เรื่องวิถีจิตต่อจากกระทู้485

     ข้อความ



วิถีจิตบุญบาปของทารกในครรภ์
จนถึงเด็กอายุ ๒ ขวบ


กรรมคือเจตนาย่อมประกอบอยู่ในจิต
เพราะเจตนาเป็น เจตสิกดังที่ท่านได้ศึกษามา
กับอาจารย์มาลี และอาจารย์สง่าตอน
ประเภทของเจตสิกในบทที่ ๓ กรรมดี
หรือกุศลกรรม และกรรมชั่ว หรืออกุศลกรรม

ย่อมเกิดขึ้นในวิถีจิต ทางแสดงออกของกรรมมี ๓ ทาง

คือ การกระทำทางกาย (กายกรรม)

การกระทำทางวาจา (วจีกรรม)

และการกระทำทางใจ(มโนกรรม)


ทารกที่อยู่ในครรภ์สามารถแสดงออกได้

ในรูปของมโนกรรม คือ กรรมทางใจ

ซึ่งเกิดในวิถีจิต วิถีจิตแรกของทารกใน

ครรภ์เป็นมโนกรรมที่ ประกอบอยู่ในโลภมูลจิต

คือ หมายความว่า

การที่มาเกิดเป็นมนุษย์ย่อมอาศัยตัณหานำเกิด


ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า

ตัณหาทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด

เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์... จึงทำให้มีโลภมูลจิตเกิด

ขึ้นในวิถีจิตก่อน

จากนั้นทารกในครรภ์ อาจเกิดถึงวิถีจิตที่มีความ

ทุกข์ใจ เพราะอาศัยทุกข์กายเป็นปัจจัย

ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า

บางครั้งไฟธาตุของมารดาทำให้ทารกในครรภ์เกิดทุกข์กาย

และทุกข์กายย่อมทำให้เกิดทุกข์ใจ

ทุกข์ใจนี้ย่อมเกิดในโทสมูลจิต

แม้เด็กจะมีโทสะ แต่กำลังยังอ่อน

เพราะเกิดทางใจ และภาวะร่างกายย่อมอ่อนแอ

อยู่ ที่สังเกตได้ชัดตอน ที่เกิดเสียงดังหรือ

มารดาล้มลง ทารกในครรภ์ ก็ตกใจกระทุ้งท้อง

มารดา ความตกใจนี้ก็เป็นจิตจำพวกโทสะค่ะ


คำว่าโทสะไม่ได้หมายถึง

เฉพาะความโกรธรุนแรง แม้ความโกรธเล็กๆ

น้อย ๆ ความไม่พอใจนิดเดียว ก็ถือว่า.. เกิดโทสะ

แล้วนะค่ะ

ตอนที่ทารกอยู่ในครรภ์..ตอนที่มีวิถีจิตเกิดขึ้น

คือไม่ใช่ ตอนหลับสนิท.. ส่วนใหญ่เกิดความ

รู้สึกเฉยๆ ที่ปกคลุมไปด้วยโมหะ

คือ ความมืดบอดของดวงจิต....นี่ไงค่ะท่าน

ทั้งหลายย่อม แสดงให้เห็นชัดว่า แม้

ทารกอยู่ในครรภ์ก็มีกิเลสเกิดขึ้น

แม้จะมีกำลังกิเลสเพียงเล็กน้อยก็ตาม

เพราะทารกที่เกิดขึ้นยังเป็นปุถุชน

คือผู้หนาด้วยกิเลส.. กำลังกิเลสที่สั่งสมใน

ชาติก่อนๆ สามารถมีกำลัง อำนาจหนุนเนื่อง

ให้เกิดกิเลสขึ้นมาได้ ด้วยเหตุนี้เองใครที่บอกว่า..

เด็กบริสุทธิ์เหมือนผ้าขาวที่พับไว้จึงเป็นมิฉาทิฏฐิ

คือ เห็นผิดจากความเป็นจริง


แต่อย่างไรก็

ตาม ทารกที่อยู่ในครรภ์สามารถเกิดจิต

บุญในวิถีจิตได้ โดยเฉพาะพระโพธิสัตว์

หรือทารกที่กำลังจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

หรือพระอัครสาวกค่ะ....พอก่อนนะค่ะอ่าน

สักสองเที่ยวแล้วนึกภาพวิถีจิตตามด้วยท่านจะเข้า

ใจดีค่ะ พบกันใหม่ตอนต่อไปนะค่ะ_/¦\_สวัสดีค่ะ



อ.บุษกร เมธางกูร
29 ตุลาคม2544.
โดย : อาจารย์บุษกร เมธางกูร - [ 29 ต.ค. 2544 , 19:02:04 น. ] แจ้งลบกระทู้ เก็บกระทู้นี้ไว้ใน Bookmark print หน้านี้ ส่งกระทู้นี้ให้เพื่อนของคุณ


     ข้อความ

เจตนาว่าคือกรรม
สามทางนำทำชีวี
กายวาจาและใจนี้
นำกรรมก่อหนอต่อไป...

