ห้องเรียนภาษาไทย
โรงเรียนแม่ปะวิทยาคม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

วรรณคดี
ความรู้ทั่วไปที่เกี่ยวกับวรรณคดีและประวัติ
ความหมายของวรรณดี
	วรรรณคดีเป็นคำที่บัญญัติเพื่อใช้แทนคำ Literture ในภาษาอังกฤษ
ปรากฏครั้งแรกในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๔๕๗ ในรัชสมัย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
	คำว่าวรรณคดี ประกอบขึ้นจากคำว่า "วรรณ"ซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต
แปลว่า "หนังสือ"ส่วนคำว่า "คดี" เป็นคำเกี่ยวกับ "คติ" ซึ่งเป็นคำบาลีสันสกฤต แปลว่า"เรื่อง"ตามรูปศัพท์
               วรรณคดี แปลว่า "เรื่องที่แต่งเป็นหนังสือ"  ตามคำที่เข้าใจกันทั่วไปหมายความว่า"หนังสือที่แต่งดี"  วรรณคดี แปลว่า"เรื่องที่แต่งเป็นหนังสือ" มีความหมายตรงกันคำว่า Literature ในภาษาอังกฤษ แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้คำจำกัดความของวรรณคดีว่า "หนังสือที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดี"

พระราชกฤษฎีการจัดตั้งวรรณคดีสโมสร กล่าวว่า

๑. เป็นหนังสือดี กล่าวคือ เป็นเรื่องที่สมควรซึ่งสาธารณชนจะอ่านได้โดยไม่เสียประโยชน์ คือไม่เป็นเรื่องที่ชักจูงความคิดผู้อ่านไปในทางอันไม่เป็นแก่นสาร ซึ่งจะชวนให้คิดวุ่นวานทางการเมืองอันเกิดเป็นเรื่องรำคาญแก่รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (เพราะคนรู้น้อยอาจจะไขว้าเขวได้)

๒. เป็นหนังสือแต่งดี ใช้วิธีเรียบเรียงอย่างใด ๆ ก็ตามแต่ต้องให้เป็นภาษาไทยอันดี ถูกต้องตามเยี่ยงที่ใช้ในโบราณกาลหรือปัจจุบันกาลก็ได้ ไม่ใช้ภาษาต่างประเทศ (เช่น ใช้ว่า ไปจับรถ แทน ไปขึ้นรถ และ มาสาย แทน มาช้า ดังนี้เป็นตัวอย่าง)

        พระยาอนุมานราชธน เสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน). การศึกษาวรรณคดีไทยในแง่วรรณศิลป์. (กรุงเทพมหานคร: บรรณคาร, ๒๕๑๘)

วรรณคดี คือ ความรู้สึกนึกคิดของกวี ซึ่งถอดออกมาจากจิตใจให้ปรากฎเป็นรูปหนังสือ มีถ้อยคำเหมาะเจาะเพราะพริ้ง เร้าใจให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเกิดความรู้สึก

     พระวรเวทย์พิสิฐ พระวรเวทย์พิสิฐ, วรรณคดีไทย (กรุงเทพมหานคร : คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์)

วรรณคดี คือ หนังสือที่มีลักษณะเรียบเรียงถ้อยคำเกลี้ยงเกลาเพราะพริ้งมีรสปลุกมโนคติ (imagination) ให้เพลิดเพลิน เกิดกระทบกระเทือนอารมณ์ต่าง ๆ เป็นไปตามอารมณ์ของผู้ประพันธ์

      วิทย์ ศิวะศริยานนท์ วิทย์ ศิวะศริยานนท์ , วรรณคดีและวรรณคดีวิจารณ์ พิมพ์ครั้งที่ ๔. (พระนคร : สมาคมภาษาและหนังสือ ๒๕๑๔.)

บทประพันธ์ที่เป็นวรรณคดี คือ บทประพันธ์ที่มุ่งให้ความเพลิดเพลิน ให้เกิดความรู้สึกนึกคิด (imagination) และอารมณ์ต่าง ๆ ตามผู้เขียน นอกจากนี้บทประพันธ์ที่เป็นวรรณคดีจะต้องมีรูปศิลปะ (form)

