ประกาศ
เว็บนี้จะถูกปิดพร้อมกับเว็บฟรีอื่น ๆ ของ oocities.com
ใน 26 ตุลาคม 2552 ผมขอขอบคุณอย่างมากต่อ oocities.com
ที่ได้เอื้อเฟื้อให้บริการเว็บฟรีมาอย่างยอดเยี่ยมแก่ผมตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2548
ขณะนี้ผมได้ไปสร้างเว็บฟรีใหม่แล้วที่ http://utopiathai.webs.com
ขอบคุณครับ สุธน หิญ


เศรษฐศาสตร์เพื่อความเป็นธรรม - หยุดความยากจนและภัยวัฏจักรธุรกิจขนาดใหญ่
ยูโทเพียไทย
เฮนรี_จอร์จ . หนังสือดีเด่น Progress & Poverty แปล, ย่อสั้น . งานเขียน-พูดของจอร์จ
หนังสือความยากจนที่ไม่เป็นธรรม, ย่อ . หลักพื้นฐานด้านสิทธิที่ดิน . ผลดี+เป็นธรรม
นายทุน-แรงงานผลประโยชน์ร่วม . แก้ปัญหาที่ดินได้ก็หมดปัญหานายทุนกดค่าแรง
วาทะนักคิดด้านที่ดินและกระจายรายได้ . จอร์จิสต์ทั่วโลก . MyBlog . MyBio . Links
. . เว็บบอร์ด+บทความ . . ศัพท์เศรษฐฯ ดร.บุญเสริม . ศัพท์เศรษฐฯ 1, 2, 3, 4 . กฎเศรษฐฯ 1, 2 . ศัพท์บัญญัติ
ทุนนิยมแท้คือรัฐสวัสดิการที่ไม่มีภาษีก้าวหน้า . สังคมที่พึงปรารถนา . อย่าเชื่อ . ทำได้ไง? ค่าจ้างสูงแต่สินค้าถูก
กระตุ้นเศรษฐกิจกับนโยบายการคลัง . ถึงเวลาฟื้นตัวแล้วหรือยัง (+ทองคำสำรอง) . ต้านวัฏจักรธุรกิจ . คิดถึงแอดัม สมิธ
Georgists Predicted the Crisis . How to Thaw Credit . Hidden Taxable Capacity of Land . ภาวะตลาดอสังหาฯ

GeorgeBio 1, 2, 3, 4, 5, 6 . ProgressDaily . ShortEcon . EconE-courses . OnlineTaxCourse . TeacherEcon . EconSocJournal . NaturalEconLaws . Glossary 1, 2, 3, 4 . FAQ 1, 2, 3 . WebBoard . AskHenry .
Wealth and Want . Links 1, 2, 3, 4 . BestWebSites 1, 2 . WorldwideGeorgists . . . . . . . . . More . . .
“เมื่อเราเก็บภาษีจากบ้าน พืชผล เงิน เครื่องเรือน ทุน หรือทรัพย์สมบัติในรูปแบบใด ๆ
นั่นคือเราเอามาจากปัจเจกบุคคลซึ่งสิ่งอันเป็นของเขาโดยชอบ
เราละเมิดสิทธิในทรัพย์สิน และทำการชิงทรัพย์ในนามของรัฐ
แต่เมื่อเราเก็บภาษีมูลค่าที่ดิน เราเอามาจากปัจเจกบุคคลซึ่งสิ่งอันมิใช่ของเขา แต่เป็นของประชาคม
และซึ่งมิสามารถปล่อยให้เป็นของปัจเจกบุคคล โดยไม่เป็นการชิงทรัพย์ของปัจเจกบุคคลอื่น ๆ”
- เฮนรี จอร์จ The Single Tax: What It Is and Why We Urge It
สวัสดีครับ . . .
* E-mail address ของผมอยู่ล่างสุดของหน้านี้ครับ *
หนังสือดีเด่น Progress and Poverty แปล, หนังสือความยากจนที่ไม่เป็นธรรม และ บทความ ของผมไม่สงวนลิขสิทธิ์
ยินดีให้เผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณ ยกเว้นบทความแปลกรุณาอ่านเงื่อนไขจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่อ้างไว้

ที่นี่ ท่านสามารถทำความรู้จักกับแนวคิดของ เฮนรี จอร์จ (Henry George 2 ก.ย. ค.ศ. 1839 - 29 ต.ค. ค.ศ. 1897)
เพื่อขจัดความยากจนจากความอยุติธรรม ขั้นฐานราก ของระบบเศรษฐกิจ
ที่มีผลกระทบกว้างไกลใหญ่หลวงต่อประชาชนส่วนใหญ่ของแทบทุกประเทศทั่วโลก
และจะกลับทำให้เกิดความเจริญ ความอยู่ดีมีสุขแก่ประชาชนทั่วหน้า

เฮนรี จอร์จคือนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันที่จบการศึกษาอย่างเป็นทางการเพียงประถม 6 ผู้เขียนหนังสือและบทความต่าง ๆ จำนวนมากเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความยากจน หนังสือเรื่อง Progress and Poverty (ความก้าวหน้ากับความยากจน ค.ศ. 1879) เป็นหนังสือที่ทำให้เขามีชื่อเสียงมากที่สุด เมื่อรวมกับการปาฐกถาในสหรัฐฯ เอง สกอตแลนด์ อังกฤษ ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมทั้งการโต้วาทีกับพรรคสังคมนิยมในนิวยอร์กและลอนดอน ก็ทำให้เขามีชื่อเสียงในขณะที่มีชีวิตอยู่ เป็นลำดับ 3 ของสหรัฐฯ ต่อจาก Thomas Edison และ Mark Twain (http://henrygeorgeschool.org/whowashg.htm)

