ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์วัดจักรวรรดิราชาวาส::WatChakkrawat
สมุดเยี่ยม
ยศถาบรรดาศักดิ์

 

ก็แล คำว่า “ ยศ ” ที่เราพูดกันอยู่เสมอ ถ้าแปลตามรูปศัพท์ก็คือว่า ภาวะที่บุคคลจะพึงบูชาสักการะ เรียกว่ายศ ญาติโยมทั้งหลายจำให้ดี ภาวะคือกิริยาอาการ หรือภาวะที่มีอยู่ในตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง อันบุคคลพึงบูชาสรรเสริญสักการะ เรียกว่า “ ยศ ”

ลักษณะยศ ก็มีอยู่ 3 อย่างคือ

1. อิสริยยศ หมายถึง ความเป็นใหญ่ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นเสนาบดี เป็นรัฐมนตรี เรียกว่า เป็นผู้มีอิสริยยศ

2. เกียรติยศ หมายถึง ชื่อเสียง คุณงามความดีของบุคคลผู้ปฏิบัติดี มีคนพูดถึงแซ่ซ้องสรรเสริญเยินยอว่า คนนั้นเป็นคนดีมีจิตใจดี มีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขา ประพฤติมั่นอยู่ในศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 แล้วแต่ฐานะ เป็นคนให้ทานเป็นปกติ รักษาศีลเป็นปกติ เจริญภาวนาในลักษณะของสมถวิถี หรือวิปัสสนาวิธีเป็นนิสัยประจำ เกียรติคุณอันนี้ไปที่ไหนก็แผ่กระจายไปทุกทิศ อย่างนี้เรียกว่า เกียรติยศ

3. บริวารยศ หมายถึงบุคคลที่มีปฏิปทาข้อปฏิบัติ สามารถยึดเหนี่ยวน้ำใจโน้มน้าวจิตใจบุคคลทุกคน หรือบุคคลที่ได้พบได้เห็น ได้คบค้าสามคม มาเป็นพรรคเป็นพวก เป็นบริวาร มีคนเคารพนับหน้าถือตามากมาย คนนั้นก็เป็นบริวาร คนนี้ก็เป็นบริวาร หรือในทางพระศาสนาก็หมายความว่า มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ไปบ้านไหนเมืองไหนเขาก็ว่า ผมนี่เป็นลูกศิษย์อาจารย์นั้น ไปที่โน้นเขาก็ว่า ผมเป็นลูกศิษย์อาจารย์นั้น แผ่กระจายไปทุกสารทิศ ยิ่งมากยิ่งกว้างเท่าไร ก็นับเป็นยศอันหนึ่ง อย่างนี้เรียกว่าบริวารยศ คือ คนที่มีบริวารมากก็เป็นยศอันหนึ่ง ที่เป็นยศเพราะเหตุว่า ผู้นั้นเป็นผู้ที่มีลักษณะอาการคือ ภาวะที่ปรากฏในตัวเขาเป็นผู้ที่เคารพบูชาสักการะ เคารพสรรเสริญนั่นเอง อันนี้เรียกว่า “ ยศ ”

คำว่ายศถาบรรดาศักดิ์ บางคนก็ว่าไม่เหมาะไม่สมกับสมณะ ผู้อุทิศตนมาบวชในพระพุทธศาสนา เพื่อตัดกิเลสอาสวะทั้งปวง ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้เบาบางไปจากจิตใจ ยังจะมายินดีในการยกย่องสรรเสริญในยศถาบรรดาศักดิ์อีกหรือ ก็มีผู้กล่าวเหมือนกัน