เท่าที่กล่าวมาแล้วพอสรุปได้ว่าวรรณคดี คือ เรื่องที่มีลักษณะดังนี้

๑. ใช้ถ้อยคำสำนวนโวหารไพเราะสละสลวย

๒. ก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ

๓. ยกระดับจิตใจให้สูง

๔. ใช้เป็นแบบแผนในการแต่งได้

การแบ่งประเภทวรรณคดีตามเกณฑ์ต่าง ๆ 

วรรณคดีไทยอาจแบ่งตามเกณฑ์ต่าง ๆ ได้ดังนี้

แบ่งตามความมุ่งหมาย แยกได้ ๒ ประเภท คือ ๑. สารคดี ๒. บันเทิงคดี

แบ่งตามลักษณะที่แต่ง แยกได้ ๒ ประเภท คือ ๑. ร้อยแก้ว ๒. ร้อยกรอง

แบ่งตามลักษณะการจดบันทึก แยกได้ ๒ ประเภท คือ

๑. วรรณคดีลายลักษณ์อักษร ๒. วรรณคดีที่ไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร

สารคดี คือ หนังสือที่มุ่งให้ความรู้แก่ผู้อ่านเป็นสำคัญแต่ในขณะเดียวกันก็ใช้กลวิธีการเขียนให้เกิดความบันเทิงเป็นผลพลอยได้ไปด้วย

บันเทิงคดี คือ หนังสือที่มุ่งให้ความสนุกเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านมากกว่าความรู้ แต่อย่างไรก็ดี บันเทิงคดีย่อมมีเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญแทรกอยู่ด้วยในรูปของคติชีวิตและเกร็ดความรู้

ร้อยกรอง หมายถึง ความเรียงที่ใช้ภาษาพูดตามธรรมดา แต่มีรูปแบบโดยเฉพาะและมีความไพเราะเหมาะเจาะด้วยเสียงและความหมาย

ร้อยกรองอาจเรียกว่า คำประพันธ์ กาพย์กลอน หรือ กวีนิพนธ์ ก็ได้ ร้อยกรองแต่เป็นกลอน โคลง ร่ายกาพย์และฉันท์

วรรณคดีลายลักษณ์อักษร ได้แก่ วรรณคดีที่บันทึกไว้เป็นหนังสืออาจเป็นตัวจารึก ตัวเขียน หรือตัวพิมพ์ก็ได้

วรรณคดีที่ไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ วรรณคดีที่บอกเล่าจดจำสืบต่อกันมา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วรรณคดีมุขปาฐะ เช่น เพลงพื้นเมือง บทเห่กล่อม นิทานพื้นบ้าน ปริศนาคำทาย

การแบ่งประเภทวรรณคดีดังกล่าวอาจคาบเกี่ยวกันได้ สารคดีโดยทั่วไปมักแต่งเป็นร้อยแก้ว แต่อาจแต่งเป็นร้อยกรองก็ได้ บันเทิงคดีอาจแต่งเป็นร้อยกรองหรือร้อยแก้วก็ได้

ร้อยแก้ว อาจแต่งเป็นสารคดีหรือบันเทิงคดี โดยมีรูปแบบต่าง ๆ 

สารคดี เช่น บทความหรือความเรียง หนังสือสารคดี ตำรา บันทึก จดหมายเหตุ รายงาน พงศาวดาร ตำนาน ปาฐกถา คำสอน

บันเทิงคดี เช่น เรื่องสั้น นวนิยาย บทละครพูด นิทาน นิยาย

ร้อยกรอง อาจแต่งเป็นสารคดีและบันเทิงคดี ส่วนมากเป็นบันเทิงคดี โดยอาจแบ่งรูปตามชนิดของ คำประพันธ์ หรือลักษณะของเนื้อเรื่อง

    ร้อยกรอง คือ บทประพันธ์ที่แต่งให้มีสัมผัสของคำเชื่อมโยงกัน โดยมีคณะของคำตามหลักที่กำหนดไว้ในฉันทลักษณ์หรือตำรากลอนต่าง ๆ เช่น มีครุ ลหุ เอก โท เป็นต้น

รูปแบบของร้อยกรอง

วรรณคดีที่เป็นร้อยกรอง (กาพย์กลอนของไทย) ได้เจริญเรื่อยมา และแบ่งตามรูปแบบคำประพันธ์ที่ใช้แต่งเรื่องนั้น ๆ ได้ดังนี้