โดย : ดอกสารภี [30 ต.ค. 2544 , 06:28:07 น.]


     ข้อความ

สวัสดีค่ะทุกท่าน..มาทำความเข้าใจเรื่องวิถีจิต

กันต่อนะค่ะ ในอรรถกถาสัมปสาทนียสูตร
ได้แสดงว่าพระโพธิสัตว์ที่จะมาตรัสรู้
เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตอนที่เสด็จลงสู่ปฏิสนธิในครรภ์พระมารดา
ก็ทรงมีสติสัมปชัญญะ

ตอนพระโพธิสัตว์อยู่ในครรภ์พระพุทธมารดา
พระองค์ก็รู้ว่าอยู่ในครรภ์พระมารดา
แม้จะประสูติจากครรภ์พระองค์ก็มีสติรู้ไม่หลงลืม
ต่างกับคนทั้งปวงที่หลงไร้สติ
ในเวลาจะมาเกิดในครรภ์มารดา
ในเวลาอยู่ในครรภ์และในเวลาคลอดออกมา


ส่วนพระอัครสาวก เช่น พระสารีบุตร
ก็มีสติรู้ไม่หลงลืมตอนจะมาปฏิสนธิในครรภ์
และตอนอยู่ในครรภ์มารดา

ส่วนตอนคลอดออกจากครรภ์มารดา ไม่มีสติมีการหลงลืมสติ

คือ เกิดวิถีจิตที่เป็นอกุศลได้
เนื่องจากตอนคลอดออกมา ต้องทนทุกข์กาย
ทำให้ตกใจในเวลาคลอดออกมา
เหมือนตกเหวอันลึกส่วนบุคคลที่เป็น
พระปัจเจกพุทธเจ้าก็เช่นกับพระอัครสาวก
คือมีวิถีจิตที่มีเป็นบุญ ไม่หลง
ในเวลาปฏิสนธิในครรภ์และอยู่ในครรภ์


โดยทั่วไป เมื่อทารกน้อยๆ คลอดออกมา
จากครรภ์มารดา ยามที่ตาแจ๋วๆ คือตื่นอยู่
วิถีจิตมักครอบงำด้วยโมหมูลจิต
เวลาหิว ร้องไห้ ก็เกิด วิถีจิตที่มีโทสมูลจิต
เวลาได้ดื่มนม อิ่มหนำสำราญ ก็เกิดวิถีจิตที่มีโลภมูลจิตหรือตอนอยากให้ผู้ใหญ่อุ้มก็ดีใจเป็นโลภะ ถ้าไม่ได้อุ้มก็เสียใจ เป็นโทสะ

พูดอีกแง่หนึ่ง เด็กๆ มีโลภะ โทสะ โมหะ ครบหมดเลยค่ะ

เพียงแต่กำลังโลภะ โทสะ โมหะ ไม่หนักแน่น
เหมือนผู้ใหญ่ และยังไม่ถึงขั้นทุจริตค่ะ



พบกันใหม่ตอนต่อไปนะค่ะ_/¦\_สวัสดีค่ะ

โดย : ดอกแก้ว - [30 ต.ค. 2544 , 11:33:01 น.]


     ข้อความ

วิถีจิตบุญบาปของเด็กเล็กจนถึงวัยรุ่น

เมื่อสามารถยืน เดิน นั่ง วิ่ง วิถีจิตทั้ง ๕ ของเด็ก

คือ ทางตาจนถึงทางกาย ย่อมเกิดได้คล่อง

และมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดทางใจ

หรือวิถีจิตทางใจ.. ทั้งทางดี และทางไม่ดีนั้น

นี่เป็นปัจจัยภายนอกอัน ได้แก่สภาพแวดล้อม

ผู้ปกครองเด็ก เพื่อน ครู หรือสิ่งอื่นๆ

มีอิทธิพลหล่อหลอมอุปนิสัย

โดยที่ปัจจัยภายนอก

นี้มีอิทธิพลโดยผ่านทาง วิถีจิตทางตา ทางหู และ

ทางรับรู้อื่นๆ ไปพอกพูนความรู้สึกนึกคิด ในวิถีจิตทางใจ

เมื่อกล่าวถึง ปัจจัยภายนอกเหล่านี้

นักจิตวิทยาทางโลก หรือนักสังคมศาสตร์ทางโลก

ย่อมเข้าใจดีและยอมรับกันทั่วไป.

