดีใจมาก  เพราะจัดว่าเป็นของมีค่ามากสำหรับผม  มีค่ายิ่งกว่าอะไรทั้งหมด  ผมจึงกราบขอบพระคุณอาจารย์มนตรี  ตราโมท  และคุณแม่ทรัพย์  ภรรยาของท่านแล้วก็ยกกลับมาบ้านทำความสะอาดด้วยผ้าชุบน้ำก็แล้ว ผ้าชุบน้ำมันเช็ดแผ่นเสียงก็แล้ว  ยังไม่มีทีท่าว่าจะเห็นร่องชัดเจน  ผมก็เลยเลือกเอาแผ่นที่เก่าคร่ำคร่าที่สุดมาสามแผ่น  แช่ลงในน้ำสบู่อ่อนอุ่นๆแล้วลูบด้วยแปรงขนอ่อนๆ  ก็ปรากฎร่องขึ้นมาชัดเจนพอจะนำมาทดลองไขฟังด้วยเครื่องไขลานที่พ่อตาแม่ยายของผมมอบให้มาจากเพชรบุรีเครื่องหนึ่ง  เสียงเพลงเก่าๆก็ล่องลอยออกมาให้ฟังสมใจเป็นความว่า

              "แผ่นเสียงละครดึกดำบรรพ์เรื่องคาวี  ตอนเผาพระขรรค์  สนุกมากจ้า "

            เดี่ยวขิมเพลงลาวแพน  ฝีมืออาจารย์มนตรีนั้น  ยังพอฟังเป็นเพลงได้ตลอด  ที่กระดาษปะกลางแผ่นเขาพิมพ์ชื่อเก่าของอาจารย์มนตรีไว้ว่า " นายบุญธรรม  ตราโมท ต้องถือว่าเป็นบุญหู  ฟังแล้วก็ชื่นชมด้วยความกรุณาของท่าน  ครั้นโทรศัพท์ไปขอบพระคุณท่านแล้วท่านก็ได้กรุณาบอกว่า  ทางเดี่ยวขิมเพลงนี้ได้ต่อให้ลูกชาย(ศิลปี  ตราโมท) ไปแล้ว  เป็นอันว่าโล่งใจเพราะมีคนตีให้ฟังได้แทนไขแผ่นเสียงแล้วก็เลยจะเก็บแผ่นไว้เข้าพิพิธพัณฑ์ดนตรีไทยต่อไป (หากรัฐบาลจะเปิด)

            มีแผ่นเสียงขนาด  12  นิ้ว หน้าดำ แปลกประหลาดติดมาด้วยแผ่นหนึ่งเขียนว่า  เรื่องคาวี  คนร้องชื่อ "หม่อมเจริญ" กับ " แม่เทด " เป็นแผ่นเสียงหน้า 19 เพลงทะแยงหงษา  กับหน้า 20 เพลงพัดชายเขา  ส่งพิณพาทย์ดึกดำบรรพ์

            ผู้เขียนพยายามเล่นแผ่นเสียงแผ่นนี้ด้วยเครื่องไขลานที่มีอยู่กี่ครั้งกี่หนก็เล่นไม่ได้  เพราะแผ่นลื่นมากเข็มไม่ลงร่อง  ก็เลยทอดอาลัยว่า  คงโบราณมากจนร่องลึกหมด  พร้อมกับนึกโทษผงซักฟอกว่า  คงจะทำให้แผ่นเสียงชำรุดเพราะสัปดนเอาไปแช่น้ำสะบู่อุ่นๆเข้า

             อีกหลายอาทิตย์ต่อมาก็พยายามไขแผ่นเสียงหน้าดำนี่อีก  คราวนี้ใช้เข็มทองปลายเล็กแหลมเปี๊ยบเท่าที่มีอยู่  ปรากฎว่าพอวางเข็มลงที่ริมนอกของแผ่นเข็มก็ไม่ลื่นเหมือนครั้งก่อน  แต่เข็มไม่เดินเข้าไปหากลางแผ่นคาอยู่กับที่ดังกุกกักกุกกักไม่มีเสียงเพลงออกมาอีก  ผมก็เลยชักทอดอาลัยหมดหวังที่จะได้ฟังเสียงหม่อมเจริญและแม่เทด

            มาเมื่อไม่กี่วันนี้เอง  ได้พยายามหนสุดท้าย  คราวนี้นึกอย่างไรขึ้นมาไม่ทราบ  วางเข็มจ่อลงกลางแผ่น  ปรากฎว่ามีเสียงขับร้องเพลงทะแยหงษา  ค่อนข้างอู้อี้  แต่ต้องแปลกใจที่เข็มค่อยๆเลื่อนออกจากกลางแผ่นมาจบเพลงที่ขอบแผ่นพอดีหมายความว่าแผ่นเสียงเพลงตับคาวีแผ่นนี้ มีร่องกลับทาง   คือเริ่มต้นจากในสุดของแผ่นมาจบเพลงที่ขอบนอกของแผ่น

             คราวนี้ก็ถึง "บางอ้อ "เพราะเคยได้ยินคุณจำนง  รังสิกุล เล่าว่าเมื่อพ.ศ.2499-2500  สมัยที่ท่านเป็นผู้อำนวยการไทยทีวีสีช่อง 4 บางขุนพรหม  ได้เคยจัดให้มีการประกวดแผ่นเสียงเก่า  ท่านก็ได้พบแผ่นเสียงเพลงฝรั่งแผ่นหนึ่งเล่นกลับทางอย่างที่ผมได้พบนี้