๑. คำหลวง เป็นเรื่องที่พระมหากษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูงในพระราชวงศ์ทรงแต่ง หรือ ทรงเกี่ยวข้องในการแต่ง ไม่จำกัดรูปแบบคำประพันธ์ แต่ต้องเป็นเรื่องที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องที่
เกี่ยวกับศีลธรรมจรรยา เท่าที่ปรากฏชื่อในวรรณคดีมีอยู่ ๔ เรื่อง คือ มหาชาติคำหลวง, 
นันโทปนันทสูตรคำหลวง, พระมาลัยคำหลวง และพระนลคำหลวง

๒. คำฉันท์ ได้แก่ วรรณคดีที่แต่งเป็นฉันท์ชนิดต่าง ๆ มักมีกาพย์บางชนิดปนอยู่ด้วย เช่น สมุทรโฆษคำฉันท์, สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นต้น

๓. คำโคลง ได้แก่ วรรณคดีที่แต่งเป็นโคลงคั้นหรือโคลงสี่สุภาพ เช่น โคลงนิราศนรินทร์ 
เป็นต้น

๔. คำกลอน วรรณคดีที่แต่งเป็นคำกลอนชนิดต่าง ๆ ได้แก่ กลอนสุภาพ, กลอนเสภา, 
กลอนบทละคร, กลอนหก เช่น พระอภัยมณี, เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นต้น

๕. คำกาพย์ ได้แก่ วรรณคดีที่แต่งเป็นกาพย์ยานี กาพย์ฉบัง, กาพย์สุรางคนางค์ เช่น กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา เป็นต้น

๖. กาพย์ห่อโคลง กาพย์เห่เรือ ได้แก่ วรรณคดีที่แต่งด้วยโคลงและกาพย์ เช่น กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง, กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ เป็นต้น

๗. ร่ายยาว ได้แก่ วรรณคดีที่แต่งเป็นร่ายยาว เช่น ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก เป็นต้น

๘. ลิลิต ได้แก่ วรรณคดีที่แต่งโดยใช้โคลงและร่ายปนกัน รับสัมผัสคำแบบลิลิต เช่น ลิลิตพระลอ, ลิลิตตะเลงพ่าย, ลิลิตนิทราชาคริต เป็นต้น

นอกจากแบ่งตามลักษณะคำประพันธ์แล้ว ยังแบ่งตามเนื้อเรื่อง เช่น นิราศ, เพลงยาว, นิทานคำกาพย์, นิทานคำกลอน, คำสอน เป็นต้น

บทละคร คือ เรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อการแสดงบนเวที

รูปแบบของบทละคร

๑. บทละครรำ เป็นบทละครแบบเดิมของไทย ได้แก่ บทละครเรื่องอิเหนา, รามเกียรติ์,
 สังข์ทอง เป็นต้น

๒. บทละครแบบตะวันตก ได้แก่ บทละครพูดเรื่องหัวใจนักรบ บทละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้า, บทละครคำฉันท์เรื่องมัทนะพาธา เป็นต้น

วรรณคดีไทยแบ่งสมัยการแต่งได้ดังนี้

๑. วรรณคดีสมัยสุโขทัย (พ.ศ. ๑๘๐๐-๑๙๒๐)

๒. วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ. ๑๘๙๓-๒๐๗๒)

๓. วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนกลาง (ยุคทองของวรรณคดี) พ.ศ. ๒๑๖๓-๒๒๓๑

๔. วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนปลาย พ.ศ. ๒๒๙๕-๒๓๑๐

๕. วรรณคดีสมัยธนบุรี พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๒๕

๖. วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๒๕-ปัจจุบัน

เนื่องจากการแต่งวรรณคดี มักจะมีส่วนสัมพันธ์กัน ประวัติศาสตร์และสภาพสังคมในยุคสมัยนั้น ๆ เพราะฉะนั้นการอ่านวรรณคดีให้ได้คุณค่าอย่างแท้จริง จำเป็นจะต้องเรียนประวัติวรรณคดีประกอบด้วย ซึ่งต้องพิจารณาถึงประเด็นสำคัญของวรรณคดี ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

๑. ผู้แต่ง รวมถึงชีวประวัติและผลงานสำคัญ

๒. ที่มาของเรื่อง ได้แก่ เรื่องที่เป็นต้นเค้า อาจจะได้รับอิทธิพลภายในประเทศ หรือที่ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ

๓. ความมุ่งหมายที่แต่ง ได้แก่ ความบันดาลใจหรือความมุ่งหมายของผู้แต่งในการแต่งวรรณคดีนั้น ๆ 

