วรรณคดีกับหมากรุกไทย

          จากวรรณคดีหลายเรื่อง ทำให้ทราบว่าหมากรุกไทยมีการเล่นสืบทอดอย่างต่อเนื่องมาหลายร้อย ปี นับย้อนไปได้อย่างน้อยที่สุดถึงยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี วิธิการเล่นและกติกา คล้ายกับที่ใช้อยู่ใน ปัจจุบันเห็นได้จากวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน จับตอนที่ขุนแผนด่านางวันทอง ว่า
     " ชิจิตชะใจวันทองเอ๋ย
กระไรเลยตัดได้ไปเป็นปลิด
ขาดเม็ดเด็ดเรือไม่เผื่อคิด
ม้าฬาเลิดลิดอยู่อลวน
จากเบี้ยเสียสองเพราะต้องคาด
ฟันฟาดเบี้ยหงายกระจายป่น
ม้าก้าวยาวเรือก็เหลือทน
เมื่อพี่จนแล้วจะไล่แต่รายโคน "
          ด่ากันยาว ๆ อย่างนี้  กว่าจะจบ  ก็คงเล่นเอาเหนื่อยไปทั้งคนด่าและคนถูกด่า !
          จะเห็นว่ากลอนไล่ชื่อตัวหมากไว้อย่างครบถ้วน รวมถึงเบี้ยหงายด้วย สำหรับ ขุน ที่ขาดหายไป แต่มีคำว่า พี่ เข้ามาแทน คงเป็นเพราะขณะนั้นตัวขุนแผนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนแล้ว ดังนั้นคำว่า "พี่" ในที่นี้จึงน่าจะหมายถึง "ขุน" นั่นเอง
          เดิมหมากรุกไทยถูกจัดว่าเป็นกีฬาพระราชาที่มีการเล่นในรั้วในวัง โดยมีหลักฐานทาง ประวัติศาสตร์ ปรากฏดังนี้
          ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี บรรดาตำรับตำราต่าง ๆ ได้กระจัดกระจายและสูญหายเป็น อันมาก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงโปรดเกล้าฯให้ประชุมขุนนางที่เคยรับราชการ เมื่อครั้งกรุง ศรีอยุธยาเป็นราชธานีมาเรียบเรียงจัดทำตำราต่าง ๆ ขึ้นใหม่ โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ ในตำราส่วนที่ ว่าด้วยหน้าที่ของมหาดเล็ก ได้กำหนดไว้ว่าใครมีหน้าที่อะไร ดังนี้
          " นายขัน นายพลพ่าย พนักงานรวมกัน ขันทรงผ้าเช็ดพระเสโท …… พัชนีผักมะขาม พัชนี ทอง พัชนีแพร สุหร่าย ทองแดง ถาดชุด พระโอสถสูบ หมากรุก สะกา พระสุพรรณราช "
          หมากรุกไทยจึงเป็นราชกีฬาที่พระเจ้าแผ่นดินอาจเรียกมาทรงตามโอกาส
          อีกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นกีฬาในราชสำนักของหมากรุกไทย จากบทพระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ 2 เรื่อง " ไชยเชษฐ์ " จับตอนท้าวสิงหลออกโรง
     " ว่างงานกิจการนคเรศ
ให้เขม่นนัยเนตร์ทั้งซ้ายขวา
พระยายักษ์นิ่งนึกตรึกตรา