แต่หลักพุทธศาสนา..โดย

อาศัยพระปัญญา อันสูงส่งขององค์สมเด็จพระสัมมา

สัมพุทธเจ้า พระองค์ไม่เพียงทรงรอบรู้**

ปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลต่อวิถีจิตทางใจของเด็ก

ยังทรงรอบรู้ปัจจัยภายในจิตใจของเด็กด้วย

ซึ่งก็มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเด็ก

ดังที่เห็นได้ชัดๆ ตามตัวอย่างดังต่อไปนี้นะค่ะ


ทำไมเด็กบางคนนับ ๑ - ๑๐ ไม่ได้

ทำไม...เด็กบางคนเรียนรู้ได้ น้อยมาก

หรืออย่างที่ชาวบ้านเรียกเด็กปัญญาอ่อน

ปัจจัยภายนอก เช่น ต่อให้มีครู่ เก่งกาจสามารถ

ขนาดไหน ก็ไม่สามารถที่จะอบรมสั่งสอนเด็ก

ปัญญาอ่อน ให้ปัญญาแข็งกล้าขึ้นมา

จนนักจิตวิทยา ทางโลกได้สรุปว่าเพราะเด็ก

ไอคิวต่ำ


ปัญหาอยู่ที่ว่า ทำไมจึงไอคิวต่ำ

นักจิตวิทยาทางโลกต้องจนด้วยเกล้า

แต่พระพุทธองค์ทรงรอบรู้เรื่องนี้

ดังที่พระองค์ทรงอธิบายให้เราทราบว่า

เด็กปัญญาอ่อนเพราะเด็กนั้นปฏิสนธิจิตด้วย

อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิต

ซึ่งเป็นบุญชั้นต่ำ.. คือเป็นอุเบกขาสันตีรณกุศล

วิบากจิต และภวังคจิตนี้เอง..

ที่มีอิทธิพลครอบงำ ความคิดนึกของเด็ก

ปัญญาอ่อนให้มีความสามารถด้อยกว่าคนทั่วๆ

ไปตลอดชีวิตด้วยค่ะ



อ.บุษกร เมธางกูร.
๑ พ.ย.44

โดย : อาจารย์บุษกร เมธางกูร - [1 พ.ย. 2544 , 13:28:20 น.]

     ข้อความ

จากที่กล่าวมานั้น ก็เป็นแนว
ทางให้เราได้แง่คิดที่เป็นประโยชน์ดังนี้


แต่ละชีวิตย่อมมีปัจจัยภายใน อันเป็นผลของกรรม
ที่ตนได้สั่งสมมาหรือเป็นผลของการอบรม
สั่งสมค่านิยม ทัศนคติตลอดจน
ความรู้สึกนึกคิดอื่นๆ แม้แต่เด็กแต่ละคน
ย่อมมีความสามารถแตกต่างออกไป

ไม่ควรที่ผู้ใหญ่จะไปเคี่ยวเข็ญเด็กให้มีความสามารถตามที่ผู้ใหญ่ต้องการอย่างไร้เหตุไร้ผล

เช่น เด็กไม่มีนิสัยอยากเป็นครู ก็ไปเคี่ยว
เข็ญให้เป็นจนได้ ทั้งๆ ที่เด็กอยากเป็นช่างยนต์
ที่เป็นเช่นนี้เพราะวิถีจิตในอดีตชาติก่อนๆ
มีอิทธิพลต่อวิถีจิตในชาติปัจจุบันเด็กบางคน
ถูกผู้ใหญ่เคี่ยวเข็ญบังคับให้สอบให้ได้ที่ ๑ โดย
เป็นการเกินความสามารถของเด็ก
เด็กก็เกิดภาวะอึดอัด กลุ้มใจ เมื่อเด็กสอบไปแล้ว
ไม่ได้ที่ ๑ ผู้ใหญ่ก็ทุกข์ใจเสียใจนี่เป็นเพราะ
ผู้ใหญ่ตั้งความหวังสูงเกิน ความสามารถของเด็ก
เหตุการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นเพราะผู้ใหญ่สั่งสม
วิถีจิตที่มีอกุศลชนิดโลภะดีมากเกินไป
คืออยากได้เกินเลยความสามารถ
ทำให้กระตุ้นให้วิถีจิตของเด็กเร่าร้อนใจ
เกิดอกุศลไป

การมัวนึกว่า ปัจจัยภายนอกอย่างเดียว
ทำให้เด็กจะเรียนเก่งจนสอบได้ที่ ๑
โดยไม่ต้องคำนึงถึงปัจจัยภายใน
ย่อมทำให้เกิด
วิถีจิตบาปขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตาม

หลักพุทธจิตวิทยาก็ไม่ได้ให้ทุกชีวิต
ปล่อยไปตามปัจจัยอดีต

หรือปล่อยไปตามยถากรรม แต่
ให้เน้นถึงการกระทำในปัจจุบันให้ดีที่สุด
เท่าที่สามารถทำได้ และยังต้องคำนึง
ปัจจัยภายนอกอีกด้วย หรือสภาพอื่นประกอบด้วย
พูดให้สั้นๆ พุทธจิตวิทยา แนะให้คำนึงทั้ง
ปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก
ไม่ใช่ไปคำนึงด้านใดด้านหนึ่งด้านเดียวนะค่ะ

โดย : อาจารย์บุษกร เมธางกูร - [6 พ.ย. 2544 , 19:15:21 น.]

