อาหารกับการฉายรังสี
ฉลากอาหารที่ได้ผ่านการฉายรังสีแล้ว
อาหารเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์ อาหารส่วนหนึ่งที่มนุษย์ใช้บริโภคได้มาจากพืช ทั้งล้มลุกและยืนต้น ซึ่งจำเป็นต้องใช้แสงอาทิตย์ (พลังงานในรูปคลื่นแม่เหล็ไฟฟ้า) ในการสังเคราะห์แสง เพื่อการเจริญเติบโต ในการผลิตและเก็บรักษาอาหารไว้บริโภคมนุษย์ก็รู้จักใช้คลื่นแสงในการทำแห้ง ใช้คลื่น ความร้อน (อินฟราเรด) ในการอบและย่าง และใช้คลื่นไมโคร (ไมโครเวฟ) ในการอุ่นหรือหุงต้ม เหล่านี้ล้วนแต่ เป็นการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทั้งสิ้นซึ่งมีอยู่รอบตัวเรา การฉายรังสีอาหารก็เป็นการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่นเดียวกัน แต่เป็นคลื่นที่มีความยาวคลื่นสั้นกว่าและความถี่สูงกว่า
คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ ที่นำมาใช้กับอาหาร คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ ที่นำมาใช้กับอาหาร
การฉายรังสีอาหารเป็นเทคโนโลยีค่อนข้างใหม่ แม้ว่าจะได้มีการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวาง และ มากกว่าเทคโนโลยีอื่นใดที่ใช้ในการผลิตและเก็บรักษาอาหาร การนำมาใช้ประโยชน์ก็ยังอยู่ในวงจำกัดไม่เป็น ที่แพร่หลายนัก จนกระทั่งในระยะ 10 ปีที่ผ่านมานี้เองที่การใช้เริ่มขยายวงกว้างขึ้นเป็น 29 ประเทศ จาก 40 ประเทศ ที่มีกฎหมายอนุญาตให้ฉายรังสีอาหารได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าการฉายรังสีเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับ การพิสูจน์แล้วว่า 1. ปลอดภัย กล่าวคือ องค์การอนามัยโลก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ได้สรุปผลการทดสอบความปลอดภัยของอาหารฉายรังสี ในปี พ.ศ. 2523 ว่าอาหารใด ๆ ก็ตามที่ผ่านการฉายรังสีในปริมาณเฉลี่ยไม่เกิน 10 กิโลเกรย์ ไม่ก่อให้เกิดโทษ อันตราย ไม่ก่อให้เกิดปัญหาพิเศษทางโภชนาการและจุลชีววิทยา และไม่จำเป็นต้องทดสอบความปลอดภัย อีกต่อไป และจากข้อสรุปนี้ โครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศของเอฟเอโอ/ดับบลิวเอชโอ (โคเด็กซ์) ซึ่งมีสมาชิก 151 ประเทศ ก็ได้ประกาศรับรองมาตรฐานอาหารฉายรังสี และวิธีอันพึงปฏิบัติในการฉายรังสี อาหาร ในปี พ.ศ. 2526 เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการฉายรังสีอาหาร 2. มีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโรค พยาธิและแมลง จึงเหมาะที่จะนำมาใช้บรรเทาปัญหา โรคติดเชื้อจากอาหาร ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และใช้ทดแทนการใช้สารเคมีบางชนิดที่ห้ามใช้แล้ว เช่น เอทธิลีนไดโบรไมด์และเอทธิลีนออกไซด์ องค์การอนามัยโลกเห็นว่าการฉายรงสีอาหารเป็นกรรมวิธีที่มี ศักยภาพในการเพิ่มอาหารที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นผลดีในด้านสาธารณสุขมูลฐาน 3. สามารถควบคุมการแพร่พันธุ์ของแมลง ควบคุมการงอกและชะลอการสุก การเน่าเสียของ ผลิตผลการเกษตรบางชนิด จึงมีส่วนดีในด้านการลดการสูญเสียของอาหารเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลน ของอาหาร แม้ว่าจะมีการใช้เพิ่มมากขึ้นในหลายก็ตามแต่ชนิดและปริมาณการผลิตของอาหารฉายรังสียังมี ไม่มากเท่าที่ควร ปีละประมาณ 500,000 ตันเท่านั้นทั้งโลก เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ยังขาดความรู้ที่ถูกต้อง เกี่ยวกับอาหารฉายรังสีและไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใช้เทคโนโลยีการฉายรังสีกับอาหาร