จะได้ลาภหรือว่าจะได้ทุกข์
แต่ก่อนร่อนชะไรไม่เคยเป็น
จะพูดเล่นเจรจาไม่ผาสุก
จึงตรัสเรียกกระดานหมากรุก
มาทรงเล่นกับมุขมนตรี  "
          นอกจากในรั้วในวังแล้ว สถานที่ที่มีการเล่นหมากรุกไทยมาก ก็คือตามวัดต่าง ๆ
          ในอดีต วัด นอกจากจะเป็นศูนย์กลางกิจกรรมต่าง ๆ นับตั้งแต่เกิดจนตายแล้ว ยังเป็นที่ ชุมนุมของประดานักหมากรุก มีทั้งชาวบ้าน ขุนนาง และพระเณร ส่วนใหญ่เล่นเป็นเกมที่เน้นความ สนุกสนานมากกว่าจะเป็นกีฬา ดังนั้น แต่ละฝ่ายจึงอาจมีผู้เล่นมากกว่า 1 คน และกฎเกณฑ์ กติกา ก็ไม่ ค่อยเข้มงวดนัก
          จากเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพลายงามจะลวงขุนแผนผู้พ่อให้เข้าใจว่าเพลินติดอยู่กับการเล่น หมากรุก พอขุนแผนตายใจและคลายความระแวง ก็แอบหนีไปหาสาวที่ได้นัดหมายไว้แต่ตอนกลางวัน
	 " ไปถึงตรงกุฎีชีต้นไทย
เห็นจุดไต้ตั้งวงเล่นหมากรุก
พวกอาสามาเล่นอยู่เป็นหมู่
ทั้งพระเถรเณรดูกันสนุก
บ้างนั่งมองบ้างเบียดเข้าเสียดซุก
ฉุกละหุกเสียงสนั่นลั่นกุฎี
เจ้าพลายนิ่งนึกตรึกตรา
จำจะลวงบิดาว่าอยู่นี่
จะทำเป็นเล่นหมากรุกให้คลุกคลี
จนพ่อหลับจึงจะหนีไปหานาง
คิดพลางทางขึ้นบนกุฎี
เฮ้ยขอกูเดินทีแล้วรุกผาง
ไอ้พวกไพร่ให้นายเข้านั่งกลาง
ทั้งสองข้างอื้ออึงคะนึงไป
ฝ่ายว่าขุนแผนพ่อรอเจ้าพลาย
เห็นไปหายนึกพะวงสงสัย
ย่องลงจากศาลาแล้วคลาไคล
เห็นแสงไฟที่กุฎีรี่ไปพลัน
แต่พอใกล้ได้ยินเสียงเฮฮา
ก็รู้ว่าลูกยาอยู่ที่นั่น
เห็นกำลังเล่นหมากรุกสนุกครัน
ก็หันกลับมาศาลาลัย "
          หมากรุกไทย เป็นเกมที่สร้างความสนุกสนานและเพลิดเพลินให้กับผู้เล่นได้อย่างไม่รู้เบื่อ ยิ่ง ตอนที่หมากติดพันกันด้วยแล้ว ผู้เล่นแทบลืมวันเวลา และไม่เอาเรื่องเอาราวกับโลกภายนอกเลยทีเดียว ดังตัวอย่างจากวรรณคดีเรื่องเดียวกัน เมื่อนางศรีประจันจะแต่งงานลูกสาว จึงลงเรือไปนิมนต์สมภาร
            " ถึงวัดแคกุฎีรี่เข้าไป
ศรีประจันนั่งไหว้แล้วว่าพลาง
สมภารผินหลังนั่งเล่นหมากรุก
สบสนุกจับโคนเข้าโยนผาง
เข้ากลจะจนที่ตากลาง
ศรีประจันร้องค้างว่าเจ้าคุณ
ดีฉันมาหมายว่าจะนิมนต์
สมภารว่าไม่จนให้หลบขุน
ศรีประจันว่าดีฉันจะทำบุญ
สมภารว่าเรือจุนเข้ารุกจน
เหลียวเห็นศรีประจันต์กลั้นหัวร่อ
จึงถามข้อเนื้อความตามเหตุผล "
          ไปจับจังหวะที่สมภารกำลังติดพันหมากรุกอยู่ กว่าจะรู้เรื่อง ก็วุ่นวายกันไปพักใหญ่ !!
