ไนดาเรีย

CNIDARIANS

PHYLUM  CNIDARIA

 

                ไนดาเรีย  หรือ  ซีเลนเตอเรท  (coelenterates)  เป็นกลุ่มสัตว์ที่มีเนื้อเยื่อสองชั้น  ร่างกายมีสมมาตรแบบัศมี  ทางเดินอาหารมีลักษณะเป็นท่อ  มีปากแต่ไม่มีทวารหนัก  บริเวณรอบปากและหนวดมีนีมาโตซีส  (nematocyst)  เป็นโครงสร้างช่วยในการจับเหยื่อ  ไนดาเรียมีรูปร่าง  2 แบบ  คือ  โพลิป  (polyp)  และเมดูซา  (medusa)  รูปร่างแบบโพลิปมีลักษณะเป็นทรงกระบอก  ด้านปากมีหนวดเรียงรายกันอยู่รอบ  ด้านตรงข้ามแากเป็นฐานสำหรับยึดเกาะ  โพลิปบางพวกมีการสร้างสารจำพวกหินปูนเป็นฐานรองรับ  เช่น  ปะการัง  โพลิปส่วนใหญ่เกาะอยู่กับที่  หรืออาจเคลื่อนที่ไดโดยการขยับฐานส่วนรูปร่างแบบเมดูซา  มีลักษณะคล้ายร่ม  ด้านปากเว้ามีหนวดเรียงรายอยู่ตามขอบร่ม  สำหรับแมงกะพรุน  บริเวณรอบปากอาจมีส่วนยื่นออกไปคล้ายด้ามร่ม  ด้านตรงข้ามปากโค้งนูนและผิวเรียบ  ไนดาเรียที่มีรูปร่างแบบเมดูซาได้แก่  พวกแมงกะพรุน  และ  ไฮโดรซัวบางชนิด 

                ไนดาเรียสามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบไม่อาศัยเพศ  โดยการแตกหน่อและแบบอาศัยเพศ  บางพวกมีการสืบพันธุ์แบบสลับโดยการสืบพันธ์แบบไม่อาศัยเพศ  พบในระยะโพลิป  และสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศในระยะเมดูซาทุกชนิดอาศัยอยู่ในน้ำ  ส่วนใหญ่อยู่ในทะเล  สามารถจัดจำแนกออกได้เป็น  3  กลุ่มด้วยกันคือ

1.       ไฮโดรซัว  (Hydrozoa) 

ไฮโดรซัวเป็นไนดาเรียกลุ่มหนึ่งที่เรียกชื่อสามัญว่า  ไฮดรอยท์  มีจำนวนรวมกันประมาณ  3,000  ชนิด 

ส่วนใหญ่มีรูปร่างเป็นโพลิป  และส่วนน้อยมีรูปร่างเป็นเมดูซาบางชนิดอาศัยอยู่รวมกันเป็นโคโลนี  และมีรูปร่างหลายแบบภายในโคโลนีเดียวกัน  (pohymorphism)  การดำรงชีวิตอาจอยู่แบบเดี่ยวหรือโคโลนี  บางชนิดมีวงชีวิตแบบสลับ  (metagenesis)  ซึ่งมีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศในระยะโพลิป  และสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศในระยะเมดูซา

สมาชิกส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเล  และมีเพียงส่วนน้อยที่พบในแหล่งน้ำจืด  ตัวอย่างไฮดรอยท์ที่พบในทะเลได้แก่  ขนนกทะเล  ปะการังไฟ  แมงกะพรุนเหรียญ  เป็นต้น 

 

2.       ไซโฟซัว  (Scyphozoa)

ไซโฟซัวเป็นไนดาเรียอีกกลุ่มหนึ่ง  ที่มีรูปร่างเป็นเมดูซาคล้ายร่มเป็นส่วนใหญ่  ลักษณะของเมดูซาเป็นรูป

