สวัสดีครับ...
     สาระน่ารู้ด้านแรงงาน จะนำเสนอท่านผู้สนใจเป็นประจำที่หน้านี้ี้ครับ เราจะสรรหาเรื่องราวที่น่าสนใจนำมาลงให้ท่านได้ทราบกันหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ ครับ  สำหรับครั้งแรกนี้ขอเสนอเรื่อง"วินัยในการทำงาน"

     นายจ้างมักจะบ่นให้ฟังเสมอๆ ว่าลูกจ้างไม่ค่อยมีวินัย ที่เป็นเหมือนกันเกือบทุกแห่งคือ ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่บอกล่วงหน้า นายจ้างควบคุมการมาทำงานของลูกจ้างไม่ได้ กำหนดวัน เวลาทำงานของลูกจ้าง แต่ลูกจ้างไม่ปฏิบัติตาม  นายจ้างที่อุดรธานีเรียกร้อง"วินัยในการทำงาน"จากลูกจ้างมากครับ เรามารู้จักวินัยในการทำงานกันดีกว่า

วินัยคืออะไร?
     วินัย
หมายถึง ข้อกำหนดเพื่อควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ในกลุ่มชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งๆ เช่น กลุ่มชนในโรงเรียน  ในโรงงาน กลุ่มตำรวจ กลุ่มทหาร ประชาชนในเทศบาลหนึ่ง ประชาชนในจังหวัด ประชาชนในประเทศหนึ่งๆ หรือ กลุ่มชนในสังคมโลก แต่ละกลุ่มต่างมีข้อกำหนดให้สมาชิกในกลุ่มต้องยึดถือปฏิบัติ
     ข้อกำหนด  อยู่ในรูปแบบต่างๆหลายประเภท  เช่น กฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ประกาศ ข้อบังคับ ข้อกำหนด แนวปฏิบัติ ข้อห้าม(ศีล) ประเพณี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้รวมเรียกว่า วินัย
     วินัย(ข้อกำหนด) จะมี 2 ลักษณะ คือ ข้อห้ามไม่ให้ปฏิบัติ  และ ข้อที่ต้องปฏิบัติ เช่น ห้ามฆ่าคน ห้ามจอดรถในที่ห้ามจอด ห้ามมาทำงานสาย นักเรียนต้องแต่งเครื่องแบบ ลูกจ้างต้องซื่อสัตย์สุจริต เป็นต้น นี่คือความหมายของคำว่าวินัยอย่างละเอียด ท่านอ่านจบวรรคนี้แล้วต้องอธิบายได้ว่า วินัยคืออะไร ถ้าท่านไม่เข้าใจคำว่าวินัย หรือเข้าใจผิดๆ ท่านจะไม่เข้าใจคำว่า วินัยในการทำงาน หรอกครับ เพิ่มเติมให้อีกนิดครับว่า คนไม่มีวินัย คือคนที่ชอบแหกกฏ ฝ่าฝืนระเบียบ ฝ่าฝืนกฎหมายอะไรทำนองนี้แหละครับ

วินัยในการทำงาน
    
วินัยในการทำงาน หมายถึง ข้อกำหนดเพื่อควบคุมพฤติกรรมของลูกจ้าง นายจ้าง เกี่ยวกับการทำงาน เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบ คล่องตัวในการทำงาน เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน มีความปลอดภัยในการทำงาน มีความสงบสุขในวงการแรงงาน
    
รูปแบบของวินัยในการทำงาน
     1.กฎหมายแรงงาน เช่น นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ลูกจ้างทำผิดร้ายแรงไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชย เป็นต้น
     2.สัญญาจ้างแรงงาน เป็นข้อกำหนดที่นายจ้เาง ลูกจ้างตกลงกัน ต้องถือปฏิบัติต่อกัน
     3.ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เป็นวินัยหลักที่นายจ้างกำหนดขึ้นเพื่อให้ลูกจ้างถือปฏิบัติ
     4.ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เกิดจากการเจรจาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แล้วตกลงกันเ็ป็นข้อที่ยึดถือปฏิบัติ
     5.คำสั่งของนายจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย นายจ้างมีอำนาจสั่งลูกจ้างต้องปฏิบัติตาม
     6.ประกาศ เช่น นายจ้างประกาศวันหยุดตามประเพณี ลูกจ้างต้องถือปฏิบัติ
     7.ประเพณีปฏิบัติ โดยเฉพาะสถานประกอบการขนาดเล็กไม่เคยมีกฎระเบียบเป็นลายลักษณ์อักษร จะปฏิบัติต่อกันตามที่เคยทำมา ถือว่าเป็นระเบียบตามประเพณีที่เคยทำมา
     8.กฎต่าง ๆ เช่น กฎความปลอดภัย กฎว่าด้วยการใช้หม้อไอน้ำ
ยังมีข้อกำหนดให้นายจ้าง ลูกจ้างปฏิบัติ และข้อห้ามไม่ให้นายจ้าง ลูกจ้าง ้ปฏิบัติอีก ที่ถือว่าเป็นวินัยในการทำงาน ถ้าท่านนึกออกนั่นแหละครับ เป็นวินัยในการทำงานทั้งนั้น

     ตามที่กล่าวมา ถ้าท่านเป็นลูกจ้าง แล้วท่านไม่ปฎิบัติตามกฎหมายแรงงาน ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรืออื่นๆข้างต้น ถือว่า "ท่านไม่มีวินัยในการทำงาน" ครับ ผลที่ตามมาคือ งานขัดข้อง เพื่อนร่วมงานเ้ือือมระอา อาจถึงขั้นเกลียดขี้หน้า เพราะเป็นตัวถ่วงความเจริญ แต่ถ้าเราทำตามกฎระเบียบ ทุกอย่างจะไปตามปกติ ลื่นไหล คล่องตัว ร่วมมือ สามัคคี เข้าสู่เป้าหมาย อะไร อะไรก็ดีไปหมด ผมว่า เรามามีวินัยในการทำงานกันเถอะครับ

กลับหน้าแรก