     ข้อความ

เด็กวัย ๒ - ๗ ขวบ เป็นเด็กตอนต้น (Eearly childhood)

วิถีจิตบุญหรือบาปย่อมมีกำลังแก่กล้า
และเกิดขึ้นชำนิชำนาญยิ่งขึ้น สังเกต
เห็นได้จากเมื่อใครทำอะไรที่ไม่ถูกใจ
หรือขัดใจหน่อย

เช่นกำลังเล่นของเล่นสนุกๆ
น้องมาแย่งเอาไป ก็จะโกรธ ตีน้อง
พอคุณพ่อซื้อขนมมาแจกก็จะวิ่งมาด้วยความดีใจ
เกิดวิถีจิตที่มีโลภะอ่อนๆ ขึ้นมาบางทีคุณแม่
กำลังอุ้มน้อง ก็เกิดอิจฉา อยากให้คุณแม่อุ้มตน
ขณะนั้น

วิถีจิตของเด็กก็เกิดอิจฉาเจตสิก
ซึ่งประกอบในโทสมูลจิตของเด็ก
เพราะไม่อยากให้น้องได้ดีกว่าตน
ถ้าคุณแม่ไม่อุ้มตนก็จะเสียใจไม่พอใจ
เด็กบางรายถึงกับประท้วง
ด้วยการกระทืบพื้นดังๆ




วิถีจิตบุญ ก็มีโอกาสเกิดกับเด็กวัยนี้ได้
เหมือนกัน เช่น แบ่งขนมให้พี่หรือน้องทาน
นี่เป็นการทำบุญให้ทานของเด็ก
บางครั้งรู้จักเอาของเล่นมาให้น้องหรือเพื่อน
เด็กเล่นยัง

มีเด็กคนหนึ่งพอคุณพ่อคุณแม่นอนหลับ
รู้จักเกรงใจไม่ทำเสียงดัง ไม่รบกวน
คุณพ่อคุณแม่ของตน ทั้งๆ ที่คุณพ่อคุณแม่
ไม่เคยสั่งสอน นี้เป็นเพราะบุญเก่าของเด็ก
หนุนเนื่องเป็นบุญที่ไม่ต้องมีการชักชวน

(มหากุศล ชนิดอสังขาริก)
มีเด็กบางคนได้รับอบรมดี พอคุณพ่อให้ของเล่น
ก็รีบยกมือไหว้ แสดงความขอบคุณ
นี่ก็เป็นวิถีจิตบุญที่ส่งให้เกิดพฤติกรรมเช่นนี้ออกมา

[font color=”ff0033”]เด็กวัยนี้ชอบเลียนแบบพฤติกรรมผู้อื่น

ด้วยเหตุนี้การทำตัวอย่างเลว..ง่ายต่อการกระตุ้น
วิถีจิตฝ่ายอกุศลให้เกิดขึ้น.. ผู้ใหญ่ที่รัก
ในความก้าวหน้าของเด็กจึงควรสอดส่อง
ดูแล และข้อสำคัญที่สุดนะค่ะ


ผู้ใหญ่ที่กระทำตัวอย่างที่ไม่ดีเสียเอง
ย่อมง่ายที่จะถ่ายทอดสิ่งไม่ดีสู่จิตใจของเด็ก
ทั้งๆ ที่ผู้ใหญ่ไม่มีเจตนาเช่นนั้นเลย
ตัวอย่างคุณพ่อโกรธด่าคุณแม่อย่างไร้เหตุผล
เด็กก็จดจำไว้ และอาจเลียนแบบคุณพ่อก็ได้
บางครั้งรายการทีวีบางรายการ
เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้ชม เช่นโฆษณาสุรา ยาสูบ
ให้เป็นของโก้หรูหรา เด็กก็นึกว่าดี
สั่งสมค่านิยมผิดๆ อันเป็นยาพิษกรอกใส่จิตใจของเด็ก

พอโตขึ้น ก็มีพฤติกรรมติดเหล้า บุหรี่
อย่างถอนตัวไม่ขึ้น เพราะถูกเสียงผีโฆษณาสิง
เข้าจิตใจเด็กอยู่ทุกวี่ทุกวัน