ตลอดเวลามานานแล้ว ระบบภาษีที่ไม่เป็นธรรมของแทบทุกรัฐในโลกกำลังเบียดเบียนผู้ลงทุนลงแรง ที่สาหัสคือคนจน
ผู้ได้ประโยชน์คือเจ้าของที่ดิน และทำให้มีการเก็งกำไรสะสมที่ดิน ซึ่งซ้ำเติมให้การเบียดเบียนรุนแรงทับทวี
ราคา-ค่าเช่าที่ดินแพงเกินจริง ทำให้ผลตอบแทนต่อแรงงานและทุนต่ำเกินจริง
เมื่อรวมกับการสะสมที่ดินไว้โดยไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ ก็ทำให้แรงงานและทุนพลอยไม่ค่อยมีงานทำไปด้วย
ผลผลิตของชาติต่ำกว่าที่ควร คนว่างงานมากขึ้น ค่าแรงยิ่งต่ำ
ภาษีเงินได้และภาษีกำไรยิ่งไปลดรายได้ และภาษีการผลิตการค้าทำให้ของแพง
คนจนยิ่งเดือดร้อน อ่อนแอ กลายเป็นเหยื่อนายทุนผู้จ้าง นายทุนเงินกู้ และผู้หลอกลวงโดยง่าย
อีกทั้งการเก็งกำไรที่ดินอย่างกว้างขวาง ผสมกับสาเหตุทางการเงิน ยังก่อวัฏจักรเศรษฐกิจที่เหวี่ยงตัวรุนแรง
เกิดความเสียหายใหญ่หลวงดังเช่นปี 2552 นี้ในสหรัฐฯ และลามไปทั่วโลก

ถ้าไม่มีการเก็งกำไรที่ดินอย่างกว้างขวาง ก็ไม่มีการกู้เงินอย่างกว้างขวาง
ถ้าไม่มีการเก็งกำไรที่ดินอย่างกว้างขวาง ก็ไม่มีวัฏจักรราคาที่ดินที่เหวี่ยงตัวรุนแรง
วิกฤตการเงินที่รุนแรงลามทั่วโลกก็ไม่เกิด เก็งกำไรที่ดินมีในลัทธิที่ดินนิยม มิใช่ทุนนิยม
ลัทธิที่ดินนิยมยังอยู่คงทน เป็นกาฝากร้ายมาตลอดในระบบที่เรียกกันว่า “ทุนนิยม”
ที่ดินนิยมคือเชื้อแห่งความเสื่อม เมื่อที่ใดเกิดความเจริญ มีสิ่งอำนวยความสะดวกดี ที่ดินก็ราคาสูง
ยิ่งเกิดการเก็งกำไรที่ดิน ในที่สุดค่าแรงและผลตอบแทนทุนยิ่งต่ำ คนจนยิ่งเดือดร้อนเพิ่มขึ้น
ความเจริญจึงยิ่งทำให้คนจนเดือดร้อน จนกว่าเราจะหันมาเก็บภาษีที่ดินแทนภาษีจากการทำงานและการลงทุนผลิตและค้า
เชิญอ่าน
ผลดีและความเป็นธรรมของการมุ่งเก็บภาษีที่ดิน และ เลิกภาษีจากการลงแรงลงทุน
และ ผสมสองทฤษฎีสกัดเศรษฐกิจฟองสบู่

เหตุที่เฮนรี จอร์จมุ่งมั่นจะแก้ปัญหาความยากจนเดือดร้อนของผู้ที่มีแต่แรงงาน เป็นเพราะเมื่อเดินทางจากซานฟรานซิสโกไปทำงานที่นิวยอร์ก จอร์จได้เห็นความยากจนร้ายแรงในเมืองใหญ่ทั้ง ๆ ที่ในเมืองใหญ่ปรากฏทรัพย์สินมหาศาล จึงเกิดแรงบันดาลใจให้ค้นหาสาเหตุของความแตกต่างนี้ เขาได้พบว่า อุตสาหกรรมปฏิวัติ ซึ่งคือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตจากระบบครัวเรือนมาเป็นระบบโรงงานเพราะความก้าวหน้าอย่างมโหฬารของเครื่องจักรกลที่ช่วยเพิ่มผลผลิต กลับทำให้คนงานเดือดร้อนจากค่าแรงต่ำ และค่าแรงทั่วไปมีแต่แนวโน้มจะต่ำลงในขณะที่ที่ดินแพงขึ้น การเก็งกำไรกักตุนที่ดินยิ่งทำให้หาที่ดินทำกินและหางานทำยากมากขึ้น ค่าแรงยิ่งต่ำ และทำให้วัฏจักรเศรษฐกิจแกว่งตัวรุนแรง

ปัญหาความยากจนจาก *ระบบ* ของรัฐเอง
1. ความก้าวหน้าอย่างมโหฬารของเครื่องจักรกลที่ช่วยเพิ่มผลผลิต กลับทำให้คนงานยากจนจากค่าแรงต่ำ
2. ค่าแรงทั่วไปมีแต่จะต่ำลงในขณะที่ที่ดินกลับมีแนวโน้มแพงขึ้น เพราะความเจริญก้าวหน้าของส่วนรวมไปเพิ่มราคาให้ที่ดิน
3. การเก็งกำไรกักตุนที่ดินยิ่งทำให้ที่ดินแพง หาที่ดินทำกินและหางานทำยากมากขึ้นไปอีก ค่าแรงยิ่งต่ำ
และทำให้วัฏจักรเศรษฐกิจแกว่งตัวรุนแรง ก่อความเดือดร้อนทุกข์ยากมากขึ้น

สาเหตุ
1. รัฐปล่อยให้เอกชนถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยเก็บภาษีเพียงเล็กน้อย
2. ทำให้รัฐต้องเก็บภาษีจากการลงแรงลงทุนของแต่ละบุคคลเป็นส่วนใหญ่
ยิ่งเป็นการลดรายได้ของเอกชน และเพิ่มต้นทุนการผลิตทำให้ค่าครองชีพสูง
ถ้าปล่อยไว้ ไม่แก้ไข เจ้าของที่ดินยิ่งได้ประโยชน์ คนจนยิ่งเดือดร้อน

วิธีแก้ไข
1. เก็บภาษีการถือครองที่ดินเท่าหรือเกือบเท่าค่าเช่ารายปีที่ควรเป็น
2. ยกเลิกภาษีทั้งหลายที่เป็นภาระแก่การลงแรงลงทุน เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม
[ผมเห็นว่าควรค่อย ๆ เพิ่มภาษีที่ดิน เพื่อมิให้เจ้าของที่ดินเดือดร้อนมากนัก และค่อย ๆ ลดภาษีจากแรงงานและทุนชดเชยกัน อาจใช้เวลา 25-30 ปี]