อันนี้ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงห้ามหรือปฏิเสธให้พระภิกษุรับยศ หรือรับสมณศักดิ์ที่บุคคลอื่นจะพึงหยิบยื่นให้ ไม่ได้ทรงห้าม แต่พระองค์ตรัสเตือนไว้ว่า เมื่อได้ยศแล้วอย่าเมา คือไม่ให้เมายศ ให้รู้สึกอยู่เสมอ วิธีเมายศคืออย่างไร ได้ยศแล้วยกตนข่มท่าน ดูหมิ่นแม้กระทั่งพ่อแม่ พี่น้อง ครูบาอาจารย์ของตน นึกว่าตนนี้แหล่ะเป็นคนวิเศษวิโส เป็นคนหยิ่งเป็นคนใหญ่ ขาดสัมมาคารวะ ไม่เคารพผู้ที่ควรเคารพ ไม่สักการะผู้ที่ควรสักการะ ไม่กราบไหว้ผู้ที่ควรกราบไหว้ มัวเมาไปที่ไหนก็อ้างแต่ยศถาบรรดาศักดิ์ ฉันนี้มียศอย่างนั้นอย่างนี้ แกรู้ไหมฉันมียศอะไร แกรู้ไหมฉันมีตำแหน่งเป็นอะไร ผู้ที่แสดงกิริยาอาการอย่างนี้ เรียกว่า “ เมายศ ” พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญทรงห้ามไม่ให้แสดงอาการอย่างนี้ ท่านให้รับยศ แต่ไม่ให้เมาในยศ ก็คือว่า ยศนั้นเป็นผลแห่งความดี

การปฏิบัติความดี การทำความดี ทำความชอบ ทำบุญทำกุศล ทำสิ่งที่ควรจะทำอันเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ตลอดจนสาธารณชนทั่วไป อันนั้นเป็นมูลเหตุเป็นตัวเหตุ เมื่อบุคคลประเกอบเหตุแล้วย่อมได้รับผล พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ผลย่อมมาจากเหตุ ทำเหตุดีย่อมได้รับผลดี ทำเหตุชั่วย่อมได้รับผลชั่ว ทำชั่วย่อมได้รับผลคือความทุกข์ ทำดีย่อมได้รับผลคือ ความดี ตอบสนอง เมื่อพระพุทธองค์ทรงรับรองเหตุเป็นต้น เป็นตัวการให้ได้รับผลอย่างนี้แล้ว แม้พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จะรับยศถาบรรดาศักดิ์ตามสมณสารูป อันสมควรแก่สมณภาวะฐานะของตน พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ได้ทรงติเตียน ไม่ได้ทรงห้ามไว้แต่ประการใด เพราะพระองค์ทรงตระหนักดีว่า นั้นเป็นผลแห่งการประกอบคุณงามความดี ความชอบของบุคคลผู้นั้น เมื่อทำดีผลของความดีย่อมปรากฏ ผลของตวามดีที่ปรากฏย่อมเป็นสิทธิอันบุคคลผู้กระทำความดีนั้นจะพึงได้รับ โดยไม่ต้องสงสัย แต่เมื่อได้รับแล้ว ไม่ให้เมามัวประมาท ให้สำนึกอยู่เสมอว่า เราก็เป็นผู้ที่ไม่เที่ยงไม่แน่ไม่นอน สิ่งทั้งหลายในโลกไม่แน่นอน ยศก็ไม่แน่ไม่นอนอะไร อะไรๆในโลกก็ไม่แน่นอน เมื่อสิ่งทั้งหลายในโลก มันมีแต่สิ่งไม่แน่นอน มันผันแปรอยู่ตลอดเวลา แล้วเราจะมัวมายึดมาถือ มาหลงเมามัวอยู่ในสิ่งนั้นๆ ย่อมเป็นวิสัยของคนพาล คนเขลาเบาปัญญาเท่านั้น