ข้อมูลเกี่ยวกับการฉายรังสีอาหาร 1. ชนิดของรังสีที่อนุญาตให้ใช้ 1.1 รังสีแกมมาจากสารกัมมันตรังสี เช่น โคบอลต์ -60 หรือซีเซียม -137 1.2 รังสีเอกซ์จากเครื่องผลิตรังสีเอกซ์ที่ทำงานด้วยระดับพลังงานที่ไม่สูงกว่า 5 ล้านอิเล็กตรอน โวลต์ 1.3 อิเล็กตรอน จากเครื่องผลิตอิเล็กตรอนที่ทำงานด้วยระดับพลังงานไม่สูงกว่า 10 ล้านอิเล็กตรอน โวลต์ รังสีที่อนุญาตให้ใช้นั้นมีระดับพลังงานไม่สูงพอที่จะทำให้สารที่เป็นองค์ประกอบของอาหารกลายเป็น สารกัมมันตรังสี มีความสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาไอออนไนเซชั่นได้ (ปฏิกิริยาไอออนไนเซชั่น คือ ปฏิกิริยาซึ่ง อิเล็กตรอนตัวหนึ่งหรือมากกว่าถูกขับออกจากอะตอมโดยพลังงาน) และมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกัน ดังนั้นในการเลือกใช้จึงต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์และความพร้อม กล่าวคือ รังสีแกมมามีความสามารถ ในการทะลุทะลวงผ่านอาหารได้มากจึงเหมาะที่จะใช้กับอาหารที่บรรจุกล่องหรือหีบห่อขนาดใหญ่ได้ แต่รังสี แกมมาจะถูกปล่อยจากต้นกำเนิดตลอดเวลาในทุกทิศทางไม่ว่าจะใช้งานหรือไม่จึงไม่เหมาะที่จะใช้ในกรณีที่มี ผลิตผลป้อนโรงงานน้อยหรือใช้ร่วมกับกระบวนการผลิตได้ ในขณะที่อิเล็กตรอนนั้นมีความสามารถในการ ทะลุทะลวงต่ำและใช้กระแสไฟฟ้าสูง จึงไม่เหมาะที่จะใช้กับอาหารที่มีความหนามากและในพื้นที่ที่ค่าไฟฟ้า สูง แต่ลำอิเล็กตรอนพุ่งออกมาในทิศทางเดียวกันและสามารถเปิดปิดได้ตามต้องการจึงเหมาะสมที่จะใช้ร่วม กับกระบวนการผลิตได้ สำหรับรังสีเอกซ์นั้น ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในกระบวน การผลิตอาหาร 2. กระบวนการฉายรังสีอาหาร การฉายรังสีอาหารเป็นกระบวนการผลิตเช่นเดียวกับกระบวนการผลิตอาหารโดยการใช้ความร้อน หรือการแช่แข็ง กระบวนการฉายรังสีนั้นคือการนำอาหารที่บรรจุในภาชนะหรือหีบห่อที่เหมาะสมไปผ่านรังสี ในห้องกำบังรังสีตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และปริมาณรังสีที่ใช้ อาหารที่ผ่านการฉาย รังสีตามปริมาณที่กำหนดจะไม่มีรังสีตกค้างแต่ประการใด จึงไม่ก่อให้เกิดอันตราย แม้ว่าจะก่อให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงทางเคมีบ้างแต่ยังน้อยกว่าที่เกิดขึ้นจากการใช้กระบวนการอื่นซึ่งยอมรับและใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น การใช้ความร้อน การใช้สารเคมี และการแช่แข็ง 3. การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการฉายรังสีอาหาร 3.1 การเปลี่ยนแปลงทางเคมี เมื่อรังสีทะลุผ่านอาหาร รังสีจะถ่ายเทพลังงานบางส่วนให้โมเลกุลต่าง ๆ ทำให้เกิดการแตกตัวเป็น โมเลกุลที่มีประจุไฟฟ้า (ปฏิกิริยาไอออนไนเซชั่น) สำหรับในอาหารซึ่งมีน้ำประกอบอยู่ด้วยนั้นก็จะเกิดปฏิกิริยา เรดิโอไลซิสได้อนุมูลอิสระ อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นนี้มีอายุสั้นเพียง 