สมัยนี้ นิยมฉายหนังโทรทัศน์กำลังภายในจีน
เด็กดูแล้วก็เลียนแบบ บางรายเอา
มีดในครัวมาเล่นถึงกับทำร้ายน้องๆ
หรือเพื่อนบาดเจ็บสาหัสไปก็มี
มีรายหนึ่งเอามีดไปเล่นที่โรงเรียน
ถึงกับไปแทงเพื่อนตาย

กรณีนี้เด็กหลงใหลในหนังมากเกินไป
และนึกว่าเป็นจริงไป
ผู้ใหญ่จึงควรให้เด็กเข้าใจว่า
นิยายต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาเป็นเรื่องไม่จริง
อยู่หลายอย่าง บางทีก็ควรปล่อยให้เด็ก
สนุกสนานกับนิทานนิยายที่เป็นไปไม่ได้
ในโลกตามความเป็นจริง แต่ก็ระวัง
อย่าให้เด็กหลงใหลอย่างงมงายไป

โดย : อาจารย์บุษกร เมธางกูร - [6 พ.ย. 2544 , 20:19:06 น.]

     ข้อความ





วิธีอบรมให้เด็กวัยนี้

ให้มีวิถีจิตบุญได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง
คือการเล่านิทานแฝงคติให้แก่เด็ก
ทำให้เด็กจดจำคติธรรมต่างๆ ได้แม่นยำ

เด็กวัย ๗ - ๑๑ ขวบ เป็นเด็ก
ตอนกลาง (Middle Childhood)
วันนี้เด็กมักใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียน
ซึ่งก็สอดคล้องกับภาวะจิตใจของเด็ก
ซึ่งมีความสามารถพร้อมที่จะเรียนรู้วิชาต่างๆ

หลักพุทธจิตวิทยา ถือว่าเด็กตั้งแต่วัยอายุ ๗ ขวบขึ้นไป

วิถีจิตสามารถพัฒนาจนมีวิปัสสนา
ปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในแก่นแท้ความจริง
ของชีวิตทั้งให้ได้ ดวงตาเห็นธรรม
จนตรัสรู้เป็นพระอริยบุคคล เช่น
นางวิสาขาในสมัยพุทธกาลตรัสรู้ธรรมะ
เป็นอริยบุคคลเมื่ออายุ ๗ ขวบ
เด็กที่เป็นพระอริยุบคคล

ในหลักพุทธวิทยาศาสตร์ถือว่าเป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริง

เพราะคนที่เป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริงอยู่ที่มีปัญญา

อันประเสริฐที่ยิ่งใหญ่กว่าปัญญาทั้งหลาย

มิใช่อยู่ที่อายุ

คนแก่บางคนแม้จะอายุมาก
แต่เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยาใจคับแคบ
เอาแต่ความเห็นผิดของตนเป็นใหญ่
คนอายุมากเช่นนี้เป็นเด็ก บางทีถูกคนอื่น
ตั้งฉายาว่า เฒ่าทารก ที่เป็นเด็กเพราะยังอ่อนหัด
ด้านความรู้อันประเสริฐและอ่อนด้วยคุณธรรม


แต่คำว่าเด็กเพราะอายุน้อย ในที่นี้

เราใช้ในแง่สมมุติตามอายุสังขารโดยทั่วไป

วิถีจิตชนิดอกุศลสามารถเกิดแก่เด็กวัยนี้

เพิ่มพูนมากกว่าเดิมเนื่องจากด้านจิตใจ

ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ย่อมมีอิทธิพลต่อ

ความรู้สึกนึกคิดยังให้เกิดมโนกรรม

เพิ่มขึ้น ส่วนด้านร่างกาย

ความเจริญเติบโตของร่างกาย กล้ามเนื้อ

เป็นไปอย่างดี ทำให้เด็กมีความว่องไว

สามารถยืน เดิน นั่ง หรือลุกขึ้น

ได้อย่างคล่องแคล่ว นี่ก็เป็นเหตุผล

ที่ทำให้วิถีจิตสั่งให้เกิดกายกรรม

คือการกระทำทางกายเพิ่มมากกว่าเดิม

ส่วนวาจา การเรียนภาษา และสิ่งสมมุติ

ต่างๆ ย่อมเพิ่มมากขึ้น เพราะรู้จักอ่านหนังสือ

ฟังผู้อื่นพูดจา ทำให้วิถีจิตใจสั่งสมความหมาย

ศัพท์ต่างๆ มากขึ้น พูดคล่องขึ้น คือเกิดวจีกรรม

มากขึ้น


อ.บุษกร เมธางกูร.

โดย : อาจารย์บุษกร เมธางกูร - [6 พ.ย. 2544 , 21:31:04 น.]