บุคคลผู้มีปัญญา มีสติ มีความรู้ ในสภาวะที่เป็นจริงแล้ว แม้จะประสบกับความทุกข์ ประสบกับความสุข ประสบกับความเสื่อมลาภ ประสบกับความเจริญด้วยลาภ ประสบกับความเสื่อมยศ ย่อมเป็นผู้นิ่งเหมือนภูเขา แม้ประสบพายุฝนอันร้ายแรง พัดมาจากทิศทั้งสี่ ก็ไม่สามารถที่จะกระทบกระทั่งสะเทือนให้ภูเขานั้นหวั่นไหวโยกคลอนได้ จิตใจของบัณฑิตย่อมเป็นเช่นนั้น

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ธรรมดาของบัณฑิตย่อมไม่มีจิตหวั่นไหวในนินทา และสรรเสริญ หมายความว่า ถ้าเป็นบัณฑิตแล้วเขาจะสรรเสริญก็รับฟัง โดยไม่เอิกเกริกหรือยินดีจนตัวลอย จนเสียสมณสารูป จนเสียผู้เสียคน หรือแม้จะได้รับคำนินทาว่าร้ายต่างๆ ก็มาสำรวจตัวเองว่า เราร้ายเราชั่ว เราเลวทรามอย่างที่เขาว่าหรือไม่ ถ้าไม่เหมือนเราก็เฉยเสีย นิ่งเสีย ไม่ยินร้ายในคำนินทานั้นๆอันนี้เป็นลักษณะของบัณฑิต

แต่บุคคลผู้มีกิเลส มีราคะ โทสะ โมหะ หมักหมมอยู่ในจิตใจ ก็อดที่จะดีใจในคำสรรเสริญ แล้วก็เสียใจในคำนินทาไม่ได้ ให้สังเกตจิตใจตัวเองเป็นหลัก เราเป็นผู้ได้ปฏิบัติหรือมีจิตใจใกล้กับบัณฑิต หรือใกล้กับความเป็นคนพาลคนเขลา ให้สังเกตตัวเอง เมื่อได้รับฟังคำนินทา หนักแน่นไหม ถ้าไม่หนักแน่นก็กลายเป็นคนพาล แม้ปฏิบัติอย่างไรก็ตาม ถ้าจิตใจยังไหวต่อคำนินทาสรรเสริญอยู่ สรรเสริญนี้แหล่ะร้ายมาก ทำลายมนุษย์มากมาย แต่นินทานั้น ไม่ทำลาย ไม่ทำให้เสียผู้เสียคน เพราะคำนินทา เช่น เขาหลอกเอาเงินเรา ถ้าเขาด่าเรา นินทาเรา เราก็ไม่ให้ ถ้าเขาสรรเสริญถูกอกถูกใจเราก็ให้ เมื่อให้ไปแล้วเขาไม่คืนมันก็สูญเสีย หรือเขาจะหลอกไปต้มไปแกงอย่างไรก็ตาม ถ้าเขาใช้คำสรรเสริญแล้วเป็นอันสำเร็จ คือสำเร็จประโยชน์เขา แต่เราประสบภัยพิบัติฉิบหายความเสื่อมเสียเพราะคำสรรเสริญทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น ไม่ควรยินดีในคำสรรเสริญ ควรยินดีในคำนินทา จึงจะเกิดประโยชน์ท่านว่าอย่างนั้น นี้เป็นลักษณะของคนพาลและบัณฑิต ซึ่งยกมาเป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อย การประพฤติปฏิบัติในทางดีทางชอบ ย่อมได้รับผลอันเป็นความสุขบ้าง เป็นฐานะตำแหน่งบ้าง ยศศักดิ์บ้าง สมณศักดิ์บ้าง ตามแต่สถานะ ดังที่เจ้าอธิการนี้ อาตมาจะพูดมากก็เป็นการยกยอปอปั้นกันไป ญาติโยมรู้อยู่แล้วว่าเป็นพระที่ใช้ได้ เป็นพระที่ดีมีอายุพรรษาบวชมานาน มีการงานตำแหน่งหน้าที่พอสมควร ก็เป็นบุคคลที่ควรได้รับการยกย่องสรรเสริญขึ้นไปโดยลำดับ ตามภูมิชั้นฐานะอันจะพึงมีพึงเป็นได้ ย่อมเป็นสาเหตุให้เกิดความยินดีหรือรื่นเริงหรรษา มีอุตส่าห์วิริยะ ในการบำเพ็ญคุณงามความดีนั้นๆขึ้นไป

