Shakespeare

.

จุลสารศิลปศาสตร์สำนึก

Liberal Thoughts

Volume 1, Number 6 * Cover Date: November, 2001



เล่าให้ฟังเรื่องศูนย์กีฬาและสุขภาพ มวล.

โดย นภพร ทัศนัยนา

เกริ่นนำ การเคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆของร่างกายจะช่วยกระตุ้นให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานมากกว่าปกติ ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อการพัฒนาให้เพิ่มศักยภาพของระบบต่างๆเพื่อให้รองรับความหนัก ความเข้มข้นในการเคลื่อนไหวที่กำลังกระทำอยู่และเตรียมสำรองไว้เผชิญกับภาระที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตแต่ถ้าจะให้ทุกคนเคลื่อนไหวโดยไม่มีอะไรเป็นแรงจูงใจหรือเห็นผลอย่างทันที คงมีคนจำนวนน้อยที่จะเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย นักพลศึกษาและ นักวิทยาศาสตร์การกีฬาจึงหลอกล่อด้วยการให้เล่นเกม กีฬา หรือ ดนตรี เพื่อให้สนุกสนาน มีการแข่งขัน มีการร่วมมือกันทำงาน และก็ได้ผลดังที่ปรากฎ จะเห็นว่ามีคนเล่นกีฬาโดยมีความสนุกสนานและชัยชนะเป็นเป้าหมายหลัก ส่วนผลในการพัฒนาร่างกายและจิตใจเป็นเพียงเป้าหมายรอง และในยุคปัจจุบันที่สังคมบ้านเราเต็มไปด้วยปัญหายาเสพติด ปัญหาวัยรุ่น รัฐก็นำกีฬามาหลอกล่อให้วัยรุ่นและเยาวชนห่างไกลยาเสพติด ในรัฐบาลยุคนี้กำลังใช้นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค การกีฬาจึงมีบทบาทอย่างมากในการเสริมสร้างร่างกายให้ทนทานต่อโรคภัยไข้เจ็บ และรักษาเยียวยาโรคบ้างชนิด หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การใช้การกีฬาและการออกกำลังกายเป็นเวชศาสตร์ป้องกันนั่นเอง

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยอมรับคุณประโยชน์ของการกีฬาที่มีต่อการพัฒนานักศึกษาพนักงานและประชาชนโดยรอบมหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงได้กำหนดแผนหลักในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้มีสถานกีฬาขึ้น มีเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ บริเวณถัดจากหอพักนักศึกษาไปทางฟาร์มมหาวิทยาลัยประมาณ 1 กิโลเมตร ด้านบนติดคลองปุด มีถนนสี่เลน จากหน้าหอพักนักศึกษาไปยังสถานกีฬาและสุขภาพ และมีแผนงานทำทางเชื่อมสู่ถนนใหญ่เส้นนบพิตำ–ท่าศาลาเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใช้บริการโดยไม่ต้องผ่านเขตที่พักและเขตการศึกษา โดยแผนเดิมคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ ไม่น้อยกว่า 450 ล้านบาท ผู้เกี่ยวข้องก็ได้ จ้างบริษัทที่ปรึกษาเขียนแบบโครงสร้างเรียบร้อยแล้ว เมื่อต้นปี 2543 ตามแบบที่วาดไว้คาดว่าต้องใช้งบประมาณการก่อสร้างให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ประมาณ 600 ล้านบาท โดยประกอบด้วย

1.สนามฟุตบอล พร้อมลู่วิ่งยางสังเคราะห์ มาตรฐาน 8 ช่อง พร้อมอัฒจันทร์มีหลังคาจุคนได้ 2000 ที่นั่ง

