สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ
ประวัติความเป็นมา
	แผนการปรมาณูเพื่อสันติ เกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองจากข้อเสนอของประธานาธิบดี 
Eisenhower แห่งสหรัฐอเมริกา ณ ที่ประชุมสมัชชาสมัยที่ 8 ขององค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม
2496 หลังจากนั้น สหรัฐอเมริกาได้ส่งผู้แทนรัฐบาลไปยังประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย เพื่อแจ้งเกี่ยว
กับแผนการปรมาณูเพื่อสันตินี้ ซึ่งทำให้เกิดแนวคิดที่จะให้ประเทศไทยมีศูนย์วิจัยทางด้านพลังงานนิวเคลียร์ 
และมีเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูแบบวิจัยไว้ใช้งานเองขึ้น
	รัฐบาลในสมัยนั้น จึงได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการเกี่ยวกับพลังงานปรมาณู" ให้ทำหน้าที่เจรจาและ
ปรึกษาหารือกับคณะผู้แทนสหรัฐอเมริกาชุดนี้เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2497 และจัดให้มีการเจรจาขึ้นใน
ระหว่างวันที่ 6-8 ธันวาคม 2497 หลังจากคณะกรรมการฯ ทำรายงานเสนอคณะรัฐมนตรีแล้ว คณะรัฐมนตรี
ได้มีมติให้คณะกรรมการฯ ดำเนินกิจการด้านพลังงานปรมาณูเพื่อสันติต่อไป
	จากผลสืบเนื่องของการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ ในวันที่ 13 มีนาคม 2499 ได้มีการ
ลงนามในเอกสาร "ความตกลงสำหรับการร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐ
อเมริกา เกี่ยวกับการใช้พลังงานปรมาณูทางพลเรือน" ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 12 
มีนาคม 2504
	ต่อมาในวันที่ 21 เมษายน 2499 คณะรัฐมนตรี ได้กำหนดให้เรียกชื่อคณะกรรมการฯ ใหม่ว่า 
"คณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (พ.ป.ส.)" มีหน้าที่รับผิดชอบและดำเนินการวางรากฐานกิจกรรม
ด้านพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย โดยมี พล.อ.ท.มุนี มหาสันทนะ เวชยันตรังสฤษฎ์ เป็นประธานคณะ
กรรมการฯ และดร.จ่าง รัตนะรัต เป็นเลขาธิการฯ พร้อมทั้งแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 4 คณะ ประกอบด้วย 
คณะอนุกรรมการว่าด้วยการวิจัย ว่าด้วยการพลังงาน ว่าด้วยไอโซโทปรังสีในการแพทย์และเภสัชกรรม และ
คณะอนุกรรมการว่าด้วยไอโซโทปรังสีในการเกษตร รวมทั้งสิ้น 58 คน
	ภายหลังจากที่ประชุมใหญ่องค์การสหประชาชาติได้ให้การรับรอง ธรรมนูญของทบวงการพลัง-
งานปรมาณูระหว่างประเทศ ในวันที่ 26 ตุลาคม 2499 พร้อมทั้งได้จัดตั้ง "ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่าง
ประเทศ (International Atomic Energy Agency)" ขึ้นโดยรัฐบาลไทยก็ได้ยื่นสัตยาบันสารรับรองธรรมนูญ
ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ เป็นสมาชิกลำดับที่ 58 ของทบวงการฯ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 
2500
	ต่อมา คณะกรรมการ พ.ป.ส. ได้พิจารณาเห็นว่า ประเทศไทยสมควรมีเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู 
พร้อมทั้งห้องปฏิบัติการด้านนิวเคลียร์ของตนเอง เพื่อสามารถขยายงานให้กว้างขวางต่อไปได้ จึงได้เสนอแนะ
ให้รัฐบาลจัดตั้งหน่วยงานราชการขึ้นเพื่อดำเนินการนี้ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบด้วย
	สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ จึงได้ถือกำเนิดขึ้น เมื่อรัฐบาลได้ประกาศใช้ "พระราชบัญญัติ
พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ 2504 และพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 8) 
พ.ศ. 2504 ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 78 ตอนที่ 36" มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2504 นับเป็นการ
จัดตั้ง "สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ" ขึ้น โดยอยู่ภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และต่อมาได้มีการ
ย้ายสังกัดไปยังกระทรวงต่าง ๆ ตามลำดับดังนี้
	พ.ศ. 2504-2506		สังกัด	สำนักนายกรัฐมนตรี
	พ.ศ. 2506-2515		สังกัด	กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ
	พ.ศ. 2515-2522		สังกัด	กระทรวงอุตสาหกรรม
	พ.ศ. 2522-2535		สังกัด	กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน
	พ.ศ. 2535-ปัจจุบัน		สังกัด	กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
	ปัจจุบัน สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ตั้งอยู่เลขที่ 16 ถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร 
กรุงเทพมหานคร 10900 โทร. 0-2579-523
แผนที่สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ

แผนที่สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