เสนอเรื่องกุสะหรือหญ้าคา

     ข้อความ

…………….. กุสะหรือหญ้าคา

การมาไหว้พระที่ประเทศอินเดีย อันเป็นแดนพุทธภูมิ ที่บางท่านเรียกว่า การไปแสวงบุญ ฟังดูประหนึ่งว่าบุญ มีอยู่แถวนั้นจึงต้องไปหา ที่จริงก็คือการไปบำเพ็ญบุญนั่นเอง

……หลายครั้งที่มีโอกาสได้เดินทางไปประเทศนเดียโดยการนิมนต์ของผู้ไปแสวงบุญทั้งหลาย เมื่อได้ไปนมัสการสังเวชนียสถานแห่งแรกคือสถานที่ตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ต้นโพธิ์ตรัสรู้ที่เมืองคยา ได้มีโอกาสข้ามแม่น้ำเนรัญชราอันเป็นสถานที่ที่นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาสแด่พระโพธิสัตว์ก่อนคืนวันตรัสรู้ ตรงกันข้ามกับฝั่งต้นโพธิ์และเจดีย์ตรัสรู้ ณ บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรานี้ มีรูปปั้นแสดงการถวายหญ้ากุสะแด่พระพธิสัตว์ โดยโสตถิยพราหมณ์

…..หญ้ากุสะนี้ได้รับการชี้บอกโดยทั้งคนอินเดียและพระไทยบางรูปที่นั่นว่านี่แหละหญ้ากุสะ เห็นมีขึ้นอยู่ทั่วๆไปริมฝั่งแม่น้ำ เป็นกอใหญ่ๆเป็นแถว

…..หญ้ากุสะนี้….ตอนที่เรียนภาษาบาลี โบราาจารย์ของเราท่านแปลว่า…หญ้าคา แต่มองดูหญ้ากุสะแล้วไม่ใช่หญ้าคาแบบของไทยเรา ทำให้นึกสงสัยอยู่นานว่า กุสะน่าจะไม่ใช่หญ้าคา อาจจะเป็นตระกูลเดียวกัน

….คราวนี้ได้เดินทางไปในงานทอดกฐินที่วัดไทยพุทธคยา ซึ่งคุณณรงฤทธิ์ เอี่ยมเจริญยิ่ง เป็นเจ้าภาพได้นิมนต์ไปด้วย ได้มีโอกาสไปถึงริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราอีกครั้ง ได้มีอดีตเอกอัครราชทูตไทย ธวัชชัย ทวีศรี ร่วมเดินทางไปด้วยได้ชี้ให้ท่านทูตดูว่านี่แหละหญ้ากุสะที่พระพุทธเจ้าได้รับ ๘ กำ แล้วทรงนำไปปูลาดที่โคนพระศรีมหาโพธิ์ในคืนวันตรัสรู้ ท่านทูตก็สนใจว่า น่าจะได้นำไปถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์สนพระทัยในหญ้าแฝกอยู่

….บอกท่านทูตว่า ทุกครั้งที่มาเห็นหญ้ากุสะนี้ ก็นึกถึงหญ้าแฝกของในหลวงท่านทุกครั้งไป ถ้าท่านทูตจะได้นำไปถวายในหลวงก็น่าจะดี เพราะหญ้ากุสะนี้มีลักษณะคล้ายหญ้าแฝก ก็ได้ให้เด็กช่วยกันถอนหญ้ากุสะให้ ท่านทูตก็ไปจ้างเด็กให้ขุดให้อีกปรากฏว่าพอกลับมาที่วัดไทย พวกแขกรู้เข้าว่าท่านทูตต้องการหญ้ากุสะ ก็พากันไปขุดมาให้กันมากมาย(จะเอาสตางค์) พอเอามาแล้วก็บอกว่า….อันนี้หญ้ากุสะ…..อันนั้นไม่ใช่….คนที่เอามาทีหลังก็บอกว่าของคนก่อนไม่ใช่….เลยเกิดปัญหาขึ้นว่า อันไหนคือหญ้ากุสะกันแน่ ?

…..ท่านทูตเลยขอให้เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยาตัดสิน ท่านเจ้าคุณราชโพธิวิเทศ จึงให้คนงานวัดที่เป็นเชื้อสายพราหมณ์เป็นผู้ไปหามาให้ใหม่ จึงได้หญ้ากุสะมา

…..หญ้ากุสะนี้ใบนุ่มไม่แข็งมากและรากหอม หญ้านี้พราหมณ์เขาใช้ในพิธีกรรมของเขา โดยเฉพาะใช้สลัดน้ำมนต์ และหญ้ากุสะชนิดนี้ยังสามารถใช้ถักเป็นเชือกขึงเป็นเตียงนอนได้อีกด้วย ซึ่งชาวอินเดียเขาใช้อยู่ทั่วไปส่วนหญ้ากุสะ
ที่เป็นกอสูงใหญ่นั้นยังใช้มุงหลังคาได้อีกด้วย

