ปี'46 อบต.ตั้งงบฯ นมโรงเรียน

     นายทองอยู่ แก้วโทรฮะ เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (กปช.) เปิดเผยว่าได้มอบนโยบายไปยังสถานศึกษา ผ่านผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดทั่วประเทศ ให้จัดทำแผนเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ที่ 1 ปีการศึกษา 2545 โดยเฉพาะการเตรียมหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับโรงเรียนนำร่อง

     ตลอดถึงเตรียมแผนความร่วมมือกับชุมชนและคณะกรรมการสถานศึกษาในเรื่องต่างๆ เพื่อให้เริ่มต้นภาคเรียนใหม่เป็นไปอย่างเรียบร้อย ทั้งนี้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 เป็นต้นไป องค์การบริหารส่วนตำบล จะเป็นผู้ตั้งงบประมาณโครงการนมโรงเรียน รวม 3 พันล้านบาท ดังนั้น สถานศึกษาต้องประสานกับองค์การบริหารส่วนตำบลอย่างใกล้ชิด ช่วยดูแลไม่ให้เกิดปัญหานมไม่ได้คุณภาพ ไม่ตรงเวลา หรือไม่ครบตามกำหนดวัน ส่วนโครงการอาหารกลางวัน สถานศึกษายังคงดำเนินการต่อไป


ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 11 พ.ค.2545 หน้า 15

"บัตรอัจฉริยะอเนกประสงค์" (Smart Card)

     กรมการปกครอง ได้มีการศึกษาปรับปรุงบัตรประจำตัวประชาชนแบบปัจจุบันที่มีแถบแม่เหล็ก สำหรับใช้ในการจัดเก็บข้อมูลมาพัฒนา เป็นการนำ "แผ่นไมโครชิป" และ "แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์" มาฝังลงบนตัวบัตร ซึ่งมีกลไกในการเขียนและการอ่านข้อมูลที่ซับซ้อนมากขึ้น สามารถเก็บรหัสลับและข้อมูลทางชีวภาพบางอย่าง เช่น ลายพิมพ์นิ้วมือ หรือรูปภาพ มาเป็นแนวคิดในการทำบัตรประจำตัวประชาชนแบบ "บัตรอัจฉริยะอเนกประสงค์" (Smart Card)

     สำหรับให้หน่วยงานราชการอื่นๆ สามารถใส่ข้อมูลลงไปได้ด้วย นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมใช้ประโยชน์บนพื้นที่ของบัตรในโอกาสต่อไป หากสามารถทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการออกบัตรประจำตัวประชาชนแบบบัตรอัจฉริยะอเนกประสงค์ (Smart Card) เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกับหน่วยงานอื่นแล้ว ประโยชน์สูงสุดจะตกกับประชาชนด้วยการพกพาบัตรเพียงใบเดียว สำหรับใช้เป็นหลักฐานในการแสดงตนติดต่อราชการกับทุกส่วนราชการที่ใช้บัตรร่วมกัน

     สรุปได้ว่า บัตรอัจฉริยะอเนกประสงค์ (Smart Card) เป็นบัตรรวมข้อมูลและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง หลายวัตถุประสงค์ (Multi Applications In A Single Card)

     สำหรับข้อดี-ข้อเสียของบัตร Smart Card สำนักบริหารการทะเบียนกรมการปกครอง ชี้แจงไว้ ดังนี้
    ข้อดี
    1. เกิดความประหยัดในภาพรวมต่อกรณีการทำบัตรประจำตัวแบบแยกหน่วย
    2. สะดวก รวมเร็ว ในการให้บริการแบบ One Stop Service ของหน่วยงานราชการ
    3. เพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลต่อระบบราชการ ตลอดจนสนับสนุนการให้บริการประชาชนตามประเภทสิทธิ และสถานะได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
    4. ป้องกันการปลอมแปลงตน การแอบอ้างตนเป็นอย่างดี
    5. ป้องกันการทุจริตในการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนตัวเกินสิทธิที่มีอยู่จริง
    6. เกิดมาตรฐานของระบบบัตรประจำตัวของประชาชนในชาติ ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาหรือประยุกต์ใช้ใน Application อื่นๆ
    ข้อเสีย
    1. จะต้องวางระบบป้องกันและรักษาความปลอดภัยขอมูลส่วนกลางของทุกหน่วยงานเป็นอย่างดี
มิฉะนั้นอาจเกิดความเสียหาย หรือการเข้าถึงและนำข้อมูลไปใช้โดยผู้ไม่มีอำนาจหน้าที่ได้
    2. การร่วมมือระหว่างหน่วยงานต้องมีการตกลงในระดับสูง
    3. ความไม่พร้อมของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการใช้ข้อมูลที่อยู่ในบัตรฯ เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ เครื่องอ่าน เขียนบัตร เป็นต้น


ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 11 พ.ค.2545 หน้า 15

มะกันฝังชิปเก็บข้อมูลในคนแล้ว

     สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2545 บริษัทแอพพลายด์ ดิจิตอล โซลูชั่น บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีในรัฐฟลอริดา ได้ทำพิธีการฝังชิปลงในตัวคน ที่เมืองปาล์มบีช รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา โดยมีผู้ถูกฝังชิปกลุ่มแรกของโลก จำนวน 8 คน ซึ่งคนเหล่านี้จะสามารถถูกระบุได้ว่า เป็นใครจากเครื่องอ่านหรือสแกนเนอร์

     ตามรายงานระบุว่า ชิปดังกล่าวผลิตขึ้นโดย บริษัทแอพพลายด์ ดิจิตอล โซลูชั่น เรียกว่า "เวอริชิป" ที่มีขนาดเท่ากับเมล็ดข้าว จะถูกฝังอยู่ภายในผิวหนังเมื่ออ่านด้วยเครื่องอ่านพิเศษแล้ว ชิปจะส่งสัญญาณวิทยุออกมาถ่ายทอดเป็นรหัสที่จะเชื่อมไปยังฐานข้อมูลที่เก็บรักษาไว้อย่างปลอดภัย อยู่ที่ศูนย์โกลบอลเวอริชิป สับสโครเบอร์ (จีวีเอส) ริจิสทรี โดยจะมีข้อมูลของบุคคลที่ถูกฝังชิปเก็บไว้ในศูนย์แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ และประวัติการรักษาพยาบาล ทำให้สามารถทราบถึงข้อมูลของผู้ฝังชิปได้ในเวลาเพียงไม่นาน ซึ่งบุคคลที่ถูกฝังชิป 8 คนแรก มีทั้งผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ และผู้ป่วยโรคภูมิแพ้

     ทางบริษัทแจ้งว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการขายเครื่องอ่านชิปให้กับโรงพยาบาลท้องถิ่นและศูนย์อำนวยการฉุกเฉิน และยังมีผู้ที่รอคิวเพื่อฝังชิปนี้อีก 5,000 คน ซึ่งแต่ละคนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายคนละ 200 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8,800 บาท และจะต้องเสียค่าธรรมเนียมรายเดือนสำหรับเก็บข้อมูลอีกเดือนละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 440 บาท โดยการฝังชิปเวอริชิป ทำได้ไม่ยุ่งยาก สามารถทำได้ตามคลีนิกทั่วไป

     นอกจากนี้ทางบริษัทระบุว่า เวอริชิปจะประกอบไปด้วยข้อมูลลับส่วนบุคคล ข้อมูลสำหรับกรณีฉุกเฉิน และข้อมูลทางด้านสุขภาพ ซึ่งในอนาคตชิปดังกล่าว จะช่วยในการติดตามหาตำแหน่งของผู้ที่ถูกฝังชิปได้ด้วยระบบการหาตำแหน่งจากดาวเทียมได้อีกด้วย


ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 11 พ.ค.2545 หน้า 12

เตือนผู้ปกครองก่อนส่งลูกไปแคมป์ซัมเมอร์
วีรกรรม 5 สาวน้อย ฝ่าค่ายซัมเมอร์ กีวี ระทึก !