1/1000 วินาทีเท่านั้น เมื่อเกิดแล้วก็สลายตัว ไปอย่างรวดเร็ว โดยการทำปฏิกิริยากับโมเลกุลที่เป็นองค์ประกอบของอาหารได้โมเลกุลที่เล็กลงหลายโมเลกุล เรียกรวมกันว่า เรดิโอไลติกโปรดัก การใช้ความร้อนก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีขึ้นเช่นกัน ได้อนุมูล อิสระและสารต่าง ๆ แต่เรียกรวมกันว่าเทอร์โมไลติกโปรดัก จากการเปรียบเทียบเรดิโอไลติกโปรดักกับเทอร์โม ไลติกโปรดัก ก็พบว่าสารส่วนใหญ่เป็นชนิดเดียวกัน และเป็นสารที่ตรวจพบได้ในอาหารที่ไม่ได้ฉายรังสี การ ศึกษาชนิดและความเข้มข้นของเรดิโอไลติกโปรดัก ก็พบว่ามีปริมาณน้อยมาก (พี.พี.เอ็ม.) และไม่ก่อให้เกิด อันตราย ดังนั้นเรดิโอไลติกโปรดัก จึงไม่ได้หมายความว่าเป็นสารใหม่ สารรังสีหรือสารมีพิษดังที่เข้าใจกัน 3.2 การเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยา รังสีจะไปทำลายยีน (gene) และรบกวนการแบ่งเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเป็นผลให้จุลชีพเช่น บักเตรี เชื้อรา ยีสต์ พยาธิ และแมลง ตายหรือเป็นหมันได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ใช้ ชนิดและจำนวนของจุลชีพ สำหรับในพืชนั้นรังสีจะทำให้อัตราการหายใจและกระบวนการทางชีวเคมีเปลี่ยนไป ทำให้ผลไม้บางชนิดสุก ช้าลง มันฝรั่งและหอมหัวใหญ่ไม่งอก และเห็ดไม่บาน เป็นต้น 3.3 การเปลี่ยนแปลงทางคุณค่าของอาหาร การฉายรังสีสามารถทำให้คุณค่าของอาหารเปลี่ยนไปได้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ของอาหาร ปริมาณรังสีที่ใช้ และปัจจัยบางชนิด เช่น การมีหรือไม่มีออกซิเจน และอุณหภูมิขณะทำการฉาย รังสี องค์ประกอบหลักของอาหาร ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมันมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากเมื่อ ฉายรังสีในปริมาณไม่เกิน 10 กิโลเกรย์ การฉายรังสีในปริมาณไม่เกิน 1 กิโลเกรย์ ไม่ทำให้วิตามินสูญเสียไป อย่างมีนัยสำคัญ แต่ถ้าฉายรังสีระหว่าง 1-10 กิโลเกรย์ จะทำให้วิตามินบางชนิด เช่น วิตามิน บี 1, เอ, อี และเค สูญเสียไปบ้าง ถ้าไม่มีการกำจัดอากาศออกในระหว่างการฉายรังสีและการเก็บรักษา อย่างไรก็ตาม การสูญเสียมีน้อยกว่าหรือเทียบได้กับกรรมวิธีอื่น เช่น การใช้ความร้อนในการ ต้ม อบ ทอด หรือตากแห้ง 3.4 การเปลี่ยนแปลงทางประสาทสัมผัส การฉายรังสีอาจทำให้กลิ่น สี และเนื้อสัมผัสของอาหารเปลี่ยนไปได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร ปริมาณรังสีที่ใช้ และอุณหภูมิขณะทำการฉายรังสี ดังนั้นปริมาณรังสีที่เหมาะสมสำหรับอาหารแต่ละชนิดจึง แตกต่างกัน การฉายรังสีอาหารตามปริมาณที่กำหนดจะไม่ทำให้คุณภาพทางประสาทสัมผัสของอาหาร เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับอาหารประเภทนมและผลิตภัณฑ์นั้นไม่เหมาะสมที่จะนำมาฉายรังสี เพราะจะทำให้เกิดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงทางประสาทสัมผัสนั้น ในบางกรณี ก็เป็นประโยชน์ เช่น การฉายรังสีผลไม้และผักแห้ง เพื่อทำให้เนื้อสัมผัสอ่อนตัว ซึ่งจะทำให้ใช้เวลาน้อยลง ในการทำให้คืนรูปหรือการหุงต้ม 4. วิธีอันพึงปฏิบัติในการฉายรังสีอาหาร หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหารทั่ว