…..สรุปแล้วหญ้ากุสะมีหลายชนิด ทั้งชนิดที่คล้ายหญ้าคา และชนิดที่มีใบนุ่มมีรากหอม สำหรับชนิดที่โสตถิยพราหมณ์ถวายนั้น สันนิษฐานว่า……น่าจะเป็นชนิดที่มีใบนุ่มและรากหอม และโสตถิยพราหมณ์น่าจะนำหญ้าไปทำพิธีมงคล (เพราะโสตถิยะ ก็แปลว่าสวัสดีอยู่แล้ว) โสตถิยะน่าจะเป็นชื่อของพราหมณ์ที่ทำพิธีเพื่อความสวัสดีมงคล

…..ในหนังสือคัมภีร์ปฐมสมโพธิของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็ทรงใช้คำว่าโสตถิยพราหมณ์ถวายหญ้าคา ๘ กำ ดังข้อความว่า “ในกาลนั้น มีมหาพราหมณ์ผู้หนึ่งมีนามว่าโสตถิยพราหมณ์ ถือซึ่งหญ้าคา ๘ กำ เดินสวนทางมา พอพบพระมหาบุรุษราชเจ้า ก็นำหญ้าคาทั้ง ๘ กำนั้นน้อมเข้ามาถวาย

…..แต่ในหนังสือพุทธประวัติ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแต่งไว้ว่า“ครั้นเวลาเย็น เสด็จมาสู่ต้นพระมหาโพธิ ทรงรับหญ้าของคนหาบหญ้าชื่อโสตถิยะ ถวายในระหว่างทาง” มิได้ทรงใช้คำว่า หญ้าคา

…..ซึ่งเมื่อไปดูในคัมภีร์อัฏฐกถาปปัญจสูทนี มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสและอัฏฐกถาชาดกเล่มหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงพุทธประวัติตอนตรัสรู้ไว้ข้อความคล้ายกันว่า “สายณฺหสมเย โสตฺถิเยน ทินฺนา อฏฺฐติณมุฏฺฐิโย คเหตฺวา โพธิมณฺฑํ อารุยฺห = ในเวลาเย็น พระมหาสัตต์ รับหญ้า ๘ กำที่นายโสตถิยะถวาย แล้วขึ้นสู่โพธิมณฑล"

…..ในพระบาลีทั้งสองแห่ง ใช้คำว่า ติณะ ซึ่งแปลว่า หญ้า เท่านั้น ไม่ได้ระบุว่าเป็นหญ้ากุสะ แต่คนในละแวกนั้นกล่าวกันว่าเป็นหญ้ากุสะ คำว่า หญ้ากุสะที่พระโบราณาจารย์ของเราท่านแปลไว้ว่าเป็นหญ้าคานั้น มีบาลีในพระธรรมบทที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “กุโส ยถา ทุคฺคหิโต หตฺถเมวานุกนฺตติ = เหมือนอย่างหญ้ากุสะที่คนจับไม่ดีย่อมบาดมือ”

…..พระอรรถกถาจารย์ยังได้อธิบายคำว่า กุสะ ไว้ว่า “ตตฺถ กุโสติ ยงฺกิญฺจิ ติขิณธารํ ติณํ อนฺตมโส ตาลปณฺณํปิ = หญ้าที่มีคมชนิดหนึ่งชนิดใด โดยที่สุดใบตาลท่านเรียกว่ากุสะ"

…..สรุปแล้วหญ้ากุสะนั้น เป็นหญ้าตระกูลที่มีใบคม เป็นลักษณะของหญ้าคา มีหลายชนิด สำหรับหญ้ากุสะที่พระโพธิสัตว์รับจากโสตถิยพราหมณ์นั้น มีความเห็นกันว่า น่าจะเป็นหญ้ากุสะชนิดที่พราหมณ์นำไปประกอบพิธีมงคล ซึ่งมีใบไม่คมนัก นุ่ม และมีรากหอมตามที่ปรารภไว้แต่ต้น

…..อย่างไรก็ตามหญ้ากุสะนี้ ก็ต้องถือว่าเป็นหญ้ามงคล เพราะเป็นที่รองรับประทับนั่งของพระบรมโพธิสัตว์ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ ที่ทรงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาเอกในโลก



พระเมธีวรญาณ
วัดราชโอรสาราม
๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๔

โดย : พระเมธีวรญาณ [ 21 ต.ค. 2544 , 17:31:55 น. ] แจ้งลบกระทู้ เก็บกระทู้นี้ไว้ใน Bookmark print หน้านี้ ส่งกระทู้นี้ให้เพื่อนของคุณ
 
เรียนเชิญแสดงความคิดเห็น

ศึกษาพระอภิธรรมออนไลน์ ข่าวสาร-กิจกรรม
สมุดเยี่ยม แหล่งค้นหา แหล่งธรรมะ กรรมฐาน


จัดทำโดย มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ
ศีล สมาธิ ปัญญา... หนทางสายเอก...