     ข้อความ

วิถีจิตบาป ที่ทำให้เกิดกายอกุศลกรรม
วจีอกุศลกรรม และมโนอกุศลกรรม
สำหรับเด็กวัย ๗ - ๑๑ ขวบมีดังนี้
ด้านกายอกุศลกรรม เด็กผู้ชายก็มีการเล่นกีฬา
เล่นเกมต่างๆ วิถีจิตที่สั่งให้ออกกำลังกายนี้
มักเป็นพวกโลภมูลจิต คือจิตที่มีความยินดีติดใจ
โดยทั่วไป แม้จะถือว่าเป็นอกุศล
แต่เป็นบาปเล็กน้อย ไม่ถึงขึ้นทุจริต
ผู้ใหญ่ไม่ควรไปกีดกัน เว้นแต่เมื่อเด็ก
มัวเอาแต่เล่นจนเกินไป ไม่เอาใจใส่
ในการเล่าเรียน ส่วนเด็กบางคนได้สั่งสม
วิถีจิตอกุศลที่มีทัศนะคติผิดๆ
ทำให้เกิดอกุศลทุจริตกรรมอันเป็นภัย
ต่อชีวิตเด็กในอนาคต
เช่น ดูทีวี จำตัวอย่างที่ไม่ดีมา

คิดว่าเป็นการเก่งกาจถ้าหากได้ไปรังแกผู้อื่น
ให้เสียหาย ทำให้เด็กผู้นั้นชอบไปรังแกเด็กผู้อื่น

เช่น เอาก้อนหินไปขว้างเด็กคนอื่นให้บาดเจ็บ
หรือไปขว้างข้าวของผู้อื่นเสียหาย

กรณีนี้ผู้ใหญ่ควรต้องอบรมสั่งสอนให้ดี
ควรพยายามให้เด็กยอมรับถึงการกระทำที่
อันธพาล อันยังก่อผลเสียต่อจิตใจ
และชีวิตในวัยเด็ก

พยายามให้เหตุผลแก่เด็ก
ไม่ใช่มุ่งแต่การใช้กำลัง
การเคี่ยวเข็ญบังคับจิตใจเด็ก
บางทีเด็กอาจอึดอัด ต่อต้านในใจ
ทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว
ที่รุนแรงกับผู้อื่นภายหลัง เด็กบางคนชอบ
ไปฆ่ามด ยิงนก ตกปลา เพื่อความสนุกสนาน

การฆ่าสัตว์ เป็นการสั่งสมเจตนาทำลายชีวิตไว้ในใจตนเอง ย่อมไม่เป็นผลดีแก่จิตใจเด็ก

เช่น ยังให้เด็กฝันร้าย เวลาพบปัญหาอะไรที่แก้ไม่ตก อำนาจทำลายชีวิตที่ตนสั่งสมไว้
อาจมาดลใจให้ฆ่าตัวตาย

ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้แก่เด็ก
มีคุณพ่อผู้หนึ่ง มียศเป็นร้อยเอก สอนลูก
ของตนไม่ให้ตบยุงบอกลูกว่า

“การดูดเลือดนั้นเป็นอาชีพของยุง สงสารมันเถอะลูก
อย่าไปตบมันเลย อาชีพของมัน
เสี่ยงภัยอันตรายต่อชีวิตมากเหลือเกิน”
จะไม่เสี่ยงภัยได้อย่างไร
เพียงซัดฝ่ามือเบาๆ ยุงมันก็ต้องแบนแตดแต๋แล้ว


เด็กบางคนเกิดไปทำทุจริตกายกรรม
ด้วยการไปขโมยของผู้อื่น เช่น
ไปขโมยเด็ดมะม่วง ผลไม้อื่นๆ
อาจมาจากการสั่งสมวิถีจิตโลภะ
หรืออยากได้เกินไป จนอยากได้ของผู้อื่น
บางทีก็เกิดจากต้องการแก้แค้น หรืออิจฉา

เมื่อเด็กขโมยของผู้อื่นมา ผู้ปกครองควร
อธิบายให้เด็กเข้าใจว่า ของนั้นมีเจ้าของ
เอาไม่ได้ เป็นบาปกรรม

ผู้อื่นมาขโมยของตนดีไหม
เด็กก็จะตอบว่าไม่ดี ผู้ปกครองควรแนะนำ
ให้เด็กเอาของไปคืนเจ้าของ จนเด็กเห็นดีด้วย
และผู้ปกครองพาไปด้วย ไม่ควรคืน
ต่อหน้าเด็กหลายๆ คนนะค่ะ

ถ้าเด็กยังขโมยอีก ก็พยายามให้เด็กรู้สึก
ในความผิดของตน และให้เข้าใจถึงการ
ที่จะต้องถูกลงโทษเด็ก เช่น ตีมือ
ให้ยืนกางแขน และให้เด็กพูดว่า ต่อไปนี้

“จะไม่ขโมยของคนอื่นอีก
เพราะขโมยเป็นบาป

ไม่มีใครชอบ ให้ผลเป็นทุกข์แก่ตนเอง”