ด้วยครึ่งวงกลม  ตรงกลางทางด้านเว้าของร่มมีส่วนยื่นคล้ายด้ามร่ม  โดยมีปากอยู่ตรงกลาง  ที่ขอบร่มมีหนวดขนาดเล็กเรียงรายอยู่โดยรอบ  รอบปากมีส่วนยื่นออกไปจำนวน  4  อัน  หรือเชื่อมรวมกันคล้ายช่อดอกกะหล่ำ

เมดูซามีร่างกายประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่  และมีลักษณะล้ายก้อนวุ้นที่เคลื่อนที่ไปตามกระแสน้ำ  การ

สืบพันธุ์ส่วนใหญ่เป็นแบบอาศัยเพศ  บางชนิดมีวงชีวิตแบบสลับยระหว่างการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศกับแบบอาศัยเพศ  ไซโฟซัวส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเลได้แก่  แมงกะพรุนชนิดต่าง ๆ

 

3.       แอนโทซัว  (Anthozoa)

แอนโทซัวเป็นไนดาเรียกลุ่มใหญ่ที่สุด  ทุกชนิดมีรูปร่างเป็นโพลิปโดยไม่มีชนิดใดมีรูปร่างเป็นเมดูซาเลย 

บางชนิดดำรงชีวิตอยู่แบบเดี่ยว  บางชนิดเป็นโคโลนี  แต่จะไม่มีความแตกต่างกันของสมาชิกแต่ละตัวในโคโลนีเดียวกัน  แอนโทซัวไม่มีวงชีวิตแบบสลับการสืบพันธุ์เป็นได้ทั้งแบบไม่อาศัยเพศและอาศัยเพศ

แอนโทซัวเกือบทุกชนิดไม่เคลื่อนที่  บางพวกมีการสร้างหินปูนหรือสารจำพวกเขาสัตว์ออกมาเป็นฐานรอง

รับโพลิป  ตัวอย่างเช่น  ดอกไม้ทะเล  ปะการัง  ปะการังอ่อน  กัลปังหา  แส้ทะเล  และปากกาทะเล  เป็นต้น

                   3.1    ดอกไม้ทะเล  (Sea  anemone) 

ดอกไม้ทะเลเป็นไนดาเรียกลุ่มหนึ่งที่มีรูปร่างเป็นทรงกระบอกหรือโพลิป  ด้านหนึ่งเป็นฐานใช้สำหรับยืด

เกาะอีกด้านหนึ่งมีหนวดจำนวนมาก  ซึ่งมักเป็นจำนวนทวีคูณของ  6  จัดเรียงตัวเป็นแถวตามแนวรัศมีคล้ายกลีบดอกไม้  โดยมีปากอยู่ตรงกลาง  อาหารของดอกไม้ทะเลได้แก่  สัตว์น้ำตัวเล็ก ๆ ที่ว่ายไปมา  ดอกไม้ทะเลมีปากแต่ไม่มีทวารหนัก  ดอกไม้ทะเลไม่มีสมองแต่มีเส้นประสาทที่ประสานกันไปมาเป็นตาข่าย  อยู่ตามผนังลำตัวและบริเวณหนวด  เพื่อรับความรู้สึกสัมผัสจากสิ่งแวดล้อมได้

ดอกไม้ทะเลมีกรสืบพันธุ์ได้ทั้ง  2 แบบ  คือ  แบบอาศัยเพศ  ดอกไม้ทะเลแต่ละเพศมีการสร้างเซลล์สืบพันธุ์

ปล่อยออกไปผสมกันในน้ำทะเล  แล้วเจริญไปเป็นตัวอ่อนที่มีซีเลีย  (cilia)  ช่วยในการว่ายน้ำได้ระยะหนึ่งขนกระทั่งไปเกาะกับวัตถุในน้ำเจริญเติบโตเป็นดอกไม้ทะเลตัวใหม่  ส่วนการสืบพันธ์แบบไม่อาศัยเพศนั้น  ดอกไม้ทะเลจะใช้วิธีการแบ่งตัวตามยาวแล้วขาดออกไปจากกันได้  ดอกไม้ทะเลตัวใหม่  2  ตัว