ๆ ไป สามารถนำมาใช้ได้กับการผลิตอาหารฉาย รังสี กล่าวคือ จะต้องมีการควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบ การบรรจุ กระบวนการผลิต และการเก็บรักษา อาหารที่จะนำมาฉายรังสีจะต้องถูกสุขลักษณะ มีคุณภาพยอมรับได้ และมีจุลินทรีย์ในปริมาณที่ เหมาะสม หลังจากปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต อาหารจะต้องบรรจุในถุงพลาสติกหรือ ภาชนะบรรจุที่เหมาะสม ที่ภาชนะบรรจุต้องติดฉลากตามที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา อาหารจะต้องเก็บรักษาหรือขนส่งภายใต้อุณหภูมิที่เหมาะสม เช่น อาหารแช่แข็ง จะต้องควบคุม อุณหภูมิไม่ให้สูงกว่า -18 องศาเซลเซียส ส่วนอาหารสดที่เน่าเสียง่ายนั้นควรเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 3.3 องศา- เซลเซียส หรือต่ำกว่าและไม่ควรเก็บไว้นานกว่า 1 วัน ในขณะทำการฉายรังสี จะต้องทำการควบคุมอุณหภูมิของอาหารให้เปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดและจะ ต้องควบคุมเวลาที่ใช้ในการฉายรังสี และตรวจวัดปริมาณรังสีที่ได้รับของอาหารแต่ละชนิดให้เป็นไปตามที่ กำหนดและเก็บรักษาบันทึกนั้นไว้ บันทึกต่าง ๆ ในการฉายรังสีควรแสดงชนิด ปริมาณ ลักษณะการบรรจุ และความหนาแน่นของผลิตภัณฑ์ ต้นกำเนิดรังสีและเครื่องวัดปริมาณรังสีที่ใช้ ปริมาณรังสีที่ได้รับและวันที่ ฉายรังสี เมื่อมีการดัดแปลงความแรงของต้นกำเนิดรังสีหรือเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของต้นกำเนิดรังสีและ ผลิตภัณฑ์ หรือเปลี่ยนชนิดของผลิตภัณฑ์จะต้องทำการวัดปริมาณรังสีที่ผลิตภัณฑ์นั้นได้รับทุกครั้ง หลังจากการฉายรังสีแล้ว จะต้องแยกอาหารที่ผ่านการฉายรังสีออกจากส่วนที่ยังไม่ได้ฉายรังสี โดยการทำเครื่องหมายไว้ที่ภาชนะบรรจะหรือหีบห่อแต่ละหน่วย หรือโดยการติดกระดาษสีไว้ที่ภาชนะบรรจุ ก่อนการฉายรังสี ซึ่งจะเปลี่ยนสีหลังจากผ่านการฉายรังสีแล้ว และจะต้องขนส่งหรือเก็บรักษาอาหารไว้ใน อุณหภูมิที่เหมาะสมแล้วแต่ชนิดของผลิตภัณฑ์ อาหารที่ผ่านการฉายรังสีแล้วจะต้องติดฉลากตามประกาศ กระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 103 (พ.ศ. 2529) และต้องไม่นำมาฉายรังสีซ้ำอีก 5. กฎหมายอาหารฉายรังสี ประเทศไทยได้มีประกาศควบคุมการฉายรังสีหอมหัวใหญ่เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2516 ต่อมา ได้มีการแก้ไขในปี พ.ศ. 2522 โดยกำหนดในลักษณะของประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 9 เรื่อง กำหนดอาหารฉายรังสีเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ และฉบับที่ 10 เรื่อง กำหนดหอมหัวใหญ่ฉายรังสีเป็น อาหารควบคุมเฉพาะและได้มีการแก้ไขอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2529 เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางของมาตรฐาน โคเด็กซ์ โดยออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 103 เรื่อง "กำหนดวิธีการผลิตอาหารซึ่งมีการใช้ กรรมวิธีการฉายรังสี" ซึ่งมีสาระสรุปได้ดังนี้ การฉายรังสีอาหาร หมายความถึง กระบวนการถนอมอาหารโดยการใช้รังสี การฉายรังสีอาหาร จะต้องดำเนินการในสถานที่และใช้เครื่องมือที่ได้รับอนุญาตแล้ว