มองในด้านลัทธิสั้น ๆ
ลัทธิภาษีเดี่ยวจากมูลค่าที่ดินของเฮนรี จอร์จเช่นนี้จะว่าเป็นสังคมนิยม แรงงานนิยม หรือ ทุนนิยม ก็ได้ทั้งนั้น

ที่ว่าเป็นสังคมนิยมนั้นถูกเมื่อคิดเฉพาะปัจจัยที่ดิน (คือถือว่าที่ดินเป็นของสังคม จึงเก็บภาษีที่ดินมาบำรุงสังคม เพราะภาษีที่ดินจะตัดความได้เปรียบเสียเปรียบจากการได้ใช้ที่ดินมากน้อยดีเลวผิดกันออกไป)
แต่ไม่ต้องการให้รัฐเข้าไปจัดการที่ดินโดยตรง เช่น บังคับจัดแบ่งที่ดิน ทั้งนี้ตามหลักให้รัฐมีหน้าที่น้อยที่สุด เพื่อให้ตรวจสอบง่าย ไม่กลายเป็นอำนาจกดขี่คอร์รัปชัน และเพราะแบ่งอย่างไรก็จะไม่ได้ตรงตามความพอใจ ความชอบ ความถนัดในอาชีพ แบ่งแล้วก็จะต้องแบ่งใหม่อีกเรื่อย ๆ เพราะมีคนเกิดคนตาย แต่งงานมีครอบครัวเพิ่มขึ้น จึงควรปล่อยให้เจ้าของมีกรรมสิทธิ์ที่ดินตามเดิม ไม่ต้องบังคับย้ายผู้คนไปสู่ที่ดินที่รัฐจัดแบ่ง รัฐไม่ต้องบงการว่าจะใช้ที่ดินอย่างไร ปล่อยเสรี ถ้าไม่มีผลเสียต่อคนใกล้เคียง แต่การเก็บภาษีที่ดินนั้น เพื่อมิให้เจ้าของที่ดินเดือดร้อนเกินไป ผมเห็นว่าควรค่อย ๆ เพิ่มขึ้น จนในที่สุด สัก 30 ปี ให้ภาษีเท่าหรือเกือบเท่ากับค่าเช่าศักย์ของที่ดินนั้น ๆ ไม่ว่าเจ้าของจะใช้ที่ดินเองหรือให้เช่า (เก็บแต่ภาษีที่ดิน ไม่คิดภาษีบ้านอาคารโรงเรือนโรงงาน พืชผลต้นไม้)

ที่ว่าเป็นแรงงานนิยมก็ถูกเพราะพยายามไม่เก็บภาษีจากแรงงานเลย

และ่ก็ต้องถือว่าเป็นทุนนิยมสุดขั้วอย่างไม่เคยปรากฏ เพราะพยายามไม่เก็บภาษีจากทุนเหมือนกัน

แนวคิดของเฮนรี จอร์จนี้ไม่ต้องการเอาของที่ส่วนบุคคลควรมีควรได้ (ลงแรงลงทุนหามาได้) คือค่าแรงสมอง/แรงกาย และผลตอบแทนต่อทุน มาเป็นของส่วนรวมเลย
จึงคิดเลิกภาษีเงินได้ ภาษีกำไร และภาษีทางอ้อมที่ไปเพิ่มต้นทุนการผลิตทำให้ของแพงทั้งสิ้น เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร จะเก็บแต่ภาษีที่ดินอย่างเดียว

(สมัยนี้คงต้องเก็บภาษีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้สิ้นเปลืองไป หรือค่าภาคหลวง ค่าเอกสิทธิ์ ค่าสัมปทาน และค่าชดใช้การก่อมลภาวะทำความเสียหายแก่แผ่นดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม ด้วย)

วิธีของเฮนรี จอร์จซึ่งแก้ไขบางอย่างเช่นนี้จะ
1. ให้เสรีมากขึ้น ลดการถูกเรียกตรวจสอบจากเจ้าพนักงานภาษีของรัฐ เพราะเหลือแต่ภาษีที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
2. เกิดความยุติธรรม คือใครทำงาน ใครลงทุน ได้เท่าไรก็เป็นของเขาทั้งหมด โดยตัดความได้เปรียบเสียเปรียบจากการได้ครอบครองที่ดินดีเลว มากน้อยผิดกัน หรือไม่มีที่ดินเลย ออกไปด้วยภาษีที่ดิน
3. เกิดผลดี คือที่ดินไม่เสียเปล่ามากมายมหาศาลจากการเก็บกักเก็งกำไร การว่างงานจะลด ค่าแรงเพิ่ม และเมื่อคนไม่เสียภาษีเงินได้ก็ได้ค่าจ้างเงินเดือนกลับบ้านเต็มที่ ของกินของใช้ไม่ถูกภาษี ก็จะราคาต่ำลง คนจนก็สบายขึ้น และพลอยขายแข่งกับต่างประเทศได้สบายขึ้นด้วย คนต่างชาติก็จะอยากมาเที่ยวมาใช้เงินมาลงทุนที่เมืองไทยมากขึ้น ที่เป็นปัญหาก็คือแรงงานต่างด้าวจะทะลักเข้าไทย ต้องป้องกันให้ได้ผลมากกว่าปัจจุบัน

ผลดีและความเป็นธรรมของภาษีที่ดิน

สังคมอุดมคติ (UTOPIA) แบบจอร์จ ปรับตามสภาพปัจจุบัน:
สังคมที่เป็นธรรมและอยู่ดีมีสุข หางานทำง่าย ค่าแรงกายแรงสมองสูงโดยไม่ต้องใช้กฎค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะ:
ไม่เก็บภาษีจากแรงงาน-ทุน ส่วนที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิทธิร่วมกัน รับรู้สิทธิเท่าเทียมกันของผู้อื่น
โดยการจ่ายค่าถือครองที่ดิน ค่าเอกสิทธิ์สัมปทาน ค่าใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ค่าถ่ายเทของเสียออกสู่โลก
ซึ่งจะทำให้เกิดการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ การนำกลับมาใช้ใหม่ และระบบกำจัดของเสียที่มีประสิทธิภาพ
อันจะทำให้โลกเป็นที่อยู่ที่ทำกินได้ยั่งยืนต่อไป