แม้แต่สมเด็จพระบรมศาสดา ก็ทรงแสดงลักษณะ หรือคุณธรรมของบุคคลที่ควรจะได้รับการยกย่องสรรเสริญให้มีฐานะตำแหน่งหรือสมณศักดิ์สูงขึ้นไป โดยนัยดังที่อาตมาภาพได้ยกขึ้นเป็นคาถานิกเขปบทเบื้องต้นว่า อุฏฺฐานวโต สตีมโต เป็นอาทิ ซึ่งแปลใจความว่า ยศ คือ ภาวะอันบุคคลพึงสักการะนั้น ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีความหมั่นความขยัน ผู้มีสติ มีการงานอันสะอาด มีการพิจารณาก่อนแล้วจึงกระทำมีความสำรวม มีความเป็นอยู่โดยธรรมและเป็นผู้ไม่ประมาท ดังนี้

โดยนัยแห่งพระคาถานี้ จึงชี้ให้เห็นว่า คุณธรรมอันเป็นเหตุให้บุคคลเจริญด้วยยศ หรือมียศจะเจริญยิ่งขึ้นไป มีอยู่ 7 ประการ คือ

ประการที่ 1 อุฏฺฐานวโต แปลว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ความขยัน ความหมั่น ความขยันเป็นลักษณะของความเพียร การที่เราจะประกอบกิจการงานตามตำแหน่ง เป็นพ่อก็ดี เป็นแม่ก็ดี เป็นบุตรธิดาก็ดี เป็นครูบาอาจารย์ก็ดี เป็นภิกษุสามเณรก็ดี ถ้าผู้ใดเป็นผู้มีความหมั่นความขยัน ย่อมเป็นเหตุให้เกิดความรักความนับถือ ความเอ็นดูจากบุคคลทั่วไป ตรงกันข้ามกับบุคคลที่ขี้เกียจ ไม่เอาธุระการงานมีแต่ความเกียจคร้าน กินแล้วนอน นอนตื่นขึ้นแล้วก็เที่ยว เที่ยวไปโน้นไปนี่ ไม่ช่วยกิจการงานของบิดามารดา ไม่ช่วยกิจการงานของครูบาอาจารย์ หรือไม่ทำงานตามความรับผิดชอบของตน เมื่อได้รับมอบหมาย ได้รับแต่งตั้ง ทำให้กิจการงานนั้นเกิดความเสียหาย อย่างนี้ก็เป็นเหตุให้เสื่อมยศ ตรงกันข้าม ถ้ามีความขยันหมั่นเพียรดังกล่าวแล้ว ก็เป็นเหตุให้เจริญด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ แม้ทรัพย์สินเงินทองอย่างอื่นก็เป็นเหตุไหลมาเทมา อยากได้อะไร ปรารถนาอะไร ถ้ามีความขยันหมั่นเพียรเสียอย่างเดียว ก็ย่อมสามารถบันดาลสิ่งที่เราปรารถนาให้เกิดขึ้นได้ตามสมความปรารถนา

ประการที่ 2 สตีมโต แปลว่า ผู้มีสติ สติ แปลว่าความระลึกได้ เป็นเหตุไม่ให้เกิดความหุนหันพลันแล่น การทำก็ดี การพูดก็ดี ถ้าขาดสติแล้วย่อมทำพลาด พูดพลาด พูดผิดทำผิด เพราะขาดสติคอยกำกับ การกระทำด้วยการหรือการพูดด้วยวาจา ถ้ามีสติคอยกำกับอยู่แล้ว จะทำอะไรคิดเสียก่อน จะพูดอะไรคิดเสียก่อน ระลึกสิ่งนั้นเสียก่อน ว่าควรหรือไม่ควรแล้วค่อยทำแล้วค่อยพูด กิจการงานที่เราทำเราพูดนั้น ย่อมไม่ผิดไม่พลาด ย่อมสำเร็จตามความประสงค์ แม้คุณธรรมนี้ก็เป็นเหตุให้เจริญด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ ลาภ ยศ สรรเสริญส่วนอื่นตามมา อันเป็นส่วนอิฏฐารมณ์