ชนิดของรังสีที่อนุญาตให้ใช้คือ รังสีแกมมา รังสีเอกซ์และอิเล็กตรอน ผู้ฉายรังสีอาหารจะต้องควบคุมให้อาหารที่ฉายรังสีได้รับปริมาณรังสีที่เพียงพอ ตามวัตถุประสงค์ และปริมาณรังสีเฉลี่ยที่อาหารได้รับต้องไม่สูงกว่า 10 กิโลเกรย์ เครื่องหมายอาหารฉายรังสี อาหารฉายรังสีต้องมีฉลากแสดงข้อความและเครื่องหมาย ว่าผ่านการฉาย รังสีแล้วพร้อมทั้งระบุวัตถุประสงค์ในการฉายรังสี ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตและผู้ฉายรังสี และวันเดือนปีที่ทำการฉายรังสีเพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบและมีโอกาสเลือกซื้อ ชนิดของอาหารที่อนุญาตให้ฉายรังสีได้มี 18 รายการ เช่น หอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง มะม่วง มะละกอ ข้าวสาร แหนม และเครื่องเทศ เป็นต้น และปริมาณรังสีเฉลี่ยสูงสุดที่อนุญาตมีตั้งแต่ 0.5 ถึง 10 กิโลเกรย์ 6. แนวทางการใช้รังสี 6.1 ควบคุมการงอกของพืชผักในระหว่างการเก็บรักษา การฉายรังสีหอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง และกระเทียมด้วยปริมาณรังสีระหว่าง 0.05-0.12 กิโลเกรย์ สามารถควบคุมการงอกและลดการสูญเสียน้ำหนักในระหว่างการเก็บรักษาในห้องเย็นได้นานกว่า 6 เดือน ผลิตผลที่จะนำมาฉายรังสีจะต้องมีคุณภาพดี บรรจุอยู่ในลังไม้โปร่งและมีอายุหลังจากเก็บเกี่ยวไม่เกิน 1 เดือน ความจำเป็นในการใช้รังสีก็เพราะการงอกเป็นปัญหาที่สำคัญของการสูญเสียนอกเหนือจากการเน่า ทำให้เกิดการขาดแคลน ราคาสูง และมีการนำเข้าจากต่างประเทศในช่วงนอกฤดูกาล อีกประการหนึ่ง ก็คือ สารระงับการงอก (มาเลอิกไฮคราไซด์) ถูกห้ามใช้ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เนื่องจากปัญหาสารพิษตกค้าง 6.2 ควบคุมการแพร่พันธุ์ของแมลงในระหว่างการเก็บรักษา หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ได้มีมาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ ระบาดของแมลงที่อาจติดไปกับสินค้านำเข้า การแก้ปัญหาที่นิยมใช้คือ การรมควันด้วยเอทธิลีนไดโบรไมด์ หรือ การใช้ยาฆ่าแมลง เนื่องจากวิธีดังกล่าวเป็นอันตรายต่อผู้ใช้และมีสารพิษตกค้างก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ของผู้บริโภค และเพิ่มมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อม หลายประเทศจึงห้ามใช้หรือจำกัดการใช้ ในอนาคตอันใกล้นี้ เมธิลโบรไมด์ ซึ่งนิยมใช้กันมากสำหรับรมฆ่าแมลงก็จะถูกระงับการใช้เนื่องจากเป็นตัวการทำลายชั้นโอโซนใน บรรยากาศ การใช้รังสีจะเป็นวิธีทดแทนและนำมาใช้กันมากขึ้นในอนาคตเพื่อช่วยลดปัญหาต่าง ๆ ดังนี้ 1. ปัญหาการสูญเสียของอาหารและผลิตผลการเกษตรอันเนื่องมาจากการเจาะทำลายของแมลง เช่น ในข้าวสาร ถั่วเขียว ปลาแห้ง ปลารมควันและมะขามหวาน 2. ปัญหาสารพิษตกค้างในอาหารอันเนื่องมาจากการใช้สารเคมี 3. ปัญหาการถูกกักกันหรือทำลายทิ้ง อันเนื่องมาจากสินค้านั้นมีแมลงวันทอง เช่น ในมะม่วง ปัญหาดังกล่าวข้างต้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก เพราะอยู่ในเขตร้อนมี ฝนตกชุกและความชื้นสูง จึงเหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชและแมลงต่าง ๆ ทำให้มีการสูญเสียมากประมาณ ได้ร้อยละ 25 นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากสหรัฐอเมริกากักกันถั่วเขียว ของไทยถึงร้อยละ 43-81 และธัญพืชร้อยละ 3-42 ในปี พ.