2.สนามเทนนิสพื้นยางสังเคราะห์ 6 สนาม

3.สระว่ายน้ำ ขนาดมาตรฐาน 50 เมตร พร้อมอัฒจันทร์มีหลังคาจุคนได้ 1200 ที่นั่ง

4.สระกระโดดยาว 25 เมตร ลึก 5 เมตร มีช่องสังเกตหรือถ่ายถาพใต้น้ำ

5.สนามเปตอง พร้อมไฟฟ้า 8 สนาม

6.อัฒจันทร์และกระถางคบเพลิง จุคนได้ 800 ที่นั่ง

7.อาคารพลศึกษาจุคนได้ 4000 ที่นั่ง

8.อาคารวิทยาศาสตร์การกีฬา และกีฬาในร่ม ขนาด 10700 ตารางเมตร

9.อาคารบริการ ขนาด 450 ตารางเมตร

10.อาคารโภชนาการ ขนาด 1476 ตารางเมตร

11.สนามไดร์ฟกอล์ฟ

12.ทางวิ่งจ้อกกิ้ง ทางจักยาน และสวนสุขภาพ ลัดเลาะไปตามภูมิประเทศ

13.สนามบาสเก็ตบอลกลางแจ้ง 4 สนาม

14.สนามวอลเลย์บอลกลางแจ้ง 4 สนาม

15.สนามเซปัคตะกร้อกลางแจ้ง 4 สนาม

16.สนามฟุตบอล 4 สนาม

17.พื้นที่โดยรอบทำเป็นสวนพักผ่อน สวนหย่อม

18.รอบบริเวณทำเป็นคูคลองที่สามารถล่องเรือได้และเชื่อมต่อกับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ (ซึ่งเกิดจากการเอาขุดดินมาถมสนาม)

ทั้งหมดนั้นคือผังแม่บทที่ผู้เกี่ยวข้องวาดฝันไว้ จะเห็นว่ามี ่ความสมบูรณ์มากสามารถใช้เป็นสถานกีฬาเมืองหลักที่บริการประชาชนและจัดแข่งขันระดับจังหวัดได้ เราคงได้ยินสภามหาวิทยาลัยได้ให้นโยบายแก่มหาวิทยาลัย “เปิดประตูให้กว้าง สร้างรั้วให้เตี้ย “ นั่นคือ หมดสมัยแล้วกับการแขวนป้าย “เขตทหาร ห้ามเข้า” หรือ “สถานที่ราชการ ห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต” มหาวิทยาลัยจะเปิดกว้างสำหรับประชาชน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งปวงชน และศูนย์กีฬาและสุขภาพ จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างฝันอันนี้ให้เป็นจริงมหาวิทยาลัยทำอะไรไปแล้วบ้าง ?

มหาวิทยาลัยได้ว่าจ้างบริษัทเขียนแบบสนาม อาคาร ภูมิสถาปัตย์ สาธาณูปโภคทั้งหมดแล้ว พร้อมที่จะยื่นของบประมาณก่อสร้าง โดยใช้เงินไปประมาณ 3 ล้านเศษ และในปีงบประมาณ 2544 ก็ได้รับงบประมาณให้สร้าง สนามฟุตบอลพร้อมสนามกรีฑา ลู่วิ่งยางสังเคราะห์ มีรั้วรอบ 1 สนาม สนามเทนนิส 6 สนาม เป็นเงินทั้งสิ้น 54 ล้านเศษ การอนุมัติงบประมาณ เป็นไปด้วยความเฉียดฉิวเพราะรัฐบาลพยายามยึดเงินไปเพื่อดำเนินตามนโยบายกองทุนหมู่บ้านและ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ก็โชคดีที่ผู้บริหารไหวทัน ทำสัญญาจ้างเสียก่อน การก่อสร้างจึงได้ดำเนินอยู่ขณะนี้ แต่ก็ทำให้ช้ากว่ากำหนด ประมาณ 2 เดือน ดังนั้นตอนนี้ใครผ่านไปทางถนนที่จะไปฟาร์มมหาวิทยาลัย จะเห็นมี เครื่องจักร รถถมดิน ขุดสระ ตรงนั้นแหละครับ ที่ก่อสร้างสนามกีฬา