          การพนันกับคนไทย ดูจะแยกกันไม่ออกแต่ไหนแต่ไรแล้ว การเล่นหมากรุกในสมัยก่อนก็เช่นกัน มีการเดิมพันพอหอมปากหอมคอ ไม่ถึงขนาดต้องเสียบ้านเสียเมืองเหมือนในเรื่องมหาภารตยุทธ์ หรือ เผลอเล่นจนต้องเสียเมียอย่างท้าวพรหมทัตจากเรื่องกากีเป็นแน่ การเดิมพันส่วนใหญ่ ก็เพื่อให้เร้าใจ และป้องกันการดึงแต้ม ( คือเล่นไม่เต็มฝีมือ ) ทำให้การเล่นออกรสชาติยิ่งขึ้น
          การเดิมพันระหว่างผู้เล่นหมากรุกไทยด้วยกัน นอกจากจะเล่นเอาอัฐเอาเฟื้องกันแล้ว มีบ้าง ที่พนันแบบลงโทษ หรือให้เจ็บตัวเล็ก ๆ น้อย ตัวอย่างการพนันแบบเจ็บตัวพิเรนทร์ มีปรากฏในบท พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 เรื่องรามเกียรติ์ ตอนราชาภิเษกพระราม สังฆการรีไปนิมนต์พระวสิษฐ์ฤาษี มาสวดมนต์ ทำให้เราได้รู้จัก " เซียนข้างกระดาน " คนแรกในประวัติศาสตร์หมากรุกไทย !!
                         " เมื่อนั้น
พระวสิษฐ์เล่นหมากรุกสนุกสนาน
ตาหูไม่สู้เห็นซมซาน
แพ้ลูกศิษย์สามกระดานทะยานใจ
พนันถอนขนตาเสียห้าเส้น
แล้วตั้งขึ้นเล่นกระดานใหม่
หน้าขุนเบี้ยริมทิ่มขัดไว้
หยิบแว่นตามาใส่เขม้นมอง
ตามบุญตามกรรมทำให้แตก
เอาม้าฟันเม็ดแลกกินสอง
น้อยหรือเบี้ยหงายมันร้ายรอง
เข้าทำนองต้องกลจนกระมัง
จับเรือรุกผางแล้วพลางว่า
ถอนขนตาห้าเส้นเจ้าเล่นมั่ง
เทวดามาช่วยก็ไม่ฟัง
คงจะไล่ให้กระทั่งริมกระดาน
หัวร่อพลางทางเรียกน้ำชาฉัน
ใส่จุนพลันมาลองสักสองป้าน
ดีแต่ใหม่ไว้เก่าไม่เอาการ
หยิบน้ำตาลใส่ลงโก่งคอซด
ชะชะอร่อยน้อยหรือนั่น
แม้นมีสักสองขันฉันให้หมด
จนแน่นท้องต้องขยายราตคต
พระดาบสบ่นอยากมากไป
                           บัดนั้น
สังฆการีหยุดอยู่สักครู่ใหญ่
ได้ยินเสียงอาจารย์สำราญใจ
หัวร่อเร่อเอออะไรจะใคร่รู้
จะว่าสอนหนังสือศิษย์ก็ผิดทำนอง
เสียงร้องรุกคาดประหลาดอยู่
จึงย่างย่องมองมาเปิดประตู
เข้าไปปูผ้าห่มก้มกราบกราน
เห็นฤาษีลบเพลินเดินหมากรุก
นึกสนุกขึ้นมาไม่ว่าขาน
แอบหลังนั่งยิ้มอยู่ริมกระดาน
รับประทานขอทีเถิดเจ้าคุณ
ดีฉันรักชักเรือมาแต้มนี้
ประทับที่ตาวงตรงหน้าขุน
เบี้ยเข้าเคี้ยวเล่นเข้าเป็นจุณ
ชิงฉุดยุดพระคุณขออีกที
                 เมื่อนั้น
พระดาบสดึงดื้อถือผี
ปัดมือไม่ฟังสังฆการี
กูเดินดีกว่าออเจ้าเป็นเท่าไร
แต่หนุ่มหนุ่มเมื่อกระนั้นขยันอยู่
อินทร์เดชะพระครูก็สู้ได้
ถึงทั้งแก่งกเงิ่นเดินคลายไป
ฝีมือไล่มวยเม็ดเข็ดทุกคน "
          สังฆการีอยู่วงนอก อดไม่ได้โดดลงไปแย่งเดิน ฝ่ายคนเล่นถือว่าตนเองก็มีฝีมือไม่ยอมฟัง กว่าจะรู้เรื่องว่ามานิมนต์ ก็เกือบต้องเปิดศึกนอกกระดาน !
