ถ้าเรารักสมัครจิต..ก็ต้องคิดสมัครมือ..ถิ่นสีน้ำเงินคือ..ที่รวมรักสมัครคง

ประวัติอุเทนถวาย
คณาจารย์
ประวัติช่างก่อสร้างอุเทนถวาย
ผู้ก่อตั้งช่างก่อสร้างอุเทนถวายคือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2477 ท่านได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในภายหน้า ซึ่งจะต้องมีการ ก่อสร้างอาคารและงานโยธาทั่วไป จึงเป็นจุดกำเนิดของ โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย จากนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีศิษย์เก่าที่จบการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ ออกไปพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมไม่น้อย กระจัดกระจาย ไปทั่วทุกหัวระแหงของประเทศไทย

ประวัติของวิทยาเขต "อุเทนถวาย" โดยย่อ

โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย นับเป็นโรงเรียนที่สามประเภทอาชีวศึกษาชั้นสูง ที่อุบัติขึ้นในพระมหานครแห่งประเทศไทย เป็นแม่ของโรงเรียนช่างไม้ ทั่วพระราชอาณาจักร มุ่งหมายที่จะเจริญรอยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ต่อมาในรัชกาลที่ 7 ปี พ.ศ.2474 โปรดเกล้าฯให้จัดตั้ง "โรงเรียนเพาะช่าง" ขึ้น และเปิดแผนกช่างก่อสร้าง ซึ่งปลูกสร้างโรงงานในที่ดินเช่าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประมาณ 20 เมตร x 160 เมตร (ประมาณ 2 ไร่ในระยะแรก)

เมื่อไทยเปลี่ยนการปกครอง พ.ศ.2475 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดำริให้เปิด "โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย" เปิดรับนักเรียน 3 แผนกคือ ประถมวิสามัญ, มัธยมวิสามัญ และช่างฝีมืองานไม้ ต่อมาได้ขยายเพิ่มเนื้อที่ออกไปอีก 8 ร่องสวน

พ.ศ.2478 สร้างโรงฝึกงาน ปรับสนามฟุตบอลและสร้างบ้านพักครู 1 หลัง และได้มีการเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาประถมวิสามัญและมัธยมวิสามัญ เป็นมัธยมวิสามัญช่างก่อสร้าง หลักสูตรปีที่ 1-8 รับผู้มีความรู้ตามลำดับของชั้นที่จัดขึ้น

พ.ศ.2479 พระเทวาภินิมิต (ฉาย) ได้จำลองภาพเขียนสีน้ำรูปพระวิศวกรรมเหยีบเมฆ พระหัตถ์ขวาทรงไม้วา, ซ้ายทรงฉากและดิ่ง ให้เป็นเทวรูปประจำสำนัก (ภาพเช่นเดียวกับ หน้าปกจดหมายข่าวชาวสีน้ำเงิน ฉบับพิเศษเดือนมกราคม และแผ่นปกแผ่นพับงาน "อุเทนถวายน้อมเกล้าฯ ครั้งที่ 2")

พ.ศ.2481-2482 สร้างโรงงานเพิ่มขึ้นอีก 1 หลัง, บ้านพักครูอีก 2 หลัง, รั้วด้านหน้าโรงเรียน

พ.ศ.2484 เป็นปีแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นยึดอาคารสถานที่ของโรงเรียนเป็นที่พักทหาร ซึ่งเป็นช่วงปิดภาค เมื่อเปิดโรงเรียนต้องย้ายนักเรียนไปอาศัยเรียนที่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนพาณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง

พ.ศ.2485 ย้ายนักเรียนไปเรียนที่ โรงเรียนช่างไม้วัดศระเกษ และโรงเรียนช่างเย็บหนัง อาคาร 6 ถนนราชดำเนิน

พ.ศ.2486 จึงย้ายนักเรียนมาอยู่ในโรงเรียนชั่วคราว หลังสถานเสาวภา ตำบลสนามม้า ในศกนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยอมรับนักเรียน ที่สำเร็จประโยคอาชีวศึกษาชั้นสูง แผนกช่างก่อสร้าง เข้าศึกษาต่อในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ แทนการเปิดสอนปีที่ 4-5