การยกย่องเฮนรี จอร์จ และ หนังสือ Progress and Poverty

ห้องสมุดทำเนียบขาว - เลือก Progress and Poverty ของเฮนรี จอร์จไว้ในการรวบรวมหนังสืออเมริกันดีเด่นใน ค.ศ. 1963

ซุนยัดเซ็น - "ข้าพเจ้าตั้งใจจะอุทิศอนาคตของข้าพเจ้าให้แก่การส่งเสริมสวัสดิการของประชาชนจีนในฐานะประชาชนชาติหนึ่ง คำสอนของเฮนรี จอร์จ จะเป็นมูลฐานแห่งโครงการปฏิรูปของเรา"

Leo Tolstoy - "ประชาชนมิได้โต้แย้งคำสอนของจอร์จ เพียงแต่เขาไม่รู้จักคำสอนนี้เท่านั้น ผู้ที่คุ้นเคยกับคำสอนนี้แล้วย่อมจะได้แต่เห็นดีด้วย"
- "วิธีสำคัญที่ใช้ต่อต้านคำสอนของเฮนรี จอร์จมาแล้ว และกำลังใช้อยู่ คือวิธีที่มักใช้กับความจริงที่เห็นได้ชัดและปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือพยายามให้เงียบไว้"

- "การแก้ปัญหาที่ดินหมายถึงการแก้ปัญหาสังคมทั้งหมด"
- "นี่คือหนังสือสำคัญมากเล่มหนึ่ง นี่คือการก้าวหน้าก้าวหนึ่งที่สำคัญเทียบเท่ากับการปลดปล่อยทาสของเรา นี่คือการปลดปล่อยโลกจากการเป็นเจ้าของโดยเอกชน"

Mark Twain (Samuel Langhorne Clemens) - "โลกเป็นสมบัติของประชาชน ข้าพเจ้าเชื่อคำสอนเรื่องภาษีเดี่ยว"

John Dewey - "เราต้องการน้อยกว่านิ้วของทั้งสองมือ สำหรับจะนับจำนวนผู้ที่เทียบเท่าเฮนรี จอร์จ ในบรรดานักสังคมปรัชญาของโลก นับแต่เปลโตลงมา … ไม่มีใคร ไม่มีบัณฑิตจากสถาบันการศึกษาชั้นสูงผู้ใด จะมีสิทธิ์ถือว่าตนเองเป็นผู้มีการศึกษาในด้านความคิดทางสังคมได้ หากเขาผู้นั้นไม่ได้ทำความคุ้นเคยด้วยตัวของตนเอง กับผลงานทางทฤษฎีของนักคิดอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้"
- "ข้าพเจ้าไม่กล่าวว่าวิธีแก้ไขของจอร์จคือยาครอบจักรวาลที่จะรักษาความป่วยไข้ทั้งหมดของเราได้ตามลำพัง แต่ข้าพเจ้ากล่าวว่าเราจะไม่สามารถขจัดความเดือดร้อนขั้นพื้นฐานทั้งหลายของเราได้ถ้าไม่ใช้วิธีนี้"

Albert Einstein - "บุคคลเช่นเฮนรี จอร์จ หาได้ยาก ซึ่งนับว่าน่าเสียดาย ไม่มีใครที่จะนึกเห็นความแหลมคมทางปัญญา รูปแบบอันสุนทร และความรักยุติธรรมอย่างรุนแรง ที่จะผสมผสานกันอย่างงดงามกว่านี้ได้"

Dwight D. Eisenhower - ออกเสียงให้เฮนรี จอร์จเข้าสู่หอเกียรติยศใน ค.ศ. 1950

Franklin D. Roosevelt - "เฮนรี จอร์จ เป็นนักคิดผู้ยิ่งใหญ่แท้จริงท่านหนึ่งที่ประเทศเราผลิตขึ้นมา … ข้าพเจ้าปรารถนาจะให้งานเขียนของท่านเป็นที่รู้จักกันดีขึ้น และเข้าใจกันแจ่มแจ้งขึ้น"

Woodrow Wilson - "ประเทศต้องการความคิดที่ใหม่และจริงใจในด้านการเมือง ซึ่งประกาศออกมาอย่างสมเหตุสมผล แจ่มชัด และห้าวหาญ โดยผู้ที่เชื่อมั่นในพื้นฐานของตน พลังของบุคคลเช่นเฮนรี จอร์จ ดูจะมีความหมายเช่นนั้น"

(ดูผู้สนับสนุนแนวคิดของจอร์จอีกจำนวนมากได้จาก
- วาทะของนักคิดเรื่องที่ดินและการกระจายรายได้์
- The Land Question
- Quotations
- 101+ FAMOUS THINKERS ON OWNING EARTH และ
- Endorsements ครับ)

 

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่สนับสนุนภาษีมูลค่าที่ดิน
(จาก วาทะของนักคิดเรื่องที่ดินและการกระจายรายได้์)

Paul Samuelson: ค่าเช่าที่ดินแท้ ๆ มีสภาพของ "ส่วนเกิน" ซึ่งอาจเก็บมาเป็นภาษีได้อย่างหนัก
โดยไม่ทำให้พลังกระตุ้นการผลิต หรือประสิทธิภาพ บิดเบี้ยวไป

James Tobin: ข้าพเจ้าคิดว่า โดยหลักการ เป็นความคิดที่ดีที่จะเก็บภาษีจากที่ดินโดยไม่รวมสิ่งปรับปรุง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคา (ลาภลอย) ที่ได้เพิ่ม
ทฤษฎีกล่าวว่าเราควรพยายามเก็บภาษีจากสิ่งที่มีความยืดหยุ่นน้อยหรือเป็นศูนย์ ซึ่งรวมถึงทำเลด้วย

Franco Modigliani: เป็นความสำคัญที่จะรักษาค่าเช่าที่ดินไว้เป็นแหล่งรายได้แหล่งหนึ่งของรัฐ
บางคนที่สามารถจะใช้ประโยชน์ที่ดินได้เป็นเลิศอาจไม่สามารถหาเงินได้มากพอสำหรับราคาซื้อ
การเก็บค่าเช่าเป็นรายปีจะช่วยให้ผู้ที่มีขีดจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อสามารถเข้าถึงที่ดินได้