ในปีงบประมาณ 2545 มหาวิทยาลัยเสนองบประมาณสร้างสระว่ายน้ำ ราคา 90 ล้าน แต่ไม่ได้รับงบประมาณ และคิดว่าอาจจะอยู่ในภาวะอย่างนี้ต่อเนื่องอีกหลายปีงบประมาณ

ในภาวะที่เรายังขาดสนามกีฬาเพื่อให้นักศึกษาได้ใช้ออกกำลังกาย ทำกิจกรรม และเพื่อใช้สำหรับการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยได้อนุมัติเงินรายได้ ประมาณ 12 ล้านเศษ สร้างอาคารกีฬาในร่มที่ประกอบด้วย สนามแบดมินตัน 4 สนาม สนามเอนกประสงค์ 1 สนาม และมีห้องสำหรับฝึกเทเบิลเทนนิส และห้องทำงาน อีก 1 ชั้น ห้องส่งเสริมสุขภาพ 1 ห้อง โดยพื้นสำหรับเล่นกีฬาเป็นเทคโนโลยีล่าสุด ที่สามารถลดแรงกระแทกและลื่นไถลได้ดีมาก ความปลอดภัยสูง มีความคงทนและทนทานต่อการทำลายจากปลวก แต่ก็บำรุงรักษาค่อนข้างยาก ดังนั้นจึงอยากจะวิงวอนผู้ที่เข้าใช้บริการทุกท่าน ช่วยกันรักษาและทำตาม ข้อกำหนดที่ศูนย์กีฬาและสุขภาพจัดทำขึ้น โดยเฉพาะการทำความสะอาดพื้นรองเท้าให้ปราศจากกรวด ทราย และฝุ่นโคลนก่อนเข้าอาคาร ร้องเท้าที่ใช้ต้องเป็นรองเท้าพื้นยางเรียบ การทำความสะอาดพื้นรองเท้า ศูนย์กีฬาได้จัดถาดตะแกรงใส่น้ำไว้ เพียงแต่ ท่านย่ำบนตะแกรงเท่านั้นก็จะช่วยปลดกรวด ทรายได้ และในด่านที่ 2 ก็มีพรมเช็ดเท้าที่ราคาแพงมากไว้ให้ท่านได้เช็ดเท้า เท่านี้ท่านก็จะได้ชื่อว่ามีส่วนช่วยบำรุงรักษาสนามของเรา และจะเป็นผู้มีพฤติกรรมที่ดีนักกีฬา

ในปีงบประมาณ 2545 มหาวิทยาลัยไม่ได้จัดงบประมาณบำรุงรักษาและปรับปรุงสนามให้ศูนย์กีฬาและสุขภาพ แต่ก็ยังดีที่ให้งบสำหรับจัดกิจกรรมบ้างเล็กน้อย ประมาณ 50,000 บาท เราได้จัดครูฝึกแอโรบิคมานำเต้นทุกวัน เวลา 17.00-18.00 น. ซึ่งต้องเสียค่าตอบแทนสัปดาห์ละ 2,500 บาท เดือนละ 10,000 บาท นั่นคือ งบประมาณที่เราได้รับจัดสรรจะถูกใช้หมดไปเพียงครึ่งปีแรกเท่านั้น ส่วนกิจการนักศึกษามีสนับสนุนบ้างเล็กน้อย แต่ก็ต้องใช้เพื่อกิจกรรมส่งเสริมกีฬาด้านอื่นบ้าง เพื่อกระจายโอกาสและตอบสนองความต้องการของนักศึกษาและพนักงานกลุ่มอื่นบ้าง ดังนั้นในอนาคตเราคงต้องขอเก็บจากผู้ใช้บริการ ประมาณ 5 บาทต่อครั้งเท่ากับที่อื่นๆ ซึ่งเขาใช้สนามหญ้าเป็นที่เต้น แต่ของเราพื้นยางอย่างดี