ประการที่ 3 สุจิกมฺมสฺส แปลว่า เป็นผู้มีการงานอันสะอาด คือ ทำการงานไม่มีโทษ งานที่ไม่สะอาด หมายถึงที่กระทำด้วยความสุจริต ประพฤติปฏิบัติผิด เป็นความชั่วทางกาย ทางวาจา ทางใจ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล ดื่มสุราเมรัยของหมักของดองของมึนเมา สูบฝิ่น กินกัญชา เป็นต้น อย่างนี้เป็นการงานที่ไม่สะอาด หรือการงานที่ประกอบด้วยทุจรติอย่างอื่น ความเป็นโจร เป็นขโมยเหล่านี้ เป็นต้น ก็ชื่อว่า เป็นการงานไม่สะอาด ส่วนการงานที่สะอาด คืองานที่ไม่อากูล ไม่อากูล คือ สำเร็จตามเวลา ไม่ให้ช้าไม่ให้ค้าง ไม่ทำการงานให้ค้าง ทำให้สำเร็จตามฐานะแก่การงาน ควรจะสำเร็จวันหนึ่งก็ให้เสร็จ สองวันก็ให้เสร็จในสองวัน หรืออาทิตย์หนึ่งเดือนหนึ่งปีหนึ่งก็เสร็จตามนั้น งานอย่างนี้ไม่อากูล

การงานที่สะอาดอย่างหนึ่ง หมายถึงการงานที่เป็นส่วนสุจริตธรรม ทำด้วยความสุจริตทั้งกาย วาจา ใจ ไม่ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ทำไร่ ทำนา ทำสวน รับราชการงานเมือง อย่างนี้ตามฐานะของตน ตามสติปัญญาหรือภูมิปัญญาของตน ที่จะพึงเป็นไปได้อย่างนี้ เรียกว่าการงานสะอาด

ประการที่ 4 นิสมฺมการิโน แปลว่า เป็นบุคคลผู้มีการพินิจพิจารณาก่อนแล้วจึงกระทำ มีลักษณะคล้ายความเป็นผู้มีสติ คือใช้ปัญญา ใช้เหตุใช้ผล เป็นเครื่องนำเป็นเครื่องตัดสินว่า จะทำอย่างนั้น จะพูดอย่างนั้น ไม่ใช้อารมณ์รักหรืออารมณ์ชัง เป็นเหตุนำทำอย่างนั้น พูดอย่างนั้น ถ้าบุคคลใช้อารมณ์ไม่ใช้ปัญญา คืออารมณ์ฉันรักฉันจะทำอย่างนี้ ฉันรักฉันจะพูดอย่างนี้ เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่าใช้อารมณ์รัก ใช้อารมณ์ชัง เป็นเหตุกระทำการงาน ย่อมเป็นเหตุเกิดความเสียหาย มีลาภ เสื่อลาภ มียศเสื่อมยศ มีทรัพย์สินเงินทองอยู่เท่าไรก็เสื่อมลงๆ ตรงกันข้ามบุคคลผู้มีความพินิจพิจารณา ไตร่ตรองด้วยปัญญาคือรู้จักใช้ปัญญาใช้เหตุอันนี้ควรหรือไม่ควร ใช้เหตุใช้ผล คำว่า ปัญญา ก็คือ รู้จักใช้เหตุผลเป็นตัวนำให้กระทำการงานทั้งหลายด้วยกายวาจา การงานนั้นก็สำเร็จไม่ผิดพลาด ย่อมเป็นเหตุให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ยศถาบรรดาศักดิ์