Robert Solow: ผู้ใช้ที่ดินไม่ควรได้สิทธิ์ที่ไม่จำกัดระยะเวลาเพียงเพราะการจ่ายเงินครั้งเดียว
เพื่อประสิทธิภาพ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอ และเพื่อความยุติธรรม
ผู้ใช้ที่ดินทุกคนควรจะต้องจ่ายเป็นรายปีให้แก่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเท่ากับมูลค่าของค่าเช่าในขณะนั้น
สำหรับที่ดินซึ่งเขาทำให้ผู้อื่นหมดสิทธิที่จะใช้

William Vickrey: มัน [ภาษีมูลค่าที่ดิน] เป็นสิ่งประกันว่าจะไม่มีผู้ใดพรากสิทธิของเพื่อนพลเมือง
โดยการแสวงหาส่วนแบ่งที่มากเกินควร ในสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้แก่มนุษยชาติ

Milton Friedman: ตามความคิดของข้าพเจ้า ภาษีที่เลวน้อยที่สุดคือภาษีทรัพย์สินที่เก็บจากมูลค่าที่ดิน
ซึ่งไม่รวมสิ่งปรับปรุง - ตามข้อโต้แย้งของ Henry George เมื่อหลาย ๆ ปีมาแล้ว

Herbert Simon: ถ้าสมมุติว่ามีความจำเป็นต้องเพิ่มภาษี จะเห็นชัดว่าควรเพิ่มต้นทุนของที่ดิน
โดยเพิ่มภาษีที่ดิน มากกว่าที่จะเพิ่มภาษีค่าแรง - นี่คือทางเลือก 2 ทางที่เปิดให้แก่นคร [แห่ง Pittsburgh]
การใช้ประโยชน์และการอยู่อาศัยในทรัพย์สินเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความจำเป็นต้องมีบริการต่าง ๆ ของเทศบาล
ซึ่งปรากฏว่าเป็นรายการใหญ่ที่สุดในงบประมาณ -
ได้แก่ การป้องกันอัคคีภัยและการคุ้มครองจากตำรวจ การกำจัดสิ่งปฏิกูล และงานสาธารณะทั้งหลาย
ภาษีที่เก็บเพิ่มจากผู้พักอาศัยในนครโดยเฉลี่ยจะเป็นประมาณ 2 เท่าถ้าเพิ่มภาษีค่าแรง แทนที่จะเพิ่มภาษีที่ดิน

Joseph Stiglitz: มิใช่เพียงเฮนรี จอร์จถูกต้องที่ว่าภาษีจากที่ดินไม่มีผลบิดเบือน แต่ในสังคมเสมอภาคที่เราสามารถเลือกจำนวนประชากรที่เหมาะที่สุด ภาษีจากที่ดินยังจะให้รายได้เพียงพอสำหรับระดับค่าใช้จ่ายของรัฐบาล (ที่เลือกว่าเหมาะที่สุด - optimally chosen) อีกด้วย



หนังสือดีเด่น Progress and Poverty ของเฮนรี จอร์จหนา 565 หน้า พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1879 (เกือบ 130 ปีมาแล้ว)
มีผู้แปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากมาย (ภาษาไทยคือ
ความก้าวหน้ากับความยากจน แจกจ่ายให้ห้องสมุดราชการหลายแห่ง
หอสมุดแห่งชาติและสาขา ห้องสมุดประชาชนของ กทม. และสถานอุดมศึกษาด้านสังคมจำนวนมาก รวมทั้งนำขึ้นเว็บนี้)

ฉบับเต็ม ภาษาอังกฤษมี 3 ฉบับ ดังนี้
1. ฉบับดูได้ครั้งละบท
2. ฉบับดูทั้งเล่มขนาด 1.06 MB
3. ฉบับดูทั้งเล่มขนาด 1.84 MB
และยังมี Study Guide สำหรับหนังสือ Progress And Poverty โดยศาสตราจารย์ Mason Gaffney ด้วย

ฉบับย่อ ภาษาอังกฤษมี 5 ฉบับ ดังนี้
1. Significant Paragraphs from Progress and Poverty ฉบับย่อเพื่อใช้แนะนำในการศึกษาขั้นอุดมศึกษา โดย Harry Gunnison Brown
2. ฉบับย่อเหลือประมาณ 40% โดย A.W. Madsen ใช้เรียนในห้องเรียนและทางอินเทอร์เนตเดิม
3. ฉบับ supercondensed เหลือ 2% โดย James L. Busey ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์
(ฉบับภาษาไทยคือ ความก้าวหน้ากับความยากจน ฉบับสั้นมาก)
4. ฉบับ synopsis โดย Alfred J. Katzenberger, Jr. ดัดแปลงเล็กน้อยจากฉบับ supercondensed
5. ฉบับย่อใหม่ล่าสุด ค.ศ.2006 โดย Bob Drake ใช้เรียนในห้องเรียนและทางอินเทอร์เนตแทนฉบับย่อโดย Madsen

Henry George กล่าวไว้ในคำนำของหนังสือ Progress and Poverty ว่าสิ่งที่ท่านได้พยายามกระทำนั้นถือว่า
ก่อให้เกิดความสอดคล้องต้องกันระหว่างอุดมคติของฝ่ายเสรีนิยมในเรื่อง เสรีภาพ และ ปัจเจกนิยม
กับจุดประสงค์ของฝ่ายสังคมนิยมในเรื่อง ความยุติธรรม ทางเศรษฐกิจ
"เป็นการเชื่อมสัจจะตามความคิดของสำนัก Smith และ Ricardo
กับสัจจะตามความคิดของสำนัก Proudhon และ Lassalle ให้รวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน"

แต่ Lenin เรียก Henry George ว่าเป็น
"การต่อสู้ดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของนายทุน" (capitalist's last ditch)
(จาก http://www.earthsharing.org.au/2006/10/13/quotations/ )
ส่วนพวกทุนนิยมจำนวนมากกลับว่าเป็น "สังคมนิยม"