ความสับสนอลหม่านของโรงเรียนอันเนื่องมาแต่ภัยสงครามได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับ โรงเรียนต้องเปิด-ปิดอยู่เสมอ พ.ศ.2478 ภัยทางอากาศรุนแรงยิ่งขึ้น กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้โรงเรียนอพยพออกไปนอกเขตพระนคร ธนบุรี เพื่อเตรียมเปิดทำการสอน แต่อาคาร หลายหลังในโรงเรียนได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิด อย่างหนัก จึงอพยพพัสดุ ครุภัณฑ์ และทรัพย์สินเท่าที่มีเหลืออยู่ ไปเปิดขึ้นที่โรงเรียนช่างไม้ อำเภอสามโคก จ.ปทุมธานี ส่วนการเล่าเรียนยังอยู่ที่วัดแก้วฟ้าล่าง และหลังสถานเสาวภา เมื่อโรงเรียนเปิด ต้นปีการศึกษา 2478 โรงเรียนชั่วคราวหลังสถานเสาวภาถูกพายุพัด ใช้การไม่ได้ ต้องย้ายไปเปิดเรียนที่ โรงเรียนวัดสามพระยา ต่อจากนั้น ญี่ปุ่นยอมแพ้ สงครามโลกครั้งที่สองปิดฉากในวันที่ 31 สิงหาคม กองทหารญี่ปุ่น ยอมคืนสถานที่ และย้ายออกไปสู่ค่ายกักกัน ในวันที่ 1 กันยายน จึงอพยพกลับจากสามโคก มาเปิดทำการสอนทุกแผนกที่โรงเรียนวัดสามพระยา สภาพอาคารทุกหลังที่เหลือจากระเบิด ก็แหลกลาญเพราะน้ำมือทหารญี่ปุ่น, อังกฤษ, แขก และฮอลันดา

พ.ศ.2490 กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติซ่อมโรงเรียน และได้ดำเนินการสอนวิชาชีพ หลายระดับตลอดมา จนถึงปี พ.ศ.2507 จึงเปลี่ยนมาสอนตามหลักสูตร มัธยมศึกษาตอนปลาย สายอาชีพ แผนกช่างก่อสร้างแต่เพียงระดับเดียว

พ.ศ.2515 เปลี่ยนแปลงหลักสูตรเป็นแผนกช่างก่อสร้าง และแผนกช่างเขียนแบบ ระบบการเรียน แบ่งออกเป็น 2 ภาคเรียน โดยใช้ระบบหน่วยกิต เป็นระบบวัดผล

พ.ศ.2517 กระทรวงศึกษาธิการได้ยกฐานะ เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยอุเทนถวาย กองวิทยาลัย กรมอาชีวศึกษา เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แผนกช่างก่อสร้าง และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แผนกช่างเทคนิคก่อสร้าง คณะวิชาช่างโยธา หลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แผนกออกแบบสถาปัตยกรรม คณะวิชาช่างออกแบบ

พ.ศ.2517 เปิดสอนภาคบ่าย (ภาคนอกเวลาปกติ) ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทั้ง 2 แผนกวิชา

พ.ศ.2519 กระทรวงศึกษาธิการได้ยกฐานะ โดยเปลี่ยนชื่ออีกครั้งจาก วิทยาลัยอุเทนถวาย สังกัด กองวิทยาลัย กรมอาชีวศึกษามาเป็น วิทยาลัยเทคโนโลยี และ อาชีวศึกษา วิทยาเขตอุเทนถวาย สังกัดกองสถานศึกษา กรมเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

พ.ศ.2524 อนุมัติให้เปิดสอนในหลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แผนกออกแบบผลิตภัณฑ์