ศ. 2526-2528 การฉายรังสีผลิตผลดังกล่าวด้วยปริมาณรังสีระหว่าง 0.2-0.7 กิโลเกรย์ สามารถทำลายไข่แมลง และควบคุมการเจริญแพร่พันธุ์ของแมลงอย่างได้ผล ทั้งนี้ผลิตผลนั้นจะต้องบรรจุในภาชนะหรือหีบห่อที่ เหมาะสม เพื่อป้องกันการเข้าทำลายซ้ำของแมลงจากภายนอก 6.3 ยืดอายุการเก็บรักษาของอาหารสด อาหารสด เช่น อาหารทะเล เนื้อสัตว์ และผลไม้ มีอายุการเก็บรักษาสั้น เสียคุณภาพเร็ว เนื่องจาก การเจริญเติบโตของบักเตรี รา และยีสต์ และจากการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางชีวเคมี การฉายรังสีอาหาร ทะเลและเนื้อสัตว์ด้วยปริมาณรังสี 1-3 กิโลเกรย์ จะช่วยลดบักเตรีลงได้หลายเท่าทำให้เก็บรักษาได้นานขึ้น แต่ต้องใช้ความเย็นเข้าช่วยด้วยหลังจากการฉายรังสี อายุการเก็บของมะม่วงจะนานขึ้นอีก 1 สัปดาห์ และ กล้วยอีก 2 สัปดาห์ ถ้าหากฉายรังสีด้วยปริมาณ 0.3-1.0 กิโลเกรย์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์และความแก่อ่อนขณะ เก็บเกี่ยว รังสีปริมาณ 1-2 กิโลเกรย์ สามารถชะลอการบานของเห็ด ทำให้อายุการวางตลาดเพิ่มขึ้น 6.4 ทำลายเชื้อโรคและพยาธิในอาหาร โรคอุจจาระร่วงเป็นโรคติดเชื้อจากอาหารที่มีผู้ป่วยกันมาก มีสาเหตุมาจากการบริโภคอาหารเนื้อสัตว์ ที่ไม่สะอาดและมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค เช่น ซัลโมเนลลา นอกจากปัญหาเชื้อโรคแล้วเนื้อสัตว์ยังมีพยาธิอีก ด้วย เช่น พยาธิตัวกลม การมีเชื้อโรคและพยาธิในอาหารเป็นปัญหาที่สำคัญทางสาธารณสุขและเป็นสาเหตุ หลักของโรคติดเชื้อจากอาหารของมนุษย์ทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และการส่งออก ปัจจุบัน ยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะผลิตเนื้อ สัตว์ปีกและเนื้อหมูให้ปราศจากเชื้อโรคและพยาธิได้ การใช้รังสีแกมมากำจัด เชื้อโรคและพยาธิเพื่อส่งเสริมสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคและส่งเสริมการส่งออก จึงนับว่าเป็นประโยชน์และ สมควรกระทำเพราะการถูกกักกันกุ้งแช่แข็งของไทย ในสหรัฐอเมริกามีมากถึงเกือบพันตันในแต่ละปี แหนมเป็น อาหารซึ่งคนไทย นิยมบริโภคดิบโดยไม่ผ่านความร้อน และเนื้อไก่ ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตเพื่อส่งออกสูง มัก จะมีการปะปนของเชื้อซัลโมเนลลาซึ่งอาจจะมาจากตัวของสัตว์เองหรือจากกระบวนการแปรรูป รังสีปริมาณ 2-3 กิโลเกรย์ เพียงพอที่จะทำลายเชื้อซัลโมเนลลาในแหนม กุ้งแช่แข็งและเนื้อไก่ได้โดยไม่ทำให้คุณลักษณะ ของผลิตภัณฑ์เปลี่ยนแปลง เครื่องเทศ เครื่องปรุงรสและเอนไซม์ต่างก็มีปัญหาการปะปนของบักเตรี เชื้อโรค และเชื้อราในปริมาณสูง การรมควันด้วยเอทธิลีนออกไซด์ถูกกำจัดการใช้หรือห้ามใช้ในบางประเทศ เพราะเป็น อันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคและมีปัญหาด้านมลภาวะ การฉายรังสีด้วยปริมาณรังสี 5-10 กิโลเกรย์ จะลด ปริมาณจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานได้ โดยไม่ทำให้กลิ่นและคุณภาพเปลี่ยนไป รังสีปริมาณต่ำเพียง 0.15 กิโลเกรย์ สามารถหยุดการเจริญเติบโตของพยาธิที่อาจมีในเนื้อหมู ซึ่งเป็นวัตถุดิบ ในการทำแหนม พยาธิใบไม้ตับที่มีในปลาดิบ ก็สามารถถูกทำลายได้โดยการใช้รังสีในปริมาณต่ำ 7. ประโยชน์ของการฉายรังสีอาหาร 1. ลดการสูญเสียของอาหาร สามารถรักษาระดับราคาไม่ให้แตกต่างกันมากนักทั้งในฤดูและนอก ฤดูการผลิต 2. เสริมสร้างหลักประกันด้านความสะอาดปลอดภัยจากเชื้อโรค พยาธิ และสารเคมี ทำให้สุขภาพ อนามัยของประชาชนดีขึ้นเป็นผลดีทางด้านสาธารณสุขมูลฐาน 3. ยืดอายุการเก็บรักษาและการวางตลาด ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เช่น ใช้ทางเรือหรือ รถยนต์แทนทางเครื่องบิน และค่าใช้จ่ายจากการที่อาหารต้องเน่าเสียไปก่อนเวลาอันควรนับว่าเป็นประโยชน์ต่อ ผู้ผลิต ผู้ขายปลีก และผู้บริโภคเพราะต้นทุนถูกลง 4. ประหยัดพลังงาน พลังงานจากการฉายรังสีที่ 10 กิโลเกรย์ เทียบได้เท่ากับพลังงานจากความร้อน ที่ใช้ในการทำให้อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นเพียง 2.4 องศาเซลเซียส เท่านั้น 5. ไม่ทำให้คุณลักษณะภายนอกเปลี่ยนแปลง ก่อนฉายรังสีเป็นอย่างไร หลังฉายรังสีก็เป็นเช่นนั้น สดเหมือนเดิม 6. ขยายตลาดการค้า สามารถส่งไปจำหน่ายในท้องที่ห่างไกลจากแหล่งผลิตได้มากขึ้น 7. ทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพเป็นไปตามกำหนดมาตรฐาน เป็นการส่งเสริมการส่งออก 8. ลดปัญหาการถูกกักกัน ทำให้ภาพพจน์ของสินค้าดีขึ้น 9. ปรับปรุงคุณสมบัติทางเทคนิคของอาหารทำให้ได้ผลผลิต (ยีลด์) สูงขึ้น 8. ข้อกำจัดของการใช้รังสี 1. ไม่สามารถใช้กับอาหารทุกชนิดได้ อาหารที่มีโปรตีนสูงและน้ำมาก เช่น นมและผลิตภัณฑ์ไม่ เหมาะที่จะนำมาฉายรังสี เพราะทำให้เกิดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ 2. อาจทำให้เนื้อสัมผัสของผลไม้ และสีของเนื้อสัตว์บางชนิดเปลี่ยนไป ทำให้ปริมาณรังสีที่เหมาะ- สมในการใช้มีช่วงค่อนข้างจำกัด 3. ไม่สามารถทำลายสารพิษที่มีอยู่ในอาหารแล้วได้ 4. จำเป็นต้องใช้ความเย็นหรือความร้อนร่วมด้วยในบางกรณี เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด 5. ใช้เงินลงทุนสูงสำหรับการสร้างโรงงานฉายรังสีแต่ค่าใช้จ่ายต่อหน่วยต่ำ จำเป็นต้องมีผลิตภัณฑ์ มากพอสำหรับป้อนโรงงานจึงจะคุ้มทุน 6. ผู้บริโภคยังกลัวไม่กล้าบริโภคอาหารฉายรังสีเพราะขาดความรู้ที่ถูกต้อง และไม่เข้าใจว่าทำไมต้อง ฉายรังสี 7. ยังไม่มีวิธีการตรวจสอบที่ได้ผลสมบูรณ์ เพื่อแสดงว่าอาหารผ่านการฉายรังสีแล้ว นอกเหนือจาก มาตรการควบคุมกระบวนการผลิตภายในโรงงาน 8. กฎหมายอาหารฉายรังสียังไม่สอดคล้องกันเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ 9. ตลาดการค้ายังอยู่ในวงจำกัด ทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุน 9. อุตสาหกรรมอาหารฉายรังสี การฉายรังสีอาหารในเชิงพาณิชย์และกึ่งอุตสาหกรรมได้กระทำกันใน 29 ประเทศ ชนิดของอาหาร ที่ได้รับความนิยมนำมาฉายรังสีมากที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่ เครื่องเทศและเครื่องปรุงรส ซึ่งมีการฉายรังสีใน ประเทศต่าง ๆ ถึง 25 ประเทศ ปีละกว่า 60,000 ตัน รองลงมาได้แก่ มันฝรั่ง หอมหัวใหญ่ เนื้อสัตว์ ธัญพืช และผลไม้ สำหรับธัญพืชนั้น