Karl Marx เขียนในปี 1875 ว่า “ในสังคมปัจจุบันเครื่องมือของแรงงานถูกผูกขาดโดยเจ้าของที่ดิน (การผูกขาดกรรมสิทธิ์ที่ดินถึงกับเป็น มูลฐานของการผูกขาดทุน - the monopoly of property in land is even the basis of the monopoly of capital) และนายทุน.
. . . . . . . . . . . . . . .
. . . ปกติชนชั้นนายทุนมิใช่เจ้าของที่ดิน แม้แต่ที่ดินอันเป็นที่ตั้งแห่งโรงงานของเขาเอง”
(จาก http://www.marxists.org/archive/marx/works/1875/gotha/ch01.htm )

มาร์กซ์เขียนจดหมายตอบ Friedrich Adolph Sorge เมื่อ 20 มิ.ย. ค.ศ.1881 วิจารณ์ว่า "Henry George เป็นคนล้าหลังอย่างสิ้นเชิง . . . คำสอนหลักของเขา คือทุกสิ่งจะเรียบร้อยถ้ามีการจ่ายค่าเช่าที่ดินให้แก่รัฐ ท่านจะเห็นได้ว่าการจ่ายค่าเช่าที่ดินแบบนี้มีอยู่แล้วในบรรดามาตรการ 'ช่วงเปลี่ยนผ่าน' ที่เขียนไว้ใน The Communist Manifesto . . . . "
(จาก http://www.marxists.org/archive/marx/works/1881/letters/81_06_20.htm)

ต่อมา มาร์กซ์ได้กล่าวว่า
"จากมุมมองของรูปแบบทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นของสังคม
การให้เอกชนบางคนมีกรรมสิทธิ์ในแผ่นดินโลกเป็นความเฉาโฉด
เหมือนกับการให้บุคคลหนึ่งมีกรรมสิทธิ์ในอีกบุคคลหนึ่ง
แม้แต่สังคมหนึ่ง หรือแม้แต่ทุกสังคมรวมกัน ก็ไม่ใช่เจ้าของแผ่นดินโลก
พวกเขาเป็นเพียงผู้ครอบครอง ผู้ใช้แผ่นดินโลก
และจะต้องส่งต่อไปยังชนรุ่นหลัง ๆ ในภาวะที่ดีขึ้น เสมือนบิดาที่ดีของครอบครัว"
(Das Kapital, vol. III, p. 901-2)

อนึ่ง จากเอกสารเรื่อง Henry George and Karl Marx ที่ Frank McEachran เสนอในการประชุมระหว่างประเทศของกลุ่มผู้นิยมจอร์จที่ลอนดอนในเดือนกันยายน ค.ศ.1936
(http://www.cooperativeindividualism.org/mceachran_hgeorge_and_kmarx.html )
มีข้อความตอนหนึ่งว่า พวกเสรีนิยมอ้าง และแม้แต่มาร์กซ์เองก็เห็นด้วย
ว่ามูลฐานหลักของการขูดรีดโดยทางประวัติศาสตร์คือ การกั้นรั้วล้อมที่ดิน
และถ้าที่ดินเป็นเสรีอย่างแท้จริง [น่าจะหมายถึงไม่ถูกเก็งกำไรเก็บกักไว้]
การผูกขาด “มูลค่าส่วนเกิน” ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ (The Liberals claim and even Marx himself agreed, that the fundamental basis of exploitation was "historically land enclosure and that if the land bad been really free no monopoly of "surplus value" could have grown up.)

ส่วนวินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยกล่าวว่า
"การผูกขาดที่ดินมิใช่การผูกขาดเพียงชนิดเดียว แต่ก็เป็นการผูกขาดที่ใหญ่หลวงที่สุด -
เป็นการผูกขาดตลอดกาล และ เป็นต้นกำเนิดของการผูกขาดอื่น ๆ ทุกรูปแบบ . . . "

"ที่ดิน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแหล่งที่มาแห่งทรัพย์สินทั้งสิ้น
ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งมีตำบลที่ทางภูมิศาสตร์คงที่
- ที่ดิน ข้าพเจ้าขอกล่าว แตกต่างจากทรัพย์สินในรูปแบบอื่น ๆ ทั้งมวล . . . . "

"ข้าพเจ้าหมายถึงกระบวนการมากกว่าตัวเจ้าของที่ดินแต่ละคน
ข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะทำให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังชนชั้นหนึ่งชั้นใดขึ้น
ข้าพเจ้ามิได้คิดว่าผู้ที่หาเงินจากส่วนเพิ่มจากที่ดินอันมิใช่เกิดจากการลงแรงลงทุนนั้นเลวกว่าบุคคลอื่นที่หากำไร
เท่าที่อาจจะหาได้ในโลกที่มีความลำบากนี้โดยไม่เป็นการผิดกฎหมายและเป็นไปตามที่ปฏิบัติกันทั่วไป
ที่ข้าพเจ้าโจมตีนั้นไม่ใช่บุคคล แต่เป็นระบบ ไม่ใช่บุคคลเลว แต่เป็นกฎหมายต่างหากที่เลว
ที่ควรจะถูกติเตียนนั้นไม่ใช่บุคคลผู้กระทำการอันกฎหมายได้อนุญาตไว้และผู้อื่นก็กระทำกัน
แต่ควรจะเป็นรัฐที่ถูกตำหนิหากไม่หาทางปฏิรูปกฎหมายและแก้ไขการปฏิบัติ
เราไม่ต้องการจะลงโทษเจ้าของที่ดิน แต่เราต้องการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย"
(www.progress.org/banneker/chur.html)

อมตวาจาของมหาตมา คานธี รวบรวมและแปลโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย
"เศรษฐศาสตร์ที่ปฏิเสธหรือไม่ยอมรับค่านิยมทางศีลธรรมหาใช่เศรษฐศาสตร์ไม่"

 

ความอยุติธรรมขั้น ฐานราก ของสังคม
คือ ระบบที่ปล่อยให้เจ้าของที่ดินได้ประโยชน์ไปจากการที่ที่ดินมีค่าเช่า/ราคาสูงขึ้น
ทั้ง ๆ ที่ความเป็นเจ้าของที่ดินไม่มีส่วนทำให้ที่ดินมีค่าเช่า/ราคาขึ้นมา
และไม่มีส่วนร่วมในการผลิตเหมือนผู้ทำงานและผู้ลงทุน
แต่กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกลับให้อำนาจที่จะเรียกเอาส่วนแบ่งจากการผลิต
ซ้ำร้ายการเก็บภาษีมูลค่าที่ดินน้อยเกินไปกลับไปทำให้ต้องเก็บภาษีจากการผลิตการค้ามาก
รวมทั้งภาษีเงินได้ (ลดรายได้สุทธิ) และภาษีมูลค่าเพิ่ม (เพิ่มรายจ่าย)