ห้องส่งเสริมสุขภาพมีเครื่องที่สามารถทดสอบสมรรถภาพทางกายและส่งเสริมสมรรถภาพทางกายที่เพียงพอต่อการบริการ ครั้งละ 15 –20 คน มูลค่าของเครื่องมือทั้งหมดประมาณ 3 ล้านบาท มีเครื่องปรับอากาศ 6 เครื่อง พื้นปูด้วยพรมอัดซึ่งนับว่าสมบูรณ์พอสมควร ปัญหาที่พบคือผู้ใช้บริการยังไม่เข้าใจการใช้เครื่อง ไม่อ่านวิธีการใช้เครื่อง หรือใช้เพียงเพื่อความสนุกสนาน เช่น ปั่นจักรยานด้วยความเร็วสูง ประมาณ 20-30 วินาที เป็นต้น การทำอย่างนั้น นอกจากไม่เกิดประโยชน์และอาจทำร้ายตัวเอง แล้วยังทำให้จักรยานซึ่งราคา 80,000 บาท ชำรุดและเสื่อมสภาพเร็วอีกด้วย ดังจะเห็นว่า ลู่กล 2 เครื่องที่ชำรุดและ ตั้งอยู่ในห้องนั้น เพิ่งจะซื้อมาเพียง 2 ปีเท่านั้น ก็ใช้ไม่ได้แล้ว จักรยานที่ใช้ปั่นเร็ว จะต้องตั้งความฝืดสูง 3-5 กิโลกรัม ส่วนของเราที่มีอยู่ไม่สามารถปรับตั้งได้ เพราะเราซื้อมาเพื่อ ใช้ทดสอบสมรรถภาพทางกายและวิจัย แต่ที่นำมาให้บริการเพราะเห็นว่าเครื่องมืออย่างอื่นเรายังมีน้อย อย่างไรก็ตามถ้าเราใช้อย่างถูกวิธีด้วยการปั่นที่ความเร็ว 55-65 รอบต่อนาที ต่อ เนื่อง 10-15 นาที ก็จะช่วยยืดอายุการใช้งาน และได้ประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ดี ในห้องส่งเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศ และงบประมาณบำรุงรักษาเครื่องมือ ค่าล่วงเวลาเจ้าหน้าที่และทุนนักศึกษาทำงานพิเศษ ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงมีความเห็นว่าควรให้บริการเฉพาะสมาชิกและเก็บค่าบริการ ครั้งละ 5 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่ถูกเมื่อเทียบกับที่อื่น (ทวินโลตัส ครั้งละ 100 บาท มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไม่มีเครื่องปรับอากาศ เก็บ 3 บาท ส่วนในกรุงเทพเก็บค่าสมาชิกปีละ 7500 บาท – 25000 บาทและเสียค่าบริการรายครั้ง) ซึ่งศูนย์กีฬาจะดำเนินการในต้นเดือนพฤศจิกายน โดยจะทดสอบสมรรถภาพทางกายแก่ผู้สมัครเป็นสมาชิก ทดสอบความสามารถสูงสุดของกล้ามเนื้อแต่ละท่าที่ออกกำลังกาย และออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกายให้ ตลอดจนติดตามเป็นระยะๆ ผู้ที่เป็นสมาชิกจะได้สมุดคู่มือประจำตัว ทุกครั้ง ที่เข้ารับบริการจะถูกบันทึกไว้ทั้งหมด และอนาคตจะใช้ระบบฐานข้อมูลแทนการใช้กระดาษ

ศูนย์กีฬากำลังขออนุมัติจัดบริการอุปกรณ์ประจำตัวและอุปกรณ์สิ้นเปลือง เช่น ไม้แบดมินตัน ไม้ปิงปอง ไม้เทนนิส ลูกปิงปอง ลูกแบดมินตัน โดยคิดค่าบริการ ชิ้นละ 5 บาทเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ไม่มีเป็นของตนเอง นอกจากนี้ยังจะจัดจำหน่ายเครื่องดื่ม ลูกขนไก่ อุปกรณ์เสริมอื่น ในราคาประหยัด เช่น ลูกขนไก่ชนิดฝึกซ้อม ลูกละ 20 บาท จากราคาทั่วไป 29 บาท และลูกขนไก่ชนิดแข่งขัน ลูกละ 35 บาท จากราคาทั่วไป 40 บาท ผ้าพันด้ามไม้แบดมินตัน อันละ 40 บาท จากราคาทั่วไป 50 บาท เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นบริการเสริมที่ศูนย์กีฬาจะจัดให้แผนงานกิจกรรมปี 2544-2545