     ในช่วงปิดภาคเรียนของทุกปี บรรดาผู้ปกครองที่มีฐานะ เขานิยมส่งลูกไปเข้าค่ายฝึกภาษายังต่างประเทศ และเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้ปกครองใจดีหลายท่านควักกระเป๋าจ่าย 6-8 หมื่นบาทต่อบุตรหนึ่งคน จ่ายให้แก่เจ้าของค่ายภาษาแห่งหนึ่งซึ่งเป็นผู้จัดพาเด็กไปเข้าค่าย ด้วยหวังว่าบุตรจะได้ฝึกฝน เรียนรู้ภาษาต่างประเทศจากของจริงๆ รวมทั้งได้ทัศนศึกษาสถานที่ต่างๆ ดังที่ผู้จัดได้โฆษณาไว้ เวลาต่อมาเด็กๆ ก็ได้เดินทางสู่แดนกีวี นิวซีแลนด์ ตามกำหนดการที่ผู้จัดวางไว้ แต่เมื่อถึงนิวซีแลนด์แล้ว ทุกอย่างไม่ได้เป็นดังคำโฆษณา ความจริงถูกเฉลย เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนสอนภาษาตามที่กำหนด มีเพียงผู้จัดไปแจกการบ้านให้ทำ แล้วตรวจกันเอง ที่พักไม่เพียงพอ แออัดยัดเยียด ที่นอนมีแค่ฟูกกับผ้าห่มบางๆ ในขณะที่อากาศราว 11 องศาเซลเซียส อาหารที่จัดหาให้ไม่อิ่มท้อง ห้องน้ำไม่มีกลอนล็อค เวลาใช้ต้องระแวดระวังให้ดี ทุกปีผู้จัดรายนี้จะรับเด็กที่อายุระหว่าง 8 - 13 ปี ซึ่งเป็นเด็กเล็กเท่านั้น เหตุการณ์ที่ว่านี้คงไม่เป็นเรื่องเพราะเด็กยังไม่มีปากเสียง แต่ปีนี้คงงกเงินขึ้นหรืออย่างไรไม่ทราบ รับเด็กโตระดับมหาวิทยาลัย 19-22 ปี ด้วย ในจำนวนนั้น มีสาวน้อย 5 คน ที่เริ่มรู้ว่าถูกหลอก แต่ทำอะไรไม่ได้มาก แต่ละวันพวกเธอต้องคอยดูแลน้องๆ ที่เล็กกว่า ต้องทำกับข้าวให้น้องๆ กิน และคอยปลอบใจกันและกันในคืนที่หนาวเหน็บ.. แต่แล้วก็มาถึงจุดที่ทำให้พวกเธอตัดสินใจทลายค่ายซัมเมอร์นี้ คือ วันหนึ่งพวกเธอพบน้องผู้ชายคนหนึ่งถูกผู้ดูแลหนุ่มลวนลามทำอนาจาร ทุกคืนพวกเธอจะนัดประชุมวางแผนเพื่อช่วยเหลือน้องๆ และแล้วด้วยความเฉลียวฉลาด พวกเธอโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากสถานฑูตไทย และสำนักงานสาขาการบินไทยที่ประจำอยู่ที่นั่น จนได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่สถานฑูตและหัวหน้าสาขาการบินไทย ช่วยเดินเรื่องส่งตัวเด็กๆ กลับเมืองไทยได้ก่อนกำหนด ขณะเดียวกันก็เข้าแจ้งความกับตำรวจท้องที่เกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้จัดค่ายอีกด้วย ค่ายซัมเมอร์ระทึกดังกล่าวก็เลยพบจุดจบ....

     ความตั้งใจของพ่อแม่ที่จะมอบสิ่งดีๆ ให้กับลูก โดยเฉพาะทางด้านการศึกษาเป็นเรื่องที่ดี แต่บางครั้งภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นก็เป็นเหตุที่คาดไม่ถึงได้เช่นกัน อย่างกรณีที่ผมนำมาเล่าให้ฟังนี้ ความนิยมส่งลูกไปต่างประเทศ จะเรียกว่าไปเรียนภาษา เรียนพิเศษ หรือเข้าค่ายซัมเมอร์ หรือเรียกอะไรก็แล้วแต่.. จึงขอฝากเตือนผู้ปกครองที่คิดจะส่งลูกหลานไป เข้าค่ายภาษาในต่างประเทศ ขอให้เลือกสถาบันดีๆ มีมาตรฐาน เชื่อถือและไว้วางใจได้ จะได้มั่นใจว่าลูกหลานท่านจะไม่พบกับเหตุการณ์อย่างที่เล่ามา....


ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 11 พ.ค.2545 หน้า 1,2