             ด้วยความอยากรู้  จึงเปิดตำราฝรั่งออกดู  ก็เลยได้ความรู้พอจะนำมาเล่าสู่กันฟังได้ว่า  แผ่นเสียงแบบกลับทางนี้  มีกำเนิดในอเมริกา  เมื่อปี  พ.ศ.2430โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน  สัญชาติอเมริกัน  ชื่อ  Emile  Berliner  เพราะฉะนั้นผมก็เลยสรุปเอาดื้อๆว่า แผ่นเสียงเพลงตับคาวีที่ได้มาจากท่านอาจารย์มนตรี  ตราโมทนี้  จะต้องเป็นแผ่นเสียงเพลงไทยแบบเก่าแก่ที่สุด  และต้องจัดว่าเป็นแผ่นแบบ Berliner  โดยเฉพาะ  เพราะมีลักษณะย้อนทางดังกล่าวแล้วข้างต้น

            เมื่อนำเสียงที่ฟังจากแผ่นโบราณนี้  มาเทียบกับบทละครเรื่องคาวีในหนังสือชุมนุมบทละครและบทขับร้องพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ซึ่งพระโอรสธิดาของท่านจัดพิมพ์ขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2514  ปรากฎว่าในแผ่นนี้เป็นเรื่องตรงกับฉากสอง  ก็เป็นเรื่องน่าคิดว่า  ขนาดเล่นมาเพียงสองฉาก  ยังอัดแผ่นเสียงได้ถึง  20  หน้า (10 แผ่น) ถ้าเล่นจบเจ็ดฉากแล้ว  ทั้งตับคาวีคงจะมีถึง 40-50  แผ่นเป็นอย่างน้อย  เมื่อตรวจสอบดูเวลาที่ละครเรื่องนี้เริ่มเล่น (หลังพ.ศ. 2434) แผ่นเสียงนี้คงจะบันทึกหลังจากนั้นแน่ๆ  น่าจะราวๆ พ.ศ.2436 - 2437 เสียงร้องเพลงทะแยงหงษาและบทพูดของคาวีเป็นเสียงของ "หม่อมเจริญ "ชัดเจน ส่วนเสียงของหลวิชัย  ในเพลงลมพัดชายเขาเป็นเสียงของนักร้องที่ชื่อว่า " แม่เทด"

             ใครคือหม่อมเจริญและใครคือแม่เทด   นักร้องสองคนนี้หนอ  เมื่อสอบจากลายพระหัตถ์ของม.จ.ดวงจิตร  จิตรพงศ์  พระธิดาเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์แล้ว  ปรากฎดังนี้

            "หม่อมเจริญ" คือนักร้องเสียงดีเยี่ยมคนหนึ่งในคณะละครของเจ้าพระยาเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ( ม.ร.ว. หลาน   กุญชร ) และเป็นหม่อมของเจ้าพระยาท่านนี้หม่อมเจริญได้ร้องเพลงอัดแผ่นเสียงนี้ไว้ ไม่ใช่น้อย  ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 7 เพิ่งจะถึงแก่กรรมไปเมื่อ พ.ศง2498 นี้เอง ประวัติของท่านมีเรื่องละเอียดยืดยาวน่าสนใจมาก  และท่านได้ฝากผลงานการขับร้องเพลงเถาไว้เป็นอันมาก ลูกศิษย์ของท่านมีหลายคนคือ  คุณหญิงไพฑูรย์  กิตติวรรณ  คุณครูอุษา  สุคันธมาลัย และคุณครูสว่าง  คงหลายทอง  นายโป๊ะ  เหมรำไพ  เรือเอกแสวง  วิเศษสุด เป็นต้น

            "แม่เทด" นั้น  เดิมก็เป็นนักร้องอยู่ในคณะละครวังบ้านหม้อ  ของเจ้าพระยาเทเวศร์เช่นเดียวกัน  ต่อมาได้สมรสกับพระยานัฎกานุรักษ์  ระยะหลังนี้เราเอ่ยนามท่านว่า  คุณหญิงเทศนัฎกานุรักษ์  สายสกุลของท่านผู้นี้  ในปัจจุบันก็คือสายสกุล " สุวรรณภารต"

             จากแผ่นเสียงเก่าของอาจารย์มนตรี  ตราโมท  เพียงแผ่นเดียวทำให้คนสมัยใหม่อย่างเราๆต้องงงงวยในขั้นต้น  ต้องอาศัยการสืบเสาะค้นคว้าจากผู้รู้และตำรับตำราพอสมควรจึงจะรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นมาได้

            จึงขอสรุปว่าเรื่องในวงการ "ลำนำแห่งสยาม" นี้ยังมีอีกมากมายหลายเรื่องฝังลึกอยู่บ้าง  ตื้นบ้าง  ล้วนแต่น่าศึกษาค้นคว้าทั้งสิ้น  และถ้าหากมีเวลามากๆต่อไป ก็คงจะได้มีโอกาสขุดเรื่องต่างๆทั้งเก่าทั้งใหม่มาเล่าให้ฟังกันอีกจนกว่าจะหมดแรง

                                                              นายแพทย์พูนพิศ   อมาตยกุล