แผ่นเสียงเก่า          ชุดมะโดดหนีเมียไปบวช

           ในคอลัมน์สยามสังคีตที่เขียนลงไปในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน  เคยเล่าครั้งหนึ่งถึงเรื่อง  " กระบอกเสียงบันทึกเพลงเป๋ ครั้งนั้นมิได้กล่าวพาดพิงถึงการสวดคฤหัสถ์ซึ่งเป็นประเพณีชาววัดอีกอย่างหนึ่ง  ใช้วิธีเล่าเรื่องนิทานที่เกี่ยวกับความศรัทธาในพระพุทธศาสนา  โดยร้องเป็นลำนำให้ชวนฟัง  ที่นิยมกันมากในสมัยรัชกาลที่ 4    มีชื่อว่าสวดคฤหัสน์     เรื่อง   " มอญบวช " ที่มีชื่อ " มะโดดหนีเมียไปบวช " บังเอิญได้มีโอกาสศึกษาเรื่องนี้ต่อ  ได้ความเพิ่มเติมมาอีกจึงนำมาเล่าต่อไป

           บทสวดคฤหัสถ์ชุดนี้นิยมเล่นกันในงานบวชมาแต่โบราณและมาเฟื่องฟูมากในสมัยรัชกาลที่4  มีลักษณะแป็นคำกลอน  ซึ่งผู้สวดจะออกเสียงคล้ายกับอ่านทำนองเสนาะ  เป็นการเล่าเรื่อง  แต่เป็นรูปแบบของ " แหล่เทศน์ " คนที่เทศน์เก่งๆ จะสามารถใส่อารมณ์ลงไปในเรื่องราวนั้น  คนฟังก็เห็นภาพ  เมื่อเนื้อเรื่องเป็นมอญก็เทศน์ออกมาเป็นสำเนียงมอญ  ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีแตรวงบรรเลงเพลงไทย  การสวดก็แปรรูปมาเป็นสวดแบบมีดนตรีประกอบ  และถ้าจะให้โก้มากยิ่งขึ้นก็ต้องเป็น " แกรฝรั่งมาจากนอก " เพลงที่ประกอบก็เป็นเพลงไทยสำเนียงมอญ  ซึ่งฟังไพเราะมาก  คนฟังก็ติดใจ  ยิ่งคนเทศน์เก่งด้วย  สำนวนลีลาตลก  คนก็ยิ่งฮือฮามากขึ้น จึงปรากฎว่ามีนักเทศน์นิยมสวดคฤหัสถ์ชุดนี้มาก  เท่าที่ทราบก็มีอยู่หลายท่าน  เช่น นายทอง ( เก่าที่สุด ) นายขวาน  นายจร  นายศุข  นายอิ่ม  และพระสอนกรุงเก่า  เป็นต้น นักเทศน์เหล่านี้  ต่อมาบางคนก็กลายเป็นนักร้องเพลงไทย  มีทั้งที่รับราชการอยู่ในกรมทหารมหาดเล็ก  กรมทหารเรือ  และที่เป็นเอกเทศอยู่ก็หลายคนด้วยกัน

          บทสวดชุดนี้กล่าวถึง  ชายเชื้อสายมอญ  มีนามว่า " มะโดด " เกิดความศัทธราอยากจะบวชแต่ก็ยังตัดกิเลสความหลงใหลในภรรยาที่ชื่อว่า " แม่ลูกจันทร์ " ไม่พ้น จากแผ่นเสียงซึ่งฟังได้อ้อแอ้เต็มทีพอจะจับความบางตอนได้ดังนี้

          จะกล่าวถึง (เอ๊ย) มะโดดมอญ               ให้เร่าร้อน(ก็)เป็นนักหนา

(เอ๊ย)เป็นกุศลเข้าดลจิต                                  นั่งคิดมอนคิด(เอ๊ย)จะบรรพชา

จะพลัดพรากจากถิ่นฐาน                                  ก็ให้นึกรำคาญแก่ภรรยา

                                                    ฯลฯ

          (เอ๊ย)จำเราจะบวช(ก็)เป็นพระ                (เอ๊ย)คิดจะสละเสียให้ได้

ถ้าขืนอยู่จะได้อาย                                          จะพากายหมองมัว (แตรรับ)

(เอ๊ย)ว่าพลางทางหยิบ(ก็)ผ้าใคร                       ที่พับเก็บไว้(ก็)ใกล้ครัว

แลเห็นผ้าซิ่น(ก็)แม่ทูนหัว                                  ลงทอดตัวแล้วโศกา (แตรรับ)

หยิบเอาซิ่นของนาง                                        (เอ๊ยก็)มาวางบนเกศา

ช่างหอมกรุ่นนะแม่คุณจ๋า                                  ช่างชื่นอุราพี่ชาย (แตรรับ)

เมื่อคืนนี้ก็ยังเคล้าทั่ว                                       เป็นผัวเป็นเมียแนบอุรา

