แผ่นเสียงร่องกลับทางของวังบ้านหม้อ

               เมื่อปีพ.ศ. 2523 มีรายการโทรทัศน์ของคุณเศรษฐาและคุณญาณี ได้ส่งเจ้าหน้าที่บันทึกภาพโทรทัศน์     มาสัมภาษณ์เรื่องแผ่นเสียงโบราณชนิดร่องกลับทางหรือที่ฝรั่งให้ชื่อว่า    Berliner  Record (ค.ศ. 1895  หรือ พ.ศ.2438 )อันหมายถึงแผ่นเสียงโบราณที่มีทั้งขนาดใหญ่พิเศษ (13.5 นิ้วฟุต) หนามาก และหนักมากเมื่อจะนำมาเล่นกับเครื่องจานเสียงนั้น  เพลงจะเริ่มที่กลางแผ่นใกล้กระดาษกลมตรงกลางแล้วเข็มจะเลื่อนออกมาจบเพลงที่ขอบแผ่น  ซึ่งฟังดูแล้วเหมือนเล่าเรื่องตลกแต่ก็เป็นไปแล้วจริงๆ  ปรากฎว่าท่านผู้ทายปัญหาตอบถูก

               เมืองไทยเรานั้นทันสมัยมิใช่เล่น  พอฝรั่งคิดแผ่นเสียงได้ไทยก็ซื้อเขามาเล่นทันทีเหมือนกัน  ดังนั้นเมื่อ Emile  Berliner จดทะเบียนแผ่นเสียงชนิดแผ่นแบนแบบดังกล่าวได้  ก็มีฝรั่งหัวใสนำเข้ามาเพื่อบันทึกเสียงเพลงไทยออกขายทันที  ที่น่าสนใจมากก็คือ  บันทึกทั้งเพลงพื้นบ้านเช่นเพลงเป๋(เพลงฉ่อย)ของแม่อิน และเพลงจากละครดึกดำบรรพ์ เช่นเรื่องคาวีของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์โดยบันทึกกันที่วังบ้านหม้อ  อันเป็นที่ตั้งของกรมมหรสพในสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นบ้านของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน  กุญชร) มีหม่อมเจริญ  กุญชร ณ อยุธยา (ต่อมาคือนางเจริญ  พาทยโกศล  ภรรยาท่านครูจางวางทั่ว  พาทยโกศล) เป็นต้นเสียงขับร้อง และเข้าใจว่าคงบันทึกกันราวปี 2440 หรือหลังจากนั้นนิดหน่อย

          ได้มีโอกาสไปสำรวจแผ่นเสียงโบราณรุ่นนี้ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี  ก็ได้พบสิ่งที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นอีกว่า  มีแผ่นเสียงรุ่นเดียวกันนี้บันทึกเพลงตับอยู่ไม่น้อยกว่าสามเรื่อง  คือเรื่องสามก๊ก ตอนจูล่งออกไปช่วยนางบีฮูหยินเมียเล่าปี่แล้วนำเอาเต๊า ลูกนางบีฮูหยินฝ่าดงข้าศึกมามอบให้เล่าปี่ ได้เรียกเพลงชุดนี้ว่า "ตับจูล่ง " ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ใช้ครั้งแรกปี 2437 ในงานชุดเพลงภาพนิ่งตาโบลวิวังต์ ( Tableux  Vivante ) มีเพลงตับเรื่องเรื่องอาบูหะซันตอนแต่งงานเรื่องพระลอ  ตอนพระลอคลั่งรัก  ที่เรียกว่า " ตับพระลอคลั่ง '' กับยังมีเพลงเกร็ดต่างๆรวมมาด้วยซึ่งในคราวนี้จะเขียนเฉพาะส่วนของเพลงที่เป็นของวังบ้านหม้อเท่านั้น

          วังบ้านหม้อนั้น  ปัจจุบันในปี 2540  ยังคงอยู่ดีที่ตำบลบ้านหม้อถนนอัษฏางค์ริมคลองหลอดฝั่งตรงกันข้ามกับศาลาเจ้าพ่อหอกลอง  (ซึ่งอยู่ด้านหลังของกรมรักษาดินแดน) มีประตูก่อด้วยหินและซีเมนต์สีขาว ภายในมีต้นไม้ร่มรื่นและมีท้องพระโรงอันเป็นที่เสด็จออกของเสด็จในกรม  พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระพิทักษ์เทเวศร์พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 ผู้เป็นต้นราชสกุล  กุญชร  ท้ายที่สุดมีหม่อมหลวงแฉล้ม   กุญชร  เป็นผู้รักษาวังนี้สืบทอดเป็นเจ้าของต่อมา  ที่วังนี้เคยเป็นที่ชุมนุมศิลปินน้อยใหญ่ทั้งฝ่ายดนตรีและนาฎศิลป์  เพราะเป็นกรมมหรสพของหลวงและเป็นแหล่งต้นกำเนิดของปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์กับละครดึกดำบรรพ์อันลือชื่อ  (ปัจจุบันโรงละครรื้อไปแล้วเป็นร้านค้าขายเพชรพลอยบนถนนบ้านหม้อ)

          วังนี้เป็นแห่งเดียวเท่านั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์และนักร้องเพลงดึกดำบรรพ์ซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิง เช่น หม่อมเจริญ หม่อมมาลัย หม่อมคร้าม หม่อมคล้าย แม่แป้น แม่ปุ่ม แม่แจ๋ว เป็นต้น

          ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้วนั้น  แผ่นเสียงร่องกลับทางแบบ Berliner แผ่นไหนก็ตามที่มีตัวหนังสือเขียนว่า  วงดนตรีปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์แล้ว  จะต้องเป็นผลงานของวังบ้านหม้อนี้อย่างแน่นอน

          ได้ค้นพบแผ่นเสียงตับเพลง " เรื่องอาบูฮาซันน่าหนึ่ง " ( เขียนตามภาษาอย่างเก่าที่ปรากฎบนหน้าแผ่นเสียง ) หมายเลข 47056/1 เพลงสร้อยสม  ร้องโดยนายอิน  นายใหญ่ ที่น่าสังเกต คือ ตัวหนังสือนั้นเขียนด้วยลายมือ  แสดงว่ายังไม่ได้ใช้พิมพ์ดีด  แถมผู้เขียนข้อความบนหน้าแผ่นเสียงซึ่งเป็นกระดาษสีดำ ก็เขียนภาษาบกพร่อง คือคำว่า " ตอน " เขียนว่า " ตอ " ตกตัวอักษร "" ไปหนึ่งตัว ซึ่งเรื่องความผิดพลาดในอักขรวิธีนี้  พบได้บ่อยๆในแผ่นเสียงรุ่นนี้

                                        

          ขอขยายความเรื่องเพลงตับอาบูหะซันต่อไปอีกเล็กน้อยว่า  เป็นเพลงชุดที่สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงจัดขึ้นโดยใช้บทร้องมาจากพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2421)  อันเป็นคำประพันธ์ประเภทลิลิต  เรียกว่า"ลิลิตนิทราชาคริต" (เรื่องอาบูหะซัน)เดิมใช้ร้องประกอบการแสดงภาพนิ่ง  ( Tableux  Vivante) คือใช้ละครแต่งตัวสวยงาม  ให้ตรงตามบทร้อง  ในที่นี้ก็จะแต่งเป็นแขก  มีฉากสวยงามเป็นภาพแขก  แล้วให้ตัวแสดงยืนหรือนั่งอยู่ในท่านิ่ง  ไม่กระดุกกระดิกตาก็ไม่กระพริบ  ใช้ไฟส่องให้เห็นเด่นชัด แล้วบรรเลงร้องเพลงประกอบ  พอถึงตอนดนตรีบรรเลงรับร้อง  ก็ดับไฟ  ผู้แสดงก็ขยับเขยื้อนได้นิดหน่อย  พอเพลงบรรเลงรับร้องจะหมด  ไฟก็จะสว่างขึ้น  ตัวแสดงก็นิ่งอยู่เหมือนการจัดภาพนิ่งหรือหุ่นนิ่งนั่นเอง

           เพลงตับเรื่องอะบูหะซันนี้  เล่าเรื่องฉากการแต่งงานของอะบูหะซันกับนางนอซาตลอัวดัด  โดยมีพระทางศาสนาอิสลามเรียกว่า "อีแมน" เป็นผู้ทำพิธีและยังมีพรเจ้ากาหลิบพระนางโชบิเดกับตัวประกอบอื่นๆมาร่วมอยู่ในฉากนี้เป็นจำนวนมาก  การแสดงเป็นภาพนิ่งหรือหุ่นนิ่งจึงดูสวย  เหมือนไปชมพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไม่ผิดกันเลย

          เพลงที่ร้องในตับนี้ขึ้นต้นด้วยเพลงแขกกล่อมเจ้าสองชั้น  ติดตามมาด้วยเพลงแขกถอนสายบัว  แขกหนัง  แขกต่อยหม้อ  แขกเจ้าเซ็น  และพราหมณ์ดีดน้ำเต้า  รวมหกเพลงซึ่งจะใช้เวลาบรรเลงราว 25-30 นาทีครบทั้งตับ

          สำหรับปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์นั้น  เป็นวงปี่พาทย์ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงเป็นต้นคิดขึ้นในปี พ.ศ.2435 โดยตัดแปลงวงปี่พาทย์ไม้แข็งเดิม  ซึ่งมีเสียงดังมาก  ให้มากลายเป็นวงที่มีเสียงทุ้มไพเราะนุ่มนวลเหมาะที่จะใช้บรรเลงเพลงในอาคาร คือใช้ไม้นวมตีระนาด  เอาฆ้องวงเล็กและปี่ออก  เพราะเสียงจ้าเกินไป  เพิ่มฆ้องหุ่ย (ฆ้องขนาดใหญ่) ที่เรียกว่าหุ่ยดึกดำบรรพ์เข้าไปแปดใบท่วงทำนองเพลงจึงกระหึ่มไพเราะน่าฟังยิ่งนัก

            ทั้งหมดที่เล่านี้  เป็นเรื่องประวัติการดนตรีไทยที่เกิดจากการหยิบแผ่นเสียงโบราณขึ้นมาแผ่นเดียว  แล้วบรรยายไปได้เป็นคุ้งเป็นแควถึงปานนี้

           นี่คือคุณความดีของเพลงเก่า  และเป็นลำนำแห่งสยามที่น่าสนใจอีกตอนหนึ่งในฉบับหน้า  จะเล่าเรื่องแผ่นเสียงร่องกลับของวงดนตรี "ขุนเสนาะดุริยางค์" ต่อไป

                                   นายแพทย์พูนพิศ   อมาตยกุล