                   3.2    ปะการัง  (Corals) 

ปะการังเป็นไนดาเรียกลุ่มหนึ่ง  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่รวมกันเป็นโคโลนี  มีบางชนิดส่วนน้อยที่พบอยู่แบบเดี่ยว 

(solitary)  ปะการังทุกชนิดมีการสร้างหินปูนเป็นฐานหรือปลอกรองรับโพลิป  ลักษณะโพลิปของปะการังคล้ายคลึงกับดอกไม้ทะเลมาก  โดยมีหนวดจัดเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบบริเวณรอบปาก

ผิวหนังชั้นนอกมีเซลล์อยู่ชิดติดกันมากคล้ายคลึงกับที่พบในดอกไม้ทะเล  กลุ่มเซลล์ที่แทรกอยู่ในชั้นนี้มี

เซลล์ทำหน้าที่ผลิตเมือกและหินปูนออกมา  นอกจากนี้ยังพบสาหร่ายซูแซนเทลลี  (zooxanthellae)  ซึ่งทำให้โพลิปของปะการังส่วนใหญ่มีสีเขียว  นอกจากนี้ความเข้มของแสงในบริเวณที่ปะการังอาศัยอยู่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้โพลิปของปะการังมีสีเข้มหรือจากได้  โดยปะการังที่ถูกแสงจัดมักมีสีซีดกว่าปะการังที่อยู่ในบริเวณที่มีแสงน้อย

ในการจำแนกชนิดของปะการัง  นักสัตว์ศาสตร์ใช้ลักษณะโครงร่างหินปูนที่รองรับโพลิปเป็นเกณฑ์  โดย

การพิจารณาจากขนาดและรูปร่างของ  คอรอลไลท์  (corallite)  ซึ่งเป็นโครงหินปูนรองรับแต่ละโพลิป  และถ้าปากโครงรองรับโพลิปนั้นมีผนังกั้น  (theca)  คล้ายกำแพงเรียกว่า  แคลไลซ์  (calice)  และเรียกโครงหินปูนทั้งโคโลนีว่า  คอรอลลัม  (corallum)  นอกจากนี้  ยังพิจารณาจากลักษณะของ  เซพตา  (septa)  ซึ่งเป็นสันที่จัดเรียงตัวในแนวรัศมีของแต่ละคอรอลไลท์หรือแต่ละแคลไลซ์ด้วย

                   3.3    สัตว์คล้ายคลึงปะการัง

สัตว์ทะเลจำพวกแอนโทซัวหลายชนิดมีโครงสร้างและลักษณะคล้ายคลึงกับปะการัง  และอาจมีชื่อเรียก  “ปะการัง”  นำหน้าด้วย  เช่น  ปะการังท่อ  ปะการังสีน้ำเงิน  เป็นต้น สัตว์เหล่านี้ล้วนไม่ใช่ปะการังอย่างแท้จริง  รวมทั้งชนิดอื่นที่ไม่มีชื่อปะการังนำหน้า  คือ  กัลปังหา  ปากกาทะเล  (Subxlass  Octacorallia)  ด้วย  โดยสัตว์คล้ายคลึงปะการังที่กล่าวถึงทั้งหมดนี้มีลักษณะเฉพาะตัวคือ  ทุกชนิดดำรงชีวิตอยู่รวมกันเป็นโคโลนี  แต่ละโคโลนีมีโพลิปจำนวนมาก  โดยแต่ละโพลิปมีหนวดจำนวน  8  เส้น  ถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์เหล่านี้  มักพบอยู่ในบริเวณแนวปะการังปะปนกับปะการังแท้จริงชนิดอื่น ๆ