          นอกจากการเล่นปกติโดยผู้เล่น 2 ฝ่ายแล้ว ยังได้มีการนำหมากกลมาเล่นกัน ซึ่งเป็นทั้ง การฝึกแต้ม ลองภูมิ และเพื่อความสนุกสนาน ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า " กลหมากรุกไทย " เริ่มมีการเล่น มาแต่เมื่อไร ที่พอปรากฏเป็นหลักฐาน ย้อนไปได้ถึงสมัยรัชกาลที่ 2 จากบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง " อิเหนา "
" กิดาหยันเล่นหมากรุกสนุกสนาน
กำลังตั้งหมากกลจนริมกระดาน
ติดต่อคิดอ่านกันวุ่นวาย
ที่จ้องมองร้องมาขอข้าที
เอาเบี้ยนี้กินอีริมแล้วทิ่มหงาย
ม้ารุกถูกคาดโคนตาย
ขุนข้อยเข้าร้ายเห็นพ่ายแพ้ "
          กติกาที่สำคัญข้อหนึ่งของหมากรุกไทย คือจะไม่มีการกินขุนอย่างเด็ดขาด ถ้าฝ่ายใดเดิน หมากคุกคามจะกินขุนคู่ต่อสู้ในการเดินครั้งต่อไป จะต้องบอกว่า "รุก" ทุกครั้ง เพื่อเปิด โอกาสให้อีกฝ่ายหนึ่งหาทางเดินหลบเลี่ยงหรือหาทางแก้ไข หากหลบเลี่ยงการถูกกินไม่ได้ เรียกว่าถูก "รุกจน" และเป็นฝ่ายแพ้ กล่าวได้ว่าในระหว่างที่เล่น จะไม่มีการนำขุนออกนอกกระดาน อย่างเด็ดขาด ผู้ที่แอบเดินหมากขึ้นไปจ้องจะกินขุนฝ่ายตรงข้ามอย่างเงียบ ๆ อาจเรียกโดย เปรียบเทียบได้ว่าขี้โกงอย่างขุนช้าง
          ตอนที่ขุนช้างถูกพรากนางวันทองไป ก็เฝ้าคร่ำครวญอาวรณ์ไม่เป็นอันกินอันนอน จึงเรียก ศรพระยามาเล่นหมากรุกกัน หวังจะให้ลืมความทุกข์ แต่ความที่จิตใจว้าวุ่น ประกอบกับเป็นคนขี้โกง ชอบเอารัดเอาเปรียบคนอื่นเป็นปกตินิสัย จึงย่องม้าตาโป่งไปกินขุนคู่ต่อสู้ ปรากฏตามบทกลอนในเรื่อง " ขุนช้างขุนแผน " ดังนี้
" ผลุนโผนโจนออกไปนอกห้อง
ร้องเรียกศรพระยาไปไหนหาย
ขึ้นมาเล่นหมากรุกให้ทุกข์คลาย
ศรพระยาหน้าหงายเดินเร็วมา
เทหมากรุกออกมาม้าโคนตั้ง
ขุนช้างย่างม้าพลั้งตาโป่งหวา
ทิ่มวุ่นกินขุนศรพระยา
พ่อเจ้าขาขอโทษโปรดไถ่ตัว
ขุนช้างหัวร่อพ่อไม่ให้
ศรพระยาวอนไหว้พ่อทูนหัว
ฉันเล่นเป็นแต่เสือกินวัว
หมากรุกฉันกลัวแล้วพ่อคุณ
ถึงพระครูก็สู้พ่อไม่ได้
มันเหลือใจกินกันจนชั้นขุน "
          ดังนั้น หากไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นขุนช้างกลับชาติมาเกิด ก็อย่าอุตริไปกินขุนคู่ต่อสู้ !!!