ปัจจัยการผลิตคือ 1.ที่ดิน 2.แรงงาน (สมอง, กาย) และ 3.ทุน
คนผู้หนึ่งอาจเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตได้หลายปัจจัย
แต่ในการวิเคราะห์ปัญหา เราต้องแยกฐานะเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งสามออกจากกัน
(ทั้งเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันและลัทธิมาร์กซ์มักไม่แยก ทุน กับ ที่ดิน ซึ่งมีข้อแตกต่างกันอย่างสำคัญ)

ที่ดินนั้นเจ้าของที่ดินไม่ใช่ผู้สร้าง และที่ดินมีค่าเช่า/ราคาขึ้นมาเพราะการกระทำของส่วนรวม
เช่น การมีประชากรเพิ่มทำให้ต้องขยายที่ทำกินออกจากชายขอบอันเดิม (ขอบริมแห่งการผลิต – margin of production)
ไปยังชายขอบอันใหม่ซึ่งให้ผลผลิตต่ำลงกว่าที่ดินชายขอบเดิม (นั่นคือให้ค่าแรงต่ำลง) ที่ดินเดิม ๆ ก็มีค่าเช่า/ราคาขึ้นมา
หรือ ในย่านที่มีผู้คนหนาแน่น น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีท่อระบายน้ำ การสื่อสาร การขนส่งรวดเร็วทันใจ
ค่าเช่า/ราคาที่ดินบริเวณนี้ก็ขึ้นสูง นี่ก็เพราะกิจกรรมของส่วนรวม รวมทั้งภาษีต่าง ๆ ที่พวกเขาเสียไปสร้างความเจริญ

ผลเสียที่ร้ายแรงใหญ่หลวง คือ การเก็งกำไรสะสมเก็บกักที่ดิน
ทำให้มีที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์หรือทำประโยชน์น้อยไปกระจายอยู่ทั้งในเมืองและนอกเมือง
และค่าเช่า/ราคาที่ดินยิ่งมีราคาสูง ซึ่งยิ่งลดผลตอบแทนต่อผู้ลงแรงและผู้ลงทุน
และเป็นการเบียดคนจนออกไปจากโอกาสที่จะเป็นเจ้าของที่ดิน
ต้องเช่าที่ดินคนอื่นเป็นที่พักอาศัยและที่ทำกินโดยเสียค่าเช่าแพง
ซ้ำยังต้องเสียภาษีทางอ้อมเมื่อซื้อของกินของใช้และสินค้าทุนสำหรับทำงานหาเลี้ยงชีวิต

การเก็งกำไรสะสมเก็บกักที่ดินยังมีผลถ่วงการผลิตอย่างมากด้วย
คือหาที่ดินทำกินได้ยาก แรงงานและทุนหางานทำได้ยากขึ้น
ต้องว่างงาน ค่าแรงต่ำ คนจนยิ่งช่วยเหลือตนเองได้น้อยลงไปอีก
กลายเป็นเหยื่อแก่นายทุนเงินกู้และนายทุนผู้จ้างอีกต่อหนึ่งโดยง่ายดาย
และยังทำให้ต้องสิ้นเปลืองภาษีเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสาธารณูปโภคขยายออกไปนอกเมือง
เพื่อบริการผู้คนที่สู้ราคาที่ดินในเมืองไม่ไหวต้องออกไปหาที่พักอาศัยห่างเมือง

นอกจากนั้นยังทำให้วัฏจักรเศรษฐกิจแกว่งตัวขึ้นลงรุนแรง ก่อความเสียหายใหญ่หลวงทั่วระบบเศรษฐกิจ

เพื่อประโยชน์และความมั่นคงของคนส่วนใหญ่ ที่ดินไม่ควรกลายเป็นสินค้า
ที่ซื้อขาย ให้เช่า หรือหาประโยชน์อื่น ๆ กันโดยไร้เงื่อนไขพิเศษจากรัฐ

เพราะที่ดินผิดกับทรัพย์สินอื่น ๆ ที่เกิดด้วยการลงแรงลงทุน เช่น สินค้า
ซึ่งเมื่อแพงขึ้นเพราะมีผู้ต้องการเพิ่ม ก็จะมีผู้ผลิตเพิ่มทำให้ราคากลับสู่ดุล
แต่ตำบลที่หรือทรัพยากรธรรมชาติผลิตเพิ่มไม่ได้ เมื่อความต้องการเพิ่ม ราคาจึงเพิ่ม

และถ้าเราต้องการผลิตทรัพย์สินชิ้นหนึ่ง เราก็จำเป็นต้องมีที่ดิน
ที่ดินเป็นแหล่งกำเนิดของทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
ถ้ามีการกักตุนสินค้า แม้จะเป็นจำนวนมาก ผู้อื่นสามารถผลิตเพิ่ม
แต่ถ้ากักตุนทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งที่มาของทรัพย์สิน – และที่ดิน สถานที่ซึ่งใช้ทำงาน
จะเป็นการกีดกันผู้อื่นมิให้ทำงานผลิต

ปฏิรูปที่ดินมีวิธีที่ง่าย ได้ผลดี และทั่วถึงจริง ๆ คือ ปฏิรูปภาษี
นั่นคือ ถ่ายเทภาระภาษีแบบค่อย ๆ ทำ
ลดภาษีจากการลงแรงและลงทุนผลิตและค้า
แล้วชดเชยโดยเพิ่มภาษีจากมูลค่าที่ดิน