ประเทศสหภาพโซเวียตได้ทำการฉายรังสีข้าวสาลีเพื่อทำลายไข่แมลงในเชิง อุตสาหกรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 คิดเป็นปริมาณหลายล้านตัน กุ้งแช่แข็ง ขากบแช่แข็ง และเครื่องเทศเป็น อาหารที่ประเทศเนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยม ทำการฉายรังสีปีละกว่า 2 หมื่นตัน ประเทศฝรั่งเศสมีโรงงานฉาย รังสีที่ดำเนินการแล้ว 5 แห่ง ได้ทำการฉายรังสีเครื่องเทศ เครื่องปรุงรส ขากบแช่แข็ง และเนื้อไก่ถอดกระดูก ในเชิงพาณิชย์ เยอรมนีตะวันออกทำการฉายรังสีหอมหัวใหญ่ ปีละประมาณ 6,000 ตัน ญี่ปุ่นทำการฉายรังสี มันฝรั่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 โรงงานที่ชิโฮโร่สามารถฉายรังสีมันฝรั่งได้เดือนละ 10,000 ตัน สาธารณรัฐ ประชาชนจีนมีโรงงานฉายรังสีอาหารที่ดำเนินการแล้ว 11 แห่ง ชนิดของอาหารที่นำมาฉายรังสีได้แก่ มันฝรั่ง หอมหัวใหญ่ กระเทียม มะเขือเทศ แอปเปิ้ล ข้าว เครื่องเทศ และไส้กรอก รวมกันประมาณกว่าหมื่นตัน สหภาพแอฟริกาใต้มีโรงงานฉายรังสี 5 แห่ง ดำเนินการฉายรังสีมะม่วง สตรอเบอรี่ มันฝรั่ง หอมหัวใหญ่ ผักแห้ง เครื่องปรุงรส และเครื่องเทศ รวมกันปีละประมาณ 20,000 ตัน นอกจากนี้อาหารปลอดเชื้อ สำหรับ คนไข้ที่ขาดภูมิต้านทานโรคและสำหรับมนุษย์อวกาศก็มีการผลิตกันที่สหรัฐอเมริกาโดยการฉายรังสี 10. ต้นทุนการฉายรังสีอาหารและความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ กล่าวโดยทั่วไปแล้ว การฉายรังสีจะมีค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายในการผลิตอาหารโดยกรรม วิธีอื่น ๆ ต้นทุนการฉายรังสีอาหารเท่าที่รวบรวมได้ประมาณกิโลกรัมละ 0.40-3.00 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิด และความหนาแน่นของอาหาร ปริมาณรังสีที่ใช้ ชนิด และประสิทธิภาพของเครื่องฉายรังสีและขนาดของโรง งาน ตัวอย่างค่าฉายรังสีที่ประเทศต่าง ๆ พอประมวลได้ดังนี้ กุ้งแช่แข็งกิโลกรัมละ 1.50 บาท มันฝรั่งกิโลกรัม ละ 0.40-0.90 บาท ผลไม้กิโลกรัมละ 0.50-1.50 บาท และเครื่องเทศกิโลกรัมละ 3.00 บาท ค่าฉายรังสีนี้ เมื่อเทียบกับราคาผลิตภัณฑ์แล้วจะอยู่ระหว่างร้อยละ 2-5 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ในเชิงพาณิชย์ ส่วนเงิน ลงทุนก่อสร้างโรงงานฉายรังสีอาหารขนาดความแรง 750,000 คูรี ไม่นับรวมค่าที่ดิน สำนักงานและอาคารพัก ผลผลิต จะมีความแตกต่างกันตั้งแต่ 34 ล้านบาทสำหรับเครื่องฉายรังสีชนิดไม่ต่อเนื่อง จนถึง 64 ล้านบาท สำหรับเครื่องฉายรังสีชนิดต่อเนื่อง เนื่องจากการฉายรังสีอาหารเป็นเทคโนโลยีใหม่ทำให้การลงทุนมีความเสี่ยงอยู่บ้าง ดังนั้นความเป็น ไปได้ทางเศรษฐกิจจึงประกอบด้วยแนวทางดังต่อไปนี้ - ปริมาณอาหารที่จะนำมาฉายรังสีจะต้องมีมากพอเพื่อป้อนโรงงานให้ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดปี มิฉะนั้นแล้วจะต้องดำเนินการในลักษณะอเนกประสงค์ คือ ฉายรังสีทั้งอาหาร เวชภัณฑ์ สมุนไพร และภาชนะบรรจุ - อาหารที่จะนำมาฉายรังสีจะต้องมีราคาหรืออัตราการสูญเสียสูง - โรงงานฉายรังสีจะต้องอยู่ในบริเวณที่ใกล้กับแหล่งของวัตถุดิบ โกดังเก็บรักษาและศูนย์กลาง การคมนาคมขนส่ง - จะต้องมีตลาดรองรับ - ผู้ประกอบการจะต้องมีความมั่นคงทางการเงินพอสมควร