พ.ศ.2531 อันเป็นมหามิ่งมงคลสมัย รัชมังคลาภิเษก ได้รับพระราชทานมหามงคลนามเป็น "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย" จัดการเรียนการสอนหลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง รับนักศึกษาที่จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เข้าศึกษาต่อ 2 ปี คือคณะวิชาช่างโยธา สาขาช่างก่อสร้าง คณะวิชาออกแบบ สาขาวิชาช่างเทคนิคสถาปัตยกรรม สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สาขา วิชาสถาปัตยกรรมภายใน และรับนักศึกษา ที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เข้าศึกษาต่อ 3 ปี คือ คณะวิชาช่างโยธา สาขาวิชาช่างก่อสร้าง และคณะวิชาออกแบบ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายใน, หลักสูตรปริญญาตรี หลักสูตร ปวส.ต่อเนื่อง รับนักศึกษาที่จบการศึกษาระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เข้าศึกษาต่อ 2-3 ปี คือคณะวิชาช่างโยธา สาขาวิศวกรรมโยธา และคณะวิชาออกแบบ สาขาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม

ปี พ.ศ.2474 ชื่อ " โรงเรียนเพาะช่าง แผนกก่อสร้าง"

ปี พ.ศ.2475 ชื่อ " โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย " ระยะแรก

1 กุมภาพันธ์ 2477 ชื่อ " โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย "

ปี พ.ศ.2517 ชื่อ " วิทยาลัยอุเทนถวาย "

ปี พ.ศ.2518 ชื่อ " วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตอุเทนถวาย "

15 ก.ย. 2531-ปัจจุบัน ชื่อ " สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย "

ประวัติของวิทยาเขต "อุเทนถวาย" อีกแง่มุมหนึ่ง

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นผู้ริเริ่มการอาชีวศึกษา ท่านมีความคิดเห็นว่าสามัญศึกษากับวิสามัญศึกษา จะต้องไปด้วยกัน จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เพราะ "สามัญศึกษาเป็นวิชากลางๆ เพื่อลับสติปัญญาให้เป็นคนหูสว่างตาสว่าง วิสามัญศึกษาเป็นวิชาเฉพาะเพื่อใช้ไปประกอบอาชีพ" (จากความเรียงเรื่อง "แผนศึกษาของมนุษย์") ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงสนับสนุนการอาชีวศึกษา เพื่อให้เด็กไทยรู้จักการทำงาน การศึกษาขั้นสูงถึงระดับมหาวิทยาลัยผลิตบุคคลระดับบริหาร แต่การอาชีวศึกษาจะผลิตเด็ก ซึ่งเป็นผู้ลงมือทำงานจริง จึงจัดตั้งโรงเรียนหัตถกรรม จนได้เปิดเป็นโรงเรียนเพาะช่างในภายหลัง ได้ก่อตั้ง โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย โรงเรียนช่างกลปทุมวัน โรงเรียนพณิชยการบพิตรพิมุข และโรงเรียนสวนกุหลาบ ซึ่งเป็นโรงเรียนชุดแรกในประเภทนี้ นอกจากนี้ยังได้ตั้งแผนกไว้ 3 แผนกคือ ครุศาสตร์ ยันตรศึกษา และรัฐประศาสนศาสตร์ ในโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ฝึกให้นักเรียนปกครองตนเอง และฝึกประชาธิปไตยโดยให้นักเรียนปกครองกันเอง มีการเลือกหัวหน้าจากทั้ง 3 แผนก

พ.ศ.2475 ประเทศไทยเปลี่ยนระบอบการปกครอง เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดำริจะเปิดโรงเรียนช่างก่อสร้าง ขึ้นในพระนคร สักแห่งหนึ่ง จึงบัญชาให้ หลวงวิศาลศิลปกรรม พร้อมด้วยคณะกรรมการ ร่างเค้าโครงและระเบียบ โดยจัดเอาโรงเรียนเพาะช่าง แผนกช่างก่อสร้าง เป็นสถานที่เล่าเรียน ภายในเดือนพฤศจิกายนแห่งปี พ.ศ.2476 และเปิดรับนักศึกษาเข้าศึกษาวิชาช่างก่อสร้างได้ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2476 ให้นาม โรงเรียนว่า "โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย" เพราะเหตุตั้งอยู่ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสะพานอุเทนถวาย ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2477 กระทรวงศึกษาธิการ โดย พระสารศาสน์ประพันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ได้สั่งให้เปิด โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย แยกออกจากโรงเรียนเพาะช่าง มาดำเนินการเป็นอีกโรงเรียนหนึ่ง ณ สถานที่ตั้งเดิม พร้อมทั้งมีคำสั่งแต่งตั้ง ร.อ.ขุนบัญชารณการ (วงศ์ จารุศร) ดำรงตำแหน่งครูใหญ่

วิวัฒนาการทางการศึกษาสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย

เดิม เรียกว่าโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ประเภทอาชีวศึกษาชั้นสูง ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และเป็นสาขาหนึ่ง ของโรงเรียนเพาะช่าง เปิดสอนเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2476 และในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2477 ได้แยกออกจากโรงเรียนเพาะช่าง มาจัดตั้งเป็น โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ตั้งอยู่ที่ 225 ถนนพญาไท อำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานคร นับเป็นโรงเรียนช่างก่อสร้างแห่งแรกที่เปิดการสอนประเภทอาชีวชั้นสูง

โรงเรียนได้ดำเนินการสอนวิชาชีพหลายระดับตลอดมา จนถึงปี พ.ศ.2507 จึงเปลี่ยนมาสอนตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย สายอาชีพแผนกช่างก่อสร้าง แต่เพียงแผนกเดียว

ในปี พ.ศ.2515 ได้ทำการเปลี่ยนแปลง และปรับปรุงหลักสูตรแผนกช่างก่อสร้าง และแผนกช่างเขียนแบบ ระบบการเรียนแบ่งออกเป็น 2 ภาคเรียน และใช้ระบบการวัดผลเป็นระบบหน่วยกิต

ในปี พ.ศ.2517 กระทรวงศึกษาธิการได้ยกฐานะ และเปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยอุเทนถวาย กองวิทยาลัย กรมอาชีวศึกษา เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แผนกก่อสร้าง และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แผนกช่างเทคนิคก่อสร้าง คณะวิชาช่างโยธา หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แผนกช่างเทคนิคสถาปัตยกรรม คณะวิชาออกแบบ

ในปี พ.ศ.2519 กระทรวงศึกษาธิการได้ยกฐานะ และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งหนึ่งเป็น วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตอุเทนถวาย สังกัดกรมเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ แต่ยังคงเปิดสอนหลักสูตรเหมือนเดิม

ในปี พ.ศ.2524 กรมวิทยาลัย เทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ได้อนุมัติให้เปิดสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แผนกออกแบบผลิตภัณฑ์ สังกัดคณะวิชาออกแบบ

ในปี พ.ศ.2527 โดยกรมวิทยาลัย และอาชีวศึกษา ได้อนุมัติให้เปิดสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แผนกบริหารงานก่อสร้าง สังกัดคณะวิชาช่างโยธา

ในปี พ.ศ.2527 โดยกรมวิทยาลัย และอาชีวศึกษา ได้อนุมัติให้เปิดสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แผนกเทคนิคก่อสร้าง วิชาเอกการสำรวจเพื่อการก่อสร้าง

ถึงพุทธศักราช 2531 อันเป็นมหามิ่งมงคลสมัย รัชมังคลาภิเษก ได้รับพระราชทานมหามงคลนามเป็น สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย

ปัจจุบัน สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย จัดการเรียนการสอนหลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง รับนักศึกษาที่จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ เข้าศึกษาต่อ 2 ปี สาขาวิชาช่างก่อสร้าง และสาขาวิชาช่างเทคนิคสถาปัตยกรรมภายใน

และ หลักสูตรระดับปริญญาตรี รับนักศึกษาที่จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง เข้าศึกษาต่อ สาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม วุฒิ สถ.บ. และสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา วุฒิ วศ.บ.

ข้อมูล : www.uthentawai.org

ถ้าเรารักสมัครจิต..ก็ต้องคิดสมัครมือ
ถิ่นสีน้ำเงินคือ..ที่รวมรักสมัครคง


webmaster : www.uthen.com
อีเมล์ : uthenwebmaster@yahoo.com, manid_noivet@hotmail.com