๔. วิวัฒนาการและความสัมพันธ์ต่อเนื่องระหว่างวรรณคดีแต่ละสมัย

๕. สภาพสังคมในสมัยที่แต่ง ซึ่งได้แก่ วัฒนธรรม สภาพสังคม และเหตุการณ์ของ
บ้านเมืองในระยะเวลาที่แต่ง

๖. อิทธิพลที่วรรณคดีมีต่อสังคมทั้งในสมัยที่แต่งและในสมัยต่อมา

ดร. สิทธา พินิจภูวดลได้กล่าวไว้ในหนังสือความรู้ทั่วไปทางวรรณกรรมไทย ถึงเรื่องการศึกษาวรรณคดีในแนวประวัติ มีดังนี้

๑. เพื่อให้ทราบต้นกำเนิดของวรรณคดีว่า วรรณคดีแต่ละเล่มเกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดในสมัยใด และวรรณคดีอื่น ๆ ในสมัยนั้นมีลักษณะที่เกิดขึ้นมาอย่างเดียวกันหรือไม่

๒.เพื่อให้ทราบวิวัฒนาการของสติปัญญาของชาติ พลังปัญญาของบุคคลในชาติ จะแสดงออกมาในรูปของศิลปกรรมประเภทต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งวรรณกรรมด้วย คนจะแสดงพลังปัญญาในการนำเรื่องราวทางการเมือง การทหาร การรบพุ่งปราบปรามศัตรู และอื่น ๆ มาเรียบเรียงร้อยกรองเป็นบทเพลงหรือบทประพันธ์ แทนการเล่าเรื่องอย่างธรรมดา ๆ คนที่มีความสามารถจะหาทางออกในแนวแปลกงดงามและมีผลดี วรรณคดีที่มีแนวต่าง ๆ กันเป็นผลของการแสดงพลังปัญญาของบุคคลในชาติ

๓. เพื่อให้รู้จักเหตุการณ์ที่มีอิทธิพลต่อวรรณคดี วรรณคดีเป็นผลงานกวี กวีในแต่ละยุคแต่ละสมัยย่อมมีชีวิตความเป็นอยู่ต่างกัน มีแนวคิดต่างกัน มีเหตุการณ์ในยุคสมัยของตนแตกต่างกันไปด้วย เช่น คนไทยในยุคสุโขทัยระยะหลังได้รับความร่วมเย็นเป็นสุขอย่างเต็มที่ เอาใจใส่ในศาสนาและวรรณกรรม ศิลาจารึกในยุคนั้นจึงมีเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนามาก เหตุการณ์ต่าง ๆ ในบ้านเมืองหรือ ในสังคมย่อมสัมพันธ์กับเรื่องราวในวรรณคดี การศึกษาประวัติวรรณคดี จะทำให้เข้าใจ ตัววรรณคดี ชัดเจนยิ่งขึ้น และเข้าใจกวีว่าเหตุใดจึงแต่งวรรณคดีชนิดนั้น เช่น เหตุใดวรรณกรรมไทยในยุคปลายสุโขทัย จึงเป็นแต่ประเภทวรรณกรรมศาสนาเท่านั้น เป็นต้น

๔. เพื่อให้รู้จักผู้แต่งวรรณคดี ว่ากวีคือใคร มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร อะไรเป็นเหตุทำให้เขาแต่งเรื่องเช่นนั้น เช่น เราต้องการทราบประวัติชีวิตของสุนทรภู่ พยายามสืบค้นว่าสุนทรภู่มีบิดามารดา ชื่ออะไร อาชีพอะไร เกิดที่เมืองไหน ครอบครัวของสุนทรภู่มีใครบ้าง อะไรทำให้สุนทรภู่เขียนลงไปว่า อนิจจาตัวเราก็เท่านี้ ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย…… สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้ผู้ศึกษาวรรณคดีรู้จักวรรณคดีลึกซึ้งขึ้นทั้งสิ้น ในบางยุคสมัยผู้แต่งวรรณคดีจะเป็นคนในราชสำนักเป็นส่วนมาก ดังที่ปรากฏอยู่ในยุคสุโขทัยเรื่อยลงมาจนถึงอยุธยา และต่อมาจนถึงยุคต้นรัตนโกสินทร์ ประวัติวรรณคดีจะทำให้เราเข้าใจแนวสร้างวรรณคดีของเรา
       
         สิทธา พินิจภูวดล, ความรู้ทั่วไปทางวรรณกรรมไทย (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๐), หน้า ๖๒-๖๖.
มีปัญหาติดต่อWEBMASTER =nuanphun_6@yahoo.com