นอกจากการก่อสร้างสนามกรีฑาสนามฟุตบอลและสนามเทนนิสแล้ว ศูนย์กีฬาจะดำเนินการปรับปรุงและขยายสนามเปตองที่อยู่ให้ดีขึ้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อความนิยมของนักศึกษาโดยเฉพาะสามารถสนองตอบการเรียนการสอนตามหลักสูตร การปรับสนามแบดมินตันไม่ให้มีกระแสลมไหลผ่านซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเล่นและการแข่งขัน การปรับสภาพแวดล้อมในอาคารและสนามให้ร่มรื่น

ในส่วนของกิจกรรม ดังที่ทราบแล้วว่างบที่ได้รับจัดสรรมีจำกัด ดังนั้นศูนย์กีฬาจะพยายามจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะกีฬาพื้นฐาน กีฬาเพื่อสุขภาพ แก่นักศึกษาและพนักงานให้มากที่สุด ซึ่งตามแผนงานที่จะทยอยทำในปีงบประมาณ 2545 มีดังนี้

1.การอบรมเชิงปฏิบัติการผู้นำแอโรบิค เพื่อให้นักศึกษา พนักงาน และประชาชนโดยรอบมหาวิทยาลัย สามารถนำเต้นแอโรบิคได้ อย่างน้อยนำพวกเรากันเองและอาจพัฒนาเป็นผู้นำที่อื่นๆได้ จะได้มีรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

2.การประลองทักษะพื้นฐานกีฬาบางชนิด เช่น เปตอง แบดมินตัน บาสเก็ตบอล ฟุตบอล กอล์ฟ จักรยาน วิ่ง และอื่นๆ

3.การฝึกทักษะกีฬาพื้นฐาน โดยร่วมมือกับชมรมต่างๆ ตอนนี้ก็มีชมรมเทนนิส ชมรมแบดมินตัน และกำลังขยายไปสู่บาสเก็ตบอล ลีลาศ วอลเลย์บอล และตะกร้อ

4.จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ผู้ตัดสินกีฬาบางชนิดเพื่อไว้สำหรับการแข่งขันกีฬาภายใน และบริการตัดสินกีฬาแก่หน่วยงานอื่นที่ร้องขอ

5.จัดทำวารสารประจำเดือนเพื่อเผยแพร่ความรู้ข่าวสารกีฬาภายในมหาวิทยาลัย

6.จัดการแข่งขันกีฬาชิงชนะเลิศถ้วยวลัยลักษณ์ คาดว่าจะทำ 4-5 ประเภทกีฬา ตามความพร้อมของสนาม เช่น เปตอง แบดมินตัน บาสเก็ตบอล วอลเล่ย์บอล ตะกร้อ เป็นต้น

7.จัดค่ายกีฬาวันเสาร์ เพื่อให้เยาวชนได้เข้ามาฝึกทักษะกีฬาพื้นฐาน โดยให้นักศึกษาเป็นพี่เลี้ยงและมีครูฝึก

8.จัดค่ายกีฬาภาคฤดูร้อน ช่วงปิดภาคปลาย

9.อบรมผู้นำกีฬาชุมชน เพื่อบริการประชาชน

ทั้งหมดนี้เป็นแผนงานที่ศูนย์กีฬาและสุขภาพตั้งใจจะดำเนินการภายใต้ความจำกัดของบุคลากร เพียง 2 คน และงบประมาณ เพียงน้อยนิดที่ได้รับ แต่เราก็พร้อมจะทำถ้าทุกท่านจะเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ และให้กำลังใจแก่เรา รูปแบบการบริหารในอนาคต

ในภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ และการปรับวิธีการให้งบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องดิ้นรนเลี้ยงตัวเอง กิจกรรมบางอย่าง มหาวิทยาลัยอาจจะไม่ให้เงินสนับสนุน ดังนั้นทุกหน่วยงานในมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องช่วยกันประหยัด ลดกิจกรรมที่มีประโยชน์น้อยออกไป และต้องผลักภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะส่วนกีฬาซึ่งถือว่าเป็นส่วนเสริมได้รับผลโดยตรง การบำรุงรักษา การจัดกิจกรรมส่งเสริมกีฬา จะไม่ได้รับ เงินสนับสนุนเหมือนก่อน ดังนั้นเพื่อให้ศูนย์กีฬาและสุขภาพอยู่ในสภาพพร้อมที่จะให้บริการ และมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา พนักงานและประชาชน ศูนย์กีฬาและสุขภาพคงต้องปรับตัวเองไปสู่การบริหาร แบบกึ่งเลี้ยงตัวเอง (semi self support) โดยแสวงหารายได้จาก

1.ค่าสมาชิก โดยอาจจะเรียกเก็บจากนักศึกษา พนักงานเป็นรายปี ซึ่งในหลักการ มหาวิทยาลัยอาจจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนนี้จากงบสวัสดิการและค่าบำรุงกิจกรรมของนักศึกษา ส่วนบุคคลภายนอกที่ใช้ต้องสมัครเป็นสมาชิก

2.ค่าบริการในการร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้น เช่น เต้นแอโรบิค การแนะนำทักษะกีฬา การใช้บริการบิลเลียดและสนุกเกอร์ ไดรฟ์กอล์ฟ เป็นต้น

3.ค่าบริการห้องปฏิบัติการจากผู้ใช้ เช่น ห้องส่งเสริมสุขภาพ ห้องอบไอน้ำ ส่วนการเรียนการสอนตามหลักสูตร มหาวิทยาลัยอาจต้องพิจารณาสนับสนุนเป็นรายหัวจากค่าลงทะเบียนเรียน

4.เปิดสอนหลักสูตรด้านกีฬา เช่น เปิดวิชาโทนันทนาการและกีฬาผนวกในหลักสูตรการท่องเที่ยว และ วิทยาการจัดการธุรกิจ เปิดหลักสูตรปริญญาสาขา การจัดการทางการกีฬา เป็นต้น

5.ค่าเช่าใช้สนามและอุปกรณ์บางชนิด เช่น ใช้สนามเพื่อแข่งขัน ค่าเช่าอุปกรณ์เฉพาะตัว เป็นต้น

6.จัดกิจกรรมหารายได้ เช่น จัดการแข่งขันกีฬา ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดกีฬา รับเป็นผู้ดำเนินการจัดกีฬาให้กับบริษัทเอกชน

7.ผลิตสิ่งประดิษฐ์ในการออกกำลังกาย

8.รับบริการตรวจสมรรถภาพพนักงานให้กับองค์กรต่างๆ

9. จัดร้านค้าจำหน่ายอุปกรณ์กีฬาและเครื่องดื่ม

10.ให้เช่าสนามเพื่อการแข่งขัน

สิ่งเหล่านี้จะเป็นส่วนหารายได้เสริมจากที่มหาวิทยาลัยสนับสนุน เพื่อนำมาบำรุงรักษา พัฒนาปรับปรุง และจัดกิจกรรมส่งเสริมกีฬาแก่นักศึกษาและพนักงานต่อไป ดังนั้นในอนาคตผมหวังว่าทุกคนคงจะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้ศูนย์กีฬาและสุขภาพคงอยู่ มีกิจกรรมต่อเนื่อง และที่สำคัญคือ ทุกคนมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันโรค และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของมหาวิทยาลัย.


Home