ตำราหมากรุกไทย 1
ตำราโบราณ
ในบรรดาตำราหมากรุกไทยที่ได้เคยมีการจัดทำขึ้นนั้น  หากเลือกเฉพาะเล่มที่มีคุณค่า (และประทับใจที่สุด) คงจะได้แก่ตำราโบราณต่อไปนี้
ตำราหมากรุก  ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ พ.ศ. 2465
นับเป็นตำราหมากรุกไทยเล่มแรก  ที่ได้มีการจัดพิมพ์เผยแพร่  เพราะเดิมแม้จะมีตำราหมากรุกไทยอยู่บ้างแล้วหลายเล่ม  แต่เป็นเพียงการเขียนด้วยมือลงในสมุด “ไทยทำ” และกระจัดกระจายไปในที่ต่าง ๆ ส่วนหนึ่งที่ได้นำมาเก็บไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณฯ (ปัจจุบันคือหอสมุดแห่งชาติ) กรรมการหอพระสมุดฯ  (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นราชบัณฑิตยสภา) ได้คัดลอกรวบรวมและจัดพิมพ์ขึ้น  เพื่อเป็นการรักษาของเดิมไว้ไม่ให้สูญหายตำราฉบับนี้ แยกเป็น 2 เล่มโดยเล่มแรกในส่วนของหมากกล  ได้แบ่งกลออกเป็น 3 หมวด คือ กลทั่วไป กลต่อเสมอเป็นแพ้   และ กลแผลง  รวมทั้งสิ้น 321 กล เล่ม 2 จะเป็นส่วนของกุญแจ หรือเฉลยของกลทั้งหมด  สำหรับรายละเอียดต่าง ๆ  จะแยกเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก  เนื่องจากมีเนื้อหามาก และเกี่ยวพันธ์กับตำราและเรื่องอื่น ๆ อีก
หนังสือหมากรุกกล
นิพนธ์ของ
หม่อมเจ้าอนันตนรไชญ เทวกุล  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าอนันตนรไชย  เทวกุล  เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2511  ตำราเล่มนี้  ทีมีทั้งการเสนอแนวคิด  ทฤษฎี  หมากกล (รวมถึงการวิจารณ์และวิเคราะห์) เป็นตำราหมากรุกไทยที่ดีที่สุด เท่าที่เคยมีมา  และยังไม่ปรากฏว่ามีตำราเล่มใดเทียบเคียงได้เลย
การเดินหมากรุก
โดย
บุญแถม  ปิติยานนท เนติบัณฑิต  อดีต ส.ส. จังหวัดสระบุรี  ได้เขียนไว้แต่ปี พ.ศ. 2488 แต่ได้รับ
การพิมพ์หลังจากผู้เขียนเสียชีวิตแล้ว  โดยพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกในงานณาปนกิจศพนางหยี  เปล่งสีงาม   เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2514  ตำราเล่มนี้  ต่างจากตำราหมากรุกไทยทั่วไปประการหนึ่ง คือ  ไม่มีภาพประกอบเลย แต่
 
       “... ได้ใช้ถ้อยคำอันเป็นลีลาของการต่อสู้อย่างละเอียด  ลึกซึ้ง  ทุกแง่ทุกมุม  เปรียบประดุจตำราพิชัยยุทธซึ่งอาจปรับให้เข้ากับวิถีทางการต่อสู้เพื่อดำรงชีวิตอยู่ของเราได้เป็นอย่างดี ...
สมภาร  ปิตยานนท์
22 มกราคม 2511”