Shakespeare

.

จุลสารศิลปศาสตร์สำนึก

Liberal Thoughts

Volume 1, Number 6 * Cover Date: November, 2001



ภาษาอังกฤษในมาเลเซีย

โดย เสริมสุข ฮุสเซน

ในฐานะคนไทยที่ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ชีวิตผู้เขียนก็เหมือน ๆ กับคนไทยจำนวนหมื่นจำนวนแสนที่อยู่ไกลบ้าน แต่จิตใจยังคงผูกพันกับบ้านเกิดเมืองนอนและความเป็นไทย เมื่อไปอยู่ในสังคมที่มิได้ใช้ภาษาไทยเป็นสื่อ เราก็ต้องปรับตัวปรับใจปรับหูปรับตาพร้อมทั้งปรับลิ้นเพื่อความอยู่รอดในสังคมที่คนไทยเรียกขานว่า “สังคมกระเหรี่ยง”

“สังคมกระเหรี่ยง” ที่ผู้เขียนได้สัมผัสวันแล้ววันเล่าในขณะนี้เป็น “สังคมแขก” ที่ประกอบด้วยชนหลายเชื้อชาติมีชาวมลายู ชาวจีนและชาวอินเดีย ถึงแม้ว่าภาษามาเลเซียเป็นภาษาประจำชาติ แต่การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารก็แพร่หลายมากโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและที่อยู่ในสังคมเมือง บุคคลกลุ่มนี้เป็นผู้ที่เคยสัมผัสกับชีวิตภายใต้การปกครองของอังกฤษก่อนที่มาเลเซียได้รับเอกราชในปี ค.ศ.1957 (พ.ศ.2500) หลังจากได้เอกราชแล้วและในระยะแรกๆ ที่มาเลเซียเริ่มการปกครองตนเอง ภาษาอังกฤษก็ยังคงใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกวงการรวมทั้งวงการศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งแรกคือมหาวิทยาลัยมลายายังคงใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอนในช่วงเวลานั้น กล่าวได้ว่าในระยะ 10 ปีแรกหลังจากได้เอกราชแล้วชาวมาเลเซียยังคงมีศักยภาพทางภาษาอังกฤษค่อนข้างสูง

จุดเริ่มต้นของความเสื่อมศักยภาพทางภาษาอังกฤษ เริ่มขึ้นเมื่อเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างชาวมลายูและชาวจีน ในวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ.1969 รัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉินยุบสภาชั่วคราวและให้มีสภาปฏิบัติการแห่งชาติ (National Operations Council) ปกครองเป็นเวลา 21 เดือน ในปี ค.ศ.1970 ตุน อับดุล ราซัค นายกรัฐมนตรีประกาศให้ภาษามาเลเซียเป็นภาษาประจำชาติ และบังคับใช้เป็นภาษาสื่อการเรียนการสอนในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาของรัฐทั่วประเทศ การกำหนดใช้ภาษามาเลเซียเป็นภาษาประจำชาติสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของรัฐในด้านความพยายามสร้างชาตินิยม และความเป็นเอกภาพในมาเลเซียและเพื่อแสวงหาสื่อกลางในการเชื่อมชนต่างเชื้อชาติเข้าด้วยกัน มหาวิทยาลัยของรัฐที่ได้ตั้งขึ้นในช่วงเวลานั้นคือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย หรือในภาษามาเลเซียใช้ชื่อว่า Universiti Kebangsaan Malaysia มหาวิทยาลัยนี้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่สองของประเทศ และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ใช้ภาษามาเลเซียเป็นสื่อการเรียนการสอน

ชีวิตผู้เขียนที่ประเทศมาเลเซียเริ่มปี ค.ศ.1972 ซึ่งเป็นปีที่สองที่รัฐบาลประกาศใช้ภาษามาเลเซียเป็นภาษาประจำชาติ ครอบครัวของสามีผู้เขียนเป็นแบบอย่างครอบครัวชาวมาเลเซียที่มีประสบการณ์การดำเนินชีวิตในช่วงที่มาเลเซียยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ภาษาที่ใช้สื่อสารระหว่างกันภายในครอบครัวและสังคมทั่วไปก็คือภาษาอังกฤษ เมื่อผู้เขียน เริ่มทำงานเป็นอาจารย์ภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซียปี ค.ศ.1973 นักศึกษายังคงใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสื่อสารระหว่างกัน นักศึกษาเหล่านี้เป็นแบบอย่างเยาวชนในวัยศึกษาที่ยังคงมีความรู้ความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษในระดับสูง เป็นสิ่งปฏิบัติที่ได้พบเห็นทั่ว ๆ ไปในช่วงเวลานั้นว่าถึงแม้ว่าในชั้นเรียนจำเป็นต้องใช้ภาษามาเลเซียเป็นสื่อแต่ระหว่างเวลาหยุดพักหรือนอกห้องเรียนเหล่านักเรียนและนักศึกษาต่างนิยมใช้ภาษาอังกฤษ แต่หลังจากการบังคับใช้ภาษามาเลเซียผ่านพ้นมาร่วม 25 ปี ผลที่ได้รับก็คือระดับความรู้ความสามารถของเยาวชนทางด้านภาษามาเลเซียสูงขึ้น แต่ความสามารถทางด้านการใช้ภาษาอังกฤษกลับ ถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัดเจน

ท่านคงได้เคยผ่านสายตากับคำย่อที่ว่า ESL และ EFL มาบ้างแล้ว ESL ย่อมาจาก English as a second language และ EFL คือ English as a foreign language คำย่อนี้บัญญัติขึ้นเพื่อจำแนกรูปแบบภาษาอังกฤษที่ใช้กันทั่วโลกโดยยึดหลักว่าภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาแม่ (Mother Tongue) หรือภาษาที่หนึ่ง (First Language) นั้น มีใช้ในประเทศเช่น อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ตัวอย่างประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาที่สองหรือ ESL ได้แก่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งกำหนดนโยบายแจ่มชัดว่าสังคมชาวสิงคโปร์จักต้องเป็นสังคมที่สามารถใช้ภาษาได้สองภาษา (bilingual) คือ ภาษาอังกฤษและภาษาจีน ส่วนประเทศไทยเราก็เป็นที่กระจ่างชัดว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ (EFL)

สำหรับภาษาอังกฤษในมาเลเซียนั้นถึงแม้ว่าในอดีตถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ESL แต่นโยบายของรัฐที่บังคับใช้ภาษามาเลเซียนับเป็นสาเหตุใหญ่สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความคล่องตัวในการใช้ภาษาอังกฤษของชาวมาเลเซียถดถอยลง ภาษาอังกฤษกลับกลายเป็นภาษาที่ใช้กันในสังคมชั้นสูง หรือชั้นปัญญาชน หากวิเคราะห์ในเชิงวิชาการหรือแม้แต่จะกล่าวโดยทั่วไป ก็เป็นการยากที่จะกำหนดว่าภาษาอังกฤษในมาเลเซียจัดอยู่ในกลุ่มเป็นภาษาที่สอง (ESL)ดังเช่นในสิงคโปร์ แต่ในเชิงกลับกันภาษาอังกฤษในมาเลเซียก็ไม่สามารถจัดเข้ากลุ่มภาษาต่าง ประเทศ (EFL) ดังเช่นที่ในประเทศไทยได้ ตัวการสำคัญ ๆ ที่ทำให้เกิดความลักลั่นในการจัดกลุ่มภาษาอังกฤษในมาเลเซียว่าเป็น ESL หรือ EFL นั้นมีดังนี้

1. การที่ได้เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษรวมทั้งนโยบายพัฒนาประเทศโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจพาณิชย์กับนานาประเทศ และการมีความสัมพันธ์กับต่างประเทศในระยะเวลาต่อๆมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ก็ทำให้ภาษาอังกฤษยังคงมีบทบาทสำคัญและใช้กันแพร่หลาย โดยเฉพาะในวงการธุรกิจ

2. สภาพสังคมที่ประกอบด้วยชนหลายเชื้อชาติ โดยเฉพาะสังคมเมืองและในกลุ่มที่มีการศึกษาสูงยังคงนิยมใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน

3. ประสบการณ์ชีวิตประจำวันของชาวมาเลเซียซึ่งได้สัมผัสกับภาษาอังกฤษทั้งทางตรงและทางอ้อมยังคงมีอยู่มาก สื่อมวลชนทั้งวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ต่างก็ใช้ภาษาอังกฤษ ถึงแม้ว่าไม่มากกว่าแต่ก็ไม่เชิงน้อยกว่าการใช้ภาษามาเลเซียมากนัก

ปัจจุบันนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างตระหนักถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษว่าเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในการจะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย ที่รัฐได้วางไว้ นั่นก็คือ ประเทศมาเลเซียจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วโดยสมบูรณ์ในปี ค.ศ.2020 นโยบายนี้เป็นที่รู้จักในนามว่า วิสัยทัศน์ 2020 (Vision 2020) นอกจากนี้ สภาพโลก ปัจจุบัน ซึ่งเป็นโลกที่ไร้พรมแดนและเป็นโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ และเป็นโลกที่สื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษทำให้มาเลเซียจำเป็นต้องทบทวนนโยบายดั้งเดิมที่เกี่ยวเนื่องกับบทบาทของภาษาอังกฤษและค้นหาแนวทางเพื่อลบล้างทัศนคติในเชิงลบที่ชาวมลายูผู้เคร่งครัดในศาสนาและมีชาตินิยมรุนแรงยังมีอยู่ นั่นก็คือ

1.การใช้ภาษาอังกฤษเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่ามาเลเซียยังไม่ได้รับการปลดแอกโดยสมบูรณ์จากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

2. ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้กันในหมู่พวกนอกศาสนาหรือพวกที่ไม่เลื่อมใสศาสนาอิสลาม (infidel) ชาวมลายูเป็นจำนวนมากที่ได้รับการปลูกฝังกับความคิดดังกล่าวจึงต่อต้านการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ

อย่างไรก็ดี ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษว่าเป็นภาษาสากลที่นานาชาติต่างใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารและทำการค้าระหว่างกัน หากมาเลเซียต้องการยืนหยัดอยู่ในแนวหน้าหรือปรับฐานะให้เป็นประเทศผู้นำในภูมิภาคนี้และในโลก มาเลเซียจำเป็นต้องฟื้นฟูศักยภาพทางด้านภาษาอังกฤษของประชาชน แต่เพราะกระแสคลื่นทางการเมืองภายในประเทศทำให้รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างอะลุ่มอล่วยเพื่อมิให้พรรคฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคอิสลามแห่งมาเลเซียใช้เป็นข้ออ้างเพื่อโจมตีได้ การปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจึงได้กลายเป็นปัญหาทางการเมืองโดยปริยาย


Home