ถ้าภาษีมูลค่าที่ดินสูง ที่ดินจะถูกเปิดออกหาคนทำงานในที่ดิน หรือถูกขายออกในราคาต่ำแทบเป็นศูนย์
คนก็จะหาที่ทำกินหรือหางานทำได้ง่ายขึ้น การว่างงานลด ค่าแรงเพิ่ม
ฝ่ายนายทุนจะกลับต้องง้อคนงาน เพราะคนงานบางส่วนจะสามารถหาซื้อที่อยู่ที่ทำกินเป็นของตนเอง
ถึงภาษีมูลค่าที่ดินจะสูง แต่ภาษีอื่น ๆ จะต่ำลงชดเชยกัน ราคาสินค้าจึงลดตาม
ค่าแรงเพิ่ม ราคาสินค้าลด ความยากจนก็ลด การสวัสดิการของรัฐจึงไม่ต้องใช้เงินมาก
ไม่ต้องใช้ระบบรัฐสวัสดิการที่เก็บภาษีเงินได้อัตราก้าวหน้าซึ่งทำให้ผู้คนท้อใจที่จะลงแรงลงทุน

น่าเศร้าที่ในระบบปัจจุบัน มีคนจำนวนมากเกิดเข้ามาสู่โลกนี้โดยไม่มีที่ดิน
จึงไม่มีสิทธิที่จะได้มีชีวิตอยู่อาศัยบนแผ่นดินโลกและทำมาหากินในแผ่นดินโลก
ยกเว้นแต่จะต้องจ่ายส่วยค่าใช้แผ่นดินให้แก่เจ้าของที่ดินแพงเกินจริงเพราะการเก็งกำไร
มิฉะนั้นก็จะต้องเนรเทศตนเองไปยัง ขอบริมแห่งการผลิต หรือที่ดินชายขอบอันแร้นแค้นทุรกันดารเกินควร
เพราะขยายออกไปมากเกินควรจากการเก็งกำไรที่ดิน ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะหาได้ก่อนอดตายหรือไม่
ข้อนี้ย่อมแสดงว่าเขาไม่มีโอกาสตามธรรมชาติเท่าเทียมกับผู้อื่น
แม้โอกาสตามธรรมชาติอันเป็นรากฐานแห่งการดำรงเลี้ยงชีวิตก็เหลื่อมล้ำกันเสียแล้ว
ไร้ความหมายที่จะกล่าวถึงคำขวัญโก้หรูที่ว่า “มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน” หรือ “ความเสมอภาค” !

ความผิดของพ่อแม่ที่ไม่ขวนขวายหรือไม่สามารถหาที่ดินไว้ให้ลูกหลานนั้น
สมควรจะให้ลูกหลานต้องรับกรรม รับชดใช้ ต้องแบ่งผลตอบแทนแห่งหยาดเหงื่อแรงงานของตน
ให้แก่ผู้ครองสิทธิเหนือแผ่นดินที่ตนอยู่อาศัยและทำกิน ทั้งที่ตนเองต้องขาดแคลนอยู่แล้ว กระนั้นหรือ ?

เฮนรี จอร์จจึงเสนอให้ยกเลิกภาษีทั้งหลายที่เก็บจากการทำงานและลงทุนผลิตและซื้อขายแลกเปลี่ยน
(ภาษีเหล่านี้คือตัวถ่วงการผลิตที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง)
และให้หันไปเก็บภาษีที่ดินแทนโดยถือเสมือนว่าเจ้าของที่ดินเป็นผู้เช่าที่ดินจากรัฐ
(ควรให้เวลานานหน่อย เพื่อมิให้เจ้าของที่ดินเดือดร้อนเกินไป
ค่อย ๆ ขึ้นภาษีที่ดินโดยใช้เวลาหลายสิบปีภาษีที่ดินจึงเท่าหรือใกล้เคียงกับค่าเช่า)

เท่าที่อธิบายมานี้นับว่าเป็นอย่างสั้นมาก ซึ่งฝรั่งที่เขาพยายามอธิบายสั้น ๆ มาก่อนก็ไม่ได้ผลมาแล้ว
แม้แต่เฮนรี จอร์จเองก็ล้มเหลวเมื่อเขียนหนังสือที่ยาวเพียง 48 หน้าชื่อ Our Land and Land Policy
มาได้รับความสนใจกลายเป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์ที่ขายดีที่สุดในขณะนั้นก็เมื่อขยายความออกจากเดิมมาเป็น
Progress and Poverty ความยาว 565 หน้า ใน ค.ศ.1879 ซึ่งเป็น "การสอบสวนภาวะตกต่ำทางอุตสาหกรรม
และการที่ความขาดแคลนเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการเพิ่มขึ้นของเศรษฐทรัพย์" และ วิธีแก้ไข
มีผู้แปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากมาย และผมก็แปลเป็นภาษาไทยด้วย ชื่อ ความก้าวหน้ากับความยากจน
รวมทั้งเขียนเองอีกเล่มหนึ่งสั้นหน่อย 140 หน้า ชื่อ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม – เศรษฐศาสตร์ที่ลงถึงราก

ระบบภาษีมูลค่าที่ดินมีใช้ที่ไหนบ้าง ?
ในโลกที่ไม่สมบูรณ์ของเรานี้ การมีหรือไม่มีประเทศใดใช้ระบบภาษีมูลค่าที่ดินมิใช่สิ่งแสดงว่าระบบภาษีมูลค่าที่ดินดีไหม แต่อาจแสดงว่า ชนชั้นนำมีความเป็นธรรมเพียงไร พลเมืองส่วนใหญ่รู้เรื่องที่พลเมืองควรรู้เพียงไหน ก็ได้

Where a Tax Reform Has Worked: 28 Case Summaries (ศลิษา ทองสังข์เรียบเรียงบางส่วนไว้ในบทความ บนผืนดินที่เป็นธรรม ที่ http://blogazine.prachatai.com/user/landless/post/1430)
สรุปภาษีมูลค่าที่ดินทั่วโลก
จอร์จิสต์ทั่วโลก

____________________________________________________
เว็บนี้เปิด 23 ก.พ. 2548 - 26 ต.ค. 2552 ที่ oocities.com/utopiathai
และเปิด 27 ก.ค. 2552 ที่ utopiathai.webs.com
ขอเชิญติดต่อกับ สุธน หิญ ผู้จัดทำเว็บไซต์
ยูโทเพียไทย ได้ที่ utopiathai@yahoo.com
หรือจะใช้ เว็บบอร์ด ก็เชิญได้เลยครับ