มีผู้ใหญ่บางคนโลภมาก ให้ท้ายเด็ก
เมื่อเด็กขโมยมา เด็กก็นึกว่าดี
เด็กเลยพอกพูนนิสัยขโมย
เมื่อเติบโตขึ้นอาจเป็นอาชญากรไป
ติดคุกติดตะรางไป



ด้านวจีอกุศลกรรม

เด็กบางคนมีวาจาทุจริต เช่น พูดเท็จ

พูดคำหยาบๆ ด่าคนอื่นกรณีที่เด็กพูดเท็จ
อาจเนื่องมาจากต้องการปกปิดความผิด

กลัวถูกลงโทษ เลียนแบบผู้ใหญ่ ถูกคนอื่นชักจูง
หรือหวังให้คนชม ผู้ปกครองควรอธิบาย
ให้เด็กเข้าใจ โทษของการพูดเท็จ

ให้รู้คุณค่าของการพูดคำจริง ฝึกให้เด็ก
มีความเชื่อมั่นตนเองและกล้าที่จะเผชิญกับความจริง

บางครั้งผู้ปกครองก็ควรชมเชย หรือให้กำลังใจ
เมื่อเด็กกล้าแสดงออก กล้าพูดความจริงออกมา

ด้านมโนอกุศลกรรม ความรู้สึกนึกคิด
การสั่งสมค่านิยมผิดๆ ย่อมทำให้เกิดมโนอกุศลกรรม

ตัวอย่างเช่น สั่งสมความคิดว่า ดื่มเหล้า
สูบบุหรี่เป็นของดี ไม่เสียหาย เพราะอาจ
ได้เห็นผู้ใหญ่ หรือโฆษณาทางทีวี โรงหนัง
สั่งสมความคิดว่าบุญบาปไม่มี
เป็นเรื่องสมมุติ
คนรักษาศีล มีธรรมเป็นคนโง่ ฯลฯ


ความคิดผิดๆ เหล่านี้ย่อมทำให้เด็กมีความรู้สึก
นึกคิดในแง่อกุศลที่อันตรายต่อตัวเองและสังคม