พี่(ก็)เอามือเข้าไปจับต้อง                                 ค่อยๆประคอง(ก็)ปทุมมา

คิดถึงหน้ามนขนลุกซ่า                                      ไอ้ตัวตัณหาลงพุง (แตรรับ)

          แผ่นเสียงโบราณชุดมะโดดหนีเมียไปบวชนี้  เป็นแผ่นเสียงตราช้างสีทอง (ช้างตัวเดียว) กระดาษปะหน้าสีแดง เป็นของห้าง เคทซ์ บราเดอร์ (Ketz Brother) จัดจำหน่ายโดยห้าง  คีเชียงแอนด์ซันส์  ซับเอเย็นต์  กรุงเทพฯ  มีอยู่ด้วยกันสามแผ่นหมายเลข 25089-25094 ผู้ขับร้องคือ  นายจอนและนายศุข  นัดเทศน์เก่าสมัยรัชกาลที่ 5 และบันทึกเสียงในปลายรัชกาลนี้ (ราวพ.ศ.2450)  นัดเทศน์ทั้งสองท่านนี้  ต่อมาเป็นนักร้องเพลงไทย  ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในสมัยรัชกาลที่ 6  นายจอนได้เป็น "หลวงกล่อมโกศลศัพท์ " และนายศุขได้เป็น "หลวงเพลงเพราะสำเนียง" ตามลำดับสำหรับหลวงเพลงเพราะสำเนียงนั้น  เป็นต้นสกุล "สุขวาที"อันเป็นนามสกุลพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ 6

          การอัดแผ่นเสียงสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น สมัยแรกทีเดียวอัดแผ่นลงหน้าเดียว  ต่อมาจึงอัดเป็นสองหน้า  รุ่นที่บันทึกการสวดคฤหัสถ์ดังกล่าวนี้  อัดเป็นสองหน้าแล้ว  ขณะนี้คงมีอายุกว่า  100  ปี  ตัวหนังสือลบเลือนเกือบอ่านไม่ออก  แต่สุ้มเสียงก็ยังพอจับความได้  แต่ไม่สู้ชัดนักเพราะเทคนิคการบันทึกไม่ได้ใช้ไฟฟ้าและไม่มีเครื่องขยายเสียง  แต่ใช่หลักกลศาสตร์ในการสั่นคลื่นเสียงแบบพื้นฐาน  เพราะฉะนั้นจะเสียงชัดเจนมากย่อมเป็นไปไม่ได้

          เจ้าของแผ่นเสียงชุดนี้คือ  ท่านขรัวยายแสง  มารดาของเจ้าจอมมารดาเหมในรัชกาลที่ 5 แผ่นเสียงนี้  ต่อมาตกเป็นของพระยาบุศยรถบดี (ทับทิม  อมาตยกุล) ซึ่งเป็นเจ้ากรมรถยนต์หลวงในสมัยรัชกาลที่ 6 และเป็นน้องชายของเจ้าจอมมารดาเหม  ในรัชกาลที่ 5  แล้วจึงตกทอดมาถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าเหมวดี  ท่านประทานผู้เขียนอีกทีหนึ่ง  นับเป็นชุดที่เก่ารองลงมาจากการบันทึกด้วยกระบอกเสียงอย่างที่เคยเล่ามาแล้ว

          ผู้เขียนคิดว่าแหล่เทศน์ชุด  มะโดดหนีเมียไปบวชนี้  คงจะแพร่หลายมากจึงได้มีการบันทึกเสียงซ้ำอีกเป็นครั้งที่สาม  โดยบริษัท พาร์โลโฟน  ประเทศเยอรมนีน่าเสียดายที่การบันทึกครั้งที่สามนี้  ไม่ได้เขียนแจ้งไว้ว่าท่านผู้ใดเป็นคนเทศน์  เพียงแต่เขียนปะหน้าแผ่นเสียงไว้ว่าเรื่องมอญบวชและผู้เขียนมีอยู่เพียงแผ่นเดียวไม่ครบชุดการอัดเสียงดีกว่าชุดตราช้างที่กล่าวข้างต้นนั้นมาก  เพราะอัดด้วยไฟฟ้าในสมัยรัชกาลที่ 7  นี่เอง คิดว่าคงบันทึกที่บ้านนรสิงห์  คือทำเนียบรัฐบาลในปัจจุบันนี้

          แผ่นเสียงเหล่านี้  จะเป็นประโยชน์มากสำหรับการค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับแหล่เทศน์ต่างๆในอดีต  ซึ่งปัจจุบันนี้แทบจะหาฟังสำนวนเก่าไม่ได้แล้ว  มีบ้างที่พิมพ์ไว้  ก็เป็นหนังสือให้อ่าน  แต่ไม่มีโอกาสได้ยินลีลา  วิธีการแหล่เทศน์อย่างโบราณก็เลยเสียอรรถรสไปมากมาย  จึงขอบันทึกไว้ประดับความรู้

                                      นายแพทย์พูนพิศ   อมาตยกุล