ประการที่ 5 สญฺญตสฺส แปลว่า เป็นผู้มีความสำรวม คือ สำรวมกาย วาจา จิต อีกอย่างหนึ่งท่านเรียกว่า สำรวมอินทรีย์ อินทรีย์แปลว่า สิ่งที่เป็นใหญ่ เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้ง 6 นี้ เรียกว่า อินทรีย์ 6 อินทรีย์ภายในหรืออายตนะภายในก็เรียก ที่เรียกว่าอินทรีย์ เพราะมันเป็นใหญ่ ตาเป็นใหญ่ในการเห็น หูเป็นใหญ่ในการฟัง จมูกเป็นใหญ่ในการดมกลิ่น ลิ้นเป็นใหญ่ในการลิ้มรส กายเป็นใหญ่ในการถูกต้อง สัมผัสนั้นๆ ใจเป็นใหญ่ในอารมณ์ทั้งหลาย จึงเรียกว่า อินทรีย์

การสำรวมอินทรีย์ก็คือ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เกิดความยินดีหรือความยินร้าย ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เมื่อสรุปแล้วก็ตรงกับคำที่อาตมาได้อธิบายในเบื้องต้นว่า สำรวมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้าย คือไม่ให้รัก ไม่ให้ชัง ในเมื่อตา เห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น เป็นต้น เป็นผู้มีใจหนักแน่น ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม เสื่อมลาภก็ไม่หวั่นไหว เสื่อมยศก็ไม่หวั่นไหว เป็นคนหนักแน่น มีจิตใจเหมือนภูเขาหินที่ลมแม้พัดมาจากทิศทั้ง 4 ก็ไม่สามารถจะทำภูเขานั้นให้โยกคลอนไปตามลมนั้นได้ เช่นนี้เรียกว่า สำรวม

ประการที่ 6 ธมฺมชีวิโน แปลว่า เป็นผู้เป็นอยู่โดยธรรม ก็คือ ยึดธรรม ยึดหลักศีล หลักธรรม ความถูกต้องเป็นข้อปฏิบัติดำเนินชีวิตประจำวัน จะทำนาก็มีศีลธรรมกำกับ จะค้าขายก็มีศีลธรรมกำกับ เป็นต้น บุคคลที่มีความเป็นอยู่ด้วยเป็นธรรม หรือโดยยึดหลักศีลธรรม เป็นเครื่องดำเนินชีวิต ไม่ยึดหลักอารมณ์ที่ชอบและไม่ชอบดังกล่าวแล้ว ย่อมเป็นสาเหตุให้เจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุขเป็นส่วนอิฏฐารมณ์ ที่ทุกคนปรารถนา

ประการที่ 7 อปฺปมตฺตสฺส แปลว่า เป็นผู้ไม่ประมาท คำว่าประมาท ได้แก่ อาการที่ปราศจากสติ มีความเลินเล่อ มีความมัวเมาประมาท ประมาทในชีวิต ในหน้าที่การงาน ประมาทในยศตำแหน่งอย่างนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ได้โอกาสที่จะทำคุณงามความดีแล้ว ในขณะใดเวลาใดเรารีบขวนขวายกระทำให้เป็นไปให้เกิดให้มีขึ้นในตน ในขณะนั้นๆ ไม่ปล่อยกาลเวลาให้เป็นไปอย่างไร้ประโยชน์ อย่างนี้เรียกว่า ไม่ประมาท บุคคลผู้ไม่ประมาทย่อมเป็นเหตุให้เจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันเป็นส่วนอิฏฐารมณ์ ที่ทุกคนปรารถนา

 

วัดจักรวรรดิราชาวาส เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ

ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยี่ยมชม

ท่านเป็นผู้เข้าชมลำดับที่..