วิถีจิตบุญที่ทำให้เกิด กุศลกรรม ๓ คือ

กายกุศลกรรม วจีกุศลกรรม และมโนกุศลกรรม
สำหรับเด็กวัย ๗ - ๑๑ ขวบ มีดังนี้นะค่ะ

ด้านกายกุศลกรรม การที่ผู้ปกครองสอน

ให้เด็กรู้จักไหว้พระ ไหว้ผู้ใหญ่หรือครู

นำอาหารถวายพระ รู้จักช่วยเหลืองานบ้าน

แบ่งเบาภาระคุณแม่ ช่วยป้อนอาหารให้น้องฯลฯ

ย่อมทำให้เกิดกุศลกายกรรมขึ้นมา

ผู้ปกครองที่ฉลาดย่อมไม่เพียงแต่ให้เด็ก

มีกายกรรมเฉยๆ ยังควรให้เด็กรู้คุณค่าของการ

ประกอบกายกุศลกรรมด้วย

ด้านวจีกุศลกรรม

การที่ผู้ปกครองสอนให้เด็ก

รู้จักพูดคำสุภาพ อ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ

กล้าพูดด้วยความกล้าหาญ เข้มแข็ง

แต่ไม่แข็งกระด้าง รู้จักใช้คำพูดหวาน

ขานมีหางเสียงด้วย คะ ขา ครับ

ไม่ใช่มึงมาพาโวย ขึ้นกู ขึ้นไอ้

สอนให้เด็กสวดมนต์ แผ่เมตตาก่อนนอน

นอกจากนี้ ครูที่สอนรู้จักพูดจา มีสัมมาวาจา

สิ่งเหล่านี้ย่อมมีส่วนทำให้เด็กเกิดการกระทำ

ทางวาจาที่เป็นบุญวจีกุศลกรรม


ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ควรใช้หลัก

การพูดที่ดี ตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้คือ

ให้รู้จักพูดคำจริง มีประโยชน์สุภาพไม่

หยาบคาย ประกอบด้วยเมตตา และรู้จักกาลเทศะ

อบรมให้เด็กฝังจิตฝังใจในหลักการพูดที่ดีนี้

เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเก่งแต่พูด แต่ไม่ทำ

หรือไม่จริงใจ หรือว่าเอาแต่พูดมากจน

ไม่รู้จักกาละเทศะ หรือดีแต่พูด ไม่ใช่พูดแต่ดี

ด้านมโนกุศลกรรม การอบรมบ่มนิสัยของเด็ก

ให้ดีงามย่อมเป็นสิ่งประเสริฐเลิศล้ำยิ่งกว่าสิ่งใด

หากผู้ปกครองเด็กถือคติเช่นนี้

ย่อมเป็นการเปิดทางให้เด็กเดินบนถนนกุศล

มีสายทางของกุศลวิถีจิต ปัจจุบันนี้

มีพ่อแม่ที่ยังไม่เห็นการณ์ไกล

ในอนาคตของลูกมักไม่ให้เวลาสอนลูก

ให้แต่เงิน สิ่งของอย่างเดียว วิธีสอนลูก

ไม่ใช่จะเจาะจงเทศนาจนให้ลูกเคลิบเคลิ้ม

จนหลับไป การปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดี

เช่นไม่คดโกง ไม่ไปดูถูกคนอื่น

ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่อิจฉาตาร้อน

ไม่หลงความหรูหรา ฟุ่มเฟือย ดื่มเหล้าเมายา

ทะเลาะเบาะแว้ง พูดจาหยาบคาย

นอกจากนี้ยังรู้จักสอดส่องการคบเพื่อนของลูก

คนเราจะเสียจนต้องติดคุก ถูกประหารชีวิต

มักมาจากคบเพื่อนชั่ว เพื่อนพาล ดังนั้น

ผู้ปกครองควรเข้มงวดให้ลูกตน

เว้นจากการคบคนพาล เพราะจะพาลไปหาผิด

ถ้าประสงค์ให้ลูกมีชีวิตเป็นมงคล

ต้องปฏิบัติตามพุทธพจน์ที่ว่า

เว้นจากการคบคนพาลเป็นมงคลอย่างยิ่ง

และให้ลูกตนรู้จักคบกับบัณฑิต

คือผู้ที่งดงาม ทางกาย วาจา และใจ

และที่สำคัญก็คือ ผู้ปกครองควรศึกษา

พุทธจิตวิทยาประยุกต์ว่าด้วยศิลปการอบรมลูก

ไม่ใช่ใช้โทสะจิต คอยดุด่าลูก

มีปัญญาไหวพริบในการชักจูงใจเด็ก

ให้ทำความดีไม่ใช่ไปเขี่ยวเข็น

บังคับสร้างความอึดอัดใจให้แก่เด็ก เป็นต้น

 อ.บุษกร เมธางกูร

โดย : อาจารย์บุษกร เมธางกูร - [6 พ.ย. 2544 , 21:43:22 น.]

     ข้อความ

ปัจจัยทั้งในนอก
ที่บ่งบอกพฤติกรรม
กายใจวจีนำ
ย่อมกำหนดปรากฏเป็น......


ขอบคุณมากค่ะ ทำให้เข้าได้ดีมากค่ะ

โดย : ดอกสารภี [7 พ.ย. 2544 , 05:09:09 น.]


     ข้อความ

ติดตามมาถึงตอนนี้ได้นำประโยชน์ไปอบรมลูกได้พอดีเลยค่ะ ยิ่งเห็นสื่อทางโทรทัศน์ในช่วงนี้ มักจะบอกลูกว่า"แม่ว่าเรื่องนี้เด็กไม่ควรดูเลยนะ พูดก็หยาบคาย แต่งตัวก็ไม่น่าดูเลย " แต่เขาก็พิจารณาและบอกว่าแม่นี่ละครนะ เขาแยกออกได้ว่ามันคืออะไร (ก็แม่อยากประเมินความคิดลูกดูไง..)คิดดีก็จะได้สบายใจ

โดย : อัญชลี ส. [7 พ.ย. 2544 , 11:51:38 น.]


     ข้อความ


โดย : goog [7 พ.ย. 2544 , 14:50:01 น.]

     ข้อความ

ผมว่าละครโทรทัศน์เดี๋ยวนี้ เอาใจตลาดล่างมากเกินไป ล่อแหลมต่อเด็กมาก พระเอกกว่าจะลงเอยกับนางเอกต้องฉุดกระชากลากถูไปข่มขืน
ตัวอิจฉาด่ากัน ด้วยประโยคที่หยาบๆคายๆ เอาสะใจคนดูกลุ่มตลาดล่างเป็นหลัก แล้วก็ผลิตออกมา
เลียนแบบกันแทบทุกช่อง น่าเป็นห่วงอนาคตของชาติจริงๆครับ แม้หนังจะแสดงความร่ำรวยของพระเอกหรือนางเอกโดยดูจากบ้านช่องที่ใหญ่โต
รโหฐานปานใด แต่ศีลธรรมของตัวละครหาแทบไม่มีจริงๆ เศร้าครับ...

โดย : ปิ่น [7 พ.ย. 2544 , 14:56:41 น.]
เรียนเชิญแสดงความคิดเห็น

ศึกษาพระอภิธรรมออนไลน์ ข่าวสาร-กิจกรรม
สมุดเยี่ยม แหล่งค้นหา แหล่งธรรมะ กรรมฐาน


จัดทำโดย มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ
ศีล สมาธิ ปัญญา... หนทางสายเอก...